ชวน

ชวน มา ดู

ชวน มา ดู ที่ ดูๆ บลาๆ

กล้าและแก้วไม่ได้มารถไฟ แต่เราชวนคุณนั่งรถไฟก็ดี รถยนต์ก็ได้ ขับมาหน่อยไม่ไกลเมืองกรุง เยือนลาดกระบัง แวะพักกายริมคลองประเวศบุรีรมย์ ที่ Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ชื่อน่ารักในตลาดหลวงแพ่ง 108 ปี

เราลัดเลาะจากจุดจอดรถผ่านบ้านไม้หลายสิบหลัง บ้างเป็นร้านของชำ บ้างเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว (เจ้าถิ่นกระซิบว่าเด็ดมาก) ปะปนกับร่องรอยความงามและสีสันครั้งอดีตของสถาปัตยกรรมเรือนแถวไม้เลียบคลอง มีเสียงเรือยนต์แล่นชิวท้าทายสายตาคลอเคล้าบรรยากาศอยู่เป็นระยะ แถมผู้คนคราวปู่ย่ายังนั่งส่งยิ้มหวานทักทายตลอดเส้นทาง

Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง
Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง

ชิมรูป-รส ของชุมชมคลองหลวงแพ่งจนเพลิน สองเท้าก็หยุดหน้าคาเฟ่พ่วงที่พักแบบ Eco Stay ที่แต่งองค์ทรงเครื่องมาดโก้ ทว่ากลมกลืนกับเพื่อนบ้านละแวกเดียวกันอย่างไม่เคอะเขิน เรานั่งพักบริเวณชานไม้พอให้ลมเย็นๆ ชะความร้อนจากผิวกาย เพียงครู่เดียว เอก-สุเทพ พาทสุธีสุทธิ พี่ใหญ่ของบ้านก็เดินออกมาต้อนรับอย่างเป็นกันเอง

เขาส่งน้ำอัญชัญแก้วโตให้เราดับกระหาย ก่อนบทสนทนาจะเริ่มต้นขึ้นอย่าง (ไม่) งูๆ ปลาๆ

เยี่ยมๆ มองๆ

เอกแนะนำตัวว่าเป็นนักออกแบบ ภรรยาก็เป็นนักออกแบบ และเขาก็มีบริษัทรับออกแบบ

มา เป็นน้องที่ออฟฟิศ, เธอชอบคุยเกทับเรื่องบ้านริมคลองของคุณยายให้เอกฟังเสมอ ประจวบกับพี่ใหญ่ของบ้านดันหลงใหลคลองมาแต่ไหนแต่ไร ฟังมาก็หลายครา เอกเลยขอลงพื้นที่จริงสำรวจให้เห็นกับตาสักครั้ง

ริมคลองที่สาวเจ้าว่า คือริมคลองประเวศบุรีรมย์ สองฝั่งน้ำขนาบด้วยเรือนแถวไม้เรียงต่อกันยาวเหยียด มีตลาดหลวงแพ่งที่เคยคึกคักซ่อนตัวอยู่ด้านใน คลองเส้นนี้เปรียบเสมือนมอเตอร์เวย์ยุคก่อน เป็นเส้นทางขนส่ง-ค้าขายของพ่อค้าชาวจีน คลองประเวศฯ มีรอยต่อกับคลองหลวงแพ่ง ซึ่งเป็นเขตแดนแบ่งระหว่างกรุงเทพฯ กับฉะเชิงเทรา 

Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง

“พอมาเดินละแวกนี้แล้วรู้สึกดีนะ ไม่ว่าจะนั่งตรงไหน เดินตรงไหน สถานที่ไม่กีดกันเราเลย ไม่มีสายตาจ้องว่าเราทำอะไรกัน ยิ่งเห็นเรือ เรายิ่งประหลาดที่เรารู้สึกตื่นเต้น ทั้งที่มันเป็นเรื่องปกติ” เขาเล่าความประทับใจครั้งแรก

มาเยือนครั้งแรกย่อมมาเยือนครั้งที่ 2 ครั้งที่ 4 และครั้งที่… นับไม่ถ้วน พอดีกันกับเอกเคยทำงานร่วมกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เขามองเห็นศักยภาพบางอย่างจึงอยากทำความรู้จักผู้นำชุมชน แม่ไฝ-คือคนคนนั้น 

เธอเป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวเจ้าเด็ดดั้งเดิมและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของชุมชน หลังจากล้อมวงสนทนากับเจ้าถิ่น เอกได้ความว่า ชุมชนริมน้ำแห่งนี้กลมเกลียวและพยายามเคลื่อนไหวมาโดยตลอด มีตลาดทุกสุดสัปดาห์ มีกิจกรรมชวนเพื่อนบ้านเรือนเคียงมาร้องคาราโอเกะ เพื่อให้ชุมชนยังมีชีวิต มีคนไปมาหาสู่ คนพื้นที่ออกมาทำความรู้จักบ้านและวิถีริมน้ำของบรรพบุรุษ ความน่ารักมาก คือคนในชุมชนรวมเงินกันสร้างสะพานข้ามฟากให้สองฝั่งน้ำเชื่อมถึงกัน

“การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคือความจริงใจ” นั่นคือหัวใจสำคัญที่เขาติดตัวมาด้วยทุกครั้ง

“พอเราอยากเป็นส่วนหนึ่งกับที่นี่ เลยเทียวชวนคนมาดูว่าทำอะไรได้บ้าง” เอกเยี่ยมๆ มองๆ อยู่หลายปี ทั้งสังเกตการณ์ นั่งเรือ พูดคุย จนเข้าใจคนในชุมชน และผลลัพธ์ก็เริ่มสัมฤทธิ์ราว 3 ปีก่อน

Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง

จริงๆ จังๆ

“สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า ถ้าพูดให้ตลกมันเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ” เขาพูดพร้อมรอยยิ้มแต้มใบหน้า

เหตุแห่งอารมณ์เกิดจากเอกและน้องๆ ที่ออฟฟิศอยากเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนริมคลองหลวงแพ่งและอยากให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตนเอง บวกกับความหวังก้อนกลมของแม่ไฝที่อยากเห็นชุมชนเกิดการเคลื่อนไหวอีกครั้ง

อารมณ์ชั่ววูบตอนต้น เริ่มจากเอกและภรรยานั่งจิบกาแฟร้านหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานร้านเป็นคนหนุ่มสาวอายุ 20 ปลาย นักออกแบบชายไม่สนในสิ่งที่คนเหล่านั้นกำลังทำ แต่สนใจวิธีการทำงานที่เปี่ยมด้วยความใส่ใจ ขนาดมีคนลุกจากโต๊ะ พวกเขาก็ขยับโต๊ะเก้าอี้ให้กลับมาเหมือนเดิม ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า หมกหมุ่นอยู่กับความตั้งใจ

“ทุกอย่างแวบเข้ามาค่อนข้างเร็ว เราเห็นน้องๆ แล้วอยากมีบรรยากาศแบบนั้นบ้าง เลยโทรหาแม่ไฝ ณ นาทีนั้น ตอนความคิดกำลังพลุ่งพล่าน กลัวว่าถ้าผ่านไปอีกสักนาที สติจะกลับมา เราถามแม่ไฝว่า มีห้องว่างให้เช่ามั้ย”

เอกได้รับคำตอบจากปลายสายเป็นเรือนแถวไม้ขนาด 2 ห้องริมสุดทางเดินที่ด้านหลังทะลุติดถนน

Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง

จากตลาดริมน้ำที่เคยคึกคัก กลับเงียบซา ด้วยการคมนาคมที่สะดวกสบายขึ้น มีถนนตัดผ่าน ผู้คนทำมาค้าขายย้ายออกไปอยู่ตามเส้นสัญจรทางบก เรือนไม้หลังเดิมกลายเป็นบ้านเช่าหลังใหม่ คลองประเวศฯ ถูกลดบทบาทกลายเป็นคลองระบายน้ำ เอกว่าปัญหาของที่นี่คือไม่มีคน หมายความว่า คนอาศัยอยู่น้อย ทำให้สถานที่ไม่ได้รับการดูแล

 พอไม่ได้รับการดูแลก็เปรียบเหมือนสถานที่ร้าง คนเริ่มห่อเหี่ยวและไม่เกิดการปฏิสัมพันธ์กัน

“เราจะทำยังไงให้คนอยู่กับสถานที่นี้ได้นาน ไม่ใช่ทุกคนมาแล้วเขาจะรู้สึกเหมือนเรา วิธีที่จะทำให้เขารู้สึกดี เครื่องมือที่ง่ายที่สุดคือการให้เขาใช้เวลากับธรรมชาติมากขึ้นอีกหน่อย มากจนเขาเห็น มากจนเขาสัมผัสได้

“เป้าหมายของเราแค่ให้คนกับสถานที่ปฏิสัมพันธ์กันจนกระทั่งเกิดวัฒนธรรมชุมชน”

Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง
Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง

ดูๆ บลาๆ

การตัดสินใจด้วยอารมณ์และความรู้สึกแวบแรกในหัวใจ ก่อร่างเป็น Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้สองชั้นที่มีชานบ้านกว้างขว้างไว้นั่งๆ นอนๆ รับลมเย็นจากแอร์ธรรมชาติ ตัวบ้านมีชุดเก้าอี้รับแขกสำหรับจิบกาแฟและทานอาหาร แถมตกแต่งด้วยของกระจุกกระจิกน่ารักเหมือนเยือนบ้านมิตรสหาย อบอุ่นตั้งแต่วินาทีแรกที่เท้าก้าวเข้ามาสัมผัส

“การทำงานของเรา เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เราไม่ต้องการทำให้เราเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ชุมชนต้องอยู่ด้วยชุมชนเอง ส่วนเราลูบหน้าทาปากเยอะกว่าคนอื่นหน่อย และยังต้องใช้นามสกุลคลองหลวงแพ่ง”

Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง
Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง
Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง

สถานที่บรรยากาศดีไม่ไกลเมืองกรุงแห่งนี้ เคยจัดกิจกรรมชวนคนมาเดินตลาดนัดงานคราฟต์ มีเพื่อนพ้องมาเล่นดนตรีสร้างสีสัน  สิ่งที่คนทำและคนมาเยือนได้รับคือความสุขอู้ฟู่ แน่นอนว่า ตลาดคลองหลวงแพ่งกลับมามีชีวิต

ส่วนคนทำงาน เอกไม่ได้จ้างพนักงานใหม่ แต่เป็นทีมที่รักจากออฟฟิศ ผลัดกันมาร่วมแรงร่วมใจช่วยกันดูแลบ้านหลังนี้ และคาเฟ่สุดป๊อปยังมีร้านรวงขนาดจิ๋วเคียงข้าง บรรจุสินค้างานคราฟต์จากคนรู้จัก มีไหมพรมสีสวยที่กลายเป็นกระเป๋าหลากทรง เสื้อผ้าฝ้ายจากธรรมชาติ หมวกทรงเท่ และข้าวของที่เห็นแล้วสีหน้าแสดงออกว่าอยากจับจอง

“ช่วงปีแรกเราชวนเพื่อน ชวนพี่น้อง และครอบครัวเรามา คนแถวนี้เขาก็ชวนคนในพื้นที่มา ซึ่งแขกเกินกว่าครึ่งเป็นลูกหลานที่มาก่อนแล้วกลับไปชวนพ่อแม่ บางคนอยู่ราชบุรีก็มา เหมือนเขาได้กลับมารำลึกวิถีริมน้ำด้วยกัน”

Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง

ระหว่างบทสนทนากำลังลื่นไหนดั่งสายน้ำ มา สาวตาคมยกข้าวไก่ก้อนสูตรพิเศษ ปลาหมึกทอดหนึบหนับ และโรตีชีส มาเป็นของแกล้มบทสนทนา กินไป คุยไป อร่อยเพลินเกิมห้ามใจ แถมบรรยากาศริมน้ำก็รื่มรมย์ มีเสียงคาราโอเกะเพลงลูกกรุงของวัยเก๋าแว่วดังสลับกับเสียงเรือยนต์ ธรรมดาและเรียบง่ายจนเราพลอยอิ่มเอมใจ (อิ่มท้องด้วย)

เอกสะกิดห้วงความคิดที่ลอยในอากาศของเราด้วยการเชิญชวนให้แวะเยือน ไปๆ มาๆ ที่พัก Eco Stay หลังกะทัดรัดขนาด 3 ห้องนอน อยู่ถัดจาก ดูๆ บลาๆ เพียงผนังไม้กั้นกลาง แต่รับรองว่าเป็นส่วนตัวจนฉงน

ก่อนสาวเท้า เราถามเอกว่า ดูๆ บลาๆ ชื่อนี้ได้แต่ใดมา

“มาจากภรรยาเรา เป็นคำแฝงของ งูๆ ปลาๆ” เอกตอบด้วยเสียงหัวเราะ

“เขาสื่อสารไม่เก่ง แต่เขารู้ว่าการลงมือทำได้อะไรกลับมาเสมอ”

ไปๆ มาๆ

ไปๆ มาๆ ที่พักเรือนแถวไม้ริมน้ำเกิดหลังจากคาเฟ่ไม่กี่ขวบปี มีทั้งหมด 3 ห้องนอน แบ่งเป็น ป.1 ป.2 และ ป.3 เหตุผลที่ตั้งชื่อตามลำดับประถม เพราะบานหน้าต่างประตูไม้ที่ติดอยู่หน้าห้องดันคล้ายกับหน้าต่างโรงเรียน ซึ่งโครงสร้างของบ้านพักมีทั้งโครงสร้างเดิมประกอบกับไม้เก่า-ไม้ใหม่ ที่เอกตระเวนหาไม้ที่ถูกตาต้องใจมาผสมให้กลมกลืน

Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง

ด้านในขนาดกำลังดีสำหรับ 2 คน มีเพียงข้าวของจำเป็น ส่วนห้องน้ำไม่มีประตูแต่เป็นผ้าผืนยาวกั้นระหว่างห้องนอน เพื่อประหยัดพื้นที่ให้ได้มากที่สุด แต่ละห้องจะมีชานหน้าบ้านส่วนตัวไว้นั่งรับลมและนอนดูดาว

ความสนุกของการพักท่ามกลางชุมชนริมน้ำคือการล่องเรือ ไปๆ มาๆ มีกิจกรรมนั่งเรือล่องคลอง มีจุดจอดแวะทักทายเพื่อนบ้าน อย่าง บ้านดนตรีเยาวชนคลองหลวงแพ่ง เปิดสอนดนตรีฟรีสำหรับเยาวชน มีร้านขายยาเต็กจือโอสถ สถานตำรับยาโบราณที่อยู่คู่คลองหลวงแพ่งมายาวนาน มีผักสวนครัวหลังบ้านให้เก็บมาปรุงอาหารด้วยนะ

“คนต่างชาติมาพักเยอะ เคยมีคนฮังการีเอาคายัคติดเครื่องมาเล่น บางคนสนใจคอมมูนิตี้ บางคนก็อินมากจินตนาการว่าเป็นบ้านเก่าแก่ร้อยปี เราว่าดีนะ การเหลือพื้นที่ว่างให้คนได้เติมเองจะทำให้เขาเข้าถึงได้ง่าย

Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง
Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง

“ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นสถานที่ที่อิ่มเสียจนคนมาแล้วเขารู้สึกไม่มีส่วนร่วม เราว่าการที่คนมาแล้วรู้สึกดีกลับไป ไม่ใช่เพราะเราหรอก เป็นเพราะสภาพธรรมชาติ แม่ ป้า แกเขียนบทมาดี” เขายิ้มก่อนเสริมว่า “คนที่มาหาเรากลายเป็นครอบครัวทั้งที่ไม่เคยรู้จักกัน แต่สิ่งที่เชื่อมโยงเราเข้าหากันคือสถานที่ กลายเป็นว่าคุ้นเคยกันไปโดยปริยาย”

สิ่งที่ชายคนนี้และทีมงานอันเป็นที่รักมองเห็นในอนาคต คือเพื่อนบ้านที่คิดเหมือนกันกับเขา เพียงแรงของพวกเขาตลอดระยะเวลา 3 ปี อาจไม่พอให้ชุมชนคลองหลวงแพ่งกลับมาคึกคักเช่นอดีต เมื่อเทียบกับศักยภาพที่ชุมชนมี

“เราจำเป็นต้องออกแรงเพิ่ม เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นแล้ว แต่จำนวนคนที่จะช่วยกันผลักดันให้ชุมชนเป็นไปยังไม่พอ เราเอาแรงพวกเรามาใส่ ก็ยังขาด มันยังไม่พอสำหรับอนาคตที่จะทำให้ชุมชนเดินต่อไปได้

“ต้องมีคนแบบเรา คนที่อยากเป็นครอบครัวเดียวกันกับเพื่อนบ้านเหล่านี้ เราหวังว่ามันจะเกิดขึ้น”

เราปล่อยให้สายตาและความรู้สึกของเอกทอดลงกับสายน้ำและธรรมชาติรอบตัว

Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง

“การทำ Dodoblahblah เราต้องการให้คนรับรู้ถึงความอิ่มใจ เป็นเรื่องปรัชญาพุทธหน่อยนะ ความรู้สึกไม่มีทางอยู่กับเราได้ตลอด สุดท้ายเหลือแต่ความทรงจำ เราไม่ได้คาดหวังให้คนมาที่นี่แล้วเขาต้องมาอีกหรือไม่มาอีก 

“ถ้าเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความรู้สึกดีให้เขา แล้วเขาเอาความรู้สึกนั้นไปพัฒนาต่อเป็นอย่างอื่นหรือทำให้วันต่อไปของเขาดีขึ้น นั่นคือเป้าหมาย เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่เราได้รับจากชุมชนนี้ตั้งแต่วันแรก”

บางครั้งประโยคบอกรัก ก็ไม่จำเป็นต้องมีคำว่ารัก

Dodoblahblah คาเฟ่เรือนแถวไม้ริมน้ำย่านลาดกระบังที่เชื่อมวิถีคนกับวิถีคลอง

Dodoblahblah Cafe

ที่อยู่ 14/3 ซอยแก้วเจริญ ตลาดหลวงแพ่ง 108 ปี  ถนนขุมทอง-ลำต้อยติ่ง แขวงขุมทอง กรุงเทพฯ (แผนที่)

เปิดวันศุกร์ เวลา 9.30 – 19.00 น.

เปิดวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 8.30 – 19.00 น.

เบอร์โทรศัพท์ 09 6946 8609

Facebook : Dodoblahblah cafe

*Dodoblahblah Cafe ปิดทำการถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสตัวร้าย เปิดเมื่อไหร่ไปดูๆ กันนะ

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน