หากใครเป็นนักอ่านประจำคอลัมน์ ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปขั้วโลก ที่เล่าเรื่องราวการเดินทางตั้งแต่เหนือจรดใต้ของทวีปอเมริกา คงคุ้นเคยกับชื่อ แอม-เอมิลิญา รัตนพันธ์ นักเขียนสาวประจำคอลัมน์

แอมเป็นสาวนครศรีธรรมราชที่ใฝ่ฝันอยากเรียนภาษา จึงขึ้นมาเรียนและใช้ชีวิตคนเดียวที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เธอเริ่มมีงานแปลภาพยนตร์ภาษาอังกฤษขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 สาขาวรรณคดีและภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นเป็นงานแรกและเป็นงานหลักที่ยังคงทำจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเรียนจบ เธอทำงานที่สถาบันสอนภาษาแห่งหนึ่งโดยได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 6 หลัก และได้เลื่อนตำแหน่งทุกๆ 6 เดือน แม้จะดูก้าวหน้า มีความมั่นคง และเป็นชีวิตในฝันของพนักงานออฟฟิศหลายคน แต่ท้ายที่สุดเธอก็ลาออกด้วยเหตุผลบางประการที่เธอยังคงยึดมั่นจนทุกวันนี้

เมื่ออ่านคอลัมน์ของเธอจนจบ หลายคนคงมีคำถามผุดขึ้นเต็มหัวว่า เธอต้องมีเงินมากขนาดไหน เธอไม่ต้องทำงานหรือ ทำไมจึงมีเวลาไปเที่ยวนานขนาดนั้น 

วีถี อาชีพ Digital Nomad ของสาวไทยผู้มีเป้าหมายเป็นการซ้อนมอ'ไซค์จากอเมริกาเหนือไปอเมริกาใต้

คำตอบที่แท้จริงคือ เธอทำงานอยู่ตลอดเวลา และมีอาชีพเป็น Digital Nomad มาได้ 8 ปีแล้ว เธอรับงานสารพัดอย่างทางอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เธอและอีกหลายล้านคนทั่วโลกต้องการอาจไม่ใช่เป้าหมายระยะยาวอย่างการสร้างครอบครัว สร้างบ้าน และซื้อรถ แต่ต้องการแล็ปท็อปดีๆ สักเครื่อง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เมืองน่าอยู่ที่ค่าครองชีพไม่เเพง และทำงานที่ไหนก็ได้บนโลก เพื่อสร้างเป้าหมายระยะสั้นอย่างการไปขี่รถซ้อนมอเตอร์ไซค์ที่ทวีปอเมริกา 

ฟังดูเหมือนจะง่ายแสนง่ายและน่าอิจฉาเป็นที่สุด แต่เส้นทางนี้ก็มีการแข่งขันสูงใช่หยอกและเดิมพันด้วยความไม่มั่นคงทางการงาน เต็มไปด้วยความกังวลว่าเดือนหน้าฉันจะมีงานอยู่ไหม ทำให้คนรอบตัวอยากให้เธอกลับมาใช้ชีวิตแบบพนักงานบริษัทหรือข้าราชการสักที แท้จริงแล้วเธอคิดเห็นอย่างไรกับอาชีพและการดำเนินชีวิตเช่นนี้ เราจึงอยากชวนแอมมาพูดคุยถึงเส้นทางชีวิตของเธอและการเป็น Digital Nomad ที่เธอกำลังทำ

ทำไมเธอจึงลาอกจากงานที่สุดแสนจะมั่นคงมาเป็น Digital Nomad ที่ไม่มีหลักแหล่งและรายได้ที่แน่นอน

ไม่ใช่ปัจจัยเรื่องเงิน แต่เป็นปัจจัยเรื่องอะไร 

อะไรคือ Digital Nomad และเราจะเข้าไปเป็นหนึ่งในอาชีพนี้ได้อย่างไร

บทสนทนานี้เกิดขึ้นข้ามจังหวัดของไทย ขอบคุณอินเทอร์เน็ตแรงๆ สัญญาณโทรศัพท์ดีๆ ที่ทำให้เราคล้ายกำลังซ้อมเป็น Digital Nomad เช่นเธอ

วีถี อาชีพ Digital Nomad ของสาวไทยผู้มีเป้าหมายเป็นการซ้อนมอ'ไซค์จากอเมริกาเหนือไปอเมริกาใต้

01 

How to be a digital nomad 

Digital Nomad คืออะไร 

คำว่า Nomad มันคือคนที่เร่ร่อนไปเรื่อยๆ พอใช้คำว่า Digital มาขยาย ก็เลยเป็นคนเร่ร่อนที่มีแค่อินเทอร์เน็ตฉันก็ใช้ชีวิตอยู่ได้แล้ว เราอาจจะอยู่ต่างประเทศแต่ทำงานให้คนที่ไทยอยู่ก็ได้ งานที่ทำอาจเป็นงานระยะยาวคล้ายๆ ฟรีเเลนซ์ประจำบริษัท หรือเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางคนไม่เคยเข้าบริษัทเลย หรือบางคนก็เข้าปีละครั้ง

Digital Nomad แตกต่างจากฟรีแลนซ์ยังไง

ส่วนตัวเราว่ามันคือฟรีแลนซ์นะ แต่เป็นวิถีชีวิตที่คนพยายามจะหานิยามมาครอบเฉยๆ อาจซับซ้อนขึ้นตรงที่บางคนไม่ได้รับจ้างทำงาน แต่เป็นเจ้าของกิจการที่บริหารทุกอย่างบนออนไลน์ พนักงานก็จ้างผ่านอินเทอร์เน็ต 

เวลาจะย้ายไปที่ไหนหรือตัดสินใจพักอยู่เมืองไหน เราเลือกจากอะไร

ปัจจัยแรกคือมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมั้ย และสองคือมีที่ให้เรานั่งทำงานในบ้านมั้ย เพราะบางทีเราไม่รู้เลยว่าเที่ยงคืนตีหนึ่งจะมีอีเมลเข้ามาหรือเปล่า จึงจำเป็นที่จะต้องสื่อสารได้ตลอดเวลา

วีถี อาชีพ Digital Nomad ของสาวไทยผู้มีเป้าหมายเป็นการซ้อนมอ'ไซค์จากอเมริกาเหนือไปอเมริกาใต้

ถ้าอยากจะลองใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad บ้าง ต้องเริ่มยังไง

แพลตฟอร์มที่คนในวงการนี้ใช้กันเกือบทั้งโลกคือ Upwork ที่เปิดให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างเข้าไปลงทะเบียน

งานมีทั้งแบบฟรีแลนซ์และระยะยาว ทางเว็บจะให้เรากรอกข้อมูลต่างๆ เช่น ทักษะ การศึกษา ฯลฯ และระบุงานที่สนใจ จะมีการทดสอบทักษะนั้นๆ อย่างสายงานของเราคือการแปล ทุกคนในสายงานจะได้ทดสอบแบบเดียวกันเพื่อมีคะแนนกลางติดโปรไฟล์

ขณะที่ในเว็บไซต์ก็มีบอร์ดที่นายจ้างโพสต์ข้อมูลตามลักษณะงานที่เราแจ้งไว้ตอนแรก เช่น เราเลือกงานเกี่ยวกับภาษาในเมืองไทย ฯลฯ ระบบก็จะแจ้งเตือนมาให้ จากนั้นเราก็เลือกงานดู 

เลือกแล้วได้ทำงานนั้นเลย หรือเขามีวิธีคัดกรองการจ้างงานนั้นยังไง

สมมติไปเจองานแปลหนังสือนิทานหนึ่งเล่ม เราต้องเข้าไปประมูลงานด้วยการเขียนจดหมายบอกชื่อ นามสกุล ประวัติการทำงาน ขอดูหนังสือที่เขาจะแปล เสร็จแล้วก็ส่งราคาที่เราต้องการ ระบุวันที่คาดว่างานจะเสร็จ 

เขาอาจจะให้เราลองแปลหนึ่งประโยค ถ้าเขาพอใจเขาก็เลือกเรา เสร็จแล้วก็โอนเงินที่เราต้องการมาที่เว็บไซต์ เราจะได้เงินก็ต่อเมื่อนายจ้างบอกว่างานดี การันตีให้กับคนจ้างงานว่าลูกจ้างจะไม่สามารถทำงานโง่ๆ มาส่งเธอ แต่เว็บไซต์ก็จะหักเปอร์เซ็นต์จากเราและนายจ้างด้วย

แล้วถ้านายจ้างไม่พอใจงานเราล่ะ เราจะได้เงินไหม

ก็ไม่ได้ แต่เราไม่เคยเจอเพราะเราเลือกงานพอสมควร เราคิดว่ามันไม่ควรต้องเป็นปัญหาทีหลัง

เราทำงานด้วยทัศนคตินี้ตั้งแต่แรก สมัยทำงานบริษัท เจ้านายบอกว่าให้เวลาฝึกสองเดือน เพื่อดูว่าเราดีพอหรือเปล่า เราก็เลยบอกว่า ไม่ใช่ ฉันจะฝึกงานกับเธอ ฉันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นตัวเลือก คุณนั่นแหละเป็นตัวเลือกของฉัน เพราะเป็นเจ้านายฝรั่ง เขาก็บอกว่า เฮ้ย เจ๋งอะ ชอบทัศนคติ

อยากทราบเงินเดือนต่ำสุด-สูงสุดของคุณจากการทำงานรูปแบบนี้

ต่ำสุดคือไม่มีเลย (หัวเราะ) เพราะเราไม่เข้าไปหาเองด้วย ส่วนสูงสุดคือหกหลัก เวลาได้เงินเยอะเลยดีใจได้ไม่นาน ไม่เหมือนงานประจำที่สิ้นเดือนก็เงินเข้า งานนี้เราต้องคิดตลอดว่าถ้าเดือนหน้าไม่มีเงินจะทำยังไง 

นอกจากงานด้านภาษาที่คุณทำอยู่ มีงานแบบไหนอีกบ้าง

จริงๆ มีงานหลากหลายมากมาจากทั่วโลกเลย เช่น งานสอนหนังสือ งานเลี้ยงลูกอยู่บ้าน งานอัดเสียง ขึ้นกับว่าเราจะคลิกเจอตรงไหน แต่ส่วนใหญ่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ สำหรับเรา เราทำงานจับฉ่ายมาก เวลามีใครถามว่าทำอะไร จะตอบแค่ว่าแปลซับ

วีถี อาชีพ Digital Nomad ของสาวไทยผู้มีเป้าหมายเป็นการซ้อนมอ'ไซค์จากอเมริกาเหนือไปอเมริกาใต้

มีงานแปลกๆ ที่เคยทำบ้างไหม

มีเยอะเลย ทั้งแค่ออนไลน์หรือต้องไปตามสถานที่ต่างๆ ตอนเราอยู่เชียงใหม่ เราเคยพาชาวต่างชาติไปจดทะเบียนสมรส เคยเป็นเลขาฯ ล่องลอยให้ชาวต่างชาติ ตั้งแต่ต้นจนจบงานก็ไม่เคยเจอหน้ากัน เขาอาจจะอยากได้คนหาที่พัก ที่เที่ยว หรืออยากให้คนมาช่วยบอกว่าร้านถ่ายเอกสารหรือพรินต์โปรโตไทป์ในเชียงใหม่มีที่ไหนบ้าง แม้กระทั่งเเปลจดหมายขอแต่งงานให้คนไทยก็มี ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเราอยู่กัวเตมาลา

บางงานก็จะให้เงินเรามาซื้อของจากเว็บเขาทุกเดือน แต่เราต้องส่งรหัสสินค้าไปให้เขา ล่าสุดมีฝรั่งคนหนึ่งอยากได้ไกด์นำเที่ยวสองสัปดาห์ แต่ไกด์คนนั้นจะต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปกับเขา โดยที่เขาจะรับผิดชอบรายจ่ายทุกอย่างเอง ก็เข้าทางเราเลย 

คุณบอกว่าเป็นเว็บไซต์ที่คนใช้ทั่วโลก แสดงว่าการเเข่งขันสูงใช่ไหม

สูงนะ งานมันมีขึ้นมาทุกนาที เราประมูลไปยี่สิบงาน แต่อาจจะได้แค่สี่ถึงห้างาน ก็ต้องมาดูอีกว่าเราจะทำไหม เพราะว่านายจ้างก็อาจไม่ได้ให้เงินตามที่เราต้องการ เขาอาจจะต่อรอง แต่คนที่หางานจาก Upwork จะรู้กันว่าเราสู้อินเดียไม่ได้ เพราะเขาทำทุกอย่างด้วยราคาถูกกว่าทุกคน ชนิดที่ซื้อข้าวกินยังไม่ได้เลย บางทีก็ต้องทำใจ 

ขึ้นอยู่กับทักษะการเขียนจดหมายของเรา เราอาจปิดท้ายว่า ฉันรู้ว่าราคาที่เสนอไปให้เธอมันสูง แต่ฉันมั่นใจว่าถ้าเธอจ้างฉัน งานนี้จะไม่มีการแก้ ถ้าแก้ก็จะแก้ให้จนกว่าเธอจะพอใจ แต่ถ้าไปเอางานห้าเหรียญ เธอจะต้องแก้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

อะไรคือข้อดีของการเป็น Digital Nomad 

หนึ่ง คือ ไม่ผูกติดเลย เราจะไปที่ไหนก็ได้ พอเชียงใหม่มีหมอกควันเราก็หนีลงกระบี่เลยโดยไม่ต้องคิดมาก ตอนไปวิ่งมาราธอนที่สุโขทัย เราตั้งใจอยู่แค่สองวัน แต่พอตื่นเช้ามามีงานทำ แล้วเราก็รู้สึกชอบที่นั่นเลยอยู่ต่อเป็นเดือน ทำให้เรารู้สึกว่าเราพร้อมที่จะปรับตัวไปตามสถานการณ์

สอง คือ การทำงานตรงนี้ทำให้เราต้องวางแผนอย่างดี ทั้งเรื่องเงินและเวลา เราเชื่อว่าทุกคนต้องมีแผนระยะยาว แต่สำหรับเราทำงานที่ไม่แน่นอน ก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงบ้าง

แล้วข้อเสียล่ะ 

ข้อเสียคือหาความมั่นคงไม่ได้ แต่เราก็มีคำถามว่าความมั่นคงคืออะไร แม้งานประจำก็ไม่มีความมั่นคงในสภาวะแบบนี้ ถ้ามองในความเป็นจริง ไม่ว่าอะไรก็ไม่มั่นคง ขึ้นอยู่กับการวางแผนจริงๆ 

ข้อเสียอีกข้อหนึ่งก็คือเวลาพักและเวลาทำงานไม่เป็นสัดส่วน ถ้าทำงานประจำ เลิกงานห้าโมงก็เลิกเลย ลาไปเที่ยวก็ปิดโทรศัพท์ได้ แต่งานแบบนี้เวลาเราพักเราจะคิดตลอดว่า ถ้าเอาสองชั่วโมงนี้ไปแปลงานก็ได้เงินนะเนี่ย พยายามคิดว่าอย่าเห็นเงินสำคัญ แต่ในความเป็นจริงถ้าไม่เอาเงิน ในอนาคตถ้าไม่มีงาน แกจะทำยังไง 

จากการทำงานมาหลายปี เทรนด์ของ Digital Nomad เปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

มีคนมากขึ้น เนื้อหาของงานกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทุกอาชีพแทบจะทำผ่านอินเทอร์เน็ตได้ มันประสานงานกันได้แทบจะทุกรูปแบบ แม้กระทั่งการผ่าตัดยังมีการเปิดกล้องปรึกษากันเลย หรือเดี๋ยวนี้ก็มีจิตแพทย์ออนไลน์แล้ว

วีถี อาชีพ Digital Nomad ของสาวไทยผู้มีเป้าหมายเป็นการซ้อนมอ'ไซค์จากอเมริกาเหนือไปอเมริกาใต้

02 

Life as a digital nomad

แล้วตอนนี้คุณอยู่ที่ไหน

ก่อนหน้านี้อยู่เชียงใหม่เป็นหลัก แต่เพราะตอนนี้เชียงใหม่มีฝุ่นเยอะ เราก็เลยย้ายมาอยู่กระบี่ เมื่อวานเพิ่งขอเช่าคอนโดต่ออีกหนึ่งเดือน เพราะสถานการณ์ที่เชียงใหม่ยังไม่ดีขึ้น 

ก่อนมาเป็น Digital Nomad คุณทำอาชีพอะไรมาก่อน

เรายังทำงานแปลซับที่เคยทำมาตั้งแต่ปีหนึ่งอยู่ตลอด แต่จบมาแล้วก็ทำงานที่สถาบันสอนภาษา เริ่มจากงานเซลล์ ไปเป็นฝ่ายบริการ อาจารย์ช่วยสอน แล้วก็ไปเป็นเทรนเนอร์ ตำแหน่งละประมาณหกเดือน

จุดนั้นทำให้เราเริ่มเห็นว่า เฮ้ย จริงๆ แล้วเราทำอะไรที่ไม่ตรงสายที่จบมาได้นะ มันแล้วแต่ว่าคุณจะรับหรือเปล่าแค่นั้น มันเปิดมุมมองใหม่ๆ และทำให้เราได้ทักษะการบริหารจัดการ การสื่อสาร จนทุกวันนี้

แล้วทำไมถึงออกจากงานล่ะ ทั้งๆ ที่ก็ดูไปได้สวย 

มันมีจุดเปลี่ยนหลายอย่างมาก อย่างแรกคือตอนที่เราเป็นเซลล์ เราได้เงินเยอะมากในฐานะเด็กจบใหม่ จังหวะที่มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติขึ้นมา เราอยากไปมาก แต่หัวหน้าบอกว่าเซลที่ไหนเขาลากันตอนปิดยอด ตอนนั้นเกิดความสว่างขึ้นมาในหัวว่า เราทำงานขนาดนี้ มีเงินขนาดนี้ แต่ทำไมเราใช้เงินไม่ได้วะ

พอมองย้อนกลับไปก็พบว่า ตลอดหกเดือนที่ผ่านมา เราไม่มีเวลาไปกินข้าวกับเพื่อน เราไม่เจอคนในครอบครัว เที่ยงคืนตีหนึ่งหรือวันหยุด ถ้าลูกค้าโทรมาเราก็ยังขายของ ตอนนั้นจะลาออก หัวหน้าเลยให้เปลี่ยนตำแหน่งงาน 

จุดเปลี่ยนที่สองอยู่ในช่วงที่เพื่อนมาชวนไป Work and Travel ที่ออสเตรเลีย เราติดแต่ไม่คิดว่าจะไป เพราะกำลังจะเลื่อนตำแหน่งไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขา ไม่รู้จะไปเริ่มใหม่เพื่ออะไร เพราะชีวิตตอนนั้นมันก็มั่นคงดีอยู่แล้ว แต่ด้วยตัวโครงการมีตรวจสุขภาพ เราพบว่าเราเป็นโรคหัวใจ เขาบอกว่าโรคนี้พบมากในเด็กทารกและควรผ่าตัดตั้งแต่สองปีแรก ถ้าผ่าตัดตอนนั้นที่เราอายุยี่สิบห้า เราอาจจะช็อกตายได้ 

ตอนนั้นก็ตาสว่างขึ้นมาอีกรอบว่า อ้าว ตกลงจะตายแล้วหรอวะ มันไม่เหมือนในหนังที่คุณหมอบอกว่า คุณทำใจนะครับ เขาบอกว่าให้เวลาไม่เกินสองปี เราก็ตีความว่ามันแปลว่าอะไร แกจะตายแล้ว แกยังไม่ได้ไปทำโน่นทำนี่ ฉันยังไม่ได้ทำอะไรเลย ฉันจะตายไม่ได้

สุดท้ายพอผ่าตัดได้ก็เลยลาออก ไปตายเอาดาบหน้าที่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการลาออกที่ทุกคนรอบตัวเข้าใจและเราก็ไม่ได้มีปัญหากับที่บริษัท แต่เพราะความกลัวตาย 

แล้วคุณเริ่มทำงานเป็น Digital Nomad เต็มตัวตอนไหน 

ตอนย้ายมาอยู่เชียงใหม่หลังจากทำงานที่ออสเตรเลียหนึ่งปี เราย้ายไปอยู่เชียงใหม่เพราะมันน่าอยู่และค่าครองชีพถูกกว่ากรุงเทพฯ ช่วงนั้นบริษัทเก่ามาเปิดสาขาที่เชียงใหม่ เราก็ไปช่วยเทรนด์พนักงานเป็นวันๆ เลยมองเห็นว่า ไม่ต้องทำงานประจำก็ได้นะ แค่รับงานแปลมากขึ้น เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เรามาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว 

ด้วยความที่แฟนเป็นชาวต่างชาติที่เป็น Digital Nomad เหมือนกัน ทำให้เราได้รู้จักคนทำอาชีพนี้อีกเยอะมาก และที่เชียงใหม่จะมีคอมมูนิตี้ของอาชีพนี้ มีการจัดงานประจำปี คนวงการนี้เชื่อว่าทุกคนมีทักษะที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องรู้จักและรวมกลุ่มกันเข้าไว้ เขาจะแนะนำเราต่อให้คนอื่นไปเรื่อยๆ 

วีถี  อาชีพ Digital Nomad ของสาวไทยผู้มีเป้าหมายเป็นการซ้อนมอ'ไซค์จากอเมริกาเหนือไปอเมริกาใต้

พอมาเป็น Digital Nomad เต็มตัวแล้ว คุณจัดการเวลายังไง

เวลาการทำงานแต่ละปีจะอิงจากแผนการเดินทางว่าต้องไปไหนบ้าง แต่จริงๆ คือแล้วแต่โอกาส ถ้างานที่เข้ามาเป็นเงินก้อนใหญ่เราก็ต้องรับไว้ก่อน แต่กฎเหล็กของเราคือ ในหนึ่งสัปดาห์ต้องมีวันหยุดสองวัน เพื่อให้เราได้พักสมอง 

เราเรียนรู้การจัดการเวลามาจากแฟน เราจะต้องวางแผนว่าในทุกๆ ชั่วโมงต้องทำอะไรบ้างและจับเวลา เราจึงติดนิสัยปิดโทรศัพท์มือถือเวลาทำงาน และจะไม่คุยกับใคร

ขณะที่ทุกคนตั้งคำถามกับการ Work from home แต่พวกคุณทำงานได้ทุกที่ คุณคิดว่ามันมีประสิทธิภาพไหม

เราว่ามันมีประสิทธิภาพได้ แต่ขึ้นกับบุคคลว่ารู้จักจัดการมั้ย ไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานที่บริษัทแล้วจะมีประสิทธิภาพ เราก็รู้ตัวกันดีว่าการไปทำงานหนึ่งวัน อาจจะไม่ได้อะไรเลยด้วยซ้ำ 

แต่ก็ขึ้นกับบริษัทด้วยว่าเขาอำนวยความสะดวกให้เราแค่ไหน เขาบอกวิธีการเรามั้ย ไม่ใช่การที่เรานั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดแปดชั่วโมง แต่เขาก็ต้องบอกเรามาสิว่าเขาต้องการอะไรในวันนี้

ช่วงนี้หลายคนมีปัญหาเมื่อต้องทำงานที่บ้าน ทุกคนจะเข้ามารบกวนเวลาทำงาน วิธีของเรากับแฟนคือการใส่เฮดโฟน เป็นสัญญาณว่าห้ามรบกวน ทำงานอยู่นะ ถ้ารีบให้เขียนข้อความแปะตู้เย็น ถ้าเรามีเวลาเราจะไปอ่าน มันไม่ได้ช่วยแค่เรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง แต่ช่วยเรื่องความสัมพันธ์ด้วย

แล้วคุณจัดการกับความเครียดจากการทำงานยังไงบ้าง

มีขึ้นลงเป็นธรรมดาเหมือนงานประจำ มีปัจจัยหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ เจอลูกค้าที่เข้าใจก็ถือว่าโชคดี ลูกค้าไม่โอเค ก็ต้องอดทน ทนไม่ไหวก็บอกลากันไป 

อย่างแรกต้องดูก่อนว่าดาวน์เพราะเรื่องอะไร เรื่องส่วนตัวหรือเพราะงานชิ้นไหน ถ้าเป็นเรื่องงาน ถ้ามีงานอยู่ในมือสี่งานจากนายจ้างคนละแห่ง ถ้าเราเครียดกับงานไหนเป็นพิเศษจนมีผลกระทบกับงานชิ้นอื่นๆ เราจะเริ่มตั้งคำถามว่า เราไม่เก่งพอเพราะมันไม่ใช่สายงานโดยตรงหรือเปล่า และมันคุ้มค่าไหมที่จะมานั่งเครียดแบบนี้ ถ้าไม่โอเคก็จะคุยกับลูกค้าเพื่อลองปรับ หรือถ้าลองแล้วไม่ดีขึ้นก็ต้องถอนตัวจากงานนั้น เพื่อเอาพลังไปทำโปรเจกต์อื่นในมือ เรารู้สึกว่าถ้าเราไม่โกหกตัวเอง มันมีผลดีมากกว่าผลเสีย ทั้งฝั่งลูกค้าและฝั่งเรา หรือถ้าบางครั้งเหตุมาจากการหักโหมทำงาน เราจะบังคับให้ตัวเองมีวันหยุด เช็กอีเมลถึงแค่ แปดโมงเช้า แล้วออฟไลน์ไปหาอะไรทำ 

วีถี Digital Nomad ของสาวไทยผู้มีเป้าหมายเป็นการซ้อนมอ'ไซค์จากอเมริกาเหนือไปอเมริกาใต้

การทำงานบริษัททำให้ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แล้วการเป็นเจ้านายตัวเองต้องพัฒนายังไง

บางครั้งก็ต้องบังคับตัวเองให้รับงานที่ท้าทายบ้าง ดูงานที่เราไม่แน่ใจว่าเราจะทำได้ ต้องลองกระโดดลงไปก่อน เราใช้วิธีบอกกับลูกค้าตรงๆ ว่าเรามีประสบการณ์ตรงนี้แล้วตรงไหนที่เราไม่มีแต่พร้อมเรียนรู้ถ้าเขาพร้อมจะสอนเรา

อย่างที่บอกว่าบางเดือนอาจจะไม่มีเงิน แล้วคุณบริหารจัดการเงินยังไง

เราใช้วิธีแยกบัญชี มีบัญชีเงินเก็บ บัญชีเที่ยว บัญชีฉุกเฉิน และบัญชีใช้จ่าย ถ้าเราได้เงินก้อนหนึ่งมา เราต้องมองแล้วว่าครึ่งหนึ่งต้องอยู่ในเงินเก็บและฉุกเฉิน 

เวลาเก็บเงินเราก็มีเป้าหมายนะ อย่างคนอื่นอาจจะเป็นเป้าหมายระยะยาว แต่ของเราเป็นระยะสั้น พยายามสร้างเป้าหมายสั้นๆ ให้ตัวเองเพื่อให้มีแรงทำงาน ล่าสุดคือเก็บเงินไปออกทริปขับรถตู้เพื่อเที่ยวอเมริกาอีกรอบหนึ่ง 

ตอนทำงานประจำจะมีสวัสดิการพนักงาน แล้ว Digital Nomad จำเป็นต้องมีไหม

เราคิดถึงสวัสดิการพนักงานเหมือนกัน พอเงินเดือนออกเขาก็หักไปเป็นค่าประกันสังคม และประกันกลุ่ม ได้เงินเดือนมาโดยไม่รู้สึกอะไร เห็นประโยชน์ตอนผ่าตัดหัวใจที่เสียเป็นล้านแต่เราจ่ายแค่สองแสน ถ้าไม่งั้นคงไม่ได้ผ่าตัดแน่ๆ

ตอนนี้เลยทำประกันส่วนบุคคลเพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าฉันเข้าโรงพยาบาลฉันก็จะเข้าได้โดยที่ไม่ต้องกังวล

คุณโหยหาเพื่อนร่วมงานบ้างไหม เพราะงานของคุณแทบไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับใครเลย

เราคิดถึงนะ ตอนทำงานประจำ เราพบเจอคนเยอะมากและสนุกกับการเจอคนใหม่ๆ การมาทำงานแบบนี้ ถ้าไม่ใช่งานที่ต้องไปเจอใคร ก็ไม่เจอใครเลยจริงๆ ทำให้เราคิดถึงเวลาที่เรามีเพื่อนคุย 

สำหรับหลายคน การมาทำฟรีเเลนซ์คือเบื่องานประจำแล้ว แต่เราไม่มีมุมนั้นนะ ถ้ามีโอกาสก็ยังอยากทำอยู่ แต่ก็ต้องเปรียบเทียบว่าเราให้ความสำคัญกับอะไร เรายังชอบการเดินทางอยู่ เราจึงกลับไปทำงานประจำไม่ได้

วีถี Digital Nomad ของสาวไทยผู้มีเป้าหมายเป็นการซ้อนมอ'ไซค์จากอเมริกาเหนือไปอเมริกาใต้
วีถี Digital Nomad ของสาวไทยผู้มีเป้าหมายเป็นการซ้อนมอ'ไซค์จากอเมริกาเหนือไปอเมริกาใต้

03

To infinity happy and beyond

การที่คุณย้ายที่อยู่บ่อยๆ คุณไม่รู้สึกแสวงหา Comfort Place บ้างเหรอ

เราอยากได้นะ เคยคุยกับแฟนว่าเราคิดถึงความเรียบง่ายของการอยู่ที่ตรงไหนนานๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับหนังสือ ตอนเราอยู่กรุงเทพฯ เราเคยเข้าไปในร้านหนังสือแล้วรู้ว่าหนังสือประเภทนี้มันอยู่บนตู้ไหน มีหนังสือใหม่มาก็รู้เพราะเราเห็นหนังสือเล่มเดิมเกือบทุกวัน 

เวลาเราไปเมืองใหม่ๆ เราชอบไปร้านหนังสือ แต่มันจะรู้สึกเหงาเพราะเดินเข้าไปแล้วไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงไหน เราอยากอยู่ในเมืองที่รู้ว่าวันนี้ร้านมีหนังสือใหม่เพราะเราเห็นหนังสือมาทั้งร้านแล้ว แต่เราซื้อหนังสือไม่ได้ ให้ชอบแค่ไหนก็ซื้อไม่ได้ เพราะไม่มีที่เก็บ เหมือนคนโรคจิตไปดมๆ กลิ่นหนังสือแล้วจดชื่อซื้อออนไลน์ ถ้าไม่มีก็ซื้อแล้วส่งไปที่บ้านหรือเอาไว้ที่พัก หรือก็ตัดใจไม่ซื้อ

แสดงว่าการเป็น Digital Nomad ทำให้คุณประหยัดเงินมากขึ้น เพราะมีของมากไม่ได้

เรามีของมากไม่ได้ แต่ก็ไม่ประหยัดนะ (หัวเราะ) เพราะเราก็ต้องมาลงทุนค่าโทรศัพท์ กระเป๋าเดินทางดีๆ ตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก หรืออย่างตั้งใจจะไปปั่นจักรยานที่ต่างประเทศก็ต้องเสียเงินซื้อจักรยานแพงๆ 

ทำงานในวงการนี้มาหลายปีแล้ว คุณรู้สึกว่าถึงจุดอิ่มตัวบางมั้ย

มันมีความอยากอยู่เฉยๆ นะ ตอนนี้เริ่มมีจุดหักเหใหม่ คืออยากทำขนม อยากเปิดร้านกาแฟ ประมาณสองถึงสามปีหลังมานี้ เราเริ่มมองคนที่เขาทำธุรกิจแนวนี้ เช่น เปิดร้านเบเกอรี่เล็กๆ ที่ห่างไกลประชาชนและทำเท่าที่พอจะทำได้

ในเรื่องความสัมพันธ์ แฟนคุณรู้สึกแบบเดียวกันไหม

รายนี้เขาไม่ชอบอยู่กับที่ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยพูดเรื่อง ‘อิ่มตัว’ น่าจะเป็นที่นิสัยและทัศนคติส่วนตัวด้วย เพราะเขาชอบเดินทาง ชอบการผจญภัย อยู่นิ่งนานๆ ไม่ได้ ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนต้นไม้ ถ้าไม่โดนแดดแล้วจะเหี่ยวเฉา เขาเป็นแบบนั้นจริงๆ ในหนึ่งวันต้องออกไปเจอแดด สูดอากาศข้างนอก ทำให้เขาไม่เหมาะกับการทำงานประจำหรือการอยู่กับที่นานๆ 

ทุกวันนี้ความฝันของเขาคือการเดินทางบนพื้นดินและน้ำให้ครบทั่วทุกทวีป ปัจจุบันยังเหลือทวีปออสเตรเลียและยุโรปที่ยังไปไม่ทั่ว และฝันว่าอยากไปใช้ชีวิตล่องเรือข้ามมหาสมุทรสักสองถึงสามปี เราเคยคิดว่า ถ้าเราสองคนเดินทางกันทั่วทวีปอเมริกาแล้วจะจบ แต่เปล่าเลย (หัวเราะ) กลายเป็นแรงผลักดันว่า เฮ้ย นี่ไง เราทำได้ เราควรไปต่อ

วีถี Digital Nomad ของสาวไทยผู้มีเป้าหมายเป็นการซ้อนมอ'ไซค์จากอเมริกาเหนือไปอเมริกาใต้

คุณเคยคิดเรื่องสร้างครอบครัวบ้างไหม การเป็น Digital Nomad ที่เดินทางไปเรื่อยๆ นั้นเหมาะกับการมีครอบครัวหรือเปล่า

เคยปรึกษากันเรื่องสร้างครอบครัวเหมือนกันค่ะ คิดไว้ว่าถ้าเรามีลูก คงจะต้องอยู่กับที่สักพัก แต่หลังจากนั้นก็จะเดินทางกันต่ออยู่ดี เพราะเรามีเพื่อนรอบตัวที่ใช้ชีวิตแบบนี้หลายคน บางคนลูกสอง ก็ยังขับรถตู้ข้ามทวีปกันอยู่เลย มีครอบครัวหนึ่งที่รู้จักโดยบังเอิญที่เม็กซิโก ทั้งสองคนเป็น Digital Nomad พ่อเป็นโปรแกรมเมอร์ แม่เป็นครูสอนโยคะออนไลน์ เขาคลอดลูกสามคนบนเรือ เด็กๆ เรียน Home School เลี้ยงแมวบนเรือด้วยหนึ่งตัว นี่เป็นวิถีชีวิตเขาเลย

สำหรับเรา เราคงไม่ต้องเคลื่อนย้ายตลอดเวลาขนาดเขา แต่ใช้ชีวิตแบบตรงกลาง อาจมีที่อยู่ในหลายๆ เมือง แล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละที่เป็นช่วงๆ อาจจะหนึ่งถึงสองปีแล้วก็ย้าย เช่น เม็กซิโกซิตี้ แอนทีกัวของกัวเตมาลา เมเดยิน โบโกตา ของโคลอมเบีย กีโต เกวงกาของเอกวาดอร์ ฯลฯ เมืองเหล่านี้ติดอับดับเมืองยอดนิยมของกลุ่ม Digital Nomad เพราะค่าครองชีพต่ำ มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บรรยากาศดี มีร้านกาแฟ 

การเป็น Digital Nomad ทำให้คุณเสียโอกาสบางอย่างในชีวิตไปหรือเปล่า

ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร เราเป็นคนที่คิดเยอะ ตั้งแต่เด็ก เราจะคิดมาตลอดว่าถ้าทำอะไรแล้วจะไม่มองไปข้างหลัง ต้องคิดมาอย่างดีว่าถ้าแกไม่ได้เป็นแบบนั้น แกจะเสียใจไหม เพราะฉะนั้น เป็นคนที่ถ้าตัดสินใจแล้วเราก็จะไม่ไปถามคนอื่นว่าฉันทำยังไงดีแก ถ้ามันจะผิด ถ้ามันจะพลาด จะได้ไม่โทษใคร

ก็แค่มองไปว่าตอนนั้น ที่เราตัดสินใจแบบนั้นเพราะเราเป็นคนแบบนั้น อย่างถ้าเราเป็นเซลล์ต่อไปเรื่อยๆ เราอาจจะมีเงินหลายล้าน เสวยสุขไปแล้วก็ได้ เพียงแต่ว่าเรามีความสุขกับตอนนี้ 

เราเชื่อเสมอว่าเราจะไม่ได้ทำตรงนี้ ถ้าเราไม่ตัดสินใจตรงนั้น ความสุขมันคือปัจจุบัน ไม่ว่าตอนนั้นจะตัดสินใจอะไรมาก็ตาม มันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมองว่าโอกาสอะไรที่เราเสียไป

แล้วคุณคิดเห็นยังไงกับการที่มีคนบอกว่างานแบบนี้ไม่มั่นคง

พ่อแม่ก็จะบอกว่า แกจะทำแบบนี้ไปจนตายหรือ ไม่มีความมั่นคงเลย เพื่อนก็ถามว่ามึงไม่อยู่ที่ไหนเลยหรอวะ หลังๆ พอเขาเห็นเราทำมาหลายปีแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไรเขาก็โอเค 

มันอาจจะดูน้ำเน่า บางคนอาจจะหมั่นไส้แต่มันเป็นความจริง เรามองว่าความสุขของเราอยู่ตรงไหนมากกว่า เรามีความสุขที่เราไม่มีภาระหรือหนี้ให้ต้องจ่าย เราคิดว่าบางทีความมั่นคงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรามองหา

อย่างที่บอกว่าเรื่องความมั่นคงมันเปลี่ยนไปตั้งแต่เป็นโรคหัวใจ คำถามที่ขึ้นมาตอนนั้นมันไม่มีเรื่องของงานเลย ทุกวันนี้เลยคิดแต่ว่า เราจะใช้ชีวิตยังไงให้แม้ว่าพรุ่งนี้รู้ว่าจะตายก็โอเคแล้ว จะไม่มีความเสียดายที่ไม่ได้ทำ

วีถี Digital Nomad ของสาวไทยผู้มีเป้าหมายเป็นการซ้อนมอ'ไซค์จากอเมริกาเหนือไปอเมริกาใต้

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้