อะไรเอ่ย สีแดงๆ มา (เกือบ) ทุกเดือน ผู้หญิงเท่านั้นที่เข้าใจกันดี

คงไม่ใช่บิลค่าโทรศัพท์หรือบิลค่าน้ำค่าไฟ แต่คือประจำเดือนที่บางคนก็มาทุกเดือน หลายคนก็มาเดือนเว้นเดือน แถมยังพ่วงมาด้วยอาการปวดจนทนไม่ไหวในบางรายด้วย 

แม้ผู้หญิงจะหลากหลายแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เราประสบพบเจอคล้ายๆ กันคือค่าผ้าอนามัยที่แพงแสนแพง และอาการแพ้ผ้าอนามัย ที่แม้หลายเจ้าโฆษณาว่าสุดจะอ่อนโยนแต่ก็ยังไม่อ่อนโยนต่อเราอยู่ดี

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ถ้วยอนามัยจึงเป็นคำตอบของผู้หญิงสมัยใหม่ แต่เพราะยังกล้าๆ กลัวๆ หลายคนรวมถึงเราก็ไม่ซื้อมาใช้เสียที รายจ่ายก็อยากลด สิ่งแวดล้อมก็อยากรัก ผ้าอนามัยซักได้จากภูมิปัญญาคนโบราณอาจเป็นคำตอบ

นั่นคือสาเหตุให้เราเดินทางมา ‘สวนผักหฤหรรษ์ปันยิ้ม’ สวนผักขนาดยาวที่ไม่ได้มีแค่สวนผัก แต่ยังมีเล้าเป็ด และลานกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะกิจกรรมเรียนรู้เรื่องสารเคมีในชีวิตอย่างกิจกรรมทำผ้ามัดย้อม กิจกรรมเรียนรู้เรื่องขยะพลาสติกและสารพิษ อย่างกิจกรรมทายระยะเวลาการย่อยสลายของพลาสติกและปริมาณสารเคมี จนเด็กๆ หลายคนพยายามลดการทานขนมถุง ทั้งเพื่อสุขภาพที่ดีและโลกที่ดี

อารัมภบทเสียนานจน ครูโฉ-จิตรา หิรัญพฤกษ์ เจ้าของสวนผักผู้เชื่อในความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ โดยใช้ชีวิตด้วยแนวคิดพึ่งพาตนเองยืนต้อนรับเราตรงหน้านี้แล้ว 

 ครูโฉ-จิตรา หิรัญพฤกษ์ สวนผักหฤหรรษ์ปันยิ้ม

“ชีวิตเราสัมพันธ์กับขยะมาตลอดจนเรียกว่าขยะเปลี่ยนชีวิตก็ได้ ตอนเด็กๆ เราไม่ชอบขยะ แล้วเราก็ไม่ชอบคนที่ทิ้งขยะด้วย ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องทิ้ง” ครูโฉทักทายด้วยการเล่าย้อนให้ฟังถึงอดีตที่หล่อหลอมความรักธรรมชาติ พาเล่าย้อนไปถึงครานั่งเรือล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยากับพ่อแม่ เห็นเวิ้งน้ำใสสะอาดที่เพียงแกว่งสารส้มก็ใช้ได้ เล่าถึงสมัยประถมบ้าง มัธยมบ้าง ที่ได้ไปอยู่กับคนเฒ่าคนแก่ในครอบครัว มีชีวิตท่ามกลางต้นไม้ใบหญ้า ปลูกผักบ้าง ปลูกดอกไม้บ้าง จนรู้สึกหวงแหนธรรมชาติแต่ยังไม่รู้วิธีการรักษา

“ตอนเด็กๆ เราก็รักธรรมชาติแล้วนะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะรักษามันยังไง จนเรียนมหาวิทยาลัยที่ต้องเลือกชุมนุม ตอนแรกเราไม่อยากเข้าชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติหรอก เพราะคิดว่าต้องได้ไปเก็บขยะแน่ๆ แต่เพื่อนบอกว่าถ้าเข้าชุมนุมนี้จะได้ไปเที่ยวเราเลยตัดสินใจเข้า ชุมนุมนี้ทำให้เราได้เดินป่า อาจารย์ก็ไม่ได้พาไปเก็บขยะนะ (หัวเราะ) แต่เขาเดินเก็บจนเด็กๆ เก็บตามไปเอง อาจารย์ยังเล่าว่าแค่เราใช้สบู่อาบน้ำ สัตว์ป่าก็ไม่ลงมากินแล้ว ตอนนั้นเรารู้สึกว่า เฮ้ย ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแล้วล่ะ

“สมัยที่มนุษย์ยังไม่มีเทคโนโลยี มนุษย์เชื่อมโยงกับธรรมชาติมากกว่านี้ เพราะมนุษย์มาจากธรรมชาติ แต่พอมีความสะดวกสบายมากขึ้น เราออกห่างจากธรรมชาติจนเบียดเบียนมัน ตัดต้นไม้เพื่อทำเขื่อน ทำถนน ทั้งๆ ที่การทำร้ายเขาก็คือการทำร้ายมนุษย์เหมือนกัน” ชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติขสำคัญต่อความคิดมากเสียจนครูโฉอยากมีศูนย์เรียนรู้เรื่องธรรมชาติและมนุษย์ เช่นสวนผักที่เรายืนอยู่ 

เพราะโชคชะตาหรือความชอบก็ไม่อาจระบุได้ เมื่อจบการศึกษา ครูมีโอกาสได้ทำคณะละครเร่ตามโรงเรียน ได้เป็นนักจัดกระบวนการการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับโรงเรียนต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนและการใช้ชีวิตให้ครูและเด็กๆ อยู่หลายปี โดยยึดหลักความสมดุลระหว่างธรรมชาติ สังคม ความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจ ให้มากที่สุด จนชีวิตเดินทางมาถึงจุดที่ครูนึกอยากกลับมาอยู่บ้านและดูแลคนสำคัญในครอบครัว

“เราอยากทำสิ่งนี้มาตั้งแต่สมัยเรียน เพราะอยากนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาเล่าต่อ แต่ตอนแรกที่ออกมา เราทำแบบฝันๆ อยากพึ่งตนเอง ทำแต่กิจกรรมโดยไม่มีเงินเดือนเหมือนเมื่อก่อน พยายามปลูกผักไปขายได้สัปดาห์ละสองร้อยบาท บัญชีรายรับ-รายจ่าย เลยติดลบ ตอนนั้นมานั่งถอดบทเรียนว่าเราถนัดอะไรกันแน่ เราไม่ใช่เกษตรกร เราเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้” 

ไม่นานเมื่อกลั่นบทเรียนนั้นได้ ครูโฉจึงกลายเป็นนักจัดกิจกรรมที่ได้รับเชิญเป็นวิทยากรตามที่ต่างๆ จัดกิจกรรมร่วมกับเด็กในชุมชนอย่างที่เคยทำมาบ้าง รวมถึงสอนการทำแชมพู สบู่ เครื่องปรุงต่างๆ ให้คนที่สนใจ

“การพึ่งตนเองสัมพันธ์กับขยะและธรรมชาติ เพราะเมื่อเราทำเองเราก็จะรู้ที่มาที่ไป แต่การพึ่งตนเองไม่ได้หมายความว่าเราต้องตัดสังคมออกไป อย่างซีอิ๊วที่เราทำก็ไม่ได้หมายความเราจะต้องปลูกถั่วเหลืองเอง เราแค่ต้องตามหากัลยาณมิตรที่ไว้ใจได้ในเรื่องนี้แล้วนำมาต่อยอด” 

เรายืนยันคำพูดของครูโฉโดยที่ครูไม่ต้องเล่ามาก เพราะนอกจากไข่ที่เก็บจากเป็ดหลังสวน ผักที่เด็ดจากสวนหลังบ้าน ครูยังมีปุ๋ยทำเองจากถังหมักเศษอาหารเหลือทิ้ง มีโซนเก็บแชมพู สบู่ที่ทำไว้ และมีโซนขยะพลาสติก รวมถึงยังมีตะกร้ารวมอุปกรณ์ทำผ้าอนามัยซักได้ที่ชักชวนให้เรามาในวันนี้

เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร

“อย่างผ้าอนามัยซักได้ เราไปเจอเมื่อกว่าสิบปีก่อนตอนไปทำกิจรรมที่อาศรมวงศ์สนิท คนขายบอกว่าแม่ชีเป็นคนทำ แล้วจะเลิกทำแล้วนะ เรากับเพื่อนอีกคนเลยซื้อมาใช้ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่ามันจะซึม ไหม เล็กไป หรือมันลำบากหรือเปล่า เพราะเรามีจิตใจมุ่งมั่นที่จะใช้”

จากครั้งนั้น ครูซักผ้าอนามัยแล้วตากทุกเดือนๆ จนได้ฉายาว่านี่คือโฉ ผู้ใช้ผ้าอนามัยซักได้ และซักผ้าอนามัยใช้ซ้ำมา 5 ปีจนเปื่อยยุ่ย ครูจึงแกะแบบและเริ่มทำใช้ขึ้นเองด้วยสองมือ

“ประมาณสามสี่ปีที่แล้ว เราตัดสินใจโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่าเราทำสิ่งนี้อยู่ ปรากฏว่าคนสนใจเยอะมาก บางคนก็ทักว่าอยากลองใช้เพราะแพ้ผ้าอนามัย เราเลยได้รู้ว่าผ้าอนามัยทั่วไปมีส่วนผสมของพลาสติกที่เสียดสีผิวหนัง มีส่วนผสมจากน้ำหอม และสารเคมีอื่นๆ เราจึงได้โอกาสทำขายเพราะคนอยากใช้ จนหลังๆ ไม่มีเวลาเลยเปิดสอนแทน” 

คนที่มาเรียนไม่ได้มีเพียงวัยรุ่นผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่มีคนเฒ่าคนแก่วัยหมดประจำเดือนที่มารำลึกความหลังครั้งยังใช้ผ้าถุงเก่าแทนผ้าอนามัยสำเร็จรูป แย้มให้ครูโฉฟังว่าอยากกลับไปทำให้ลูกหลานได้ใช้ และได้ลองสัมผัสของโบราณที่คุณย่าคุณยายคุ้นเคย

“เราอยากเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าผ้าอนามัยไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่มันคือเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมสากลที่เราต้องช่วยกัน ผู้หญิงมีประจำเดือนทุกเดือน ในหนึ่งปี เราใช้ไปหลายผืน แต่มันไม่ย่อยสลาย มันจะอยู่บนโลกนี้อีกนาน” ครูโฉทิ้งท้าย ก่อนเตรียมอุปกรณ์สำหรับห้องเรียนผ้าอนามัยซักได้วันนี้ 

ใครยังกล้าๆ กลัวๆ ว่าจะสะอาดหรือยุ่งยากแค่ไหน ขอให้ลองเปิดใจทำผ้าอนามัยไปพร้อมกับเรา 

อุปกรณ์

เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร

ผ้าอนามัยซักได้ฉบับครูโฉแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ผ้าอนามัยด้านนอกสำหรับซึมซับได้รวดเร็ว และแผ่นซึมซับด้านในสำหรับรองรับประจำเดือน ทั้งสองส่วนสามารถถอดประกอบได้ง่ายๆ 

  1. ผ้าอ้อมสาลู เป็นผ้าที่ซึมซับได้รวดเร็วและแห้งไวใช้สำหรับทำผ้าอนามัยด้านนอก
  2. ผ้าอ้อมสำลี เป็นผ้าที่ซึมซับได้มากและอุ้มน้ำได้ดีใช้สำหรับผ้าซึมซับด้านใน 

ครูโฉเลือกใช้ผ้าอ้อมสำหรับเด็ก เพราะมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าปลอดภัยต่อร่างกาย แต่หากใครอยากใช้ผ้าชนิดอื่นก็หาคุณสมบัติที่คล้ายกันได้ และเลือกแบบที่ปลอดสารเคมีจริงๆ ส่วนใครอยากใช้สูตรเดียวกับครูโฉก็หาซื้อผ้าทั้งสองชนิดได้ตามร้านขายของใช้สำหรับเด็ก ปกติจะขายเป็นโหล และมีขนาดค่อนข้างมาตรฐาน 

  1. กรรไกร
  2. ดินสอ
  3. ไม้บรรทัด
  4. เข็มเย็บผ้า
  5. ด้าย
  6. เข็มปักไหม
  7. ไหมปักผ้า
  8. เข็มหมุด
  9. กระดาษแข็งสำหรับทำแพตเทิร์น
  10. กระดุมแป๊ก

วิธีทำ

ขั้นตอนการตัดผ้า

  1. นำกระดาษแข็งมาวัดขนาดเพื่อทำแพตเทิร์น ผ้าอนามัยซึมซับด้านนอกจะใช้ทั้งหมด 2 แพตเทิร์น คือผ้าด้านบนและผ้าด้านล่าง ส่วนแผ่นซึมซับด้านในจะมีเพียง 1 แพตเทิร์น
  • ผ้าด้านบน กว้าง*ยาว เท่ากับ 18*25 
  • ผ้าด้านล่าง กว้าง*ยาว เท่ากับ 11*25 
  • แผ่นซึมซับด้านใน กว้าง*ยาว เท่ากับ 6*20
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
  1. นำแพตเทิร์นผ้าด้านบนและผ้าด้านล่างมาวาดลายบนผ้าอ้อมสาลู สำหรับผ้าอนามัย 1 แผ่น ให้ตัดผ้าด้านบน 1 ชิ้น และผ้าด้านล่าง 2 ชิ้น
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
  1. นำแพตเทิร์นแผ่นซึมซับด้านในมาวาดลายบนผ้าอ้อมสำลี สำหรับผ้าอนามัย 1 แผ่น จะใช้ทั้งหมด 2 ชุด ชุดละ 4 ชิ้น นั่นคือต้องตัดผ้าให้ได้ 8 ชิ้น 
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร

การแบ่งออกเป็น 2 ชุด มีข้อดีคือผ้าจะไม่หนาเกินไปจนแห้งยาก นอกจากนั้น ยังเพิ่มหรือลดแผ่นซึมซับได้มากเท่าที่ต้องการ หากมาน้อยอาจใส่แผ่นซึมซับแค่ชุดเดียว แต่หากมามากก็เพิ่มได้ตามใจปรารถนา

ขั้นตอนการเย็บผ้าอนามัยซึมซับด้านนอก

  1. วางผ้าด้านบนที่มีลาย 1 ชิ้น และผ้าด้านล่างที่มีลาย 2 ชิ้นมาประกบกัน จากนั้นใช้เข็มกลัดกลัดไว้ไม่ให้เลื่อนหลุด
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
  1. เตรียมเข็มเย็บผ้าร้อยด้าย 2 เส้น ม้วนปมให้แน่น
  1. เว้นระยะห่างจากขอบผ้าประมาณ 0.5 เซนติเมตร แล้วด้นตะลุยโดยแทงเข็มลงแล้วแทงขึ้นแต่ยังไม่ต้องดึงเข็มออก ให้แทงลงและขึ้นจนผ้าเต็มเข็มแล้วค่อยยกขึ้น ทำจนครบแผ่น แล้วจึงเก็บปม
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
  1. กลับด้านผ้า ใช้ด้ายเพียง 1 เส้น มัดปมให้แน่น แทงเข็มขึ้นจากทบผ้าด้านในเพื่อซ่อนปมโดยแทงให้เข็มออกมาที่ผ้าด้านใดด้านหนึ่ง 
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
  1. แทงเข็มลงไปที่ผ้าอีกด้านให้ทะลุกลับมาที่ผ้าด้านเดิมโดยเวลาแทงขึ้นให้เฉียงเล็กน้อย เว้นระยะห่างประมาณ 0.5 เซนติเมตรแล้วทำซ้ำ เมื่อทำครบจึงแทงเข็มลงไปในผ้าแล้วจึงมัดปมด้านในเพื่อซ่อนปม การสอยผ้าเช่นนี้ก็เพื่อให้ผ้าอนามัยของเราแข็งแรงทนทานนั่นเอง 
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
  1. นำกระดุมแป๊กตัวเมียเย็บที่ปีกผ้าอนามัยด้านล่าง โดยใช้ด้ายเย็บผ้า 1 เส้น แทงขึ้นและลงจนกว่าจะแน่นแล้วจึงมัดปม
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
  1. พับปีกผ้าอนามัยอีกด้านแล้วนำกระดุมแป๊กตัวผู้เย็บลงไปด้วยวิธีการเดียวกัน เพื่อให้กระดุมทั้งสองประกบกันได้ 
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร

ขั้นตอนการเย็บแผ่นซึมซับด้านใน

  1. มาถึงแผ่นซึมซับด้านในกันบ้าง ให้นำผ้าซึมซับที่ตัดไว้มาเรียงกัน 4 ชิ้น กลัดเข็มหมุดเพื่อไม่ให้เลื่อนหลุด
  1. เตรียมเข็มโดยใช้ไหมปักผ้า 1 เส้นร้อยในเข็มปักผ้า มัดปมให้แน่น
  2. เว้นระยะห่างจากขอบผ้า 0.5 เซนติเมตรแล้วซ่อนปมโดยแทงเข็มขึ้นในจุดระหว่างผ้าแผ่นที่ 2 และ 3
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
  1. เย็บแบบ Cutwork โดยแทงเข็มลงแล้วพันด้ายที่เข็มแล้วแทงขึ้น เว้นระยะห่างจากตำแหน่งเดิม 0.5 เซนติเมตร แล้วทำด้วยวิธีเดิมจนครบรอบ
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
  1. เก็บปมจากนั้นแทงเข็มระหว่างแผ่นซึมซับเพื่อเก็บปลายด้าย จะได้แผ่นซับ 1 แผ่น ให้ทำตามวิธีเดิมเพื่อทำแผ่นที่ 2 หรือหากใครอยากทำแผ่นที่ 3 เพื่อรองรับการซึมเปื้อนก็สามารถออกแบบได้ตามใจชอบ
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร

ขั้นตอนการประกอบ

  1. นำแผ่นซึมซับทั้ง 2 แผ่นใส่เข้าไปในผ้าอนามัยด้านนอก
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร
  1. เมื่อจะใช้ให้นำผ้าด้านนอกขึ้นแล้วติดกระดุมแป๊ก ก็ใช้ชีวิตเฉกเช่นใส่ผ้าอนามัยทั่วไปได้ทันที เปลี่ยนตามช่วงเวลาที่เหมาะสม แช่น้ำพร้อมสบู่ซักผ้า ขอบอกว่าประจำเดือนหลุดง่ายจนน่าตกใจ ซักเบาๆ แล้วนำไปตาก หรือจะนำเข้าเครื่องซักผ้าอีกรอบก็ยังได้ แสนเก๋จนอยากใช้ไปเรื่อยๆ เชียวล่ะ
เย็บ ปัก ถัก ร้อย ผ้าอนามัยซักได้ที่ทำตามได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้จักร

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ