พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 คือทริปดำน้ำนอกประเทศครั้งล่าสุด ชีวิตก่อน COVID-19 ของเรา เต็มไปด้วยการเดินทาง ทริปดำน้ำนอกประเทศมีต่อเนื่อง การเดินทางเพื่อออกไปตามหาทะเลที่มีฉลามเยอะกว่า ทะเลที่มีฝูงปลาเยอะกว่า ทะเลที่น้ำใสกว่า ทะเลที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่า

ภาษาอังกฤษมีคำกล่าวที่ว่า สนามหญ้าข้างบ้านเขียวกว่าบ้านเราเสมอ เรามักจะมองออกไปสู่สิ่งที่ไม่ใช่ของเรา และเผลอคิดอิจฉาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรามีอยู่เสมอ

ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา การเดินทางออกนอกประเทศถูกจำกัด หลายคนเดินทางย้อนอดีตด้วยการนั่งไล่ดูภาพเก่าจากฮาร์ดดิส เฝ้ารอวันที่จะได้กลับไปเดินทางดำน้ำต่างประเทศอีกครั้ง สำหรับเราการออกไปดำน้ำหลายๆ ที่ในไทย กลายเป็นการย้อนอดีตโดยไม่ได้ตั้งใจ การเดินทางพากลับสู่พื้นที่ละแวกบ้านเก่าที่ไม่ได้แวะเวียนไปเสียนาน

แนวปะการังแข็งที่สมบูรณ์ของเกาะราชาน้อย
แนวปะการังแข็งที่สมบูรณ์ของเกาะราชาน้อย 
ภาพ : พลพิชญ์ คมสัน
ทรายขาวละเอียดของเกาะราชาน้อย
ทรายขาวละเอียดของเกาะราชาน้อย

แสงแดดจ้า ท้องฟ้าใส พื้นทรายและกองหินใต้น้ำมองเห็นได้ชัดจากบนเรือ ทรายสีขาวที่เป็นลักษณะเด่นของเกาะราชาน้อยเป็นเหมือนแผ่นรีเฟล็กต์ขนาดใหญ่ สะท้อนแดดที่ส่องผ่านลงมาทำให้ทุกอย่างสว่างสดใส ปลาตัวเล็กสีสดกระจายตัวไปทั่ว เหมือนดอกไม้ประดับทุ่งปะการัง

20 ปีที่แล้วสมัยยังทำงานเป็นไกด์ดำน้ำดูแลลูกค้าที่ภูเก็ต ร้านดำน้ำที่ทำงานประจำด้วยจะไปดำน้ำที่เกาะราชาน้อยทุกวันพุธ ชีวิตของไกด์ดำน้ำสมัยนั้นคือต้องโทรเช็กงานทุกวันว่าพรุ่งนี้มีงานให้เราทำหรือไม่ ถ้าหากวันไหนไม่มีงานทำ ก็มีสิทธิ์ขอติดเรือไปเพื่อดำน้ำเล่นได้ ทุกสัปดาห์เราคอยลุ้นอยากให้วันพุธเป็นวันว่างงาน เพราะอยากไปดำน้ำเล่นที่เกาะราชาน้อย กอปะการังอ่อนหลายสีที่อัดตัวแน่นตามซอกหิน กัลปังหาต้นใหญ่แผ่กิ่งกว้าง ขวางทางกระแสน้ำไหล กลางน้ำมีปลาสากตัวใหญ่ว่ายเป็นฝูง ลานทรายด้านนอกมีโอกาสให้ลุ้นเจอฉลามเสือดาวนอนนิ่งอยู่ สภาพใต้น้ำของที่นี่คล้ายกับสภาพใต้น้ำของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันมากกว่าจุดดำน้ำอื่นๆ ของภูเก็ต หากจะเรียกว่านี่คือจุดดำน้ำลับที่ซ่อนอยู่ก็คงไม่ผิด

เกาะราชาน้อยเคยเป็นเกาะที่อยู่นอกเส้นทางของทริปดำน้ำแบบ Liveaboard เพราะตำแหน่งที่ตั้งซึ่งห่างไกลจากจุดดำน้ำหลักที่นิยมกันอยู่หลายชั่วโมง หลังจาก COVID-19 มาเยือน ทุกคนมองหาจุดดำน้ำใหม่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เกาะราชาน้อยกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของหลายคน

พอได้กลับมาลงดำน้ำในจุดที่คุ้นเคย ความตื่นเต้นและความคิดถึงผสมปนเปกันไปหมด หินใต้น้ำหลายก้อนดูคุ้นตา คลับคล้ายคลับคลาเหมือนจะจำได้ แต่พอมองอีกสักพักก็เริ่มไม่แน่ใจ ความทรงจำในอดีตคอยกระตุกให้เราแวะดูตามซอกเล็กซอกน้อย มองหาสิ่งที่เคยพบที่นี่เมื่อหลายปีก่อน

การเดินทางสู่อดีตไม่ได้สนุกสนานประทับใจไปเสียทั้งหมด ปะการังเขากวางที่เคยแผ่ตัวเป็นลานกว้างกอใหญ่ในอดีตหายไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ใจหายอย่างบอกไม่ถูก พื้นที่เดิมถูกแทนที่ด้วยปะการังอื่นๆ ที่กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นมาใหม่ ปลากัดทะเลว่ายออกมาจากโพรงกอปะการังใหม่นี้ ปลาชนิดนี้พบตัวได้ยาก ในอดีตเราก็เคยเจอพวกมันอยู่บ้างที่เกาะนี้ ภาพจากอดีตกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ถึงแม้พื้นที่จะไม่เหมือนเดิม แต่ผู้อยู่อาศัยหน้าเดิมๆ ยังคงมีให้เห็นอยู่

 ฉลามวาฬแห่งหินแปดไมล์
 ฉลามวาฬแห่งหินแปดไมล์
บางครั้งหินแปดไมล์ก็มีสภาพน้ำขุ่น การโผล่มาใกล้ๆ ของฉลามวาฬเป็นเซอร์ไพรส์ให้นักดำน้ำ
บางครั้งหินแปดไมล์ก็มีสภาพน้ำขุ่น การโผล่มาใกล้ๆ ของฉลามวาฬเป็นเซอร์ไพรส์ให้นักดำน้ำ

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ชาวประมงในพื้นที่หลีเป๊ะนำข่าวฉลามวาฬหลายตัวเข้าพื้นที่มาบอกนักดำน้ำท้องถิ่น จากปากต่อปาก จากภาพถ่ายไม่กี่ใบ เพียงไม่กี่อาทิตย์ จุดดำน้ำที่ชื่อว่าหินแปดไมล์ซึ่งเคยถูกเมินจากเรือ Liveaboard มาหลายปีเพราะความไกลและเงียบเหงา กลายเป็นจุดดำน้ำที่ไม่มีใครไม่รู้จัก ฉลามวาฬ 4 – 5 ตัวว่ายวนรอบกองหินโชว์ตัวให้นักดำน้ำเห็นพร้อมๆ กันเกือบทุกวัน บางตัวเข้ามาใกล้นักดำน้ำอย่างอยากรู้ พวกมันผลัดกันเข้าออกวนรอบกองหินตลอดทั้งชั่วโมงที่เราอยู่ใต้น้ำ

ฉลามวาฬเปรียบเหมือนเป็นจอกศักดิ์สิทธิ์ของนักดำน้ำ เป็นเควสต์ที่ต้องผ่าน เป็นเป้าหมายในชีวิตของนักดำน้ำ ทุกคนอยากจะเห็นฉลามวาฬอย่างน้อยครั้งหนึ่ง และถ้าหากได้พบมากกว่าหนึ่งตัวพร้อมกัน มันคือสุดยอดความฝันที่เป็นจริง

แทบไม่เคยมีการพบเจอฉลามวาฬหลายตัวพร้อมๆ กันแบบนี้ในเมืองไทย บางคนถึงกับพูดว่าไม่ต้องไปถึงต่างประเทศอีกแล้วก็ได้ เพื่อจะได้สัมผัสบรรยากาศของการดำน้ำกับฉลามวาฬหลายตัว เมืองไทยคือที่สุดของแหล่งดำน้ำ

เหตุการณ์ ‘ฉลามวาฬแห่งหินแปดไมล์’ ดำเนินอยู่ประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้น ทุกอย่างก็กลับสู่สภาพเดิม ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าพวกมันมารวมตัวกันทำไม สิ่งที่ทุกคนทำได้คือแค่รอให้เดือนสิงหาคมกลับมาอีกครั้ง

ปลาไหลมอเรย์ตาขาว เป็นปลาธรรมดาๆ ที่หาดูได้ไม่ยาก แต่เราก็ชอบที่จะมองหามันตามซอกเล็กของกองหินริเชลิว
ปลาไหลมอเรย์ตาขาว เป็นปลาธรรมดาๆ ที่หาดูได้ไม่ยาก แต่เราก็ชอบที่จะมองหามันตามซอกเล็กของกองหินริเชลิว 
ภาพ : พลพิชญ์ คมสัน

“แหล่งดำน้ำของไทยเป็นหนึ่งในสิบสุดยอดแหล่งดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก” 

นักดำน้ำส่วนใหญ่ต้องเคยได้ยินประโยคนี้มาแล้วอย่างน้อยครั้งหนึ่ง ที่มาของประโยคนี้ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว นักดำน้ำรุ่นบุกเบิกซึ่งเป็นตำนานของการสำรวจโลกใต้ทะเล ฌาร์ก คูสโต (Jacques Cousteau) นำเรือคาลิปโซที่เป็นฐานในการสำรวจทะเลรอบโลก เข้ามาสำรวจทะเลไทย จากการเดินทางครั้งนั้น คูสโตยกให้กองหินริเชลิวเป็นหนึ่งในสุดยอดแหล่งดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก เพราะความหลากหลายอัดแน่น และความตื่นตาที่เขาพบเจอตลอดทั้งไดฟ์

ทุกวันนี้กองหินริเชลิวเป็นจุดหมายที่ไม่มีเรือลำไหนอยากพลาด รูปทรงเกือกม้าของกองหินฝังแน่นอยู่ในใจ ถ้าหากปิดตาแล้วพาเราไปหย่อนไว้ตรงไหนก็ตาม เราก็มั่นใจว่าจะหาทางกลับไปสู่จุดที่มีทุ่นผูกเรือได้ถูกแน่นอน ทุกปีเราได้กลับมาดำน้ำที่กองหินนี้อยู่เสมอ แต่ทุกไดฟ์ล้วนแตกต่างกันออกไปไม่ซ้ำเดิม

ที่นี่คือจุดที่เราได้เจอฉลามวาฬครั้งแรกในชีวิตของการดำน้ำ พอว่ายผ่านมุมหินด้านเดิม ภาพของฉลามวาฬตัวแรกที่ว่ายตรงเข้ามาหาก็ผุดขึ้นมาในใจ โพรงถ้ำเก่าที่เคยเป็นที่อยู่ของกุ้งตัวตลกตัวแรกที่เคยเจอ ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ถึงแม้ว่าไม่ได้เจอพวกมันที่จุดนี้มาหลายปีแล้วก็ตาม แต่เราก็แอบหยุดมองหาไม่ได้ ปีนี้ที่ริเชลิวก็มีกุ้งตัวตลกอาศัยอยู่ แต่พวกมันหลบอยู่อีกฝากหนึ่งของหินทรงเกือกม้า กุ้งตัวตลกคู่ล่าสุดของริเชลิวมีขนาดตัวเล็กกว่าตัวอื่นๆ ที่เคยเห็นมา เราแวะดูพวกมันทุกครั้งที่ทำได้ ถึงแม้บางครั้งจะเป็นการแวะเพื่อทักทายเฉยๆ ไม่ได้หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปพวกมันเลยด้วยซ้ำ

ท่องอดีตแหล่งดำน้ำเมืองไทยที่ได้ชื่อว่า 1 ใน 10 สุดยอดแหล่งดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก
ปลาปักเป้าสองตัวว่ายไล่กัน
ภาพ : พลพิชญ์ คมสัน
ท่องอดีตแหล่งดำน้ำเมืองไทยที่ได้ชื่อว่า 1 ใน 10 สุดยอดแหล่งดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก
ปลาสากเจ้าประจำลอยตัวนิ่ง
ภาพ : พลพิชญ์ คมสัน
ท่องอดีตแหล่งดำน้ำเมืองไทยที่ได้ชื่อว่า 1 ใน 10 สุดยอดแหล่งดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก
ฝูงปลาข้างเหลืองว่ายเกาะกลุ่มตามกันเป็นสาย

ในพื้นที่อ่าวด้านทิศใต้ ปลาปักเป้าตัวใหญ่สองตัวว่ายไล่กันโดยไม่สนใจทิศทางและนักดำน้ำที่คอยแอบมองอยู่ข้างๆ 2 – 3 ปีหลังที่มาที่นี่จะเจอปลาสากหนึ่งตัวลอยนิ่งอยู่ด้านในกองหิน เราไม่เคยแน่ใจว่ามันเป็นปลาสากตัวเดิมหรือเปล่า แต่ก็คอยมองหามันทุกรอบ ฝูงปลาข้างเหลืองที่อยู่ประจำข้างแนวหินสูงที่โผล่พ้นน้ำดูเหมือนน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เหล่าปลานักล่าที่คอยวนอยู่รอบกองก็น้อยลงไปเช่นกัน

ทุกจุดที่ว่ายผ่าน เราอดเปรียบเทียบสิ่งที่เห็นกับภาพในอดีตไม่ได้ ภาพจากความทรงจำมักจะหอมหวานกว่าปัจจุบันเสมอ ปลาเยอะกว่า ปะการังแน่นกว่า แต่เมื่อตั้งใจมองภาพปัจจุบันอย่างเป็นกลาง สิ่งที่เห็นตรงหน้าก็ไม่ได้แย่กว่าอดีตไปเสียทั้งหมด

ปีนี้ปลากบสีดำตัวใหญ่ใช้กองหินด้านนอกเป็นที่อยู่อาศัยตลอดทั้งซีซั่น ปลากบตัวใหญ่ถือเป็นของหายากในน่านน้ำไทย สีตัวของมันค่อยๆ เปลี่ยนจากดำล้วนตอนช่วงต้นฤดูกาล กลายเป็นโทนสีเหลืองเปรอะแซมมากขึ้นเรื่อยๆ ที่หินก้อนเดียวกัน 2 – 3 เดือนล่าสุด มีปลาหมอทะเลตัวใหญ่ ลอยนิ่งอยู่ท่ามกลางฝูงลูกปลา ทำหน้าที่เป็นแบบให้นักดำน้ำช่างภาพอย่างดี ผิดกับปลาหมอทะเลทั่วไปที่พบเจอ เจ้าตัวนี้ยอมให้นักดำน้ำเข้าใกล้มันได้มากโดยที่ไม่ว่ายหนีไป

ท่องอดีตแหล่งดำน้ำเมืองไทยที่ได้ชื่อว่า 1 ใน 10 สุดยอดแหล่งดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก
ปลากบยักษ์ที่เป็นสีดำสนิทตอนช่วงต้นฤดูกาล เริ่มมีสีเหลืองเปรอะมากขึ้นทุกที 
ภาพ : พลพิชญ์ คมสัน
ท่องอดีตแหล่งดำน้ำเมืองไทยที่ได้ชื่อว่า 1 ใน 10 สุดยอดแหล่งดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก
ปลาหมอทะเลตัวใหญ่ลอยนิ่งเป็นแบบให้ช่างภาพโดยไม่ว่ายหนี

การระบาดรอบที่ 3 ทำให้ปีนี้เราต้องบอกลาหินเกือกม้าและจุดดำน้ำอื่นทางฝั่งอันดามันเร็วกว่าปกติ หลังจากเดือนพฤษภาคม ลมมรสุมก็จะเริ่มเข้ามา ฤดูกาลตามธรรมชาติก็จะหมุนไปอีกปีหนึ่ง

เมื่อวันที่ทางเลือกในการเดินทางเปิดกว้างอย่างอิสระกลับมา การเลือกมองหาร่องรอยที่เปลี่ยนไปของอดีต หรือมองออกไปหาความตื่นเต้นที่มากกว่าข้างหน้า ล้วนแล้วแต่เป็นทางเลือกของแต่ละคน แต่ไม่ว่าจะไปที่ไหน สิ่งที่ทำให้สุขใจอย่างแท้จริงไม่ได้อยู่ที่สถานที่ที่ล้อมเราอยู่ แต่อยู่ภายในใจของเราเอง

สารคดีสัญชาติไทย

Writer

Avatar

ชุตินันท์ โมรา

ช่างภาพ/วิดีโอใต้น้ำมือรางวัลระดับเอเชีย ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกใต้น้ำทั้งในและนอกประเทศมากว่า 17 ปี ทำหนังสือดำน้ำระดับนานาชาติหลายเล่ม เป็นทีมวิดีโอใต้น้ำและคนเบื้องหลังสารคดีและโฆษณาหลายตัว นอกจากนี้ยังเป็นแอดมินเพจ digitalay

Photographers

Avatar

ชุตินันท์ โมรา

ช่างภาพ/วิดีโอใต้น้ำมือรางวัลระดับเอเชีย ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกใต้น้ำทั้งในและนอกประเทศมากว่า 17 ปี ทำหนังสือดำน้ำระดับนานาชาติหลายเล่ม เป็นทีมวิดีโอใต้น้ำและคนเบื้องหลังสารคดีและโฆษณาหลายตัว นอกจากนี้ยังเป็นแอดมินเพจ digitalay

Avatar

พลพิชญ์ คมสัน

เริ่มต้นชีวิตจากการเป็นสถาปนิกแต่ชอบหนีงานไปเข้าป่าลงทะเล ผสมกับความอินโทรเวิร์ตเล็กๆ เลยเปลี่ยนสายอาชีพมาเป็นช่างภาพใต้น้ำและคนทำสารคดี เคยทำนิตยสารดำน้ำระดับอินเตอร์ ผลิตงานสารคดีใต้น้ำ และงานโฆษณาหลายชิ้น ปัจจุบันเป็นแอดมินเพจ Digitalay