พอย่างเข้าหน้าแล้งของทุกปี ไฟป่าและหมอกควันพิษทำให้ผู้คนทางภาคเหนือต้องทนทุกข์ทรมาน เสี่ยงอันตรายจากการสูดอากาศที่เต็มไปด้วย PM 2.5

ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับ มีชาวบ้านจำนวนมากอาสาเดินขึ้นเขา บุกเข้าไปดับไฟป่าเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว 

หนึ่งในผู้คนเหล่านี้คือเยาวชนแห่งบ้านดอยช้างป่าแป๋ หมู่บ้านปกาเกอะญอเก่าแก่แห่งอำเภอบ้านโฮ่ง ก่อตั้งมาร่วม 200 ปี รวมกลุ่มกันขึ้นไปดับไฟป่าบนเขาด้วยวิธีคิดและนวัตกรรมการดับไฟแบบใหม่ที่น่าสนใจ

หลายเดือนก่อน ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางขึ้นไปศึกษาวิธีการจัดการไฟป่าบนดอยช้าง จังหวัดลำพูน กับน้อง ๆ เยาวชนเหล่านี้จากบ้านดอยช้างป่าแป๋ หนทางขึ้นไปบนยอดดอยระดับความสูง 1,400 เมตร ไม่มีถนนนอกจากเส้นทางเดินเล็ก ๆ ในป่า เยาวชนเหล่านี้ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะพาเราค่อย ๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไป สลับกับการเดินเท้าขึ้นไปเรื่อย ๆ 

ไม่นานนัก กลางป่าลึกบนดอยมีถังน้ำขนาด 200 ลิตรจัดวางเรียงรายหลายสิบถัง แต่ละถังมีท่อประปาเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระเบียบ

นายบัญชา มุแฮ หรือ ดิปุ๊นุ แกนนำเยาวชนในหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่า ทุกปีนั้น สถานการณ์ไฟป่าทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การดับไฟลำบาก ดับเปลวไฟหมดแล้ว แต่เชื้อไฟที่ไหม้ติดขอนไม้ ตอไม้ ท่อนซุง ลุกโชนขึ้นมาอีก จึงต้องใช้น้ำเท่านั้นถึงจะช่วยดับไฟป่าได้อย่างสนิท เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือแนวกันไฟชุมชนเป็นสันดอยสูงชันอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ จึงมีแนวคิดการนำถังเหล็ก 200 ลิตรไปติดตั้ง 

“เรานำถังน้ำไปวางตามจุดต่าง ๆ บนสันดอยหรือหุบดอยที่มีร่องน้ำฝน โดยใช้ผ้ายางหรือไม้ไผ่เพื่อรองน้ำฝนเก็บไว้ดับไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง หลังจากที่ชุมชนได้ดำเนินการติดตั้งถังน้ำ ผลลัพธ์ที่ได้คือควบคุมไฟป่าได้ทันท่วงที ประหยัดเวลา ผ่อนแรงได้มากกว่า”

แบกถังน้ำ 200 ลิตร ขุดสระบนเขา และอีกหลายภารกิจสู้ไฟป่าของอาสาสมัครแห่งบ้านดอยช้างป่าแป๋

การกำหนดจุดวางถังน้ำแนวกันไฟนั้น บริเวณที่มีไฟขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะหน้าผาที่เป็นจุดเสี่ยงอันตราย เชื้อไฟแรง บริเวณเหล่านี้เป็นจุดที่วางถัง จำนวนถังที่วางในแต่ละจุดขึ้นอยู่กับความแรงของไฟป่า มีจำนวนตั้งแต่ 2 จนถึง 12 ใบ แต่ละจุดห่างกันประมาณ 200 จนถึง 1,000 เมตร ทั้งหมด 140 ถัง 20 จุด

ที่ผ่านมาเวลาเกิดไฟป่า พวกเขาต้องบรรทุกถังน้ำขึ้นเขาด้วยความยากลำบาก แต่ตอนนี้พวกเขาเก็บน้ำไว้ดับไฟป่าบนเขาแต่เนิ่น ๆ เลย 

น้ำที่พวกเขาเก็บกักในถังน้ำก็ได้มาจากตาน้ำบนป่าต้นน้ำที่มีน้ำซับไหลออกมาตลอดปี และแน่นอนว่าหากพวกเขาไม่ช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำแล้ว จะไม่มีน้ำในการดับไฟป่า ตลอดจนน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงชุมชนด้านล่างด้วย

ชุมชนปกาเกอะญอบ้านดอยช้างป่าแป๋มีวิธีจัดการไฟป่ามานานแล้ว เรียกว่า ‘วะ-เหม่-โต’ เป็นภูมิปัญญาการทำแนวกันไฟรอบไร่หมุนเวียนตั้งแต่สมัยบรรพชน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนนั้นมีพิธีกรรมความเชื่อตามชนเผ่าเพื่อเคารพธรรมชาติอย่างสูงสุด เจ้าของไร่และเพื่อนบ้านจะช่วยกันเฝ้าระวังไฟไม่ให้ลุกลามออกนอกเขตแนวกันไฟ จนกว่าไฟในไร่หมุนเวียนจะดับสนิท 

แต่หลายปีที่ผ่านมา เกิดไฟป่าจากรอบนอกลุกลามเข้ามาในเขตหมู่บ้านที่เป็นไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน ทำให้ไร่ของชาวบ้านไหม้ สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่บริเวณสวนนาของชาวบ้านและพื้นที่สำคัญต่าง ๆ ในหมู่บ้าน

แบกถังน้ำ 200 ลิตร ขุดสระบนเขา และอีกหลายภารกิจสู้ไฟป่าของอาสาสมัครแห่งบ้านดอยช้างป่าแป๋

ชาวบ้านจึงร่วมใจกันทำแนวกันไฟขึ้นให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำลำพูนและเชียงใหม่ จนกระทั่งปัจจุบันความกว้างแนวกันไฟ 8 – 10 เมตร และความยาวรอบหมู่บ้าน 30 กิโลเมตร เพื่อปกป้องพื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ทำกิน และพื้นที่อยู่อาศัย 

แต่ปัจจุบันมีการล่าสัตว์ เผาป่า เก็บของป่าเป็นประจำ ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าและลุกลามเข้ามาในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำพูนและเชียงใหม่เป็นประจำทุกปี ชาวบ้านป่าแป๋ต้องจัดอาสาสมัครไล่ดับไฟทั้งกลางวันและกลางคืน

โชคดีที่เยาวชนในหมู่บ้านมีความตื่นตัวกันมาก มีอาสาสมัครมาช่วยจัดการไฟป่าอย่างต่อเนื่อง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่กำลังเรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรี เป็นกำลังสำคัญในการประยุกต์นำความรู้ใหม่ ๆ มาผสมผสานกับภูมิปัญญาของคนโบราณ

จุดที่สองที่น้อง ๆ พาเราไปดู คือสระน้ำบนดอย

ใครจะบ้ามาขุดสระขนาดใหญ่บนภูเขาสูง

แบกถังน้ำ 200 ลิตร ขุดสระบนเขา และอีกหลายภารกิจสู้ไฟป่าของอาสาสมัครแห่งบ้านดอยช้างป่าแป๋

ภาพที่เราเห็นคือสระน้ำขนาด 18 x 20 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร คาดว่าน่าจะเก็บกักน้ำได้ประมาณ 400,000 ลิตร เพื่อใช้ดับไฟป่าด้วยระบบสปริงเกอร์ และอยู่ไม่ไกลจากตาน้ำที่มีรางน้ำส่งน้ำเข้าสระน้ำตลอดเวลา

“สระน้ำบนเขา พวกเราได้แนวคิดมาจากชาวปกาเกอะญอรุ่นเก่าที่มักขุดบ่อน้ำเล็ก ๆ ไว้บนเขาใกล้กับตาน้ำ เพื่อไว้ใช้ในหน้าแล้ง พวกเราจึงเอาวิธีนี้มาประยุกต์ใช้ เนื่องจากไฟป่าโดยธรรมชาติจะไหม้ลุกลามจากป่าด้านล่างขึ้นบนยอด บางพื้นที่เป็นหน้าผาลุกลามขึ้นมา เราเลยใช้วิธีขุดสระน้ำบนยอดเขา และต่อสปริงเกอร์หรือสายยางหลายสาย คอยดับไฟที่ลามขึ้นมา ซึ่งง่ายกว่าต้องแบกน้ำขึ้นเขามาดับไฟ ลำบากมาก

“อีกประการหนึ่ง ไฟที่ไหม้ขอนไม้ ต้นไม้ จะดับยากมาก ลำพังใช้เครื่องเป่าลมหรือเอาไม้ตบ ๆ แยกเชื้อเพลิงไม่สำเร็จ ต้องใช้น้ำดับอย่างเดียว การดับไฟข้างบนจึงใช้น้ำเป็นสำคัญ” 

เราเดินดูท่อสปริงเกอร์หลายหัวที่หันหน้าลงสู่หน้าผา ราวกับเป็นปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่ที่เตรียมพร้อมคอยสกัดกั้นไฟป่าผู้รุกรานในหน้าแล้ง

“พวกผมระดมอาสาสมัครขึ้นมาช่วยขุดหลายสิบคนเป็นเวลา 10 กว่าวัน จนสำเร็จด้วยงบประมาณแสนกว่าบาท”

สระเหล่านี้มีอยู่หลายแห่งบนยอดเขากลางป่าดอยช้างที่มีอาณาบริเวณร่วม 20,000 ไร่ ดิปุ๊นุเคยเขียนบันทึกไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า

แบกถังน้ำ 200 ลิตร ขุดสระบนเขา และอีกหลายภารกิจสู้ไฟป่าของอาสาสมัครแห่งบ้านดอยช้างป่าแป๋

“16 กุมภาพันธ์​ พ.ศ. 2566 คือวันแรกที่พวกเรามาทำแนวกันไฟครับ เมื่อถึงหน้าร้อน พวกเราจะร่วมแรงร่วมใจสร้างแนวกันไฟ เพื่อปกป้องพื้นที่ป่าต้นน้ำกว่า 20,000 ไร่ เราสร้างแนวกันไฟยาว 30 กิโลเมตร รอบผืนป่าเหล่านี้ที่มีตาน้ำผุดมากกว่า 100 จุด ในแต่ละปีมีตาน้ำผุดเฉลี่ย 600 ล้านกว่าลิตรต่อปี (สถิติในหน้าร้อน) 

“พวกเราเข้าป่าประกอบหัวกระจายน้ำสปริงเกอร์ ทดลองวาง ติดตั้ง แต่ละหัวยิงน้ำได้ไกลที่รัศมีวงกลม 15 เมตร ได้ใช้งานป้องกันไฟป่าเร็ว ๆ นี้แน่นอน

“เป็นอีกวันที่พวกเรามีความตั้งใจสุด ๆ ในการทำแนวกันไฟระบบสปริงเกอร์ มีลุงป้าน้าอาและทีมน้องเยาวชน เริ่มจากออกเดินทางจากหมู่บ้าน พร้อมกับขนท่อพีอี จอบ ขวาน และอุปกรณ์อื่น ๆ เข้าป่าเพื่อเดินทางไปที่เป้าหมาย เมื่อถึงที่ก็ทำการขุดร่องเพื่อวางฝังท่อพีอี วันนี้พวกเราขุดร่องวางท่อพีอีได้ 300 เมตร ขอบคุณทุกความร่วมมือร่วมใจครับ”

ทุกวันนี้เยาวชนหลายสิบคนแห่งบ้านดอยช้างป่าแป๋ผลัดเวรกันขึ้นไปดับไฟป่าบนดอยช้าง ซึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ล้วน ๆ ที่เผาป่า ล่าสัตว์ หรือไม่ก็เพื่อหาของป่า หารู้ไม่ว่าไม้ขีดไฟก้านเดียวไหม้ป่าเป็นพัน ๆ ไร่ได้ แต่น้ำจากสระน้ำ ถังน้ำ และสปริงเกอร์ที่เตรียมตัวไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดไฟป่า ช่วยทุ่นแรงและดับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว

ระหว่างทาง เยาวชนเหล่านี้ชี้ให้ดูเครื่องวัดคุณภาพอากาศ และ IP Camera (Internet Protocol Camera) คือกล้องวงจรปิดที่รวมเอาคุณสมบัติของ Web Server ไว้ในตัวกล้องเพื่อดูภาพสดผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรือระบบเครือข่ายได้ โดยผู้ใช้งานดูภาพจากระยะไกลในหมู่บ้านได้ เป็นการเฝ้าระวังไฟป่าว่าเกิดเหตุที่ใด จะได้ส่งคนไปดับไฟได้ทันท่วงที นับเป็นการนำอุปกรณ์เทคโนโลยีราคาไม่แพงมาช่วยในการจัดการไฟป่าได้

รถมอเตอร์ไซค์พาเรามาจนสุดถนน ต่อจากนี้ต้องเดินขึ้นเขาไปจนถึงยอดดอยช้างระดับความสูง 1,400 เมตร จากสภาพป่าด้านล่างที่เราผ่านมา ตั้งแต่ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ จนไต่ระดับความสูงมาถึงป่าบริเวณนี้คือสภาพป่าดิบเขา

แบกถังน้ำ 200 ลิตร ขุดสระบนเขา และอีกหลายภารกิจสู้ไฟป่าของอาสาสมัครแห่งบ้านดอยช้างป่าแป๋

ระหว่างทางที่เราเดินขึ้นยอดดอย เต็มไปด้วยต้นก่อ สัญลักษณ์ของป่าดิบเขา ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุมไปด้วยมอสส์ ไลเคน ขึ้นหนาแน่นเขียวขจีไปทั่ว

สภาพของเรือนไม้และระบบนิเวศไม่ต่างจากบนดอยปุยหรือดอยอินทนนท์บางแห่ง

ชาวปกาเกอะญอแห่งชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ที่มีวัฒนธรรมความเชื่อในการรักษาป่ามายาวนาน จะรักษาป่าดิบเขาได้อย่างดีเยี่ยม พวกเขาร่วมแรงร่วมใจกันทำแนวกันไฟ ป้องกันไฟป่าไม่ให้ลุกลามขึ้นไปถึงป่าดิบเขาจนสำเร็จ

มอสส์ ไลเคน พืชเล็ก ๆ ที่ใช้เวลาเติบโตหลายสิบปีจึงอยู่รอด และบริเวณนี้เป็นป่าต้นน้ำของลำน้ำวังหลวง และไหลลงสู่แม่น้ำปิง หล่อเลี้ยงชีวิตคนพื้นราบหลายสิบล้านคน

ก่อนกลับ เราถามดิปุ๊นุว่า ทำไมหมู่บ้านแถวนี้จึงไม่ปลูกข้าวโพดที่มีราคาสูงมากเหมือนกับที่อื่น ๆ

“หลายปีก่อน กระแสปลูกไร่ข้าวโพดกำลังเป็นที่สนใจของชาวบ้าน พวกเราจึงไปดูงานหมู่บ้านหลายแห่งที่ปลูกข้าวโพด ส่วนใหญ่เห็นแต่เขาหัวโล้นและความแห้งแล้ง พอกลับมา พวกเราก็คุยแลกเปลี่ยนกันว่า หากปลูกข้าวโพดแล้ววิถีชีวิตและสภาพภูมิประเทศของพวกเราจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด จากบทเรียนที่ได้มาจากการไปดูที่อื่น

“สุดท้ายตกลงกันว่า ไม่ปลูกข้าวโพดเด็ดขาด”

ขอบคุณพี่น้องปกาเกอะญอบ้านดอยช้างป่าแป๋จริง ๆ 

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว