วาระที่ โดม-ปกรณ์ ลัม ปล่อยซิงเกิลใหม่ เกิด แก่ เจ็บ Try’ สู่สังคม ตอกย้ำว่าเขายังทำเพลงอยู่ อาจจะเว้นช่วงห่างหายไปนาน แต่ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้เป็นความฝันอันถูกทิ้งร้าง

The Cloud จึงชวนเขาสนทนาว่าด้วยเรื่องของคนวัย 40 กว่า ๆ ที่ยังแอคทีฟ ยังทำงาน ยังเรียนรู้ และยังเฝ้ามองหาหนทางเรียนรู้เพิ่มเติม เช่นเดียวกับความฝันที่ ปกรณ์ ลัม ย้ำว่ายังมีอยู่ แต่ไม่สะเปะสะปะเหมือนก่อน

รวมทั้งการจัดวางตัวตน การงาน มิตรภาพ ให้อยู่ภายใน 4 ทุ่ม แล้วเข้านอนตามเวลาเพื่อตื่นขึ้นมาอย่างสดใส แล้วเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่อีกครั้ง

เพราะรู้ดีว่าชีวิตก็คือรูปแบบนี้ รูปแบบเดิมที่ไม่เคยเปลี่ยนไป แค่ต้องใช้เวลา 40 กว่าปีทำความเข้าใจมันแค่นั้นเอง

โดม-ปกรณ์ ลัม 28 ปีในวงการเพลง ทำค่ายเพลงขาดทุนหลายสิบล้าน สู่การออกซิงเกิลอีกครั้ง
โดม-ปกรณ์ ลัม 28 ปีในวงการเพลง ทำค่ายเพลงขาดทุนหลายสิบล้าน สู่การออกซิงเกิลอีกครั้ง

ขออนุญาตถามตรง ๆ คิดยังไงถึงปล่อยซิงเกิลใหม่ ‘เกิด แก่ เจ็บ Try’ ในตอนนี้

ซิงเกิลนี้ห่างจากซิงเกิลที่แล้วประมาณปีนิด ๆ ครับ มันไม่เป็นไปตามแผนเลย เราอยากออกให้ต่อเนื่องเลย แต่พอมีสถานการณ์โควิด-19 ระลอกสองระลอกสาม ผมก็ปรึกษากับทางทีม ทุกคนบอกว่าไม่น่าจะใช่เวลาที่ดี ปล่อยออกไปคนเขาก็ไม่มีเวลามาโฟกัสเพลงหรอกสถานการณ์แบบนี้ เราจึงตัดสินใจว่ารอก่อน ในระหว่างนี้ก็ทำเพลงไปเรื่อย ๆ เพราะว่าเป็นโปรเจกต์ที่จะทำทั้งอัลบั้มเลยครับ แต่ซิงเกิลนี้เป็นซิงเกิลที่ 4 ห่างจากซิงเกิลที่แล้วปีหนึ่งครับ

เดี๋ยวนี้การทำเพลงออกสู่ตลาดต้องทยอยปล่อยมาทีละเพลง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่คุณยังเป็นศิลปินวัยรุ่น ออกมาทีละอัลบั้ม 10 เพลง 11 เพลง กระบวนการอันยาวนานกว่าอัลบั้มจะแล้วเสร็จในตอนนี้ มันเปลี่ยนวิธีการทำงานเพลงของคุณไปยังไงบ้าง

เปลี่ยนเยอะมากเลยครับ เพราะว่าเราก็ผ่านมาหลายยุคเหมือนกัน ตั้งแต่ยุคเทป ยุคที่เพลงขายไม่ได้ มีเทปผีซีดีเถื่อน เราผ่านมาหมด สมัยก่อนเวลาศิลปินสักคนจะทำงานเพลงก็จะเก็บตัวหายไปเลยปีหนึ่ง อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมี 10 เดือนที่ต้องทำส่วนของโปรดักชัน พอเสร็จแล้วก็ปล่อยเพลง แล้วก็ออกทัวร์ 

แต่เดี๋ยวนี้ผมมองว่าเวลามันเร็วขึ้นครับ น้อง ๆ ศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ออกเพลงกันเดือนละเพลง บางคนเร็วกว่านั้น ผมคิดว่าเราเองต้องปรับตัวมาก เพราะว่าผมเป็นคนที่อยู่ในยุคกลางเก่ากลางใหม่ ด้วยความที่เริ่มทำงานตั้งแต่เด็ก เราก็เลยได้เห็นยุคที่วงการเพลงเฟื่องฟู ต้องใช้ทีมงานทำอัลบั้มหนึ่งเกือบ 30 – 50 คน มาระดมความคิดกันเพื่อให้ผลงานออกมาถูกใจตลาด 

แต่ยุคนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ศิลปินไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อให้ถูกใจตลาดกลุ่มใหญ่ ผมว่างานเพลงในยุคนี้ค่อนข้างมีความเฉพาะตัวมาก ๆ เพลงก็ไม่จำเป็นต้องเอาใจทุกตลาด ศิลปินทุกคนมีจุดแข็งของตัวเองเท่านั้นพอ เดี๋ยวผู้ฟังหาเจอเอง สำหรับผม ก็ต้องปรับตัวมากครับ ยิ่งเราเป็นคนทำงานช้า กว่าจะทำงานออกมาได้แต่ละที แล้วยังค่อนข้างจะเอาแต่ใจตัวเองอีก มันทำให้ผลงานกว่าจะเสร็จใช้เวลานาน

ไม่ปรับตัวหน่อยเหรอ

ก็ต้องปรับครับ เพราะถ้าไม่ปรับเราก็จะไม่ทันกับยุคหรือเทรนด์ทางการตลาด ต้องไม่ลืมว่าการปล่อยเพลงมีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตัวของผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้สักเท่าไหร่ ก็ต้องไปขอให้พี่ ๆ มาช่วย ศิลปินทุกคนต้องรอเวลาที่เหมาะสม เราเจอแบบนี้ก็บีบหัวใจเหมือนกัน นี่เรายังทึ่งกับน้อง ๆ ศิลปินรุ่นใหม่นะว่า โอ้โห พวกเขาขยันมาก ฟิตมาก แม้หลายคนจะบอกว่าเทคโนโลยี โปรดักชันต่าง ๆ ง่ายขึ้น ทำให้จบด้วยตัวคนเดียวได้ แต่มันก็ต้องมีความขยัน และต้องโฟกัสกับงานเพลงด้วย ผมถือว่ามันหนักนะครับ ไม่ง่ายนะสมัยนี้

โดม-ปกรณ์ ลัม 28 ปีในวงการเพลง ทำค่ายเพลงขาดทุนหลายสิบล้าน สู่การออกซิงเกิลอีกครั้ง

การได้ทำเพลงในยุคสมัยที่แตกต่างกันข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ข้อดีของยุคก่อน เพลงในตลาดมันน้อย ศิลปินในตลาดก็ไม่เยอะครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราตั้งใจทำผลงานให้ดีมันก็จะประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องยอมรับว่าตอนเราเป็นศิลปินช่วงแรก ๆ เราไม่ใช่คนที่ทำเพลงเอง เรามาจากเด็กนักเรียนอายุ 15 ปีคนหนึ่ง ยังเด๋อ ๆ ด๋า ๆ อยู่เลยครับ แล้ววันหนึ่งก็ได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง ไม่ถึงปีก็มีอัลบั้มออกมา เรียกว่าผมโตและทำงานไปตามสถานการณ์ตรงหน้า ค่อย ๆ เรียนรู้ ค่อย ๆ เก็บเกี่ยววิชาครูพักลักจำเอาจากพี่ ๆ โปรดิวเซอร์ ถามว่าดีไหม ก็ต้องดีสิ เพราะได้เรียนรู้เร็ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็ขาดเพื่อนในวัยเรียนไปเลย เลิกเรียนเราจะไปเตะบอลก็ไม่ได้ ก็ต้องมาซ้อมเต้น ซ้อมร้องเพลง มีเพื่อนเป็นพี่ ๆ โปรดิวเซอร์

แล้วข้อเสียของยุคนั้นล่ะ

เยอะมากครับ อย่างช่องทางในการเข้าถึงศิลปิน สมัยก่อนคนที่ชื่นชอบศิลปินสักคนหนึ่ง กว่าจะได้เจอตัวเป็น ๆ สักครั้งหนึ่งมันยากมาก เพราะมันไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีการแชร์โลเคชันว่าวันนี้จะไปเล่นที่ไหน หรือไม่มีการแชร์อาร์ตเวิร์กปกหรือตัวอย่างเพลงต่าง ๆ ในออนไลน์ ไม่มีเลย คุณต้องตามข่าวจากทางค่ายเพลง หรือไม่ก็ต้องรอดูรายการเพลงตอนดึก ๆ ถึงจะรู้ว่าเราจะไปเจอศิลปินที่เราชื่นชอบยังไง

สมัยนี้เข้าใกล้ได้มากขึ้น

ใช่ครับ แล้วยิ่งกว่านั้นอีก คือทั้งศิลปินทั้งคนฟังแสดงความคิดเห็นได้ คนทำเพลงรู้ทันทีเลยว่าคนฟังเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร สมัยก่อนต้องรอนานกว่าจะรู้ฟีดแบ็ก

แล้วข้อดี-ข้อเสียของการทำเพลงในยุคนี้ล่ะ

ข้อดีนี่ผมว่ามีเยอะมากครับ ศิลปินทำเพลงได้ตามต้องการ ไม่ต้องทำเพลงแมสเพื่อหวังยอดขายแล้ว สมัยก่อนการทำงานเพลงมันมีการลงทุนเยอะ พอค่ายลงไปเยอะก็ต้องหวังผลกำไรกลับมา มันก็เลยทำให้เพลงในตลาดยังไงก็ต้องมีความป๊อป แมสเข้าไว้ จะร็อกจะแร็ปยังไงก็ต้องมีเพลงที่ขายได้ ต้องมีเพลงช้าอะไรแบบนี้ ทำให้ไม่มีความหลากหลาย ศิลปินเองก็ไปได้ไม่สุดทาง 

พอมายุคนี้ ผมมองว่าศิลปินไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกคนในตลาดพอใจแล้ว แค่ต้องโฟกัสความเป็นเรา คุณจะฮิปฮอป คุณจะร็อก คุณจะพังก์ คุณจะเป็น EDM ยังไงก็มีแฟนเบสรองรับหมด คุณแค่ไปในทางของคุณให้จริงจังก็พอ รู้สึกว่านี่คือข้อดีของวงการเพลงยุคนี้ครับ

แต่ในขณะเดียวกัน โซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ หรือความรวดเร็วกลับเป็นเหมือนดาบสองคม มันทำให้บางครั้งศิลปินก็ทำอะไรแบบลวก ๆ เพราะอยากทำให้เสร็จไปลงโซเชียล ผมไม่ได้เจาะจงใครนะครับ แต่จากที่ฟัง พบว่าศิลปินรุ่นใหม่บางท่านก็รีบเกินไป บางทีอัดสายเพี้ยนแล้วปล่อยมาได้ยังไง ผมเจอเยอะมากเลยนะ คือดนตรีมีความถูกต้องของมันอยู่ มีทฤษฎีบางอย่างอยู่ ถึงแม้ว่าเราอาจจะหลุดกรอบได้ แต่ถ้าใส่ Auto-tune มา แต่ดัน Tune ผิดคีย์ Tune ผิดโน้ต Tune แบบ Out of Scale ไปเลยแบบนี้ก็เกินไป แบบนี้สมัยก่อนจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย เพราะจะโดนโปรดิวเซอร์ดุเอา 

จำได้ว่าสมัยก่อนตอนผมอัดเพลง ‘ยิ่งรักเธอ’ ซึ่งเป็นเพลงแรกของผม จริง ๆ ก็เป็นเพลงง่าย ๆ (หัวเราะ) แต่เฉพาะร้องอย่างเดียวผมอัดไป 2 วัน ถ้าไม่ดีหรือร้องผิดก็ร้องใหม่ตั้งแต่แรก เพราะมันแก้เฉพาะจุดไม่ได้ เพราะใช้เทป Reel อัดครับ แก้อะไรไม่ได้เลย ร้องผิดร้องใหม่ตั้งแต่ต้นจนกว่าจะไม่ผิดเลย

คุณกล้าวิพากษ์วิจารณ์หรือกล้าติเด็ก ๆ บ้างไหม สมัยนี้อาจต้องระมัดระวังนิดหนึ่ง

ใช่ครับ ต้องระมัดระวังมากครับ แต่จะยุคสมัยไหนผมก็ระวังเรื่องแบบนี้มาตลอดนะครับ เพราะผมเคารพตัวงานของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน วงใหม่ ๆ หลาย ๆ วงดีมาก ดีจนคนรุ่นผมทึ่ง ยอมรับว่าเก่งมาก แต่ว่าในขณะเดียวกันก็ยังมีแบบนี้หลุดออกมาอยู่ ผมคงไม่ไปพูดอะไรซึ่งหน้า เพราะมันคงไม่ได้ทำให้หลายอย่างดีขึ้น แต่ว่าถ้ามองในภาพรวมของอุตสาหกรรม ในเมื่อเราลงเรือลำเดียวกันแล้ว เราต้องช่วยกันผลักดันให้ภาพรวมมันดียิ่งขึ้นไปอีก ในเมื่อเรารักตรงนี้ก็ต้องช่วยกัน เห็นอะไรไม่ดีก็บอกกล่าวกัน เห็นอะไรดีต้องสนับสนุนครับ

โดม-ปกรณ์ ลัม 28 ปีในวงการเพลง ทำค่ายเพลงขาดทุนหลายสิบล้าน สู่การออกซิงเกิลอีกครั้ง

คุณมีวงดนตรีไทยยุคใหม่ที่ชอบ ที่คิดว่าน่าจับตามองบ้างไหม

ตอนนี้ผมชอบวง The Darkest Romance มากครับ เป็นวงน้องใหม่ แต่จริง ๆ สมาชิกในวงก็อยู่ในวงการเพลงมายาวนาน แต่มาจากวงใต้ดิน เป็นเมทัลหนัก ๆ มาก่อน แต่พอมาทำวงนี้ก็ยังหนักหน่วงแต่ว่ากลมกล่อม แล้วเขากล้ามากที่อัลบั้มแรกมีอยู่ประมาณ 4 – 5 เพลง แต่ละเพลงยาว 10 นาทีหมดเลย โอ้โห! มันอาจหาญมากเลย เจ๋งมาก ๆ ครับ ชื่นชม จริง ๆ ยังมีอีกหลายวง ไททศมิตร นี่ก็ดีมาก กลมกล่อมลงตัว

กลับมาที่เพลงของคุณบ้าง ตามความรู้สึกของเรา มองว่าต่อให้กลิ่นมันเปลี่ยนไปยังไง แต่มันก็ยังเทคโนเบสมาก รู้สึกได้ว่าคุณรักซาวนด์แบบเทคโนเหมือนเมื่อตอนที่คุณทำเพลงยุคแรก ๆ ทำไมมันถึงยังไม่เปลี่ยนไปเลย

มันน่าจะเป็นความชอบจริง ๆ ของเรา ทุกครั้งพอเราได้ยินซาวนด์แบบนี้ มันกระตุ้นอะไรบางอย่างครับ แล้วก็พอมาในชุดนี้ โจทย์ข้อหนึ่งของผมก็คือ ถ้าไม่อยากทำอะไรผมก็จะไม่ทำ ผมจะไม่ทำเพลงที่ผมไม่อยากได้ยินมัน

เอาเข้าจริง ๆ มีความไม่ร่วมสมัยเลยนะ

ขอบคุณครับ ผมถือเป็นคำชม เพราะผมไม่เชื่อเรื่องตามกระแสนิยมเลยครับ ผมรู้สึกว่ากระแสมันไม่หยุดนิ่งไหลไปเรื่อย ๆ ถ้าเราวิ่งตามกระแสไปเรื่อย ๆ เห็นเขาทำอย่างนั้นก็ทำมันเหนื่อยเกินไป อยู่ในที่ที่เป็นของเรามันมีความสุขมากกว่า วันนี้ก็ยังรู้สึกเลยว่าเพลงใหม่เรา (เกิด แก่ เจ็บ Try) มันเหมือนเพลงเราสมัยก่อนเลย พอปล่อยออกไปคนก็มาคอมเมนต์กันเยอะว่า ฟังอินโทรก็รู้เลยว่าน่าจะเป็นเพลงของโดม (หัวเราะ) คือต้องบอกว่าผมหายไปนานครับ พอกลับมาทำทั้งทีก็ทำอย่างที่อยากทำดีกว่า

หายไปนานแค่ไหน

ผมหยุดทำเพลงไปประมาณ 5 ปี คือช่วงที่เฟลจากการทำค่ายเพลง Iconic Records แล้วไม่เป็นอย่างที่เราคิด ตอนนั้นฟังเพลงไม่เพราะไปเลย ห้องอัดก็ไม่อยากเดินเข้าไปด้วย เพราะไม่รู้จะเดินเข้าไปทำไม

มันเฟลขนาดนั้นเลยเหรอ

ใช่ครับ คือเซ็งไปเลย แล้วก็รู้สึกว่าหยุดไปก่อนดีกว่า แต่ว่าเป็นคนอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้เลยต้องหาธุรกิจหาอย่างอื่นทำ เป็นช่วง 4 – 5 ปีที่โฟกัสเรื่องธุรกิจไปเลยครับ ถามว่าเสียดายไหม ถ้าย้อนได้อยากกลับไปทำอย่างต่อเนื่องกว่านี้ เพราะว่าผมก็เริ่มมาจากเพลง เสียดาย 20 กว่าปีที่ทำมันมา แต่ว่าไม่เป็นไร มันไม่สายที่จะมาเริ่มใหม่

มันเจ็บปวดแค่ไหน และเกิดจากอะไร

คือ Iconic Records เนี่ยตั้งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วครับ อยู่ในยุคที่โมเดลการทำค่ายเพลงเริ่มเจอภาวะขาดทุนกันทั้งโลก เพราะว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างการถ่ายเปลี่ยนไปหายุคดิจิทัล ตอนนั้นยูทูบไทยแลนด์ยังไม่มีเลยครับ มีแต่ Youtube.com ยอดวิวต่าง ๆ ที่เราลงยูทูบไป เราก็เลยไม่ได้เงิน แต่ตอนนั้นด้วยความไฟแรง แล้วเป็นคนที่มองด้านเดียวคือด้านของเพลง เราอ่อนต่อโลกในเชิงธุรกิจว่าต้องขับเคลื่อนไปได้ด้วยกลไกทางการตลาด เพลงดีแค่ไหนก็ไม่ถึงหูคนฟัง 

ตอนนั้นโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ก็ยังไม่มี ถ้าจำไม่ผิดมี My Space กำลังเริ่มมีการแชร์เพลง Facebook ก็ยังไม่บูมเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นมีเดียในการเข้าถึงคนค่อนข้างยากลำบาก แล้วพฤติกรรมคนก็เริ่มเปลี่ยน กำลังจะเฟดออกจากฟรีทีวี แต่การทำตลาดออนไลน์เรายังไม่เก่ง เลยขาดทุน แล้วก็เป็นอย่างนั้นมา แบกมา 2 ปีครับ จนรู้สึกว่าไม่น่าจะดีแล้ว เพราะว่ามันไม่เฮลท์ตี้เลยกับความรู้สึกเราครับ 

คือไอ้เรื่องสตางค์ว่าไปอย่าง แต่เรื่องใจไม่ดีเลย เครียดมากครับ มันสับสนว่าเราเลือกทำสิ่งนี้เพราะมีความสุข แต่ทำไมตอนนั้นไม่มีความสุขเลยวะ (หัวเราะ) มันเครียดไปหมด มาค่ายเห็นหน้าทีมงาน เห็นหน้าโปรดิวเซอร์ ก็หนักกันหมดครับ ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าเราตื้อกับตรงนี้จังเลย มันพาลไปถึงเรื่องเพลงด้วย ทั้งที่จริง ๆ ตัวเพลงไม่ได้ผิดอะไรเลย เพลงยังไงก็สวยงามอยู่แล้ว ดีอยู่แล้ว แต่เราฟังอะไรไม่เพราะไปหมดเลย

โดม-ปกรณ์ ลัม 28 ปีในวงการเพลง ทำค่ายเพลงขาดทุนหลายสิบล้าน สู่การออกซิงเกิลอีกครั้ง

คนรักดนตรีที่ฟังอะไรไม่เพราะ น่าจะเจ็บปวดมาก

ใช่ ผมขับรถไปเงียบ ๆ ไม่เปิดเพลงเลยตอนนั้น ความรู้สึกเหมือนเราทำมาทั้งชีวิต เราทุ่มเท ใช้พลังร่างกายเยอะมากเหมือนกันครับ แต่ว่าท้ายที่สุดไม่เป็นอย่างที่เราคิด มันก็เหนื่อยครับ (หัวเราะ)

ขาดทุนเยอะไหม

โอ้โห หลายสิบล้านเลยครับ จริง ๆ เพราะว่าผมดื้อด้วยแหละครับ ทุกคนก็เตือนแล้วว่ากราฟมันดิ่งแบบติดลบกันระเนระนาดไปหมด แต่เราก็ดื้อ เรากำลังเข้าสู่วัยทำงานน่ะครับ ช่วงอายุ 30 กว่า ๆ ก็อยากสร้างอะไรเป็นของตัวเองแล้วก็มีฝันเต็มไปหมดเลย เดี๋ยวต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ซึ่งไอ้ความฝันเนี่ย ผมว่ามันปน ๆ กับการเข้าข้างตัวเองหน่อย ๆ ด้วย (หัวเราะ) มองอะไรเป็นบวกไปหมด

แล้วเข็ดขนาดนั้น ขาดทุนเป็นสิบล้านขนาดนั้น เฮิร์ทขนาดนั้น เลิกทำไปเลยก็ได้นะ

อืม ก็ลองไปทำงานอื่น แต่แรงที่จะดันเราให้ตื่น ลุกออกจากเตียงไปทำงานในทุกวันมันไม่เหมือนตอนทำเพลงเลย ทำเพลงเนี่ย ไหนจะต้องเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ต นอนดึก ตื่นก็เช้า ต้องไปให้ทันไฟลต์ เหนื่อยแต่สนุกทุกครั้งที่ได้ขึ้นเวที ได้ร้องเพลง ได้เล่นดนตรี ไปเล่นละครมา 4 – 5 เรื่อง ก็สนุกครับ แต่ว่าผมรู้สึกว่ายังไม่ใช่ตัวผมร้อยเปอร์เซนต์ หรือการไปทำธุรกิจมันก็ดีครับ เป็นการหารายได้ที่ถ้าทำเต็มที่ น่าจะมั่นคงได้ แต่ว่าไม่ขับเคลื่อนเราเลย เราไม่อยากตื่นไปทำมันเลย ไม่เหมือนที่เราอยากตื่นไปทำงานเพลง

ปกรณ์ ลัม ในวัย 43 ปีแตกต่างจากวัย 20 ยังไงบ้าง

นิ่งขึ้นเยอะเลยครับ ตอนวัยรุ่นนี่แรงเหลือเกิน แต่มันก็ชีวิตผู้ชายคนหนึ่งน่ะครับ ก็ต้องเจออย่างนี้ ผมเชื่อว่าประสบการณ์ ความล้มเหลว การเอาชนะปัญหามาได้ เอาชนะใจตัวเอง ผมว่าพวกนี้หล่อหลอมให้มาเป็นผมวันนี้หมดเลย คือในวัย 43 ผมค่อนข้างจะเจอคนเยอะ ผมทำงานตั้งแต่เด็กมาก ๆ เพราะฉะนั้นโอกาสในการที่เราจะได้เรียนรู้ ได้ทำผิด ได้แก้ไข ได้เห็นมุมมองอื่น ๆ ที่สะท้อนมาหาตัวเรา อาจจะเห็นค่อนข้างเห็นมาเยอะกว่าคนวัย 40 เท่า ๆ กัน คือเราไม่ได้บอกว่าเราโตกว่าเขา แต่เหมือนกับเราเข้าใจ และเรารู้ว่ามันก็แค่นี้น่ะครับ

ดูปลง

ใช่ มันมาถึงจุดที่เราอาจจะเกินความอยากมี อยากเป็น อยากได้ ไขว่คว้าอะไรไปแล้ว ผมว่าผมเลยมาแล้ว ทุกวันนี้สิ่งที่ที่สุดก็คือความสุขเวลาอยู่กับครอบครัว ได้มีเวลาอยู่กับคุณแม่บ้าง อันนี้ต่างหากคือคุณภาพในชีวิตที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องเงินทอง ชื่อเสียง หรือว่าต้องไปใส่นาฬิกาแพง ๆ รถหรู ๆ ผมว่าพอหลุดจากตรงนั้นแล้วมันเบาลงมาก ทำให้เราไม่ต้องแบกอีโก้ หรือความเป็นอะไรบางอย่างของเราไว้ ตอนเด็ก ๆ นี่มีไอ้พวกนี้เยอะมาก

ชีวิตของ โดม-ปกรณ์ ลัม ในวัย 43 ปี “นอนเร็ว-ตื่นเช้า-นั่งยาวปวดหลัง” การปรับตัวในวงการเพลง และจุดที่ทำให้รักการแสดง
ชีวิตของ โดม-ปกรณ์ ลัม ในวัย 43 ปี “นอนเร็ว-ตื่นเช้า-นั่งยาวปวดหลัง” การปรับตัวในวงการเพลง และจุดที่ทำให้รักการแสดง

ตอนวัยรุ่นคุณก็ไม่เบาเหมือนกันนี่

เยอะครับ ผมว่าคนอื่นเขาก็คงจะหมั่นไส้ผมทั้งนั้นแหละ (หัวเราะ) เป็นคนพูดจาโผงผางแล้วก็กวน ๆ มีความคิดเห็นของตัวเองขีดเส้นเป็นหลัก ซ่ามาก แต่ถ้ามองกลับไปก็โอเคนะ ถ้าเราไม่ผ่านตรงนั้นมา หรือไม่เจ็บปวดตอน 30 กว่า ๆ ก็คงไม่เป็นอย่างนี้ได้ตอนอายุ 40 ปี ผมเห็นรุ่นพี่บางคน 50 แล้วก็ยังไม่หลุดพ้นจากอะไรแบบนี้นะครับ

43 ปีกล่อมเกลาให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้นหรือแย่ลงยังไงบ้าง

ในมุมหนึ่งมันทำให้ผมมีวินัยทั้งทางความคิดและทางการใช้ชีวิตมากขึ้นนะครับ รวมถึงการทำงานด้วย แต่ในส่วนข้อเสีย ผมว่ามันก็มี ทำให้เรารู้สึกว่าเราหมดความทะเยอทะยานไปพอสมควร ซึ่งผมว่ามันจำเป็นต้องมี ศิลปินสักคนที่จะสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ ต้องมีความทะเยอทะยานอยู่ในนั้น

พอเราอายุเท่านี้ ความทะเยอทะยานอาจไม่เยอะมาก แล้วจะทำยังไง

ผมไม่อยากหลอกตัวเองว่ายังทะเยอทะยาน ยังมีพลังแบบนั้น ผมเชื่อว่าถ้าตัวเพลงมันเป็นแบบ พ.ศ. นี้ ที่เราอายุแบบนี้เนี่ย ก็เล่าเรื่องให้มันเป็นอย่างนั้นน่ะ อาจจะไม่ต้องปรี๊ดปร๊าดอะไรขนาดนั้น ให้มันสะท้อนแง่คิดของเรา ในมุมมองที่เป็นเราในตอนนี้จริง ๆ ผมว่าไปแบบนี้ดีกว่าครับ

ปัญหาสุขภาพในวัยนี้ นั่งนาน นอนน้อย มีผลกระทบในการทำงานเพลงไหม

มีครับ (หัวเราะดัง) เดี๋ยวนี้ง่วงเร็ว แต่ก่อนทำเพลงตี 3 – 4 นะครับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เลย จะกลายเป็นรูทีนอีกแบบหนึ่ง คือหลัง 4 ทุ่มกูไม่เอาแล้ว ขอไปอาบน้ำ เข้านอน แล้วก็ตื่นเร็วครับ เลยได้ออกกำลังกายมากขึ้นด้วย ช่วยทำให้เรายังพอจะยืนระยะอยู่บนเวทีได้ ที่สำคัญการออกกำลังกายมากขึ้นส่งผลต่อเรื่องวิธีคิดด้วย ไม่ใช่สุขภาพดีอย่างเดียว มันสอนให้เรารู้เวลา 4 ทุ่มแล้วมึงจะมานั่งทำอะไร ไปอาบน้ำเตรียมนอน หาอะไรอ่านก่อนนอนหน่อย ง่วงก็หลับ แล้วประมาณ 6 โมงครึ่งตื่นแล้วก็ออกกำลังกาย ทำงาน ซึ่งแต่ก่อนไม่มีทาง

แล้วตื่นเองด้วยหรือเปล่า

ตื่นเอง ไม่เคยตั้งนาฬิกาปลุกเลยครับ (หัวเราะ) ขนาดงานเช้าแบบ 7 โมง 8 โมง ผมก็ไม่ตั้งปลุก วันไหนไม่มีงานเช้าบางทีไม่อยากตื่นนะ แต่มันตื่นเองครับ ผมรู้สึกว่า เออ แก่แล้วก็เป็นแบบนี้แหละ เราก็ต้องปรับตัวให้เป็นไปตามวัย

ยังคิดจะทำเพลงไปถึงเมื่อไหร่

ผมอยากทำไปเรื่อย ๆ เลยครับ ตอนนี้มีอะไรในหัวอีกเต็มเลย รวมถึงอยากจะกลับมาทำค่ายอีกรอบครับ อยากกลับมาเปิดใหม่

ยังไม่ยอมแพ้ใช่ไหม

ใช่ครับ ตอนนี้พอโมเดลต่าง ๆ เริ่มชัดเจนขึ้น ถ้าเราดูในตลาดโลก ปีที่แล้วรู้สึกขึ้นตั้ง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์นะครับ จากเดิมช่วงปี 2000 กว่า ๆ มานี่ติดลบ 400 เปอร์เซ็นต์ แต่นี่ดีขึ้นมา แนวโน้มขึ้นตลอดเลย แสดงให้เห็นว่าเพลงที่ทุกคนคิดว่าจะตายกัน จริง ๆ มันกลับมาในรูปแบบใหม่เป็นดิจิทัลชัดเจน องค์กรเองก็ปรับตัว ต้อง Lean คล่องตัว

ขอถามเรื่องในฐานะนักแสดงบ้าง ปกรณ์ ลัม ใน พ.ศ. นี้ อยู่ตรงไหนของวงการบันเทิง

ผมเริ่มสนุกกับมันขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ เมื่อก่อนไม่สนุก รู้สึกว่าเราเป็นคนทำเพลง บอกตรง ๆ ว่าเล่นละครเรื่องแรกเรื่อง ‘รักไม่มีวันตาย’ เล่นกับ พลอย (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ดังด้วยนะ แต่ว่าผมทรมานมาก (หัวเราะ) มองนาฬิกาตลอด เมื่อไหร่เลิกกองวะ

ชีวิตของ โดม-ปกรณ์ ลัม ในวัย 43 ปี “นอนเร็ว-ตื่นเช้า-นั่งยาวปวดหลัง” การปรับตัวในวงการเพลง และจุดที่ทำให้รักการแสดง

ถึงขั้นมองนาฬิกาเลยเหรอ

มองนาฬิกาเลยครับ เมื่อไหร่จะเลิกกอง โอ้โห ตอนเช้านี่แทบไม่อยากปลุกตัวเองตื่นออกไปถ่าย คือมันไม่มีแรงขับอะไรเลย รู้สึกว่าตรงนี้ไม่ใช่ที่ของเรา พอเราไปอีกโลกหนึ่งก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน มันจะมีโลกของการต้องใช้พื้นที่สื่อให้เป็น ซึ่งผมว่านั่นไม่ใช่ตัวผม 

พอกล้องมาถ่าย มีทีมงานเข้ากอง ก็ต้องเปลี่ยนคาแรกเตอร์ให้ดูสดใสขึ้น เล่นกับกล้องอย่างนี้ บางทีผมก็รู้สึกว่า “ง่วงจะตายแล้วเนี่ย ไม่อยากจะยิ้มให้เลย” (หัวเราะ) แต่ก็ทำไม่ได้ ต้องสดใสร่าเริง เป็นคนขี้เล่นขึ้นมาโดยฉับพลัน ซึ่งผมก็เข้าใจครับ มันอาจจะถูกที่ถูกเวลาด้วย แต่พอไปทำอย่างนั้นแล้ว รู้สึกว่าเราต่างหากที่อยู่ผิดที่ ผมเลยไม่ค่อยแฮปปี้กับการเล่นละคร จนมาเล่นละครเวทีครับ ต้องบอกเลยว่าละครเวทีของ พี่บอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) ของ Scenario ท้าทายมาก ผมต้องให้เครดิต หม่อมน้อย (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล) ด้วยครับ เพราะพี่บอยส่งผมไปเรียนกับหม่อม จึงเหมือนเปิดโลกเราเข้าไปสู่คำว่า ‘การแสดง’ อย่างแท้จริง

ตอนนั้นเล่นเรื่องอะไร

ละครเพลงเรื่อง ‘ทวิภพ’ เล่นกับพี่ นัท มีเรีย เล่นเป็นคุณหลวงนี่แหละครับ ซึ่งทุกคนสบประมาทเรามาก ๆ ว่าโดมเนี่ยนะจะเป็นคุณหลวงได้ ท่าเดินก็ไม่ใช่แล้ว ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่า “เอาสิ มา เดี๋ยวจะทำให้ดู” ตอนนั้นผมเหมือนกับเฆี่ยนตัวเองเพื่อให้ไปโรงเรียนประจำทุกวันนะครับ เพราะว่ามันซ้อมอาทิตย์หนึ่ง 7 วัน เดือนหนึ่งอาจจะมีหยุดครั้งหนึ่ง แล้วก็วันหนึ่งประมาณ 15 ชั่วโมง หนักมากครับ ซ้อมอย่างนั้นอยู่ 4 เดือน คือจริง ๆ การแสดงมันยากมากครับ จะบอกว่าผมแตกฉานก็คงไม่ใช่ แต่มันแหมือนเปิดประตูให้เราเข้าใจว่า อืม มันก็ดีเนอะ

ทั้งร้อง ทั้งเล่น ทั้งแสดง

ทั้งร้อง ทั้งเล่น ทั้งแสดง แล้วคาแรกเตอร์ก็ไกลตัวเรามาก เป็นคุณหลวงอยู่ในยุครัชกาลที่ 5 ช่วงฝรั่งเศสจะมายึดอะไรอย่างนี้ บอกได้เลยว่ามีคนพร้อมทุบผมอยู่เยอะมาก โดยเฉพาะนักวิจารณ์ บรรดาพี่ ๆ เขาก็ต้องมากันหมด ท้าทายมาก ผมบอกได้คำเดียวเลยว่าต้องออกมา ‘ดี’ เท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น ห้ามเป็นอย่างอื่น พี่บอยก็เป็นพี่ที่น่ารัก แล้วก็แกมีจิตวิทยาในการบริหารคนมาก แกรู้ว่าแกจะพูดกับคนแบบผมยังไง คือก่อนแสดงเดือนหนึ่ง โค้งสุดท้ายของการซ้อม แกก็พูดกับผมตรง ๆ เลยว่า “โดม มันคือศักดิ์ศรีของเธอ”

พูดคำนี้เลยนะ

ใช่ เหมือนแกเอาคอเราพาดเขียงเลย แล้ววัดกันไปเลย ซึ่งคนดื้อ ๆ อย่างผมชอบแบบนี้ คือถ้ามาแบบ “เต็มที่นะโดม พี่ให้กำลังใจ” ผมว่าผมไม่สนน่ะ แต่พอมีคนมาท้าเรา ผมก็จะทำให้ได้ พอเสร็จออกมาก็ถือว่าเกินคาดตามที่พี่ ๆ เขาพูดแล้วก็เขียนวิจารณ์นะครับ ได้รับคำชมที่ทุกคนเซอร์ไพรส์ แต่ก็แค่ก้าวแรก ผมยังต้องพัฒนาอะไรอีกเยอะ แต่ว่ามันเปิดประตูให้เรารู้สึกว่าการแสดงสนุก ซึ่งผมก็ยังไม่ชอบการเป็นดารานะ ไอ้ที่เข้ากองมาแล้วสดใสแบบอัตโนมัติ ยกนิ้วสู้ ๆ ผมว่านั่นคือพิธีกรรมของดารา แต่ผมตอนนี้ชื่นชอบศาสตร์ของการแสดงแล้ว ผมรู้สึกว่ามันสนุก

หม่อมน้อยทำยังไงให้คุณเข้าใจศาสตร์ของการแสดง

ตอนแรกมาถึงก็เปิดฉากด้วยการเดินจงกรมประมาณชั่วโมงหนึ่ง

ชีวิตของ โดม-ปกรณ์ ลัม ในวัย 43 ปี “นอนเร็ว-ตื่นเช้า-นั่งยาวปวดหลัง” การปรับตัวในวงการเพลง และจุดที่ทำให้รักการแสดง
ชีวิตของ โดม-ปกรณ์ ลัม ในวัย 43 ปี “นอนเร็ว-ตื่นเช้า-นั่งยาวปวดหลัง” การปรับตัวในวงการเพลง และจุดที่ทำให้รักการแสดง

ชั่วโมงหนึ่ง?!

ครับ แล้วก็วันหนึ่งเรียน 4 ชั่วโมง สุดท้ายสุดจะนั่งสมาธิอีกประมาณ 45 นาที จงกรมแล้วยังมีปิดท้ายเป็นนั่งสมาธิอีก ทำอย่างนี้อยู่พักหนึ่งเลยครับ แล้วก็มีอีกแบบฝึกหัดหนึ่ง จริง ๆ ก็คล้ายกับการทำสมาธิเปิดตา เหมือนกับให้เราแบ่งการหันขวาเป็น 5 สเต็ป หันซ้ายเป็น 5 สเต็ป การหันแต่ละครั้งคือให้หันครบ สเต็ปที่ 5 คือหันข้างพอดี สิ่งที่ต้องทำก็คือบอกกับตัวเองว่าเห็นอะไรในแต่ละสเต็ป หันมาอย่างนี้เห็นอะไร เห็นก็คือเห็นจริง ๆ มันคือเรื่องของการอยู่กับปัจจุบัน

หม่อมบอกว่าเวลาเขาสั่ง Action!! มันคือ To Do มันไม่ใช่ To Act มันคือปฏิกิริยาที่ตาเห็น หูฟัง ได้ยิน ส่งไปสู่จิตใจ รู้สึกและ React กลับไป เพราะเราจะไม่มี Action ถ้ามันไม่มี Reaction กิริยากับปฏิกิริยาทำงานคู่กัน ตอบสนองกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นโดมไม่ได้แสดง โดมทำมัน To Do ไม่ใช่ To Act

พอผมรู้อย่างนี้ โอ้โห เหมือนหม่อมยกเส้นผมบาง ๆ บังภูเขาที่เราไม่เข้าใจเลยออกไป ผมถามว่า “พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนี้ก็ไม่มีการแสดงน่ะสิ” หม่อมตอบว่า “ก็ใช่ ไม่มีไง” คือคุณต้องเห็น คุณต้องรู้สึกจริง ๆ ไม่ใช่แบบซีนนี้เสียใจ ทำยังไงดี บางคนไปคิดถึงหมาตายอย่างนี้ มันไม่ใช่ ไปคิดถึงเพื่อนที่เสียไปในอดีตถึงจะร้องไห้ได้ มันไม่ใช่ มันต้องเห็นน่ะครับ มันถึงจะมี Reaction กลับไปได้ ตรงนี้มันก็พอเราย้ำคิดย้ำทำ แล้วก็ถูกการเทรนแบบนี้ไปเรื่อย เลยทำให้ร่างกายกับจิตใจเราเริ่มเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วเชื่อไหมครับว่าพอจบกลับมา แล้วมาทำกับงานเพลง เฮ้ย มันได้ผลลัพธ์ที่ดีมากกับเพลงด้วยครับ

ยังไง

คือเด็ก ๆ ผมจัดการการร้องเพลงด้วยการได้ยินเมโลดี้มาโดยตลอด เอาเนื้อเพลงมาอยู่ในเมโลดี้ให้ตรง แต่จริง ๆ แล้วนักร้องที่ดีต้องนำสาร นำความหมายออกไปให้ถึงผู้ฟังด้วย ถ้าเรารู้สึกแล้วร้องคำนั้นออกไป โดยประสานกันเป็นหนึ่งเดียวและถูกเวลา มันจะทรงพลังกว่าที่เราเปล่งเสียงตามทำนองออกไปมาก ๆ เลยครับ ซึ่งแต่ก่อนยังสื่อสารแบบนั้นไม่ได้ แต่พอเดี๋ยวนี้ ก่อนเพลงจะเริ่ม อินโทรจะเริ่ม เราจะนิ่ง แล้วก็จะคิดว่าเพลงนี้กำลังสื่อสารอะไรอยู่ พอเป็นอย่างนั้น มันได้ทั้งฟีลลิ่งกับตัวเองด้วย โอ้โห เพลงเดิมที่เคยร้องเปลี่ยนไปเลย

พูดได้ไหมว่าก่อนหน้านั้น งานแสดงสำหรับโดมคุณคือเราเป็นดารา เป็นนักแสดงขวัญใจวัยรุ่น แต่เราไม่ได้เข้าใจแก่นแท้ของมัน

ใช่เลยครับ

พอรู้แล้วมันเปลี่ยนวิธีที่คุณมองงานศิลปะไปมากน้อยแค่ไหน

เปลี่ยนไปมาก แล้วก็รู้สึกเคารพศาสตร์การแสดงมาก มันไม่ง่ายเลย แต่เรารู้สึกดีกับการแสดงมากขึ้น เรื่องหลัง ๆ ที่รับมานี่เอนจอยกับการไปกองถ่ายแล้ว เริ่มสนุกว่าวันนี้เราจะได้เล่นอันนี้ วันนี้เราจะได้เป็นโจร วันนี้เราจะได้เป็นตำรวจ แล้วมันสนุกจริง ๆ เหมือนเราหลุดไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ เพราะว่าพลังของความเชื่อเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็นำพาเราไปได้ไกล

มาถึงตอนนี้อยู่ในวงการบันเทิงมากี่ปีแล้ว

เกือบทั้งชีวิตเลยครับ ผมเล่นโฆษณาตั้งแต่ยังไม่ขวบเลยครับ แต่ถ้านับในวงการเพลงก็ 28 ปีครับ

นิยามตัวเองในวงการศิลปะหรือวงการบันเทิงว่ายังไง

ผมเป็นหนี้บุญคุณของวงการศิลปะ เป็นหนี้บุญคุณวงการบันเทิง ที่ผ่านมาผมอาจเหลวไหลหรือดื้อไปบ้าง แต่ตอนนี้ผมก็อยากช่วยต่อเติมหรือให้อะไรคืนกลับวงการนี้บ้าง จริง ๆ นะครับ อย่างน้อยที่สุด ช่วง 5 ปีมานี้ผมไม่เคยทำงานชุ่ย โดยเฉพาะเพลงไม่เคยชุ่ย หรือไม่เคารพ หรือไม่ให้เกียรติกับวิชาชีพ เพราะผมรู้สึกว่ามันสูงส่ง แล้วก็ทำให้เรามีวันนี้ มันเกินกว่าที่จะเป็นแค่งาน หรือว่าเข้ามาฉาบฉวย 

ทุกคนก็รู้ ผมอยู่มา 28 ปีในวงการเพลง วงการบันเทิงทั้งชีวิต น่าจะพอพิสูจน์อะไรได้บ้างว่าผมไม่ได้ฉาบฉวย แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ได้อยากกอบโกยกับตรงนี้อีกต่อไปแล้ว ผมอยากจะให้คืนน่ะครับ ผมอยากเป็นแรงงานที่ช่วยผลักดันตรงนี้ต่อไป

ชีวิตของ โดม-ปกรณ์ ลัม ในวัย 43 ปี “นอนเร็ว-ตื่นเช้า-นั่งยาวปวดหลัง” การปรับตัวในวงการเพลง และจุดที่ทำให้รักการแสดง

Writer

Avatar

จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

บรรณาธิการ นักเขียน นักแปล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล