01

ช่วงแดดโรย ผมเดินมาถึงสนามหญ้าหน้าร้าน The Missing Burro หรือ เจ้าลาที่หายไป

ที่นี่คือร้านอาหารเม็กซิกันย่านทองหล่อ ที่ผู้คนพร้อมใจรีวิวว่า เป็นเม็กซิโกแท้ทั้งอาหารและบรรยากาศ ตัวร้านและครัวดัดแปลงจากคอนเทนเนอร์เก่า ทาสีส้มอมเหลือง มุมหนึ่งเป็นภาพวาดต้นกระบองเพชรโนปาล เนื้อในมีรสเมือกๆ แบบกระเจี๊ยบเขียว เป็นที่โปรดปรานของชาวเม็กซิโก

คุณแดนนี่-บุญญฤทธิ์ วิเชียรพันธุ์ ผู้อำนวยการกองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ และ คุณแพร-ทิพาพร อรรถศิวานนท์ นักการทูตปฏิบัติการ จากหน่วยงานเดียวกัน ยืนรอรับผมอยู่แล้ว

DLA MAGAZINE

คุณแพรผู้เรียนปริญญาตรีที่เม็กซิโกเลือกร้านนี้ด้วยเหตุผลว่า พอพูดถึงอาหารลาตินอเมริกา คนไทยมักจะนึกภาพร้านหรูหรา เธอเลยอยากพามาชิมร้านที่ให้บรรยากาศอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน ซึ่งร้านอาหารส่วนใหญ่ในเม็กซิโกล้วนให้ความรู้สึกนี้

โต๊ะของเราอยู่ด้านในสุดของร้าน ใต้ภาพวาดหญิงสาวที่เขียนหน้าเป็นรูปโครงกระดูก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาล Día de los Muertos หรือการเฉลิมฉลองวันแห่งผู้ล่วงลับอันโด่งดังของเม็กซิโก

สัมพันธ์ไทย-ลาตินอเมริกาผ่านจิ้งหรีด ซีรีส์ไทย รถกระบะ และนิตยสารออนไลน์โดยนักการทูต

คุณแดนนี่และคุณแพรคือตัวตั้งตัวตีชวนนักการทูตในกระทรวงการต่างประเทศมาเขียนบทความเล่าเรื่องลาตินอเมริกาในมุมต่างๆ โดยเฉพาะศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้ ลงในนิตยสารออนไลน์ DLA MAGAZINE อ่านได้ผ่านแอปพลิเคชัน Discover Latin America ของกระทรวงการต่างประเทศ นี่คือเรื่องหลักของการสนทนา ซึ่งน่าจะออกรสออกชาติมากขึ้น ถ้าเรานั่งคุยกันในร้านอาหาร แทนที่จะเป็นห้องประชุม

คุณแพรอาสาสั่งเครื่องดื่มแบบลาตินอเมริกาแท้ๆ ให้ แก้วแรกเธอเลือก ออร์ชาต้า (horchata) น้ำนมข้าวผสมอบเชย สไตล์เม็กซิกัน ตามด้วย โมฆิโต้ (mojito) ค็อกเทลที่มีต้นกำเนิดจากคิวบา ทำจากน้ำมะนาว น้ำตาล โซดา และใบสะระแหน่ (เธอเลือกแบบไม่ใส่เหล้ารัม) ปิดท้ายด้วย มาร์การิตา (margarita) เป็นค็อกเทลที่มีส่วนผสมหลักเป็นเตกิล่า (tequila) ซึ่งสกัดจากต้นอากาเว (agave) เครื่องดื่มประจำชาติเม็กซิโก ผสมกับน้ำมะนาว แล้วเอาไปปั่น แล้วปาดเกลือไว้รอบปากแก้ว

“ทั้งสามอย่างเป็นเครื่องดื่มเย็น ๆ ที่ดื่มแล้วสดชื่น สะท้อนว่าบ้านเขาอากาศร้อน แล้วก็มีขายทั่วไปทั้งในร้านอาหารไปจนถึงข้างทางค่ะ” คุณแพรอธิบายแล้วยื่นเมนูคืนให้พนักงานเสิร์ฟ

02

บทสนทนามาก่อนเครื่องดื่ม

“เรามีหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาตินอเมริกา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม” คุณแดนนี่พูดถึงงานของกองลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการไทยเพียงแห่งเดียวที่ทำเรื่องลาตินอเมริกาโดยเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่สี่ถึงห้าคน ดูแลสามสิบสามประเทศ ซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์แนบแน่น เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีความขัดแย้งใดๆ ระหว่างไทยกับลาตินอเมริกา

ผมกางแผนที่โลกในหัว แล้วถามว่า ลาตินอเมริกาครอบคลุมประเทศไหนบ้าง

“ลาตินอเมริกาไม่ใช่นิยามของทวีป” คุณแพรอธิบายสิ่งที่ผมเข้าใจผิดมาทั้งชีวิต “ไม่มีทวีปลาตินอเมริกานะคะ มีแต่ทวีปอเมริกา แล้วอเมริกาใต้ก็ไม่ใช่ลาตินอเมริกาทั้งหมด เป็นแค่ส่วนหนึ่งของลาตินอเมริกา”

คุณแพรเลกเชอร์ต่อว่า คำว่า ลาตินอเมริกา เป็นคำที่ชาวฝรั่งเศสใช้เรียกภูมิภาคนี้เมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน ในช่วงที่สเปน โปรตุเกส อังกฤษ ดัตช์ เริ่มถอยออก ฝรั่งเศสกับสหรัฐอเมริกาต่างคิดตรงกันว่าอยากเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมรายใหม่ ด้วยความที่ภูมิภาคนี้ใช้ภาษาสเปนและโปรตุเกสเป็นหลัก ซึ่งมีรากมาจากภาษาลาตินเหมือนภาษาฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเลยสร้างนิยามว่า ลาตินอเมริกา ขึ้นมาเพื่อให้คนท้องถิ่นเห็นว่า เราเป็นพวกเดียวกัน มีวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกันมากกว่าชาวสหรัฐที่ใช้ภาษาอังกฤษซึ่งมีรากมาจากแองโกล-แซ็กซอน

จุดเริ่มต้น ลาตินอเมริกาหมายถึงประเทศที่ใช้ภาษาซึ่งมีรากลาติน แต่เกือบ 200 ปีผ่านไป คำนี้ก็วิวัฒนาการไป กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาจึงครอบคลุมไปถึงประเทศที่ใช้ภาษาดัตช์ อังกฤษ และครีโอลเฮติ (Haitian Creole) จนเกิดคำว่า ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน หรือ กรูแล็ก (GRULAC : The Group of Latin America and Caribbean Countries) ครอบคลุมตั้งแต่เม็กซิโกลงมาจนถึงชิลี อาร์เจนตินา และประเทศในทะเลแคริบเบียน เช่น คิวบา จาเมกา และตรินิแดดและโตเบโก เป็นต้น

03

สัมพันธ์ไทย-ลาตินอเมริกาผ่านจิ้งหรีด ซีรีส์ไทย รถกระบะ และนิตยสารออนไลน์โดยนักการทูต

พนักงานยกเครื่องดื่มมาเสิร์ฟพร้อมกับออเดิร์ฟที่คุณแพรสั่งไป

“เป็นอาหารที่มีความเป็นเม็กซิกันนิดหนึ่งนะคะ เรียกว่า กวากาโมเล (guacamole) หมายถึงซอสอาโวคาโด จิ้มกับโตโตโปส (totopos) ซึ่งได้จากการนำแผ่นแป้งข้าวโพดตอร์ติยา (tortilla) ไปหั่นเป็นสามเหลี่ยมแล้วทอดกรอบ แผ่นแป้งข้าวโพดเป็นอาหารหลักของคนเม็กซิโก เวลาจะลดความอ้วน เขาจะลดจำนวนแผ่นแป้งข้าวโพดในแต่ละมื้อ ถ้าอยากรู้ว่าตอนนี้ที่เม็กซิโกข้าวยากหมากแพงไหม ก็ไปดูราคาตอร์ติยาต่อกิโลกรัมได้เหมือนกัน”

ผมหยิบโตโตโปสตักกวากาโมเลเข้าปาก แล้วฟังคุณแดนนี่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาตินอเมริกาในเชิงเศรษฐกิจ

สัมพันธ์ไทย-ลาตินอเมริกาผ่านจิ้งหรีด ซีรีส์ไทย รถกระบะ และนิตยสารออนไลน์โดยนักการทูต

“ตลาดลาตินอเมริกามีประชากรกว่าหกร้อยสี่สิบล้านคน คู่ค้าอันดับหนึ่งและสองของเราคือ บราซิลกับเม็กซิโกสลับกัน ซึ่งมีมูลค่าการค้าไทย-บราซิล และไทย-เม็กซิโก รวมกันราวหกพันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าของเรากับออสเตรเลีย สินค้าที่เรานำเข้ามากที่สุดคือแร่ธาตุ ลาตินอเมริกาเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ลิเทียม ทองแดง แล้วก็เนื้อสัตว์ สินค้าเกษตร โดยเฉพาะถั่วเหลืองจากบราซิลที่เรานำมาใช้เป็นอาหารสัตว์”

ผมหยิบโตโตโปสเข้าปากอีกชิ้น

“ไทยเข้าไปลงทุนในลาตินอเมริกาเยอะมาก บริษัทไทยอินโดรามาไปเปิดโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกที่เม็กซิโก ซีพีเข้าไปทำฟาร์มกุ้ง อนันตราซื้อกิจการ NH Group ของสเปน ซึ่งโรงแรมส่วนใหญ่อยู่ในลาตินอเมริกา แล้วก็มีการลงทุนเล็กๆ น้อยๆ อย่างร้านอาหารไทย ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวัน

“ด้วยความที่เขามีเหมืองเยอะ มีเหมืองทองแดงมากที่สุดในโลก ก็เลยนำเข้ารถกระบะสำหรับใช้งานในเหมืองจากไทยเยอะ แล้วไทยก็เพิ่งส่งออกผงแป้งจิ้งหรีดซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีไปขายในเม็กซิโกเพื่อต่อยอดในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ” คุณแดนนี่พูดถึงสินค้าส่งออกรายการใหม่ที่เหนือความคาดหมาย แต่ยังมียิ่งกว่านั้นอีก

“ซีรีส์เรื่อง เพราะเราคู่กัน ดังมากในหลายประเทศลาตินอเมริกา เช่น เม็กซิโก เอกวาดอร์ เปรู และบราซิล ทางกระทรวงฯ ก็เลยชวนไบร์ท-วิน มาอัดคลิปชวนแฟนๆ ชาวลาตินอเมริกาตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกที่พวกเขามีต่อประเทศไทย เพื่อลุ้นรับของรางวัลสุดพิเศษจากสองนักแสดงนำ

“นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่หน้าเฟซบุ๊กของทางสถานเอกอัครราชทูต มีคนเข้ามาดูเป็นแสนคนจากทั่วโลก”

04

คุณแดนนี่จิบออร์ชาต้าแล้วเล่าเรื่องที่เรานึกไม่ถึงเกี่ยวกับลาตินอเมริกา

“ชิลีเป็นประเทศที่รัฐบาลและเอกชนร่วมมือกันส่งเสริมสตาร์ทอัพได้ดีที่สุุดแห่งหนึ่งในโลก

“นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อธุรกิจ E-commerce รวมถึงพลังงานสะอาด โดยมุ่งหวังให้ประเทศตนเป็น Carbon Neutral ภายใน พ.ศ. 2593 ด้วยนะ” คุณแดนนี่ซึ่งผูกเนกไทสีฟ้าทำด้วยมือจากปานามา เล่าต่อว่าประเทศโคลอมเบียมีนโยบายที่เรียกว่า Orange Economy

“คล้ายโอท็อปบ้านเรา รัฐบาลส่งเสริมให้เอาศิลปวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ วันนี้ออกดอกออกผลแล้ว โดยมีสัดส่วนราวร้อยละสามของจีดีพีประเทศ”

สัมพันธ์ไทย-ลาตินอเมริกาผ่านจิ้งหรีด ซีรีส์ไทย รถกระบะ และนิตยสารออนไลน์โดยนักการทูต

มีโอกาสมากมายอยู่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา คุณแดนนี่จึงพยายามทำให้เรื่องราวเหล่านี้อยู่ในสายตาของชาวไทยให้มากขึ้น เผื่อจะมีภาคธุรกิจนำไปต่อยอดได้ ซึ่งเขามองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาตินอเมริกาจะช่วยฟื้นฟููเศรษฐกิจไทยหลัง COVID-19 ได้ เพราะสินค้า New Normal หลายตัวก็มียอดส่งออกไปยังลาตินอเมริกาเพิ่มขึ้นชัดเจน เช่น อาหารกระป๋อง เฟอร์นิเจอร์ เวชภัณฑ์ และถุงมือยาง

“แล้วก็ยังเป็นไปตามวาระแห่งชาติที่เน้นการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เราแลกเปลี่ยนเรียนรูุ้กับภูมิภาคลาตินอเมริกาได้ เม็กซิโกมีนโยบายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง คอสตาริกาเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกเรื่อง Green Economy ชิลีมีนโยบายจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุุนเวียนในประเทศ ส่วนอาร์เจนตินาเอาของเหลือใช้จากภาคเกษตรมาผลิตพลังงานทางเลือกแล้ว เช่น ซังข้าวโพด แต่แทนที่จะเผาเลย เขาเอาไปอัดเม็ดแล้วเผาในเตาระบบปิด ก็จะไม่มีปัญหา PM 2.5”

05

เจ้าของร้านชาวเม็กซิโกแวะมาทักทายพวกเรา คุณแพรตอบกลับเป็นภาษาสเปนอย่างคล่องแคล่ว พอพนักงานเสิร์ฟวางจานอาหาร นักการทูตสาวก็แนะนำว่าจานนี้คือ ตาโก้ (taco) เป็นอาหารหลักที่คนเม็กซิโกกินเหมือนคนไทยกินข้าวราดแกง ประกอบด้วยแป้งข้าวโพดราดด้วยเนื้อสัตว์ต่างๆ มีอาล ปาสตอร์ (al pastor) คล้ายๆ หมูแดง โชริโซ (chorizo) คล้ายๆ ไส้อั่ว และโกชินิต้า (cochinita) เป็นหมูที่เอาไปหมักกับซอส ทั้งหมดจิ้มกับซอสพริกหลากสีสันที่เรียกว่า ซัลซ่า (salsa) เป็นอาหารที่ขายในร้านและรถเข็นข้างทางในเม็กซิโก

สัมพันธ์ไทย-ลาตินอเมริกาผ่านจิ้งหรีด ซีรีส์ไทย รถกระบะ และนิตยสารออนไลน์โดยนักการทูต

ผมชวนคุยต่อเรื่องสิ่งที่เรามักเข้าใจผิดเกี่ยวกับภูมิภาคนี้

“หลายคนเข้าใจว่า ลาตินอเมริกาแห้งแล้ง มีแต่ทะเลทราย ยากจน อันตราย เป็นดินแดนแห่งยาเสพติดและมาเฟีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยู่ไกล เดินทางไปยาก แต่พอช่วงหลังมีคนเดินทางกลับมาแล้วถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสื่อต่างๆ เราก็เริ่มเข้าใจว่า ไม่ได้เป็นแบบนั้นไปเสียทั้งหมด” คุณแพรตอบ

“ตอนนี้ไม่มีแก๊งสเตอร์แล้ว” ผมถาม

“ยังพอมีค่ะ” คุณแพรตอบพร้อมเสียงหัวเราะ “เพียงแต่อยู่ในบางซอกหลืบ ก็มีเหมือนทุกที่ ถ้ารูู้ว่าตรงไหนไม่ปลอดภัย ก็ควรอยู่ห่างๆ ไว้”

คุณแดนนี่เล่าว่า งานหนึ่งที่เขาตั้งใจทำมากคือ การส่งเสริมความสัมพันธ์ภาคประชาชน ทำให้คนรู้จัก เข้าใจ มั่นใจในภูมิภาคนี้ และเห็นโอกาสในทางการค้าการลงทุน โดยนำข้อมูลของ 33 ประเทศ จากฐานข้อมูลของกระทรวงฯ มาเผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชัน Discover Latin America (DLA) ซึ่งเปิดตัวเมื่อ พ.ศ. 2562

ในช่วง COVID-19 หลายอาชีพทำงานไม่ได้ จึงต้องหันมาอยูู่บ้านทำอาหารขาย คุณแดนนี่มองว่า งานของนักการทูตก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เมื่อเดินทางไม่ได้ พวกเขาเลยชวนกันเขียนบทความ ทำสื่อขึ้นมาเอง

DLA MAGAZINE

“นิตยสารออนไลน์ DLA MAGAZINE ก็เหมือนพวกเราลุกขึ้นมาทำคุกกี้ขาย นักการทูตแต่ละคนมีความรู้ ความสัมพันธ์กับลาตินอเมริกาในหลายมิติ เราพยายามเล่าเรื่องจากหลายมุมมอง

เล่มแรกพูดถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19 ตาม BCG Model เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับธุรกิจ สะท้อนโอกาสการค้าการลงทุน ทำยังไงให้นักลงทุนไปแล้วไม่เดือดร้อนหรือถูกหลอก นั่นคือหน้าที่ของรัฐบาล”

ผมห่อแป้งตาโก้ส่งเข้าปาก แล้วนึกถึงคำของ คุณมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาตินอเมริกา ที่บอกว่า ภาษาไม่ใช่อุปสรรค ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยโอกาส และเราต่างมีความเป็นเกษตรเหมือนกัน มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน มีความเป็น ‘amigo culture’ หรือความเป็นเพื่อนกันที่คุยกันแล้วจบได้ง่าย

“เมื่อก่อนนักธุรกิจไทยเดินทางไปกันเอง ตอนนี้มีสภาธุุรกิจ ไทย-ลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คอยให้ความช่วยเหลือ ทางกระทรวงฯ เองก็พยายามสนับสนุน เราเชื่อว่าทุกคนอยากทำธุรกิจกับคนที่ไว้ใจได้ เรามีข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบจากหลายแหล่งซึ่งเป็นประโยชน์

“งานของเราคือสื่อสาร ‘3P’ คือ Product ทำให้เห็นสินค้าที่มีศักยภาพ ถ้ารู้ว่าคนเขากินแป้งตาโก้ เราทำอะไรที่เกี่ยวกับแป้งได้บ้าง Partner ซึ่งนักธุรกิจบอกว่าสำคัญกว่า Product เรามีสถานเอกอัครราชทูต มีสำนักงานพาณิชย์ที่แนะนำได้ว่าใครน่าทำงานด้วย ใครไม่น่าทำ P สุดท้าย Procedure คือ กฎระเบียบต่าง ๆ แต่ละประเทศมีมาตรการอะไรบ้าง” คุณแดนนี่อธิบายหมายเหตุต่อไว้อีกนิดว่า

“DLA แอปพลิเคชันนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบไปใช้ลงทุนได้เลย เป็นแค่ข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอื่นๆ ที่คุณมี”

06

ตอนนี้เป็นเวลา 5 โมงกว่า ลูกค้าเริ่มทยอยเข้ามานั่งในร้าน ผมขอชวนคุยเรื่องกาแฟตบท้ายอาหารมื้อนี้

“กาแฟเป็นเครื่องดื่มของภูมิภาคลาตินอเมริกา” คุณแพรเล่า “คนเม็กซิโกนิยมดื่มกาแฟใส่อบเชย คนโคลอมเบียหิ้วกระติกน้ำร้อนที่ข้างในใส่กาแฟติดตัวเวลาเดินไปตามถนน คนบราซิลก็ดื่มกาแฟตั้งแต่เช้า หาซื้อได้ข้างทางเลย ไม่จำเป็นต้องเข้าร้านหรู”

“โคลอมเบียเป็นประเทศ Boutique Coffee Grower ปีที่แล้วเราก็ชวนเขามาออกบูทในงาน Thailand Coffee Fest เรามีข้อจำกัดคือภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟสูงมาก ทำให้ราคากาแฟแพงตามไปด้วย เราเลยอยากดึงเขาเข้ามาแชร์ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนหรือพัฒนาพันธุ์กาแฟของเรา เป็นความร่วมมือด้านกาแฟ” คุณแดนนี่เสริม

สัมพันธ์ไทย-ลาตินอเมริกาผ่านจิ้งหรีด ซีรีส์ไทย รถกระบะ และนิตยสารออนไลน์โดยนักการทูต
สัมพันธ์ไทย-ลาตินอเมริกาผ่านจิ้งหรีด ซีรีส์ไทย รถกระบะ และนิตยสารออนไลน์โดยนักการทูต

กาแฟจบ ขอแถมเรื่องน้ำอัดลมอีกสักเรื่อง

“รู้ไหมว่า Big Cola ที่เข้ามาขายในไทยเป็นของเปรู เขามาลงทุนแล้วให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้”​ คุณแดนนี่ให้ข้อมูล

“คนเม็กซิโกบอกว่า โค้กเม็กซิโกอร่อยที่สุดในโลก” คุณแพรนักเรียนเก่าเม็กซิโกให้ข้อมูลเพิ่ม “เพราะใช้น้ำตาลอ้อย โค้กแบบนี้เลยพิมพ์ข้างกระป๋องว่า Made in Mexico ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่อเมริกาจะแยกชั้นเลยว่าโค้กอเมริกากับโค้กเม็กซิโก”

ยังไม่ทันที่ผมจะยกมือถามพนักงานว่าร้านนี้มีโค้กเม็กซิโกไหม คุณแดนนี่ก็เล่าต่อว่า “ที่เม็กซิโกน้ำอัดลมราคาถูกมาก คนชอบกินมาก อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเม็กซิโกมีปัญหาโรคอ้วนมากที่สุดในโลก แซงหน้าอเมริกา เขาเลยขอให้ไทยช่วยส่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องการแก้ปัญหาโรคอ้วนไปถ่ายทอดความรู้ให้เขา”

ไทยกับลาตินอเมริกาใกล้กันกว่าที่เราคิด

สัมพันธ์ไทย-ลาตินอเมริกาผ่านจิ้งหรีด ซีรีส์ไทย รถกระบะ และนิตยสารออนไลน์โดยนักการทูต

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ