9 มิถุนายน 2020
23 K

มองในรูปนี้คงดูไม่ออกว่าพุ่มดอกไม้ข้างหลังเป็นสีเหลืองเล็กๆ สวยมาก เป็นช่วงเดือนเมษายนที่ลอสแอนเจลิส ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะฉลองเทศกาลอีสเตอร์หรือวันคืนพระชนม์ของพระเยซู

ตอนนั้นทั่ว LA มีแต่ดอกไม้สีเหลืองเล็กๆๆ บานเต็มถนนหนทางไปหมด เราตื่นเต้นมากเพราะเป็นลูกสาวชาวสวนที่ไม่เคยเห็นบ้านเมืองชาวตะวันตกมาก่อน ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นโพสต์แรกที่เราได้ออกไปประจำการต่างประเทศ

หลังเราแต่งงานไป ๓ เดือน ในวัย ๒๙ ปี เรากราบเท้าบิดามารดา ขอตัวไปทำหน้าที่ภรรยาและข้าราชการไทยในที่ต่างแดน มีบทบาทใหม่เป็นรองกงสุล คือเทียบเท่าซี ๔

อีกบทบาทหนึ่งที่มองในรูปนี้ก็คงดูไม่ออกเช่นกัน คือ เรากำลังจะได้เป็นแม่

แม่สาวนักการทูต Diplomat Mom เพจของลูกสาวที่เล่าไดอารี่แม่ผู้ทำงานเป็นนักการทูต 37 ปี

ขอยกตัวอย่างบันทึกพิเศษตอน ‘อีสเตอร์แรกที่ลอสแอนเจลิส’ จากเพจ แม่สาวนักการทูต Diplomat Mom มาเล่าเกริ่นให้ฟัง จริงๆ ชื่อเพจต้องอ่านว่า “แม่ – สาวนักการทูต” เป็นการเล่นคำ เพราะคนที่เขียนบันทึกทั้งหมดในเพจเป็น ‘แม่’ ของเรา แต่คนอื่นๆ จะรู้จักเขาในมุมของอาชีพนักการทูตคนหนึ่งที่ทำงานในยุค 1970 ถึง 2000 ต้นๆ รวมๆ แล้วแม่ทำงานนี้มาทั้งหมดเป็น 37 ปีค่ะ

ชีวิตของนักการทูตเป็นเรื่องค่อนข้างลึกลับ หลายคนคิดว่ามันเป็นชีวิตที่หรูหรา ฟู่ฟ่า เป็นผู้แทนจากไทย เดินทางพบปะคนระดับท็อปๆ ใส่ชุดกาล่านั่งจิบไวน์เหมือนที่เห็นกันในหนัง

แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอ ทุกอาชีพย่อมมีความยากลำบากที่ต้องเผชิญ ยิ่งถ้าเป็นนักการทูตหญิง คนชอบพูดว่านักการทูตหญิงเนี่ย ยังไงก็ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพที่ชายเป็นใหญ่หรอก ไม่งั้นเธอต้องมีสิ่งแลก แลกกับการครองตัวเป็นโสด ไม่ก็แลกกับชีวิตครอบครัวที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหาคำตอบของเรื่องราวเหล่านี้พร้อมเราได้ในบันทึกของ ‘แม่สาวนักการทูต’ 

แม่สาวนักการทูต Diplomat Mom เพจของลูกสาวที่เล่าไดอารี่แม่ผู้ทำงานเป็นนักการทูต 37 ปี

ปีที่สร้างเพจคือตอนที่แม่อายุครบ 70 ปีพอดี ผ่านมา 2 ปีแล้ว เราโพสต์บันทึกไปทั้งหมด 12 บทเองค่ะ บางทีก็หยุดไปเป็นเดือนเพราะชีวิตครอบครัวบางช่วงมันเข้มข้นกว่าในบันทึก เราต้องทำงาน แม่ก็มีกิจกรรมหลายอย่าง แต่เวลาเปิดเพจขึ้นมา ดีใจมากที่คนยังมาพิมพ์คอมเมนต์น่ารักๆ ทิ้งไว้ มาตามอ่านบันทึกของแม่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยๆ คน มาจากยะลาบ้าง เชียงใหม่บ้าง นักเรียนนอกบ้าง แถมมีมาทวงด้วยว่าหายไปไหน ไม่ได้โพสต์เป็นเดือนละนะ! อะไรประมาณนี้ แต่เราก็ค่อยๆ โพสต์ เพราะเหตุผลที่เราสร้างเพจ คือเราทำเพื่อแม่

 เหตุผลลึกๆ ที่สร้างเพจนี้เพราะเรากลัวแม่เป็นอัลไซเมอร์ เลยหาอะไรให้แม่ทำ เราอยากรู้จักแม่ในมุมทำงาน และอยากฟังเรื่องราวของแม่ ตอนได้อ่านบันทึกของแม่บทแรกๆ มันเหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปรู้จักแม่ตัวเองและบ้านเมืองตัวเองตอนยังไม่เกิด เวลาได้อ่านอัตชีวประวัติไม่ว่าเป็นใครก็ตาม เราเหมือนได้ใช้ชีวิตคู่ขนานไปกับคนอีกคน หรือหลายๆ คน รู้สึกได้ใช้ชีวิตคุ้มดี 

แม่คือฮีโร่ของเมย์ แต่ก็เป็นคนที่เราทะเลาะด้วยเยอะที่สุด เราต่างกันมาก รู้สึกได้ว่าแม่เราไม่เหมือนแม่คนอื่นๆ ในยุคของเขา มีอะไรแม่ลุยเองตลอด ตอนนี้อายุ 70 ปีกว่า ยัง Networking สร้างมิตรภาพกับคนแปลกหน้า ขับรถไปนั่นไปนี่เอง ใช้ Google Doc เขียนบันทึกคล่องมาก เวลามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาเขาก็ใช้ได้หมด เราเลยปะติดปะต่อว่าเขาเป็นแบบนี้เพราะอยู่ต่างประเทศมานานรึเปล่านะ 

แม่สาวนักการทูต Diplomat Mom เพจของลูกสาวที่เล่าไดอารี่แม่ผู้ทำงานเป็นนักการทูต 37 ปี

จำได้ว่าเคยดูหนังชื่อเรื่อง Hanna นางเอกถูกสอนว่า “You must adapt or die.” หันมามองแม่วัย 70 ของเราก็ อืม เป็นไปได้แฮะ งั้นจับมาเขียนบันทึก ให้เขาเล่าเรื่องตัวเองเลยดีกว่า 

ถ้าให้ย่อยแรงบันดาลใจในการทำเพจให้เหลือแค่ภาพภาพเดียว มันคือภาพตอนที่ทั้งบ้านไปส่งแม่ที่สนามบินดอนเมือง เป็นการออกโพสต์ไปต่างประเทศครั้งสุดท้ายในชีวิตข้าราชการของแม่ ตอนนั้นแม่เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ อายุ 50 ปลายๆ ที่ผมเป็นสีขาวมากกว่าดำแล้ว แต่ยืนสะพายกระเป๋าข้างหนึ่งกระเป๋าลากอีกข้างหนึ่งรอขึ้นเครื่องไปประเทศตุรกีเมื่อ 20 กว่าปีก่อน สมัยที่ตุรกียังไม่เป็นที่นิยม ไม่มีทัวร์ท่องเที่ยว แต่แม่ต้องไปอยู่คนเดียวถึง 4 ปี คนที่นั่นก็ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ 

เมย์ พ่อ แล้วก็พี่ชาย มายืนส่งแม่เข้าเกต เราลากันเงียบๆ แบบที่เคยลา ลากันทีแยกกันเป็นปีๆ ถ้าเกิดในครอบครัวคนนักการทูตจะชินค่ะ มันไม่ได้ทำให้การลาแต่ละครั้งเศร้าน้อยลงนะ อาจแค่กลั้นน้ำตากันเก่งขึ้น อาชีพนี้ต้องบอกเลยว่า ครอบครัวจะไม่ค่อยได้อยู่พร้อมหน้ากัน (เตือนไว้ก่อนว่าอ่านๆ ไป อาจกลายเป็นไดอารี่ปมครอบครัว)

กลับเข้าเรื่องค่ะ ภาพที่ติดตาคือเมย์เห็นหน้าแม่เศร้านิดๆ เดินเข้าเกตไปแล้วก็หันมายิ้มให้พวกเรา เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกจุกในใจที่ได้แม่เห็นในเสี้ยวนาทีที่เขาเปราะบาง ไม่ใช่ Invincible Woman แต่เห็นเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรจากเรา แค่เขาเกิดคนละยุคสมัย เลือกเส้นทางชีวิตต่างจากเรา

แม่สาวนักการทูต Diplomat Mom เพจของลูกสาวที่เล่าไดอารี่แม่ผู้ทำงานเป็นนักการทูต 37 ปี

พอเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ได้ลองมองอะไรกว้างขึ้น โดยเฉพาะการฝึกมองชีวิตตัวเองจากมุมมองคนนอกมากขึ้น ก็เริ่มเข้าใจ แม่ทั้งตัวเล็ก ทั้งพูดเสียงค่อยกว่าเราตั้งเยอะ แต่เวลาจะโดนเอาเปรียบที เถียงผู้ชายต่างชาติตัวใหญ่ไซส์หมีเป็นภาษาอังกฤษแบบไฟลุก เขาอดทนกับการต้องย้ายประเทศทุกๆ 4 ปี ตลอดเวลาสามสิบกว่าปีของการทำงาน เขาประคองครอบครัว ประคองความรักยังไงนะ พ่อเมย์รักแต่แม่คนเดียวมาตลอดทั้งๆ ที่อยู่ห่างกัน แต่สมัยนี้คนรักอยู่ใกล้กันคุยกันทุกวันเลิกกันก็มี มันทำให้เราเริ่มอยากรู้ว่าเส้นทางชีวิตที่เขาเดินมันหล่อหลอมเขาเป็นอย่างไร และอะไรที่ทำให้เขายังเดินหน้าต่อไป 

ยกตัวอย่างบันทึกหนึ่งของแม่ที่เขียนเรื่องตอนไปอยู่ที่ต่างประเทศแล้วต้องเลือกบ้านพักข้าราชการ แม่เล่าว่า 

“ตั้งแต่เกิดมาแม่ย้ายอยู่บ้านมาทั้งหมด ๑๑ หลัง คำว่า ‘บ้าน’ ที่ฝรั่งเรียกใช้ว่า house หรือ home นี้ เขาได้อธิบายเพิ่มเติมถึงความแตกต่างไว้ว่า a house is made of brick, but a home is made of love’ นั่นหมายความว่า house เปรียบเป็นที่พักอาศัย สร้างด้วยอิฐด้วยปูน แต่ home คือบ้านที่สร้างด้วยความรักความอบอุ่น คำว่า ‘บ้านของข้าราชการกระทรวง’ มักจะเป็นแค่บ้านพักชั่วคราว เปลี่ยนทุกๆ ๔ ปี จะเป็น house หรือ home ขึ้นอยู่กับแต่ละคน” 

แม่สาวนักการทูต Diplomat Mom เพจของลูกสาวที่เล่าไดอารี่แม่ผู้ทำงานเป็นนักการทูต 37 ปี

ตอนที่ได้อ่านครั้งแรก เราแอบนึกว่า แม่นี่ ถ้าไม่ได้เป็นนักการทูต สงสัยคงได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษแน่ๆ 

แม่เขียนเล่าต่อไปว่า “ระเบียบราชการกำหนดไว้ว่า ต้องหาบ้านพักให้ได้ภายในเวลา ๗ วัน แต่เพราะบางคนออกโพสต์ไปตรงกับช่วงฤดูฝนของบางประเทศ จำเป็นต้องเดินกางร่มฝ่าฝนหาบ้านกันเป็นอาทิตย์ๆ ก็มี ข้าราชการกระทรวงจึงชอบมีพูดคำในการเลือกบ้านว่า ‘flexible ไว้ก่อน’ เพราะบางครั้งก็ขึ้นกับโชคชะตาเหมือนกัน เราอาจหา ‘home’ ที่ ‘made of love’ ไม่เจอ แต่แค่ได้มี ‘house’ ที่ ‘made of brick’ ที่เราอาศัยพักพิงหลบหนาวหลบร้อนได้ก็น่ายินดีแล้ว แม่เชื่อว่า สำหรับแม่และข้าราชการกระทรวงหลายๆ คน บ้านที่แท้จริงของเรานั้นถูกเก็บอยู่ในใจ เราพกประเทศไทยที่มีพ่อแม่พี่น้อง ครอบครัวของเราไปด้วยเสมอ”

พออ่านบันทึกจบ เจ้าลูกคนนี้ก็น้ำตาไหลตามระเบียบค่ะ มันได้เข้าใจว่า แม่เราเขาเอาพลังใจมาจากไหนอยู่เกือบ 40 ปีในการเดินทางรอบโลก

เมย์ว่าชีวิตคนธรรมดามันมีเสน่ห์นะ คนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้คิดค้นยาวิเศษอะไร ไม่ได้ช่วยกู้โลก หรือทำอะไรเท่ๆ ให้คนจดจำ แต่ทำงานของเราไปเงียบๆ อย่างตั้งใจ มันอาจจะเป็นความกล้าหาญที่สุดอย่างหนึ่งเลยก็ได้ ใช้ชีวิตเงียบๆ โดยไม่มีอีโก้ตัวเองผูกไว้ เราเลยได้มุมมองชีวิตมากขึ้น ก็ตอนมานั่งอ่านบันทึกก่อนจะช่วยโพสต์ขึ้นเพจค่ะ 

แม่สาวนักการทูต Diplomat Mom เพจของลูกสาวที่เล่าไดอารี่แม่ผู้ทำงานเป็นนักการทูต 37 ปี

อย่างบันทึกที่เขาเล่าว่าเขาเป็นลูกชาวสวน เลือกเข้ากระทรวงการต่างประเทศแทนที่จะเป็นทหาร เราก็ อ้าว เพิ่งรู้ตอนอ่าน! มิน่าละ เขาถึงภูมิใจในอาชีพเขา นึกๆ ดูตอนเรียนจบนั้นเราก็แสบอยู่ รู้ว่าแม่อยากให้เข้ากระทรวง ก็แอบไปสมัครสอบ ติดรอบแรกแต่ไม่ยอมไปต่อ แค่พิสูจน์ให้เขารู้ว่าเราทำได้แต่เราขอไม่เลือกค่ะ เราตามแม่ออกโพสต์อยู่เกือบ 15 ปี เห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยในอาชีพนี้ มันมีความเหงา มีความคิดถึงครอบครัว มีความลำบาก จากลาเป็นร้อยๆ ครั้ง ลาเพื่อนสนิท ลาเพื่อนบ้านในประเทศนั้นประเทศนี้ 

เมย์เลยไม่เอาละ ขอเลือกสายอาชีพอื่นนะ อยากอยู่นิ่งๆ กับที่ อยากให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันครบสักครั้ง บางทีแค่ได้นั่งกินข้าวพร้อมหน้ากัน เมย์ก็มีความสุขมาก (สรุปคือไดอารี่คนมีปมครอบครัวจริงๆ) แต่เราก็ซาบซึ้งในอาชีพของแม่ที่ได้มอบความทรงจำวัยเด็กที่ประเมินค่าไม่ได้กับเรา เราคือหนึ่งในเด็กไม่กี่คนที่ถูกเรียกว่า Diplomat หรือ Third Culture Kid เพราะเราไปโตมาหลายวัฒนธรรม จนมันค่อยๆ สร้างความเป็นเราขึ้นมา 

แม่สาวนักการทูต Diplomat Mom เพจของลูกสาวที่เล่าไดอารี่แม่ผู้ทำงานเป็นนักการทูต 37 ปี

อ่านบันทึกแม่ตอนที่แม่ไปเมืองนอกแต่ละครั้ง จะเห็นว่าถึงแม่จะอยู่เมืองนอก แต่แม่พกเมืองไทยไปกับตัวเสมอ และระหว่างที่เราไปอยู่ประเทศไหนก็ตาม แม่ก็กลายเป็นประเทศไทยของเราด้วย เป็นตัวตนหนึ่งของเราที่แยกไม่ออก ตอนเราอยู่เมืองนอกใหม่ๆ ได้เรียนรู้ค่านิยม ระบบความคิดความเชื่อของชาวตะวันตก เราก็เชื่อเขาหมดแบบไม่ตั้งคำถาม เรากลับมองว่าแม่เรานี่คิดอะไรไทยๆ จัง โบราณ ไม่อัปเดตเลย ส่วนที่เราเรียนไปมาดีกว่าหมด 

แต่พอมาถึงวันหนึ่งที่ต้องเลือกเส้นทางที่จะเดินต่อ เลือกการวางตัวและสังคมที่อยู่ เราถามตัวเองเยอะมากว่าเราเป็นใคร ครอบครัวนักการทูตไปยืมประเทศเขาอยู่ แต่เราเป็นคนประเทศอะไรล่ะ เราจะผูกตัวเองกับสถาบันไหนดี พุทธก็ไม่เชิง เราเข้ามาหมดแล้วตั้งแต่โบสถ์ มัสยิด วัด ตั้งแต่ยังไม่ 10 ขวบ พูดไทยก็ไม่คล่อง อังกฤษก็ไม่ได้เป๊ะ แต่พอเราเจอคำตอบว่าเราเป็นใคร เราคือลูกแม่ เสียงโวยวายในใจมันเงียบลง เมย์เลยฝากตัวตนไว้กับเขา

แม่สาวนักการทูต Diplomat Mom เพจของลูกสาวที่เล่าไดอารี่แม่ผู้ทำงานเป็นนักการทูต 37 ปี

พ่อเคยมาพูดให้ฟังหลังแม่เกษียณมาพักใหญ่ๆ ว่า 

“เขาภูมิใจงานเขา เพราะเขาทำเพื่อลูก ไม่งั้นอย่าหวังได้เรียนเมืองนอก เรียนโรงเรียนวัดแถวบ้านนี่แหละ” 

เราเองก็นึกไม่ออกเลยว่าชีวิตเราจะเปลี่ยนไปขนาดไหนถ้าไม่มีแม่ 

สุดท้ายแต่สำคัญที่สุด อยากขอบคุณแม่ที่ยอมให้เอาเรื่องชีวิตจริงของแม่มาโพสต์บนโลกโซเชียลมีเดียนี้ และอยากบอกแม่ว่า ภูมิใจที่สุดได้เป็นลูกสาวของแม่ค่ะ

ลูกสาวนักการทูต

Writer & Photographer

Avatar

นิโรธา จันทร์ดี

ตามบัตรประชาชนเป็น 'คนไทย' โตมาโดยมีประเทศพม่าเป็นพี่เลี้ยงสอนให้เดิน สวิตเซอร์แลนด์เป็นครูสอนมารยาทผู้ดียุโรป เม็กซิโกเป็นเพื่อนเพิ่มความละตินเลือดร้อน และก็ครูคนสุดท้าย ตุรกี ที่สอนให้ปล่อยวาง