13 กรกฎาคม 2019
13 K

ฉันคุ้นหูดอยผาหมีจากเหตุการณ์หมูป่าติดถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ไม่คิดว่าจะได้ไปเยี่ยมเยือนดอยผาหมี พร้อมกับสัมผัสวิถีชีวิตชาวอาข่าแบบดั้งเดิมผ่านมื้ออาหาร การเต้นระบำทำเพลง ตลอดจนประเพณีประจำชนเผ่า 

  ถ้าให้ย้อนไปก็คงราว 2 สัปดาห์ก่อน ฉันเห็นสายการบินสีแดงแจ๋ประกาศรับผู้ร่วมเดินทางไปกับ Journey D เหมือนว่าเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนจัดการและดูแลกันเอง แน่นอนว่าเน้นความยั่งยืนและชุมชนมีส่วนร่วม 

  ถ้าให้ย้อนไปก็คงราว 2 ชั่วโมงก่อนถึงสนามบินเชียงราย ฉันนั่งกระสับกระส่ายด้วยความตื่นเต้น ไม่ใช่ว่าไม่เคยไปเชียงรายหรอกนะ แต่ยังไม่เคยไปใช้ชีวิตกับคนแปลกหน้าตลอด 2 วัน 1 คืน ใจหนึ่งก็กังวลว่าฉันจะกินอาหารแบบอาข่ากินได้จริงเหรอ จะใช้ชีวิตประจำวันเหมือนอาข่าทำได้จริงเหรอ อีกใจก็ต้องลองสักตั้ง ไม่ลองไม่รู้ ประสบการณ์ดีต้องรีบคว้า คิดไปให้หัวใจกังวลเล่น พอขึ้นเครื่องปุ๊บฉันก็หลับปุ๋ย ตื่นอีกทีก็ถึงจังหวัดเชียงรายโดยสวัสดิภาพแล้ว 

   กายพร้อม ใจพร้อม! ฉันออกมารอหน้าประตูสนามบิน มือล้วงกระเป๋าควานหาโทรศัพท์ติดต่อพี่คนขับรถ คุยเพียงไม่ถึงนาทีพี่เขาก็ถอยรถกระบะคันโก้มารอรับถึงหน้าประตู แถมมีสมาชิกพร้อมผจญภัยกับฉันอีก 2 คน พี่คนขับเขาเป็นอาข่าเหมือนกัน รับหน้าที่ประจำเป็นคนรับ-ส่งที่สนามบินและตามจุดแลนด์มาร์กสำคัญบนดอยผาหมี เรียกว่าอาสาดูแลพวกเราตลอดการเดินทางด้วยรถกระบะคู่กายและรอยยิ้มพิมพ์ใจ พร้อมบริการด้วยความเป็นมิตร 

  เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง กว่าจะถึงดอยผาหมี มีผ่านด่านตรวจบ้างเป็นระยะ แต่ไม่น่าตกใจ ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสพร้อมให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พอถึงดอยผาหมี ไม้ผลัดถูกส่งต่อไปยังพี่แมวและป้าต้อย สองสาวต่างวัยเชื้อสายอาข่า รับตำแหน่งผู้สื่อความหมายชุมชน คอยแปลภาษาอาข่าให้กลายเป็นภาษาไทยกลาง และเป็นไกด์ท้องถิ่นคนเก่ง แนะนำทุกอย่างได้ละเอียดยิบ ไม่ว่าจะสถานที่ท่องเที่ยว เมนูอาหาร กิจกรรม และประเพณีดั้งเดิมของชาวอาข่า 

ดอยผาหมี
ดอยผาหมี

  พี่แมวและป้าต้อยชวนพวกเรานั่งพักในร้านกาแฟดอยผาหมี พร้อมเสิร์ฟน้ำมะนาวโซดาเรียกความสดชื่น ให้ร่างกายตื่นตัวหลังจากเดินทางมาหลายชั่วโมง ก่อนจะผลัดกันแนะนำตัวและบอกเล่าแผนการเที่ยวตลอดระยะเวลา 2 วัน 1 คืน แถมแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับดอยผาหมีให้เราฟัง เช่นดอยผาหมีมีที่มาจากภูเขาลูกโต ลักษณะคล้ายหมีนอนชันเข่า อีกเสียงก็บอกว่าสมัยก่อนบนดอยผาหมีมีหมีอาศัยอยู่เยอะ แต่ปัจจุบันไม่พบแล้ว อาจเป็นเพราะมีคนอาศัยอยู่มากจนกลายเป็นชุมชน บ้างก็ว่าคนอาข่าเก่งมากเรื่องทำยา ‘ดีหมี’ เป็นอวัยวะที่ใครต่างหมายปอง เป็นสาเหตุให้หมีลดลง 

  หลังจากคุยกันพอหอมปากหอมคอ เหมือนสนิทกันมานาน แต่ความจริงเจอกันยังไม่ถึงชั่วโมงเสียด้วยซ้ำ ป้าต้อยคงสังเกตว่าท้องเราต้องแอบร้องในใจว่าหิวแล้วแน่นอน เพราะไกด์คนเก่งพาเราเดินเท้าขึ้นไปถัดจากร้านกาแฟดอยผาหมีเพื่อทานอาหารสูตรอาข่าของแท้ที่ร้านภูฟ้าซาเจ๊ะ ขายทั้งอาหารอาข่าสูตรต้นตำรับและอาหารไทยตามสั่ง แถมยังเป็นโฮมสเตย์รองรับแขกทั่วประเทศ จากการสังเกต มีคนต่างถิ่นแวะเวียนมาดอยผาหมีอย่างไม่ขาดสาย ขอเป็นพยานด้วยสองตา

เอาล่ะ ก่อนท้องจะส่งเสียงร้องทำฉันขายหน้าป้าต้อย ขอเปิดกันด้วยอาหารอาข่ามื้อแรกเลยแล้วกัน

ดอยผาหมี

อาหารอาข่ามื้อแรก

อาหารมื้อแรกเรานั่งทานบนร้านอาหารภูฟ้าซาเจ๊ะ ปรุงด้วยรสมือสาวอาข่าแท้บนดอยผาหมี ประกอบด้วย 5 เมนู มียำผักกวางตุ้งใส่งาขาวและถั่วบด หมูผัดรากชู รากชูเป็นผักอเนกประสงค์ของคนอาข่า ใส่ได้ทั้งน้ำพริก ต้ม ผัด แกง ทอด จะคล้ายกระชายก็ไม่เชิง แต่รสร้อนแรงพอสมควร ถ้วยถัดมาเป็นน้ำพริกมะเขือเทศแนมกับผักเลื้อย ในใจเราแอบคิดว่าต้องคล้ายน้ำพริกอ่องแน่นอน ผิดคาด ไม่เหมือนโดยสิ้นเชิง แต่อร่อยไม่แพ้กัน อีกถ้วยเป็นแกงมันอาลูใส่ผักกาดดองพ่วงด้วยกระดูกอ่อน ใครชอบกินมันต้องหลงรัก รสชาติไม่จัดจ้าน ซดเพลินคล่องคอ จานสุดท้ายเป็นปลานิลตัวโตราดพริกใส่มะเขือเทศ ตามร้านอาหารที่เคยกิน ปลาราดพริกมักเผ็ดและหวานหน่อย แต่ของอาข่าจะเปรี้ยวจากมะเขือเทศ แต่เราชอบ ปลาก็สด ความเปรี้ยวเพิ่มความสดชื่นให้มื้ออาหารได้ดี ส่วนข้าวนึ่งห่อมาในใบตองขนาดพออิ่ม ไม่พอขอเบิ้ลได้เลย 

  หลังจบมื้ออาหาร ป้าต้อยชวนเราดื่มชาร้อน ทำมาจากชาป่าผสมสมุนไพรอีก 2 ชนิด แค่ชงใส่กายังไม่ทันรินลงแก้วกลิ่นก็หอมมาแต่ไกล รสชาตินุ่มนวล เป็นสูตรเฉพาะของพ่อหลวงซาเจ๊ะ ที่อดีตเคยรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และบริเวณบ้านยังเป็นที่ประทับเสวยชาของพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชุมชนดอยผาหมีอีกด้วย

ดอยผาหมี

        ถ้าอยากสนทนาภาษาชาหรือชวนพ่อหลวงซาเจ๊ะรำลึกถึงความหลังสุดประทับใจจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ แวะเวียนมาจิบชาป่า ชิมอาหารอาข่า และนอนพักให้เต็มอิ่มได้ที่ร้านอาหารและโฮมสเตย์ภูฟ้าซาเจ๊ะ

ดริปกาแฟดอยผาหมีด้วยกระบอกไม้ไผ่

เราเติมพลังอาหารจนเต็มท้อง พี่แมวไม่รอรีชวนเราไปดริปกาแฟดอยผาหมีด้วยกระบอกไม้ไผ่ เคยดื่มกาแฟมาก็มาก สารภาพเลยว่าดื่มอย่างเดียวไม่เคยรู้มาก่อนว่าดริปกาแฟต้องทำอย่างไร เหมือนมีคนอ่านใจออกเลยจัดกิจกรรมสนุกมาเพื่อฉัน ขั้นตอนก็ไม่ยาก พี่แมวสอนว่าต้องบดเมล็ดให้ละเอียดด้วยการตำด้วยสาก ยิ่งละเอียดยิ่งดี จากนั้นเอากระดาษกรองกาแฟใส่ไปบนเครื่องดริปกระบอกไม้ไผ่ทำมือ วนน้ำร้อนบนกระดาษกรองสักนิดเพื่อทำความสะอาด แล้วตักกาแฟลงไปสัก 3 ช้อน รินน้ำร้อนพอให้กาแฟเปียกแล้วจึงรินอีกรอบ วนรอบกระดาษกรองจนน้ำกาแฟหยดลงแก้วด้านล่างจนหมด จากนั้นก็พร้อมดื่ม! ทำเอง ดื่มเอง ภูมิใจเอง แม้จะคิดในใจว่าง่าย แต่ก็ต้องอาศัยความใจเย็นไม่น้อยเลย 

โล้ชิงช้ามองวิวสีเขียว

ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่าจัดเพียงปีละครั้ง ครั้งละประมาณ 4 วัน ในช่วงเดือนเมษายน มีความเชื่อว่าชิงช้าสำหรับโล้ในประเพณีจริงห้ามแตะต้องก่อนกำหนด ถ้าเผลอไปแตะหรือโล้เล่นจะถือเป็นการผิดผี ทางชุมชนเลยทำชิงช้าจำลองไว้สำหรับนักท่องเที่ยวให้เปิดประสบการณ์การละเล่นพื้นถิ่น โล้ทีเห็นแต่ต้นไม้สีเขียว สดชื่นฉ่ำปอดมาก

อ้อ! พี่คนขับรถเล่าให้เราฟังว่า ตำนานของประเพณีการโล้ชิงช้ามาจากหนุ่มอาข่าเข้าป่าไปเจอสาวเปลือยกายห้อยโหนเถาวัลย์เล่นอย่างเพลิดเพลิน พอเห็นกันก็ชอบพอกันเลยพาเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน แล้วก็สร้างชิงช้าไว้ให้สาวเจ้าโล้เล่นแทนการโหนเถาวัลย์เหมือนตอนอาศัยอยู่ในป่า บางความเชื่อก็บอกว่าเป็นการฉลองให้กับเทพธิดาแห่งความสมบูรณ์

อาหารอาข่ามื้อที่ 2

  อาหารอาข่ามื้อที่ 2 มื้อนี้คล้าย Chef’s Table ป้าต้อยและทีมงานปรุงอาหารให้เราดูต่อหน้า ประกอบไปด้วย ลาบหมูสูตรอาข่า ไม่มีข้าวคั่วแบบลาบหมูอีสาน อร่อยและทานง่าย ยำผักเพิ่มกำลังวังชา เชื่อแล้วว่าคนอาข่าทานผักกันเก่งมาก ขอชื่นชม นั่นอาจเป็นเคล็ดลับอายุยืนก็เป็นได้ จานถัดมาเป็นไก่ผัดสมุนไพร น้ำพริกถั่วลิสง ความนัวของถั่วเราให้ผ่าน อีกถ้วยเป็นต้มจืดผักกาดดองใส่กระดูกหมู และจานสุดท้ายเป็นมันอาลูบดผัดกับเครื่องเทศสมุนไพร จานนี้ขอให้ 10 คะแนนเต็ม ด้วยรสชาติคล้ายมันบดต่างชาติแต่เครื่องเทศและสมุนไพรทำให้จานนี้แตกต่าง ถ้าประยุกต์กับสลัดก็โก้ไม่เบา

เต้นกระทุ้งไม้ไผ่กับพี่สาวอาข่า

ระหว่างทานอาหารอาข่ามื้อที่ 2 พี่สาวอาข่าเตรียมการแสดงเต้นรำกระทุ้งไม้ไผ่มาให้เราชม เป็นเหมือนการแสดงต้อนรับแขกผู้มาเยือน แถมยังให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการออกลวดลายลีลาไปตามจังหวะและทำนองเพลงอาข่า แอบกระซิบว่าเต้นคร่อมจังหวะไปเยอะ แต่ชอบมากตรงที่ชุดประกอบการแสดงเต็มยศ หน้าผม เสื้อผ้า เครื่องหัวจัดเต็ม!

ชอบมากอันที่สอง เราลองไปสังเกตอุปกรณ์ให้เสียงอย่างลำโพงที่เป็นลำโพงบลูทูธ หรือแม้กระทั่งเพลงประกอบจังหวะยังเป็นเพลงที่เปิดจากแอปพลิเคชันยูทูบ ถ้าจำไม่ผิดคงเป็น ‘รวมเพลงอาข่า 2019’ เห็นแล้วเราประทับใจมาก

ดีดฝ้ายทำเชือกกับคุณแม่อาข่า

ดอยผาหมี
ดอยผาหมี

การทอผ้าเป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวอาข่า คุณแม่อาข่าสูงอายุผู้มากประสบการณ์การทอและปักผ้ามาสาธิตพร้อมกับชวนเราทำไปด้วยกัน ตั้งแต่การดีดฝ้ายให้ฝ้ายแตกตัว แล้วจับมาเป็นไจฝ้ายเพื่อใช้สำหรับการปั่นฝ้าย จะนั่งปั่นหรือยืนปั่นตามแต่จำนวนชั่วโมงบิน พอปั่นจนได้เป็นเส้นด้ายก็เอา 2 ม้วนมารวมกันเป็น 1 เส้น คุณแม่อาข่าอาสาถักเป็นเชือกให้เราดู ใช้เวลาไม่นานก็ได้เชือกเส้นยาว ประกอบด้วย 3 ลาย ทั้งแบบกลม แบบแบน และแบบเปีย 

  พอคุยกันเพลินก็สงสัยว่าคนอาข่าสมัยก่อนทำรองเท้าใส่กันอย่างไร คุณแม่พูดเป็นภาษาอาข่า พี่แมวและป้าต้อยอาสาแปลให้ได้ความว่า พื้นรองเท้าทำจากกาบของกระบอกไม้ไผ่ เพราะมีความทนทานแข็งแรง พอได้แล้วต้องเอามาต้มแล้วจับให้เป็นรูปทรงของเท้า จากนั้นตัดเย็บส่วนบนเป็นรองเท้าด้วยผ้าทอมือ สมัยนั้นใครปักเก่งเย็บเก่งแสดงว่ามีฝีมือ

เติมพลังด้วยข้าวปุกงา

  ข้าวปุกงาเป็นอาหารประกอบพิธีมงคลของชาวอาข่า ทำจากข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ เอามาใส่ครกไม้และตีด้วยสากไม้ทำเอง ตีจนข้าวเหนียวเป็นเนื้อเดียวกันเด้งเหมือนโมจิ จากนั้นใช้สากไม้ม้วนข้าวเหนียวขึ้นมา ตามความเชื่อต้องม้วนให้หมดภายใน 3 ครั้ง จากนั้นใช้ตอกรูดเนื้อข้าวเหนียวให้หลุดออกจากสาก นำมาปั้นเป็นคำๆ คลุกกับเกลือและงาขาว (งาดำจะใช้ในพิธีมงคล) เราลองชิมไป 2 – 3 ชิ้น อิ่มท้องไม่เบา พี่แมวบอกว่าคนอาข่าเวลาเข้าป่าก็จะพกข้าวปุกงาไปทานระหว่างทางด้วย เพราะอยู่ท้อง ส่วนกับข้าวก็หาเอาในป่า ปลาบ้าง พืชผักริมทางบ้าง จากการสังเกต เวลาทานอาหารทุกมื้อเขาจะใช้ใบตองแทนจานหรือถุงพลาสติกสำหรับห่อข้าวและขนม ส่วนกระบอกไม้ไผ่ท่อนพอเหมาะจะใส่แกง

ดอยผาหมี

  ลืมบอกไปว่าการตำข้าวปุกงาต้องแต่งกายด้วยชุดประจำชนเผ่าอาข่าเต็มยศ เราเห็นคุณแม่อาข่าท่านหนึ่งประดับเครื่องหัวด้วยเหรียญรูปี คุณแม่ท่านว่าเป็นเหรียญตกทอดมาจากบรรพบุรุษร่วม 100 ปี แถมมีมูลค่าจริง!

ระบายสีลูกสะบ้าที่เก็บมาจากป่า

ลูกสะบ้ามีมากในป่าใกล้ดอยผาหมี พี่แมวเลยเก็บมาให้เราและแขกผู้มาเยือนใช้ความคิดสร้างสรรค์ เหมือนเป็นการผ่อนคลายด้วยศิลปะบำบัด แม้ทักษะด้านศิลปะจะน้อยนิด แต่การได้ใช้สมาธิและหยุดอยู่กับตัวเองสักพักก็สบายใจดีเหมือนกัน เราเลยออกปากชวนคุณแม่อาข่ามาระบายสีด้วยกัน แม้ปากจะปฏิเสธ แต่มือจับพู่กันจุ่มสีโปรดพร้อมระบายลงลูกสะบ้า ระบายสีไปคุณแม่ก็พูดขึ้นมาว่า “ไม่เคยระบายสีแบบนี้มาก่อน ครั้งแรกในชีวิตเลย”

  ฟังจบเราอมยิ้ม อมยิ้มด้วยความสุขและความน่ารักของผลงานศิลปะชิ้นแรกในชีวิตของคุณแม่

ดอยผาหมี
ดอยผาหมี

คุณแม่อาข่าอวยพรด้วยไข่สีแดง

  ก่อนจากกัน คุณแม่อาข่าทำพิธีเรียกขวัญให้เรา เปรียบเสมือนการอวยพรให้โชคดีและแข็งแรงทั้งกายและจิตใจ นับเป็นสิริมงคลของชีวิต ด้วยการผูกข้อมือจากเชือกที่ถักเองจากฝ้าย และไข่ต้มย้อมสีแดงจากรากของแห้ว

  ระหว่างผูกข้อมือคุณแม่ก็บอกกับเราว่า “เป็นเหมือนแม่กับลูกกันแล้วนะ” 

  จบพิธีเรียกขวัญอย่างเรียบง่าย แต่กลับอบอุ่นในหัวใจอย่างบอกไม่ถูก

ถ้าให้ย้อนก็คงราว 2 สัปดาห์ก่อน ฉันต้องขอบคุณตัวเองที่กล้าตัดสินใจมาผจญภัย 2 วัน 1 คืน กับคนแปลกหน้าที่สุดท้ายกลายเป็นเหมือนคุณยายหรือคุณน้าครอบครัวเดียวกันจนฉันรู้สึกผูกพันด้วย แปลก แต่จริง 

นอกจากดอยผาหมี ฉันเชื่อว่าทุกเส้นทางยังมีประสบการณ์และวิถีชีวิตของผู้คนให้ฉันรวมถึงคุณได้เรียนรู้ และรอคอยการเป็นส่วนหนึ่งซึ่งกันและกันอีกมากมาย เข้าไปเลือกเส้นทางที่เหมาะกับตัวคุณเองได้ที่ journey-d.com

ดอยผาหมี

ชุมชนผาหมี จ.เชียงราย ติดต่อผู้นำท่องเที่ยวโดยชุมชน

นางสาวผกากานต์ รุ่งประชารัตน์ (พี่แมว) 089-449-7942

นางสาวรวิมล มงคลธนภูมิ (พี่แก้ว) 085-678-8508

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ