สิ่งหนึ่งที่ทำให้เมืองเชียงใหม่แตกต่างจากที่อื่น ๆ ก็คือ ดอย 

โดยเฉพาะดอยสุเทพที่ทำให้ลักษณะภูมิศาสตร์ของเชียงใหม่มีความพิเศษ มีป่าอยู่ใกล้ชิดกับเมือง ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็เข้าถึงผืนป่าได้อย่างง่ายดาย ตลอดระยะเวลามากกว่า 700 ปีที่เชียงใหม่ถือกำเนิดขึ้นมา ชีวิตของผู้คนที่นี่ต่างสัมพันธ์กับดอยสุเทพในหลายด้าน ทั้งเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งกำเนิดสายน้ำต่าง ๆ ที่ไหลลงมาหล่อเลี้ยงคูเมือง ไร่นา และประปาเมือง เป็นแหล่งอาศัยของคนและสัตว์ เป็นประเพณี เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ กระทั่งเป็นศูนย์รวมใจของผู้คนเชียงใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจหากมีใครไปทำอะไรให้ดอยแห่งนี้แหว่งเว้าขึ้นมา ชาวเชียงใหม่ก็พร้อมใจกันลุกขึ้นมาต่อต้าน

ระยะเวลายาวนานทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเชียงใหม่กับดอยสุเทพแนบชิดเป็นอันหนึ่งเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ แม้แต่สมัยปัจจุบันคราวที่ปัญหาหมอกควัน PM 2.5 มาใหม่ ๆ ยังไม่มีใครรู้จักแอปพลิเคชัน Air Visual ชาวเมืองเชียงใหม่ก็ยังใช้ดอยสุเทพนี้เองเป็นตัวชี้วัดระดับของควัน วันไหนหนักหนาหน่อยก็มองแทบไม่เห็นดอย

ความสัมพันธ์ที่ดอยกับเมืองเป็นหนึ่งเดียวกัน แสดงออกมาให้เห็นผ่านความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ หากเมืองเปลี่ยนแปลง ดอยสุเทพก็เปลี่ยนไป สายน้ำจากดอยที่เคยหล่อเลี้ยงเมืองทุกวันนี้เริ่มเหือดแห้ง อากาศหนาวบางปีมาไวก็จากไปเร็ว ฤดูกาลที่ผิดเพี้ยนผลผลิตก็ยากจะงอกงาม สรรพเสียงจากนกป่าที่ค่อย ๆ ลดสำเนียงและชนิดลงไปทุกที เมืองที่ขยายใหญ่อย่างรวดเร็ว ผู้คนที่อยู่ในเมืองมากขึ้น ทำให้วิถีของพวกเขาเริ่มออกห่างจากดอย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและดอยเริ่มจางหายลืมเลือน คุณค่าของดอยในท้ายที่สุดอาจเหลือไว้แต่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

การมองตัวเมืองเชียงใหม่แยกส่วนออกจากดอยทั้งที่เป็นพื้นที่ร่วมกัน มีแต่จะส่งผลเสียต่อไป 

หลายปัญหาในเมืองแก้ไขได้จากการฟื้นฟูดอย หลายปัญหาจากบนดอยก็แก้ไขได้จากในเมือง หากมองเห็นความสัมพันธ์เดิมที่มีอยู่ระหว่างดอยสุเทพและเมืองเชียงใหม่ เพราะเมืองแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาสัมพันธ์กับดอยตั้งแต่เริ่มตั้ง

นี่เองจึงเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของ ‘หลักสูตรวิชาดอยสุเทพศึกษา’ วิชาที่จะทำให้ผู้คนไม่ใช่แค่ได้รู้จักกับดอยสุเทพในทุกแง่มุม แต่จะทำให้คนเข้าใจดอยสุเทพ และสานสัมพันธ์ผู้คนในเมืองกับดอยสุเทพให้กลับมาอีกครั้ง

นี่คือความพยายามที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือ ระหว่างศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับภาคีจำนวนมากที่เคยทำงานเกี่ยวกับดอยสุเทพด้านต่าง ๆ มาร่วมมือกันออกแบบหลักสูตรวิชาดอยสุเทพศึกษาให้นำเสนอครบทุกมิติ 

เราชวน รศ.ดร.ประสิทธิ์​ วังภคพัฒนวงศ์ หัวหน้าศูนย์​ธรรมชาติ​วิทยา​ดอ​ยสุ​เทพ​เฉลิม​พระ​เกียรติ​ฯ​ หนึ่งในคณะจัดทำมาเป็นตัวแทนเล่าแนวคิดเบื้องหลังการทำ ‘หลักสูตรวิชาดอยสุเทพศึกษา’ ของพวกเขา

'ดอยสุเทพศึกษา' วิชาที่ทำให้ผู้คนเข้าใจดอยสุเทพ และอยู่ร่วมกับดอยสุเทพอย่างยั่งยืน

“เวลาพูดถึงดอยสุเทพ รายละเอียดของดอยมันเยอะมาก ถ้าพูดจากมุมของผมที่เป็นนักชีววิทยา ผมจะพูดถึงดอยสุเทพในมุมของต้นไม้ ผมทำงานอยู่ในแง่ของกายภาพเยอะ เพราะฉะนั้นผมเลยไม่ได้ทันนึกถึงประเด็นอื่น การที่มีผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับดอยสุเทพหลายแง่มุมมารวมกันจึงสำคัญ เช่น อาจารย์ทางด้านมานุษยวิทยาหรือสังคมมาพูดถึงดอยสุเทพในแง่มุมของวิถีชีวิตของผู้คน ของวัฒนธรรม ของประเพณีที่ผูกโยงกับดอยสุเทพ ตอนที่ผมยังเป็นนักศึกษา อาจารย์สตีฟ (Stephen D. Elliott) พูดเสมอว่า ‘ดอยสุเทพดอยเดียว มีความหลากหลายทางชีวภาพไม่ด้อยไปกว่าเกาะอังกฤษทั้งเกาะ’ แค่ในมุมของชีววิทยานะครับ ถ้ารวมแง่มุมอื่น ๆ เกี่ยวกับดอยสุเทพเข้าไปอีกจะขนาดไหน

“ผมอยากให้คนทั่วไป คนที่สนใจดอยสุเทพ ได้รู้จักดอยสุเทพในทุกแง่มุม ทุก ๆ มิติ แต่ผมทำเองคนเดียวไม่ได้ ผมไม่ได้รู้ทุกเรื่อง งั้นเรามาร่วมมือกันดีกว่า ซึ่งผมคิดตรงกันว่า ปัจจุบันมันยังไม่มีหลัก คนนั้นก็พูดถึงดอยสุเทพ คนนี้ก็พูด แต่ไม่มีการนำความรู้นำมารวมกัน และมันมีความสำคัญจริง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องของความสวยงาม เรื่องเชิงกายภาพ เชิงชีววิทยา เชิงสังคม เชิงประวัติศาสตร์ และเชิงวัฒนธรรม ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับคนเชียงใหม่หมด”

ปัจจุบันคณะทำงานที่มาร่วมกันออกแบบหลักสูตรวิชาดอยสุเทพศึกษามีทั้งหมด 8 หน่วยงาน ได้แก่ 

  • ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชี่ยวชาญเรื่องชีววิทยา ธรณีวิทยา และระบบนิเวศป่าของดอยสุเทพ
  • คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยดูในมุมมองเชิงสถาปัตย์ ความสัมพันธ์ทางพื้นที่ระหว่างดอยสุเทพกับเมืองเชียงใหม่
  • สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรม
  • คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เชี่ยวชาญเรื่องของชุมชนต่าง ๆ ซึ่งดอยสุเทพมีพื้นที่คลุมถึง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอหางดง อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง
  • อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ให้ความรู้ด้านการทำงานของอุทยานแห่งชาติ
  • สภาลมหายใจเชียงใหม่ กลุ่มภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหมอกควันเชียงใหม่
  • เขียวสวยหอม กลุ่มภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมือง
  • เครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้งดอยสุเทพ-ปุย กลุ่มชาติพันธุ์บนดอยสุเทพและดอยปุย มาให้องค์ความรู้ของกลุ่มชาติพันธ์ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

ทั้ง 8 หน่วยงาน คือกลุ่มคนที่เคยทำงานเกี่ยวข้องกับดอยสุเทพ และในอนาคต กลุ่มผู้ออกแบบวิชาจะเพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดอยสุเทพมาช่วยเสริมหลักสูตร เพื่อทำให้วิชานี้นำเสนอเรื่องราวได้ครบทุกแง่มุมที่สุด

“เหตุผลที่วิชาดอยสุเทพศึกษาต้องนำเสนอได้ทุกแง่มุมที่สุด เกิดจากมุมมองของตัวผม พอเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็มีแว่นของนักวิทยาศาสตร์อยู่ ผมสนใจแต่สิ่งที่วิจัย ส่วนงาน NGO หรือชุมชน เขาจะมีแว่นของเขา เรามองดอยสุเทพขนานกันมาโดยตลอด สถานการณ์บางอย่างใช้แว่นอันเดียวมองไม่ได้ เพราะโจทย์หลายอย่างที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่ว่าจะท้องถิ่นหรือระดับจังหวัด ตอบด้วยเครื่องมือเดียวไม่ได้ ต้องใช้หลายเครื่องมือจากแต่ละศาสตร์มาช่วยกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนร่วมมือกัน จะให้นักวิทยาศาสตร์แก้โจทย์สังคมวัฒนธรรมก็ไม่ใช่ เราเลยต้องร่วมมือกัน

'ดอยสุเทพศึกษา' วิชาที่ทำให้ผู้คนเข้าใจดอยสุเทพ และอยู่ร่วมกับดอยสุเทพอย่างยั่งยืน
'ดอยสุเทพศึกษา' วิชาที่ทำให้ผู้คนเข้าใจดอยสุเทพ และอยู่ร่วมกับดอยสุเทพอย่างยั่งยืน

“ในฐานะคนที่ออกแบบวิชา ทุกครั้งที่ประชุมร่วมกัน พอได้ฟังอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ผมเองก็ได้ความรู้ ได้แง่มุมใหม่ ๆ เกี่ยวกับดอยสุเทพจากแต่ละศาสตร์ ตอนที่ผมจะเรียนจบ ผมทำงานวิจัยที่อำเภอแม่แจ่ม เรื่องนิเวศวิทยาไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ ผมต้องขึ้นลงแม่แจ่มอยู่ 20 เดือน ไปเอาตัวอย่างใบไม้มาวิจัย ประเด็นคือ ตอนที่ผมไปทำวิจัย ผมมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์มาก ๆ ไม่สนใคร ไม่คุยกับใครเลย ผมไม่ได้ถูกฝึกมาให้เข้าใจบริบทสังคม 

“พอมองย้อนกลับไป ผมเสียดายนะครับ ทำไมถึงไม่พยายามเรียนรู้บริบทต่าง ๆ ที่เป็นผลให้เขาทำไร่หมุนเวียน บางทีเหตุผลไม่ได้เป็นเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเดียว มันมีเหตุผลอื่น เชิงสังคม เชิงวัฒนธรรม เขาอยู่ตรงนั้นมานาน เขาก็ต้องมีเหตุผลของเขา แต่สนใจเฉพาะผลวิจัยของผม ทั้งที่ในโลกนี้ยังมีคำว่า การทำงานที่ชุมชนมีส่วนร่วมอยู่ ผมเพิ่งมารู้จักคำนี้ในภายหลัง นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่หากมีโจทย์ใดขึ้นมา เราควรจะต้องใช้แว่นตาของหลาย ๆ ศาสตร์มามอง

“ในที่ประชุม บางคนไม่ได้มองว่าดอยสุเทพเป็นแค่ภูเขา เขามองว่าเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งก็ตรงกับหลักหนึ่งของนิเวศวิทยา เขาเรียกกันว่าเป็น Super Organism เขามองโลกทั้งโลกเป็น Super Organism มีพลวัตร ถ้ามองดอยสุเทพไม่เป็นแค่ก้อนหิน ดิน ต้นไม้ มันมีอย่างอื่นอีกมากที่อยู่ร่วมกันในภูเขาลูกนั้น มีความสัมพันธ์ต่าง ๆ มากมาย และเกี่ยวโยงมาถึงในเมืองเชียงใหม่ ในหลักสูตรวิชาดอยสุเทพ เราแบ่งย่อยรายวิชาต่าง ๆ ตามแต่ละแง่มุมของดอยสุเทพ

“หลักสูตรนี้เลยมีวัตถุประสงค์หลักที่วางไว้ว่า คนที่สนใจดอยสุเทพที่มาเรียน ไม่ใช่แค่คำว่า ‘รู้จัก’ แต่เราอยากให้เขา ‘เข้าใจ’ ดอยสุเทพมากขึ้นในทุกมิติ ที่ต้องเป็นเช่นนั้นเพราะในหลักการออกแบบวิชา คนทางด้านการศึกษาจะมีหลักการมองวัตถุประสงค์ของวิชาอยู่ว่าจะให้ผู้เรียนได้รับระดับไหน จำได้ เข้าใจ วิเคราะห์ ประยุกต์ และขั้นสุดท้ายคือ สังเคราะห์ ซึ่งจุดสูงสุดของการศึกษาก็คือการให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ไปสังเคราะห์ใช้ในชีวิตของเขา

การร่วมมือกันของ 8 หน่วยงานที่สร้างหลักสูตรวิชาดอยสุเทพศึกษา ให้ครอบคลุมทุกมิติการเรียนรู้ภูเขาแห่งเชียงใหม่

“คำว่า สังเคราะห์ ในความหมายของผม คือ สมมติมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น จะเอาความรู้ทั้งหมดที่ได้สังเคราะห์มาจัดการสถานการณ์นั้นได้ไหม ถ้าเกิดตอนนั้นเครื่องมือที่เคยมีมาก่อนใช้ไม่ได้อีกแล้ว เช่น มีเครื่องมืออยู่ A B และ C คุณหยิบเอาเครื่องมือนี้ไปใช้แก้ปัญหาได้ แต่ในอนาคตข้างหน้า เครื่องมือ A B C อาจใช้การไม่ได้ คุณจะสังเคราะห์ความรู้ที่ได้รับ สร้างเครื่องมือ D ขึ้นมาใหม่เพื่อจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ไหม นี่คือจุดสูงที่สุดของการศึกษา มันเกิดขึ้นค่อนข้างยาก นี่เป็นผลลัพธ์สูงสุดที่ผมมองไว้ เลยเป็นโจทย์สำคัญที่ทีมออกแบบหลักสูตรต้องหารือกันต่อ

“ตอนทีมออกแบบวิชาประชุมกัน มีคนเสนอว่า อยากให้ข้าราชการเรียนวิชาดอยสุเทพศึกษาเช่นกัน เพราะระบบราชการที่ย้ายมารับตำแหน่งจากที่อื่น ทำให้ไม่รู้บริบทของเชียงใหม่ วิชานี้จะช่วยให้เขามองเห็นความสัมพันธ์ของดอยและเมือง มีประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเมืองหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ผมมองว่านี่เป็นแนวคิดที่ดีและน่าสนใจ”

การร่วมมือกันของ 8 หน่วยงานที่สร้างหลักสูตรวิชาดอยสุเทพศึกษา ให้ครอบคลุมทุกมิติการเรียนรู้ภูเขาแห่งเชียงใหม่

เพื่อให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักศึกษาก็เข้าเรียนวิชาดอยสุเทพศึกษาได้มากที่สุด ผู้ออกแบบวิชาจึงเลือกให้วิชาดอยสุเทพศึกษาอยู่ในโครงการ ‘วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต’ (School of Lifelong Education) เรียกสั้น ๆ ว่า LE ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสมัครเข้ามาเรียนในรายวิชาที่สนใจผ่านเว็บไซต์ 

“หลักสูตรวิชาดอยสุเทพศึกษา ผมตั้งใจไว้ว่าจะให้มีส่วนของการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งผู้เรียนกดเข้ามาเรียนได้ตามเวลาที่เขาสะดวกผ่านระบบการสอนของ LE เมื่อเรียนภาคบรรยายจนครบชั่วโมงที่กำหนดไว้ ก็จะมาสู่ภาคปฏิบัติที่จะพาผู้เรียนขึ้นดอยไปศึกษาและลงมือในพื้นที่จริง ใครสนใจด้านชุมชนบนดอยก็จะได้ไปลงทำงานในชุมชนจริง ๆ แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าทุกคนจำเป็นต้องเรียนให้จบหลักสูตร เราเปิดกว้างให้ตามที่แต่ละคนสนใจ

“ท้ายที่สุด ผมหวังว่าการเกิดขึ้นของวิชาดอยสุเทพศึกษา จะทำให้ผู้คนเข้าใจดอยสุเทพมากขึ้นไม่มากก็น้อย เมื่อไหร่ก็ตามที่มีอะไรเกิดขึ้นกับดอยสุเทพ เขาจะรู้แล้วว่ามีที่พื้นที่ตรงนี้ที่เขาเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับดอยสุเทพได้”

การร่วมมือกันของ 8 หน่วยงานที่สร้างหลักสูตรวิชาดอยสุเทพศึกษา ให้ครอบคลุมทุกมิติการเรียนรู้ภูเขาแห่งเชียงใหม่

ปัจจุบันหลักสูตรวิชาดอยสุเทพศึกษายังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาสสุดท้ายของ พ.ศ. 2565 

ผู้ที่สนใจ ติดตามความเคลื่อนไหวของวิชาดอยสุเทพศึกษาได้ทาง Facebook : ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มช

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

ธิรารัตน์ พุทธวงศ์

มีเชียงใหม่เป็นบ้านเกิด หลงใหลธรรมชาติ รักสีบลู แมวดำ และชอบกินผลไม้สีเหลือง Facebook | Out of Tune