ถ้าให้ลิสต์แนวเพลงที่รู้จักในหัวเร็วๆ ก็คงมีแจ๊ส พังก์ ฟังก์ คลาสสิก ร็อก ป๊อป อิเล็กทรอนิกส์ และอีกสองสามชื่อที่ไม่ต้องเป็นโปรด้านดนตรีก็รู้จัก แต่ทันทีที่เดินเข้ามาในร้านแผ่นเสียง Zudrangma Records แนวเพลงที่เราคุ้นเคยก็กลายเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยนิดมากเมื่อเทียบกับแผ่นที่วางขายในร้าน

ณัฐพล เสียงสุคนธ์ หรือ ดีเจมาฟท์ไซ เจอกับเราช่วงบ่ายวันหนึ่งหลังฝนตก เขาเปิดประตูร้านขนาด 1 คูหาพาเราเข้าไปโลกแห่งดนตรีอีกโลก นอกจากแผ่น LP และแผ่น 7 นิ้วจำนวนมากที่วางบนชั้นและในกล่อง ยังมีพัสดุจ่าหน้าซองไปหลายประเทศตั้งเรียงๆ ไว้ รอส่งไปรษณีย์ให้ลูกค้าอีกซีกโลกหลังวิกฤต COVID-19

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น, Zudrangma Records, ณัฐพล เสียงสุคนธ์

หลายคนรู้จักณัฐในฐานะผู้ริเริ่ม Paradise Bangkok วงดนตรีแนวหมอลำที่เดินทางไปเล่นเทศกาลดนตรีดังๆ ทั่วโลกมาแล้ว บางคนรู้จักเขาในฐานะดีเจที่มีชื่อบนโปสเตอร์งานปาร์ตี้ฮิปๆ ในกรุงเทพฯ เสมอ บางคนเคยสนทนากับเขาที่ร้านแผ่นเสียงแห่งนี้ พร้อมเพลงแนวใหม่กลับไปฟังที่บ้าน

เรามาเจอเขาวันนี้… ในฐานะที่เขาเป็นนักสะสม 

เขาสะสมแผ่นเสียงจากทั่วโลก จากทั่วโลกในที่นี่ไม่ใช่ซื้อมาจากหลายๆ ประเทศ แต่เป็นแนวเพลงจากทั่วโลกตั้งแต่ชื่อประเทศที่คุณนึกออกไปจนถึงเมืองที่คุณนึกไม่ถึง คอลเลกชันของเขามีตั้งแต่เพลงเอธิโอเปีย เยเมน ซูดาน บราซิล ปากีสถาน อียิปต์ ไปจนถึงไนจีเรีย ใครจะคิดว่าเขาเรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของแต่ละท้องที่จากแผ่นเสียงเหล่านี้ โดยใช้้มันเป็นใบเบิกทางให้การเดินทางของเขาตื่นเต้นและสนุกยิ่งขึ้น

และนี่คือเรื่องเล่าประสบการณ์ในฐานะนักสะสมของเขา

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น, Zudrangma Records, ณัฐพล เสียงสุคนธ์

ดีเจ / นักสะสม

ณัฐเริ่มเก็บแผ่นเสียงมานานแล้ว ช่วงประมาณต้นปี 2000 เขามีอาชีพเป็นดีเจ เปิดแผ่นในผับและบาร์ทั่วกรุงลอนดอน พอทำงานนี้เลยมีข้ออ้างในการซื้อแผ่นมากขึ้น ได้เงินมาแต่ละครั้งก็วางแผนเอาไปซื้อแผ่นก่อน

“ช่วงนั้นดีเจต้องเปิดแผ่นเสียงเท่านั้น CDJ ยังไม่มี MP3 ไม่ต้องพูดถึงเพลงใหม่ๆ ที่เป็นเพลงพิเศษ เพลงรีมิกซ์ จะออกแค่ซิงเกิล ไม่มีออกเป็นไฟล์ดิจิทัลหรืออัลบั้มเป็นซีดี ถ้าอยากได้ต้องซื้อแผ่นเสียงเท่านั้น

“ผมเปิดแผ่นไปจนถึงประมาณปี 2006 ที่ CDJ เริ่มเข้ามาระบาดหนัก ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจอาชีพนี้ เพราะไม่ต้องซื้อแผ่นเสียงแพงๆ ซื้อซีดีถูกกว่า พอเริ่มเป็นอย่างนี้ งานของดีเจที่เปิดแผ่นเสียงก็ลดลง สมมติปกติค่าตัวดีเจแผ่นเสียงคืนละสองถึงสามร้อยปอนด์ ดีเจรุ่นใหม่มาขอแค่เหล้าฟรี เดี๋ยวเปิดซีดีเอา ร้านที่ไม่ได้ซีเรียสเรื่องนี้ก็เลือกออปชันถูก แล้วพอ MP3 มาปุ๊บนี่ยิ่งง่ายเลย อย่างผมตอนแรกมีงานห้าวันในหนึ่งอาทิตย์ อยู่ดีๆ เหลือแค่หนึ่งวัน”

แผ่นเสียงมันต้องลงทุน ณัฐเล่าไว้อย่างนั้น มันคือการทำงานทั้งคืนแล้วเอาเงินที่ได้ทั้งหมดไปซื้อแผ่นเสียง รายได้จากการเป็นดีเจหนึ่งคืนซื้อแผ่นเสียงได้ประมาณ 10 – 20 แผ่น พอเงินหมดก็ต้องทำงานคืนใหม่เพื่อที่จะไปซื้อแผ่นเสียงต่อ ในยุคที่ค่าเงินปอนด์เท่ากับ 80 บาท เมื่อรายได้ที่ได้ไม่เท่าเดิม ณัฐจึงตัดสินใจกลับเมืองไทย 

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น, Zudrangma Records, ณัฐพล เสียงสุคนธ์

สวัสดีหมอลำ

วงดนตรีไทยที่เขาเก็บสะสมในตอนนั้นเป็นแนว Thai Funk และเพลงไทยสตริงอย่างวง ดิอิมพอสซิเบิล, รอยัลสไปรท์ส, เพรสซิเดนท์ ซึ่งเป็นยุคที่เอาเครื่องดนตรีสากลมาผสม นอกเหนือจากนั้นก็มีตั้งแต่แนวอิเล็กทรอนิกส์ ฮิปฮอป แจ๊ส แอฟริกัน เร็กเก้ ฟังก์ โซล เขาบอกว่ามันเหมือนการเก็บของทุกอย่าง ช่วงนี้เขาอินแนวนี้ ก็เก็บแนวนี้ พอไปช่วงหนึ่งเขาได้รู้จักกับศิลปินอีกแนว ก็เริ่มพัฒนารสนิยมและคอลเลกชันไปเรื่อยๆ

“จนมาเจอแผ่นหมอลำกับลูกทุ่ง”

นั่นคือจุดเปลี่ยน

“เราพบว่ามันเป็นซาวนด์ที่ไม่คุ้น เพลงเก่าที่เราได้ยินๆ มันจะมาจากประมาณยุค 80 ยุคที่มีการทำดนตรีใหม่ มีการเอาเครื่องดนตรีสากลมาผสมแล้ว พอผมเจอเพลง ผู้ใหญ่ลี สิ่งที่จำได้ที่เคยฟังก็เป็นเวอร์ชันใหม่ๆ แต่จริงๆ ผู้ใหญ่ลี มันมีมาตั้งแต่ปลาย 60 มีตั้งแต่ ผู้ใหญ่ลีรำวง ผู้ใหญ่ลีซานตาน่า ผู้ใหญ่ลีวาทูซี่ ผู้ใหญ่ลีอะโกโก้ มันมี ผู้ใหญ่ลีประมาณยี่สิบเวอร์ชันได้ มีเยอะมาก แล้วทำไมเพลงพวกนี้เราไม่เคยฟังเลยวะ

“ตอนฟังหมอลำครั้งแรกผมก็นึกถึงเพลงแอฟริกัน พวกมาลี เขาจะมีวิธีการเล่นกีตาร์ที่ไม่ได้เล่นเป็นคอร์ด แต่เล่นเป็นเมโลดี้ คล้ายๆ กับหมอลำเวลาเล่นพิณ มันทำให้เราอยากรู้เกี่ยวกับดนตรีและวัฒนธรรมนี้มากขึ้น เราอาศัยการซื้อแผ่นเสียงหมอลำแล้วเรียนรู้ว่า หมอลำมีลำเต้ย ลำกลอน ลำพื้น ตังหวาย ภูไท อีสานแต่ละเมือง แต่ละจังหวัด ซาวนด์ก็ไม่เหมือนกัน จะมีคำร้องที่เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละจังหวัดเวลาเกริ่นหัวเพลง เปิดผ้าม่านกลางจะเป็นจังหวัดหนึ่ง เปิดขึ้นมาเรื่องฝนตกฟ้าร้อง ก็จะเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง เพลงจากยุค 70 มันจะแตกต่างมาก แต่พอมา 80 90 ธุรกิจดนตรีเริ่มเข้ามา กลายเป็นว่าอัลบั้มหนึ่งเพลงดนตรีเหมือนกันหมดเลย แต่เปลี่ยนเนื้อร้อง เพราะท้ายที่สุด คนไทยติดเรื่องของเนื้อร้อง เพื่อนที่เป็นนักดนตรีเคยบอกว่าคนไทยส่วนใหญ่เต้นด้วยปาก ถ้าเกิดเราร้องได้ เราจะเต้นไปกับมัน”

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น, Zudrangma Records, ณัฐพล เสียงสุคนธ์
ดีเจมาฟไซ, Zudrangma Records, ณัฐพล เสียงสุคนธ์

สะพานเหล็ก สู่พันธุ์ทิพย์

สัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน งานของณัฐในตอนนั้น คือการออกจากบ้านไปซื้อแผ่น ณัฐออกจากบ้านไปหาแผ่นแล้วกลับมาฟังทุกวันแบบไม่มีวันหยุด เขาดูปกแผ่นไทยที่มีอยู่แล้ว มีที่อยู่เขียนไว้ว่าสะพานเหล็กบน และเริ่มจากตรงนั้น

“ผมเรียกแท็กซี่ไปถึงก็เจอร้านเฮียสี่ที่หมาดุๆ เดินข้ามสะพานเหล็กไปเจอห้างแผ่นเสียงทองคำที่ตอนนี้ปิดไปแล้ว หลุดจากนั้นไปเป็นบรอดเวย์ที่ตอนนี้ครึ่งร้านเขาเป็นร้านขายเพชรขายทอง ถัดจากนั้นไปเป็นเสียงสยาม ซึ่งทำเป็นออฟฟิศแล้ว เลยไปเป็น Crown Record ห้างแผ่นเสียงตรามงกุฎ เป็นห้างแผ่นเสียงที่ปั๊มที่ญี่ปุ่นกับอินเดียสมัยก่อน ที่จะมีแผ่นเยอะๆ แล้วพอถามว่าขายไหม… ไม่ขาย​​ (หัวเราะ) พอถัดไปอีกตรงหัวมุมเป็นร้านตั้งเสียงไทยของเฮียวิศาล เฮียวิศาลนี่จะมันมาก”

บรรยากาศการซื้อแผ่นเสียงย่านสะพานเหล็กช่วงนั้นสนุกมาก สนุกชนิดที่ณัฐเรียกว่า ‘มันมือ’ แผ่นเสียงจะอยู่ในกล่องสต๊อกตั้งเรียงๆ กัน แต่ละอัลบั้มมีจำนวนมากแบบไม่ต้องแย่งกัน ถ้าอยากได้สี่สิบก๊อปปี้ก็มีให้ซื้อ มีให้เลือกได้ตามใจชอบ แต่พอผ่านไปสักพักของเริ่มหมด บรรดานักสะสมก็ต้องหาแหล่งใหม่จนไปเจอพันธุ์ทิพย์ 2 ตรงงามวงศ์วาน

“ช่วงนั้นน่าจะปี 2008 – 2009 ทุกวันพฤหัสสิบโมงเช้าจะมีเจ้คนหนึ่งชื่อว่า พี่หนู มาพร้อมคลังแผ่นตอนห้างเปิด สิบโมงปุ๊บ ยามไขกุญแจประตู ทุกคนพุ่งไปที่ลิฟต์เพื่อขึ้นไปชั้นบนสุด แผ่น LP ทุกแผ่นร้อยบาท จะมีเฮีย ลุง คนขายแผ่นเสียง นักสะสม นั่งรุมอยู่ตรงนั้น พี่หนูเขาจะมีลูกค้าประจำที่วันหนึ่งอย่างน้อยก็ต้องซื้อยี่สิบถึงสามสิบแผ่น คนเหล่านี้เลยเป็นลูกค้าเกรดเอ ติ๊ต่างว่ามีกล่องห้ากล่อง แต่คนมีสิบคน เกรดเอก็จะได้เลือกก่อน จะมีชื่ออยู่บนกล่องเลย พี่พิฑูรณ์ พี่โน่น พี่นี่ พอเลือกเสร็จปุ๊บ คนอื่นถึงจะได้เลือก

“เราจะใช้วิธีไปยืนอยู่ข้างหลังเขา เวลาเฮียเขาเลือก แผ่นไหนไม่เอาเราก็ต้องสะกิด ‘พี่ครับๆ ถ้าไม่เอาแผ่นนี้ ผมขอได้ไหม’ ซึ่งส่วนใหญ่แผ่นที่เขาไม่เอาก็คือแผ่นที่เราชอบ”

ณัฐซื้อแผ่น 7 นิ้วมากกว่าแผ่น LP เพราะสมัยก่อนตอนค่ายเพลงจะออกเพลง เขาจะออกแผ่น 7 นิ้วมาลองตลาดก่อน ถ้าดังถึงจะมาทำเป็น LP รวมต่อ ทำให้แผ่น 7 นิ้วมีความหลากหลายของเพลงเยอะกว่า และอีกข้อหนึ่งที่เราเพิ่งรู้ แผ่น 7 นิ้วตอบโจทย์เขาในฐานะที่เป็นดีเจ ขนาดเล็กกว่า เบากว่า ขนได้เยอะกว่า ที่สำคัญมันเล่นด้วยความเร็วที่เร็วกว่า ทำให้มีความลึกและเสียงดังกว่า

“วันหนึ่งพี่หนูเริ่มเอาแผ่นเจ็ดนิ้วมา LP วางด้านขวา เจ็ดนิ้ววางด้านซ้าย มีผมนั่งคนเดียวด้านซ้าย ไม่มีคนอื่นเลย รื้อไปรื้อมาสามกล่องนี้เอาทั้งกล่องเลย เดี๋ยวอีกสองกล่องผมกลับมาดู ขอไปสูบบุหรี่ก่อน ผมก็ออกไปสูบบุหรี่ สองตัวด้วย เดินกลับมาแผ่นที่กองไว้ยังไม่มีใครแตะเลย” (หัวเราะ)

ยุคพี่หนูจบลงหลังจากนั้นไม่นาน เป็นอีกยุคหนึ่งที่ณัฐให้คำนิยามว่า ‘มันมาก’ ไม่แพ้สมัยสะพานเหล็ก ยุคต่อมาเขาเริ่มนัดไปตามบ้านคน ที่พีกที่สุดที่เคยไปซื้อคือลานจอดรถเซียร์รังสิต ที่คนขายขับรถลงมาจากอีสาน เขาใช้เวลาเลือกแผ่นจน 4 ทุ่มที่ห้างปิด จำได้ว่า ล็อตนั้นได้มาประมาณ 2 – 3 หมื่นแผ่น

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น, Zudrangma Records, ณัฐพล เสียงสุคนธ์

สเกลหมื่นแผ่น

“ถ้าเกิดไม่ซื้อครั้งนี้ ครั้งหน้าเราจะได้อีกไหม เราไม่รู้”

ณัฐบอกแบบนั้นเมื่อเราและช่างภาพทำสีหน้าตกใจเมื่อรู้จำนวนแผ่นเสียงที่เขาซื้อ

“ผมก็เริ่มจากการทำงานเก็บเงินมาซื้อทีละแผ่นๆ มื้อนี้อดเพื่อไปซื้อแผ่น มันจะมีแผ่นที่เรากลับไปเสียดายที่ไม่ซื้อมา หรือบางแผ่นที่ไม่ซื้อแล้วกลับมาเรานอนไม่หลับ เราคิดถึงมัน ผมรู้สึกว่ามันไม่ Healthy กับตัวเอง มันเป็นข้ออ้าง (หัวเราะ)

“ช่วงแรกๆ ไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรกับมันต่อ ยังไม่มีร้าน ผมซื้อเฉพาะแผ่นที่ชอบไว้เป็นของตัวเอง เราไปคลองเตยเห็นเด็กเขวี้ยงแผ่นลงน้ำเล่น ไปชายแดน เขาบอกมาช้าไป เพิ่งเผาฝังดินไปแสนแผ่น พอเห็นอย่างนี้รู้สึกว่าโคตรน่าเสียดายเลย เลยคิดถ้าเรามีกำลังพอซื้อไหว ก็ซื้อเก็บไว้ก่อน ผมซื้อแผ่นเยอะเพราะเราจัดปาร์ตี้ อยากให้ทุกครั้งมีเพลงใหม่ๆ ตลอด แล้วเวลาเปิดเพลงจะมีคนเดินมาบอกว่าอยากได้แผ่นนี้ๆ คุณมีแผ่นเอธิโอเปียที่ผมอยากได้ ผมมีแผ่นไทยที่คุณอยากได้ก็ใช้วิธีแลกกัน

“เมื่อก่อนผมโรคจิตกว่านี้เยอะ ส่วนตัวจะเก็บอัลบั้มที่ชอบไว้ห้าแผ่น แผ่นหนึ่งไว้เล่น แผ่นสองกันแผ่นเล่นเสีย เพราะมันจะมีพวกเมาเดินชน เฮ้ย ขอเพลงหน่อย ปั๊ก! หัวเข็มขูดแผ่นเป็นรอย หลังจากนั้นทุกครั้งที่เราฟังแผ่นนี้ก็จะเจอสะดุด แล้วหน้าไอ้นั่นก็จะลอยขึ้นมา แผ่นสามเก็บไว้เป็น Archive อีกสองแผ่นเก็บไว้แลกกับเพื่อน บางแผ่นตั้งเป้าเลยว่าต้องได้ ต้องมี พอหลังๆ เริ่มปลงคิดว่าถ้าดวงมันสมพงษ์กันเดี๋ยวก็เจอ บางแผ่นผมหามาสิบห้าปี ยังไงก็ไม่เจอ วันที่เราไม่หาไม่ตั้งใจ เดินๆ อยู่เจอเฉย

“แล้วเดี๋ยวนี้ง่ายเข้าไปอีก มีเว็บซื้อขายมี ebay.com มี disclogs.com คุณไม่ต้องรอดวงก็ได้ เงินคุณถึงคุณก็นอนหลับแล้ว เดี๋ยวนี้การเสพของก็หาง่ายขึ้น เมื่อก่อนแผ่นบางแผ่นหาแทบตายไม่มี เดี๋ยวนี้คีย์ขึ้นไปบน Google กด Disclog 73 คนขายทั่วโลก มีตัวเลือกเลยคอนดิชันไหน ราคาไหน ส่งจากประเทศอะไร มันคนละเรื่องกับสมัยก่อนเลย แต่พอมันหาง่ายมาก เรื่องราวหรือความทรงจำของเรากับแผ่นอาจไม่มี แต่เราได้” (หัวเราะ)

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น
ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น
ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

สุดแรงม้า

จากนักสะสมมาเป็นเจ้าของร้านแผ่นเสียงที่ไม่ได้มีแค่เพลงไทย แต่มีเพลงจากทั่วโลก บวกกับแนวเพลงหลายแนวทั้งแจ๊ส ดิสโก้ และฟังก์ จะเรียกว่าทั้งร้านเป็นแนวเพลง World Music ก็คงไม่ผิดนัก แม้ณัฐจะบอกเองว่าคำนี้มันเชยไปตั้งแต่สมัยต้นปี 2000 แล้ว

“ความสนุกของร้านแผ่นเสียงคือแต่ละร้านมีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนกัน ถ้าทุกร้านเป็น HMV ทุกร้านเป็น Tower Records สำหรับผมมันไม่สนุก สมมติคุณไปยุโรป ไปญี่ปุ่น ไปอเมริกา ร้านนี้เชี่ยวชาญแนวเร็กเก้ ก็แต่งร้านเร็กเก้ไปเลย มันทำให้เราอยากเข้า แต่การซื้อของกับร้านแบบนี้อาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกที่สุด ซึ่งถ้าคุณยอมจ่าย คุณได้ของกลับบ้านทันที คุณนอนหลับ สมมติผมอยากได้แผ่นเร็กเก้ ร้านเร็กเก้มีหมดแต่ราคาสูง ผมก็จะไปเช็กร้านอื่นก่อน อีกร้านเชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์มิวสิก แปลว่าแผ่นเร็กเก้สำหรับเขาคือขยะ ขยะของคนหนึ่งอาจจะเป็นขุมทรัพย์ของอีกคนก็ได้ ราคาก็จะถูกลง ร้านแผ่นเสียงบางที่ไม่ได้มีแนวที่เจาะจงขนาดนั้น แต่มีพนักงานหรือคนเปิดแผ่นที่มีเทสต์ที่เราสนใจ

“ก่อนหน้านี้จะมียุคที่อังกฤษมีแผ่น Dubplate เป็นแผ่นซิงเกิลเร็กเก้ที่ออกใหม่ทุกวีกเอนด์ ทุกวันอาทิตย์จะมีคนมารวมตัวที่ร้านแผ่นเสียงร้านหนึ่ง รอให้เขามาส่งแผ่นที่เพิ่งปั๊มเสร็จ ร้านเป็นคอก เป็นกรง คนเต็มร้านเลยยืนอัดกันแน่นๆ เขาก็จะเปิดแผ่นแล้วถามว่า ใครอยากได้แผ่นนี้ยกมือขึ้น เขาก็จะจดๆ เอาไว้ พอเสร็จเราก็ไปรับของ มันจะเป็นแผ่นที่เพิ่งปั๊มเสร็จ พอเราไปเปิดในงานคนก็จะงงว่าแผ่นเพิ่งออกทำไมมีแล้ว” 

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

นักฟังเพลงของโลก

การฟังเพลงท้องถิ่นของแต่ละวัฒนธรรมทำให้การเดินทางสนุกขึ้น เราสรุปจาก 1 ชั่วโมงเต็มกับณัฐไว้อย่างนั้น

การซื้อแผ่นเสียงแนวเพลงที่ไม่เคยฟังก็เหมือนพาเขาไปรู้จักกับอีกโลก ได้เจอคนใหม่ๆ ได้ไปในที่แปลกๆ เข้าใจประวัติศาสตร์ในอีกมุม ได้เริ่มบทสนทนาที่คิดไม่ถึงมาก่อน ได้เรียนรู้ที่จะเปิดใจ ยอมรับในความแตกต่าง มันสอนเขาพอๆ กับที่สร้างความสนุกให้กับชีวิต

“มันทำให้เราได้เห็นวัฒนธรรมของแต่ละที่ ได้คุยเรื่องใหม่ๆ กับคน อย่างตอนที่ผมเริ่มเก็บแผ่นมาเลย์ ได้ไปประเทศเขา ได้ไปเจอแนวกัมบุส (Gambus) กัมบุสโยงไปถึงเยเมน ซึ่งก็เป็นแนวกัมบุสเหมือนกันแต่สะกดต่างตัว G กับ Q ซึ่งคาดว่าอิทธิพลทางดนตรีมันจะมาจากยุคเส้นทางสายไหม Coffee Trade ของตะวันออกกลางกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับผมมันตื่นเต้น มันเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เรานำมาประกอบภาพในหัวเราได้ แล้วผมเป็นคนคิดเยอะ ผมอยากรู้คำตอบ

“ตอนไปเวียดนาม ผมก็ไปหาแผ่นเหมือนกัน ไปภาคใต้เจอกรุสมบัติ ไปภาคเหนือเจอแต่แผ่นรัสเซีย แผ่นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมันก็เกี่ยวโยงกับสงคราม เรื่องระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ มีในครอบครองไม่ได้ เพราะถ้าคุณมีแผ่น แปลว่าคุณมีเครื่องเล่น ถ้าคุณมีเครื่องเล่น แปลว่าคุณมีระบบเสียง ทั้งหมดนี้แปลว่าคุณมีตังค์ ผมก็ถามคนต่อว่า แล้วสมัยนั้นคนเวียดนามเขาเก็บแผ่นยังไง เขาบอกว่าเก็บไม่ได้ เขาต้องไปฝังดิน ปกอัลบั้มก็เลยหาย สภาพแผ่นก็ไม่ค่อยดี ถ้าใครจะเก็บเขาต้องไปซื้อตั๋วลอตเตอรี่ที่ขึ้นเงินไว้แล้ว เผื่อทหารมาบ้านจะได้บอกว่าถูกหวย ถึงมีเงินซื้อ

“ดนตรีมันเล่าเรื่องราวท้องถิ่นที่เวลาเราไปในฐานะนักท่องเที่ยว เราจะไม่ได้เห็น แล้วอีกอย่างคือเราได้กินของโลคอลมากๆ เหมือนเวลาเราไปสะพานเหล็ก เราก็จะได้กินอาหารข้างทาง เวียดนาม อินโดฯ ก็เหมือนกัน ไม่งั้นไปเวียดนามกินแต่เฝอเบื่อตายห่า (หัวเราะ)”

 ได้ยินอย่างนี้แล้ว ถ้ากลับมาโดยไม่ให้ณัฐแนะนำแผ่นเสียงให้สักหน่อยคงจะเป็นการเสียเที่ยวอย่างมาก เราเลยขอให้เขาเลือกแผ่นเสียง 10 แผ่นสำหรับผู้ที่สนใจอยากลองฟังเพลงท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร แถมยังมีเรื่องเล่าของณัฐติดมาในแต่ละแผ่นด้วย

1. GOONJ – You Are the Wrong Man (Pakistan)

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

“อันนี้เป็นเพลงของปากีสถาน จะคล้ายๆ กับอินเดีย อินเดียจะมีแนว Bollywood เป็นฟังก์ ดิสโก้ อินเดียทางใต้จะชื่อว่า Collywood จะเป็นเสียงดิจิทัล ส่วนเพลงปากีสถานในยุคนั้นถ้าเป็นพวก Soundtrack หนังจะเรียกว่า Lollywood เนื่องจากเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เพลงเลยจะมีแนว Garage มี Psycedelic Rock เข้ามาผสม

“ตอนนั้นเพื่อนผมย้ายไปอยู่ปากีสถาน เขาไปรู้จักคนที่ทำงานกับ EMI ปากีสถาน เลยส่งมาให้ผมฟัง ผมชอบเพลงนี้มาก ใช้เวลาสิบสองปีในการตามหา ตอนเจอก็ราคาพอรับไหวเมื่อเทียบกับสิบกว่าปีที่รอมา”

2. Sono Cairo (Egypt)

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

“เมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว เพื่อนเปิดค่ายที่เบลเยียมทำเพลงตะวันออกกลางกับอียิปต์โดยเฉพาะ เขาเดินทางไปประเทศอียิปต์เพื่อหาแผ่น พอได้มาก็กลับมา Reissue ใหม่ แผ่นนี้เป็นเพลงอียิปต์ที่ผมได้มาจากเพื่อนอีกทีหนึ่ง ใช้วิธีการแลกมา”

3. Ngay Xanh (Vietnam)

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

“ผมได้แผ่นนี้มาจากทริปแรกที่ผมไปเวียดนาม เป็นยุคปลาย 60s ต้น 70s ที่ดนตรีเวียดนามใต้ยังได้รับอิทธิพลจากเพลงโซล เซิร์ฟมิวสิก ฟังก์ ก่อนจะมีระบอบคอมมิวนิสต์เข้ามา 

“แผ่นนี้เป็นแผ่นที่ผมไปคุยกับนักสะสมว่าสมัยสงครามเขาเก็บกันยังไง สภาพแผ่นก็จะมีรอย ปกไม่อยู่อย่างที่เห็น หลังจากนั้นผมก็พยายามหาอีก เพราะแผ่นนี้ตอนท้ายมันมีสะดุดนิดหนึ่ง”

4. Sout Alwahdah (Yemen)

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

“เพื่อนผมเคยทำงาน NGO ที่ประเทศเยเมน มีอาทิตย์หนึ่งเขาว่างจากงานเลยไปหาแผ่น ไปเจอมาล็อตหนึ่งมาแบ่งๆ กัน ในความรู้สึกผม แผ่นนี้เป็นตัวท็อปของทั้งหมด เพื่อนมีสองก็อปปี้เลยบอกว่า ‘แผ่นนี้กูให้มึงก็ได้ แต่มึงต้องหาของมาให้วันเกิดกู’ เขาบินมาเจอเอาแผ่นมาให้ แล้วต้องบินกลับไปในอีกสองอาทิตย์ ปรากฏระเบิดลง สงครามเกิด การล่าแผ่นที่เยเมนเลยจบลง เพราะพวกตลาดที่เคยไปหาก็โดนระเบิดหมดเลย”

5. Muluken Mellesse (Ethiopia)

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

“ตอนแรกผมไม่รู้จักศิลปินชาวเอธิโอเปียคนนี้ เพื่อนได้ลิขสิทธิ์ Reissue อัลบั้มของเขา หลังจากคุยกันไม่กี่วัน ผมเจอแผ่นนี้ที่ญี่ปุ่น รู้สึกว่าต้องจัดมาอย่างด่วน เพราะเพื่อนมี Oringinal Issue แต่ไม่มีปก เลยคิดว่าซื้อมาให้ตัวเองด้วย และถือว่าช่วยเพื่อนด้วย”

6. William Onyeabor (Nigeria)

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

“แผ่นนี้ได้มาจากทริปเดียวกันกับแผ่นที่แล้ว เป็นศิลปินไนจีเรีย เพื่อนผมอีกคนที่อเมริกาอยากโปรโมตศิลปินคนนี้ เขาเป็นคนทำเพลงแอฟริกันที่มีกลิ่นอิเล็กทรอนิกส์ เกือบจะเป็นแนว House เขาทำเพลงออกมาในยุค 90s แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จ ผมได้มาในราคาประมาณร้อยกว่ายูโร หลังจากนั้นพอเริ่มดัง ราคาแผ่นตอนนี้น่าจะเจ็ดร้อยยูโรได้”

7. CELIA (Brazil)

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

“ผมเพิ่งได้แผ่นนี้มาเมื่อปีที่แล้วโดยไม่ต้องเสียตังค์ เพราะแลกมา เป็นเพลงบราซิล ผมฟังครั้งแรกตอนเพื่อนเปิดให้ฟังที่บ้าน แล้วมันก็ติดในหัวว่าอยากได้ แต่ก็ไม่เคยเจอมันอีกเลย จนล่าสุดเพื่อนที่เก็บแผ่นบราซิลโดยเฉพาะมาเมืองไทย เขาบอกว่ามีแผ่นนี้อยู่ สนใจไหม แล้วเขาก็มาที่ร้านตามหาแผ่นแผ่นหนึ่ง ซึ่งผมมี ก็เลยแลกกัน เป็นอีกแผ่นที่ได้มาอย่างสบายใจ”

8. Owen Marshall – The Naked Truth (USA)

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

“ผมเจอแผ่นนี้ที่สวีเดน เป็นร้านแผ่นเสียงร้านหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ แต่เขามีความสามารถในการทำให้เราซื้อของเขาโดยที่เรารู้สึกผิด มันเป็นแนว Special Jazz ที่ต้องตัดใจซื้อ เพราะหาโอกาสเปิดในปาร์ตี้ไม่ค่อยได้ แต่ผมชอบฟังเอง เรามีแผ่น Reissue อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีออริจินัล

“แผ่นนี้เราสองจิตสองใจที่จะซื้อ เพราะราคามันอยู่ที่พันยูโร ไม่ซื้อ เดินกลับมาโรงแรมอยู่ไม่สุข ผมก็เลยเดินกลับไปที่ร้านซึ่งอยู่ห่างออกไปสองกิโลฯ อีก ตัดสินใจซื้อก่อนร้านจะปิด คนขายเขาก็ลังเล ขายดีไหมๆ จริงๆ ไม่อยากขายเลย อยากจะเก็บเอาไว้ ถ้าเอาไปก็รักษาดีๆ อีกเลย

“พอได้มาเคยเปิดอยู่ครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่กล้าเปิดอีก เพราะทุกครั้งที่เปิดกลัวเข็มจะกินแผ่น สุดท้ายก็กลับมาฟังแผ่น Reissue ที่มีอยู่แล้วอยู่ดี ล่าสุดผมโพสต์ขายแล้ว อะไรที่ไม่จำเป็นก็ยอมปล่อยไป”

9. The Viking Band – สีดา (Thailand)

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

“อันนี้เป็นหนึ่งในแผ่นแรกๆ ที่ผมซื้อที่เมืองไทย ผมไปร้านเฮียวิศาล ร้านเขาไม่มีเครื่องให้ลองเล่น เขาจะเป็นคนเปิดให้ วันนั้นเขาเปิดแผ่นนี้ขึ้นมาเสียงดังๆ ข้างหน้าร้านเป็นป้ายรถเมล์ ชื่อเพลงว่า เพลงยุคอวกาศ เนื้อร้องมีแค่ ‘ผมรักคุณจริงๆ ผมรักคุณจริงๆ’ ตะโกนวนไปเรื่อยๆ ทีนี้คนจากป้ายรถเมล์เขาก็นึกว่ามีคนทะเลาะกัน เลยเข้ามามุงดู ผมก็เห็นว่าเพลงนี้เวิร์ก มันเรียกคนได้ แล้วก็เป็นงานแจ๊สแบบที่เราไม่เคยเจอด้วย”

10. สวรรค์บางกอก (Thailand)

ดีเจมาฟท์ไซ เจ้าของคอลเลกชันแผ่นเสียงจากทั่วโลกผู้ศึกษาวัฒนธรรมในเพลงทุกท้องถิ่น

“แผ่นนี้คือแผ่นที่ผมเอามาจัดงาน Paradise Bangkok ทั้งโลโก้ ทั้งอาร์ตเวิร์ก ของงานครั้งแรกมาจากแผ่นนี้เลย ตอนประชุมกันเพื่อนผมเห็นแผ่นนี้บนกำแพงเลยบอกว่า ‘งั้นก็ใช้ชื่อ Paradise Bangkok สิ’ ตอนนั้นง่ายมาก ที่มาเหมือนไม่ตั้งใจจะทำจริงจัง แต่ก็ทำมาจนวันนี้”

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan