27 มิถุนายน 2022
9 K

สุนัขเผลอกินกระดูกทำอย่างไร วัคซีนแมวควรฉีดตอนไหน มีอะไรบ้าง เชื่อว่าบรรดาทาสคงเคยเสิร์ชหาข้อมูลเหล่านี้บนอินเทอร์เน็ตเพื่อคลายสงสัย

แต่นกลูกป้อนควรกินอาหารที่อุณหภูมิเท่าไหร่ ซังข้าวโพดเหมาะสำหรับการเลี้ยงเม่นแคระหรือไม่ ให้หนูแกสบี้กินแต่ผักสดได้ไหม

ในอดีต ค้นหาคำถามเหล่านี้ไป ก็อาจได้คำตอบจากแอดมินกลุ่มหรือเจ้าของฟาร์ม มากกว่าหมอผู้เชี่ยวชาญสัตว์พิเศษ เพราะจำนวนหมอมีน้อยกว่าความต้องการ และใช่ว่าหมอทุกคนจะมีช่องทางการสื่อสารเป็นของตนเอง

นสพ.กฤตชัย ฉัตรเจริญสุข หรือ หมอหมู เจ้าของเพจ ‘Dr.monsters หมอสัตว์ประหลาด บอกกับเราว่า เขาเริ่มต้นแบบคนไม่มีความรู้เรื่องการทำเพจ หวังเพียงเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้กับคนเลี้ยงสัตว์พิเศษเท่านั้น ในฐานะคนรักสัตว์เหมือนกันที่คลุกคลีกับความแปลกมาตั้งแต่แมลง ปูนา ยันกิ้งก่าทะเลทราย

เริ่มเรียนหมอตอนอายุ 28 สู่เพจ Dr.monsters หมอสัตว์ประหลาด ผู้อาสาทำปากใหม่ให้นกฟรี
เริ่มเรียนหมอตอนอายุ 28 สู่เพจ Dr.monsters หมอสัตว์ประหลาด ผู้อาสาทำปากใหม่ให้นกฟรี

aka หมอสัตว์ประหลาด

“หมอทำคอนเทนต์ไม่เป็นหรอก ไม่มีเวลาทำโปสเตอร์ ไม่มีคนช่วยทำด้วย เราทำง่าย ๆ ไลฟ์สด คุยกันเหมือนเพื่อน อาการนกเป็นแบบนี้คืออะไร ให้ความรู้ที่คนเข้าใจผิดแล้วทำให้คุณภาพชีวิตสัตว์แย่ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องมีเพจหมอสัตว์ประหลาด”

ท่ามกลางยุคสมัยที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้หมดทั้งจริงและเท็จ หมอหมูเสนอแนะว่า การที่คุณหมอหรือโรงพยาบาลสัตว์ที่มีความชำนาญออกมาให้ความรู้ ถือเป็นประโยชน์โดยตรงต่อตัวคนเลี้ยง เพราะคุณภาพชีวิตสัตว์จะดีขึ้นแน่นอน

แรกเริ่ม หมอหมูให้ความรู้เรื่องนกเพียงอย่างเดียว เพราะความชอบส่วนตัว ต่อมาเริ่มมีเรื่องราวของสัตว์พิเศษชนิดอื่น จากการตระเวนรักษาแบบพาร์ตไทม์ตามโรงพยาบาลสัตว์ต่าง ๆ จนก้าวใหม่ของชีวิตนำพาให้หมอหมูเปิด ‘โรงพยาบาลสัตว์อเมโซเนีย’ ย่านมีนบุรีเป็นของตัวเอง ภาระงานที่หนักขึ้นจึงทำให้มีเวลาไลฟ์สดน้อยลงตามไปด้วย

สำหรับหมอ การไลฟ์สดไม่ใช่แค่นั่งเล่าเรื่องให้ฟัง แต่ต้องมีเวลาทำการบ้าน เตรียมข้อมูลอย่างดี มีการพิสูจน์หลักฐาน เพราะเป็นการถาม-ตอบโดยทันทีกับคนเลี้ยงที่ร้อนใจ และหมอเองก็ทราบว่า คำแนะนำจากปากหมอแต่ละครั้ง อาจกระเทือนถึงคนอื่นบ้างไม่มากก็น้อย เช่น อันตรายที่เกิดจากอาหารบางยี่ห้อ อาจส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการ

แต่อย่าเพิ่งคิดว่าเรื่องราวในเพจ Dr.monsters หมอสัตว์ประหลาด จะเต็มไปด้วยศัพท์วิชาการ ปัญหาการผ่าตัด หรือรูปสัตว์ที่ไม่น่าดู หมอหมูเองก็ไม่อยากลงรูปที่เครียดเกินไป ตลอดการเดินทางร่วม 2 ปีของเพจนี้ เขาจึงลงรูปน่ารักขำขันของเด็ก ๆ ให้ได้ยิ้มประจำวันมากกว่า 

แม้ยอดไลก์หลักหมื่นจะดูน้อยในสายตาใครหลายคน แต่หมอหมูก็คร่ำหวอดในวงการสัตว์ชนิดพิเศษ จนผู้คนรู้จักเขาในนาม ‘หมอสัตว์ประหลาด’ มากกว่าชื่อจริงของเขาเสียอีก

เริ่มเรียนหมอตอนอายุ 28 สู่เพจ Dr.monsters หมอสัตว์ประหลาด ผู้อาสาทำปากใหม่ให้นกฟรี

ส่วนที่มาที่ไปของ aka หมอสัตว์ประหลาด เป็นเรื่องที่ยังไงก็ต้องถามให้หายข้องใจ หมอหมูเล่าให้ฟังว่า เขาไม่ใช่คนตั้งชื่อ

“เราเลี้ยงสัตว์เยอะมากตั้งแต่เด็ก ที่บ้านคือสารพัดสัตว์ เพื่อนที่รู้จักกันมานานชอบบอกว่าเราเอาสัตว์ประหลาดมาเลี้ยงอีกแล้ว ทั้งตั๊กแตน จิ้งหรีด กบ ปู ปลากัด กระรอก ฯลฯ งั้นก็ชื่อหมอสัตว์ประหลาดไปเลย มันสะท้อนภาพตัวเราออกมาได้ชัดที่สุดว่า ไอ้คนนี้มันชอบเลี้ยงสัตว์หลาย ๆ อย่าง”

สมัยนั้น หมอหมูเลี้ยงสัตว์โดยไม่มีข้อมูลอะไรเลย แม้แต่ข้อมูลของสุนัขและแมวก็ยังหาแทบไม่ได้ ไม่ต้องไปพูดถึงสัตว์เอ็กโซติกอื่น ๆ พอโตขึ้นมาหน่อย ข้อมูลของเพื่อน 4 ขาก็มีเพิ่มมากขึ้นตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ข้อมูลของสัตว์พิเศษ ทั้งสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำ สัตว์ปีก หรือแมลง ยังคงหายาก

ถ้ากำลังคิดว่า อ๋อ เพราะเหตุนี้ที่ทำให้หมอหมูตัดสินใจเรียนสัตวแพทย์โดยทันทีล่ะก็ ผิดถนัด

เขาคว้าปริญญาใบแรกจากการเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วต่อโท MBA บริหารธุรกิจเป็นปริญญาใบที่สอง ประกอบอาชีพเพาะฟาร์มสัตว์เลี้ยงอีกนานนับสิบปี ก่อนค้นพบว่าเพื่อนร่วมทางที่อยู่กับเขามาตั้งแต่ยังอ่านหนังสือไม่แตกและไม่เคยห่างหายไปไหน คือสัตว์ตัวน้อยใหญ่

นั่นคือตอนที่เขากลับไปเป็นนักศึกษาอีกครั้งในวัย 28 ปี

เปิดเทอม

‘จุดเปลี่ยนชีวิต’ คือ วันที่แมวของเขาล้มป่วยเป็นโรคช่องท้องอักเสบ หมอบอกว่าคงอยู่ได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ เขาทำทุกวิถีทาง ศึกษาข้อมูล สั่งยาราคาแพงจากต่างประเทศ จนยื้อชีวิตน้องแมวได้นานถึง 2 เดือน แต่กฤตชัยกลับคิดว่า หากมีความรู้มากกว่านี้ ทำเต็มที่มากกว่านี้ เหตุการณ์อาจไม่ลงเอยแบบนี้ก็เป็นได้

“จากบรีดเดอร์ เรากลับไปเรียนปริญญาตรีสัตวแพทย์ตอนอายุ 28 ปี ในขณะที่น้อง ๆ คนอื่นอายุ 18 ระยะเวลาเรียน 6 ปีเท่ากัน

“เราจอดรถอยู่หน้าอาคารเรียนตั้งแต่เที่ยงยัน 4 โมงเย็น เห็นเด็ก ๆ ใส่ชุดนักเรียนไปรายงานตัว คิดเลยว่าถ้าจะต้องอยู่กับน้อง ๆ พวกนี้อีก 6 ปี เราคิดถูกไหม ใครก็บอกว่าเราบ้า แล้วจะเอาเวลาที่ไหน เพราะมันต้องเรียนฟูลไทม์ เช้าจนเย็น ต้องไปฝึกงานตามศูนย์ต่าง ๆ ฟาร์มก็ยังทำอยู่ แต่เป้าหมายของเราคือเป็นหมอที่รักษาสัตว์ชนิดพิเศษ มันชัดเจนมาตั้งแต่วันแรกที่ก้าวขาเข้าไปเรียน”

เริ่มเรียนหมอตอนอายุ 28 สู่เพจ Dr.monsters หมอสัตว์ประหลาด ผู้อาสาทำปากใหม่ให้นกฟรี
เริ่มเรียนหมอตอนอายุ 28 สู่เพจ Dr.monsters หมอสัตว์ประหลาด ผู้อาสาทำปากใหม่ให้นกฟรี

ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะเป็นหมอหมูได้อย่างทุกวันนี้ จากการเริ่มต้นช้ากว่าใคร ต้องพยายาม ขวนขวาย เสียสละมากขึ้นเพื่อให้เป็นดังใจหวัง การเรียนการสอนสัตวแพทย์ในไทยก็มุ่งเน้นไปที่สัตว์ 2 ประเภทคือ หนึ่ง ปศุสัตว์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สุกร ไก่ สอง คือ สัตว์เล็กที่ได้รับความนิยมอย่างสุนัขและแมว เท่ากับว่าใครสนใจสัตว์พิเศษ ก็ต้องไปศึกษาต่อหรือหาประสบการณ์จากการทำงานเพิ่มเติมอีกหลายปี

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้หมอหมูไม่เหนื่อยยากเกินไป คือความหลงใหลสัตว์เอ็กโซติกที่สอนกันไม่ได้

“การจะเป็นหมอรักษาสัตว์ชนิดหนึ่งได้ดีและรู้จริง ต้องมีความชอบเป็นพื้นฐาน จะเอาแค่ความคิดว่า หมอนกมีน้อยเลยอยากเป็น มันไม่เพียงพอ มันขาดความอิน

“เพราะความอินจะทำให้เราศึกษาค้นคว้าตั้งแต่ยังไม่ได้เรียนด้วยซ้ำ ช่วยให้คนที่เป็นหมอมีความอยากรู้ มีความพยายาม บางทีแค่ได้ยินเสียงนกในโรงพยาบาล เราอยู่ในห้องตรวจ ก็บอกได้เลยว่าเป็นนกชนิดอะไร ใครเอาซันคอนัวร์ กรีนชีค นกอเมซอน แอฟริกันเกรย์ มารักษา มันเป็นความรู้สึกที่เราอธิบายไม่ได้ 

“บางคนคิดว่าเราบ้าหรือประหลาด แต่มันเป็นความหลงใหลของเรา แค่ได้ยินเสียงก็บอกได้แล้ว ซึ่งคนที่ชำนาญกว่านี้ เขาบอกได้ด้วยซ้ำว่าเป็นนกเพาะพันธุ์หรือนกป่า”

เริ่มเรียนหมอตอนอายุ 28 สู่เพจ Dr.monsters หมอสัตว์ประหลาด ผู้อาสาทำปากใหม่ให้นกฟรี

หลังผ่านความยากลำบากมามาก เราถามหมอหมูว่า จำครั้งแรกที่สวมเสื้อกาวน์สีขาวในฐานะสัตวแพทย์ได้ไหม คาดหวังคำตอบว่าคนที่ทุ่มเทอย่างหนักเพื่อให้ได้มาคงต้องประทับใจไม่รู้ลืม แต่หมอหมูตอบตรงกันข้าม

เขาไม่ได้มองว่าความเป็นหมอขึ้นอยู่กับเสื้อกาวน์หรือเครื่องแบบอื่นใด วันที่มีความหมายกับชีวิตกลับเป็นวันแรก ๆ ที่เริ่มงาน คนไข้ของเขาคือแมวตัวหนึ่งกับคุณป้าที่ร้องไห้ฟูมฟาย เพราะกลัวว่าก้อนเนื้อที่นมแมวจะเป็นมะเร็งร้าย

“พอหมอตรวจ สรุปว่าน้องเป็นเต้านมอักเสบ เราบอกให้คุณป้าใจเย็น ๆ ฉีดยาให้น้อง เอายาไปกิน 1 สัปดาห์ต่อมา คุณป้าเข้ามากอดเราและร้องไห้ที่น้องหายแล้ว ซึ่งสิ่งที่เราทำไม่มีอะไรซับซ้อนเลย ก็แค่เต้านมอักเสบ แต่คุณค่าในเรื่องของจิตใจมันมหาศาลมาก เรารู้สึกมีค่าที่ทำให้สัตว์และเจ้าของได้พ้นทุกข์ ยิ่งอยากเป็นหมอที่ดี”

คืนปากให้หนูหน่อย

ยอมรับว่าตกใจในตอนแรกที่ทราบว่าหมอหมูทำงานได้เพียง 5 ปี แต่ความอินจากแววตาและเรื่องราวความพยายามอย่างหนัก ทำให้หมอหมูเป็นชื่อแรก ๆ ที่คนเลี้ยงนกมักนึกถึงเมื่อนกมีอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะกับปากนก

ขออธิบายคร่าว ๆ ถึงตัวโครงการที่พาให้เราได้รู้จักกับหมอสัตว์ประหลาดอย่าง ‘#คืนปากให้หนูหน่อย’ สำหรับคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์หรือไม่รู้ว่าจะงอยปากของนกสำคัญอย่างไร

นกใช้ปากเหมือนที่เราใช้มือ ใช้หยิบจับอาหาร สัมผัส ปีนป่าย ถ้านกไม่มีปาก ก็เหมือนอยู่โดยปราศจากมือ เจ้าของต้องคอยป้อนอาหารเหลวให้กินไปตลอดชีวิต ตัวนกเองก็ทรมาน เจ้าของก็มีภาระให้ต้องเหนื่อยเพิ่ม

ค่าใช้จ่ายในการทำปากนกสูงมาก คล้ายกับการทำรากฟันเทียมในคน หมอหมูจึงสร้างโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อคืนปากให้นกโดยไม่คิดเงินสักบาท ไม่รับบริจาคหรือตั้งกองทุน เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ในแบบทันตกรรมของคนทั้งหมด เคสหนึ่งใช้เวลาพักฟื้นอยู่ที่อเมโซเนียนาน 7 – 10 วัน เหมือนแอดมิทอยู่โรงพยาบาลก็ว่าได้ เพื่อให้นกทุกตัวที่ปากมีปัญหา ได้กลับไปใช้ชีวิตปกติสุขอย่างที่ควรจะเป็น

เรื่องเล่าสัตว์แปลกของคนรักสัตว์ ผู้ผันตัวจาก ป.โท MBA มาเรียนสัตวแพทย์ตอนอายุ 28 เพื่อรักษาสัตว์ที่ผูกพันมาทั้งชีวิต
เรื่องเล่าสัตว์แปลกของคนรักสัตว์ ผู้ผันตัวจาก ป.โท MBA มาเรียนสัตวแพทย์ตอนอายุ 28 เพื่อรักษาสัตว์ที่ผูกพันมาทั้งชีวิต

“เมื่อก่อนไม่คิดว่าจะมีเยอะ คิดว่ามีนิดเดียว แต่กลายเป็นว่าเคสเยอะมาก ต่อคิวกันยาว 6 เดือน คนที่พานกมาทำปาก เขาร้องไห้ เสียใจมาก พอวันที่เขาได้น้องกลับ ก็ร้องไห้อีก เพราะดีใจมาก

“เคสกลับไปแล้ว เรายังนั่งยิ้มอยู่คนเดียว ดูคลิปจากแม่ ๆ ว่าเด็ก ๆ ใช้ชีวิตยังไง เปลี่ยนไปแค่ไหน หมอได้คำอวยพร ได้กำลังใจเยอะมาก เวลาเราทำงานเหนื่อย พอเจอความรู้สึกแบบนี้มันหายเหนื่อยนะ งานเรามีค่ามากกว่าเงินที่ได้เสียอีก เหมือนเป็นพลังให้เราได้ช่วยต่อไปเรื่อย ๆ

“มีคนพูดเยอะแยะมากว่า ทำฟรีต้องใช้ของไม่ดีชัวร์เลย บอกเลยว่าไม่ใช่สำหรับหมอ เพราะเราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ให้อะไรกลับคืนสู่สังคม”

หมอหมูเล่าว่า มีเจ้าของเดินทางมาไกลจากทั่วทุกภาคในประเทศ ขับรถมาจากเชียงใหม่ อุบลราชธานี หรือกระบี่ก็มี เจอเคสยาก ๆ จนนั่งคุยกับทีมว่าจะทำได้ไหมก็บ่อยครั้ง แต่ต้องลองดูสักตั้ง แก้โจทย์ปัญหาที่ว่ายากให้ทำได้ขึ้นมา สมกับความตั้งใจของพ่อแม่ที่อยากให้นกน้อยกลับไปหายดี สถิติตั้งแต่ทำมาจึงยังไม่มีเคสไหนที่ไม่ฟื้น

แต่ปัญหาหนึ่งที่พบเจอบ่อย คือ เจ้าของจะไม่กล้าเล่ารายละเอียดให้ฟังทุกอย่างเพราะกลัวหมอดุ ในมุมหมอคือยิ่งได้ข้อมูลเยอะ ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการรักษา การสร้างบรรยากาศที่ดีและพูดคุยตามประสาคนเลี้ยงสัตว์เหมือนกัน จึงเป็นทางออกของเรื่องนี้ที่หมอหมูใช้เป็นประจำ

ความใส่ใจของหมอสัตว์ประหลาดนี้เอง ทำให้เขาเป็นหมอที่ใช้เวลาตรวจนานและอธิบายยาวมาก หมอแต่ละคนมีลักษณะนิสัยแตกต่างกันไปก็จริง บางคนพูดเยอะ บางคนไม่ชอบพูด แต่หมอหมูเลือกที่จะให้ความรู้โดยไม่กั๊ก เพื่อให้เจ้าของกลับไปดูแลเด็ก ๆ ที่บ้านได้อย่างถูกวิธี

เรื่องเล่าสัตว์แปลกของคนรักสัตว์ ผู้ผันตัวจาก ป.โท MBA มาเรียนสัตวแพทย์ตอนอายุ 28 เพื่อรักษาสัตว์ที่ผูกพันมาทั้งชีวิต

เรื่องไม่หมู

ก่อนที่หมอทุกคนจะรักษาสัตว์พิเศษ จะต้องรักษาสุนัขและแมวได้เป็นพื้นฐาน หัตถการบางอย่างของพวกมันใหญ่กว่าสัตว์เล็กจนคาดเดาไม่ได้ เช่น การแทงเส้นขนาดเล็กเท่าเส้นผมเพื่อเจาะเลือดนก ต้องใช้กล้องหรือแว่นขยายในการทำงาน ไม่มีโอกาสพลาดแม้แต่ครั้งเดียว พื้นที่การทำงานก็ค่อนข้างเล็ก ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนและสมาธิเป็นอย่างมาก วัสดุอุปกรณ์ก็ไม่เอื้ออำนวยทั้งหมด เพราะส่วนมากถูกออกแบบมาให้สุนัขและแมว

หมอจึงต้องรับบทเป็นนักประดิษฐ์ในหลาย ๆ เคส อย่างเต่าเดินไม่ได้ ก็ต้อง DIY ล้อให้สไลด์ไปแทน หรือปลาที่ตัวจม ไม่ลอยน้ำ ก็ต้องทำห่วงยางติดเอาไว้ที่หลัง แม้กระทั่งการประยุกต์ใช้ผ้าปิดปากที่เราใส่กันอยู่ทุกวัน ทำเป็นเปลช่วยพยุงให้กับนกที่กำลังเข้าเฝือก พอมีเพจเป็นช่องทางในการสื่อสาร พ่อ ๆ แม่ ๆ ก็ทำตามได้สบาย

แต่การเป็นหมอย่อมไม่พบแต่ความสุขสมหวังเป็นธรรมดา ไม่ได้มีแต่รอยยิ้มหรือน้ำตาแห่งความปลื้มปิติ เราขออนุญาตถามหมอหมูต่อว่า คนที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิตอย่างเขา รับมือกับความสูญเสียระหว่างทางอย่างไร

“เมื่อก่อนเรารู้สึกแย่มาก คนในสายงานนี้ต้องทำใจให้ได้ แต่ไม่ใช่ไม่มีหัวใจนะ เพราะว่าทุกครั้งเราต้องรู้ตัวว่า เราไม่ใช่เทวดาที่จะช่วยได้ทุกชีวิต แต่สำหรับทุกชีวิตที่รอดได้ เขาก็ควรจะต้องรอด

“ในบางกรณีที่เรามองว่า น้องสุขภาพดีพอที่จะวางยาสลบ แต่น้องกลับไม่ฟื้นขึ้นมา แบบนี้เหมือนฟ้าผ่าเราเลย ทั้งหมอ ทั้งทีม เรารู้สึกแย่มากทุกคน แต่ต้องบอกว่ามันเหมือนเครื่องบินตก เราไม่รู้ว่าเครื่องบินจะตกเมื่อไหร่ แต่ถ้าตกก็ตก ซึ่งมันก็ไม่ได้ตกบ่อย

“แต่พอเอาเข้าจริง ถ้าเป็นสัตว์ของตัวเองที่ต้องผ่าตัด หมอก็ให้คนอื่นทำให้นะ (หัวเราะ) หมอไม่ทำเอง เรากลัวมากเวลาเป็นลูกเรา รู้สึกประหม่าและกังวล ตัดสินใจเลยว่าถ้าเป็นลูกเรา ก็ให้รุ่นน้องหรือเพื่อนช่วยผ่าให้ที”

หมอหมูมองว่า ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาจะเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ระมัดระวังมากขึ้น มีหลายครอบครัวยินยอมให้ชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง กลายเป็นองค์ความรู้ช่วยเหลือสัตว์ตัวต่อ ๆ ไปได้ทันเวลา ปัจจุบันโรงพยาบาลสัตว์อเมโซเนียเองก็มีโครงการประสานงานกับมหาวิทยาลัย นำร่างน้องที่เสียชีวิตไปเป็นอาจารย์ใหญ่ให้นักศึกษาสัตวแพทย์ได้ใช้เรียน

“คนที่จะมาเป็นหมอรักษาสัตว์ ต้องมีจิตใจที่เมตตาก่อน ต้องมีความรู้สึกอยากช่วยเป็นที่ตั้ง เราก็มีคิดเรื่องเงินนะ แต่จุดยืนของเราคืออะไร เราอยากทำเพื่อธุรกิจ หรือคิดว่าเราอยากอุทิศตัว ช่วยทั้งเจ้าของและตัวสัตว์ มันเป็นคนละแบบ

“อาชีพเราไม่ได้เงินเยอะ ถ้าอยากได้ มีอีกหลายอาชีพที่ง่ายกว่า สบายกว่า อยากให้เข้ามาเป็นหมอเพื่อช่วยสัตว์จริง ๆ”

ก่อนจากกัน เราชวนให้หมอสัตว์ประหลาดผู้อุทิศตนทิ้งท้ายสั้น ๆ ว่า อะไรคือความพิเศษของสัตว์ชนิดพิเศษที่เขารักและหลงใหลมาทั้งชีวิต

“หมอก็ไม่รู้ใครให้คำจำกัดความคำว่า ‘เอ็กโซติก’ สำหรับหมอ มันก็ไม่ได้พิเศษกว่าสัตว์ชนิดอื่น ทุกสัตว์มีความน่ารักในตัวเองเหมือนกัน นกก็คือนก ปลาก็คือปลา กระรอกก็คือกระรอก กระต่ายก็คือกระต่าย อยากให้ใช้คำว่า ‘สัตว์เลี้ยง’ มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะความพิเศษของพวกมัน ก็คือความธรรมดานี่แหละ”

เรื่องเล่าสัตว์แปลกของคนรักสัตว์ ผู้ผันตัวจาก ป.โท MBA มาเรียนสัตวแพทย์ตอนอายุ 28 เพื่อรักษาสัตว์ที่ผูกพันมาทั้งชีวิต

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ