20 มิถุนายน 2018
22 K

สูงขึ้นไปบนต้นสำโรงต้นใหญ่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชายคนหนึ่งปีนขึ้นไปโดยมีระบบเชือกผูกโยงตัวอย่างปลอดภัย เสียงเลื่อยกิ่งดังขึ้นทีละน้อย ต้นไม้ใหญ่ค่อยๆ โปร่งสวย กิ่งอ่อนแอถูกกำจัดไป

นี่คือ ‘รุกขกร’ อาชีพที่ทั่วโลกรู้จักดีแต่ในไทยเพิ่งตื่นตัวเมื่อ 3 – 4 ปีที่ผ่านมา พวกเขาทำหน้าที่ดูแลตัดแต่งต้นไม้  โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ รุกขกรที่ฉันเห็นเป็นหนึ่งในรุกขกรรุ่นใหม่จากหลักสูตร ‘โรงเรียนต้นไม้ใหญ่’ ที่ก่อตั้งโดย Big Trees กลุ่มคนเมืองที่ต้องการรณรงค์ให้คนเมืองด้วยกันเห็นคุณค่าและรักษาต้นไม้ใหญ่ในเมืองไว้ ซึ่งนอกจากก่อตั้งโรงเรียนสอนคนดูแลต้นไม้ เร็วๆ นี้ The Cloud และ TCP Spirit ได้ร่วมมือกับ Big Trees จัดกิจกรรม ‘TCP Spirit ครั้งที่ 1 : หมอต้นไม้ สวนลุมพินี’ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ขึ้นมาเพื่อชวนคนเมืองออกมาเรียนรู้วิธีดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองด้วยกัน

TCP Spirit เป็นโครงการอาสาสมัครของกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของไทยและของโลก อาทิ กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ รวมทั้งแบรนด์ขนมขบเคี้ยวซันสแนค โดยโครงการนี้ต่อยอดมาจากจากโครงการ ‘กระทิงแดง สปิริต’ โครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืนผ่านกิจกรรมอาสาสมัครมายาวนาน โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่กิจกรรมอาสาสมัครของกลุ่มธุรกิจ TCP จะอยู่ภายใต้ชื่อเรียกใหม่ ‘TCP Spirit ‘ เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นของทั้งองค์กรในการส่งต่อพลังให้ชุมชนและสังคม โดยชวนคนรุ่นใหม่ออกมามีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนและสังคม

ในปีนี้ TCP Spirit จึงอยากชวนคนเมืองรุ่นใหม่มาเรียนรู้วิธีการดูแลต้นไม้ใหญ่ร่วมกันผ่านกิจกรรม ‘หมอต้นไม้’ เปิดโอกาสให้ทุกคนที่อยากมีส่วนร่วมกับการดูแลต้นไม้ในเมือง แม้ไม่มีความรู้มาก่อนก็เข้าร่วมได้ ขอแค่มีใจอยากเรียนรู้ไปด้วยกันก็พอแล้ว 

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

แล้วทำไมต้องเป็นต้นไม้ใหญ่?

อาจารย์อรยา สูตะบุตร แกนนำกลุ่ม Big Trees อธิบายว่า ต้นไม้ใหญ่คือกำลังหลักในการผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้เมือง ขณะที่ต้นไม้ต้นเล็ก พุ่มไม้จิ๋ว หรือสนามหญ้าเขียวนั้นสร้างอากาศให้เราได้น้อยนิด มีการประเมินไว้ว่า ต้นไม้ใหญ่ 1 ต้นผลิตออกซิเจนได้มากจนพอสำหรับ 1 ครอบครัว นอกจากนั้น ต้นไม้ใหญ่ยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำซึ่งช่วยเติมน้ำให้ผิวดินและป้องกันน้ำท่วมเมืองได้ อีกทั้งสีเขียวชวนรื่นรมย์ของทรงพุ่มกว้างใหญ่ยังคลายเครียดให้คนเมืองได้อย่างดี

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

และหากคุณเคยปีนป่ายหรือคุ้นเคยกับไม้ใหญ่สักต้นไม่ว่าจะในบ้าน โรงเรียน หรือชุมชน คุณคงรู้ดีว่า ต้นไม้ใหญ่ที่ผ่านกาลเวลามานั้นมีคุณค่าไม่ต่างจากโบราณสถานเก่าแก่ เป็นหมุดหมายที่ช่วยเชื่อมโยงเรากับรากในอดีต

ยิ่งเมืองมีต้นไม้ใหญ่มากเท่าไหร่จึงยิ่งน่าอยู่

และยิ่งมีการดูแลจัดการ ต้นไม้ใหญ่ก็ยิ่งอยู่กับเราและเมืองได้ยาวนาน

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

ที่จริงก่อนหน้านี้กรุงเทพฯ ก็ ‘จัดการ’ ต้นไม้ใหญ่อยู่แล้ว แต่นั่นมักหมายถึงการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เช่น บั่นยอดต้นไม้ใต้สายไฟจนกุด ซึ่งในระยะยาวทำให้ต้นไม้อ่อนแอหักโค่น หรือตัดต้นไม้ใหญ่ทิ้งไปอย่างน่าเสียดายเพราะเกรงว่าจะสร้างอันตรายกับผู้คน

รุกขกร ‘จัดการ’ ต้นไม้ใหญ่ด้วยวิธีต่างออกไป เป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

รุกขกรเป็นเหมือนช่างตัดผม-อาจารย์อรยาเปรียบเทียบ แล้วอธิบายต่อว่า ช่างตัดผมคนนี้มีหน้าที่ช่วยให้ต้นไม้ใหญ่ในเมืองสวยงาม แข็งแรง และปลอดภัย เมื่อเห็นไม้ใหญ่ 1 ต้น พวกเขาจะปีนขึ้นไปเพื่อตัดแต่งให้มันมีรูปทรงสวยงามตามสายพันธุ์ ดูแลด้วยวิธี เช่น การตัดกิ่งอ่อนแออย่างถูกต้อง สางใบให้โปร่งมีแสงผ่านได้ และจัดการส่วนที่เป็นปัญหาและอาจเป็นปัญหา เช่น กิ่งไม้ที่มีแนวโน้มจะหักร่วง เมื่อตัดแต่งถูกวิธี ต้นไม้จะเติบโตงดงามและอยู่ในสภาพที่ดีได้ยาวนาน ไม่ต้องคอยตัดแต่งบ่อยๆ

มากกว่านั้น พวกเขายังไม่ได้ทำงานโดยลำพัง ในกรณีที่ต้นไม้มีอาการป่วยลึกไปกว่าแค่ปัญหาพื้นฐาน รุกขกรจะประสานส่งต่อให้กับ ‘หมอต้นไม้’ ที่มีหน้าที่รักษาโรคซึ่งใช้ความรู้เกี่ยวกับโรคพืชที่ซับซ้อน รวมถึงฟื้นฟูต้นไม้ชราให้กลับมาสุขภาพดี

รุกขกรรุ่นใหม่จากโรงเรียนต้นไม้มาจากหลากหลายอาชีพ แต่ที่มีร่วมกันคือใจที่รักและอยากดูแลต้นไม้ใหญ่ให้ดี (และแน่นอน ต้องไม่กลัวความสูงลิ่วของที่ทำงาน) น่าชื่นใจที่ตอนนี้กรุงเทพฯ เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ใหญ่กว่าแต่ก่อน นั่นทำให้พวกเขาได้เข้าไปช่วยดูแลต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นสำโรงในเขตโบราณสถานของอยุธยาต้นนี้ และยังได้ถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้สนใจมาเรียนรู้ต่อไป

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

“สิ่งที่เราทำคือกำจัดความเสี่ยงแล้วทำให้ต้นไม้ใหญ่สวยงาม ทำให้คนรู้สึกว่าอยากมาดูหรือใช้เวลาใต้ต้นไม้แทนที่จะมองว่าต้นไม้น่ากลัว เมื่อคนรู้สึกว่าต้นไม้ใหญ่มีคุณค่า สมควรอยู่ต่อไป โอกาสที่ต้นไม้ใหญ่จะถูกตัดหรือย้ายไปที่อื่นก็น้อยลง” หนึ่งในทีมรุกขกรจากโรงเรียนต้นไม้ใหญ่ทิ้งท้ายกับฉันก่อนจากลา

 

5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ในบ้านที่แก้ได้ด้วยวิธีฉบับรุกขกร

นอกจากต้นไม้ใหญ่ในเมืองที่อยู่ริมถนนหรือในสวนสาธารณะ ต้นไม้ใหญ่ในบ้านของคนเมืองอย่างเราก็ต้องการการดูแลเช่นกัน ด้านล่างนี้คือสิ่งที่เรามักเข้าใจผิด และทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องซึ่งแนะนำโดยรุกขกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ให้เราและคุณปู่คุณย่าต้นไม้ในบ้านอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

1. โค่นต้นไม้ใหญ่ใกล้บ้านเพราะกลัวไม่ปลอดภัย

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

วิธีที่ถูกต้อง:

ถ้ากลัวกิ่งไม้หักหรือฟาดตัวบ้าน ให้เลือกตัดเฉพาะกิ่งที่มีปัญหา แต่ต้องตัดอย่างถูกต้องด้วย นั่นคือตัดกิ่งไม้แบบชิดคอกิ่งหรือชิดส่วนวงแหวนรอบกิ่งที่ช่วยสะสมอาหารเพื่อให้ต้นไม้นำอาหารที่สะสมไว้มารักษาแผลได้เร็วที่สุด และไม่ตัดกิ่งไม้ใหญ่ให้ขาดในครั้งเดียวเพราะจะทำให้เปลือกไม้ฉีกเกิดแผลใหญ่ แต่ใช้วิธีตัด 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ตัดเพื่อบากที่ด้านล่างกิ่งเพื่อกันฉีกขาด ครั้งที่ 2 เหนือรอยบาก และครั้งที่ 3 ตัดชิดคอกิ่งให้แผลเรียบหรือที่เรียกว่า Clean Cut  เพื่อไม่ให้แผลสะสมความชื้น เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ยาก

ถ้ากลัวต้นไม้ใหญ่โค่น ให้ตรวจดูว่ามีโพรงหรือรากถูกทำลายหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าต้นไม้อ่อนแอ ต้องตัดยอดลดน้ำหนักไม่ให้โค่น หรือตัดรากในระดับเหมาะสมแล้วผลักต้นไม้ตั้งตรง และค้ำยันลำต้นในกรณีต้นไม้ใหญ่เอนมาก

ถ้ากลัวต้นไม้ใหญ่กลายเป็นบ้านสัตว์มีพิษ ทางแก้คือตัดสางใบให้โปร่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันสัตว์มีพิษมาอาศัย ยังช่วยให้ต้นไม้สุขภาพดีเพราะได้รับอากาศและแสงทั่วถึง

2. โค่นต้นไม้ใหญ่เพราะใบชอบร่วงใส่สระว่ายน้ำและท่อน้ำ

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

วิธีที่ถูกต้อง :

ตัดเฉพาะกิ่งที่มีปัญหาอย่างถูกวิธี หรือสำรวจว่าต้นไม้ใหญ่ใบแน่นเกินไปจนเลือกผลัดใบที่ไม่ได้รับแสงหรือไม่ ถ้าแน่นเกินให้แก้ด้วยการตัดสางใบ แต่ถ้าเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีถิ่นกำเนิดแห้งแล้ง ต้นไม้อาจเจอน้ำฝนตกลงมาขังที่รากจนหายใจไม่ออกทำให้เครียดและทิ้งใบลงมา ทางแก้คือคอยดูแลรากให้ไม่มีน้ำขัง

3. เทคอนกรีตปิดโคนต้นไม้ใหญ่เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

วิธีที่ถูกต้อง:

รากต้นไม้ต้องการน้ำและอากาศ การเทคอนกรีตปิดไม่ได้ทำให้ต้นไม้ใหญ่ตาย แต่ทำให้กระบวนการหายใจของรากแย่ลงจนต้นไม้อ่อนแอและเกิดปัญหากับคนในที่สุด ทางแก้คือเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่โปร่งไม่ปิดทึบเพื่อให้น้ำและอากาศลงสู่รากได้ และในกรณีที่ต้องการปูวัสดุทึบ ต้องปูโดยเว้นห่างจากโคนต้นเพื่อให้ต้นไม้หายใจเป็นระยะอย่างน้อย 1 ใน 3 ของความกว้างทรงพุ่มต้นไม้ เพราะที่จริงรากต้นไม้แผ่ไปได้ไกลมาก รากต้นไม้เขตร้อนบางชนิดแผ่ไปได้ไกลกว่าทรงพุ่มถึง 5 เท่า  

4. อุดโพรงให้ต้นไม้ใหญ่เพื่อให้รักษาแผล

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

วิธีที่ถูกต้อง:

โพรงคือบาดแผลที่ทำให้ต้นไม้ใหญ่อ่อนแอ เสี่ยงต่อการหักโค่นและสร้างอันตรายให้คนได้ เมื่อก่อนนี้คนเชื่อกันว่าการอุดปิดโพรงต้นไม้คือการช่วยป้องกันไม่ให้บาดแผลลุกลาม แต่ที่จริงวัสดุอุดโพรงที่เราคุ้นตาอย่างปูนนั้นไม่ยืดหยุ่น เวลาลมพัด ต้นไม้จะบิดตัวจนทำให้ปูนแตกออก เวลาฝนตกน้ำก็เข้าไปขังจนเชื้อโรคเจริญเติบโตได้อยู่ดี หรือแม้แต่วัสดุอุดโพรงอื่นที่ยืดหยุ่นกว่าก็มีงานวิจัยของต่างประเทศพบว่าไม่อาจช่วยแก้ปัญหาได้ การอุดโพรงจึงเป็นแค่การช่วยให้สภาพต้นไม้ดูสวยงามเรียบร้อยขึ้น ทางที่ทำได้คือดูแลต้นไม้ให้แข็งแรงที่สุด แต่ถ้าโพรงอยู่ในตำแหน่งที่อาจทำให้เกิดอันตราย ต้องตัดลดน้ำหนักต้นไม้เพื่อให้แรงเครียดที่โพรงน้อยลง   

5. ตัดต้นไม้ใหญ่หรือย้ายตำแหน่งทันทีเมื่อต้องการปรับปรุงพื้นที่บ้าน

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

วิธีที่ถูกต้อง:

ในกรณีต้องการปรับปรุงพื้นที่ในบ้านตรงที่ต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ เราสามารถขุดล้อมไม้ใหญ่ออกโดยไม่ต้องตัดทิ้ง การล้อมอย่างถูกต้องที่นิยมกันคือแบบตุ้มดิน โดยตัดใบออกเล็กน้อย ห่อต้นไม้ใหญ่ไว้ในตุ้มดินโดยยังไม่ย้ายทันทีเพราะอาจทำให้ต้นไม้ช็อกได้ แต่ทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือนเพื่อให้รากใหม่เติบโตอยู่ภายใน จากนั้นค่อยตัดแต่งกิ่งออกเพื่อลดอุปสรรคในการขนย้าย แล้วจึงย้ายต้นไม้ใหญ่สู่ตำแหน่งเหมาะสม  


เรียนรู้วิชาดูแลต้นไม้ใหญ่ที่งาน ‘TCP Spirit หมอต้นไม้ 01’

ใครอยากรู้จักวิธีการดูแลต้นไม้มากกว่าข้อมูลบนหน้ากระดาษ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 นี้ The Cloud และ TCP Spirit ร่วมกันจัด กิจกรรมชื่อ ‘TCP Spirit ครั้งที่ 1 : หมอต้นไม้ สวนลุมพินี’ เพื่อให้คนเมืองได้ทดลองเป็นอาสาสมัครหัดดูแลต้นไม้ใหญ่ ถ้าอยากเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองด้วยกัน สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม เราจะประกาศรายชื่อในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

สำหรับคนที่อาจยังขัดเขินกับการทำงานอาสาสมัครหรือไม่คุ้นเคยกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เราอยากให้ลองอ่านมุมมองความคิดของ อเล็กซ์ เรนเดล TCP Spirit Ambassador ในปีนี้ ที่จะมาร่วมเป็นอาสาสมัครดูแลต้นไม้ในเมืองด้วยกัน

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

อเล็กซ์ไม่ใช่แค่นักแสดงหนุ่มที่เชี่ยวชาญการแสดง อีกมุมหนึ่งของชีวิต เขาคือชายหนุ่มผู้รักธรรมชาติที่ร่วมก่อตั้ง Environment Education Centre Thailand (EEC Thailand) กิจการเพื่อสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านงานด้านการศึกษา เช่น การจัดค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติสำหรับเยาวชน และนอกจากทำธุรกิจเรื่องสิ่งแวดล้อมเต็มตัว เขายังคลุกคลีกับงานอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อมบ่อยครั้ง

“ผมชอบธรรมชาติเพราะมันช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ได้รีเฟรชตัวเอง พอกลับมาอยู่ในเมืองจะมีพลังในการทำงานต่อ แล้วต่อมาผมก็เริ่มเห็นความสำคัญของเรื่องการศึกษา เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างองค์ความรู้กับการอนุรักษ์ว่ามันพึ่งพากันอยู่ นั่นคือเหตุผลที่ผมตั้ง EEC” อเล็กซ์เริ่มต้นอธิบาย ก่อนจะบอกเราว่างานอาสาสมัครในมุมมองของเขาก็คือการ ‘ให้’ และ ‘รับ’ ความรู้เช่นเดียวกัน

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

“ผมชอบคำว่าอาสาสมัคร แต่ผมคิดว่าอาสาสมัครในบ้านเราถูกตีความในทางที่ผิดเยอะ คนเราจะไปช่วยทำอะไรไม่ใช่ว่าเรามีแต่ใจ กี่ครั้งแล้วที่อาสาสมัครมีใจแต่ไปสร้างภาระให้กับสิ่งนั้นเพราะความรู้ไม่พอ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ากิจกรรมอาสาสมัครไม่ใช่การลงมือทำอย่างเดียว แต่ต้องให้ความรู้ก่อนลงมือทำ และต้องทำเรื่อง Public Awareness คือข่าวที่ออกไปสู่สังคมให้รู้ว่านี่คือวิธีการใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของสังคม

“ผมมองว่ากิจกรรมหมอต้นไม้เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่จะให้ความรู้และข้อเท็จจริงง่ายๆ ที่คนไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับความสำคัญของต้นไม้ในเมือง ที่จริงผมเคยคิดว่าต้นไม้ใหญ่ในเมืองคงไม่ได้มีผลอะไรกับสิ่งแวดล้อมมากนัก คงเป็นแค่ต้นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม แต่การมาร่วมทำกิจกรรมนี้ทำให้ผมเห็นว่ามันมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น  และสุดท้ายผมเชื่อว่าการอนุรักษ์อะไรก็แล้วแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ด้วยองค์กรเดียว ซึ่งโครงการนี้น่าจะให้แรงบันดาลใจคนผ่านกิจกรรมได้ เช่น การที่เด็กซึ่งไม่ได้สนใจเรื่องต้นไม้ได้ลองปีนขึ้นไปเป็นคนตัดแต่งต้นไม้ก็อาจทำให้เขาหันมาสนใจเรื่องนี้”

เมื่อมองในภาพกว้าง งานอาสาสมัครในสายตาอเล็กซ์จึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม

“ผมคิดว่างานอาสาสมัครคือการเปลี่ยนวิธีคิดของสังคม ซึ่งทุกอย่างก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวคนแต่ละคนก่อน อาสาสมัครจะได้มาเรียนรู้และเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเอง นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สู่สังคมที่เปลี่ยนความคิด และนำไปสู่การส่งต่อความรู้

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

“นอกจากนั้น อาสาสมัครจะได้เข้าใจว่าตัวเองโชคดี สิ่งนี้เป็นทักษะนะ แล้วทักษะนี้จะนำไปสู่ความสุขส่วนตัวเป็นอย่างแรก เพราะถ้าเราพอใจในสิ่งที่เรามี ชีวิตเราจะดีมาก จากนั้นเมื่อเรารู้สึกว่าตัวเองครบ ก็จะพร้อมเริ่มให้คนอื่นได้ ผมกล้าพูดได้เลยว่าผมทำงานเพื่อสังคมได้เพราะรู้สึกว่าตัวเองครบ พ่อแม่ให้ความรักเต็มที่ สนุกกับการแสดง พอใจอายุเท่านี้แล้วมีองค์กรของตัวเอง พอผมครบแล้ว ผมก็พร้อมที่จะให้”

หากอยากพิสูจน์ว่าความคิดความเชื่อของอาสาสมัครมืออาชีพคนนี้เป็นความจริงหรือไม่ คงต้องลองมาเป็นอาสาสมัครหัดดูแลต้นไม้ใหญ่ด้วยกันสักครั้ง

'หมอต้นไม้' และ ‘รุกขกร’

ภาพประกอบ: Aeicha
ขอบคุณสถานที่ ร้าน Patom Organic Living

กิจกรรม ‘TCP Spirit ครั้งที่ 1 : หมอต้นไม้ สวนลุมพินี’ จะจัดขึ้นในวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 สามารถลงทะเบียนได้ที่นี่ 

เราจะเปิดรับสมัครอาสาตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม และจะประกาศรายชื่ออาสาสมัครในวันที่ 13 กรกฎาคม ทางเพจเฟซบุ๊ก The Cloud และ TCP Group

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographers

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล