69,000,000,000 เหรียญสหรัฐฯ คือมูลค่าของบริษัทอูเบอร์จากการระดมทุนเมื่อปีที่แล้ว โดยบริษัทการลงทุนของซาอุดิอาระเบีย อูเบอร์คือสตาร์ทอัพที่ยังไม่ได้เข้าตลาดหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก มูลค่าบริษัทเทียบเท่ากับบริษัท Daimler ผู้ผลิตรถ Mercedes-Benz

อะไรทำให้บริษัทอูเบอร์มีมูลค่ามากขนาดนี้ ทั้งที่ในไทยก็ดูไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และมีข่าวว่ามีปัญหากับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

มาดูกันว่าอูเบอร์ระดับ 4.0 ที่สหรัฐอเมริกา ต่างจากระดับ 0.4 ที่กำลังเริ่มต้นในเมืองไทยอย่างไร

ผมรู้จักอูเบอร์ครั้งแรกปี 2013 ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่อเมริกาปีแรก มหาวิทยาลัยที่ผมอยู่ห่างจากเมืองชิคาโกประมาณครึ่งชั่วโมงถ้าขับรถ ช่วงแรกที่พวกเราเข้าเมือง เราจะรวมตัวกันนั่งแท็กซี่ ซึ่งต้องเสียเงินประมาณ 30 เหรียญสหรัฐฯ

วันหนึ่งผมได้ยินเพื่อนเล่าถึงทางเลือกใหม่ที่เหมือนแท็กซี่ แต่ถูกกว่าและเรียกรถผ่านแอพพลิเคชัน แถมยังมีโปรโมชันให้ใช้ฟรีในครั้งแรก

หลังจากลองใช้อูเบอร์ครั้งแรกแล้วผมก็แทบไม่เรียกใช้แท็กซี่อีกเลย และกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่แอพที่ผมและคนจำนวนมากเรียกใช้เกือบทุกวัน

อูเบอร์มีจุดเริ่มต้นจาก Travis Kalanick (ทราวิส คาลานิก) ผู้ก่อตั้งบริษัท พบปัญหาการเรียกรถลิมูซีนที่เมืองปารีสว่ามันช่างยากเย็นเหลือเกิน วันนี้อูเบอร์กลายเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกกว่า และ/หรือคุณภาพดีกว่า และ/หรือราคาถูกกว่า และ/หรือปลอดภัยกว่า ช่วยให้ต้นทุนการเดินทางซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องจ่ายถูกลง และบริหารเวลาได้ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่มากก็น้อย อูเบอร์ทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เพิ่มจำนวนรถให้บริการมากจนรอไม่เกิน 10 นาที ค่าบริการก็ถูกลงเรื่อยๆ คนอเมริกาจำนวนไม่น้อยถึงกับขายรถและหันมานั่งอูเบอร์แทน เพราะประหยัดกว่าในระยะยาว

วันที่ทราวิสเริ่มทำอูเบอร์ มีแอพพลิเคชันเรียกรถมารับอยู่ในตลาดแล้ว แต่ส่ิงที่ทราวิสและอูเบอร์ทำได้ดีกว่าคู่แข่งคือ

หนึ่งคือ อูเบอร์ไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ทางเลือกที่ดีกว่าแท็กซี่ แต่มองว่าอูเบอร์คือทางแก้ปัญหาด้านการขนส่งในเมืองด้วยการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เครือข่ายยานพาหนะมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อให้นำเสนอราคาที่ถูกที่สุดได้

เมืองใหญ่ในอเมริกาเกือบทุกเมืองมี uberPOOL หรือบริการรับส่งผู้โดยสารที่ไปทางเดียวกัน เราสามารถเรียก uberPOOL ได้หนึ่งหรือสองที่ ทำให้มีพื้นที่ที่คนอื่นซึ่งกำลังไปทางเดียวกันสามารถขึ้นมานั่งคันเดียวกับเราได้ ข้อดีสำหรับคนขับคือ เขาจะมีรายได้มากขึ้น และนำเสนอราคาได้ถูกลงอีก ส่วนผู้ใช้ก็จ่ายน้อยลงแลกกับการเดินทางที่อาจต้องอ้อมมากขึ้น เป็น Ride Sharing ที่ประหยัดน้ำมันของจริง

นอกจากขนส่งผู้โดยสารแล้ว อูเบอร์ยังใช้โอกาสจากการที่ผู้ใช้เรียกใช้ประจำ นำเสนอบริการส่งอาหารถึงที่ UberEATS จากร้านอาหารต่างๆ

อีกวิธีในการเพิ่มผู้โดยสารคือ การร่วมมือกับบริษัทต่างๆ บริษัทให้เครดิตอูเบอร์กับพนักงานได้ตามจำนวนที่ตกลง โดยต้องเรียกรถจากจุดเริ่มต้นหรือจุดหมายปลายทางที่เป็นที่ทำงานเท่านั้น สิทธิประโยชน์นี้เป็นที่นิยมมากและกลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่บริษัทต่างๆ นำมาจูงใจพนักงาน โดยอูเบอร์ได้จำนวนการใช้งานที่เพิ่มขึ้นและส่วนต่างเมื่อพนักงานใช้เครดิตไม่หมด

บริษัทยังสามารถทำข้อตกลงกับอูเบอร์ว่า เมื่อมีกิจกรรมนอกสถานที่ พนักงานสามารถเรียกอูเบอร์จากสถานที่ดังกล่าวในวันเวลาที่กำหนดโดยได้ส่วนลด

ยิ่งไปกว่านั้น อูเบอร์ยังเจาะตลาดรถเช่า โดยนำเสนอส่วนลดและเว็บไซต์ที่ช่วยให้บริษัท  (โดยเฉพาะเลขาหรือผู้จัดการสำนักงาน) จองอูเบอร์ล่วงหน้าได้หลายคนตามเส้นทางที่เลือก

ไม่ใช่แค่รถเท่านั้น บางเมืองในต่างประเทศ อูเบอร์ยังให้บริการเฮลิคอปเตอร์ และพวกเขายังวางแผนจะขยายไปถึงเครื่องบินส่วนตัวอีกด้วย

ส่วน supply บริษัทก็ทำได้เยี่ยมเช่นกัน อูเบอร์มีโปรแกรมให้คนไม่มีรถสามารถซื้อรถและผ่อนรถกับอูเบอร์ได้ เพื่อเพิ่มปริมาณคนขับให้มากที่สุด

ความสุดยอดอย่างที่สองคือ แอพพลิเคชันนี้เป็นสิ่งที่คนใช้ทุกวัน ไม่ใช่แค่ใช้บนหน้าจอเหมือนแอพอื่นๆ แต่อูเบอร์ยังควบคุมประสบการณ์ทุกอย่างขณะผู้ใช้นั่งอยู่ในรถ หมายถึงโอกาสมากมายที่อูเบอร์สามารถนำเสนอบริการหรือโฆษณาได้ ตราบใดที่คนยังใช้อูเบอร์ทุกวันและจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมใหม่ๆ และรายได้ก็จะตามมาเอง

สาม Network effect และ Barrier to entry ที่อูเบอร์ขาดทุนทุกวันนี้เพราะหวังจะครองตลาดในระยะยาว ด้วยความเป็น Marketplace model (มีฝั่งผู้ใช้และฝั่งคนขับ แต่ละฝั่งมีผลต่อกันและกัน) ถ้าอูเบอร์ทำให้คนส่วนใหญ่เรียกใช้แต่อูเบอร์ คนขับก็ย่อมอยากจะขับแต่อูเบอร์ ทำให้คู่แข่งยากที่จะสู้ด้วย

สี่ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ต้นทุนฝั่ง supply จะถูกลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อใดที่รถไร้คนขับทำงานได้อย่างไม่ผิดพลาดและได้รับการยอมรับ วันนั้นต้นทุนที่อูเบอร์ต้องจ่ายให้กับคนขับก็จะหมดไป

ห้า บริษัทมี Business Model and Operating Model ที่สามารถ scale ได้ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว อูเบอร์น่าจะเป็นบริษัทแนว marketplace (ไม่ใช่แค่ทำแอพหรือเว็บ แต่ต้องมี operations ในแต่ละเมือง) ที่ขยายตัวได้เร็วสุดในโลก Uber เกิดทีหลัง Airbnb แต่สามารถขยายไปทั่วโลกได้เร็วกว่า

เวลาขยายไปเมืองต่างๆ อูเบอร์จะมี City Launch Team 2 – 3 คน หน้าที่ของทีมนี้คือเข้าไปศึกษาตลาด ต่อรองกับองค์กรต่างๆ หาคน และนำ playbook วิธีการเปิดตลาดให้สำเร็จ ไปสอนและปฏิบัติ ถ้าเป็นเมืองเล็ก อูเบอร์จะหาคนท้องถิ่นหนึ่งคนทำหน้าที่ทั้งดูแล Demand and Supply ถ้าเป็นเมืองใหญ่ ก็จะหาหนึ่งคนดูแล Demand ทำการตลาด อีกคนดูแล Supply and Operations

ทุกวันนี้อูเบอร์ยังขาดทุนอยู่และยังมีปัญหาต่างๆ เยอะแยะไปหมด ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไรอูเบอร์จะมีกำไร แต่สิ่งที่ Venture Capitalist ผู้ลงทุนในอูเบอร์เชื่อคือ บริษัทนี้มีคนใช้แอพทุกวันจำนวนมาก และบริษัทสามารถโตได้เร็วทั่วโลกในเวลาอันสั้น ถ้าวิสัยทัศน์เป็นความจริง นี่คือบริษัทที่จะเป็น Next Google หรือ Next Facebook

Writer

Avatar

มาโนช พฤฒิสถาพร

มาโนชสนใจด้านสตาร์ทอัพมาก เขามีประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพทั้งที่ไทยและอเมริกา เขาจบ MBA จาก Kellogg School of Management ที่นั่นเขาสมัครงานบริษัทเทคโนโลยีในตำแหน่งด้านธุรกิจกว่า 3,000 งาน ศึกษาบริษัทเตรียมตัวสัมภาษณ์กว่า 200 บริษัท สุดท้ายได้งานที่ Credit Karma บริษัทสตาร์ทอัพมูลค่าแสนล้านที่ SF มาโนชกลับมาทำสตาร์ทอัพด้านแฟชั่นที่ไทย Fred & Francis มาโนชยังเป็นนักเขียนตัวยง เขาเป็นเจ้าของหนังสือ A DREAM TO DIE FOR ล้ม 3,000 ครั้ง เพื่อชนะฝันเดียว

Photographer

สุวิชา พุทซาคำ

สุวิชา พุทซาคำ

อาร์ตไดเรกเตอร์ผู้เชี่ยวชาญการก่อกองไฟ และกางเตนท์ พอๆกับที่เชี่ยวชาญการใช้โปรแกรมออกแบบ สนใจเรื่องราวสิ่งแวดล้อมพอๆกับที่ชื่นชอบอุปกรณ์ไอที ถ้า IG : @sleepbird มีการเคลื่อนไหว แสดงว่าเพิ่งออกจากป่า