The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

ในวันที่หญิงสาววัย 17 นัดเพื่อนๆ เล่นน้ำสงกรานต์ย่านข้าวสาร ทั้งที่แดดยังแรงและไม่ใช่ซอยลับตาคน แต่กลับมีกลุ่มชายราว 5 คน ตั้งใจเดินตรงมารุมจับเนื้อต้องตัวอย่างไร้เกียรติก่อนเดินจากไปราวกับเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

แต่สำหรับหญิงสาว นั่นคือนาทีแห่งการสิ้นสุดของความสุขแบบที่ยังไม่ทันเริ่มต้น ในวันที่ควรสนุก เธอกลับต้องรีบหนีกลับบ้านด้วยความกลัวและหมองใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่ต่างจากหญิงสาวอีกนับไม่ถ้วนที่ต้องพบสถานการณ์เดียวกันนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนประเพณีที่ดีงามของไทยกลับกลายเป็นเทศกาลเปลืองตัวในความรู้สึกของสังคม

ผ่านไปนานกว่า 20 ปี ปลายมีนาคม 2561 หญิงสาวคนเดิมในวัย 39 อ่านสื่อภาษาอังกฤษพาดหัวข่าว “Don’t dress sexy” ระบุมาตรการป้องกันการคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วยการรณรงค์ให้ผู้หญิง ‘อย่าแต่งตัวโป๊’

เธอรู้ดีว่านี่ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง เพราะเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในวันที่เธอสวมเสื้อยืดสีดำหลวมโคร่ง และกางเกงยีนส์สามส่วนเท่านั้น จึงถึงเวลาที่เธอต้องพูด

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์โมเดลผู้ขับเคลื่อนสิทธิสตรีด้วยแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณไปสนทนากับ ซินดี้-สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์โมเดล-ซูเปอร์มัมที่วันนี้พ่วงฐานะนักขับเคลื่อนสิทธิสตรีอีกหนึ่งตำแหน่ง เพื่อเปิดมุมมองและความเข้าใจเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 5 Gender Equality ขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กทุกรูปแบบ ทั้งในพื้นที่สาธารณะและส่วนบุคคล รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ไปจนถึงเสริมสร้างนโยบายที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมพลังแก่สตรีและทุกคนในทุกระดับ

“ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะแต่งตัวแบบไหนก็ได้ ตราบใดที่ไม่อนาจารและไม่ผิดกฎหมาย ผู้ชายต่างหากที่ควรจะคิดนะคะว่ากำลังทำอะไรอยู่ เข้าใจว่าเมาค่ะ เข้าใจว่ากำลังเฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อน แต่คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะมาจับต้องแตะต้องร่างกายของผู้หญิง แบบนี้แหละค่ะที่ทำให้สิทธิสตรีในบ้านเรายังล้าหลังทุกวันนี้”

คลิปสั้นไม่ถึงนาทีพร้อมแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress ของซินดี้กลายเป็นประเด็นร้อนในชั่วข้ามคืน หลังจากนั้น ซินดี้ก็เดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ต่อไปโดยร่วมมือกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงสาเหตุของการคุกคามทางเพศที่แท้จริง ผ่าน ‘นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ (Social Power Exhibition Against Sexual Assault)’ ซึ่งจัดแสดงเครื่องแต่งกายของเหยื่อในวันที่โดนข่มขืน โดยจัดในรูปแบบต่างๆ ต่อเนื่องมาตลอดเกือบ 2 ปี

ซูเปอร์โมเดลผู้ขับเคลื่อนสิทธิสตรีด้วยแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress

และล่าสุด เธอกำลังเตรียมจัดทำหนังสือภาพสอนเพศวิถีศึกษาในเด็กเล็ก ตามแนวปฏิบัติสากลทางวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษา ร่วมกับองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

ยอดวิวหลายแสนและการแชร์แฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress ในโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการตอบรับอย่างดีจากสังคมกับกิจกรรมที่สร้าง Awareness มากมายหลังจากนั้น เป็นสิ่งที่ประกาศให้โลกรู้ว่าวันนี้ผู้หญิงและคนเพศอื่นๆ มากมายไม่ยอมนิ่งนอนใจกับการถูกกล่าวโทษและการคุกคามทางเพศอีกต่อไป

01

การเดินทางของโอกาส

คนรุ่นใหม่อาจรู้จักซินดี้ในฐานะนางแบบ นักแสดง และพิธีกรรายการเรียลิตี้ Asia’s Next Top Model แต่หากย้อนกลับไปในปี 2539 เธอคือ สิรินยา วินศิริ มิสไทยแลนด์เวิลด์ปี 1996 เป็นนางงามที่เรียกคะแนนด้วยการตอบคำถามอย่างชาญฉลาด หลังได้รับตำแหน่งจึงก้าวสู่โอกาสในวงการบันเทิงเต็มตัวและโด่งดังอย่างมากในยุคนางแบบครองปกแมกกาซีน สูสีกับ พิม-ซอนย่า คูลลิ่ง และลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม ซูเปอร์โมเดลรุ่นพี่

ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ถ่ายทอดจากพันธุกรรมของคุณพ่อชาวอเมริกันกับคุณแม่เชื้อสายอังกฤษ-ไทย-อินเดีย ทำให้ซินดี้ถูกมองว่าเป็นฝรั่งตาน้ำข้าว แต่ตลอดชีวิตซินดี้ย้ำเสมอว่าเธอเป็นคนไทย เกิด เติบโต และสร้างครอบครัว ในประเทศไทย ใช้ภาษาไทยชัดเจนทุกถ้อยคำและรู้จักวัฒนธรรมไทยอย่างดี ทุกครั้งที่ร่วมงานระดับโลก เธอประกาศก้องว่า เป็นคนไทย  

ถึงอย่างนั้นหลายคนก็ยังโต้กลับคลิปของซินดี้ด้วยความเห็นว่าเธอเป็นต่างชาติ เป็นนางแบบที่ชินชากับการแต่งตัววาบหวิว และแย้งว่า #DontTellMeHowToDress เป็นการยุให้ผู้หญิงออกมาแต่งตัวโป๊ เซ็กซี่ แถมทิ้งท้ายว่า

“คอยดูนะ ถ้าคุณโดนคุกคามทางเพศ แล้วอย่ามาร้องเรียนอะไร” 

แต่เธอเลือกที่จะมองข้ามมุมลบเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง และให้ความสำคัญกับคอมเมนต์ส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยและร่วมแชร์ประสบการณ์ที่เคยเจอเช่นกัน

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์โมเดลผู้ขับเคลื่อนสิทธิสตรีด้วยแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress

ซินดี้บอกเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจเดินหน้าว่า แม้จะเกิดจากความไม่ตั้งใจ แต่เมื่อคนหันมาฟังสิ่งที่เธอพูดเป็นแสนและเกิดเป็นกระแสทั่วโลก คงน่าเสียดายถ้าปล่อยให้ความตระหนักรู้นี้ถูกกลืนหายไปในโลกโซเชียล เธอเชื่อในสิ่งที่พูดและมั่นใจว่าผู้หญิงทุกคนบนโลกเคยถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจะด้วยการกระทำ สายตา หรือวาจา ประเด็นเหล่านี้ควรเป็นที่พูดถึงต่อเนื่องจนเกิดการเปลี่ยนแปลง 

“บางทีชีวิตเราอาจไม่ได้อำนวยให้ได้ออกไปหาโอกาส แต่เมื่อโอกาสมาแล้ว เราต้องเลือกว่าจะทำอะไรกับมัน” เธอบอก

02

สิทธิที่คิดว่ามี

นิทรรศการถูกเคลื่อนย้ายจากสยามพารากอนไปยังสถานที่ต่างๆ

ล่าสุดร่วมกับแคมเปญ HeForShe University Tour นิทรรศการนี้ได้จัดแสดงในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มนักศึกษา ผู้เข้าชมงานอาจรู้สึกว่าการถูกลวนลามในวันสงกรานต์กลายเป็นเศษส่วนของปัญหาไปถนัดตา เมื่อเห็นเสื้อผ้าและเรื่องราวของเหยื่อที่นำมาจัดแสดงซึ่งระบุข้อความว่า นี่คือชุดที่ฉันใส่วันนั้น

“เด็กอายุสองขวบสวมชุดอยู่บ้าน เสื้อยืดกางเกงกีฬา ถูกชายแปลกหน้าข่มขืน แม่บ้านที่พิการสวมเสื้อยืดสีขาวกางเกงขาสามส่วนถูกหลานชายนายจ้างล่วงละเมิด บางคนสวมชุดนักศึกษา เสื้อคอเต่าแขนยาวกางเกงยีนส์กำลังไปสมัครงาน เราแสดงเสื้อผ้าของเหยื่อให้เห็นเลยว่าแบบนี้โป๊ไหม เซ็กซี่ตรงไหน 

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์โมเดลผู้ขับเคลื่อนสิทธิสตรีด้วยแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress

“ฉะนั้น เราควรหยุดพูดเรื่องการแต่งตัวโป๊ได้แล้ว เพราะประเด็นอยู่ที่แม้ว่าผู้หญิงคนหนึ่งแก้ผ้าออกไปข้างนอก แบบนี้ผิดกฎหมาย ตำรวจมีสิทธิ์ที่จะจับในข้อหาอนาจาร แต่ผู้ชายก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปจับต้องร่างกายของเขา ไม่สามารถหาข้ออ้างว่าห้ามใจไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องนี้เกิดมาจากความคิดที่ว่าผู้ชายเป็นใหญ่ คิดว่าตัวเองมีความสามารถหรือมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง” 

ซินดี้เล่าต่อว่า ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่นี่เป็นปัญหาระดับเอเชียและระดับโลก จากผลงานวิจัยของ UN Women พบว่าสาเหตุที่ผู้ชายเอเชียคุกคามผู้หญิงเป็นเพราะคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์ ชายที่คิดแบบนี้มีมากถึง 71 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาตามลำดับคือเพราะเบื่อ สนุก โกรธ และเมา

“เพราะฉะนั้น ไม่เกี่ยวกับเสื้อผ้าเลยและไม่ได้เกี่ยวกับผู้ชายควบคุมอารมณ์ทางเพศไม่ได้ แต่มาจากทัศนคติที่เรามักพูดกันว่าผู้ชายก็เป็นผู้ชาย มีความรู้สึกทางเพศก็แสดงออกได้ ขณะที่ผู้หญิงก็มีความต้องการทางเพศเหมือนกัน แต่หากแสดงออกมักจะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี

“ส่วนผู้ชายกลับคิดกันว่า He’s a man.” 

03

มายาคติที่บิดเบี้ยว

วัฒนธรรมไทยและหลายประเทศในเอเชียสอนสั่งให้ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ เป็นแม่และเมีย ขณะที่ผู้ชายคือผู้นำ ผู้แข็งแกร่ง มีสิทธิ์ตัดสินใจ ซึ่งส่งผลชัดถึงเรื่องการให้เกียรติและเคารพสิทธิของผู้อื่น ซินดี้มองว่านี่เป็นสิ่งที่หยั่งรากลึกมานานผ่านวัฒนธรรม ความเชื่อ การศึกษา และสื่อสารมวลชน 

การตีข่าวเหตุข่มขืนส่วนใหญ่จะมุ่งประเด็นไปที่ผู้หญิงเป็นใคร ไปทำอะไร เช่นกรณีพริตตี้ถูกนำเสนอว่าเป็นแม่ เป็นซิงเกิลมัม ก็จะถูกตั้งคำถามว่าทำงานนี้ทำไม หลายคนตัดสินไปแล้วว่าเธอผิดเองที่พาตัวเองไปเสี่ยง หลายๆ ครั้งที่สื่อเสนอข่าว Victim Blaming กล่าวโทษเหยื่อมากกว่าที่จะโฟกัสไปที่สาเหตุของผู้กระทำผิด”

เธอหมายรวมถึงสื่อบันเทิงเช่นละคร ที่มีบทพระเอกตบตีนางเอก ปล้ำ ข่มขืน แต่สุดท้ายก็รักกัน ซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ ทำให้เยาวชนที่เป็นความหวังของสังคมในอนาคตซึมซับและเข้าใจไปเองว่าเรื่องที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้

ในฐานะนักขับเคลื่อนสิทธิสตรี ซินดี้ประกาศจุดยืนว่าไม่รับงานที่มีเนื้อหาล่วงละเมิดหรือรุนแรงกับผู้หญิง ขณะที่ในฐานะคุณแม่ลูกสอง เธอขอดูแลเรื่องการรับสื่อของลูกๆ อย่างใกล้ชิด 

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์โมเดลผู้ขับเคลื่อนสิทธิสตรีด้วยแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress

“ทุกวันนี้ซินดี้เปิดข่าวให้ลูกดูลำพังไม่ได้เลย ต้องมีการอธิบาย เลือกเพียงบางข่าวให้เขาดู แต่จะไม่เปิดทีวีโดยที่เราไม่ไปนั่งฟังด้วยว่าสิ่งที่เขาได้ยินคืออะไร”

หากใครได้ติดตาม Vlog ในยูทูบหรือเฟซบุ๊ก Cindy Sirinya Bishop จะเห็นวิธีการเลี้ยงดูแบบซูเปอร์มัมที่แม้จะมีหลากหลายภารกิจ แต่ก็จัดสรรตารางเวลาของเธอและลูกๆ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันได้เสมอ และพัฒนาการทางความคิดของเด็กๆ ไม่ผิดแผกไปจากสิ่งที่เธอกำลังผลักดัน 

เช่นคลิปหนึ่งที่เอเดน ลูกชายวัย 6 ขวบ แสดงความเห็น

“Respect means being nice to people no matter who they are or whether they are a girl or a boy.”

“การให้เกียรติคือการที่เรามีน้ำใจให้คนอื่น ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร และไม่ว่าเขาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย”

04

เดินหน้าไม่ได้ ถ้าไร้จุดเริ่มต้น

“เราเดินหน้าไม่ได้ หากเราไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นคืออะไร”

ซินดี้เริ่มให้คำแนะนำเมื่อถามถึงวิธีการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อลูกๆ 

“เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า เราดูแลลูกของเราดีแล้วหรือยัง ไม่ใช่แค่เรื่องของอาหารการกิน โรงเรียน แต่เป็นเรื่องของการปลูกฝังความคิด สร้าง Mindset ของการเป็นคนดีด้วย”

เธอยกตัวอย่างของการสอนลูกๆ เรื่องการยินยอม การให้เกียรติ และการเคารพผู้อื่น ด้วยวิธีง่ายๆ

“หากกำลังเล่นอะไรด้วยกัน ก็ต้องตัดสินใจร่วมกันว่าจะเล่นเกมนี้ ถ้าเล่นไปสักพักแล้วคนใดคนหนึ่งรู้สึกเบื่อ ไม่อยากเล่น เพราะเจ็บหรือไม่ชอบ แล้วพูดขึ้นมาว่าไม่อยากเล่นแล้ว อีกฝ่ายต้องหยุดทันที เพราะถือว่าคุณไม่ได้รับความยินยอมอีกต่อไป แม้จะอยากเล่นก็ต้องหยุด”

หรือแม้แต่การให้คุกกี้กับเพื่อน เขามีสิทธิ์ที่จะกินหรือไม่กินก็ได้

“เป็นการสอนให้เขารู้ว่าคุณไม่มีอำนาจเหนือกว่าคนอื่น บังคับให้คนอื่นทำในสิ่งที่ไม่อยากทำโดยที่เขาไม่ยินยอมไม่ได้ เราสอนเด็กได้ แล้วเขาจะค่อยๆ พาความคิดแบบนี้ไปด้วยในอนาคต ถ้าลูกชายไปเล่นของเล่นของคนอื่น ซินดี้จะถามลูกชายตลอดว่า เอเดนขออนุญาตหรือยังครับ เพราะมันคือทรัพย์สินของคนอื่น คือเบสิกของการเป็นมนุษย์ที่ให้เกียรติคนอื่น”

05

เรื่องเพศ ต้องพูด-ไม่พูด

หนึ่งในความตั้งใจของซินดี้คือการปลุกพลังให้พ่อแม่หันมาตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องเพศที่ต้องพูด จึงเตรียมจัดทำหนังสือภาพสอนเพศวิถีศึกษาในเด็กเล็ก ตามแนวปฏิบัติสากลทางวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษา ร่วมกับองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

“คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าอย่าเพิ่งพูดเรื่องเพศกับเด็ก แต่ถ้าวันนี้คุณไม่สอน ปล่อยให้เขาไปเรียนรู้จากเพื่อน จากความรู้ที่ไม่ถูกต้อง นั้นน่ากลัวกว่า พ่อแม่ต้องเป็นคนให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัยของเขา ซินดี้ไม่ได้บอกว่าเด็กสามสี่ขวบต้องรู้ว่าเซ็กซ์คืออะไร เพราะเรื่องเพศมีหลายเลเวลมาก เด็กสามสี่ขวบเขาก็รู้แล้วว่าสรีระของเขาไม่เหมือนแม่ เขาควรรู้จักร่างกายตัวเอง และรู้จักสิทธิในร่างกายของตัวเองด้วย

“ทุกวันนี้มีเด็กผู้หญิงโดนล่วงละเมิดเยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกระทำโดยคนที่รู้จัก เราควรสอนเด็กให้เข้าใจเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองและผู้อื่น ถ้าใครมาจับ มากอด หรือหอมแก้มแล้วรู้สึกไม่ชอบ หนูพูดได้ หนูมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ เพราะหนูเป็นหนู ไม่ใช่ทรัพย์สินของคนอื่น หลังจากเลยช่วงวัยที่ดูแลตัวเองได้ มีส่วนไหนของร่างกายที่ห้ามให้คนอื่นมาใกล้มาจับแม้แต่พ่อแม่ เด็กควรได้รู้ว่าฉันมีสิทธิ์มีเสียง”

บางคนอาจคิดว่าการสอนให้เด็กปฏิเสธอาจทำให้เด็กก้าวร้าว เธออธิบายว่าการสอนให้เด็กเชื่อฟังพ่อแม่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลด้วย ไม่ใช่สอนให้เด็กเซย์โนทุกอย่าง ลูกต้องทำเรื่องที่จำเป็นตามหน้าที่ เช่น การแปรงฟัน อาบน้ำ ทำการบ้าน แต่ถ้าเกี่ยวกับความรู้สึกในสถานการณ์ต่างๆ พ่อแม่ต้องฟังลูก

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์โมเดลผู้ขับเคลื่อนสิทธิสตรีด้วยแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress

“ที่เราสอนลูกผู้หญิงกับลูกผู้ชายของเราในวันนี้ เรากำลังใส่ Gender Norm อะไรบางอย่างโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือเปล่า เช่นหนูเป็นเด็กผู้หญิงนะ ต้องรักนวลสงวนตัว ต้องเรียบร้อย มีบางอาชีพเท่านั้นที่หนูเหมาะ เสียงดังแบบนี้ไม่ได้นะ ก้าวร้าว 

“หรือแม้แต่เด็กผู้ชายที่หกล้มแล้วร้องไห้เพราะเจ็บ ผู้ใหญ่ก็มักจะสอนว่า ไม่ได้นะ เป็นเด็กผู้ชายห้ามร้องไห้ ต้องแมน กลายเป็นว่าเด็กผู้ชายคนนี้จะคิดว่าฉันไแสดงอารมณ์พวกนี้ไม่ได้ มันอ่อนแอ แล้วอีกหน่อยเขาก็จะไปปลดปล่อยในรูปแบบอื่นที่คิดว่าต้องเท่ ต้องแมน”

เธอบอกว่า จริงอยู่ที่พ่อแม่ต้องสอนเรื่องพฤติกรรมที่เหมาะสม แต่คงดีกว่าหากเหตุผลที่บอกกับลูกนั้นไม่ถูกครอบด้วยบรรทัดฐานหญิงชายที่สังคมส่วนใหญ่หยิบมาใช้โดยไม่รู้ตัว

“พอเป็นแม่ เรารู้เราเห็นเลยว่าสิ่งที่เราพูดออกไปสำคัญมาก เพราะเขาจะเชื่อทุกอย่างที่เราพูด แล้วทุกวันนี้คุณพ่อคุณแม่กำลังพูดอะไร กำลังใส่อะไรไปในตัวลูก เรากำลังปลูกฝังความคิดผู้ชายเป็นใหญ่แบบนี้หรือเปล่า มันละเอียดอ่อนแต่ส่งผลต่อพวกเขามาก”

06

ตัวตนที่แท้จริง

#DontTellMeHowToDress ยังคงทำหน้าที่เพื่อสังคมต่อไปและถูกนำไปใช้ในหลายมิติ ทั้งเพื่อรณรงค์เรื่องต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่ส่วนหนึ่งก็ใช้ในวันที่ต้องการแสดงความมั่นใจในสิทธิและการแต่งตัว ไม่ว่าจะในกลุ่มสตรี หรือ LGBT+ เป็นวลีที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตน ขณะที่ซินดี้ได้รับเชิญเป็นวิทยากรนับครั้งไม่ถ้วน และก้าวสู่การปลุกพลังในระดับเอเชียซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

เกือบ 2 ปีแล้วที่ตารางเวลาของซินดี้คละเคล้าไปด้วยภารกิจนี้ แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จสิ้นลงง่ายๆ และไปไกลถึงขั้นการศึกษาเรื่องหลักนิติธรรมที่เกี่ยวข้อง

“ยอมรับว่าเหนื่อย เพราะเรากำลังสู้อยู่กับ Mindset ที่ไม่ใช่แค่ของคนคนหนึ่ง แต่มันคือประเทศที่มีวัฒนธรรมอันยาวนาน และไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่รวมถึงเอเชียและโลกด้วย

“มีเพียงบางประเทศในแถบตะวันตกหรือสแกนดิเนเวียที่ประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายของประเทศ เขาก้าวล้ำไปถึงเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเราต้องใช้เวลากว่าจะถึงวันนั้น เพราะปัญหานี้ใหญ่มาก เราจะไปแก้ปัญหาทุกอย่างไม่ได้ ต้องเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่ง ซินดี้ก็ขอเริ่มจากจุดที่เล็กที่สุด ใกล้ตัวเราที่สุด ก็คือครอบครัว”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์โมเดลผู้ขับเคลื่อนสิทธิสตรีด้วยแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress

ขณะที่ผู้คนค่อนโลกยังเพิกเฉยกับปัญหาสังคม ทำไมวันนี้ซูเปอร์โมเดลคุณแม่ลูกสองยังมีพลังขับเคลื่อนต่อไป นี่คือคำตอบ

ทุกอย่างในชีวิตเหมือนมีแผนการของมันอยู่แล้ว หากเรื่องนี้เกิดขึ้นกับซินดี้เมื่อสิบห้าปีที่แล้ว อาจจะไม่ได้กลายมาเป็นแคมเปญแบบนี้ก็ได้ ด้วยวุฒิภาวะที่ตัวเองอาจจะยังไม่โตพอ หรืออาจจะยังไม่มั่นใจพอที่จะออกมาพูด หรือออกมาพูดแล้วคนก็จะมองว่าเด็กผู้หญิงคนนี้คือใคร

“แต่วันนี้ซินดี้เชื่อในสิ่งที่ตัวเองพูด เป็นความลงตัว เป็นโอกาส และคิดว่าการที่เราได้ทำอะไรไปสักพักก็สร้างแพสชัน เรื่องนั้นขึ้นมาได้ด้วย พอเราเก่งขึ้นเข้าใจปัญหามากขึ้น เราจะเห็นทางที่จะช่วยผู้อื่นได้ หรืออย่างน้อยๆ ก็มีประโยชน์มากขึ้น”

วิธีคิดนี้มีจุดเริ่มตั้งแต่ซินดี้ยังเด็ก วันเกิดครั้งแรกของเธอจัดขึ้นที่บ้านเด็กกำพร้าพัทยา และจัดเรื่อยมาทุกปี ต่างเรื่องต่างสถานที่ไป การปลูกฝังจิตอาสาของครอบครัวทำให้เธอรู้สึกว่า เราไม่ได้เป็นชีวิตเดียวบนโลกใบนี้

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์โมเดลผู้ขับเคลื่อนสิทธิสตรีด้วยแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress

“นอกจากเรื่องของจิตอาสา พ่อแม่ปลูกฝังซินดี้เรื่อง Gender Equality ตั้งแต่เด็ก พ่อกับแม่ไม่เคยพูดว่าอย่าไปทำอาชีพนี้เพราะหนูเป็นผู้หญิง ไม่เคยพูดเลยว่าหนูทำไม่ได้ ท่านพูดเสมอว่า ไม่ว่าจะฝันถึงอะไร หนูทำได้ แต่ต้องตั้งใจ จริงจัง เปิดใจและให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียม” ซินดี้ทิ้งท้ายด้วยคำสอนที่หล่อหลอมให้เธอเป็นเธอเช่นวันนี้

สังคมทุกวันนี้เปิดกว้างมากขึ้นเรื่องเพศ เรามีเพศทางเลือกหลากหลาย ความเท่าเทียมทางเพศจึงควรเกิดขึ้นกับคนทุกเพศอย่างไม่มีข้อยกเว้น สิ่งที่เราทำได้ในฐานะคนคนหนึ่งในสังคม เพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 5 Gender Equality คือการเปิดใจ เข้าใจ ให้เกียรติ และยอมรับ โดยไม่ตัดสินและคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นทางความคิด คำพูด หรือการกระทำ

Writers

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน

Avatar

อุราณี ทับทอง

สาวพิจิตรอดีตเด็กเรียน โตมากับงานเขียนและเสียงเพลงยุคโลกดนตรี ชอบกิน ชอบคิด สนิทกับแมวที่เก็บมาเลี้ยงแต่บ่อยครั้งก็เหมือนไม่รู้จักกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล