ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณพื้นที่ชายแดนเชื่อมระหว่างสองประเทศ มีมิตรภาพที่สัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น และช่วยรักษาชีวิตผู้คนไม่ให้เจ็บป่วยจากไปได้จำนวนมาก ตลอดระยะเวลานานกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ฟากหนึ่งของความสัมพันธ์คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มี ดร.คำสิน พรมมะหาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว แพทย์วัย 50 ปีที่ปักหลักรักษาประชาชนในโรงพยาบาลชายแดนนี้มาเกือบทั้งชีวิตการทำงาน พร้อมยกระดับการรักษา จับมือกับ นายแพทย์สมปรารถน์ หมั่นจิต อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย แพทย์ที่อยู่ใกล้เคียงกันในอีกฟากฝั่งแม่น้ำโขง และหน่วยงานภาครัฐของไทย พัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ให้ประชาชน สปป.ลาว เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น

ดร.คำสิน พรมมะหาน แพทย์ผู้พัฒนารพ.ชายแดน สปป.ลาว-ไทย ให้คนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

ความร่วมมือด้านสาธารณสุขชายแดนในระดับท้องถิ่นและประเทศนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 20 ก่อน จากวิสัยทัศน์ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่จับมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะเล็งเห็นว่าความเจ็บป่วยเป็นเรื่องไร้พรมแดน ข้ามผ่านไปหากันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะถนน R3A ที่เชื่อมต่อระหว่างจีน สปป.ลาว และไทย และเกิดการข้ามแดนไปมาของคนและสินค้าอยู่เรื่อยๆ ในสภาวะปกติ

หากระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศแข็งแรง ตั้งแต่สาธารณสุขมูลฐานจนถึงการแพทย์เฉพาะทาง ก็ไม่จำเป็นต้องพะวงอะไรมาก เจ็บป่วยที่ใด รักษาที่นั่น ไม่ต้องเดินทางให้เหน็ดเหนื่อย ลดความเสี่ยงของโรคติดต่อและภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขในแต่ละฝั่ง ซึ่งนับรวมไปถึง 38 จังหวัดตามแนวชายแดนที่อยู่ติดประเทศเพื่อนบ้านทั่วไทยด้วย ถือเป็นหนึ่งภารกิจภายใต้การทูตเพื่อการพัฒนาที่ช่วยสร้างประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เหนียวแน่นด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ

ดร.คำสิน พรมมะหาน แพทย์ผู้พัฒนารพ.ชายแดน สปป.ลาว-ไทย ให้คนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

หมอคำสินคือหนึ่งในบุคลากรชุดขาวคนสำคัญของ สปป.ลาว ที่ยินดีช่วยเหลือ ขับเคลื่อนให้ภาพนี้เข้าใกล้ความจริงสำหรับความร่วมมือสาธารณสุขไทย-ลาว ถ้าไม่ได้มีการตระเตรียมทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน สถานการณ์โรคต่างๆ รวมถึงโควิด-19 บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศอาจรุนแรงกว่านี้

“เห็นคนสุขภาพดีก็ทำให้พวกเรามีกำไร ไม่ใช่เป็นตัวเงินนะ แต่เราได้ทำให้พวกเขากลับไปดูแลครอบครัวให้มีอยู่มีกิน สร้างสรรค์งาน ช่วยให้ประเทศของเราเข้มแข็ง” หมอคำสินเล่ารางวัลอันล้ำค่าของการทำงานให้เราฟังด้วยภาษาลาว

ในโอกาสนี้ เราขอพาคุณไปสำรวจชีวิตและวิสัยทัศน์ของท่านหมอคำสิน (แพทย์ในภาษาลาว) ผู้เคารพในวิชาชีพและความเป็นมนุษย์ ที่โฮงหมอ (โรงพยาบาล) อีกฟากฝั่งแม่น้ำเพื่อนบ้าน และเรียนรู้เบื้องหลังภารกิจสำคัญระหว่างสองประเทศไปด้วยกัน

ฝันถึงการแพทย์ที่เท่าเทียม

“เป็นความฝันตั้งแต่สมัยเรียนเลย” หมอคำสินผู้มีถิ่นกำเนิดจากเมืองหงสา แขวงไซยะบูลี เล่าว่าแพทย์คือวิชาชีพในฝันเสมอมา 

หมอคำสินบากบั่นตั้งใจเรียนจบ ม.7 จนได้ทุนไปเรียนต่อที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อจบการศึกษา เขากลับมาใช้ทุนเป็นแพทย์ที่แขวงบ่อแก้ว แต่งงานมีครอบครัว ตั้งถิ่นฐานชีวิตและการทำงานในบริเวณที่นั่งเรือข้ามฟากเพียงสัก 20 นาทีก็ถึงฝั่งไทยแล้ว

“ชอบที่นี่ ไม่ต้องปรับตัวเยอะ มันมีบรรยากาศของการอยู่แบบพี่น้อง เป็นมิตรกัน” หมอคำสินพูดถึงความรู้สึกเมื่อมาอยู่แขวงบ่อแก้ว

พ.ศ. 2540 คือปีแรกที่หมอคำสินเริ่มต้นทำงาน ในวันที่ระบบสาธารณสุขยังไม่ก้าวหน้าเพียบพร้อมเมื่อเทียบกับทุกวันนี้ เขาตัดสินใจอุทิศชีวิตให้กับโรงพยาบาลแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน

“จริงๆ โรงพยาบาลในเขตชายแดนก็คล้ายกับโรงพยาบาลทั่วไปนั่นแหละ แต่คิดว่าจุดพิเศษคือต้องเอาใจใส่กว่า เราอยู่ไกลจากนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อก่อน ถ้าต้องนำส่งคนไข้ก็ต้องมีกระบวนการที่ยุ่งยาก เรามองเห็นว่าต้องมีการยกระดับ พัฒนาบุคลากร สถานที่ และเครื่องไม้เครื่องมือให้รองรับกับผู้ป่วยได้มากขึ้น” หมอคำสินกล่าวเจตนารมณ์ พร้อมเอ่ยถึง 3 สิ่งสำคัญที่ต้องปรับแก้ไข

สมัยนั้น โรงพยาบาลแขวงบ่อแก้วเป็นเรือนแถวเก่าชั้นเดียว สภาพเริ่มทรุดโทรมหลังจากก่อสร้างมาเป็นเวลานาน ปัญหาคล้ายๆ กับโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ขาดโครงสร้างพื้นฐาน อาคาร อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ทำให้ไม่อาจรักษาบางโรคได้สะดวกหรือตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย เช่น โรคคอตีบ ไข้เลือดออกหรือมาลาเรีย โรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงบริการยังไม่อาจเข้าถึงทุกคนได้อย่างเท่าเทียม

“พื้นที่นี้มีคนหลายชนเผ่าอาศัยร่วมกัน ต่างมีวิถีชีวิต วิธีคิด และระดับฐานะทางสังคมที่แตกต่างกัน เมื่อก่อนอาจไม่ได้ใช้บริการสุขภาพเหมือนกัน เรามองว่าต้องปรับทัศนคติใหม่ให้มีการบริหารที่เสมอภาคและไม่แบ่งแยก เพราะคนทุกข์คนจนคนอดก็ต้องการบริการที่ดีและเท่าเทียม เราคิดว่ามันเป็นสิทธิ์ที่มนุษย์พึงได้รับ” หมอคำสินเล่า

หลังจากทำงานไปได้เกือบ 10 ปี เขาได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ และต่อมาเป็นผู้อำนวยการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นโอกาสบริหารและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ที่เคยวางไว้ให้เกิดขึ้นจริง

สร้างมิตรภาพสาธารณสุขชายแดน สปป.ลาว-ไทย

จุดเปลี่ยนสำคัญของโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้วเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2544 เมื่อรัฐบาล สปป.ลาว เจรจากับทางการไทยเพื่อให้เข้าไปช่วยปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลอายุกว่า 30 ปีให้กลายเป็นอาคารรักษาผู้ป่วยนอก (OPD) ที่มีอุปกรณ์และบุคลากรที่เพียบพร้อมขึ้น

ความร่วมมือนี้เป็นการจับมือกันทางยุทธศาสตร์และการทูต หากระบบสาธารณสุขบริเวณชายแดนมีประสิทธิภาพ แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยใน สปป.ลาว ให้ไม่ต้องใช้เวลานั่งเรือมารักษาที่ฝั่งไทย และเมื่อประชาชนไทยเดินทางไปทำธุระและเจ็บป่วยที่ฝั่งลาว พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องข้ามกลับมารักษาที่ฝั่งไทย ถือว่าเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย และช่วยสร้างสัมพันธไมตรีที่เข้มแข็งขึ้นระหว่างกัน นอกเหนือไปจากด้านการเกษตรและการศึกษาที่ทำคู่ขนานกันมาอยู่แล้ว

หลังจากพัฒนาอาคารสำเร็จ ความร่วมมือยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยมีนายแพทย์สมปรารถน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ ทำงานร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของไทย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เป็นแรงสนับสนุนและขับเคลื่อนสำคัญในมิตรภาพนี้

“หมอสมปรารถน์และทีมงานไทยให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด เป็นเพื่อนที่ดีและคุ้นเคยต่อกัน ตอนที่ยังไม่มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เราต่างนั่งเรือไปมาหากัน พาคนไข้ไปรักษาบ้าง มีปรึกษาเคสหรือส่งยาให้กันด้วย” 

ในช่วงเวลานี้ หมอคำสินช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดขึ้นในฐานะแพทย์ โรงพยาบาลค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนโฉม เช่น ระบบเวชระเบียนที่จัดเก็บเป็นระเบียบมากขึ้น มีอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นอย่างเครื่อง CT Scan ไว้บริการผู้ป่วย

พอเข้าสู่ระยะการร่วมมือขั้นถัดมา เกิดการขยับขยายไปสร้างอาคารผู้ป่วยในและแม่และเด็ก 2 ชั้น ขนาด 60 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วย ตามนโยบายสาธารณสุขของ สปป.ลาว ที่ต้องการป้องกันความเจ็บป่วยและเสียชีวิตของแม่และเด็ก จนกลายเป็นบริการเฉพาะทางที่โรงพยาบาลแขวงบ่อแก้วมีความเชี่ยวชาญ

“การร่วมมือนี้ทำให้เราสามารถบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชน ผู้ป่วยที่ไม่ได้มีเงินมากก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากมาย” หมอคำสินกล่าวถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้น และกลายเป็นรากฐานสำคัญของโรงพยาบาลจนถึงปัจจุบัน

ร่วมใจรับมือโรคอุบัติใหม่

ใน พ.ศ. 2557 กรมความร่วมมือระหว่างประเทศริเริ่มโครงการสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมสำหรับโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา-เมียนมา-ลาว เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันโรคอุบัติใหม่เชิงรุกให้แต่ละประเทศสามารถ ‘ตรวจจับเร็ว ตอบโต้ทัน ป้องกันได้’ ร่วมกับหลากหลายหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

การขับเคลื่อนครอบคลุมหลายประเด็น ทั้งการป้องกันและควบคุมโรค การอบรมพัฒนาบุคลากร ระบบส่งต่อผู้ป่วยระหว่างกัน และให้คำแนะนำแนวทางการรักษา โดยวางแผนร่วมกันเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง

ประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอด 7 ปีนี้ กลายเป็นประโยชน์อย่างมากในการรับมือกับวิกฤตครั้งใหญ่อย่างโควิด-19 ทำให้ 2 ประเทศสามารถสกัดกั้นการระบาดจากชายแดนได้ก่อนเกิดการบานปลายไปมากกว่านี้

“ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ทางเราร่วมมือกับหน่วยงานของไทยวางแผนทำงานในสามระยะทันที ทั้งเร่งด่วน กลาง และยาว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระหว่างประเทศ” หมอคำสินกล่าวถึงแผนงานเร่งด่วนระหว่างประเทศ ในช่วงมาตรการปิดการเดินทางระหว่างชายแดน พร้อมๆ กับที่กระทรวงสาธารณสุขของลาวจัดตั้งทีมเฉพาะกิจมาดูแลรักษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ร่วมกับองค์การอนามัยโลกในประเทศ

“ในระยะเร่งด่วน เราแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะเป็นโรคใหม่ ยังไม่มีใครรู้ว่าอาการหรือวิธีการรับมือต้องเป็นอย่างไร เราใช้แอปพลิเคชันติดต่อ ปรึกษาและรายงานกัน เพื่อเตือนให้อีกประเทศคาดการณ์และเฝ้าระวังสถานการณ์ได้ด้วย เผื่อเกิดการระบาดข้ามพื้นที่” 

การประสานงานนี้เกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากนัก เพราะผู้คนเคยผูกมิตรและซักซ้อมกับโรคอื่นๆ กันมาก่อนแล้วในช่วงเวลาของโครงการที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงเสียดทานน้อย ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว

“สิ่งสำคัญอย่างแรกสุดคือการถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน”

เมื่อบุคลากรทางการแพทย์พร้อมปฏิบัติหน้าที่และเข้าใจโรคในเบื้องต้น ความร่วมมือขั้นต่อไปในระยะกลางคือ การสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือการทำงาน เช่น การส่งหน้ากาก PPE และชุดเครื่องมือตรวจสกัด โควิด-19 RT-PCR เพื่อให้ประเทศต่างๆ รับมือกับการระบาดภายในได้ดีขึ้น และลดโอกาสการระบาดข้ามประเทศ

“เรื่องนี้ท้าทายตรงที่เราเดินทางข้ามไปหากันไม่ได้ จึงต้องติดตั้งและเรียนรู้เครื่องมือบางอย่างแบบ Remote Installation แต่ก่อนหน้านี้ เราเคยปรึกษาการผ่าตัดในกรณีฉุกเฉินผ่านระบบประชุมทางไกล (Teleconference) กันมาก่อนบ้าง ตั้งแต่สมัยยังไม่มีสะพานมิตรภาพเลย ซึ่งช่วยให้การดำเนินงานแบบนี้เป็นไปได้ในเวลานี้” หมอคำสินเล่า พร้อมบอกก่อนหน้านี้เคยมีเคสการผ่าตัดคลอดลูกที่ต้องใช้กระบวนการนี้เข้าช่วยมาแล้ว

ดร.คำสิน พรมมะหาน แพทย์ สปป.ลาว ผู้ร่วมมือกับไทย รักษาประชาชนตะเข็บชายแดนไทย-ลาว เพื่อสาธารณสุขยั่งยืนไร้พรมแดน
ดร.คำสิน พรมมะหาน แพทย์ สปป.ลาว ผู้ร่วมมือกับไทย รักษาประชาชนตะเข็บชายแดนไทย-ลาว เพื่อสาธารณสุขยั่งยืนไร้พรมแดน

สุดท้าย การแก้ปัญหาระยะยาวที่ดีที่สุด คือการสร้างและพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ เพราะยิ่งคัดกรองผู้ติดเชื้อ (Early Detection) ได้รวดเร็วเพียงใด ยิ่งรักษาและควบคุมโรคได้ไวเท่านั้น ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ของโรงพยาบาล 

ในเวลานั้น ห้องทุกห้องในโรงพยาบาลถูกใช้งานหมดแล้ว ครั้นจะสร้างอาคารหลังใหม่ก็ต้องใช้เวลาดำเนินงานอีกนานพอสมควร ทางทีมนักวิจัยไทยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงช่วยหาทางออกด้วยการเสนอให้สนับสนุนห้องปฏิบัติการสำเร็จรูปที่ทำมาจากตู้คอนเทนเนอร์และออกแบบโดยนักวิจัยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นแบบเดียวกันกับที่ใช้งานในสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีทางห้องปฏิบัติการ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) 

ในห้องปฏิบัติการสำเร็จรูปนี้มีอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อที่ไม่ได้ใช้กับแค่เพียงโควิด-19 แต่ครอบคลุมถึงโรคอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้วดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล กรมความร่วมมือระหว่างประเทศยังให้การสนับสนุนตู้ตรวจเชื้อความดันอากาศบวก (Positive Pressure Room) ที่ออกแบบโดยมหาวิทยาลัยศรีปทุม สำหรับใช้งานในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกหนทางด้วย

“ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาระยะยาว เริ่มจากบุคลากรมีความรู้ก่อน แล้วตามมาด้วยการสนับสนุนอื่นๆ แต่ละอย่างต่อเนื่องกันหมดเลย ทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์เพื่อรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ได้”

แม้จะยังไม่อาจวัดผลการปฏิบัติงานช่วงโควิด-19 ที่บุคลากรทางสาธารณสุขกำลังรับมืออยู่อย่างเต็มกำลังได้ชัดเจน แต่หากพิจารณาจากการลดลงของผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่ต้องข้ามแดนมารักษาที่ประเทศไทยด้วยความจำเป็น ประชาชน สปป.ลาว สามารถรักษาในระดับพื้นฐานภายในประเทศลาวได้มากขึ้น และโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้วดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด 45 รายในโรงพยาบาล จากจำนวนประชากรของแขวงบ่อแก้ว ปี 2564 จำนวน 197,000 คน ให้กลับบ้านได้เป็นที่เรียบร้อย คงกล่าวได้ว่าความร่วมมือที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ และมีแนวโน้มที่ดีในอนาคต

“ขอบคุณเป็นอย่างสูงที่ทางไทยและทุกฝ่ายร่วมกันอำนวยความสะดวก ช่วยพัฒนาโรงพยาบาลแห่งนี้ ที่สำคัญคือการยกระดับความรู้ของบุคลากร อยากให้ความร่วมมือนี้สำเร็จรุ่งเรืองต่อไป พัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง” หมอคำสินกล่าว แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ความสัมพันธ์และความช่วยเหลือก็จะยังคงดำเนินต่อไป

และเมื่อมาตรการสาธารณสุขระหว่างประเทศของทั้งสองฝ่ายดีขึ้นเมื่อไร เราคงได้พบปะและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดแบบเห็นหน้าและยืนเคียงข้างกันอีกครั้งหนึ่ง 

ดร.คำสิน พรมมะหาน แพทย์ สปป.ลาว ผู้ร่วมมือกับไทย รักษาประชาชนตะเข็บชายแดนไทย-ลาว เพื่อสาธารณสุขยั่งยืนไร้พรมแดน

หน้าที่ของแพทย์

ปัจจุบัน โรงพยาบาลแขวงบ่อแก้วเติบโตขึ้นจากอาคารเก่าๆ หลังหนึ่ง กลายเป็นโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยและให้บริการทางการแพทย์ด้วยเท่าเทียม มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ระบบและอุปกรณ์ที่ทันสมัยขึ้น ภายใต้การบริหารงานของหมอคำสินที่ยังคงทำงานหนักต่อเนื่องมา 24 ปี จนปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล โดยไม่เคยคิดย่อท้อในเส้นทางการทำงานในฐานะแพทย์ชนบทเลย

“ไม่เคยรู้สึกว่าคิดผิดเลย ตั้งใจมาตั้งแต่ตอนเรียน วิชาชีพนี้ได้ช่วยเหลือคนอื่นให้มีความสุขขึ้น เราเห็นคนเจ็บคนไข้มาเขาทรมานทั้งกายและใจ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ พอรักษาได้มันก็เป็นพลังให้เราทำหน้าที่นี้ต่อไป”

ดร.คำสิน พรมมะหาน แพทย์ สปป.ลาว ผู้ร่วมมือกับไทย รักษาประชาชนตะเข็บชายแดนไทย-ลาว เพื่อสาธารณสุขยั่งยืนไร้พรมแดน

ด้วยความใส่ใจและเป็นกันเอง หมอคำสินจึงเป็นที่รักและใกล้ชิดกับประชาชนในแขวงบ่อแก้ว การทำงานในวิชาชีพแพทย์ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาสอนเขาเป็นอย่างดี ว่าแพทย์คือผู้ที่ต้องอยู่เคียงข้างผู้คน มีคุณธรรมและจริยธรรมในการทำงาน

“ความซื่อสัตย์คือสิ่งที่ควรฝังอยู่ในจิตสำนึกการเป็นหมอ เราควรต้องเสียสละ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ รับใช้สังคม เชื่ออย่างนั้นเสมอมา” หมอผู้ประกอบวิชาชีพในฝันกล่าว ก่อนบอกลาไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ

ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้วและรัฐบาลไทยจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ประสานและดำเนินงานหลักเพื่อให้เกิดเอกภาพ ตรวจสอบสอบได้ว่างานที่ดำเนินการไปทั้งหมดนั้นเกิดความยั่งยืน และเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศเพื่อนบ้านอย่างแท้จริง

เราขอเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุขและผู้อยู่เบื้องหลังทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุข ทั้งบริเวณชายแดนและพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ ให้ดียิ่งขึ้นสำหรับประชาชน

หวังว่าเราจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปได้ด้วยกัน และกลับมาพบปะอย่างพร้อมหน้าอีกครั้งหนึ่งในเร็ววัน 

ภาพ : ดร.คำสิน พรมมะหาน และ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ภาพ : ดร.คำสิน พรมมะหาน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป