“กระจกวิเศษบอกข้าเถิด ใครงามเลิศที่สุดในปฐพี” แม่มดชั่วร้าย เอ่ยปากถามกระจกวิเศษ

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2564

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย 10,082 คน

10 ใน 10,082 คนคือเพื่อนและคนรู้จักของผม ที่กำลังวิ่งวุ่นกับการหาเตียง

ยอมรับว่าช่วงเวลานี้ คือช่วงเวลาที่มืดมนเหลือเกิน ในการจะต้องเขียนบทความใดๆ ท่ามกลางวิกฤตของประเทศกับโควิด-19 ที่ทำให้ประชากรไทยล้มตายราวกับใบไม้ร่วง

ผู้เขียนเองเก็บตัวอยู่ที่บ้านและต้องรับมือกับอารมณ์ โกรธ โมโห หวาดกลัว สิ้นหวัง หดหู่ ท้อแท้ ทุกเช้าที่ตื่นมาแปรงฟัน มองภาพสะท้อนหน้ากระจก-ทุกอารมณ์เชิงลบที่พรั่งพรูออกมา คงไม่ต่างอะไรกับแม่มดชั่วร้ายตนนั้น

วิวัฒนาการของเจ้าหญิงดิสนีย์ โควิด-19 โลกที่เปลี่ยนไป และเมืองไทยที่ไม่เหมือนเดิม
อารมณ์ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาอ่านข่าวผู้ติดเชื้อโควิด-19

ผมใช้ชีวิตอยู่กับ Netflix และ Zoom สลับกันไปมาในห้องคอนโดฯ เล็กๆ ประทังความหิวด้วยมื้ออาหารที่ทำกินเองง่ายๆ ซึ่งก็ไม่ได้อร่อยล้ำอะไร และวิธีการดีท็อกซ์ความรู้สึกลบๆ จากการอ่านข่าวสารบ้านเมือง โซเชียลเน็ตเวิร์กของผม ก่อนนอน คือการดูหนังการ์ตูนดิสนีย์ โดยเฉพาะการ์ตูนสองมิติ ในสมัยที่การ์ตูนเพลงแบบฉบับดิสนีย์ยังคงเป็นที่นิยมอยู่

“คุณคือเจ้าหญิงคนไหนในหนังดิสนีย์” คือเกมคลาสสิกที่นิยมเล่นกันในหมู่หญิงสาว หรือแม้กระทั่งกลุ่มเพื่อนเก้งของผม (เพื่อนโบ้ยว่าผมคือ Raya)

คอลัมน์วัตถุปลายตาตอนนี้ ผมตัดสินใจแหกกฎ ไม่ได้เขียนถึงตัววัตถุหรือข้าวของเสียทีเดียว แต่หยิบเอากองม้วนวิดีโอ VHS หนังดิสนีย์ในคอนโดฯ ของผม เป็นจุดเริ่มต้นของการบอกเล่าเรื่องราวคู่ขนาน และวิวัฒนาการของ ‘เจ้าหญิงในโลกของดิสนีย์’ ควบคู่ไปกับสถานการณ์บ้านเมืองของเราที่แสนจะเศร้าและอดสู

ใช่ครับ ผมเชื่อว่าการเฝ้าดูและศึกษาการเดินทางเจ้าหญิงดิสนีย์ อาจจะเป็น ‘กระจกวิเศษบานใหญ่’ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ และไขข้อข้องใจหลายๆ อย่าง รวมไปถึง ‘ความงามเลิศในปฐพี’ ของเราเอง แบบที่ท่านผู้อ่านก็อาจจะคาดไม่ถึง

หดหู่กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
The Great Depression

ในยุคของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป ในช่วงปลาย ค.ศ. 1929 หรือที่เรียกว่า ‘The Great Depression’ ผู้คนต่างล้มตาย เศรษฐกิจพังพินาศ และอัตราการว่างงานสูง ไม่ต่างกับวิกฤตที่เรากำลังเผชิญ (หรือกำลังจะเผชิญในเวลาอันใกล้นี้) สักเท่าไหร่

Disney ค่ายหนังระดับตำนาน ตัดสินใจปล่อยหนังการ์ตูนสีความยาว 1 ชั่วโมงกว่า ท่ามกลางคลื่นของความหดหู่นี้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1937 โดยมีเสียงครหามากมาย ว่าจะมีใครทนนั่งดูหนังการ์ตูนยาวเป็นชั่วโมงได้

แต่ดิสนีย์พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นคิดผิด

หนังการ์ตูนเรื่องนั้นคือ Snow White and the Seven Dwarfs หรือ สโนว์ไวท์ กับคนแคระทั้งเจ็ด ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์

วิวัฒนาการของเจ้าหญิงดิสนีย์ โควิด-19 โลกที่เปลี่ยนไป และเมืองไทยที่ไม่เหมือนเดิม
เจ้าหญิงที่กำเนิดมาพร้อมกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจ

สโนว์ไวท์ ในตอนนั้นทำหน้าที่เหมือน Escapism หรือหลุมดำหลบหนีความโหดร้ายของโลก ความเป็นจริง ของผู้คนที่ไม่ต้องการรับรู้ความเครียดและความกดดันของ The Great Depression อันแสนจะมืดมน

สิ่งที่หลายคนไม่ทราบคือ ภาพของสโนว์ไวท์ยังเปรียบเสมือน ‘กระจกวิเศษ’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของการเป็น ‘ผู้หญิงที่ดี’ ในยุค 30 ที่ผู้หญิงต้องเชี่ยวชาญงานบ้าน ทำอาหาร ปัดกวาดเช็ดถู และถึงแม้จะสวยพริ้งแค่ไหน การเอาชนะอุปสรรคของเจ้าหญิงที่ผิวขาว ผมดำขลับคนนี้ กลับเกิดขึ้นไม่ได้โดยปราศจากความช่วยเหลือของ ‘เจ้าชายขี่ม้าขาว’ อยู่ดี

ค่ำของวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 1 ใน 10 ของเพื่อนของผมที่ติดโควิดไลน์กลับมาแจ้งว่าหาเตียงได้แล้ว แต่วางเงินไปหลายแสนบาท ในขณะที่อีก 9 คนยังไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง

เด็กสาวไร้ทางสู้
Damsel in Distress

‘Damsel in Distress’ หรือเด็กหญิงที่ตกที่นั่งลำบาก กลายเป็นพล็อตเรื่องสำคัญของวัฒนธรรมเจ้าหญิงดิสนีย์ในยุคนั้นที่ส่วนมากได้รับอิทธิพลมาจากเทพนิยาย (Snow White, Beauty and the Beast, Sleeping Beauty, Cinderella) และการมีผัวเป็นเจ้าชาย ก็ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปของ ‘ผู้หญิงที่สมบูรณ์’ ในเทพนิยายแบบดิสนีย์ในยุคโบราณ

วิวัฒนาการของเจ้าหญิงดิสนีย์ โควิด-19 โลกที่เปลี่ยนไป และเมืองไทยที่ไม่เหมือนเดิม
เจ้าชายลงจากม้ามาร้องเพลงเกี้ยวสาว

การวาดภาพให้ ‘ผู้ชาย’ เป็นคนช่วยเหลือผู้หญิง มาจากข้อเท็จจริงที่ว่าในยุคของสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หัวหน้าครอบครัวหลายๆ คนที่เป็นเพศชาย ก็สูญเสียอาชีพ รายได้ และความมั่นคงไปเช่นกัน ดังนั้น การช่วยเหลือหญิงสาวแสนสวยซึ่งกำลังตกที่นั่งลำบากในหนังดิสนีย์ กลายเป็นภาพสะท้อนความต้องคืนอำนาจให้กับผู้ชาย และการพึ่งพาตัวเองของผู้หญิงในโลกของความเป็นจริง ที่ทั้งเจ้าหญิงและเจ้าชายต่างก็เดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจกันทั้งสองฝ่าย

แต่เจ้าหญิงรุ่นบุกเบิกอย่างสโนว์ไวท์ ทิ้งค่านิยมอาบยาพิษบางอย่างไว้กับสังคม ไม่ต่างกับแอปเปิ้ลลูกนั้นในเทพนิยายเช่นกัน

คืนวันศุกร์คืนนั้น ผมนอนไม่หลับ ใจเต้นแรงผิดปกติ ทั้งที่ไม่มีไข้ แต่ในหัวเต็มไปด้วยความกังวล กังวลชีวิตเพื่อน กังวลชีวิตตัวเอง แล้วนี่ถ้าผมติดโควิดขึ้นมาตอนนี้ ผมจะมีทางรอดได้ยังไง-คืนนั้น ผมตัดสินใจเปิดหนังการ์ตูนเรื่อง Soul ทิ้งไว้บนทีวีเป็นเพื่อน

การเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้นแย่เสมอ?
Change is Bad?

ปราสาทของเจ้าหญิงนิทราจะยังคงปกคลุมด้วยเถาวัลย์ หลังคำสาปถูกถอนได้หรือไม่

ซิมบ้าจะตัดสินใจไม่กลับไปปกครองฝูงสัตว์ได้หรือไม่

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเจ้าชายอสูรไม่กลายร่ายกลับไปเป็นหนุ่มหล่อรูปงาม

เช้าวันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม ผมส่องกระจก แปรงฟัน พร้อมเปิดข่าวทีวีทิ้งไว้เช่นเคย จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยคือ 10,082 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตคือ 141 ราย

ผมไลน์ไปถามเพื่อนๆ บางคนที่ยังไม่ได้เตียง ทุกคนยังวิ่งวุ่นอยู่ แต่ยังไม่มีใครอาการหนัก เสียชีวิต

หากเราสำรวจหนังการ์ตูนดิสนีย์ในยุคก่อนๆ โดยเฉพาะในยุคที่ดิสนีย์ได้รับอิทธิพลจากละคร เพลงบรอดเวย์อย่างเข้มข้นนั้น เราจะเห็นภาพของ ‘การคืนสภาพ กลับไปสู่สิ่งเดิม’ การคืนความผาสุก สงบสุขให้กับโลกใบเดิม ในแทบจะทุกเรื่อง

วิวัฒนาการของเจ้าหญิงดิสนีย์ โควิด-19 โลกที่เปลี่ยนไป และเมืองไทยที่ไม่เหมือนเดิม
เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
การหวนสภาพของปราสาทเจ้าหญิงนิทรา

นั่นก็เพราะว่า เลนส์ของดิสนีย์ในยุคนั้น การเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องไม่ดี และในโลกที่สมบูรณ์แบบ เจ้าหญิงกับเจ้าชายควรจะต้องครองคู่ ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร ไปตราบชั่วนิจนิรันดร์

โลกใบเดิมคือโลกที่ผาสุก และหนังดิสนีย์ในสมัยก่อนนั้น ฉายภาพซ้ำของการกู้คืนซึ่งความดีงามตามประเพณีและขนบอยู่มากมายนับครั้งไม่ถ้วน

ลองหลับตานึกภาพของปราสาทของเจ้าหญิงจัสมิน ที่ในตอนจบหลังจากจาฟาร์ถูกพิชิต ถอนคำสาปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็กลับมาสวยงามทองอร่ามเหมือนเดิม

ใช่ครับ น้ำเสียงของดิสนีย์ในตอนนั้น มีค่านิยมของความเป็นอนุรักษ์นิยมแฝงอยู่ไม่มากก็น้อย และนอกจากการวาดภาพของเจ้าหญิงที่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าชาย ซึ่งต้องเก่งฉกาจในงานบ้านงานเรือนและภาพครอบครัวแสนสุขแล้ว ภาพของการ ‘คงไว้ซึ่งโลกใบเดิม’ ก็เป็นหนึ่งในสารหลักของหนังดิสนีย์ในยุคนั้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

แล้วการเปลี่ยนแปลงมันผิดตรงไหนเล่า

นั่นคือคำถามที่เจ้าหญิงดิสนีย์ยุคถัดไปเริ่มตื่นรู้ ตั้งข้อสงสัย และขวนขวายหาคำตอบ

เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
ขนาดดินแดนของ Lion King ก็ยังไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

เจ้าหญิงหัวรั้น
Rebel Children

“…ที่คนเดินเหิน วิ่งเพลินกันไป สุขใจในแสงตะวันจากเบื้องบน เที่ยวเพลินเดินเล่น ขอเป็นเช่นคนอยู่บนโลกงาม”

เอเรียล หรือ เงือกน้อย ถึงแม้จะเป็นลูกของราชันใต้มหาสมุทร แต่ก็ยังอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า มันมีอะไรอยู่นอกเหนือผืนน้ำอันกว้างใหญ่หรือไม่ แล้วเนื้อร้องด้านบนนั้น ก็มาจากเพลง Part of Your World หรือ อยู่ในโลกใบนั้น หากแปลเป็นภาษาไทย

เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
เอเรียลที่ใช้ชีวิตล็อกดาวน์อยู่ใต้น้ำ

ถ้าฟังเผินๆ ก็เป็นเพลงที่โรแมนติกไม่เบา จนกระทั่งเรานึกเอะใจว่า โลกของเธอกับโลกของฉัน มันไม่ใช่โลกใบเดียวกันหรอกหรือ

วันเสาร์ที่จำนวนคนติดเชื้อแตะหลักหมื่นเป็นวันแรก คือวันเดียวกับที่เพื่อนของผมคนหนึ่งได้โควต้าฉีดวัคซีนให้คุณแม่ ภาพที่เพื่อนเล่าให้ฟัง คือบนบันไดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คุณลุงท่านหนึ่งที่นั่งรถมาจากต่างจังหวัดกำลังขอร้องให้พนักงานรับเรื่อง ช่วยเพิ่มชื่อของคุณลุงเข้าไปในรายชื่อคนที่ได้ฉีดได้หรือไม่

พนักงานคนนั้นที่น่าจะเหน็ดเหนื่อยมากๆ จากการรับเรื่องหนักหัวมาทั้งวันบอกว่า “โควต้าเต็มแล้ว” และคุณลุงต้องกลับไปลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ถึงจะมีสิทธิ์

คุณลุงท่านนั้นไม่เข้าใจว่าแอปพลิเคชันคืออะไร และตัดสินใจกลับบ้าน โดยไม่ได้รับฉีดวัคซีน

ตั้งแต่ยุคเอเรียลเป็นต้นมา ดิสนีย์เริ่มให้กำเนิดเจ้าหญิงหัวรั้นที่มีปากเสียง ตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ ชนชั้น สถานะและฐานะของตัวเองมากขึ้น อย่างที่เราจะเห็นในเจ้าหญิงจัสมิน ผู้ไม่กลัวการเผชิญหน้า เถียงบิดาที่เป็นราชา และไม่กลัวที่จะปลอมตัวเป็นสามัญชน ออกไปสำรวจโลกภายนอกรั้ววังว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

เจ้าหญิงผิวสี
Colored Princesses

หลังจากนั้น เราก็ได้เห็นเจ้าหญิงหรือตัวเอกหญิงที่กล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ว่ายน้ำทวนกระแส และลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบเดิมมากขึ้น เช่น สาวยิปซีเอสเมอรัลด้า ใน คนค่อมแห่งนอเทรอดาม, โพคาฮอนทัส หรือแม้กระทั่งเจ้าหญิงจัสมินเองก็ตาม ถึงแม้ว่าในกรณีของโพคาฮอนทัส จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ในแง่ของการ ‘White Wash’ ประวัติศาสตร์ในแบบดิสนีย์ที่ยังมองทุกอย่างผ่านสายตาค่านิยมแบบคนขาว

แต่อย่างน้อย หญิงสาวผิวสีน้ำผึ้งเหล่านี้ไม่ได้นั่งรอ นอนรอจุมพิตจากเจ้าชาย และกล้าลุกขึ้นมาชะโงกมองออกไปยังโลกข้างนอก สำรวจทั้งโลกของเธอ โลกของฉัน และกล้าที่จะเปล่งเสียงเพื่อบางสิ่งบางอย่างมากขึ้น

เช่นเดียวกับที่ดิสนีย์เริ่มจะรู้ตัวว่า ทุกอย่างที่ตัวเองสื่อออกไปคือกระจกวิเศษ สะท้อนคุณค่าทางความคิด ค่านิยม ซึ่งใช้ขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า หรือสะกดจิตผู้คนให้คล้อยตามได้อย่างน่ามหัศจรรย์

เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
ใบหน้าของผู้เขียนเมื่อส่องกระจกโซเชียลมีเดีย

ดิสนีย์จึงเริ่มทดลองให้กำเนิดหญิงสาวที่ไม่ต้องการผู้ชาย แต่กล้าทำทุกอย่างที่ผู้ชายทำ แม้กระทั่งการปกป้องประเทศหรือออกรบ อย่างมู่หลาน แน่นอนว่าหากเทียบกับ Gender Role หรือบทบาททางเพศของตัวเองดิสนีย์อื่นๆ ก่อนหน้า มู่หลานสะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่ก้าวหน้ามากกว่า ‘เจ้าหญิงดี’ หรือภาพยนตร์ใดๆ ที่เคยมีมาในค่ายระดับตำนานนี้

ถึงกระนั้นเอง วิวัฒนาการของผู้หญิงแบบมู่หลานเองก็ยังถือว่าอนุรักษ์นิยม เมื่อเราค้นพบว่า 77 เปอร์เซ็นต์ของบทพูดใน มู่หลาน (Mulan) (หนังที่ตัวเองอุตส่าห์ได้เป็นชื่อเรื่อง) เป็นของผู้ชาย และหนังอื่นๆ ก่อนหน้านั้นของดิสนีย์ มากกว่าครึ่งคือน้ำเสียง บทสนทนาที่ออกมาจากตัวละครเพศชายล้วนๆ

คืนวันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม เพื่อนของผมหาเตียงเพิ่มได้อีกหนึ่งเตียง คราวนี้ฟรี เพราะเพื่อนคนนี้มีเส้นสาย เป็น Somebody ในวงการ-ผมยังนอนไม่หลับอีกเหมือนเคย ครั้งนี้ผมไม่เปิดหนังการ์ตูนใดๆ ทิ้งไว้เป็นเพื่อนยามวิกาลแล้ว แต่ตั้งหน้าตั้งตาเขียนต้นฉบับส่ง The Cloud ให้เสร็จทันวันอาทิตย์ให้ได้

ไม่พึ่งผัว
Break Free

“The Cold doesn’t bother me anyway.”

หรือที่แปลเป็นไทยว่า “ไม่ยี่หระกับความเหน็บหนาวเสียเท่าไหร่” ถูกเปล่งออกมาจากปากเอลซ่า ราชินีที่รักน้องสาว และไม่สนใจว่าตัวเองจะได้พบพานเจ้าชายขี่ม้าขาวหรือไม่

แน่นอนว่า Frozen คือความสำเร็จระดับตำนานของหนังการ์ตูนในศตวรรษใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าเพลงติดหูจนเกือบน่ารำคาญอย่าง Let It Go หรือ ปล่อยมันไป คือนอกจากที่ตัวเอกโหยหาอิสระจากความคาดหวัง และค่านิยมของการเป็นเจ้าหญิงที่ดีแล้ว เนื้อเรื่องยังมุ่งเน้นไปที่มิตรภาพและความสัมพันธ์ของพี่สาวน้องสาว มากกว่าการตามหาความรักแบบหญิงชายที่สมบูรณ์แบบเหมือนแต่ก่อน

เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
ลาก่อนชีวิตสุขขีนิรันดร์ฉันท์เจ้าหญิงอิงนิยาย

สารที่ดิสนีย์กำลังส่งผ่านออกมาจากสื่อการ์ตูนของตัวเองเปลี่ยนไปจากยุคสโนว์ไวท์อย่างสิ้นเชิง เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเส้นเรื่องเหล่านี้ ในหนังการ์ตูนที่มีตัวเอกเป็น ‘เจ้าหญิงเก่ง’ อย่าง Brave ที่เล่าเรื่องเจ้าหญิงหัวฟู ไม่ได้วิ่งตามหาเจ้าชายแม้แต่น้อย และ โมอาน่า ที่พยายามชั่วเหลือคนในชนเผ่าของตัวเอง ‘ด้วยตัวเอง’ โดยปราศจากความช่วยเหลือของเจ้าชาย หรือผู้ชายใดๆ ทั้งสิ้น

เช้าวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 11,397 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 101 คน

และแล้ว 1 ใน 101 คนนั้น คือเพื่อนของผมในที่สุด

คนนอกสายตา
The Outcasts

เช้าวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม คือวันอาทิตย์ที่แสนหดหู่ เป็นเช้าที่แม้กระทั่งยามแปรงฟัน ส่องกระจก ผมก็ไม่อยากแม้กระทั่งมองเห็นเงาสะท้อนของหน้าตัวเอง

ใครกัน จ้องมองฉันอยู่ ดูเหมือนเธอ กำลังหมองเศร้า ภาพที่เห็นเป็นเงาของใคร ไม่ใช่ตัวฉันเลย”

เพลง Reflection ของ Mulan น่าจะอธิบายความรู้สึกของการส่องกระจกวิเศษวันอาทิตย์นี้ ได้ดีที่สุด-เปิดโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็ได้ยินแต่เสียงโอดครวญของเพื่อนร่วมประเทศ เคล้ากับเสียงของขั้วความคิดการเมือง ที่จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นวี่แววของการโคจรมาอยู่ร่วมกัน

แฟนของการ์ตูนดิสนีย์คงทราบดีว่า หลังจากหนังเรื่อง ทาร์ซาน เป็นต้นมา ยุคทองของหนังการ์ตูนเพลงแบบวาดมือสองมิติก็ค่อยๆ เสื่อมมนตร์ขลังลง ประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยีการผลิตการ์ตูนแอนิเมชันแบบใหม่ของค่ายคู่แข่งในเวลานั้นอย่าง Pixar ซึ่งกำลังส่งสารแบบใหม่ควบคู่ไปกับ Social Movement ใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินเรื่องผ่านเจ้าหญิงหรือเจ้าชายอีกต่อไป แต่เป็นคนนอกที่ไม่เข้าพวก หรือ The Outcasts แทน

เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
วู้ดดี้พร้อม ประกาศกร้าว ของเล่นเก่าต้องชนะ!

ในหนังการ์ตูนสามมิติเรื่องแรก อย่าง Toy Story นั้น โลกของเหล่าของเล่นที่ผาสุกราวกับยูโทเปียถูกนำด้วยของเล่นคาวบอยอย่างวู้ดดี้ จนกระทั่ง บัซไลท์เยียร์ ของเล่นรุ่นใหม่กว่าเข้ามาแย่งซีน และสร้างความปั่นป่วนให้กับของเล่นตกกระป๋องอย่างวู้ดดี้

Joy หรือความสุข ใน Inside Out ได้เรียนรู้ในภายหลังว่า ความเศร้า หรือ Sadness ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนา มีความสำคัญไม่แพ้กันต่อการดำเนิน

ชีวิตเช่นเดียวกัน เหล่าคนนอกพวกนี้กำลังเปลี่ยนแปลงเส้นเรื่อง หรือภาพสะท้อนจากกระจกวิเศษ แบบที่ไม่น่าจะมีวันหวนกลับ

เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
Joy แบ่งน้ำกระชายขาวให้ Sadness

โลกเปลี่ยนแปลงได้
Accepting Change

ความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้แย่เสมอ-โลกไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนที่เคยเป็นมา คือสารที่หนังการ์ตูนสามมิติยุคหลังสื่อออกมา โดยมีคนนอกหรือ The Outcasts เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

หากจะเปรียบเทียบเงือกน้อยเอเรียล ที่ตอนจบได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบที่ทุกคนมีขา แต่โลกของมนุษย์กับโลกของเงือกก็ยังแยกออกจากกัน ในขณะที่เมื่อเทียบกับ ‘หนู’ สิ่งมีชีวิตที่ไม่พึงปรารถนาที่สุดในห้องครัวและฝันอยากเป็นเชฟใน Ratatouille สุดท้ายเปลี่ยนให้โลกของหนูสกปรก กลายเป็นโลกใหม่ใบเดียวที่หนูกับเชฟอาหารเลิศรสอยู่ด้วยกันได้

เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
โลกเก่าสองใบที่แยกออกจากกัน ปะทะ โลกใหม่ใบเดียวที่หลอมรวมกัน

หากเราเปรียบเทียบ Lion King กับ Zootopia จะเห็นว่า เหยื่อ และ ผู้ล่า เปลี่ยนบทบาทอย่างพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เหยื่อและผู้ล่าอยู่ร่วมกันได้ และโลกของสรรพสัตว์ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยไม่ต้องหวนคืนกลับมาเป็นโลกที่ไฮยีน่าถูกกีดกันออกไปจากยูโทเปีย เหมือนใน Lion King

“การเปลี่ยนแปลงนั้นดีเสมอ และผู้คนที่อยู่นอกสายตานี่แหล่ะ คือคนที่จุดประกายให้เกิดความเปลี่ยนแปลง” นี่คือสารแบบก้าวหน้าของหนังการ์ตูนยุคใหม่ ไม่ว่าจะดิสนีย์หรือ Pixar ก็ตาม

“เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร”

คำถามที่วนอยู่ในหัวของผมในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม หลังจากที่ต้องเห็นคนรู้จักล้มป่วย เสียชีวิต และเห็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร อาหาร ที่อยู่ ยารักษาโรค ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน ในขณะที่ราคาเตียงของเพื่อนคนหนึ่งที่ได้รับข้อเสนอมาก็พุ่งสูงขึ้นอีกหลายแสน

เวลาที่เงินในกระเป๋าเท่ากับถังออกซิเจน เวลาที่ความจนเท่ากับความตาย นี่เรากำลังอยู่ในโลกใบไหน หรือเทพนิยายเรื่องไหนกันแน่

แม่มดใจร้าย
Evil Witches

เย็นวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม ถึงตอนนี้เพื่อนของผมเสียชีวิตจากโควิด-19 ไปแล้ว 2 คน และมี 2 คนที่ได้เตียง ในขณะที่อีก 6 คน กำลังวิ่งวุ่นหาเตียงอยู่ ท่ามกลางความหวังในประสิทธิภาพการแก้ปัญหาจากภาครัฐช่างดูริบหรี่ลงทุกวัน

“นี่เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร”

คำถามเดิมยังวนอยู่ในหัวของผมแบบที่สลัดออกไปไม่ได้

ต้องเป็นคนดีอย่างที่เขาสอนให้เป็น ปกปิดในใจ อย่าให้เขารู้ สุดท้ายก็รู้”

แฟนหนังดิสนีย์คงทราบดีถึงเทรนด์ของภาพยนตร์ยุคหลังๆ ของค่าย นิยมเล่าเรื่องผ่านสายตานางร้าย แม่มด และตัวอิจฉา ที่ขโมยมาจากเทพนิยายฉบับเดิมๆ เช่น Maleficent จนไปถึงล่าสุดอย่าง Cruella และหลายครั้งเราก็ได้รับรู้ถึงเรื่องราวที่บีบคั้น ผลักดันให้คนเหล่านั้นกลายเป็นคนใจร้ายในที่สุด

เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
Maleficent กับกาสอดรู้ของนาง

ทำไมดิสนีย์ถึงยังหยิบเอาตัวร้ายมาเป็นตัวนำเรื่อง

แล้วทำไมเรา คนดู ยังอดเห็นอดเห็นใจนางร้ายเหล่านี้ไปด้วยไม่ได้

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ดิสนีย์กำลังเจียนกระจกวิเศษบานใหม่ ที่ทำให้เราตั้งคำถามกับความงามเลิศ ดีเลิศในปฐพี ความขาว ความเทา ความดำ ความดี ความเก่ง จนไปถึงชวนให้เราจินตนาการถึงโลกใบใหม่ ที่อาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

เจ้าหญิงที่ดี หรือ เจ้าหญิงที่เก่ง อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับแม่มดใจร้ายนั้น ร้ายจริงหรือไม่ ทำไมถึงร้าย และครั้งหนึ่งแม่มดเหล่านี้ก็อาจจะเคยเป็นผู้หญิงที่ดีมาก่อนเช่นกัน

เป็นส่วนหนึ่งบนโลกใบเดียวกัน
Part of that World

เวลาเที่ยงคืน วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ยังไม่ถูกประกาศ

ผมได้แต่หวังแค่ว่า เช้าวันนี้ วันที่ผมต้องส่องกระจก มันจะเป็นเช้าวันใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม และไม่ต้องมีใครสูญเสียชีวิตไปจากโลกใบนี้ จากโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันอีก

หากเรามองย้อนกลับไปในยุค The Great Depression ที่ดิสนีย์ให้กำเนิดเจ้าหญิงที่ยอมจำนนต่อค่านิยมความเป็นเจ้าหญิงที่ดีอย่างสโนว์ไวท์ขึ้นมา จนถึงยุค The New Depression ที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่นี้ เจ้าหญิงแบบไหนกันเล่าที่กระจกวิเศษบานใหม่กำลังจะสะท้อนออกมาให้เห็น

สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่ทราบก็คือ ผลพวงของ The Great Depression หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ส่งคลื่นความเปลี่ยนแปลงมาถึงประเทศไทย และก่อให้เกิดการ ‘ปฏิวัติสยาม’ ใน พ.ศ. 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ จากฝีมือของนายทหารและพลเรือนที่เรียกว่า ‘คณะราษฎร’ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย

หากจะมองเป็นเส้นเรื่อง พวกเขาเหล่านี้ก็คือ The Outcasts ที่เชื่อในความเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างอะไรกับเส้นเรื่องของหนังดิสนีย์ยุคใหม่

เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
มู่หลานเตรียมเข้าซาลอน ตัดผมเองแบบ DIY

“ได้เรียนดุจดังมนุษย์คงจะเพลิน เผชิญคำถามที่เก็บอยู่ในใจ”

ประชาธิปไตย คอนเซปต์จากยุคเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ ที่วันนี้ตัวผมเองไม่แน่ใจว่ามันเบ่งบานแค่ไหนในประเทศไทย ประเทศแห่งปิตาธิปไตยที่ดูเหมือนว่าจะเชื่อในนางร้ายที่สมบูรณ์ ความงามเลิศในปฐพีที่ดีล้วน และเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วยกอบกู้เด็กสาวไร้ทางสู้อยู่นับครั้งไม่ถ้วน

‘เสียงที่เท่ากัน’ ดูเหมือนจะเป็นเส้นเรื่องที่รอ เจ้าหญิงยุคใหม่ หรือแม้กระทั่งแม่มดใจร้ายเข้าไปสำรวจ และเชื่อมโลกแต่ละใบให้กลายเป็นโลกใบเดียว

“เมื่อเธอลองมองของพวกนี้ สิ่งที่ดีๆ มีทุกอย่างเลยจริง ๆ

อาจดูเหมือนชั้นมีทุกสิ่ง มีจึงพร้อมพร้อมเกินใคร

สิ่งอัศจรรย์เก็บไว้มากมายเพียงใด

แต่ใครสนเรื่องแค่นี้ไม่เพียงพอ~”

โลกที่เสียงของทุกคนเท่ากัน โลกที่ยารักษาโรคหรือแม้กระทั่งชีวิต ไม่ควรจะขึ้นอยู่กับเส้นสายหรือเงินในกระเป๋าสตางค์

“คุณคือเจ้าหญิงคนไหนในหนังดิสนีย์”

เจ้าหญิงที่ยอมจำนนกับค่านิยมของความดี และเฝ้ารอการช่วยเหลือของเจ้าชายขี่ม้าขาว หรือเจ้าหญิงที่กล้าเปล่งเสียง กล้าตั้งคำถาม และกล้าเผชิญกับความหนาวเหน็บ บนเส้นทางอันโดดเดี่ยวที่อาจจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ทั้งใบ

เวลาของการเจียนกระจกวิเศษใบใหม่คือเวลานี้ และผมกำลังยืนยันกับผู้อ่านไว้ตรงนี้ ว่ามันคือหน้าที่ของเราทุกคน

เรื่องราวคู่ขนานระหว่างการ์ตูนเจ้าหญิงและสังคม จากสโนไวท์ยุค The Great Depression ถึงกระจกวิเศษบานใหม่ในยุคโควิด-19
วู้ดดี้กับบัซไลท์เยียร์ สุดท้ายก็รู้ว่าตัวเองอยู่ในโลกใบเดียวกัน

ข้อมูลอ้างอิง

ew.com/movies/disney-princesses-evolution/

geekgals.co/2020/07/29/evolution-of-disney-princesses/

www.vox.com/culture/22453479/disney-villains-cruella-ursula-maleficent-scar-fans-jung-archetypes

yumeka36.tumblr.com/post/79328399017/frozen-and-the-evolution-of-disney-storytelling

Writer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ