หาก Mickey Mouse คือสัญลักษณ์ของสตูดิโอการ์ตูนยักษ์ใหญ่ Walt Disney

คงไม่ผิด หากจะบอกว่า พี่นัท-พี่แนน ก็คือภาพจำหมายเลข 1 ของ Disney Club รายการการ์ตูนยอดฮิต ซึ่งออกอากาศทางช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2535

เพราะแม้ทั้งคู่จะวางมือจากรายการนี้ไปนานเกือบ 20 ปี แต่ผู้ชมที่เติบโตมาพร้อมกัน ก็ยังคงจดจำพี่ชายพี่สาวที่คอยอ่านจดหมาย แนะนำข้อคิดดีๆ แก่น้องๆ ทางบ้านได้ไม่ลืม

ในวันที่รายการระดับตำนานถึงคราวต้องกล่าวคำอำลา ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวนสองพิธีกรคู่หู่รุ่นแรก พี่นัท-ศักวัต ด่านบรรพต และ พี่แนน-อรรัตน์ คุณวัฒน์ (ฉัตรวลี) มาร่วมเปิดลิ้นชักความทรงจำถึงเรื่องราวความสุข ความประทับใจตลอดระยะเวลา 29 ปี รวมถึงเส้นทางชีวิตของพวกเขาในวันนี้ที่ยังคงความผูกพันเมื่อครั้งวันวาน

29 ปีแห่งความหลังของ พี่นัท-พี่แนน สองพิธีกรขวัญใจเด็กๆ แห่งรายการ Disney Club
01

เบื้องหลังมาจาก ‘แม่’

รู้หรือไม่ว่า บุคคลสำคัญที่ผลักดันให้ พี่นัท-พี่แนน กลายเป็นพิธีกรรายการทีวี ก็คือคุณแม่ของพวกเขานั่นเอง

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2534 เป็นครั้งแรกที่ Walt Disney เข้ามาบุกตลาดในเมืองไทยอย่างจริงจัง ด้วยการตั้งสำนักงานสาขาในกรุงเทพฯ พร้อมกับมอบหมายให้บริษัทต่างๆ นำคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนไปผลิตสินค้า อย่างอาหาร เครื่องดื่ม ของขวัญ ของที่ระลึก เครื่องเขียน เสื้อผ้า ฯลฯ ตลอดจนร่วมกับกลุ่มหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ผลิตนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ วางจำหน่ายเป็นประจำทุกวันศุกร์

แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาสุดๆ คือการที่ Walt Disney จับมือกับสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เปิดตัวรายการ Disney Club พร้อมนำการ์ตูนดังจากสหรัฐอเมริกา ส่งตรงถึงหน้าจอคุณหนูๆ โดยก่อนที่รายการจะออกอากาศ ก็มีการรับสมัครพิธีกรจากเด็กๆ ทั่วประเทศ เผยแพร่ผ่านรายการต่างๆ ของทางสถานี

29 ปีแห่งความหลังของ พี่นัท-พี่แนน สองพิธีกรขวัญใจเด็กๆ แห่งรายการ Disney Club
29 ปีแห่งความหลังของ พี่นัท-พี่แนน สองพิธีกรขวัญใจเด็กๆ แห่งรายการ Disney Club

พี่นัท ซึ่งตอนนั้นอายุ 16 ปี และเป็นนักเรียนชั้น ม.ปลาย ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เล่าว่าวันนั้นเป็นวันปีใหม่ แล้วช่อง 7 ก็นำตัวละครเจ้าขุนทองมาพูดประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ แน่นอนแม้ครอบครัวจะเป็นแฟนการ์ตูนของสตูดิโอนี้ แต่แวบแรกที่ทราบข่าว พี่นัทก็ไม่ได้สนใจ เพราะถึงเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง เคยเล่นดนตรีไทยออกทีวีมาก่อน แต่ส่วนตัวแล้วเขาเป็นคนขี้อายมาก

ทว่าบุคคลที่เข้ามาเปลี่ยนความคิด และทำให้เขาตัดสินใจยื่นใบสมัครก็คือ คุณแม่

“คุณแม่เชิงบังคับ บอกให้เขียนๆ ไปเถอะ คือเราไม่ได้อยากทำ แต่พอเขากระตุ้นก็เลยลองดูแล้วกัน ซึ่งตอนนั้นอายุเรากำลังจะเกินแล้ว เพราะเขารับคนอายุไม่เกินสิบเจ็ดปี ก็คิดว่าส่งๆ ไป ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร จำได้ว่าตอนนั้น ลืมใส่เบอร์โทรศัพท์ด้วย จนช่อง 7 ต้องเขียนจดหมายกลับมา บอกให้รีบมาสถานีภายในวันนี้ ซึ่งอีกวันเดียวก็จะครบกำหนด พี่ก็รีบไปในวันรุ่งขึ้น เพื่อไปเทสต์หน้ากล้อง” พี่นัทย้อนความทรงจำอย่างอารมณ์ดี

เช่นเดียวกับพี่แนน เดิมทีก็เป็นเด็กขี้อายมากเหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่จึงพยายามสรรหากิจกรรมให้ลูกสาวคนเดียวกล้าแสดงออก เช่น บอกว่าถ้าอยากได้ของรางวัลบนเวทีให้ขึ้นไปตอบคำถาม พี่แนนก็เลยยอมขึ้น และพบว่าการอยู่ต่อหน้าผู้คนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

หลังจากนั้น พี่แนนเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงเต็มตัว ตั้งแต่เข้าประกวดตามเวทีต่างๆ เดินแบบ ถ่ายโฆษณา แสดงละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องพระทิณวงศ์ และเล่นภาพยนตร์อีก 2 เรื่อง คือ ทายาทคนใหม่ กับนางฟ้าตกสวรรค์

กระทั่งวันหนึ่งคุณแม่เห็นประกาศรับสมัครพิธีกรของ Walt Disney จึงมาเล่าให้ลูกสาววัย 13 ขวบ ซึ่งเรียนอยู่ชั้น ม.ต้น ที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ฟัง

“คุณแม่บอกว่า นี่เป็นการ์ตูนของเมืองนอก อยากไปเมืองนอกไหม อยากไป Disney Land ไหม ตอนนั้นเราก็มีความรู้สึกว่า พิธีกรคืออะไร ไม่รู้จัก ด้วยความที่เด็ก แล้วรายการแบบนี้มันไม่เคยมีในเมืองไทย เลยไม่มีต้นแบบให้ดู คุณแม่ก็เลยบอกว่า ถ้าอยากลองก็ลองสมัครไป” พี่แนนเล่าจุดเริ่มต้นของเส้นทางพิธีกร

การคัดเลือกทำกันที่สตูดิโอช่อง 7 สี รอบแรกเป็นการทดสอบความสามารถของผู้สมัครแต่ละคน พี่แนนจำได้ดีว่า ก้าวแรกที่ไปถึงสถานี เธอก็คิดในใจทันทีว่า สงสัยงานนี้จะไม่ผ่าน

“ตอนนั้นแต่งชุดนักเรียนอยู่คนเดียว ไม่สวยเลย เขาสวยหล่อกันไป ครั้งแรกเราไปโดยไม่รู้โจทย์อะไรเลย เขาบอกหน้างานเลยว่า ให้แสดงความสามารถอะไรก็ได้ อย่างร้องเพลงไม่ได้อยู่แล้ว ก็เลยเลือกเอาใกล้ๆ ตัวแล้วกัน เดินแฟชั่น แต่มันก็แป๊บเดียวไง แล้วใครๆ เขาก็เดินได้ พี่เลยเต้นรีวิวประกอบเพลง จำได้ว่าร้องท่อนฮุกแล้วก็เต้นแบบที่เคยเต้นที่โรงเรียนให้กล้องดู แต่ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้หรอก เพราะการแต่งตัวเราผิดจากคนอื่น” พี่แนนเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

“ส่วนของพี่ พอเขาให้แสดงความสามารถ เราก็พูดประมาณว่า ผมเป็นนักดนตรีไทยนะ แต่ให้ขนระนาดมาตรงนี้ก็คงลำบาก ถ้าอย่างนั้นร้องเพลงแทนแล้วกัน เลยร้องเพลง รอยร้าว ของอิทธิ พลางกูร พอร้องเสร็จ เขาก็ถามว่า จะทำอะไรอีกไหม ด้วยความที่ไม่คิดว่าจะได้ ก็เลยตอบว่าพอแล้วครับ แล้วกลับบ้านเลย” พี่นัทนึกถึงฉากการทดสอบของตัวเอง

หลังทดสอบเสร็จเรียบร้อย ทุกอย่างเงียบหายไปนานหลายเดือน จนทั้งคู่เกือบลืมไปแล้ว แถมต่อมาทางช่อง 7 ยังเปิดรับสมัครคนเพิ่มอีกรอบ เสมือนกับต้องการบอกนัยๆ ว่ายังไม่เจอคนที่ถูกใจ

แต่แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็ถูกเรียกตัวให้มาทดสอบเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งนี้มีโจทย์ให้ผู้สมัครทดลองขายสินค้าอะไรก็ได้ โดยยุคนั้นรายการขายสินค้าไม่ได้มีมากเหมือนสมัยนี้ หลักๆ ก็มีเพียง ช้อปปิ้ง กริ๊ง 7 สี ทั้งคู่จึงต้องใช้วิธีด้นสด

พี่นัทเลือกขายโทรศัพท์มือถือของเล่น ตั้งชื่อตลกๆ ว่า มือถือโนเมีย ล้อกับโทรศัพท์โนเกียที่กำลังโด่งดัง ส่วนพี่แนนขายแก้วพับได้ โดยตั้งชื่อว่า แก้วแสนกล คล้ายๆ เป็นแก้วมายากล พร้อมเล่นมุกว่า “น้องๆ รอดูนะคะ เดี๋ยวพี่แนนจะเสกก้อนกลมๆ ให้เป็นแก้ว”

การทดสอบดำเนินมาเรื่อยๆ จนถึงด่านสุดท้าย คือ การทดลองจัดรายการจริง รอบนี้เป็นครั้งแรกที่พี่นัทกับพี่แนนได้พบกัน แถมทั้งคู่ยังได้จับคู่กันอีกต่างหาก

“ตอนนั้นเหลือประมาณสิบคน แต่ไม่แน่ใจว่าเหลือแค่กลุ่มเราเท่านั้นหรือเปล่า ซึ่งในกลุ่มจะมีผู้ชายสองคน คือพี่กับใครก็ไม่รู้ ด้วยความที่ผู้ชายมีน้อย พี่จึงได้ทดสอบกับเด็กผู้หญิงหลายคนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือแนน” พี่นัทเท้าความ

29 ปีแห่งความหลังของ พี่นัท-พี่แนน สองพิธีกรขวัญใจเด็กๆ แห่งรายการ Disney Club

“เวลานั้นเขาก็จะมีสคริปต์มาให้อ่านก่อน ความยากคือ เราตื่นเต้นและจำสคริปต์ไม่ค่อยได้ แล้วสคริปต์ก็เหมือนช่วงหนึ่งของการออกอากาศเลย ซึ่งพอเราไม่เคยมีต้นแบบเลยไม่รู้จะพูดยังไงดี แต่นอกจากกังวลเรื่องตัวเองแล้ว เรายังกังวลไปถึงคนที่มาแคสต์คู่กับเราด้วย เพราะถ้าเราส่งไปผิด เขาก็จะต่อไม่ได้ แต่ยังดีที่เขามีเวลาให้ซ้อมก่อนสิบถึงสิบห้านาที เลยมาลองซ้อมคู่กัน แล้วก็คิดว่า ต่อให้พูดผิดก็ไม่เป็นไร แค่เนื้อความได้พอ” พี่แนนเล่าในมุมของตัวเอง 

หลังคัดเลือกมานานร่วมปี ในที่สุดทั้งคู่ก็ได้รับข่าวดี เพราะพวกเขาถูกเลือกให้เป็นพิธีกรคู่แรกของ Disney Club พี่นัทและคุณแม่ดีใจมาก เพราะคาดไม่ถึงว่าจะมาถึงจุดนี้ ส่วนพี่แนนยังรู้สึกงงๆ ว่า ทำไมถึงได้รับเลือก 

ก่อนที่ทีมงานจะเฉลยกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาคัดเลือกที่แสนยาวนาน เพราะช่อง 7 มีหน้าที่เพียงส่งเทปผู้สมัครไปให้ทาง Walt Disney คัดเลือกเท่านั้น ส่วนโจทย์ต่างๆ ที่ทั้งคู่ต้องทำนั้นก็เป็นสิ่งที่สตูดิโอดังกำหนดมา เพื่อใช้พิจารณาว่า ใครที่เหมาะสมจะเป็นพิธีกรของรายการ

“อย่างเหตุผลที่เขาอยากให้เราขายของ เพราะต้องการดู Reaction ของเราว่า เวลาขายอะไรบางอย่างให้กับลูกค้า มันน่าสนใจแค่ไหน ซึ่งสุดท้ายก็ย้อนกลับมาที่หน้าที่พิธีกรที่ต้องขายความสนุก ความน่าสนใจของตัวการ์ตูนออกมาให้ได้ เพียงแต่เขาไม่ได้บอกเราตรงๆ รวมทั้งยังต้องการดูลักษณะการพูด น้ำเสียง แววตา เวลาพูดกับเด็ก เราสนุกไปกับเขาได้มากน้อยแค่ไหน” พี่แนนยกตัวอย่าง

นั่นคือจุดตั้งต้นของสองพิธีกรมือใหม่ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นคู่หูที่อยู่ในความทรงจำของผู้ชมมานานเกือบ 30 ปี

02

กว่าจะเป็นพี่นัท-พี่แนน

วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 เวลา 8 โมงเช้า คือครั้งแรกที่รายการ Disney Club ออกอากาศ

แต่กว่าจะเป็นรายการที่ทุกคนเห็น พี่นัท-พี่แนน รวมถึงพี่ๆ ทีมงานทุกฝ่ายต้องทำงานหนักมาก

สองพิธีกรบอกว่า ช่วงก่อนออกอากาศเดือนหนึ่ง พวกเขาต้องมาสถานีทุกวัน เพื่อฝึกพูด ฝึกออกเสียงควบกล้ำ ตลอดจนเพื่อสร้างความคุ้นเคย โดยเฉพาะพี่นัท ซึ่งอยู่โรงเรียนชายล้วนมาตลอด จึงไม่ชินเวลาต้องมาจัดรายการคู่กับเด็กผู้หญิง

“ช่วงนั้นปิดเทอมพอดี เลยมาที่นี่ถี่มาก มาอ่านหนังสือตั้งแต่เช้าจนเย็นแล้วค่อยกลับบ้าน” พี่แนนเริ่มบทสนทนา

“แล้วเขาก็เอาบทเก่าๆ ของรายการอื่นมาให้อ่าน เป็นรายการ 7 สีคอนเสิร์ต ให้เราเป็นศรราม ส่วนแนนก็เป็นนัท มีเรีย ท่องบทกันไป แล้วเขาก็จะคอยบอกว่า ร เรือ ล ลิง ยังไม่ได้นะ คือมีคนมาคอยนั่งบรีฟตลอด ไม่ได้ปล่อยผ่านให้ออกมาง่ายๆ” พี่นัทเสริมตาม

ในเทปแรกที่อัด พวกเขาต้องมาถึงสถานีตั้งแต่บ่าย 3 โมง ใช้เวลาแต่งหน้าทำผม 3 ชั่วโมง บวกกับบันทึกเทปนานอีก 6 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น กว่าจะได้กลับบ้านก็เลยเที่ยงคืนไปแล้ว 

29 ปีแห่งความหลังของ พี่นัท-พี่แนน สองพิธีกรขวัญใจเด็กๆ แห่งรายการ Disney Club

“ความจริงเราออกแค่สั้นๆ ช่วงคั่นการ์ตูน รวมแล้วไม่น่าเกินสิบห้านาที แต่ที่ใช้เวลานานขนาดนั้น เพราะทุกอย่างใหม่หมด อย่างฉากเขาก็เพิ่งเซ็ตขึ้นมา ตำแหน่งไฟอะไรต่างๆ นานาก็ยังไม่รู้ว่าควรอยู่ตรงไหน ส่วนเราเองก็ไม่ได้ดี ท่องบทก็ไม่ได้ บอกให้เดินซ้ายก็เดินขวา บอกให้วิ่งก็เดินช้า คือมันเป็นการทดลองใหม่หมดของพวกเรา” พี่นัทอธิบาย

สำหรับการ์ตูนที่ออกอากาศในเทปแรก คือ DuckTales หรือ ขบวนการเป็ดเป็ด เล่าเรื่องของคุณลุงเป็ดมหาเศรษฐีนามว่า Scrooge McDuck ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความขี้เหนียวมาก แต่ต้องเลี้ยงหลานสุดแสบอีก 3 ตัว คือ Huey, Dewey และ Louie โดยระหว่างนั้นก็จะมีเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นมากมาย

อีกเรื่องคือ Chip ‘n Dale Rescue Rangers หรือ สองผู้ยุ่งเหยิง เป็นเรื่องของกระรอกสองตัว คือ Chip กับ Dale ซึ่งหน้าตาเหมือนกัน ต่างกันที่สีจมูกกับนิสัย โดย Chip จมูกสีดำ มีความเป็นผู้ใหญ่และช่างคิด ส่วน Dale จมูกสีแดง เป็นกระรอกที่มีนิสัยแบบเด็กๆ มักก่อเรื่องวุ่นวายให้ Chip คอยตามแก้ โดยทั้งคู่ก่อตั้งหน่วยงานนักสืบขึ้นมา และมีผองเพื่อนมาช่วยกันทำงาน

จุดเด่นของการ์ตูน Disney นอกจากความสนุกแล้ว คือไม่มีตัวละครไหนที่ดีสุดหรือร้ายสุด และตอนจบทุกตัวก็ได้รับผลจากการกระทำของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นบทเรียนให้ทุกคนนำไปปรับใช้ได้ โดยหน้าที่ของพี่นัทและพี่แนนคือ คอยสรุปเรื่องราวของการ์ตูนให้น้องๆ ฟัง

ชีวิตและความผูกพันของ พี่นัท-พี่แนน คู่หูรุ่นแรกแห่ง ดิสนีย์คลับ รายการการ์ตูนแห่งความทรงจำที่อยู่คู่หน้าจอโทรทัศน์ไทยมานานเกือบ 3 ทศวรรษ

หลังทำงานไประยะหนึ่ง ทั้งคู่ก็เริ่มสนิทกันมากขึ้น รับส่งไหลลื่นเป็นธรรมชาติ แม้จะต่างบุคลิกแต่ก็เติมเต็มซึ่งกันและกัน หากเป็นเรื่องจริงจังสักหน่อย พี่แนนก็จะรับบทหนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องเฮฮาก็จะเป็นหน้าที่ของพี่นัท

“ช่วงแรกก็จะเขินๆ หน่อย แต่พอทำงานกันไป มันเหมือนแนนไม่ใช่ผู้หญิงสำหรับพี่ แนนเป็นเด็กผู้ชาย เป็นเพื่อน เป็นน้องเรา ก็เลยทำงานร่วมกันง่าย” พี่นัทเอ่ยพร้อมเสียงหัวเราะ

“ส่วนพี่แนนเป็นลูกคนเดียว พอมีพี่นัทเข้ามาก็เหมือนเขาเป็นพี่ชายเรา ไม่ได้เป็นเพื่อนด้วยนะ เพราะฉะนั้น การแสดงออกก็จะเป็นเหมือนเราอ้อนพี่ เหมือนคุยกับพี่ หลายคนจึงรู้สึกเหมือนพี่นัท-พี่แนน เป็นพี่น้องกัน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ แค่บังเอิญชื่อมันคล้องจองกันพอดี” พี่แนนตบท้าย

เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ทีมงานก็เริ่มมอบหมายภารกิจให้พี่นัท-พี่แนน เพิ่มเติม คือการเขียนสคริปต์รายการ

แต่ละสัปดาห์จะมีเทปวิดีโอการ์ตูนตอนใหม่ ซึ่งยังไม่พากย์ ส่งไปถึงบ้านของพวกเขา หน้าที่ของพี่นัท-พี่แนน ก็คือดูแล้วก็สรุปออกมา และหากสัปดาห์ไหนที่รายการออกอากาศช่วงวันพิเศษ อย่างเช่น วันวิสาขบูชา หรือวันสิ่งแวดล้อมโลก ทีมงานก็จะบรีฟเพิ่มเข้าไปว่าให้พูดประเด็นนี้ด้วย

“ตอนแรกก็งงๆ หน่อย เพราะทีมงานเห็นมีเยอะ ทำไมไม่เขียนสคริปต์ให้เรา แต่ตอนหลังมารู้ว่า เป็นเพราะเขาอยากให้เราสื่อสารกับเด็กๆ ทางบ้านด้วยภาษาที่เป็นเรา ไม่ใช่เป็นภาษาประดิษฐ์ของผู้ใหญ่ที่แกล้งเป็นเด็ก” พี่นัทอธิบาย

“ความยากของพี่แนนคือ โดยพื้นฐานแล้วพอดูหนังได้ แล้วจะเข้าใจด้วยตัวเราเองว่า มันเป็นแบบนี้นะ แต่มีบางช็อตที่เราไม่เข้าใจ การให้เราจะจำทุกช็อตของหนังไปเล่าต่อให้คนอื่นฟังอย่างพี่นัท เราทำไม่ได้ ยิ่งการ์ตูนที่วิ่งไปวิ่งมาทั้งเรื่องเลยก็ยิ่งงง เพราะฉะนั้น พอดูเสร็จก็ต้องโทรศัพท์ Reconfirm กับพี่นัทอีกทีว่าใช่หรือเปล่า แล้วก็มาช่วยกันเขียนสคริปต์ เนื้อหาที่สรุปมาก็อย่างเช่น Chip กับ Dale ทะเลาะกันแล้วสร้างความเสียหายขึ้น เราก็ต้องมาเล่าให้น้องๆ ฟังว่า เป็นเพื่อนกัน ไม่ควรทะเลาะกัน อย่างน้อยเราต้องสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกัน” พี่แนนสรุปความ

ชีวิตและความผูกพันของ พี่นัท-พี่แนน คู่หูรุ่นแรกแห่ง ดิสนีย์คลับ รายการการ์ตูนแห่งความทรงจำที่อยู่คู่หน้าจอโทรทัศน์ไทยมานานเกือบ 3 ทศวรรษ

เมื่อพวกเขาเขียนบทออกมาเรียบร้อย ก็ส่งให้ทีมงานตรวจสอบความเหมาะสมอีกที

ว่ากันว่า ข้อคิดที่พี่นัทและพี่แนนช่วยกันถ่ายทอดนั้นส่งผลต่อเด็กๆ ที่ชมการ์ตูนอย่างสูง เช่น บางครั้งที่พวกเขาบอกให้น้องๆ ดื่มนมหรือแปรงฟัน หลายคนก็รีบทำตามทันที สะท้อนให้เห็นว่ารายการเล็กๆ ความยาว 1 ชั่วโมงนั้นมีอิทธิพลมากเพียงใด

03

หัวหน้าแก๊งของเด็กๆ

นอกจากการ์ตูนและข้อคิดของพี่นัท-พี่แนน แล้ว อีกช่วงที่ยอดฮิตและอยู่ในความทรงจำของหนูๆ ก็คือ การตอบจดหมาย ซึ่งถูกส่งเข้ามาอย่างล้นหลาม แม้ไม่มีรางวัลใดๆ ให้ก็ตาม

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว รายการนี้ก็เป็นเสมือนพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงตัวตนและความสามารถ โดยมีพี่ชายพี่สาว อย่างพี่นัท-พี่แนน เป็นสื่อกลาง

“พี่ไม่แน่ใจว่า มันเป็นวิธีการสื่อสารของทุกรายการสมัยนั้นหรือเปล่า แต่สิ่งที่จำได้คือ มีคนส่งเข้ามาเยอะมาก แล้วแต่ละฉบับก็น่ารักทั้งนั้น ทีมงานก็เลยคิดว่าควรจะเอาสิ่งที่เด็กส่งเข้ามา มาตอบในรายการ แล้วก็กลายเป็นช่วงฮอตฮิต ซึ่งไม่ได้มีการ์ตูนมาเกี่ยวข้อง เด็กๆ เขาจะรอดูว่า วันนี้จะเป็นของฉัน หรือของเพื่อน เพราะเคยเจอว่า เวลาเราอ่านของใครออกอากาศ เขาจะดีใจกันมาก แล้วก็โชว์เพื่อนๆ ว่าฉันได้ออกแล้ว” พี่นัทย้อนความจำ

ชีวิตและความผูกพันของ พี่นัท-พี่แนน คู่หูรุ่นแรกแห่ง ดิสนีย์คลับ รายการการ์ตูนแห่งความทรงจำที่อยู่คู่หน้าจอโทรทัศน์ไทยมานานเกือบ 3 ทศวรรษ

แต่ละเดือนจะมีจดหมายจากทั่วทุกสารทิศส่งเข้ามาหลายร้อยฉบับ โดยเวลาที่พี่นัทกับพี่แนนมาบันทึกเทปรายการ ทีมงานจะนำจดหมายใส่ลังกระดาษใหญ่ๆ 2 ลังมามอบให้ แล้วระหว่างแต่งหน้าทำผม ทั้งคู่จะทยอยเปิดจดหมายอ่าน ถ้าชอบฉบับไหนก็เลือกมาอ่านในรายการ ซึ่งเทปหนึ่งอย่างมากก็ได้ประมาณ 4 – 5 ฉบับ ส่วนที่เหลือก็เก็บกลับไปตอบต่อที่บ้าน หากตอบไม่ทันก็ใช้วิธีเซ็นชื่อพร้อมแนบสติกเกอร์ตัวการ์ตูน ปิดซองใส่แสตมป์ส่งกลับคืนไป

จดหมายที่ส่งเข้ามานั้นมีหลากสไตล์ บางคนก็วาดรูปตัวการ์ตูนส่งเข้ามา บางคนก็เขียนบรรยายความประทับใจถึงการ์ตูนที่ฉาย เด็กที่ยังเขียนหนังสือไม่เป็นก็ไหว้วานให้คุณครูช่วยเขียนส่งมาแทน แล้วยังมีฉบับที่บอกว่า หากทั้งคู่มาเที่ยวจังหวัดที่เขาอยู่ก็อย่าลืมเขียนจดหมายมาด้วย แล้วเขาจะแวะมาหา

“พี่บอกไม่ได้ว่าประทับใจอันไหน เพราะชอบทุกฉบับ มีดีไปหมดเลย แต่จะมีบางอันที่สะดุดตา เช่น มีครั้งหนึ่งพี่ไปเที่ยวข้างนอก แล้วเจอเด็กๆ มาขอถ่ายรูป เราก็ถ่ายด้วย แล้ววันหนึ่งเขาส่งรูปเรากับเขามา ก็ตกใจเหมือนกัน นี่มันรูปเรานี่หว่า คือคาดไม่ถึงว่าจะได้รูปตัวเอง” พี่นัทเล่าความหลัง 

ชีวิตและความผูกพันของ พี่นัท-พี่แนน คู่หูรุ่นแรกแห่ง ดิสนีย์คลับ รายการการ์ตูนแห่งความทรงจำที่อยู่คู่หน้าจอโทรทัศน์ไทยมานานเกือบ 3 ทศวรรษ

นอกจากนี้ Disney Club ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกเพียบ เช่น การประกวดสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งผลงานที่ออกมาก็น่าตื่นตาตื่นใจมาก พี่แนนบอกว่า ครั้งหนึ่งเคยให้โจทย์ประดิษฐ์ปราสาทเจ้าหญิงจากกล่องนม ปรากฏว่าผลงานที่ส่งมาอลังการมาก แถมยังแทบไม่หลงเหลือเค้าของกล่องนมเลย สะท้อนให้เห็นว่า เด็กแต่ละคนนั้นมีความสามารถที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ

แล้วยังมีกิจกรรมพิเศษ อย่างเช่น พาน้องๆ ชมภาพยนตร์รอบพิเศษก่อนใครเพื่อน จัดทริปไปสวนสัตว์ ล่องเรือสำราญที่ภูเก็ต หรือเวลาที่ Disney มีงานเปิดตัวการ์ตูนตามห้างสรรพสินค้า พี่นัทกับพี่แนนก็ต้องไปเป็นพิธีกรให้ รวมทั้งยังมีการถ่ายทำรายการนอกสถานที่ ซึ่งก่อนจะไปที่ไหน ทีมงานก็มักขอความเห็นจากสองพิธีกรด้วยเสมอ เพราะแม้ทั้งคู่จะเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ความเป็นเด็กก็ไม่เคยจางหายจากใจเลย

ชีวิตและความผูกพันของ พี่นัท-พี่แนน คู่หูรุ่นแรกแห่ง ดิสนีย์คลับ รายการการ์ตูนแห่งความทรงจำที่อยู่คู่หน้าจอโทรทัศน์ไทยมานานเกือบ 3 ทศวรรษ

บทบาทการเป็นพิธีกรยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาด้วย พี่นัทมักเปรียบตัวเองว่าเหมือนเป็นหัวหน้าเด็กที่ต้องพยายามวางตัวให้ดี เพราะเด็กๆ หลายคนก็ยึดทั้งคู่เป็นต้นแบบ กิจกรรมบางอย่างที่ดูแล้วไม่ดี ก็ต้องละเว้น ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากการถูกบังคับหรือทีมงานบอกให้ทำ แต่เหมือนเป็นความรับผิดชอบที่รู้กันเอง

“ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราทำงานกันมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยเหมือนจะโตกว่าเพื่อน เราจึงมีความรู้สึกต้องบริหารจัดการ ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เราถืออยู่ แต่ถามว่าต้อง Keep Look ตลอดเวลาไหม พี่แนนว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติของเรามากกว่า 

“อย่างการ์ตูน Disney ด้วยธรรมชาติของการ์ตูนก็จะสอนตัวอย่างดีๆ ให้กับทุกคนอยู่แล้ว แล้วยิ่งการที่เราขลุกอยู่กับการ์ตูนก็จะซึมซับแต่สิ่งดีๆ ออกมาตลอดเวลา เพราะฉะนั้น มันก็เหมือนเราใช้ชีวิตปกติ เพียงแต่เวลาที่เราจะทำอะไรที่ดูไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ก็จะฉุกคิดขึ้นมาว่าไม่ควรทำนะ ต่อให้เราไม่ได้เป็นพิธีกรก็ตาม” พี่แนนอธิบายเพิ่มเติม

04

ความทรงจำที่ไม่วันลืม

ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่มีวันเลิกรา หลังทำรายการมาต่อเนื่องนับสิบปี ก็ถึงคราวที่ Disney Club ต้องผลัดใบและส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่ อย่าง เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร และ ส้ม-ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ

สำหรับพี่นัท-พี่แนน แล้ว อาจรู้สึกเสียดายบ้าง แต่ก็ไม่เสียใจ เพราะตระหนักดีว่า นี่คือเรื่องปกติของการทำงานที่ต้องมีระยะเวลาเหมาะสม และคงเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะเป็นพิธีกรตลอดไป ที่สำคัญแม้ไม่เป็นพิธีกรหลัก แต่เวลามีกิจกรรมใดๆ พวกเขาก็ยังได้รับเชิญให้มาร่วมงานอยู่เสมอ จนเหมือนกับว่าทั้งคู่ไม่เคยจากบ้านหลังนี้ไปเลย

“เราก็ใจหายนะ เพราะทำกันมานานมาก แล้วก็เป็นงานที่เราชอบ แต่ถึงเวลาที่เราจะต้องไป ก็เหมาะสมแล้ว เพราะเราก็โต ทำงานกันหมด น่าจะมีพิธีกรที่เด็กกว่า มาสร้างความสดใสให้กับรายการ” พี่นัทบอก

“คือมันมีเรื่องสัญญาด้วย ทาง Disney คงพิจารณาถึงความเหมาะสมเรื่องของอายุของพิธีกร ต้องดูกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มไหน เขาก็ต้องเลือกคนที่เหมือนเพื่อนมาคุยกัน ถ้าเราทำต่อไปเรื่อยๆ ความสนใจหรือการพูดจาเราจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ถ้าคุยกับเด็กรุ่นใหม่ก็อาจจะคนละภาษากันแล้ว จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามรอบ” พี่แนนช่วยเสริม

หลังจากนั้น พวกเขาก็หันไปทุ่มชีวิตให้งานประจำเต็มตัว โดยพี่นัทเลือกเส้นทางพนักงานการบินไทย ทำหน้าที่คอยติดตามและแก้ปัญหาเรื่องกระเป๋าของผู้โดยสารหากเกิดสูญหายหรือเสียหายขึ้นมา ซึ่งเป็นงานที่มีความยากและแตกต่างจากงานเก่าอย่างสิ้นเชิง เพราะคล้ายๆ กับเป็นงานเจรจาและต้องรับมือกับอารมณ์ของผู้คน ทว่าเขาก็ยังไม่ได้ทิ้งทักษะการเป็นพิธีกร เพราะเวลามีกิจกรรมของแผนก เช่น อบรมนักศึกษาฝึกงาน พี่นัทก็มักถูกส่งไปเป็นตัวแทนเสมอ

เช่นเดียวกับพี่แนน ซึ่งครั้งแรกตั้งใจจะไปสมัครงานเป็นประชาสัมพันธ์ที่ TA Orange แต่ทางผู้บริหารเห็นว่า เหมาะกับงานพัฒนาบุคลากรมากกว่า จึงมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นวิทยากร อบรมและออกแบบหลักสูตรให้พนักงาน ซึ่งก็คล้ายๆ กับงานเขียนสคริปต์รายการ เพียงแต่มีวิธีการวัดผลที่ชัดเจนกว่า 

ปัจจุบันพี่แนนยังคงทำงานสายนี้ แต่ย้ายมาอยู่ที่ SCB Academy พร้อมกับพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือใหม่ๆ ตลอดจนเปิดเว็บไซต์ pmd.academy พลเมืองดีจิทัล อคาดามี่ ให้คนนอกธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของตัวเอง

ชีวิตและความผูกพันของ พี่นัท-พี่แนน คู่หูรุ่นแรกแห่ง ดิสนีย์คลับ รายการการ์ตูนแห่งความทรงจำที่อยู่คู่หน้าจอโทรทัศน์ไทยมานานเกือบ 3 ทศวรรษ

เช่นเดียวกับชีวิตส่วนตัว วันนี้ทั้งคู่ไม่ได้เป็นเพียงพี่ชายพี่สาวของน้องๆ เท่านั้น แต่เป็นคุณพ่อคุณแม่ของลูกๆ โดยพี่แนนมีลูกชายคนหนึ่ง วัย 14 ปี ส่วนพี่นัทก็มีลูกสาวคนเดียว อายุ 7 ขวบ

“บางทีเราก็ติดจากการเป็นพิธีกรที่ดูการ์ตูนแล้วได้ข้อคิด ก็จะคอยบอกน้องๆ เพราะฉะนั้น เวลาอยู่กับลูก เราจะคุยกับเขาและสอดแทรกคำสอนโดยที่เขาไม่รู้ตัว พูดง่ายๆ คือเลี้ยงดูเขาเหมือนเราเป็นเพื่อนที่เขาให้ความเคารพ เพราะถ้าเลี้ยงแบบเราเป็นพ่อแม่ บางทีวัยรุ่นเขาอาจไม่กล้าบอกหรือไม่กล้าจะปรึกษา” พี่แนนเล่าเคล็ดลับการเลี้ยงลูกของตัวเองอย่างอารมณ์ดี

“ส่วนของพี่ ลูกก็ยังเล็กอยู่ ตอนนี้ก็นั่งดูการ์ตูนเป็นเพื่อนลูก คือไม่ว่าจะทำอะไรก็อยู่กับลูกตลอด อย่างการ์ตูน Disney Club เขาชอบมาก เรียกพี่ไปดูทุกเช้าเลย ซึ่งพี่ก็จะใช้โอกาสนี้แหละสอนเขาว่า คนนี้ดียังไง ไม่ดียังไง เหมือนเป็นพิธีกรเลย แต่ไม่หมายถึงการ์ตูนอย่างเดียว หนังหรือละครก็เหมือนกัน” พี่นัทพูดถึงลูกสาวบ้าง

ชีวิตและความผูกพันของ พี่นัท-พี่แนน คู่หูรุ่นแรกแห่ง ดิสนีย์คลับ รายการการ์ตูนแห่งความทรงจำที่อยู่คู่หน้าจอโทรทัศน์ไทยมานานเกือบ 3 ทศวรรษ

สำหรับรายการ Disney Club ซึ่งปิดฉากเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564 พี่นัทกับพี่แนนก็ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วย

ในฐานะของผู้ที่อยู่กับรายการมาตั้งแต่แรก ทั้งคู่ยอมรับว่ารู้สึกเสียดายไม่น้อย เพราะพวกเขาก็เติบโตขึ้นมาจากเด็กธรรมดาที่ไม่มีใครรู้จัก กลายเป็นคนที่มีแฟนคลับทั่วประเทศ เหมือนเป็นโรงเรียนที่สอนให้โตเป็นผู้ใหญ่ เปลี่ยนเด็กขี้อายให้กล้าแสดงออก และยังส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปยังเด็กๆ ที่อยู่หน้าจออีกด้วย แต่พวกเขาก็เข้าใจดีว่า เป็นธรรมชาติของทุกรายการโทรทัศน์ที่วันหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง

“เมื่อก่อนช่องทางที่เด็กหรือเยาวชนจะได้รับความสนุกมีอยู่ไม่กี่ช่องทาง อย่างการ์ตูนก็มีมาจากไม่กี่บริษัท แต่ปัจจุบันมีช่องทางการรับรู้ที่หลากหลาย สื่อต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เด็กๆ จึงมีทางเลือกเยอะขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นพอเข้าถึงง่าย ก็มีบางสื่อที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลบุตรหลานของตัวเองให้เขาเลือกสื่อที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต” พี่แนนอธิบาย

อย่างไรก็ตาม แม้รายการจะปิดตัวลง แต่พี่นัทและพี่แนนก็ไม่ได้หายไปไหน ทั้งคู่ยังมีแผนที่จะกลับไปทำอะไรร่วมกัน เพื่อให้น้องๆ ได้มาเห็นหน้าพี่นัท-พี่แนน กันอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งยังเปิดทวิตเตอร์และอินสตาแกรม nutdisney และ pnandisney เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารและอัปเดตความเคลื่อนไหว ซึ่งรับรองว่าเร็วๆ นี้จะมีข่าวดีมาเล่าให้ฟังแน่นอน 

และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ พี่นัท-พี่แนน สองพิธีกรคู่หู และรายการ Disney Club ซึ่งเป็นเสมือนความทรงจำยามเช้าที่เปี่ยมด้วยความสุขของเด็กไทยทุกคน

ภาพ : คุณศักวัต ด่านบรรพต, คุณอรรัตน์ คุณวัฒน์ และช่อง 7 HD

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว