ในมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาหนึ่งของวัน ห้องนอนเราสว่างไสวด้วยแสงจากหลอดไฟ ขณะที่สัญลักษณ์ก้อนแบตเตอรี่บนมุมขวาของหน้าจอคอมพิวเตอร์แสดงรูปสายฟ้า เพราะกระแสไฟกำลังวิ่งเข้าเติมอย่างเต็มที่ 

ล่องใต้จากเมืองหลวงไปเจ็ดร้อยกว่ากิโลเมตรทางบก บวกอีกราว 30 นาทีทางน้ำ ณ สถานที่ที่หลายจุดบนเกาะ คนนอกขนานนามว่าเป็นทั้งมัลดีฟส์เมืองไทย Little Amazon หรือแดนสวรรค์แห่งอันดามัน อย่าง ‘เกาะยาว’ จังหวัดพังงา ชาวบ้านที่นั่นกลับเรียกขานถิ่นที่อยู่ของตัวเองว่า ‘ปลายสายไฟฟ้า’ 

เมื่อนอกเวลาทำงานของพระอาทิตย์ เกาะสวรรค์ของคนเยือนไม่ได้สวยหรูสำหรับคนอยู่ จำนวนประชากรและประชากรแฝงที่เพิ่มขึ้น กับการต้องตอบสนองกระแสการท่องเที่ยวทั้งบนเกาะยาวน้อยและยาวใหญ่ ทำให้แสงสว่างบนแดนสวรรค์นี้ติดๆ ดับๆ ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ทั้งกับครัวเรือนและผู้ประกอบการ 

เหล่าบังชาวเกาะนักพัฒนาที่บ้างก็เป็นเกษตรกร บ้างก็ทำธุรกิจส่วนตัว จึงเห็นพ้องต้องกัน ลุกขึ้นมาผันตัวเป็น ‘ช่างแดด’ ผู้เชี่ยวชาญพลังงานแสงอาทิตย์ ในชื่อกลุ่ม ‘Doing เกาะยาว’ ส่งตัวเองเรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาด ทางเลือกซึ่งพวกเขาหมายมาดให้เป็นพลังงานของคนเกาะยาวไปยาวๆ

ไม่เพียงรู้จัก แต่ให้รู้แจ้ง ไม่ใช่แค่เลือกซื้อมาติดหลังคาบ้านถูก แต่ศึกษาจนลงมือทำเป็นตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ซื้อ สำรวจ ติดตั้ง จนซ่อมแซม โดยผนึกกำลังกับสถาบันอาศรมศิลป์ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่เข้ามาช่วยเชื่อมช่างท้องถิ่นกับช่างอาชีพ ติดอาวุธเสริมเป็นความรู้ฉบับ Professional เพื่อพิสูจน์ให้ใครก็ตามข้างนอกนั้นเห็นว่า ชาวเกาะยาวพึ่งพาตัวเองได้ และได้อย่างยั่งยืนเสียด้วย 

ไม่ใช่แค่แสงสว่างเพื่อการอุปโภคจากหลอดไฟที่พ่วงจากแผงโซลาร์เซลล์

ที่เรามองเห็น คือแสงสว่างแห่งความหวังของคนทั้งเกาะยาว

Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด
ทีมช่างแดด Doing เกาะยาว ประกอบด้วย บังหมาด-จเร เริงสมุทร, เดวิท-พงษ์ดนัย นาวีว่อง, บังยา-ดุสิทธิ์ ทองเกิด, บังยัฟ-จรัสพงศ์ ถิ่นเกาะยาว, บังเหรด-สมพงษ์ อุตส่าห์การ และ บังหมาด-ดำรงเกียรติ วงษ์นา

บังแดด

ต้นสายส่งไฟฟ้าก่อนจะถึงบ้านเหล่าบังอยู่ที่ภูเก็ต แล้วจึงแปลงร่างเป็นสายเคเบิ้ลมุดลอดใต้น้ำทะเลสีครามขึ้นมาเกาะยาว อายุอานามของอุปกรณ์ ปีนี้ก็ปาเข้าไป 25 ปีแล้ว บังยัฟ-จรัสพงศ์ ถิ่นเกาะยาว ประธานกลุ่ม Doing เกาะยาว เปรียบเปรยว่าเหมือนกับคนเรานั่นแหละ พออายุเยอะมันก็ไม่ค่อยดีเท่าไรแล้ว ยิ่งการท่องเที่ยวกระแสหลักเติบโตแบบก้าวกระโดด ที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไฟที่เคยเพียงพอจึงไม่พอเพียงอีกต่อไป

“เกาะยาวอยู่ปลายสายส่ง พอเกิดการใช้ไฟมากขึ้น ไฟฟ้าของเกาะยาวก็มีปัญหา ติดบ้าง ดับบ้าง มีการซ่อมบำรุงบ่อย นี่คือปัญหาหลักๆ เราก็เลยเห็นพ้องกันว่ามารวมทีมจัดตั้งกลุ่มกันดีกว่า จากปัญหา แล้วก็จากที่ทางกลุ่มเห็นความสำคัญของพลังงานทดแทน”

Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด

Doing เกาะยาวจึงถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่วันนั้น เมื่อ 3 ปีก่อน ในรูปแบบคลับสไตล์ชาวบ้าน

“สมาชิกช่างแดด Doing เกาะยาว เป็นใครกัน ทำไมจู่ๆ ถึงรวมตัวกันได้” เราถาม

“มันไม่ได้จู่ๆ หรอก ที่จริงแล้วเราบ้าเหมือนกันไง สมาชิกกลุ่มนี้ผมแบ่งเป็นสองกลุ่มนะ รวมประมาณสิบเอ็ดคน คือกลุ่มช่างกับกลุ่มคนเพื่อคานอำนาจกับองค์กรรัฐ จึงมีประธาน อสม. ตัวแทน อสม. อดีตประธาน CBT ผู้ช่วยกำนัน เข้ามาอยู่ หนึ่งล่ะ ถ้าอาศรมศิลป์ไม่อยู่ ทีมพี่เลี้ยงไม่อยู่ เราต้องช่วยเหลือตัวเองแล้วก็เดินด้วยตัวเองได้

Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด

“ทีมช่างก็คือกลุ่มเกษตรกรจากสี่พื้นที่ เดิมเขาสนใจอยู่แล้ว เราก็เอากลุ่มนี้แหละไปอบรมที่เกาะลันตากับช่างชัยจากภาคใต้โซลาร์เซลล์ ตอนหลังพื้นที่ฟาร์มเกษตรของพวกเขาก็กลายเป็นจุดสาธิตด้วย เหมือนกับทำยุทธศาสตร์ให้ชาวบ้าน เรามองว่าถ้าเราวางตรงนี้ได้ แล้วฐานพวกนี้ก็มีความรู้ทั้งหมด สามารถอธิบายให้คนที่เข้าไปดูงาน อันนี้ผมมองว่าเป็นข้อดี

“ผมว่ามันเป็นอะไรพิเศษที่ไม่เหมือนกับกลุ่มช่างข้างบนฝั่ง ก็คือกลุ่มนี้ผมการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าไม่มีใครจบไฟฟ้ามาสักคนเดียว แต่เราสนใจเรื่องเดียวกัน บังเหรดเนี่ยแกเป็นหมอดินอาสา บังหมาด รักผักฟาร์ม ก็ไม่ได้เดินมาสายนี้ แกปลูกผัก เหมือนผม ผมก็จบเกษตร บังยาแกซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ไม่ได้จบไฟฟ้าเหมือนกัน ไม่รู้เรื่องเลย”

เหล่าคนไม่รู้เรื่องไฟฟ้าออกไปเสาะแสวงหาความรู้เรื่องระบบไฟฟ้าและโซลาร์เซลล์ด้วยตัวเองกับหอการค้าจังหวัดพังงา สำนักงานพลังงานจังหวัดพังงา โดยมีครูเป็น ช่างชัย-วีรชัย อินทราช จากภาคใต้โซลาร์เซลล์ ช่างผู้เดินทางติดตั้งความรู้ผ่านกิจกรรมสร้างความรู้พื้นฐานพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อยกระดับฝีมือช่างโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย

Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด
Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด

“เมื่อก่อนเราไปดูงานที่เกาะลันตามา แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะเดินยังไง ไม่รู้จะเอาหน่วยงานไหนมาช่วย มันจึงหยุดไป จนกระทั่งอาศรมศิลป์เข้ามาช่วยช่วงก่อนโควิด เราจึงทำกึ่งกิจการ เป็นวิสาหกิจ มีออฟฟิศเพราะจะขายอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ ภารกิจหลักเป็นการติดตั้งระบบและเซอร์วิสให้กลุ่มลูกค้า คือสำรวจ คำนวณปริมาณการใช้ไฟ ติดตั้ง และซ่อมบำรุง ได้ทั้งกระบวนการ” บังยัฟเล่าถึงสิ่งที่เหล่าช่างแดดตั้งใจ Doing ให้คนเกาะยาว

Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด
Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด
Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด

กลุ่ม Doing เกาะยาว ขนาดกะทัดรัดจึงเทิร์นมาเป็นวิสาหกิจชุมชนโดยช่างเชื่อมอย่างสถาบันอาศรมศิลป์ ที่ช่วยทอดสะพานให้ช่างท้องถิ่นได้ออกไปเจอช่างอาชีพ ครูบาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ต่างๆ จัดสรรกิจกรรมเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ และช่วยเรื่องการออกแบบรูปแบบ การจัดการผังสวน พูดง่ายๆ คือจัดการเอาพลังงานกับสถาปัตย์มาบูรณาการให้เป็นงานชิ้นเดียวกัน 

ช่างเชื่อม

“มันเป็นการคอลแลบ” เราเกริ่นถาม อาจารย์โจ้-ธนา อุทัยภัตรากูร อาจารย์ประจำภาควิชา สถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์

“ใช่ แต่ถ้าพูดแบบนี้มันฟังดูเท่มากเลย เอาจริงๆ เราจับแพะชนแกะ เขารู้จักกันอยู่แล้ว เราก็แค่เป็นเชื้อนิดหนึ่งให้เขาได้เริ่ม ยกตัวอย่างบังยัฟที่เป็นหัวหน้าช่าง กับบังสิทธิ์ที่เป็นเจ้าของรีสอร์ตซึ่งสนใจอยากทำโซลาร์เซลล์ บ้านเขาอยู่ใกล้กันมาก แล้วเขาก็เรียนด้วยกันมาตั้งแต่เด็กเลย เพียงแต่ว่าเขาอาจจะเขินๆ เลยไม่ได้มาคุยกัน

“อีกกรณีหนึ่งคือ Sunrise Resort เป็นที่พักของชาวบ้าน พอชวนบังยาไปคุย บอกว่านี่แหละรู้จักกัน อยู่แถวๆ นี้แหละ เท่ากับว่าเราเป็นตัวช่วย ถ้าเราไม่เริ่มต้น เราไม่ตาม มันก็ไม่เกิดผลขนาดนี้ แล้วเราเองก็เป็นตัวเชื่อมระหว่างทีมช่างภายในกับช่างภายนอกที่มาเป็นที่ปรึกษาด้วย ผมรู้สึกว่าพลังคนภายในมันก็อยากจะไป แต่มันจะฝืดนิดๆ ถ้าคนเข้านอกเข้ามาช่วยผลักนิดหนึ่ง หล่อลื่นหน่อยหนึ่งพอให้มันเคลื่อนไปได้ เดี๋ยวมันก็จะไหลไป”

Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด

  ช่างข้างนอกจำเป็นแค่ไหน ในเมื่อช่างข้างในมีความรู้อยู่แล้ว-เราถาม

“การเพิ่มความรู้เป็นประเด็นสำคัญมากเหมือนกันนะ เราได้ช่างชัย แกทำบริษัทภาคใต้โซลาร์ เป็นคนที่มองว่าช่างชุมชนเป็นการขับเคลื่อนสังคมอย่างหนึ่ง แล้วก็อยากให้เกิดทีมช่างชุมชนแบบนี้เยอะๆ เท่าที่ผมรู้จักกับแก แกเคยเป็น NGO มาก่อน เป็นคนต่อสู้เรื่องเขื่อน เรื่องพลังงาน ถ้าจากประสบการณ์ของเขา เขาก็จะเห็นภาคใต้มีปัญหาเรื่องพลังงานมาตลอด แล้วรัฐก็ชอบชี้ว่าคนใต้ อะไรวะ พลังงานก็ไม่พอ จะสร้างเขื่อนก็ประท้วง เดี๋ยวก็จะนะ เดี๋ยวก็อะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมดเลย 

“รัฐจะชอบทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วเขาก็เห็นว่าการทำโซลาร์เซลล์เป็นการประกาศอย่างหนึ่งว่าเราสามารถพึ่งตนเองในด้านพลังงาน โรงไฟฟ้าพวกนั้นไม่จำเป็นเลย ช่างชัยเห็นว่าการสร้างช่างชุมชนเป็นความเข้มแข็งในระดับฐานล่าง มันไม่ใช่การต่อสู้แบบเดิมที่ต้องไปประท้วงรัฐ นี่เขารู้อยู่แล้วว่าเป็นเกาะ เรียกช่างมามันมีค่าใช้จ่ายเยอะ ถ้ามีช่างในพื้นที่ที่รู้มาติดตั้งมันจะง่ายขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาใคร 

“ปัญหาของเกาะคืออยู่ปลายสายส่ง สายเคเบิ้ลใต้น้ำนี้มาจากภูเก็ต แล้วมันเข้ามาทางพรุใน วิ่งไปจนถึงเกาะยาวน้อย แล้วก็ไปสุดทางเหนือ พอมันเป็นเกาะ พลังงานมันก็วางแผนไว้ตั้งแต่ปีไหนก็ไม่รู้ พอตอนนี้มันเริ่มมีการท่องเที่ยว คนเริ่มมาเยอะขึ้น มีรีสอร์ต ไฟเริ่มไม่พอแล้ว แล้วทำยังไง ถ้า Capacity ของสายใต้น้ำมันไม่พอ มันต้องเดินเคเบิลใหม่ คือทั้งแหล่งผลิต ทั้งการเดิน มันเป็นเรื่องใหญ่ ทีนี้มันก็มีปัญหาอยู่อย่าง จะเปลี่ยนยังไง เรียกร้องใคร มันจะเริ่มจากตรงไหน พอเรามาคุยก็รู้ว่ามันมีปัญหาทุกคนเลย ชาวบ้าน รีสอร์ต มีปัญหาหมด แล้วต่างคนก็ต่างพยายามแก้ปัญหาเท่าที่ตัวเองทำได้

Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด
Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด

“คนส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ทำการเกษตร ทำประมง อัตราการใช้ไฟฟ้าเขาน้อยมาก ใครใช้เยอะ ไม่ต้องบอกก็รู้ แต่ว่าปัญหามันเกิดทั้งเกาะ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องนโยบาย ต้องทำให้นโยบายมันเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบชัดเจน พอเราเห็นปัญหาเราก็ทำต้นแบบการเปลี่ยนแปลงไว้ และเราคิดว่าอันนี้มันน่าจะทำให้เห็นผลได้ ก็รัฐไม่ช่วย แล้วจะยังไงล่ะ

“แต่พังงาเขามีนโยบายพังงาโกกรีน พังงาบอกว่าต่อไปเราจะผลิตไฟฟ้าด้วยตัวเอง รัฐไม่ต้องมายุ่งเลยนะ แต่ว่าขอรัฐช่วยลงงบประมาณ สาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อรองรับไฟฟ้าแบบทางเลือกในอนาคตได้ไหม ผมว่ามันมีทางออกเยอะถ้าจะทำ ผมทำบ้านดินผมก็เห็นปัญหาเรื่องนี้หลายเรื่อง ปัญหาที่กฎหมายมันไปเป็นข้อจำกัดทำให้คนไม่สามารถพึ่งตนเองได้ คือแค่กูจะพึ่งตนเองเนี่ย ยังไม่มีสิทธิ์ที่จะทำเลย” 

“ทำไมมันทำไม่ได้” เราเอียงคอสงสัยเต็มขั้น

“เออ ทำไมทำไม่ได้” อาจารย์โจ้ตอบเราด้วยคำถาม

โดยทั่วไปพันธกิจของสถาบันอาศรมศิลป์คือการทำงานกับชุมชน อาจารย์โจ้บอกเราว่าไม่มีอะไรมาก แค่เปิดพื้นที่ให้เขาได้คุยกันว่าเขาอยากจะทำอะไร เหมือนเป็นหมอฝังเข็ม คือประเมินโรคแล้วฝังเข็มตรงจุดที่รู้ว่าจะสะดุ้ง

“เหมือนกับที่ทำตอนนี้ เป็นสะพานให้เขา อาจจะเริ่มต้นจากการลงไปดู ไปคุยกับว่ามันมีโอกาสอะไรไหม แล้วเราเองก็อาจจะต้องไปศึกษาเรื่องนั้นว่าประเด็นนี้มันเป็นยังไงบ้าง มันเชื่อมโยงเกี่ยวกับใคร หรือในโลกนี้เคยมีใครทำอะไรประมาณนี้บ้าง เพื่อโยนให้เขาได้เห็นว่าสิ่งที่เขาอยากทำมันอาจเป็นประมาณนี้ได้นะ เขาสนใจจะทำแบบไหน เราก็จะช่วยเขา เขามีไอเดียร้อยแปดพันประการ สถาปนิกก็จะไปช่วยรวบรวมทั้งหมดนั้นมาทำให้เป็นแบบ

 “พอมันมีกระบวนการที่เขาได้เริ่มคิดตั้งแต่ต้น ได้ลงมือทำ เขาก็จะรู้สึกเป็นเจ้าของ เขาก็จะรักษา”

Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด

พลัง (งาน) ชาวเกาะ

สถาบันอาศรมศิลป์สื่อสารกับทุกคนเสมอว่าเป็นองค์กรการศึกษาเอกชนที่รับทุนมา ระยะเวลาการอยู่กับชุมชนมีจำกัด ไม่สามารถอยู่ยั่งยืนยงตลอดเวลา พวกเขาจึงคิดว่าจะทำยังไงให้ช่วงเวลาที่อยู่เป็นประโยชน์สูงสุด และถึงที่สุดแล้วชุมชนจะต้องทำเรื่องนี้ต่อ

“พอเราทำ เรารู้ว่ากลุ่มที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มช่าง พอช่างเสร็จปุ๊บ ก็เป็นผู้ประกอบการที่จะเป็นฐานงานของช่าง และเราก็มีกลุ่มเยาวชนซึ่งเราคิดว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ถ้าเขาสนใจเรื่องพวกนี้เขาจะได้ต่อยอดในระยะยาว ที่อาจจะเป็นฐานอาชีพของเขา” อาจารย์โจ้อธิบาย 

เมื่อหมอลงมือฝังเข็มคนไข้คิวแรก คือทีมช่าง Doing เกาะยาว ต่อด้วยคิวสอง คือผู้ประกอบการบนเกาะยาว จึงถึงตาคิวที่สาม ซึ่งหมออย่างสถาบันอาศรมศิลป์จับมือกับทีมช่างช่วยกันจรดปลายเข็ม คือคนรุ่นใหม่

“การสืบสานต่อมันต้องมีอยู่แล้ว เพราะผมเห็นหลายๆ พื้นที่มีรุ่นคนแก่แล้วก็ไม่มีต่อ แต่นี่เราวางโมเดลไว้ ตอนนี้ผมก็จับช่างต่างวัยกัน ให้ Doing เกาะยาว มีทั้งคนแก่ ทั้งวัยรุ่น” บังยัฟแบไต๋

Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด

“พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนที่นั่นรึเปล่า”

“ชาวบ้านก็บอกว่า มันบ้า พวกมึงอะ ถามว่าเกาะยาว เรื่องพวกนี้มันเป็นของใหม่นะ เป็นของใหม่ที่มาหลังการไฟฟ้า เพราะตอนนี้ไฟฟ้าเขาก็มี แล้วมึงจะไปติดทำไม เสียงบประมาณ แต่แผงโซลาร์เซลล์คุณอายุเท่าไร รับประกันรับประกัน วันหนึ่งเสียเท่าไร เขาไม่ได้คิดตรงนี้ไง เขาคิดว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์คือการลงทุนก้อนใหญ่เลยนะ ที่นี้เราต้องมาตีโจทย์ว่า ที่เขาบอกลงทุนก้อนใหญ่เนี่ย เราจะทำยังไงให้เขาเข้าใจว่ามันไม่ได้ก้อนใหญ่เหมือนที่คิด 

Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด
Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด
Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด

“เมื่อก่อนราคาโซลาร์เซลล์มันสูง ไม่ไหว แต่ตอนนี้ผมว่าราคาจับต้องได้แล้ว เราจึงเลือกผลักดันเป็นตัวเลือกแรก เรามองว่ามันสำคัญแล้วก็ยั่งยืน เพราะว่าบริษัทเขาก็รับประกันระบบแผงหลายปี เมื่อก่อนชาวบ้านเขาไม่มีความรู้ สมมติว่าแผงละสามหมื่น แต่ที่จริงสามหมื่นบาทนี้รับประกันยี่สิบปี รวมๆ แล้วทั้งระบบ ลองคิดดูว่าวันหนึ่งเราใช้ตรงนี้กี่บาท แล้วที่เราต้องใช้ไฟปกติมันเท่าไร เมื่อก่อนไม่ได้คุยกันอย่างนี้”

แล้วคุยกันยังไง…

“คุยกันแค่ว่าระบบโซลาร์เซลล์หกหมื่น กูไม่เอาแล้ว มันแพง

“แต่ตอนนี้มันเจาะลึกรายละเอียดเลยว่าแผงโซลาร์เซลล์ถ้าซื้อมามันรับประกันเท่านี้ มอเตอร์รับประกันห้าปี คุณซื้อมาราคาเท่านี้ เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งจ่ายเท่าไร ทีนี้ชาวบ้านที่มีทุนน้อยเขาก็เห็นภาพไง”

“ฝันของกลุ่มช่างแดด Doing เกาะยาว คืออะไร” เราถามคำถามสุดท้าย

“เราก็มีความฝันว่าเกาะยาว ที่จริงมันต้องโตด้วยเรื่องของพลังงาน มันเป็นเกาะที่สวยต้องพลังงาน เพราะตอนนี้ เหมือนที่เราบอกว่าเราอยู่ปลายสายไฟฟ้า ถ้าเกิดเราปฏิเสธเรื่องพวกนี้ มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การไฟฟ้าฉุกคิดว่าเกาะยาวทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่ได้พึ่งแต่การไฟฟ้า”

Doing เกาะยาว กลุ่มบังที่ใครก็ว่าบ้า ไม่ได้จบไฟฟ้า แต่จับมือกันสร้างชุมชนด้วยไฟจากแดด

Writer

Avatar

ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

นักเรียนวรรณคดีที่มักเรื่องอาหาร ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเดินทาง และเด็กจิ๋ว มีความฝันสามัญว่าอยากมีเวลาทำอาหารรสที่ชอบด้วยตัวเอง ตัวอยู่กรุงเทพฯ อัมพวา หรือเมืองกาญจน์ แต่ใจและภาพอินสตาแกรมอยู่ทุกที่ที่ไปเที่ยว

Photographer

Avatar

อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

จบ Film Production ด้าน Producing & Production Design แต่ชอบถ่ายภาพและออกแบบงานกราฟิกเป็นงานอดิเรก มีครัว การเดินทาง และ Ambient Music เป็นตัวช่วยประโลมจิตใจจากวันที่เหนื่อยล้า