ยิมกึ่งคาเฟ่ เราไม่เคยได้ยินมาก่อน
แสงแดดยามบ่ายสาดส่องเข้ามาในห้องสี่เหลี่ยมขนาดกำลังสบายตัว โปร่งโล่ง ด้านหน้ามีเคาน์เตอร์กาแฟคอยต้อนรับ มองลึกเข้าไปเห็นเด็กและผู้ใหญ่กำลังร่ำเรียนศิลปะการต่อสู้อย่างขะมักเขม้น
ภาพจำของยิมกีฬาทั่วไป คงหนีไม่พ้นความดิบ มวลบรรยากาศมาคุ การตกแต่งมักเป็นไปในโทนสีเข้มขรึม สื่อถึงความเข้มข้นจริงจังและความทุ่มเท จากทั้งนักเรียนและผู้ฝึกสอน ประกอบกับเสียงร้องจากการออกแรงอย่างหนักเพื่อเป้าหมายที่วาดหวังไว้ของนักกีฬาแต่ละคน
แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘DOJOH – Gym x Cafe’ ยิมสอนศิลปะการต่อสู้กึ่งคาเฟ่ ที่นี่ทาสีขาวสะอาดตา เสริมด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สีธรรมชาติสุดอบอุ่น ความต่างระหว่างยิมกับคาเฟ่ผสานกันอย่างลงตัว พร้อมด้วยทำเลเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา สถานที่แห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ ครูโจ้-ธนพันธุ์ ทองอร่าม ผู้ก่อตั้ง อาจารย์สอนศิลปะการต่อสู้ และหมวกอีกใบของเขา คือประธานไอคิไทย ไอคิโด ประเทศไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการฝึกศิลปะการต่อสู้เพื่อความเป็นเลิศทางด้านกีฬา ต้องฝึกเพื่อสร้างความกระหายชัยชนะ ให้ฝังเข้าไปในตัวตนของนักกีฬา แต่สำหรับที่แห่งนี้ ครูโจ้ไม่ได้มองถึงการสร้างความเป็นเลิศ แต่อยากช่วยเพิ่มทางเลือกให้คนทั่วไปรู้จักศิลปะการต่อสู้มากขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น
สิ่งที่ได้เพิ่มเติมคือ การฝึกใจและการเข้าสังคมบนพื้นเบาะเดียวกัน
เมื่อเรียนเสร็จเหนื่อย ๆ หากเป็นยิมธรรมดาคงแยกย้ายกันไปในทันที แต่ที่ DOJOH – Gym x Cafe จะได้นั่งหย่อนใจไปกับบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเครื่องดื่มและอาหารง่าย ๆ ฝีมือครูโจ้

ฐานชีวิตจากพื้นเบาะ
เส้นทางของครูโจ้กับศิลปะการต่อสู้ โดยเฉพาะไอคิโด (Aikido) ศาสตร์ศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่งที่เป็นวิชาหลักของที่นี่ ซึ่งมีครูโจ้เป็นผู้สอน เริ่มมาจากคุณพ่อที่เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต
“คุณพ่อผมเป็นทหาร พันเอกพิเศษสมบูรณ์ ทองอร่าม คุณพ่อเป็นคนไทยคนแรกที่เรียนไอคิโดจากอาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้สายดำศิลปะป้องกันตัวของญี่ปุ่นคือ ยูโด ไอคิโด คาราเต้ จนได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น และได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาสอนในวิชาพลศึกษาทหาร โรงเตรียมทหาร”
ด้วยความเป็นลูกทหาร บวกกับหมวกอีกใบของพ่อที่เป็นครูสอนศิลปะการต่อสู้ ครูโจ้จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องฝึก ซึ่งเขาเริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้ตั้งแต่ 5 – 6 ขวบ ประสบการณ์ 30 กว่าปี และคุณพ่อสมบูรณ์ก็เป็นคนทำงานหนักมาก ตื่นเช้าจนหัวจรดหมอน ผ่านการทำงานมาประมาณ 4 – 5 หน้าที่ต่อวัน ตั้งแต่สอนว่ายน้ำ รับราชการทหาร สอนเพาะกาย คุมการเงินที่ธนาคาร จนถึงผู้จัดการบาร์ในยามค่ำคืน
“ผมไม่มีเวลาเล่นกับพ่อมากเท่าไหร่ แต่ผมมีเวลาเจอพ่อตอนฝึก สำหรับผมการอยู่บนเบาะฝึกคือเวลาของครอบครัว ตอนเด็ก ๆ ไม่รู้หรอก ผมมาคิดได้ตอนเป็นผู้ใหญ่ว่าได้อะไรจากการฝึก แน่นอนว่าได้วิชาจากพ่อ ได้สังคม ได้เจอคนที่ไม่เหมือนเรา แต่มีอะไรเหมือนเรา นั่นคือการมาทำกิจกรรมเดียวกัน”

ใจความสำคัญของการฟูมฟักฉบับคุณพ่อสมบูรณ์ ก่อร่างสร้างฐานในการใช้ชีวิตที่แข็งแรงให้กับครูโจ้เป็นอย่างมาก และ ใช่! สิ่งนี้เขาได้มารู้เมื่อเติบใหญ่แล้วอีกเช่นกัน
หนึ่งในนั้นคือหุ้นส่วนของเขา จักร-จักร จุลเกียรติ เจ้าของบริษัท Define Studio ผู้มีผลงานออกแบบมากมาย เขาชวนเพื่อนบนเบาะมาช่วยออกแบบโรงยิมแห่งนี้ให้ต่างจากทุกแห่งที่เคยเจอ คงไม่ต้องสงสัยว่าจะสวยและมีสไตล์ขนาดไหน
จักรเป็นพี่ที่เป็นคู่ฝึกให้กับครูโจ้ตั้งแต่เด็ก เติบโตมาด้วยกัน และจับมือร่วมกันเมื่อเป็นผู้ใหญ่
นี่คือหนึ่งตัวอย่างของการได้สังคมบนผืนเบาะที่ครูโจ้พูดถึง
“สำหรับผม ศิลปะการต่อสู้ คือ Lifestyle กับ Community” โจ้พูดเสียงหนักแน่น
ยิมแห่งนี้สร้างด้วยแนวคิดสำคัญนี้ ที่เขาอยากให้การสอนศิลปะการต่อสู้ได้รับการปฏิบัติเหมือนกิจกรรมหนึ่งของชีวิต ไม่ต่างจากการเตะบอล ว่ายน้ำ แต่เปลี่ยนจากพื้นหญ้า สระน้ำ เป็นพื้นเบาะและผู้คน

ลูกไม้ต้องโตไกลต้น
เมื่อเข้าวัยเลข 2 ครูโจ้เลือกเรียนด้านการถ่ายภาพภาพยนตร์ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เขาห่างหายไปจากการฝึกสอนไอคิโดอยู่บ้าง ขณะเดียวกัน คุณพ่อสมบูรณ์ก็วางแผนหลังเกษียณด้วยการเปิดยิมชื่อ Somboon Home บริเวณบ้านของตัวเองย่านพระราม 3
การเกิดขึ้นของ Somboon Home ทำให้โจ้มองเห็นอนาคตตัวเองกลาย ๆ กับการสานต่อในสิ่งที่คุณพ่อสร้าง ตอนนั้นโจ้กำลังสนุกกับการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับโฆษณา ในยุคสมัยที่โฆษณาไทยเฟื่องฟู
“พ่อผมเคยพูดไว้ว่า ลูกไม้ใต้ต้นมันไม่โตหรอก ถึงโต ต้นมันก็เอียงไปหาแดด ถ้าจะให้ดี ลูกไม้มันต้องไปโตไกล ๆ ต้น มันต้องถูกนกเอาไปขี้ทิ้งในป่า ถ้ามันแข็งแรงพอ มันจะโตเป็นต้นไม้ใหญ่เอง ซึ่งผมก็เชื่อเช่นนั้น และผมยังเชื่ออีกว่าชีวิตคนเรามันไม่มี Second Man จะไม่มีสมบูรณ์คนที่สอง”
จุดเปลี่ยนสำคัญดันให้ DOJOH เกิดขึ้นเร็วกว่าที่วางแผนไว้ คือการระบาดของโควิด-19
ด้วยความที่เติบโตมากับบ้านริมน้ำ โจ้ฝันอยากจะมียิมริมน้ำเป็นของตัวเอง จังหวะประจวบเหมาะจากสถานการณ์โรคระบาด ทำให้โจ้ตัดสินใจใช้โอกาสจากการที่ยิมถูกปิดและใช้เวลาหาพื้นที่ทำเลที่ต้องการ จนมาเจอห้องว่างริมน้ำที่ราคาพอสู้ไหว
และชะตาฟ้าลิขิตให้เขาได้สถานที่แห่งนี้ที่มีทำเลเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
โรงยิมที่เปล่งประกายด้วยความสว่าง ระหว่างที่กำลังง่วนกับการฝึกฝนท่วงท่าอยู่ภายในโรงยิม แสงแดดยามเย็นสาดส่องเพิ่มเฉดของความสว่างให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สถานที่แห่งนี้มีบรรยากาศภายนอกให้มองออกไปพักสายตาชั่วครู่อย่างริมแม่น้ำที่ยากจะหายิมไหนเหมือน พร้อมลมจากริมฝั่งที่พัดพาความเย็นสบายและความฝันของครูโจ้ เข้ามาก่อร่างกันอย่างลงตัวที่โรงยิมอุ่นตาสบายกายแห่งนี้
DOJOH คือผลผลิตของลูกไม้ที่เลือกมาโตให้ไกลจากต้นไม้ใหญ่

Martial Art Community
“DOJO ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า โรงฝึก ส่วนผมชื่อโจ้ แต่ผมใช้สะกดว่า JOH ผมก็เลยเติม H เข้าไป ถ้าคำว่า DO คำเดียว แปลว่าไลฟ์สไตล์ ส่วน JOH เป็นชื่อผม มันก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าเราไม่เอาไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่นมาก มันก็เหมือนเป็นสไตล์เรา เป็นสไตล์ของโจ้ ส่วนอีกความหมายหนึ่งก็คือโรงฝึก”
แล้วสไตล์ของโจ้เป็นแบบไหน – เราถาม
“พื้นฐานของที่นี่ เริ่มจากไอคิโด ซึ่งเป็นวิชาหลัก ฝึกสอนโดยผม แล้วก็จะมีศิลปะการต่อสู้อีก 2 อย่างคือ เทควันโด, Brazilian Jiu-Jitsu มวยไทย แต่มวยเป็นคลาสส่วนตัว แล้วก็โยคะ”



คลาสต่าง ๆ ถูกออกแบบมาอย่างสบาย ๆ พร้อมครูผู้สอนที่ทุ่มเททั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงให้ความสำคัญกับการเข้าสังคมบนพื้นเบาะ ไม่ใช่ความเป็นเลิศทางด้านกีฬา
“อย่างคลาสโยคะ ตอนแรกจะเปิดเพื่อรองรับครอบครัว กลายเป็นบางคนเอาแม่มาเรียน ผมก็เลยเอาแม่ผมมาเรียน กลายเป็นโยคะมาสเตอร์ มาสเตอร์ไม่ได้เก่งนะ สว (สูงวัย) เยอะ” เขาหัวเราะ

“ไม่ต้องซีเรียสว่าคุณจะเอาหัวไปแตะเท้าได้มั้ย แต่เล่นยังไงให้มันสนุก นั่นคือสิ่งสำคัญ ผมต้องบรีฟครูผู้สอนว่า ผมไม่ได้สอนให้เขากลับออกไปเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้น ๆ ผมต้องการทำให้เขามีความสุขกับการทำกิจกรรมเหล่านี้ กลับไปทำเองที่บ้านได้ หรือนำมาเป็นกิจกรรมออกกำลังกายในระยะยาว”
ดั่งวัยเด็กของตัวเองที่โจ้พบเจอเพื่อนร่วมเบาะจนกลายมาเป็นมิตรร่วมชีวิตมากมาย นั่นทำผู้ก่อตั้ง DOJOH GYM & CAFE ให้ความสำคัญเพิ่มเป็นพิเศษสำหรับพี่น้องหรือพ่อลูกที่มาเรียนด้วยกัน
“ผมว่าสิ่งเหล่านี้ผมได้มาจากพ่อพอสมควร ในเรื่องการทำเพื่อครอบครัว ผมก็เลยมีส่วนลดสำหรับคนที่มาเรียนกับลูก หรือพี่น้องมาเล่นด้วยกัน ผมมียิมนี้ได้ เพราะครอบครัวผม พ่อสอนผม
“การที่พ่อแม่มา แล้วเขาลงเล่นกับลูกได้ ผมถือว่าเป็นความเก่งของเขานะ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเล่นกับลูกได้ ไม่ใช่ทุกคนจะยอมเสียเวลา บางคนเอาลูกมาทิ้งไว้กับผม แล้วออกไปช้อปปิ้ง ผมไม่ว่า เป็นสิทธิ์ของทุกคน แต่ผมนับถือคนที่ลงไปเล่นกับลูก ผมว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ ของครอบครัว”
ช่วงเวลาแห่งครอบครัว ดั่งวันวานของเด็กชายโจ้กับคุณพ่อสมบูรณ์

อีกหนึ่งอย่างที่ครูโจ้ให้ความสำคัญนอกเหนือจากความสุข คือ การฝึกจิตใจที่แข็งแกร่ง
“เมื่อมาเรียนกับผมหรือครูทุกคน สิ่งที่ผมจะบอก คือการเรียนศิลปะป้องกันตัวไม่ว่าคุณจะฝึกที่ไหน ฝึกกับโค้ชคนใด สิ่งแรกที่คุณต้องคิดเมื่อเรียนไป คือคิดว่าจะไม่ได้ใช้มัน แล้วก็อย่าคิดจะใช้มัน เพราะถ้าคุณเรียนให้ตาย นานแค่ไหน โค้ชคุณเก่งแค่ไหน ถ้าคุณเรียนแล้วใจคุณยังอยากอยู่ แสดงว่าคุณฝึกแต่ร่างกาย จิตใจคุณไม่ได้ถูกฝึก และแน่นอนว่าคุณได้ความรู้จากครูผู้สอน แต่คุณจะเก่งจากเพื่อนร่วมฝึกที่หลากหลาย เล่นกับคนที่เด็กกว่า เล่นกับเด็กตัวเล็ก เล่นกับผู้หญิง ซึ่งแน่นอนไม่ได้แข็งแรงกว่าผู้ชาย แต่ทำยังไงให้เขาฝึกได้ ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะ การฝึกมันเป็นการเข้าสังคมอย่างหนึ่ง”
เล่นกิจกรรมให้มีความสุข ได้สังคม ได้มิตรภาพ ที่ต่างเคารพซึ่งกันและกัน
นี่คือแกนหลักสำคัญที่ครูโจ้ยึดมั่นและอยากส่งต่อให้กับผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาเจอกัน

โรงน้ำชาของคนรักศิลปะการต่อสู้
ครูโจ้มองอนาคตของสถานที่แห่งนี้อย่างไรบ้าง บทสนทนามาถึงช่วงท้าย
“ผมมองว่าผมจะนั่งแก่ตรงนี้เลย อนาคตอาจจะมีรำไทเก็กด้วยนะ” ครูโจ้บอก
“มันอาจจะกลายเป็นร้านน้ำชา ผมนั่งคุย กินอาหารเช้า ฟังเสียงนกร้องริมแม่น้ำ ผมค่อนข้างมั่นใจว่าผมอยู่ตรงนี้ได้ในระยะยาว ผมเคยบอกว่า ที่ตรงนี้เหมือนกับที่ผมเคยคิดไว้ตอนเด็ก แต่มันจะเว่อร์ไปถ้าคิดว่ามันจะเป็นจริง” เขาคงเล่าถึงความสุขที่ได้เห็นสถานที่นี้กลายเป็นอะไรอีกมากมายในอนาคต
การเริ่มต้นด้วยโควิด-19 ทำให้ธุรกิจของครูโจ้เจอบททดสอบโหดหินตั้งแต่เริ่มงานสร้าง ดังนั้น หากเขาผ่านพ้นมันไปได้ ในระยะยาวคงไม่มีอะไรหนักหน่วงไปกว่านี้แล้ว ยกเว้นกรณีเดียวคือ โลกแตก
DOJOH ล้มลุกคลุกคลานมาอย่างพอตัวในสภาพเศรษฐกิจสังคมเช่นที่เป็นอยู่ นั่นทำให้ “การปรับตัวอยู่เสมอ” เป็นอีกหนึ่งแกนสำคัญของอนาคตโรงน้ำชาสำหรับผู้ชื่นชอบศิลปะการต่อสู้แห่งนี้ แต่สิ่งที่จะไม่มีวันเปลี่ยนคือจิตวิญญาณของสถานที่ ที่พร้อมต้อนรับผู้คนทุกเพศทุกวัยอยู่เสมอ
ครูโจ้ทิ้งท้ายถึงเป้าหมายอีกอย่างของการทำยิมแห่งนี้คือ เขาเป็นตัวอย่างสำหรับคนที่สนใจศิลปะการต่อสู้และอยากขยายฐานการรับรู้ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่สนใจ สร้างทางเลือกสำหรับคนกลุ่มใหม่ ๆ ที่ยังไม่เห็นว่าศิลปะการต่อสู้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับเขาและครอบครัวได้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยสานความเข้าใจในครอบครัวผ่านท่วงท่าที่ร่ายรำกันบนเบาะผืนเดียวกัน และเชิญชวนมาเป็นครอบครัวเดียวกัน ในโรงฝึกแสนอบอุ่น พร้อมด้วยมิตรภาพที่ยินดีมอบแก่ผู้มาเยือน

DOJOH – Gym x Cafe
ที่ตั้ง : 376/2 ชั้น 1 สลิลธารา คอนโดมิเนียม ซอย 18/1 ถนนพระราม 3 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพ (แผนที่)
เปิดบริการวันจันทร์-พฤหัสบดี, เวลา 13.00 – 22.00 น. และ วันเสาร์-อาทิตย์, เวลา 9.00 – 18.00 น. (ปิดทุกวันศุกร์)
โทรศัพท์ : 08 1771 1833 Facebook : DOJOH