ย้อนกลับเมื่อปี 2544 คมสัน นันทจิต พิธีกรคนดังเคยเขียนถึงศิลปินดูโอ้ Triumphs Kingdom ว่า..

“..มีครั้งหนึ่งผมไปดูรักบี้ที่มหาวิทยาลัยฯ ในสนาม, กองหน้ากอดคอกันเข้าแถวสกรัม ข้างสนาม, กองเชียร์กอดคอกันตะโกน “โบ-จอยซ์ โบ-จอยซ์” คงไม่มีคำจำกัดความอะไรมากไปกว่านี้อีกแล้ว..”

แต่สิ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงคือผ่านมาสิบกว่าปี บทเพลงของสองสาวอย่าง ผ้าเช็ดหน้า, อย่าเข้าใจฉันผิด, อยู่นานนานอีกนิด, อ้วน, ถอด หรือ ล่ำบึ้ก ยังคงโด่งดังข้ามเวลาและถูกแสดงตามคอนเสิร์ต หรือแหล่งบันเทิงต่างๆ ไม่เปลี่ยนแปลง

ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของค่ายเพลงเล็กๆ ที่ไม่เหมือนใคร ค่ายเพลงที่นิยามตัวเองเป็นมหานครทางดนตรีสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเติบโตขึ้นใต้ร่มเงาของสังกัดของค่ายอินดี้ในตำนาน Bakery Music

หากนับเวลาที่ผลงานชิ้นแรกของค่ายนี้วางแผง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2541 นี่ก็ครบ 20 ปีพอดิบพอดี

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านไปพูดคุยกับ Mr.Z ‘สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์’ ผู้ก่อร่างสร้าง DOJO CITY และนิตยสาร Katch หนึ่งในวัฒนธรรมป๊อปสำคัญของวัยรุ่นไทยปลายยุค 1990 ถึงต้นยุค 2000

DOJO CITY

 

1

คือ..ความสดใสของวัยรุ่น

DOJO CITY เกิดขึ้นท่ามกลางช่วงที่สถานการณ์ของ Bakery Music กำลังง่อนแง่นที่สุด

หลังเผชิญผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง อัลบั้มที่เคยขายได้ใกล้ล้านชุด ตกมาเหลือเพียงแสนต้นๆ แถมยังมีปัญหากับผู้จัดจำหน่ายที่ไม่ยอมจ่ายเงินค่าขายจนเกือบต้องปิดบริษัทตั้งแต่ปลายปี 2540

ตอนนั้นการออกอัลบั้มสักชุดต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ส่วนใหญ่มักเป็นอัลบั้มรวมฮิต เช่น Bakery on Vacation, Bakery Love, Bakery RareGroove เพื่อประหยัดต้นทุนการผลิต

กระทั่งมาถึงอัลบั้มหนึ่งที่ชื่อ Daydreaming สมเกียรติ เจ้าของผลงานชุด Z-Myx ที่โด่งดัง และหนึ่งในผู้บริหารของ Bakery Music จึงเกิดความคิดอยากทำเพลงสไตล์ใหม่ๆ ที่ตัวเองสนใจ เป็นเพลงวัยรุ่นใสๆ ที่ฉีกจากตลาดเพลงทั่วไป บวกกับได้พบกับนักร้องสาวๆ ที่น่าสนใจหลายคน จึงดึงพวกเธอมาร้องเพลงประกอบอัลบั้มนี้

2 เพลงแรกที่เป็นจุดกำเนิดเพลงสไตล์นี้คือ ดอกไม้ ร้องโดย อาภัสณี ศิริรัตน์อัสดร และ กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร กับ รู้สึกแปลก ร้องโดย อัจฉรา จิตตรัตน์เสนีย์

ผลลัพธ์ที่น่าพอใจจุดประกายให้สมเกียรติไม่อยากทำแค่เพียงเพลงประกอบในอัลบั้มรวมฮิตเท่านั้น แต่ต้องการสร้างศิลปินวัยรุ่นแนวใหม่ที่ค่ายขนมปังดนตรีไม่เคยมีมาก่อน

“สมัยก่อนนี้ เพลงวัยรุ่นมักมีลักษณะเป็นเรื่องแต่งใหม่ไปเลย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ของศิลปิน ฟังแล้วเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตัวเขาเป็นยังไง ขณะที่เราอยากทำเพลงที่มาจากเรื่องจริงๆ ของคนร้อง หรือเป็นไลฟ์สไตล์ของคนที่ร้อง เช่นฉันรักเธอ ฉันชอบเธอ เนื้อหาจะถูกกำหนดแบบนั้น โดยเราตั้งใจให้เป็นเหมือนกระบอกเสียงของวัยรุ่น ที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ พร้อมแฝงความสนุกและกวนๆ ไว้นิดหนึ่ง”

แนวเพลงที่สมเกียรติตั้งใจทำตอนนั้น คือเพลงเต้นรำที่ชื่นชอบเป็นทุนเดิม แต่นำมาปรับให้เข้ากับกลุ่มผู้ฟังที่เป็น Teen Idol อายุระหว่าง 13 – 19 ปี โดย ศิลปินเบอร์แรกก็คือ ‘คิท’ กับ ‘กิ’ สองสาวที่ร้องเพลงดอกไม้ ซึ่งรวมตัวกันในชื่อ Niece

สมเกียรติเล่าให้ทั้งคู่ฟังว่า เขาชอบเสียงเวลาสองคนร้องด้วยกัน รู้สึกว่าพอรวมกันแล้วเป็นเสียงที่เพราะมากเสียงหนึ่ง

“แรงบันดาลใจนี้มีเต็มไปหมด โดยเฉพาะเพลงฝรั่ง เพลงสากล ช่วงยุค 1987 พวก Kylie Minogue, Jason Donovan ส่วนเนื้อไทยเราคิดขึ้นเอง มีพี่บอยเป็นคนเขียนเนื้อ แต่ส่วนเรื่องคอนเซปต์อะไรนี่ ผมจะเป็นคนบอก รวมถึงเวลาไปเจอศิลปินแล้ว ศิลปินก็จะช่วยคิดด้วย”

แม้เวลานั้น สถานการณ์เศรษฐกิจของบริษัทจะไม่สู้ดีเท่าใดนัก แต่ด้วยความเชื่อมั่นในทักษะการมองตลาดของหุ้นส่วนบวกกับความเป็นเพื่อนที่คบหามายาวนาน ทำให้ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ บอสใหญ่ Bakery Music ตัดสินใจสนับสนุนความฝันของสมเกียรติเต็มที่ ประมาณว่า — ‘ทำก็ทำ ลุยก็ลุย’

มีเพียงสิ่งเดียวที่สุกี้กังวลคือความรู้สึกของแฟนเพลง Bakery Music เพราะภาพลักษณ์ของศิลปินวัยรุ่นที่จะทำนั้นต่างจากศิลปินในสังกัดเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง ทั้ง P.O.P, Yokee Playboy, Pause, Tea For Three, ธีร์ ไชยเดช, โจอี้ บอย หรือแม้แต่สายชล ระดมกิจ ซึ่งล้วนแต่สร้างสรรค์งานเพลงขึ้นเอง

ขณะที่ Niece ผลิตจากทีมโปรดักชัน 100 เปอร์เซ็นต์และแนวเพลงก็ยังเด็กกว่ามาก พวกเขาจึงตัดสินใจทำแบรนด์ย่อยใหม่ที่ชื่อ DOJO CITY พร้อมออกแบบโลโก้เป็นตัวหนังสือกราฟิกในบอลลูนคำพูดสีเหลืองสดใส

สุกี้บอกว่า ชื่อนี้มาจากร้านอาหารโปรดของที่ตั้งอยู่บนถนนเซนต์มาร์กในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาเคยพา บอย-ชีวิน โกสิยพงษ์ หุ้นส่วนอีกคนไปรับประทาน แล้วบอยประทับใจจนนำไปใช้เป็นชื่อค่ายย่อยนี้ ขณะที่สมเกียรติเล่าพร้อมเสียงหัวเราะว่า “ความจริง DOJO มันเป็นเสียงกลองดังๆ DOJO CITY ก็เลยเหมือนกับเมืองที่เต็มไปด้วยเสียงแบบนี้ แต่ความจริงแล้วเราไม่ได้คิดอะไรมากหรอกตอนตั้ง”

หากแต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า คือทำอย่างไรให้ศิลปิน Teen Idol ประสบความสำเร็จ!!

สมเกียรติเชื่อว่าต้องใช้สื่อที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย เช่นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้แต่สิ่งพิมพ์ เขาเลยผลักดันนิตยสารเล่มใหม่ออกมาเจาะกลุ่มวัยรุ่นเป็นการเฉพาะ ใช้ชื่อว่า Katch

DOJO CITY

“ตอนแรกสุกี้ยังไม่เชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็น DOJO หรือ Katch ทุกคนเลยต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อผลักดันให้งานออกมาได้ เพราะเราเชื่อมั่นว่าทั้งสองส่วนนี้มันน่าจะไปได้ดี ถึงแม้ว่า Katch จะเริ่มจากจุดที่เจ๊งแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำหนังสือสักเล่ม ไม่มีทางได้กำไรตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ต้องรอถึงเล่ม 3 หรือเล่ม 4 สปอนเซอร์ถึงได้เข้ามาแบบน่าอุ่นใจ และกลายมาเป็นมีเดียให้กับเทปของเราไปอย่างเต็มตัว”

Katch มีกลิ่นอายของนิตยสารวัยรุ่นญี่ปุ่น เป็นส่วนผสมกับแฟชั่นกับการ์ตูน ซึ่งครึ่งหลังนี้เป็นความสนใจส่วนตัวของบอย โดยก่อนหน้านี้บอยเคยกรุยทางด้วยการจับมือกับวิบูลย์กิจเปลี่ยน ‘คริสติน’ อดีตแดนเซอร์สาวของโจอี้ บอย ให้กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่สาวมาแล้ว

“ความจริงเราไม่มีโมเดลอะไรเลย ที่สำคัญมันไม่ใช่ความถนัดด้วย เพราะผมเป็นคนทำเพลง แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าอยากทำข้อมูลที่เกี่ยวกับแฟชั่น ให้หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนไบเบิลด้านแฟชั่นของวัยรุ่นในการแต่งตัว นำข้อมูลฝั่งยุโรป อเมริกา หรือประวัติของแฟชั่น มาย่อยให้เข้าใจง่าย เข็มขัดแบบนี้มายังไง แต่ละเล่มก็จะมีธีมของตัวเอง

“อีกอันหนึ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนคือ On the Street (คอลัมน์รวมภาพวัยรุ่นสยามสแควร์ที่มีสไตล์แต่งตัวไม่เหมือนใคร) เพราะเมื่อก่อนวัยรุ่นจะไม่ค่อยกล้าแต่งตัว ไม่รู้อันไหนใช่-ไม่ใช่ On the Street ก็เหมือนเป็นพื้นที่ให้ ถ้าคุณแต่งดี แต่งเป็น คุณได้ลงนะ ตรงนี้น่าจะมีส่วนช่วยให้ Katch เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงเพลง DOJO ด้วย พูดง่ายๆ คือทุกอย่างรวมกันหมด”

Katch ฉบับปฐมฤกษ์จึงมีสองสาว Niece ขึ้นปก วางแผงในช่วงไล่เลี่ยกับการปล่อยอัลบั้มแรก คือต้นพฤศจิกายน 2541

ผลจากการทดลอง สองสาวได้เสียงตอบรับที่ดีพอสมควร โดยเฉพาะเพลง บีบมือ และ ไปพัก ทว่าในแง่ยอดขายแล้วกลับสวนทาง แต่นั่นก็ไม่ทำให้สมเกียรติและทีมงานท้อเลย พวกเขายังคงรู้สึกสนุกและอยากเดินหน้าตามหนทางที่เชื่อต่อไป

“ผมคิดว่าวัยรุ่นไทยเป็นวัยที่รับอะไรได้เร็วมาก เมื่อก่อนอาจจะรู้จักแต่สามเหลี่ยม ตอนนี้มีสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม วงกลม อะไรเยอะแยะเข้ามาจนเขาหยิบมาใช้สอยไม่ถูก และอ่านไม่ออกว่าแต่ละอย่างมีพื้นฐาน มีค่าความหมายอย่างไร ผมรู้สึกว่าวัยรุ่นไทยขาดคนที่มาบอกเขา ทั้งการศึกษาและสไตล์ยังน้อยเกินไป

“โอเค เราทำเพลงขายให้เขา ทำหนังสือขายให้เขา แต่เราก็ขายด้วยความพยายามให้ข้อมูลไปด้วย เช่นต้องการให้เขารู้ว่า นี่คือเพลงยุค 60 แน่นอนว่าพวกเขาขายของ แต่สิ่งที่เขาจะได้คือที่มาที่ไปของงานแต่ละอย่าง คือเราทำงานเป็นธุรกิจแต่เขาจะต้องได้อะไรจากเราด้วย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมทุกคนจึงอยากทำต่อ แม้ช่วงแรกจะขายไม่ค่อยดีก็ตาม”

 

2

Center Point Culture

“สองคนนี้จะทำงานได้เหรอ” คือสิ่งที่สุกี้ถามสมเกียรติเมื่อเขาพา 2 สาว โบ-สุรัตนาวี สุวิพร กับ จอยซ์-พรพรรณ รัตนเมธานนท์ มาแนะนำว่าทั้งคู่กำลังจะเป็นศิลปินลำดับที่ 2 ของ DOJO CITY

DOJO CITY DOJO CITY

“ความจริงสุกี้เคยเห็นทั้งคู่มาบ้าง เพราะน้องๆ พวกนี้ก็มาเรียนพิเศษที่สยาม วันที่แนะนำ สุกี้ถามว่าเอาจริงเหรอ ผมบอกเอาจริงก็ลองทำเพลงกันเลย พอเขาเห็นความเป็นธรรมชาติ ไม่กลัวอะไร ร้องแล้วดูสนุกก็เลยโอเค”

จุดเด่นสำคัญศิลปิน DOJO ไม่ได้อยู่ที่เสียงร้องที่ไพเราะหรือความสมบูรณ์แบบ แต่คือบุคลิกและสไตล์ที่สะท้อนความเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นได้ ดังเช่นที่บอย โกสิยพงษ์ เคยเปรียบนักร้องกลุ่มนี้เป็นเหมือนสาวข้างบ้านที่มาร้องเพลงให้ฟัง บางคนแค่ร้องเพลงได้ หูไม่เพี้ยน มีทัศนคติดี ก็สามารถปั้นได้แล้ว

หากไม่นับกรณีของคริสติน นักร้องส่วนใหญ่ที่เข้ามามักผ่านคนใกล้ชิด อย่าง โบ-จอยซ์ ก็เป็นเพื่อนแก๊งเดียวกับน้องชายของสมเกียรติ และก่อนหน้านี้จอยซ์ยังเคยแสดง MV เพลง ทางออก ช่วงที่เขาทำอัลบั้ม Zequence เมื่อปี 2538 ด้วย

ส่วน H มาจากการที่สมเกียรติรู้จักกับ แอนนี่-มณทิราภา รัตตะกุญชร แล้วแอนนี่ก็รู้จัก พลอย หอวัง ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่โรงเรียนรุ่งฤดีอีกที จึงชักชวนมาร่วมทำโปรเจกต์ด้วยกัน ตอนหลังก็ได้ กิ๊ฟ-กุศลิน โควหกุล ซึ่งสมัครคัดตัวเป็นแดนเซอร์ให้โจอี้ บอย มาเสริมกลายเป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่มีหลายคาแรกเตอร์ ทั้ง Honey Homey และ Happy ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวง

ศิลปินบางคนดึงมาจากนางแบบปกนิตยสาร Katch ตรงนี้ถือเป็นความโชคดีเพราะ Bakery Music ช่วงนั้นตั้งอยู่ตรง Center Point กลางสยามสแควร์พอดี ทำให้มีโอกาสเจอวัยรุ่นที่น่าสนใจมากมาย คนดังๆ ที่เคยขึ้นปก Katch มาแล้วก็อย่างเช่น บอลลูน-พินทุ์สุดา ตันไพเราะห์, กิ๊ฟท์ซ่า-ปิยา พงศ์กุลภา และ กิ๊บซี่-วนิดา เติมธนาภรณ์

แต่ส่วนใหญ่คนที่เข้าตาและถูกดึงมาอยู่ DOJO ต้องมีความโดดเด่น มีไหวพริบ กล้าแสดงออก และเป็นตัวของตัวเอง เช่น ‘ออย Shocking Pink’ วันศิริ โภคกุลกานนท์ ซึ่งย้อมผมเป็นสีชมพู หรือ พิงค์-พรเพ็ชร์ วิริยะวงศ์ไพศาล กับ ปุ๋ย-อังคณา สุระเรืองชัย จาก Mr.Sister รวมถึง โน้ต-ณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล ซึ่งสมเกียรติทาบทามไว้ตั้งแต่แรกๆ แต่เธอไปเรียนต่อเมืองนอกพอดี และพอกลับมาเป็นช่วงที่ DOJO ใกล้ปิดแล้ว จึงหันมาออกอัลบั้มโน้ต-ตูน ในสังกัด Sony Music แทน

DOJO CITY DOJO CITY

“เราจะดูตั้งแต่เดินเข้ามาเลย บุคลิกแรกที่เห็น หน้าตาไม่ใช่จุดเด่น แต่จะดูวิธีพูด วิธีเดิน ดูว่าแรงดึงดูดของเขาคืออะไร อย่างบางคนมาถึงแล้วเอาแต่เล่นเกม เราก็ไม่เอา จากนั้นจึงสัมภาษณ์อย่างละเอียด ทั้งมุมมองต่อสังคม พ่อแม่พี่น้อง และความสนใจส่วนตัวต่างๆ บางทีก็เป็นคำถามเชิงจิตวิทยา เช่น ระหว่างโกหกกับพูดจริง ชอบแบบไหนมากกว่า แล้วผมก็จะดึงเอาสิ่งที่เป็นตัวเขาเองนั่นแหละออกมาเป็นงาน”

จากสัมภาษณ์ก็มาสู่ขั้นตอนทำเพลงเดโม เพื่อทดสอบทักษะการร้องเพลง ส่วนใหญ่เป็นการทำกันแบบสดๆ โดยสมเกียรติจะวางคอนเซปต์ให้แล้วทีมงานก็แต่งทันที อย่าง Triumphs Kingdom ได้ร้องเพลง อย่าเข้าใจฉันผิด ขณะที่ Niece ได้ร้องเพลง บีบมือ ซึ่งบอย โกสิยพงษ์ ดัดแปลงมาจากเพลงสปอตที่แต่งให้คลื่นคนดนตรีอีกที

“ตอนนั้นยังไม่มีท่อน Verse เลย ผมก็บอกให้น้องสองคนไปเดินช้อปปิ้งกันก่อน แล้วก็เอาเพลงนั้นมาเปลี่ยนเนื้อนิดหน่อย พอน้องเขากลับมา เราก็แต่งเสร็จพอดี” บอยเคยให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของเพลงฮิตที่กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว Niece

หลังจากนั้นก็มาถึงขั้นพัฒนาศักยภาพ ทั้งการร้องการเต้น หนึ่งในครูสอนร้องเพลงก็คือ ‘โจ้ Pause’ อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ รวมถึงวางคาแรกเตอร์ของศิลปินว่าควรเป็นเช่นใด เช่น H ถูกกำหนดธีมให้เป็นสายลับ เนื่องจากมีความเป็นเด็กซนอยู่ในตัว พร้อมให้ทีม B.Boyd Characters ทำการ์ตูนออกมาสนับสนุนเพื่อลงในนิตยสาร Katch

ขณะที่สไตล์การแต่งกายหรือแฟชั่น ทีมงานไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมาก เพราะต้องการเน้นความเป็นตัวเองมากที่สุด เช่น โบ-จอยซ์ ก็สวมสายเดี่ยว เกาะอก กางเกงขาสั้น รองเท้าส้นตึก มาตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกับสมเกียรติ

“เราไม่เคยยัดเยียดว่าน้องต้องเป็นอย่างไร มีอะไรก็คุยได้หมด อย่างช่วงแรก TK เราก็ไม่นึกว่าเขาจะกล้าใส่ ตอนนั้นก็ถามว่าที่บ้านไม่ว่าอะไรเหรอ เขาก็บอกว่าไม่ว่าอะไร แล้วเราเองก็ไม่รู้สึกว่ามันเป็นอะไรด้วย ก็เลยให้ใส่เลย”

หลัง Triumphs Kingdom ชุดแรกวางแผง เกิดปรากฏการณ์แฟชั่นสายเดี่ยวระบาดหนักในหมู่วัยรุ่น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวอย่าง Center Point หรือ RCA เช่นเดียวกับยอดขายกว่าแสนชุดที่ช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ของบริษัทที่กำลังย่ำแย่ให้กระเตื้องกลับมาได้ แม้ไม่สามารถล้างหนี้ก้อนใหญ่ได้ก็ตาม

แต่อีกมุมความโด่งดังกลับเป็นดาบสองคม เพราะมีผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รวมถึงคอลัมนิสต์ชื่อดังหลายคนออกมาโจมตีถึงความไม่เหมาะสมในการแต่งกายของศิลปินสาว

“พอมี TK เกิดขึ้นก็มีกระแสออกมาทันที แรกๆ ก็รู้สึกสนุกดี เหมือนเป็นความเคลื่อนไหวของ Pop Culture ในบ้านเราที่วัยรุ่นหันมาแต่งตัวอย่างนี้หมด แต่พอยิ่งพูดๆ ไปก็ยิ่งมีคนมายุ่งวุ่นวายมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบจะเป็นเรื่องการเมืองไปเลย”

แต่เนื่องจากสมเกียรติและทีมงานเลือกใช้วิธีประนีประนอม น้อมรับคำติชมพร้อมปรับปรุงโดยทันที สถานการณ์จึงคลี่คลายได้ด้วยดี และทำให้อัลบั้มชุดถัดมา ซึ่งออกห่างจากชุดแรกไม่ถึงปี สองสาวถูกวิพากษ์วิจารณ์น้อยลง

ในชุดที่ 2 Twice TK ของ Triumphs Kingdom นอกจากใช้นิตยสาร Katch ช่วยประชาสัมพันธ์แล้ว ยังเป็นช่วงที่ Bakery Music เริ่มทำรายการโทรทัศน์ของตัวเองเป็นครั้งแรก ชื่อรายการ Katch Up ออกอากาศทาง ททบ.5 ภายใต้การสนับสนุนของพันธมิตรรายใหม่ BMG จากนั้นจึงตามมาด้วย Nothing Special และ โบ-จอยซ์ ปี 1 ส่งผลให้อัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง และกลายเป็นอัลบั้มขายดีชุดหนึ่งที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทได้อย่างแท้จริง

“ตอนอัลบั้ม 2 มีจดหมายของฝากส่งมาที่บ้านเยอะมาก.. โบแบบ ‘เฮ้ย! ส่งมาทำไม ทำไมมาดูแลฉันขนาดนี้.. บางคนแม่เขาโทรมาบอกว่าลูกมารออยู่ที่หน้าบ้านโบ โบก็บอกว่า ‘โอเค ไม่ต้องห่วงนะคะ เดี๋ยวจัดการให้’ แล้วโบก็พาน้องเขาไปส่งที่บ้าน คือมันมีคนที่เขาเป็นห่วงอยู่นะ” โบ TK เคยให้สัมภาษณ์ไว้ช่วง 10 ปี Bakery Music

หากแต่เรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบ คือนอกจากศิลปินสาวๆ สมเกียรติยังเคยมีแผนปั้นนักร้องชายด้วย แต่เพราะความไม่ลงตัวบางอย่าง ความฝันนี้จึงไม่เคยเกิดขึ้นจริง

“เพลงผู้ชายทำยากกว่ามาก เพราะผู้หญิงนี้จะค่อนข้าง Universal ขณะที่ผู้ชายจะมีเรื่องเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่รู้ แต่ก็พอมีภาพในหัวอยู่เหมือนกัน ตอนนั้นอยากทำคล้ายๆ วง Take That ซึ่งมีความโซลอีกแบบหนึ่ง แล้วก็จะต้องมีความเป็นเพื่อน มีบุคลิกความเป็นหนุ่ม แต่ต้องไม่แมนมากเกินไป” อดีตผู้บริหารค่าย DOJO CITY เล่าเรื่องพร้อมรอยยิ้ม

 

3

made in DOJO CITY

DOJO CITY DOJO CITY DOJO CITY

เพราะความตั้งใจสูงสุดของสมเกียรติคือการผลิตเพลงที่สะท้อนตัวของวัยรุ่นมากที่สุด เขาจึงพิถีพิถันกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ผลงานกว่า 80 เพลง จาก 6 ศิลปิน ทั้ง Niece, Triumphs Kingdom, H, Kristin, OIL และ Mr.Sister ไม่ว่าจะเป็น ความลับ, ผ้าเช็ดหน้า, ไปพัก, บีบมือ, ไม่รู้, สุดสัปดาห์, ต่อให้ใครไม่รัก หรือ อาม่าดุ ยังคงเป็นที่จดจำของผู้คนถึงทุกวันนี้

เบื้องหลังความสำเร็จนี้เกิดจากทีมนักแต่งเพลงมืออาชีพที่มารวมตัวกันในชื่อ Team Darling สมาชิกก็มาจากเหล่าศิลปินใน Bakery Music นั่นเอง ทั้ง บอย โกสิยพงษ์, โป้ Yokee Palyboy ปิยะ ศาสตรวาหา, บอย Friday ตรัย ภูมิรัตน, โต้ง P.O.P มณเฑียร แก้วกำเนิด, นภ พรชำนิ, โตน Pixyl จักรธร ขจรไชยกูล และ ไพรัช นรินทรางกูร โดยมี Mr.Z ทำหน้าที่กำกับ วางคอนเซปต์และให้โจทย์ว่าอยากได้เพลงแบบใดอีกที

“ถ้าผมไม่คอยดู เนื้อเพลงก็จะไม่เป็นก้อน คนแต่งเพลงก็นึกไม่ออกว่าควรเขียนมาแบบไหน สมมติว่าต้องการความรู้สึกคิดถึงก็ต้องบอกให้ชัดเจน เช่น บอยตรัย..พี่ขอเพลงคิดถึงแบบเสียดายที่ไม่ได้เจอ ซึ่งถ้าไม่ได้สโคป งานก็จะออกมาไม่ชัดว่าเราต้องการพูดอะไร แค่ไหน หรือไม่โฟกัสถึงอารมณ์นี้จริงๆ ซึ่งตอนหลังๆ เขาจะรู้เลยว่าเราต้องการอะไร บางทีก็ถามกลับมาเลยว่าคิดถึงแบบเจอกันกี่ครั้งนะพี่!!”

บางทีทีมงานก็ใช้วิธีให้ศิลปินลองเขียนไดอารี่มาให้อ่าน จากนั้นจึงแต่งเนื้อตาม แม้บางครั้งคนภายนอกอาจตีความว่าเกินวัยไปหน่อย แต่สมเกียรติกลับมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นความรู้สึกที่มีอยู่จริง และเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น  

“ผมให้ความสำคัญ แต่เนื้อหาก็ต้องมาจากตัวตนของเขาด้วย มาจากสิ่งที่เป็นชีวิตวัยรุ่น ซึ่งทุกเพลงที่เขียนมาเป็นเรื่องของวัยรุ่นที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราไปอุปโลกน์ให้เป็น”

ตัวอย่างเช่น เพลง อยู่นานๆ อีกนิด สมเกียรติวางโจทย์ว่า อยากได้เพลงที่ฟังแล้วโดนใจคนเที่ยวกลางคืน ฟังแล้วรู้สึกสนุก อยากไปเที่ยว อยากเต้นรำตลอดทั้งคืน โดยเขาเอาแนวเพลงมาให้บอยฟังด้วย แต่ปัญหาคือบอยเป็นคนไม่เที่ยว เลยหันกลับไปถามสมเกียรติว่า เวลาคนไปเที่ยวชอบพูดอะไรกัน ซึ่งคำหนึ่งเขาที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือ ‘อยู่นานๆ อีกนิด’ สุดท้ายวลีก็ถูกต่อยอดและพัฒนากลายเป็นเพลงที่ทุกคนได้ยินกันนั่นเอง

ทว่าด้วยรูปแบบของการทำงานแบบนี้ จึงทำให้ศิลปินบางคน เช่น นาเดีย สุทธิกุลพานิช ไม่สามารถอยู่ภายใต้แบรนด์ DOJO CITY ได้ เนื่องจากแนวเพลงและเนื้อหาที่เล่านั้นต่างจากศิลปินอื่นๆ มาก

“คอนเซปต์เพลงของนาเดียจะอาร์ตๆ หน่อย อย่าง Galaxy of love เป็นนามธรรมมาก เป็นชุดที่จินตนาการสุดๆ ซาวน์ดนตรีก็เป็นเหมือนฝัน ดูเกินจริง มิวสิกวีดิโอก็ดูไม่ค่อยชัด เพราะต้องถ่ายเมืองนอก ให้เพื่อนเขาถ่ายส่งมา ขณะที่ DOJO เนื้อเพลงก็เล่าแบบตรงไปตรงมา เป็นรูปธรรมชัดเจน”

ส่วนในภาคดนตรี สมเกียรติใช้วิธีผสมผสานสิ่งที่ตัวเองสนใจลงไป บางครั้งเขาต้องเดินทางไปสัมผัสว่ากระแสนิยมดนตรีของโลกไปในทิศทางไหน รวมถึงเดินทางไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แวะที่ละนิดละหน่อย เพื่อให้รับรู้และซึมซับบรรยากาศ

อย่างเพลง อย่าเข้าใจฉันผิด เขาได้แรงบันดาลใจจากเพลง Latin Lover ซึ่งได้ยินตามสถานที่ท่องเที่ยวยามราตรี พอฟังก็รู้สึกว่าต้องโดนใจขาแดนซ์แน่ๆ เลยนำมาดัดแปลงให้ดนตรีแน่นขึ้น เป็นสามช่าที่ดูสะบัดๆ เหวี่ยงๆ จากนั้นก็ให้จอยซ์มาแร็พเสริมเข้าไปในเพลง ซึ่งน้ำเสียงที่ห้าวของจอยซ์นั้นไปสอดรับกับเสียงของโบซึ่งเป็นตัวหลักอย่างมาก กลายเป็นเสน่ห์และความลงตัวที่พอดี

อย่างเพลง ผ้าเช็ดหน้า เวลานั้นสมเกียรติกำลังทำอัลบั้ม ตัวฤทธิ์ ให้โจอี้ บอย แร็พเปอร์หนุ่ม เลยเสนอไอเดียว่าเพลงจีนที่ชื่อ เย่ไหลเซียง ของ เติ้งลี่จวิน น่าสนใจ เขาจึงให้บอยช่วยเขียนเนื้อให้ ซึ่งบอยก็แปลงเนื้อจาก ดอกไม้ราตรี มาเป็น ผ้าเช็ดหน้า รวมทั้งยังนำดนตรีละตินเข้ามาเสริมทำนองจีน

สมเกียรติยังจำได้ดีว่า เพลงนี้แก้อยู่หลายรอบมาก แต่ผลของความยากลำบากนั้นก็ทำให้เพลง ผ้าเช็ดหน้า ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นหนึ่งในเพลงที่ฮิตที่สุดในประวัติศาสตร์ของ DOJO CITY ติดหูจนทุกคนร้องตามได้ และยังได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

4

จะไม่ลืมที่เรามีกันและกันในวันนี้

DOJO CITY

แต่ถึง DOJO CITY จะเป็นแบรนด์ที่วัยรุ่นในเมืองยุค 2000 จดจำได้อย่างดี รวมถึงนิตยสาร Katch ก็มียอดขายดีขึ้นต่อเนื่อง แต่หลัง Bakery Music เผชิญวิกฤตทางธุรกิจจนต้องขอความช่วยเหลือจาก BMG อีกครั้ง ส่งผลให้บริษัทต้องลดทอนค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง หนึ่งในนั้นคือ การยุบรายการโทรทัศน์ซึ่งใช้เงินลงทุนสูง รวมถึงเลิกผลิตนิตยสารทุกเล่ม

BMG ให้เหตุผลว่า นิตยสารไม่ได้เป็นธุรกิจหลักของบริษัท และต่อให้ทำกำไรเล่มละ 300,000 – 400,000 บาท แต่ก็ยังต้องออกทุนก่อนล่วงหน้า 800,000 – 900,000 บาทอยู่ดี ซึ่งพอมาคิดในหลักการลงทุนแล้วถือว่าไม่คุ้มค่า

สมเกียรติยอมรับว่า ช่วงที่ปิดนิตยสารรู้สึกเสียดายและเหนื่อยไม่น้อย เพราะ Katch เปรียบเสมือนกับลูกที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจดูแลมาตลอด 3 ปีกว่า ที่สำคัญเขายังมีไอเดียเต็มไปหมดที่อยากถ่ายทอดผ่านนิตยสารเล่มนี้

แต่ผลกระทบที่หนักหนายิ่งกว่าคือ  DOJO CITY ขาดสื่อที่จะมาช่วยประชาสัมพันธ์ โดยช่วงนั้นเป็นจังหวะเดียวกับ Triumphs Kingdom กำลังวางแผงอัลบั้มชุดที่ 3 TK Vision พอดี แต่ด้วยความโชคดีที่ตัวศิลปินเองมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น และหลายเพลงก็โดนใจกลุ่มผู้ฟัง ทั้ง ถอด และ ล่ำบึ้ก จึงประคองสถานการณ์และผ่านพ้นมาได้

ทว่าหลังจบอัลบั้มนี้ พร้อมมีการประกาศแยกตัวของโบ-จอยซ์ ปิดตำนานเจ้าแม่สายเดี่ยวลง DOJO CITY ก็ถึงคราวต้องหยุดพักครั้งใหญ่ ท่ามกลางกระแสการปิดค่ายที่หนาหูขึ้นเรื่อยๆ

หากแต่สมเกียรติก็ยังคงไม่หยุดฝัน แม้มีปัญหาให้ต้องรับมือตลอด ทั้งเรื่องเครื่องมือโปรโมต รวมถึงทีมงานเพราะหลายคนเริ่มติดพันการทำผลงานของตัวเอง เช่น บอยตรัยเตรียมทำ Friday ชุดที่ 2 ส่วนโป้ทำ Yokee Playboy ชุดที่ 4 ขณะที่โตนก็เตรียมฟอร์มวงใหม่ชื่อ Sofa แต่ด้วยความตั้งใจ ในที่สุดต้นปี 2545 เขาก็สามารถผลักดันศิลปินน้องใหม่ Mr.Sister ออกมาได้สำเร็จ

แต่หลังโปรโมตได้ไม่นานก็ได้รับข่าวร้าย เนื่องจากผู้ถือหุ้นมองว่าผลประกอบการของ DOJO CITY ไม่ดีเท่าที่ควร จึงสั่งยุบค่าย ส่งผลให้ศิลปินอีกวงที่เตรียมออกผลงาน อย่าง Swoosh ซึ่งตอนนั้นเริ่มปล่อยผลงานบ้างแล้ว ต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย ก่อนที่ภายหลังจะแปลงร่างเป็น Ladies Mafia ภายใต้สังกัดใหม่ Sony Music Bec Tero

ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา DOJO CITY และ Katch ถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สะท้อนตัวตนของวัยรุ่น Generation Y ซึ่งพร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่อยู่ตลอด ทั้งแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยี และความบันเทิง อย่างแท้จริง

รวมทั้งเป็นพื้นที่แรกๆ ที่ทำให้คนคุณภาพจำนวนมากมีโอกาสได้แสดงฝีมือ ทั้ง บอย-ตรัย ภูมิรัตน นักแต่งเพลง เจ้าของนามปากกา Zentrady ซึ่งวันนี้กลายเป็นนักแต่งเพลงฝีมือเยี่ยมที่หลายคนต้องการตัว มาเรียม เกรย์ อดีตคอรัสที่มายืนอยู่แถวหน้าในฐานะนักร้องวง B5 รวมถึง วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดการ์ตูนธรรมดาๆ ที่เริ่มต้นผลงานชุด hesheit ใน Katch จนปัจจุบันโด่งดังไปไกลญี่ปุ่นจากการ์ตูนเรื่องมะม่วงจัง

สำหรับสมเกียรติแล้ว ทั้งสองแบรนด์คือหนึ่งในสิ่งที่เขาภูมิใจมากที่สุดในชีวิต และมีความสุขทุกครั้งเมื่อย้อนนึกถึง

“นี่เป็นช่วงเวลาที่แฮปปี้สุด เพราะเราได้เริ่มต้นในสิ่งใหม่ๆ แน่นอนว่ามันอาจมีข้อจำกัดบ้าง แต่ก็ทำให้เราตั้งใจมุ่งมั่นมากขึ้น ซึ่งความกดดันนี่แหละที่ทำให้ได้งานออกมาได้อย่างที่ต้องการ”

ไม่ต่างจากแฟนเพลงทุกคนที่เติบโตมาในยุคเดียวกัน และเชื่อว่าเมื่อเสียงเพลงจากสาวๆ ข้างบ้านกลุ่มนี้ดังขึ้น พวกเขาก็คงรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปในความทรงจำอันแสนสุขนั้นอีกครั้งหนึ่ง

เรียบเรียงจาก

  • บทสัมภาษณ์คุณสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562
  • นิตยสาร GM ปีที่ 14 ฉบับ 235 เดือนกุมภาพันธ์ 2543
  • นิตยสาร 375 ํF BAKERY MUSIC MAGAZINE ฉบับที่ 5 เดือนกรกฎาคม 2547 – ฉบับที่ 9 พฤศจิกายน 2547
  • นิตยสาร a day ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 เดือนกุมภาพันธ์ 2544
  • หนังสือ BAKERY & I ชีวิต ดนตรี และเบเกอรี่ ผ่านสายตาของสุกี้ โดย กมล สุโกศล แคลปป์
  • Facebook Boyd Kosiyabong

 

ภาพประกอบ

  • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา
  • นิตยสาร Katch
  • นิตยสาร Manga Katch

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว