‘ถ้าจะเท่ ยุคไหนก็ยังเท่’

เป็นความรู้สึกแรกเมื่อได้เห็นรองเท้าคอลเลกชันใหม่ล่าสุดจาก DoiTung x Onitsuka Tiger ที่อวดลวดลายของผ้าทอมือลงบนรองเท้า Onitsuka Tiger แบรนด์เก่าแก่ของญี่ปุ่นได้อย่างเท่ไม่หยอก เชื่อว่าใส่แล้วไม่เชย แม้ว่าจะเป็นการโคจรมาเจอกันของสองแบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานก็ตาม

ดูเหมือนว่าการรวมตัวกันครั้งนี้จะทำให้รองเท้ารุ่น Mexico 66 จาก ค.ศ. 1966 จับมือกับผ้าทอไทย เดินไปกับยุคสมัยได้อย่างไม่ขัดเขิน

DoiTung x Onitsuka Tiger เมื่อผ้าทอมือไทยไปอยู่บนรองเท้าสัญชาติญี่ปุ่นอายุ 72 ปี

ชวนเพื่อนมาทำรองเท้า

เราได้รับแรงบันดาลใจจากโปรเจกต์ DoiTung & Friends ที่ประสบความสำเร็จ จึงทำให้เรากล้าเดินไปออกไปหาเพื่อนใหม่ในระดับอินเตอร์ อย่าง Onitsuka Tiger เพื่อจัดทำโปรเจกต์พิเศษในครั้งนี้

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ อาสาพาเราไปทำความรู้จักและเล่าเรื่องเพื่อนใหม่คนนี้ให้เราฟัง

“ผมชอบรองเท้า Onitsuka Tiger มาก เพราะใส่สบายและเป็นรองเท้าที่ยูนีค เขามีโมเดลคงกระพัน และมีวิธีประยุกต์โมเดลด้วยการใช้สีสันต่างๆ จะเห็นได้ว่าคนไทยเดินเข้าช็อปแบรนด์นี้ที่ญี่ปุ่นเยอะมาก เราเลยคิดว่านี่เป็นแบรนด์ที่น่าร่วมงานด้วย ไม่มีอะไรต้องเสียอยู่แล้ว เลยพยายามติดต่อไป”

ทว่าเพื่อนคนนี้ไม่ใช่คนที่จะเจอตัวกันได้ง่ายๆ หลังจากที่เสาะหาทางเข้าไปทำความรู้จักอยู่นาน ฟ้าก็เริ่มเปิดทางให้ โดยมีกงสุลใหญ่ของเมืองโอซาก้าอาสาเป็นแม่สื่อแม่ชัก พาดอยตุงจากเหนือสุดแดนสยามมาเจอกับเสือโอนิซึกะจนได้ จากน้ำเสียงของเขา เราเชื่อว่าการพบกันครั้งแรกนั้นน่าประทับใจและเป็นไปได้ด้วยดี

“ผมถือกระเป๋าเดินเข้าไปในออฟฟิศคนเดียว นั่งรอในห้องประชุมสักพัก เขาก็เดินมานั่งคุยด้วย สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจมากๆ คือตอนที่เขาเดินเข้ามาหาผมพร้อมกับกระดาษแผ่นหนึ่ง เป็นภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ฉลองรองเท้า Onitsuka Tiger พอเขารู้ว่าเราเป็นโครงการของสมเด็จย่า เขาเลยสนใจจะทำร่วมกับเรา นี่คือจุดเริ่มต้น” เขาเล่าให้เราฟัง

ใช้รองเท้ากีฬาเยียวยาหัวใจคนในชาติ

ค.ศ. 1949 หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประชากรชาวญี่ปุ่นต่างก็บอบช้ำจากเหตุการณ์ครั้งนั้น Onitsuka Tiger เป็นแบรนด์รองเท้ากีฬาแบรนด์แรกของญี่ปุ่นที่ถือกำเนิดขึ้น ด้วยความตั้งใจของนายทหาร คิฮะชิโร โอนิซึกะ (Kihachiro Onitsuka) วัย 32 ปี ผู้อยากให้รองเท้าบาสเกตบอลที่เขาออกแบบมีส่วนช่วยให้กีฬาในประเทศกลับมาเฟื่องฟู Onitsuka Tiger จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยความหวังที่อยากเยียวยาหัวใจคนญี่ปุ่น และผนึกคนในชาติให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

DoiTung x Onitsuka Tiger เมื่อผ้าทอมือไทยไปอยู่บนรองเท้าสัญชาติญี่ปุ่นอายุ 72 ปี

“เรามีความเชื่อในผู้คนเหมือนกัน Onitsuka Tiger ต้องการสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ผ่านกีฬา DoiTung เองก็ทำเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้ทำเรื่องกีฬาหรือออกแบบรองเท้า เราพัฒนาคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม สร้างความยั่งยืนให้กับคนในพื้นที่ด้วยการสร้างรายได้ที่มั่นคง เราเอากำไรที่ได้ไปเติมเต็มเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ปรับปรุงการเรียนการสอน พอยิ่งศึกษาเข้าไปเรื่อยๆ เราก็ยิ่งเห็นจุดที่ทั้งสองแบรนด์ใกล้เคียงกัน” 

เมื่อทั้งคู่ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน มีเรื่องราวเบื้องหลังคลายคลึงกัน โปรเจกต์สนุกๆ บนความเชื่อเดียวกันจึงถือกำเนิดขึ้น

มกราคม 2563 Onitsuka Tiger มาเยือน DoiTung ที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก และแลกเปลี่ยนเรื่องผ้ากันอย่างออกรส หลังจบบทสนทนาในวันนั้น แบรนด์ญี่ปุ่นเห็นว่าสิ่งพวกเขากำลังมองอยู่นั้นคือเป้าหมายเดียวกัน จากที่แรกเริ่มตั้งใจวางขายรองเท้าแค่ในไทย สุดท้ายก็ตัดสินใจพารองเท้าผ้าทอไปวางอยู่ในทุกสาขาทั่วโลก

DoiTung x Onitsuka Tiger เมื่อผ้าทอมือไทยไปอยู่บนรองเท้าสัญชาติญี่ปุ่นอายุ 72 ปี

รองเท้าผ้าทอคู่แรกของ Onitsuka Tiger 

รองเท้า 2 คู่ ถือเป็นรองเท้ารุ่นลิมิเต็ดเอดิชันที่วางจำหน่ายเฉพาะในไทยเท่านั้น คือ MEXICO 66™ ซึ่งเป็นรองเท้าที่คลาสสิกที่สุดของแบรนด์ ออกแบบใหม่ด้วยการปักลายเสือสีดำและโลโก้แบรนด์ลงไปแบบเรียบๆ ความพิเศษของสองคู่นี้คือใช้ผ้าทอจากเส้นใยพลาสติก PET รีไซเคิลทั้งหมด 

ส่วนอีก 3 คู่ ถูกอวดโฉมทั้งในไทยและเดินทางไปโชว์ในช็อปทั่วโลก คือ MEXICO 66™, MEXICO 66™ PARATY และ SERRANO ที่เหล่าดีไซเนอร์เปลี่ยนลายพาดสีน้ำเงินแดงสุดคลาสสิกให้กลายเป็นลายปักสีเดิม และใช้เส้นด้ายจากผ้าฝ้ายประหยัดน้ำ (Better Cotton)

จึงถือเป็นความพิเศษสุดที่ประเทศไทยมีรองเท้าคอลเลกชันพิเศษนี้ให้ได้ชมกันถึง 5 รุ่น ในขณะที่ทั่วโลกมี 3 รุ่น 

“ผมคิดว่า Onitsuka Tiger ไม่เคยทำผ้าทอมือบนรองเท้า ความยากมันอยู่ที่ว่า เราจะเอาผ้าของเราไปปักบนรองเท้าได้หรือเปล่า”

การทำรองเท้าจากผ้าทอมือเป็นความท้าทายสำหรับพวกเขา เพราะเบื้องหลังนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องผ้า แต่ยังมีมิติของผู้คน ซึ่งเป็นแรงงานทอผ้าที่ต้องคำนึงถึงเรื่องค่าแรง ค่าล่วงเวลา และต้นทุนของคน อีกทั้งการนำเอาผ้าทอมือไปทำเป็นรองเท้ายังต้องอาศัยเทคนิคใหม่ที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

“มันเป็นกระบวนการที่ต้องเตรียมตัวค่อนข้างนาน ต้องหาคนที่จะเข้ามาทำสิ่งนี้ให้กับเรา เราต้องอธิบายให้ป้าๆ ของเราฟัง ความท้าทายคือ ทำอย่างไรถึงจะเอาผ้าไปทำเป็นรองเท้าได้และต้องทนทานด้วย เวลาเอาผ้าทอมือไปขึงทำรองเท้าแล้วมันตึง ก็มีโอกาสเบี้ยวได้ ยืดได้ ดีไซเนอร์เองก็ต้องเข้าใจว่าต้องดึงผ้ามาทำอย่างไร เพื่อให้ออกมาเป็นรองเท้าแล้วใส่ได้จริง ต้องหาวิธีการและเทคนิคในการทำ”

DoiTung x Onitsuka Tiger เมื่อผ้าทอมือไทยไปอยู่บนรองเท้าสัญชาติญี่ปุ่นอายุ 72 ปี
DoiTung x Onitsuka Tiger เมื่อผ้าทอมือไทยไปอยู่บนรองเท้าสัญชาติญี่ปุ่นอายุ 72 ปี

ตั้งโจทย์ไว้ว่าต้องยั่งยืน

DoiTung เปิดโอกาสให้นักทอผ้าอวดฝีมือลงบนรองเท้าทรงคลาสสิก ได้ออกมาเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของผ้าทอไทย เบื้องหลังของความสวยงามคือโจทย์ที่ทั้งสองแบรนด์ตั้งไว้เหมือนกันเสมอมาคือ ‘ผลิตอย่างไรให้ยั่งยืน’ 

นี่ไม่ใช่รองเท้าที่เล่าเรื่องผ้าอย่างเดียว แต่ยังใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และบอกเล่าวิถีที่ยั่งยืนของทั้งสองแบรนด์ด้วย

“เราตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเราต้องเข้าใจว่าธุรกิจส่วนใหญ่กว่าจะผลิตสินค้าออกมาได้ชิ้นหนึ่ง มันต้องแลกด้วยทรัพยากรค่อนข้างมาก เราทุ่มเทมากในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในกระบวนการการผลิต เพราะถ้าเราไม่ดูแล ทรัพยากรก็จะหมดไปเรื่อยๆ มีไม่พอให้ลูกหลานใช้กันในอนาคต 

“ความยั่งยืนจึงต้องเกิดจากการเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจ เราเลยเลือกใช้ผ้า Better Cotton ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายที่ปลูกแล้วใช้น้ำน้อย ผ้าปริมาณหนึ่งกิโลกรัมจะใช้น้ำน้อยกว่าปกติสามสิบเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือก็เก็บเอาไว้ใช้ในอนาคตได้ เนื้อผ้าที่ทอออกมาก็เหมาะที่จะเอาไปทำรองเท้า

“อีกแบบคือเส้นใยรีไชเคิลจากพลาสติก PET ที่ปกติต้องใช้ทรัพยากรน้ำมันในการผลิตเส้นใยพลาสติก พอเราใช้เส้นใยที่ได้จากการรีไซเคิล เท่ากับว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันในการผลิตเส้นใยนั้น นี่คือมิติความยั่งยืนในการใช้วัตถุดิบทำธุรกิจ วัสดุทั้งสองชนิดก็สอดคล้องกับมิติของ Onitsuka Tiger ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือกัน

 “ส่วนความยั่งยืนในชุมชน โปรเจกต์นี้เป็นการสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ได้ เช่น ถ้าเราทำตรงนี้แล้วมีออเดอร์ มีคนสนใจ คนในพื้นที่โครงการของเราก็จะมีงานทำ โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ที่งานเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เราจะได้ไม่ต้องไปลดเงินเดือนพนักงาน ทำให้เขาสามารถวางแผนชีวิต ว่าจะเติบโตไปในอนาคตได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นแผนในการลงทุน แผนจะส่งลูกเรียนต่อ นี่เป็นสร้างรากฐานของความยั่งยืนให้กับคนในชุมชนได้”

รองเท้าจากผ้าทอมือคอลเลกชันใหม่ เมื่อ ‘DoiTung’ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการผ้าทอ และ ‘Onitsuka Tiger’ รองเท้าแบรนด์แรกในญี่ปุ่น จับมือแปลงโฉมรองเท้ารุ่น Mexico 66 จาก ค.ศ. 1966

เดินไปพร้อมยุคสมัยอย่างไม่ขัดเขิน

เรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับ DoiTung เพราะถือเป็นการร่วมทำงานกับแบรนด์ระดับโลกอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยทำงานร่วมกับแบรนด์ใหญ่หลายแบรนด์ เช่น IKEA, MUJI, Converse และครั้งสุดท้ายที่พวกเขาทำ Collaboration กับแบรนด์รองเท้าก็มากกว่าสิบปีมาแล้ว

“คนรู้จัก DoiTung ในนามแบรนด์แฟชั่น ทำงานเสื้อ งานเซรามิก งานกระดาษสา จริงๆ งานเหล่านี้ที่เราเห็นมันเป็นงานแบบดั้งเดิมที่ได้เห็นทั่วๆ ไป เอากระดาษสามาทำเป็นสมุด เป็นพัด เซรามิกก็เป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน งานหัตถกรรมก็ทำเป็นเสื้อ กางเกงม้ง ผ้าพันคอ ปลอกหมอน แต่พอเราขยับมาทำตรงนี้ คนก็จะเริ่มเห็นแล้วว่ามันมีอะไรแปลกใหม่ เรากำลังพยายามทำให้เกิดความโมเดิร์น

รองเท้าจากผ้าทอมือคอลเลกชันใหม่ เมื่อดอยตุงผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการผ้าทอ และ โอนิซึกะ ไทเกอร์ รองเท้าแบรนด์แรกในญี่ปุ่น จับมือแปลงโฉมรองเท้ารุ่น Mexico 66 จาก ค.ศ. 1966

“นี่คือการเปลี่ยนภาพของ DoiTung จากงานคราฟต์ เราก็ทำให้จับต้องได้มากขึ้น ตอนนี้เรายังทำงานผ้าเหมือนเดิม ทำงานเซรามิกเหมือนเดิม แต่อยากจะทำด้วยวิธีใหม่ๆ เราเลยหวังว่าการร่วมงานกันในครั้งนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรากำลังทำสิ่งใหม่ๆ

“การบริหารธุรกิจอะไรก็ตามมันยากตรงที่ทำสินค้าและบริการอย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ทำเสร็จแล้วไม่มีใครซื้อก็ไปต่อไม่ได้ มันตายเลย พอเรารู้อย่างนี้ก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่าเราจะเข้าไปหาคนเจนวาย เจนซีได้อย่างไร เราพยายามปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ดูทันสมัยและน่าสนใจมากขึ้น การร่วมงานกับ Onitsuka Tiger ก็เป็นหนึ่งทางที่ทำให้เราปรับอิมเมจของตัวเองได้”

“Enjoy the journey”

‘Enjoy the journey’ หม่อมหลวงดิศปนัดดาเชื่อแบบนั้น

“ผม Enjoy the journey เพราะผมได้ทำกับพาร์ตเนอร์ที่ผมอยากทำ เราได้เดินไปหาเขา และเขาก็เปิดประตูรับเราเป็นอย่างดี แล้วเราก็มีความสัมพันธ์ในการทำงานที่ดีมากๆ ตั้งแต่การเดินทางครั้งแรกจนถึงตอนนี้

“ผมไม่อยากให้การทำงานกันจบลงที่ครั้งนี้ครังเดียว อยากจะร่วมงานกันต่อไปอีก สิ่งสำคัญที่สุดคือกระแสตอบรับ เราต้องมานั่งดูว่าวิธีการที่เราทำด้วยกัน แผนที่เราวางเอาไว้ มันตอบโจทย์ลูกค้าหรือเปล่า อาจต้องกลับมานั่งคุยกันอีกว่าปีหน้าจะทำอะไร 

“Onitsuka Tiger ไม่ได้ทำเฉพาะรองเท้า แต่ยังมีแฟชั่นอื่นๆ ด้วย นี่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะทำให้เราเติบโตควบคู่กันไปได้ บนความเชื่อที่เหมือนกัน บนระบบการทำงานที่มีจังหวะที่ดี การทำงานกับบริษัทระดับโลกทำให้เราได้เรียนรู้วิธีและหลักการทำงาน ในมุมมองผม นี่คือการเตรียมตัวที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ ทำอย่างไรให้แบรนด์ของเราไปสู่ตลาดระดับโลกให้ได้

“เรามีความคาดหวังต่อผลลัพธ์ที่จะออกมา มันต้องฮิต คนต้องซื้อ ต้องขายหมด แต่เราก็ควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือสนุกกับการเดินทางทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนที่เราออกแบบ ตั้งแต่เราไปคุยกับเขา จนคิดคอนเซปต์พีอาร์ มันคือสิ่งที่เราทำได้อย่างเต็มที่ และทำให้ดีที่สุดได้ ดีไซเนอร์ของเราทำดีที่สุด ป้าๆ ของเราทำดีที่สุด และเราก็ผสมผสานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างดีที่สุด” 

ทั้งหมดนี้เพื่อให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดอย่างที่ทุกคนได้เห็น

รองเท้าจากผ้าทอมือคอลเลกชันใหม่ เมื่อดอยตุงผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการผ้าทอ และ โอนิซึกะ ไทเกอร์ รองเท้าแบรนด์แรกในญี่ปุ่น จับมือแปลงโฉมรองเท้ารุ่น Mexico 66 จาก ค.ศ. 1966

ภาพ : DoiTung

DoiTung x Onitsuka Tiger

ดูรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่ www.onitsukatiger.com/th

Line ID : @doitung_lifestyle

หรือ Onitsuka Tiger Global Flagship Store สยามสแควร์วัน

Writer

Avatar

ซูริ คานาเอะ

ชอบฟังมากกว่าพูด บูชาของอร่อย เสพติดเรื่องตลก และเชื่อว่าชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะอ่านหนังสือดีๆ ให้ครบทุกเล่ม