ผมมาถึงโรงพยาบาล–สถานที่ทำงานของผม

กิจวัตรประจำวันคือ ตรวจคนไข้

แต่วันนี้แปลกกว่าทุกวัน เพราะพยาบาลรีบแจ้งว่า “คุณหมอคะ คนไข้คนนี้มีอาการแปลกๆ ค่ะ”

‘อาการแปลก’ ที่พยาบาลพูดถึงทำให้ผมเกิดความสงสัย ผมจึงถาม “แปลกยังไงครับ”

“เขาบอกซ้ำไปซ้ำมาค่ะว่าเขาเห็นนั่นเห็นนี่ ทั้งที่ก็ไม่มีใครเห็น” พยาบาลตอบ

“ทำไมไม่พาเขาไปแผนกจิตเวช” ผมถามกลับ

“แผนกจิตเวชส่งเขามาให้เราเองค่ะ” พยาบาลยื่นแฟ้มประวัติคนไข้ให้ผมทันที

ผมอ่านประวัติดูแล้ว ผลการตรวจร่างกายทุกอย่างอยู่ในระดับปกติ

“เรียกเขาเข้ามาพบผมได้”

เมื่อพยาบาลพาคนไข้เข้ามาในห้อง รูปลักษณ์ภายนอกของเขาดูดีมากทีเดียว น่าจะจัดอยู่ในวัยกลางคน แต่ยังดูหนุ่มแน่นกว่าอายุจริง รอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าของเขา ยิ่งทำให้เขาดูอ่อนเยาว์ลง แววตาเป็นประกายสดใสส่งผ่านออกมา ยิ่งทำให้ผมแปลกใจว่าเขามีอาการแปลกตามที่พยาบาลคาดเดาได้อย่างไร

พงศกร จินดาวัฒนะ

“สวัสดีครับคุณหมอ” เขากล่าว

“เชิญนั่งครับคุณพงศกร” ผมบอก

“คุณหมอสบายดีนะครับ” เขากล่าวขึ้นมาก่อนที่ผมจะซักถาม

“ครับ มีเครียดบ้างตามประสาหมอ” ผมก็เผลอตอบไปตามจริง “ว่าแต่คุณพงศกรมาหาหมอ มีปัญหาอะไรรึเปล่า”

“ไม่มีอะไรมากครับ ผมแค่อยากมาคุยกับคุณหมอเท่านั้น” เขายิ้ม

“อยากคุยกับผม” ผมถามทวน “คนที่อยากคุยกับหมอก็ต้องมีปัญหาบางอย่างที่อยากรักษา ถ้าคุณไม่มี ผมก็ขออนุญาตเรียกคนไข้ที่มีปัญหาก่อนดีกว่า”

“คุณหมอจะไม่ลองฟังปัญหาของผมสักหน่อยเหรอครับ”

“ก็เมื่อสักครู่คุณพงศกรบอกว่าไม่มีปัญหา” ผมลองแกล้งย้อนถาม

“ปัญหาของผมอาจไม่นับว่าเป็นปัญหาสำหรับคุณหมอ นั่นคือ ผมอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับคุณหมอ”

คำตอบของเขาทำเอาผมงงเหมือนกัน “คุณพงศกรจะมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับผมทำไมกัน”

“เพราะผมเป็นนักเขียน” คุณพงศกรตอบ “โดยเฉพาะนวนิยาย”

“คุณจะเขียนนวนิยายเกี่ยวกับตัวผมเหรอ”

“ใช่ครับ” เขายิ้ม

พงศกร จินดาวัฒนะ
พงศกร จินดาวัฒนะ

ผมคิดว่าเขามาแปลกจริงๆ คนไข้ที่เป็นนักเขียน แถมยังอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับผมเสียอีก ผมชักจะอยากรู้เสียแล้วว่าคนไข้คนนี้มาไม้ไหนกันแน่ ผมจึงลองหยั่งเชิงเขาดูว่าเขาเป็นนักเขียนจริง หรือเป็นแค่อาการหนึ่งของคนไข้เท่านั้น “ผมดีใจที่มีนักเขียนอยากเขียนเรื่องของผม ว่าแต่คุณพงศกรเขียนอะไรมาบ้างล่ะครับ”

แววตาของเขาเป็นประกายเหมือนเด็กๆ ที่โดนถามถึงของเล่นชิ้นโปรด “ผมเริ่มเขียนเรื่องสั้นก่อนครับ เรื่องแรกตีพิมพ์ในวารสารเด็กชื่อ สวิตา ในช่วง พ.ศ. 2520 – 2527 เป็นทีมที่เคยทำกับ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง” เขาเล่าย้อนไปไกลทีเดียว “ผมเขียนเรื่องจากภาพที่นิตยสารตั้งเป็นโจทย์เอาไว้บ่อยๆ แต่ผมเบื่อ ก็เลยเขียนเรื่องเอง เป็นเรื่องเกิดขึ้นที่บ้าน ตอนนั้นในบ้านเลี้ยงกระต่าย จึงสร้างเรื่องราวของกระต่ายขึ้นมา ปรากฏว่าเรื่องได้ลงตอนอายุ 11 ขวบ ตอนนั้นบรรณาธิการถามว่าจะใช้นามปากกามั้ย ผมก็ไม่รู้จะใช้อะไร เลยใช้สิ่งที่เราชอบกินคือ ‘กะหล่ำปลี’ ได้เงินตั้ง 200 บาทนะครับ สำหรับเด็ก ป.6 ถือว่าเยอะนะ เราได้เงินไปโรงเรียนวันละ 5 บาท”

ชักน่าสนใจเสียแล้ว ความทรงจำในการเขียนวัยเด็กที่เขาเล่ามาราวกับของมีค่าที่เขาเก็บเอาไว้อย่างทะนุถนอม และพร้อมที่จะนำมาเล่าด้วยความภาคภูมิใจเมื่อกล่าวถึงอาชีพนักเขียนของเขาเอง ผมจึงไม่รอช้าที่จะถามต่อไปอีกว่า “แล้วหลังจากนั้นล่ะครับ เขียนอะไรอีก”

“พอเรื่องกระต่ายได้ลงตีพิมพ์ ผมก็รู้สึกว่าผมทำได้ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน จะมีเขียนตามโจทย์ที่นิตยสารให้มาบ้าง แต่งเรื่องจากภาพบ้าง หรือคอลัมน์ช่วยกันคิดช่วยกันเขียน นอกจากนิตยสารนี้ยังมี สตรีสาร ก็เขียนกลอนส่งไป แต่จะเขียนเป็นเรื่องสั้นที่เป็นชิ้นเป็นอันแบบเรื่องกระต่ายไม่มีอีกเลย จนกระทั่งผมไปเรียนแพทย์ตอน พ.ศ. 2530”

“คุณเรียนแพทย์หรือ” ผมประหลาดใจกับคำตอบ เขาเรียนแพทย์ แสดงว่าเขาเป็นหมอน่ะสิ!

“อ้อ ผมลืมบอกคุณหมอไปสินะครับ ว่าผมก็เป็นหมอเหมือนกัน” เขาหัวเราะ

นี่เขาเป็นหมอจริงๆ หรือเขากำลังเล่าเรื่องว่าเขาเป็นหมอกันแน่ เพราะเขาเป็นนักเขียน จึงเป็นไปได้ที่เขาจะแต่งเรื่องขึ้นมา ผมขยับตัวนั่งให้ตรง และบอกว่า “ครับ คุณหมอพงศกร เชิญเล่าต่อ”

“ผมก็เรียนหนักมากจนไม่ได้เขียน แต่ก็ยังไม่ทิ้ง ทำวารสารของคณะบ้าง พอเรียนจบ พ.ศ. 2536 ก็ไปเรียนต่อเฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัว ประมาณ พ.ศ. 2539 ก็มาบรรจุที่โรงพยาบาลราชบุรีพักหนึ่ง ตอนนั้นอยากเขียนนิยายมาก เป็นความคิดมาตั้งนานแล้ว เคยเขียนนะแต่เขียนไม่จบ เขียนแล้วทิ้งตลอด หรือเขียนแล้วท้อ ก็หยุดไประหว่างทาง หลังจากนั้นประมาณ พ.ศ. 2543 – 2544 ช่วงนี้ผมไปเรียนต่อที่อเมริกา แล้วพอไปที่นั่นก็มีเวลาว่าง ผมก็เขียนเรื่อง เบื้องบรรพ์ จนจบ ถือเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่เขียนจบ”

เขาย้อนนึกถึงนวนิยายเรื่องแรกของเขา ในช่วงเวลาที่เติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น ชื่อเรื่องนั้น ดูห่างไกลจากเรื่องที่เขียนในวัยเด็กมากทีเดียว “พอจะเล่าเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องแรกให้ผมฟังได้มั้ย”

“เบื้องบรรพ์ เป็นนวนิยายขนาดสั้น 16 ตอนครับ เขียนรวดเดียวเลย แล้วเก็บไว้ จนวันหนึ่งมีการประกวดของมูลนิธิสุภาว์ เทวกุลพอดี ประมาณ พ.ศ. 2544 ผมก็เลยส่ง ปรากฏว่ามันได้รางวัลชมเชย ร่วมกับ สาคร พูลสุข ส่วนดีเด่นเป็นของ เสถียร ยอดดี รวมแล้ว 3 เรื่องที่ได้ปีนั้น แล้วมูลนิธิสุภาว์ เทวกุล ร่วมกับสำนักพิมพ์เพื่อนดีจับมือกันตีพิมพ์นวนิยายที่ได้รางวัลออกมาเป็นเล่ม”

เบื้องบรรพ์

“คุณพงศกรไปเอาเรื่องนี้มาจากไหน แล้วเรื่องมันเกี่ยวกับอะไรครับ” ผมเคยอ่านเรื่องนี้แล้ว แต่ผมไม่บอกเขา ผมอยากลองทดสอบว่าเขาจะเขียนเรื่องนี้จริงหรือไม่

“เรื่อง เบื้องบรรพ์ มันอยู่ในใจผมตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เวลาเรียนซัมเมอร์จะให้เราไปอยู่กับชาวบ้าน ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของคน เหมือนไปออกค่าย ก็มีครั้งหนึ่งไปอยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดสกลนคร ไปได้ฟังตำนานเรื่องผาแดงนางไอ่ ล่ากระรอกเผือก พญานาคแปลงตัวมา ตอนกลางคืนพญานาคก็มาล่มเมืองกลายเป็นบึง ทุกอย่างเป็นน้ำ เพราะพญานาคโกรธที่ไปฆ่าลูก”

นับว่าเขาแม่นเรื่องนี้ทีเดียว ผมยังคงนั่งฟังต่อ

“แล้วตอนเย็นๆ ผมก็ชอบไปนั่งริมน้ำ มานั่งนึกว่าถ้าตรงนี้เป็นเมืองจริงมันจะเป็นยังไง แล้วจังหวะเวลานั้นมันมีเรื่องทางตะวันตก คือการขุดค้นพบเมืองทรอย มาจากมหากาพย์เรื่อง อีเลียด ของโฮเมอร์ ซึ่งทุกคนบอกว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ว่านักโบราณคดีไปขุดพบได้ นั่นแสดงว่าตำนานที่เราได้ยินมามันจะต้องมีเค้าความจริง

“ผมก็มาคิดว่าตำนานผาแดงนางไอ่ต้องมีเค้าความจริงเหมือนกัน เพราะว่าตอนไปอยู่ตรงนั้นชาวบ้านเขาเอาพวกลูกปัด หม้อชามรามไหที่แตก หรือแม้แต่เศียรพระพุทธรูป จากการขุดพบได้จากก้นบึงตอนหาปลา ผมก็ เฮ้ย มันมีความเป็นไปได้สิว่าจะมีเมืองอยู่ใต้บึงหนองหาน ก็เลยเกิดจินตนาการ ตอนนั้นแค่คิด ยังไม่ลงมือเขียน แต่มันติดอยู่ในใจผมมาตลอด

“วันที่จะมาเขียนนวนิยายก็เริ่มออกแบบตัวละคร โดยให้ตัวละครเอกเป็นนักโบราณคดี ซึ่งเชื่อในทฤษฎีว่าทุกตำนานมีเค้าเรื่องความจริง แต่ในเรื่องตัวละครเอกนี่ไม่มีใครสนับสนุนเขาเลย เพราะมันเลื่อนลอย เป็นไปไม่ได้ พระเอกก็เลยไปจับมือกับนายทุนค้าวัตถุโบราณ คือพระเอกอยากพิสูจน์ความจริงของตำนาน ขณะที่นายทุนอยากได้ของโบราณ ก็เลยร่วมกันหาทางลงไปใต้บึง และพบว่ามันมีเมืองอยู่จริงๆ แล้วผมก็ทิ้งไว้ในตอบจบให้คนอ่านคิดต่อว่ามันจริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่”

เขาเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่ง แต่ผมก็ยังเชื่อไม่สนิทใจนัก ก็เพราะเขาเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งนั่นเอง ผมจึงลองหยั่งคำถามต่ออีกว่า “ดูคุณพงศกรจะพอใจกับนวนิยายเล่มแรกมากทีเดียวนะครับ”

“หลังจากเขียนเรื่อง เบื้องบรรพ์ ผมก็ฮึกเหิม เฮ้ย เขียนนิยายจบแล้ว ก็อยากเขียนอีก ก็เลยเขียนเรื่องที่ชื่อ ทะเลราตรี”

ถือว่าการหยั่งคำถามของผมได้ผล

นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ

ระหว่างนั้นผมไม่สนใจเรื่องแรกแล้ว เพราะถือว่าเขียนจบแล้ว ก็เลยมาเขียนเรื่องที่สอง แต่อยากเขียนแนวนักสืบ แนวฆาตกรรม โดยให้แมวของพระเอกเป็นคนเล่าเรื่อง คือช่วงที่เรียนอยู่ที่อเมริกามีเทรนด์หนึ่งของพวกนักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวน เขาจะเขียนโดยใช้สัตว์เลี้ยง บ้างก็มาเป็นตัวเล่าเรื่อง บ้างก็เป็นตัวเอกในเรื่อง พออ่านไปอ่านมาเราก็คิดถึงสัตว์เลี้ยงบ้านเราก็คือแมว แล้วมันน่ารัก ก็อยากเขียนบ้าง เป็นแนวนักสืบเบาสมอง เขียนอยู่ประมาณ 18 – 20 ตอน ระหว่างเขียนเรื่องนี้รางวัลสุภาว์ เทวกุล ยังไม่ประกาศนะ เพราะผมเขียนจนสำเร็จแล้วเล่มแรก ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว เพราะตั้งความหวังแค่ว่าอยากเขียนนิยายจบ

“พอเขียนเรื่อง ทะเลราตรี จบเราก็ เอาวะ ลองส่งไปนิตยสาร สกุลไทย เพราะเป็นนิตยสารที่เห็นอยู่ในบ้านตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่รู้หรอกว่าผลมันจะเป็นยังไง เพราะทางนิตยสารเขาก็ไม่ได้ประกาศว่าเปิดรับต้นฉบับ แต่เรารู้ว่านิตยสารก็เปิดกว้างอยู่แล้ว เราก็ใส่ซองส่งไปรษณีย์ไปตามระบบ ส่งถึง คุณสภัทร สวัสดิรักษ์ แล้วก็เงียบหายไปเลย แต่ตัวผมคิดว่าเขียนนวนิยายเรื่องที่ 2 จบแล้ว ส่งผลงานไปเสนอนิตยสารแล้ว ถือว่าพอใจแล้ว”

“ฟังดูแล้วช่วงนั้นคุณพงศกรดูจะไฟแรงเหลือเกิน” ผมบอกเขา

“แต่หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้เขียนเรื่องที่ 3 อีก เพราะงานเริ่มยุ่งแล้ว ปรากฏว่าระหว่างนี้รางวัลสุภาว์ เทวกุล ประกาศผล เราได้รางวัล เขาก็จัดงาน ผมไปรับรางวัล แล้วก็ได้เห็นหนังสือนวนิยายของเราที่เป็นรูปเล่มครั้งแรก ผมตื่นเต้นมาก เพราะในชีวิตนี้อยากเห็นหนังสือของตัวเอง วันนั้นพอไปเห็นหนังสือของตัวเองก็ภูมิใจมาก ใจเต้น นี่ซื้อมาเป็นตั้งเลยนะ” (หัวเราะ)

เขาทำให้ผมอยากรู้มากขึ้นว่าทำไมเขาจึงติดใจเรื่องสืบสวนสอบสวน จนเอามาใช้เป็นแนวทางการเขียนของตัวเอง

“ผมชอบแนวสืบสวนสอบสวน เพราะมันเรียกเร้าสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของคนออกมา เมื่อเราเห็นรถชน เราก็อยากรู้ว่าใคร ตายหรือเปล่า แล้วการอยากรู้อยากเห็นนี้เป็นวัฒนธรรมของคนไทย ดังนั้น ผมว่าถ้านิยายตั้งต้นที่ทำให้คนอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ใครทำ แล้วจะเกิดอะไรต่อไป จะยิ่งทำให้คนอยากติดตาม นี่อาจจะเป็นความถนัดของผม จะให้ผมเขียนแนวเรียลิสติก หรือนิยายรัก แล้วอยากให้คนติดตาม ผมก็ทำไม่ได้เหมือน กฤษณา อโศกสิน, ปิยะพร ศักดิ์เกษม หรือ กิ่งฉัตร แต่ถ้าแนวลึกลับ เหนือจริง แฟนตาซี สืบสวนเราถนัดแน่นอน เราจะเอาสัญชาตญาณความอยากรู้ของคนมาขับเคลื่อนเรื่องราวให้คนอ่านติดตามไปเรื่อยๆ”

“คุณทำให้ผมอยากติดตามเรื่องของคุณอีก” ผมกล่าวกับเขา “คุณเขียนเรื่องสืบสวนอะไรอีกมั้ย”

“เรื่อง ลายกินรี” เขาตอบ “เรื่องนี้ออกแบบการเขียนนานมาก ผมรู้ว่าผมทำได้ดีในสายสืบสวนสอบสวน แต่นิยายแนวสืบสวนสอบสวนมักจะใช้ฉากในปัจจุบัน เราก็คิดโจทย์ว่าถ้าเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาจะทำได้มั้ย เพราะผมอยากเขียนเรื่องอยุธยามานานแล้ว แต่จะเขียนอิงประวัติศาสตร์เหมือน สายโลหิต ก็คิดว่าตัวเองจะทำได้ไม่ดี เพราะเราไม่ได้มาสายดราม่าหรือว่าสายอิงประวัติศาสตร์หนักๆ  อีกใจคิดว่ามันต้องทำได้สิ ก็มาทำให้น่าสนใจ สร้างตัวละครนางเอกเป็นหมอ แต่ว่าหมอสมัยก่อนนี่มีแต่ผู้ชาย หมอเป็นผู้หญิงแทบจะไม่มี จะมีแค่เป็นหมอผดุงครรภ์หรือหมอตำแย แต่ที่จะลุกขึ้นมารักษาคนคงไม่มี”

“จริงๆ เขียนก่อนที่ บุพเพสันนิวาส จะดังนะ” เขาออกตัว ตามด้วยเสียงหัวเราะ “ที่ผมเลือกสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะเราเปิดประเทศ อารยธรรมตะวันออกและตะวันตกมาพบกัน มีวิทยาการใหม่ๆ เข้ามา มันน่าจะสอดคล้องกับการที่ให้นางเอกเป็นหมอ มีประเด็นเรื่องการชันสูตรศพได้ดี”

ผมแทรกถามว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องสืบสวนธรรมดาเสียแล้ว แต่มันมีประวัติศาสตร์เข้ามาด้วยนี่ครับ”

“จริงๆ เขียนประวัติศาสตร์สนุกนะครับ มันมีช่องว่างให้เราเขียนเยอะ ผมใช้ช่องว่างตรงนั้นได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความยาก เพราะช่องว่างที่เราเติมไปมันจะต้องไม่บิดเบือนของจริงที่เขามี เราต้องมีฐานของข้อเท็จจริง แล้วเราค่อยไปเติมส่วนที่มันหายไปเพื่อไม่ให้กระทบของจริง ยังมีเรื่องของลำดับเวลาที่เราต้องดูว่า ณ เวลานั้นมีอะไรหรือไม่มีอะไร

“อย่างใน ลายกินรี จะมีบทหนึ่งที่พระเอกใช้น้ำแข็งถนอมศพ ตรงนี้เป็นประเด็นเยอะมากตอนหนังสือตีพิมพ์ออกไป มีคนมาแสดงความเห็นว่ามันไม่มีหรอกน้ำแข็ง มันเพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง แต่ในความเป็นจริง น้ำแข็งมันมีมาคู่กับโลกใบนี้แล้วนะ หน้าหนาวของยุโรปแม่น้ำก็เป็นน้ำแข็ง ผมไปค้นคว้าข้อมูลมา เพราะจุดนี้ในนวนิยายมันเป็นข้อเท็จจริง จะเขียนผิดออกไปไม่ได้ เรากังวลกับข้อท้วงติงนี้เหมือนกัน

“เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงกับฉากนี้ เพราะเมื่อเกิดฆาตกรรมแล้วมีศพ ศพไม่ได้ถูกตรวจในทันที แต่จะถูกรักษาไว้ระยะหนึ่งเพื่อรอให้นางเอกมาตรวจ ในเรื่องเกิดที่อยุธยา เมืองไทยเป็นเมืองร้อน เราก็คิดว่าการรักษาศพจะต้องใช้ความเย็น บังเอิญว่าพระเอกเป็นคนฝรั่งเศส แล้วเป็นช่วงที่โคลัมบัสออกสำรวจโลกแล้วโดยทางเรือ แล้วในเรือมันจะมีห้องใต้ท้องเรือซึ่งเขาใช้ทองแดงกรุ เขาจะตัดน้ำแข็งจากแม่น้ำที่มันกลายเป็นน้ำแข็งแล้วออกเป็นท่อนๆ เอามาใส่ใต้ท้องเรื่อง นั่นคือการทำห้องเย็นนั่นเอง

“ข้อมูลนี้มีแหล่งอ้างอิงชัดเจนในสารานุกรม Britannica ส่วนทางจีนก็มีบันทึกของเจิ้งเหอ แม่ทัพใหญ่ที่ออกเดินเรือสำรวจแผ่นดินใหม่เหมือนกัน มีบันทึกชัดเจนว่าใช้น้ำแข็งในการถนอมอาหารแล้ว เราก็โล่งอกไปเปราะหนึ่งว่าข้อมูลเราไม่ผิด ที่เล่าเรื่องนี้เพราะว่ามันเป็นความยากในการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เราต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดี

“อย่างงานเขียนเล่มล่าสุดคือ เปลวกนก ฉัตรกนก เชิญกนก ถือว่าเป็นรุ่นลูกหลานของชุด ลายกินรี แต่เป็นประวัติศาสตร์ยุคใกล้ คือสมัยรัชกาลที่ 6 7 8 เล่าผ่านนางเอก 3 คนใน 3 รัชกาลนี้ แล้วก็ต้องเอานางเอกเป็นคุณหญิง เป็นหม่อมราชวงศ์ เพราะช่วงนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นหรือศักดินา ถ้าตัวละครเป็นคนธรรมดาจะเล่าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ไม่ได้”

“นับว่าเรื่องสืบสวนสอบสวนเป็นตัวตนของคุณพงศกรหรือเปล่า” ผมขยับตัวพิงพนักเก้าอี้ และพยายามทำตัวเป็นนักสืบขึ้นมาบ้าง

นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ

“แม้นวนิยายเรื่องแรกจะมาแนวลึกลับเหนือจริง ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เกิดความสงสัยแคลงใจ เกิดคำถามว่าจริงหรือไม่จริง แต่หลายเรื่องต่อมาก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ เช่น ฤดูดาว มายาเงา เรื่องหลังๆ อาจไม่เน้นการสร้างความเข้มข้นของเรื่องเท่าไหร่ ถ้าถามในมุมของคนอ่าน อาจจะชอบไปคนละเรื่อง ทำให้ขายดีและไม่ดีในบางเรื่อง ผมพบว่าเรื่องที่คนชอบและขายดีส่วนใหญ่จะมาทางแนวรักสืบสวนแบบเบาๆ แต่คนอ่านอ่านกันแล้วไม่ค่อยจดจำกันเท่าไหร่ เพราะเรื่องมันเบา

“ถึงวันนี้ผมเขียนหนังสือมา 50 กว่าเล่มแล้ว ถ้าให้นิยามประเภทงานเขียนของตัวเอง เป็นแนวเหนือจริงหรือแฟนตาซีที่มีผีและการสืบสวนสอบสวน แต่ก็มีแนวรักโรแมนติก ชิคลิท หรือสะท้อนสังคม รวมๆ แล้วน้อยมาก ประมาณ 4 – 5 เรื่อง เพราะเขียนแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ทาง ทำได้ไม่ดี”

“คุณพงศกรชอบเรื่องไหนของตัวเองมากที่สุด” ผมถาม

“ผมชอบทุกเรื่องที่ตัวเองเขียน ผมจึงจะเขียนมันออกมาได้ แต่พอเขียนออกมาแล้วก็เห็นความแข็งแรงของบางเรื่อง และเห็นจุดอ่อนของบางเรื่อง เรื่องที่แข็งแรงและนำเสนอลายเซ็นของงานผมมากที่สุดคือ กำไลมาศ เป็นเรื่องค่อนข้างยาว ผมรู้สึกว่าต้องรวบรวมสรรพกำลังเยอะมากในการนำข้อมูลมาเขียน มีตำนานความเชื่อ เรื่องลึกลับ มีดราม่าที่นำเสนอความโลภ ความอยากได้ใคร่มี ของคน ถ้าถามนักอ่านที่เป็นแฟนแท้ๆ เขาจะบอกว่าชอบเรื่องนี้มาก แต่เวอร์ชันละครไม่เหมือนนวนิยาย เพราะเขานำไปปรับเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์”

“เท่าที่ฟังมาเรื่องของคุณพงศกรมีทั้งลึกลับและเหนือจริงที่มาจากตำนานหรือเรื่องเล่าปรัมปรา ขณะที่เรียนและเป็นหมอด้วย ผมสงสัยว่าสองความเชื่อนี้มันไปด้วยกันได้หรือ”

“การแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ที่จริงแล้วมันคือทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายอะไรได้อย่างจำกัด” เขาขยับตัวนั่งหลังตรง จนดูเหมือนว่าเขากำลังทำตามในสิ่งที่ผมทำ แล้วกล่าวต่อว่า “มันมีหลายสิ่งมากที่วิทยาศาสตร์และการแพทย์อธิบายไม่ได้ แต่เราจะบอกว่ามันไม่มี จริงเหรอ ผมเคยเจอคนไข้คนหนึ่งเป็นพระ เขามีปัญหาเรื่องระบบประสาท เหมือนเป็มอัมพาต แต่ว่าตรวจแล้ว รักษาแล้ว ไม่พบสาเหตุ

“ทางญาติเชื่อว่าผู้ป่วยไปทำผิดจารีตบางอย่างที่ทางภาษาอีสานเรียกว่า ‘ขึด’ ต้องมีการขอขมา ถ้าพูดแบบนี้ปุ๊บ หมอทุกคนอาจจะบอกว่า ไม่ได้ งมงาย มันไม่ใช่ มันไม่จริง ญาติเขาก็ต่อรองว่าขอเอาผีฟ้ามารักษา สุดท้ายหลังพูดคุยกันอยู่นาน ทางโรงพยาบาลก็อนุญาตให้เข้ามา ปรากฏว่าหลังจากพิธีคนไข้เดินได้เลย ทั้งที่อยู่โรงพยาบาลเดินไม่ได้เป็นเดือน หลายคนอาจบอกว่าเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ซึ่งเอาเข้าจริงเราก็ไม่รู้หรอกว่าคืออะไร แต่พิสูจน์ให้เห็นว่าการแพทย์อธิบายไม่ได้ การคิดแบบนี้ทำให้เราไม่ติดกรอบ และไม่ติดกับดักที่เราสร้างขึ้นมาเอง

หากย้อนไปที่เรื่อง เบื้องบรรพ์ ก็เหมือนกัน คือมันชวนให้คนอ่านติดตามนั่นแหละว่ามีจริงหรือเปล่า แล้วการที่พระเอกไปลงไปเจอเมืองใต้บึงก็ไปเจอแค่บางส่วนของเมือง ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วที่จริงมันใช่เมืองมั้ย การที่นางเอกฝันซ้ำๆ ว่าตัวเองกำลังหนีอะไรบางอย่าง จริงๆ แล้วเป็นแค่จิตใต้สำนึกอะไรบางอย่าง หรือนางเอกคือนางไอ่ที่มาเกิด แล้วหนีพญานาค ผมไม่ได้อธิบาย เปิดเอาไว้ ให้คนอ่านคิด แล้วก็ไม่เฉลยด้วย เพียงแต่บรรยายสิ่งที่นางเอกรู้สึก สิ่งที่มันเกิดขึ้นซ้ำๆ มันไปสอดคล้องกับตำนานพื้นบ้านที่เขาเล่ากันอยู่แล้ว”

ผมยังไม่หายจากการทำตัวเป็นนักสืบ “ดูเหมือนว่าคุณมักจะชอบทิ้งคำถามปลายเปิดไว้ในนวนิยาย”

คุยเรื่องนิยายเล่มแรกถึงล่าสุดของนักเขียน 'พงศกร' โดย นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ

“ในฐานะที่เราเป็นนักเขียน เราต้องศึกษาข้อมูลทั้งสองฝ่าย เราจะต้องไม่ตัดสิน เราต้องทำตัวเหมือนเป็นผู้รายงานข่าว แต่เรานำเสนอให้เห็นทั้งสองฝ่าย ผมเขียนเรื่อง ฤดูดาว ในช่วงเวลาที่ GMO หรือการตัดต่อทางพันธุกรรมกำลังเป็นกระแสสังคม คนกำลังสงสัยในประเด็นที่มนุษย์เล่นบทบาทเป็นพระเจ้า การตัดต่อพันธุกรรมมีข้อดีและข้อเสียของมัน ก่อให้เกิดกระแสแยกเป็นสองทาง ทางนักวิชาการออกมาโจมตีอย่างรุนแรง ขณะที่อีกกลุ่มก็มีคนเชื่อว่าทำให้การเกษตรดีขึ้น เพราะมันไปแก้ไขข้อบกพร่องที่ธรรมชาติสร้างไว้ ผมรู้สึกว่ามันสุดขั้วมาก ผมจึงเขียนให้เห็นทั้งสองด้านแล้วปล่อยให้ผู้อ่านตัดสินเอาเอง ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และวิจารณญาณ”

ดูท่าทีในการพูดเรื่องการเขียนและเรื่องเล่าในนวนิยายของเขาแล้ว ทำให้ผมเริ่มเชื่อเสียแล้วว่าเขาเป็นนักเขียน ไม่ใช่เป็น ‘อาการแปลก’ อย่างที่พยาบาลตั้งข้อสังเกต

“การเขียนหนังสือจะต้องเริ่มจากชอบก่อนเป็นอย่างแรก”

จู่ๆ เขาก็โพล่งขึ้น เล่าถึงสาเหตุที่หล่อหลอมให้เขาอยากเขียนหนังสือ ดูเหมือนเขาจะอ่านใจผมออกว่าผมสงสัยในความเป็นนักเขียนของเขา

“ยุคที่ผมเกิดและเติบโตเป็นยุคก่อนหน้าโซเชียลมีเดีย ตอนเด็กคือเล่นตีกบ เวลาว่างก็อ่านหนังสือ แล้วผมเป็นลูกคนเดียวด้วย หลังจากเล่นกับเพื่อนเสร็จก็มาอ่านหนังสือ เพราะในบ้านพ่อแม่อ่านหนังสือ ตรงนี้สำคัญสำหรับคนที่อยากเขียนนะ การอ่านจะทำให้ฐานการเขียนของเราแน่น”

“แต่คุณก็เป็นหมอ…” ผมกำลังจะถามเขาต่อ แต่ยังไม่ทันจบประโยค เขาก็อ่านใจผมออกอีกครั้ง

“การเขียนมันเป็นทางที่เราหลบจากโลกปัจจุบันไปชั่วคราว เป็นการปลดปล่อยความตึงเครียดของผมเอง เวลาทำงานบางทีมีความเครียดอยู่ ก็เลือกวิธีบริหารความเครียดด้วยการออกกำลังกายบ้าง แต่ผมพบว่าการเขียนเป็นการลดความเครียดลงไปได้มาก

“ผมมีความเครียดอยู่บ้างก็ตอนที่เขียนตามเวลา ซึ่งแต่ก่อนต้องตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในนิตยสาร มีทั้งรายสัปดาห์ รายเดือน เพราะฉะนั้น ต้นฉบับเราจะต้องทำให้พร้อม ไม่ใช่พอถึงคิว สกุลไทย บอกไม่มีงานพงศกรสัปดาห์นี้ เพราะพงศกรเขียนไม่ทัน มันก็ไม่ได้ใช่มั้ยครับ มันเป็นการไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ แต่พอนิตยสารปิดตัวไปแล้ว ระยะเวลาที่มากำหนดงานเขียนเราคือช่วงงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่มีปีละ 2 ครั้ง เป็นเหมือนสัญญาใจกับผู้อ่านว่าพงศกรจะต้องมีผลงานใหม่ออกมาปีละ 2 เล่มสม่ำเสมอ เราก็ต้องมีวินัยกับตัวเอง”

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘สัญญาใจ’ กับผู้อ่าน ทำให้ผมรู้สึกวาบไปทั้งตัว เหมือนเป็นคำที่มากระตุ้นเตือนอะไรบางอย่างในตัวผมเอง ในครั้งแรกผมชวนคนไข้ที่ชื่อ ‘พงศกร’ คุย เพื่อจะวินิจฉัยอาการของเขา แต่ทำไมท้ายที่สุดเหมือนเรื่องจะพลิกกลับ กลายเป็นคุณพงศกรกำลังย้อนกลับมาวินิจฉัยผมเสียเอง

ขณะที่ผมสับสนปั่นป่วนอยู่ข้างในนั้นเอง คุณพงศกรก็เป็นฝ่ายถามผมกลับว่า “แล้วคุณหมอล่ะครับ เขียนหนังสือไปเพื่ออะไร”

ผมได้ยินตัวเองตอบกลับเขาไปว่า

“เวลาผมจะเขียนนวนิยายสักเรื่อง ผมจะคิดถึงแก่นหลักของมันก่อน คิดถึงเหตุการณ์หรือบริบทแวดล้อมตามองค์ประกอบของนวนิยาย แต่ความตั้งใจคือ ผมจะไม่เขียนเรื่องที่ทำร้ายคนหรือทำให้สังคมแย่ลง นี่เป็นหลักการที่ยึดมาโดยตลอด คนทำดีมันก็ต้องได้ดี ไม่อย่างนั้นใครจะมีกำลังใจอยากทำดี ถ้าเราเขียนให้คนชั่วได้ดี จะไม่มีในงานเขียนของผมนะ เพราะอย่างน้อยงานเขียนจะต้องจรรโลงใจคน”

ผมตอบประโยคเหล่านั้นออกไปได้อย่างไร นี่ผมกำลังมีอาการผิดปกติหรือเปล่า

“ไม่ต้องกังวลไปหรอกครับคุณหมอ” เขาพูดขึ้น “ผมก็มีอาการแบบนี้มาก่อน และก็เป็นอยู่ อย่างที่ผมเล่าไปนั่นแหละครับ ว่าคนที่เป็นนักเขียนมักจะมองเห็น ได้ยิน สงสัย และอยากเล่าเรื่องในสิ่งที่คนทั่วไปมองข้ามหรือมองไม่เห็น คุณหมอเองก็เป็นนักเขียนเหมือนผมใช่มั้ยล่ะครับ—คุณหมอพงศกร”

เขาเอ่ยชื่อผมชัดถ้อยชัดคำ

นั่นทำให้ผมเข้าใจแล้วว่า คนที่ผมสนทนาด้วยนั้น คือตัวผมเอง

Writer

Avatar

จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร

หลงใหลโลกวรรณกรรมในหลากหลายมิติ ศึกษามาทางด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ มีผลงานเขียนทั้งเรื่องสั้น (นามปากกา สมุด ทีทรรศน์) ความเรียง บทวิจารณ์วรรณกรรม บทความวิชาการ และบทสัมภาษณ์ นอกจากงานเขียนยังเป็นบรรณาธิการแปลอิสระและนักเดินทาง (ไม่อิสระ) ด้วย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ