หากวันนั้นเด็กหญิงวัย 12 ขวบ ไม่ได้อยากมีกางเกงยีนส์ตัวใหม่ จนตกปากรับคำชวนของ ภิญโญ รู้ธรรม บางทีวันนี้เมืองไทยอาจไม่ได้มีพิธีกรแถวหน้าที่ชื่อ ไดอาน่า จงจินตนาการ ก็เป็นได้

เพราะจากหน้าที่เล็กๆ ในรายการ ทีนทอล์ก เมื่อ พ.ศ. 2537 เธอค่อยๆ พัฒนาตนเองจนกลายมาเป็นพิธีกรมืออาชีพที่ทุกคนยอมรับในความสามารถ ยืนยันได้จากงานอีเวนต์นับร้อยที่ต่างไว้วางใจให้เธอเป็นผู้ดำเนินรายการ ไปจนถึงเรียลลิตี้อาหารชื่อดัง อย่าง เชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย (Iron Chef Thailand) และ The Next Iron Chef ศึกค้นหาเชฟกระทะเหล็ก ทางช่อง 7HD ซึ่งไดอาน่ารับหน้าที่พิธีกรหลัก ต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 การทำหน้าที่ของเธอ คือหนึ่งในส่วนผสมที่ทำให้รายการนี้ออกมาเข้มข้นโดนใจผู้ชม

แน่นอน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มาจากการสั่งสมประสบการณ์และทำงานหนัก เตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะมีสคริปต์หรือด้นสด หรือให้เป็นพิธีกรแบบไหน ไดอาน่าจัดให้ได้หมด 

เราได้รับโอกาสดีให้เชิญชวนพิธีกรคนเก่งมาร่วมพูดคุย ถึงเรื่องราวการทำงานตลอด 27 ปี จนถึงการปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนไปทั้งในวงการสื่อและโรคระบาด

เพราะสำหรับเธอแล้ว งานพิธีกรไม่ใช่แค่อาชีพ แต่คือนิสัยที่ซึมลึกเข้าสู่สายเลือดไปเรียบร้อยแล้วต่างหาก

ชีวิตทุ่มเกินร้อยของ ไดอาน่า จงจินตนาการ ผู้ที่เกิดชาติหน้าขอมีไมโครโฟนออกมาจากมือ

อะไรทำให้คุณยืนระยะในวงการพิธีกรได้นานถึง 27 ปี

จริงๆ ต้องเป็นคนอื่นพูดนะ แต่ถ้าให้มองตัวเองอาจเป็นเพราะเราตั้งใจทำงานมาก ถึงมากที่สุด จะมีคติว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ดังนั้น ทุกครั้งไม่ว่าทำอะไรก็แล้วแต่ จะต้องเกินร้อยเสมอ ตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้

ถ้ามองจากวันแรกถือว่าเปลี่ยนแปลงไปเยอะไหม

เปลี่ยนเยอะมาก เหมือนกับเราอยู่มาข้ามยุค ตั้งแต่ยุคที่คนเป็นนักแสดงหรือนักร้องต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ทำตัวเป็นข่าวเยอะ ต้องไม่มีกระแสอะไรมากมาย แต่ใช้ผลงานนำเพื่อให้คนติดตามเรา แล้วพอข้ามมาอีกยุคหนึ่ง ก็จะเป็นยุคที่มีกอสซิป ดาราก็จะเริ่ม เอ๊ะ! เราต้องทำตัวยังไง ตอนนี้เหมือนจะมาอีกยุคหนึ่ง ที่ทุกคนต้องมีคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียตลอดเวลา มันเลยเหมือนกับว่า ถ้าเรายังเป็นตัวเราเองตอนอายุสิบสี่ ก็คงไม่สามารถอยู่ในวงการได้แล้ว

จุดไหนที่คุณรู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงเยอะสุด

แกนหลักของการทำงานยังเหมือนเดิม คือตั้งใจทำงาน ตรงต่อเวลา ตีโจทย์ที่ได้รับ ทำออกมาให้ดีที่สุดในทุกๆ ครั้ง แต่ช่วงหลังๆ พอเป็นยุคที่สื่อไม่ได้ซีเรียสมากเหมือนสมัยก่อน ทำให้บางครั้งต้องทอนความเป็น Perfectionism ลง จากเดิมที่งานทุกอย่างต้องเนี้ยบ แต่เดี๋ยวนี้เหมือนเราต้องไม่เนี้ยบมาก แต่ต้องอิมโพรไวซ์เยอะขึ้น เพราะสื่อทุกวันนี้ชอบความสด ความเป็นธรรมชาติ ความเรียลแบบไม่เซ็ต บางทีก็ต้องดูว่างานวันนี้เป็นอะไร ซึ่งตัวช่วยหนึ่งก็คือ Repertoire คล้ายๆ เป็นห้องสมุดของเรา อย่างตอนเด็กๆ เราทำแต่รายการวัยรุ่น พอโตขึ้น รับงานที่หลากหลายขึ้น เท่ากับว่าเรามี Repertoire ของวิธีการการทำงานที่หลากหลายตามไปด้วย เราคุยกับตัวเองก่อนทำงานว่าวันนี้จะหยิบเล่มไหนออกมาใช้ แล้วมาผสมกับเล่มไหนจึงจะออกมาดีที่สุด

แสดงว่าเวลารับงานแต่ละครั้งต้องตีโจทย์ให้ชัดเจนก่อน

ไม่ค่ะ ต้องถามก่อนว่าได้เงินเท่าไหร่ (หัวเราะ) สมมติถ้าเขาให้เงินเราเยอะ ให้ปรับอะไรก็ทำได้หมด เมื่อรับมาแล้ว เราต้องเข้าไปที่แกนก่อนว่า งานนี้เพื่ออะไร เพราะแต่ละรายการธรรมชาติไม่เหมือนกัน ถ้ายังอยากจะอยู่ในวงการนี้ ต้องปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ เราต้องทำตัวเหมือนน้ำ จะเป็นบิงซูก็ได้ เป็นน้ำแข็งไสปกติก็ได้ เป็นน้ำแข็งก้อนก็ได้ เป็นไอน้ำก็ได้ เแล้วแต่ว่างานที่ได้รับมาเป็นยังไง

ชีวิตทุ่มเกินร้อยของ ไดอาน่า จงจินตนาการ ผู้ที่เกิดชาติหน้าขอมีไมโครโฟนออกมาจากมือ

เมื่อต้องปรับตัวเองตลอดเวลา เคยรู้สึกว่าอยู่ยากขึ้นบ้างไหม

ไม่รู้สึกว่าอยู่ยาก แต่รู้สึกว่ามันง่ายขึ้น แปลกไหม คือปกติเวลาได้รับมอบหมายงาน เราจะซีเรียสมาก เพราะส่วนใหญ่มักเป็นงานใหญ่ เช่น งานเลี้ยงประจำปีของบริษัทในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลูกค้ามาจากทุกประเทศทั่วโลก บางงานลูกค้าให้จำชื่อของผู้บริหารหรือผู้นำของแต่ละประเทศ เราก็ต้องเป๊ะ 

อย่างเรื่องหนึ่งที่ทำมาตลอดคือ เปิด Google ดูสามปีให้หลังว่า เขาทำอะไรมาบ้าง สมมติงานมีวันศุกร์ ตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ทุกคืนก่อนนอนก็จะนั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรหรืองานนั้น แต่พอมันเปลี่ยนไป เรารับงานที่อลังการไม่ได้ตลอดเวลา บางทีก็ต้องไปแบบสมองโล่ง เพื่อจะว่ากันตามสถานการณ์ ถ้าเราคิดมาก่อน มันจะดูเซ็ต 

อย่างตอนมาทำรายการอาหาร คุณมีวิธีจัดการอย่างไรบ้าง

สิ่งที่ต้องจำคือคีย์เวิร์ดและสคริปต์ที่ต้องเป๊ะ เช่น วัตถุดิบปริศนาของเราในวันนี้ เป็นปลาจากท้องทะเลลึกหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ในทะเลตะวันออก แต่พอลงไปเล่นในเกมปุ๊บ เรามีหน้าที่เป็นเหมือนวัตถุดิบให้เจ้าของรายการปรุงออกมาแล้วได้ตามรสชาติของเขา มันก็เลยเหมือนง่ายขึ้น เพราะว่าเราก็แค่เป็นตัวเอง แล้วเราก็มี Repertoire ส่วนตัวอยู่แล้ว จะเอาอะไรบอก 

อย่างครั้งแรกๆ ที่ไป เชฟกระทะเหล็กฯ คือช่วงปีแรกของรายการเลย เขาเชิญไปเป็น Commentator ซึ่งส่วนมากจะให้ไปชิมอาหารจีนหรืออาหารญี่ปุ่น คุณหนุ่ม-กิติกร เพ็ญโรจน์ (เจ้าของรายการ) อาจคิดว่าหน้าตาอย่างนี้ คงเป็นผู้เชี่ยวชาญแน่เลย ซึ่งก็ไม่พลาด เพราะถ้าเป็นอาหารจีนกวางตุ้ง มั่นใจว่าองค์ความรู้จากที่บ้านไม่แพ้ใคร เนื่องจากคุณปู่เป็นหมอแมะ อาหารทุกอย่างที่ทานกันต้องดูว่าเป็นฤดูอะไร ร้อน ร้อนชื้น ร้อนแห้ง ฝน หรือสมุนไพรที่จะมาผสมกับการนึ่งปลา ผัดผัก มีอะไรบ้าง 

ต่อมาเมื่อเขาติดต่อให้เป็นพิธีกร ซึ่งต่างจากตอนเป็นกรรมการที่รู้แค่อาหารจีนก็คอมเมนต์ได้ ถามว่าเราจะ Google อะไรก่อนดี เพราะพอเป็นอาหาร แล้วเป็น World Cuisine เท่ากับว่าเราต้องคุยเรื่องอาหารของแต่ละประเทศ จำได้ว่าแรกๆ เครียดมาก เนื่องจากเป็นคนทำงานที่ต้องเตรียมตัวเกินร้อยเสมอ หากบางทีเกิดเดธแอร์ขึ้นมา จะได้รู้ว่าควรอิมโพรไวซ์อะไร ดังนั้นสิ่งที่เราทำก็คือ เปิด YouTube ดู Iron Chef ของทุกประเทศ ทุกซีซั่นย้อนหลัง มีเพื่อนเรียน Cordon Bleu ก็ไปขอตำราเขามาเปิดอ่านว่า วิธีการหั่นมีกี่ประเภท เรียกว่าอะไรบ้าง การตุ๋นของแต่ละประเทศ เรียกว่าอะไร วัตถุดิบของแต่ละประเทศ เครื่องเทศของอินเดียกับของไทยต่างกันยังไง

พอศึกษาไปเรื่อยๆ มันก็ยิ่งสนุก เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ อย่าง Ketchup หลายคนไม่ทราบว่ามาจากฮ่องกง คือเดิมทีเขาเรียกว่า แขจั๊บ แล้วด้วยความที่ฮ่องกงเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แขจั๊บก็เลยไปแพร่ต่อที่อังกฤษ กลายเป็น Ketchup มันคือองค์ความรู้เล็กๆ น้อยๆ

ที่สำคัญ รายการนี้ถ่ายโหดนะคะ ตื่นออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้า แล้วกลับมาถึงบ้านก็คือตีห้าเหมือนกัน เพราะวันหนึ่งเราถ่ายสี่เทป ซึ่งถ้าคนที่ไม่มีแพสชัน ไปอยู่ตรงนั้นจะไม่มีความสุขเลย แต่นี่คือนั่งอยู่แล้วดูว่าเชฟทำอะไร ใส่อะไร เสร็จปุ๊บกลับบ้าน ซื้อตามแล้วไปทำ บางทีเราก็ถามพี่ๆ ว่า นี่ทำยังไง เขาก็จะบอกมา เช่น พาสตาต้อง Rest แป้งกี่นาที ทำไมพี่ทำแค่เจ็ดถึงแปดนาที แล้วเอาออกมาได้ เล่าให้หนูฟังซิ โอเค หนูกลับบ้านไปลอง เวลามีเพื่อนมาแทนที่เราจะสั่งเดลิเวอรี่ วันนี้บ้านฉันเสิร์ฟเป็นเส้นพาสตาสดนะคะ

พูดง่ายๆ คือ จาก Preparation มันกลายเป็น Passion แล้วทุกวันนี้ก็ยังสนุกอยู่ แม้วันต่อมาจะหมดแรงทุกครั้ง เพราะเราต้องตื่นตัวตลอดเวลาเกือบยี่สิบสี่ชั่วโมง แต่ Mindset ทุกครั้งที่รู้ว่าพรุ่งนี้ ถ่ายกระทะเหล็กฯ ก็คือ ไม่ได้คิดว่านี่เป็นงาน แต่เป็นวันที่เราได้ไปเรียนรู้ ได้ไปเล่นอะไรต่างหาก

ความน่าสนใจของ เชฟกระทะเหล็กฯ คือความกดดัน คุณมีวิธีสร้างบรรยากาศอย่างไรโดยยังคงความสนุกไว้ได้

ถ้าเป็นรายการ Iron Chef ปกติก็จะเป็นไปตามกลไก ตามวิธีของเขา เขามีฟอร์แมตอยู่แล้ว เราก็แค่เข้าไปถามเพื่อให้คนดูรู้ว่ามันคืออะไร แต่ถ้าเป็น The Next Iron Chef เครียดมาก (ลากเสียง) ยิ่งซีซั่นแรกเครียดจนไม่รู้จะพูดยังไง เวลาท่องสคริปต์ไม่คุยกับใครเลย ขอโซนส่วนตัว คือต้องบอกก่อนว่า คุณกิติกร เพ็ญโรจน์ เป็นคนที่งานเป๊ะแบบเกินร้อย แล้วทุกคนมีฟังก์ชันของตัวเองในกอง ถ้าเขาจะต้องเทกเพราะเราจำสคริปต์ไม่ได้ ถือเป็นเรื่องใหญ่หลวงมาก

ที่สำคัญ มันไม่ได้เหมือนรายการปกติที่จะพูดอะไรก็ได้ บางทีเปิดวัตถุดิบขึ้นมา ตับ ม้าม ไต อะไรๆ เราก็ต้องพูด แล้วมันจะมีช่วงประมูลวัตถุดิบ ช่วงนี้แหละที่ต้องเล่นกับอารมณ์ของความกดดัน เราจะต้องทำให้ทุกคนมาเล่นอยู่ในเกม เพราะฉะนั้น สายตา ท่าทาง การวรรค ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะได้รับการชี้นำจากผู้กำกับเสมอ นั่นก็คือพี่หนุ่ม ซึ่งจะบอกว่า “ได๋พี่เอาแบบนี้นะ หนึ่ง-สอง-สาม-สี่” หน้าที่ของเราคือ ทำยังไงให้คุมเกมได้ และน้ำเสียงของเราก็ต้องเหมือนสะกดจิตเขาว่า เรื่องจะเป็นยังไงต่อ มันเลยกลายเป็นว่าซีซั่นแรกเครียดมาก เพราะอย่างที่บอกว่าเป็นคนชอบเตรียมตัวมาก่อน

จำได้เลยวันแรก พี่หนุ่มบอกว่า ขอยิ้มนะ แต่ยิ้มแบบ Professional แต่ปากไม่ยิ้มมาก แต่ตายิ้ม เราก็บอกพี่หนุ่ม แปลว่าอะไร หนูไม่เข้าใจ หนูขออีกที โอเค เอาใหม่ Keep เป็น Professional แต่ลูกตาเรา Conative แต่ยังคุมความเป็น Professional อยู่ พอซีซั่นสอง ก็ดีขึ้น สบายขึ้น แต่ก็มีแอบร้องไห้บ้าง บางทีเราก็อินไง

อย่างซีซั่นแรก มีเชฟคนหนึ่งออกไป แล้วเราก็ร้องไห้ แบบเสียดาย คิดว่ายังไงก็ต้องเข้ารอบ ตอนคุยกับโปรดิวเซอร์ เขาบอกว่า ภาพเมื่อกี้ใช้ไม่ได้เลยนะ เพราะหน้าเราเป็นแบบนี้ (หน้าสะอึ้น) เขาก็เลยบอกว่าเอาใหม่ คุณเป็นพิธีกร คุณต้องดึงตัวเองออกมา แล้วเป็นกลาง พอซีซั่นสองเลยกลายเป็นว่า เราเรียนรู้ในการถอดจิต “แล้วผู้ที่ต้องออกจาก Kicten Stadium ในวันนี้ก็คือ” แล้วพูด เหมือนจิตเราจะอยู่แค่ฝั่ง Professional ไม่เอาความรู้สึกข้างในเข้าไปเกี่ยว คราวนี้ใครจะออกอะไรก็เรื่องของเธอ ไม่เกี่ยวกับฉัน แล้วค่อยไปอินตอนดูทีวีอีกที

ชีวิตทุ่มเกินร้อยของ ไดอาน่า จงจินตนาการ ผู้ที่เกิดชาติหน้าขอมีไมโครโฟนออกมาจากมือ

งานพิธีกรมีเสน่ห์อะไร ที่ทำให้เรารู้สึกยังมีแพสชันตลอดเวลา

เคยมีครั้งหนึ่งที่ถามตัวเองว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้ มันคืออะไร มีด้วยเหรอ คนในโลกนี้ที่เกิดมาแล้วถือไมค์พูด แล้วเป็นอาชีพ เป็นคำถามที่วนเวียนอยู่ มันก็มีอีกโมเมนต์หนึ่งที่เราอยู่บนเวทีแล้วพูด จากนั้นคนทั้งฮอลล์เขาลุกขึ้นมา แล้วก็เฮ พอเราลงไปแล้วทุกคนก็มาเต้นกับเรา โมเมนต์แบบนั้นทำให้เรารู้สึกว่านี่คือที่ของเรา มันอธิบายไม่ถูก เหมือนเราได้พลังที่คนดูเขาส่งมาให้ ซึ่งถ้าเป็นรายการทีวีอาจไม่เท่าไหร่ แต่เวลาขึ้นบนเวที ยิ่งงานใหญ่เท่าไหร่ เรายิ่งต้องปล่อยพลังของเราให้มากเท่านั้น

ย้อนกลับมาก็คือ โมเมนต์ต่างๆ เหล่านั้น มันมักจะเกิดบ่อยๆ ยิ่งเวทีคนเยอะๆ เท่าไหร่ ยิ่งมีฟีลลิ่งแบบ I own the stage. ฟีลลิ่งแบบ This is where I belong. ถ้าถามว่าเสน่ห์อยู่ตรงไหน มันตอบไม่ได้ บางคนอาจมองว่า พิธีกรขึ้นไปแล้วก็พูดสคริปต์ แต่ของเรามันรู้สึกเหมือนถ้าชาติหน้าเกิดมาใหม่ จะต้องมีไมโครโฟนออกมาจากมือ ปิ๊ง! แล้วก็พูด มันเหมือนเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งของเรา ตรงนี้ถึงไม่มีไมโครโฟนอยู่ แต่เหมือนมันมีไมโครโฟนอยู่ในมือเราตลอดเวลา เรากลายเป็นคนที่เวลาอยู่ในห้องที่ทุกคนเงียบ เราจะ “สวัสดีค่ะ ชื่ออะไรคะ” มันเหมือนอยู่ในสายเลือดไปแล้ว บางทีช่วงหลังๆ เริ่มออกรายการเป็นแขกรับเชิญ ก็ต้องถอดจิตตัวเองออกเหมือนกันว่า แกเป็นแขกรับเชิญ เพราะถ้าเผลอเมื่อไหร่ พิธีกรก็จะโดนถามกลับเสมอ

ครั้งแรกที่เรารู้สึกว่าจะปักหลักทำอาชีพนี้เกิดขึ้นตอนไหน

ตอบไม่ได้ ถ้าถามคำถามนี้กับคนที่ทำมาหลายอย่าง เขาจะตอบได้ แต่ของเราเริ่มจากการเป็นพิธีกรเลย งานแรกในชีวิตก็คือเป็นพิธีกร แล้วทุกวันนี้ก็เป็นพิธีกร เพียงแต่ว่ามันจะมี Calling บางอย่าง ตอนที่เราเริ่มโตๆ มาแล้ว เหมือนต้องเลือกว่าจะเป็นอะไร ระหว่างนักแสดงหรือพิธีกร บางคนอาจไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว เรารักการแสดงมาก สมัยเรียนก็อยู่ Drama Club ตลอด เป็นคนทำละครเวที แล้วเวลาเล่นละคร เล่นอะไรก็จะชอบ

แต่ถ้าจะพูดตรงๆ เลยก็คือ งานพิธีกรสามารถบริหารเวลาและรายได้ได้ดีกว่า เล่นละครคือ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แต่อีเวนต์คือสิบโมงถึงเที่ยง บ่ายโมงถึงบ่ายสาม หรือหกโมงเย็นถึงสี่ทุ่ม เราจัดแจงตารางได้มากกว่า มันเลยกลายเป็นว่า ช่วงแรกเราเหมือนเด็กไม่รู้เรื่องที่ถูกโยนลงน้ำ แล้วดันว่ายได้ เราก็ไปต่อ แต่พอเราเริ่มโต เริ่มถามตัวเองว่าทำอะไรอยู่ เอนจอยกับมันไหม ซึ่งทุกครั้งที่มีคำถามแบบนี้ขึ้นมา มันจะรู้สึกเองว่ายังสนุกอยู่ โดยที่ไม่ได้มีโมเมนต์ให้เลือกว่า ตกลงเธอชอบอะไรมากกว่า คือทำมาแล้ว ใจก็รักเองจนถึงทุกวันนี้

แสดงว่าตอนทำรายการ ทีนทอล์ก ความรู้สึกแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้น

ไม่ค่ะ แค่อยากได้ตังค์เฉยๆ คิดว่ามันเป็นงาน คือให้เลือกระหว่าง A B C งานไหนให้เงินเยอะสุด ก็รับงานนั้น ตรรกะง่ายๆ แต่พอโตขึ้น ทำมาเรื่อยๆ ถึงรู้สึกว่าตกลงเราชอบนี่หว่า สนุกนี่หว่า แล้วยิ่งถ้าทำคอนเทนต์ที่เราอิน เราก็จะยิ่งพูดได้เรื่อยๆ

พิธีกรรายการทีวีกับอีเวนต์แตกต่างกันอย่างไร

พิธีกรรายการทีวี เราเป็นเพียงวัตถุดิบ เป็นเพียง Ingredient ให้เขาไปปรุงตามแบบของลูกค้า ตามแบบของเจ้าของรายการ แต่พิธีกรอีเวนต์ เราเป็น Master of Ceremonies ต้องเป็นแกนของพิธีการทั้งหมด เพราะฉะนั้น เวทีกับทีวีไม่เหมือนกัน เราต้องกลับมาที่ Repertoire ว่าเราต้องดึงอะไรออกมาผสมเป็นมิกซ์ที่มันเหมาะกับรายการทีวีแบบนี้ เหมาะกับเวทีระดับใหญ่ กลาง เล็ก หรือแบบซูเปอร์ใหญ่ 

เวลาอยู่บนสเตจเรารู้ว่าคุณตรึงคนได้แน่นอน แต่ถ้าเป็นงานเล็กๆ หน้ากล้องทีวี คุณมีวิธีดึงพลังออกมาได้ยังไง

เราโชคดีมาก เพราะตั้งแต่เข้าวงการ ได้ทำงานกับคนเก่งๆ ตลอด อาจารย์คนแรกในชีวิต คือ พี่โญ (ภิญโญ รู้ธรรม) พี่โญสอนตั้งแต่วันแรกว่า การเป็นพิธีกรแปลว่าคุณเป็นเจ้าบ้าน เมื่อมีคนมาเยี่ยมบ้านคุณ คือรายการของคุณ คุณต้องทำยังไงก็ได้ ให้เขารู้สึก Welcome ที่สุด แล้วอีกอย่างคือห้ามลืมกล้อง กล้องเป็นเหมือนเพื่อนที่นั่งอยู่ตรงนี้กับเรา เพราะฉะนั้น เวลาทำงานอะไรก็แล้วแต่ มันเหมือนถูกสอนมาดีตั้งแต่เด็กว่า ต้องอย่าลืมตรงนี้นะ

สิ่งหนึ่งที่มักจะได้ยินบ่อยๆ กับเพื่อนๆ นักแสดง คือ “เวลาทำงาน มีพี่ได๋อยู่ด้วย หนูสบายใจแล้ว” ซึ่งเราก็ถามกลับว่าทำไมล่ะ เขาก็บอกว่าไม่รู้เหมือนกัน แต่รู้สึกเหมือนว่าเราอ้าแขนต้อนรับทุกคน พอเขาสบายใจ เวลาทำงานด้วยกัน ออกไปในกล้อง มันจะดูออกว่า เออ เขาสนิทกันนะ มันดีกว่าคนนี้แต่งหน้าห้องนี้ คนนั้นแต่งหน้าห้องนั้น คือวิธีการสื่อสารมันกลมกว่า

เคยรู้สึกเฟลกับการทำงานบ้างไหม

ไม่ค่อยเฟลนะ หรือถ้าเฟลมากๆ ก็จะลุกขึ้นมาจากความเฟลได้เร็วมาก หากพูดเป็นงานๆ เวลาเราทำงานอีเวนต์ สิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือทุกอย่างต้องเป๊ะ แต่บางทีเราถูกส่งขึ้นเวทีไป ด้วยข้อมูลที่ยังไม่เป๊ะ ยังไม่สรุป แล้วข้างล่างเขาก็สื่อสารกันไม่ถูกต้อง พอเขาส่งมาให้เรา แล้วเราพูดข้อมูลที่ผิด เช่น อ่านชื่อผิด ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ความผิดของเรา แบบนั้นจะเฟลมาก เพราะเราตั้งใจทำงาน เต็มที่ในส่วนของเรา แต่มาพลาดในจุดที่คนข้างนอกมองแล้ว มันคือความผิดพลาดของเรา แล้วเราไม่มีโอกาสอธิบายบอกทุกคนว่า เราไม่ผิดนะ เขาส่งมาให้แบบนี้จริงๆ แต่พอกลับมาถึงบ้าน ต้องรีบลบออกให้เร็ว ไม่อย่างนั้น พอเราไปทำงานต่อไป มันกลายเป็นว่าเราไป Strict กับออแกไนเซอร์เจ้าใหม่ จนเขาไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องขนาดนั้น คือเราต้องการให้งานออกมาเกิดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด

ชีวิตทุ่มเกินร้อยของ ไดอาน่า จงจินตนาการ ผู้ที่เกิดชาติหน้าขอมีไมโครโฟนออกมาจากมือ

ที่ผ่านมาเคยรับงานมากสุดวันละเท่าไหร่

ประมาณห้างาน เป็นงานอีเวนต์หมดเลย แต่อันนั้นไม่เครียดนะ เพราะเราเป็นคนชอบเตรียมตัว ยิ่งถ้ารู้ว่าวันนั้นจะวิ่งงาน ก็จะขอให้ลูกค้าส่งสคริปต์มาก่อน แล้วคืนก่อนงานก็จะอ่านจนแบบหกสิบเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ต้องอยู่ในหัวแล้ว หน้างานค่อยไปจำอีกสามสิบสี่สิบเปอร์เซ็นต์ มันจึงไม่ได้เป็นอะไรที่ยากหรือท้าทาย ก็เหมือนทำการบ้าน แล้วออกไปพรีเซ็นต์งานหน้าห้องเท่านั้นเอง

มันเยอะไปสำหรับชีวิตหรือเปล่า เพราะเหมือนคุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าบางครั้งก็ไม่มีเวลาว่างเลย

ไม่เยอะหรอก เพราะเงินก็เยอะตาม (หัวเราะ) งานอีเวนต์ไม่ได้ส่งผลเท่าไหร่นะ ถ้าไม่ได้ข้ามจังหวัดเยอะ มีอยู่ช่วงหนึ่ง จำได้เลย ตอนเช้าจัดวิทยุแล้วขึ้นเครื่องไปทำงานที่เชียงใหม่ กลับมานั่งรถต่อไปหัวหิน แล้ววันรุ่งขึ้นก็มาจัดรายการต่อ พอมันรันแบบนี้ยาวๆ แบตจะหมด

ช่วงก่อนหน้านี้ ถ้าวันไหนได้พัก ได้นอนเยอะกว่าปกติ จะรู้สึกเมื่อยล้า รู้สึกเจ็บคอ รู้สึกไปหมด แล้วก็จะด่าตัวเอง สมมติป่วยเกินสองวัน ก็จะเริ่มบอกตัวเองแล้วว่า ใครให้ป่วย มีครั้งหนึ่งเคยขึ้นเวทีแล้วจะเป็นลม เพราะไม่สบาย ทำงานเยอะ ก็จะด่าตัวเองจนหาย พอลงมาจากเวที ก็บอกตัวเองว่า สำออยแล้ว เมื่อกี้ขึ้นเวทียังไม่เป็นเลยนะ อย่ามาเป็นตอนนี้ เหมือนสะกดจิตตัวเองว่า ห้ามป่วย ห้ามตาย งานและเงินรออยู่

มองว่าตัวเอง Perfectionist เกินไปหรือเปล่า

ก่อน COVID-19 ยังคงเป็น Perfectionist อยู่ แต่พอมาเจอกับ COVID-19 ปีที่แล้ว รู้เลยว่า บางทีชีวิตเราไม่ต้อง เพอร์เฟกต์มาก แล้วกับงานที่ได้รับ ก่อนหน้านี้จะรับแต่อีเวนต์ ออกทีวีน้อยมากแล้ว เนื่องจากเราไม่สามารถจัดสรรเวลาได้ จึงรับอยู่แค่รายการเดียวคือ เชฟกระทะเหล็กฯ ซึ่งถ่ายแค่เดือนละครั้ง หนึ่งวัน ยี่สิบสี่ชั่วโมง ยกให้เขาไปเลย ส่วนยี่สิบเก้าวันที่เหลือ เราก็ไปทำอย่างอื่น แต่พอเกิดสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวไม่มา การลงทุนของต่างชาติลดลง แน่นอนว่าอีเวนต์ระดับใหญ่ๆ ก็น้อยลง แล้วเราจะอยู่ต่อยังไง ก็ต้องดิ้นรนหาทางออก จะอยู่เฉยๆ รออีเวนต์ต่อไป หรือจะกลับมาสู่รายการทีวีที่เขาติดต่อเรามาตลอด เลยเริ่มกลับมารับทีวี

แล้วเราก็รู้ว่าการเป๊ะเกินไปนั้นสร้างความเครียดให้กับทุกคน จะมาแบบว่า พี่ไม่มีสคริปต์เหรอ แล้วนี่นัดกี่โมง ทำไมยังไม่เริ่ม มันใช้ไม่ได้กับบางที่ ถ้าเป็นอีเวนต์ มันเป๊ะแบบเกินร้อยได้ แต่ถ้าเราจะมาทำอย่างนั้นกับทีมงานรายการทีวี เขาคงไม่อยากทำงานด้วย เราก็สบายๆ ถึงกลับบ้านไปก็นอนดูทีวีอยู่ดี

ปัจจุบันมีคลื่นลูกใหม่เข้ามาเรื่อยๆ มีผลกับคุณบ้างไหม

ไม่รู้สึกว่ามีผลอะไร อาจด้วยความที่เราเข้ากับทุกคนได้หมด อย่างบางทีลูกค้าถามว่า ทำงานกับคนนี้ได้ไหม เราก็บอกได้ บางทีลูกค้าไม่เชื่อ แต่ถ้าเห็นจริงๆ ก็จะรู้ เพราะเวลาทำงานกับใครก็แล้วแต่ ประมาณสองนาทีแรกจะให้เขาออกสเต็ปก่อน เพื่อฟังลมหายใจว่า เขาเป็นคนหายใจแบบไหน จังหวะการพูดเป็นยังไง ถ้าเป็นรายการถามคำถาม เราจะปล่อยไปประมาณแปดถึงสิบนาที เพื่อดูว่าเขาเป็นคนถามคำถามยังไง เป็นคนสื่อสารแบบไหน แล้วเราจะเข้าตรงไหน มันก็เหมือนเราเต้นรำ ก็ต้องดูการออกสเตปของแต่ละคน เพื่อจะได้อิมโพรไวซ์ให้เข้ากับสเต็ปของเขาได้

ทุกวันนี้กระแสดราม่าเกิดขึ้นง่ายมาก มีผลต่อการทำงานของคุณบ้างไหม 

ยอมรับว่าแรกๆ ก็มีนะ แต่ช่วงหลังๆ มา พอมีคนดราม่ากับเรา เราก็ดราม่ากลับ มันก็เป็นกระแสดี สนุกดี คือรู้สึกว่า บางครั้งก็ต้องเล่นให้เป็นว่าสิ่งที่สังคมต้องการคืออะไร ณ ตอนนั้น คือเมื่อก่อนนี้ เคยมีคนมาว่าในอินสตาแกรมว่าไม่ชอบเลย เป็นพิธีกรที่ไม่ให้เกียรติผู้เข้าแข่งขัน แต่ต้องย้อนกลับมาดูด้วยว่า คอนเซ็ปต์ของรายการ เชฟกระทะเหล็กฯ มันคือการเล่นเกม เพื่อให้ตัวผู้เข้าแข่งขันแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาให้ดีที่สุด

การที่เขาคิดแบบนั้นกับเรา แสดงว่าเราปฏิบัติหน้าที่ได้ดี จนทำให้ผู้เข้าแข่งขันรู้สึกกดดัน และคนดูก็รู้สึกกดดันไปด้วย แสดงว่ามาถูกทางแล้ว เพราะฉะนั้น พอเขียนมาว่า “เกลียดมากเลย” เราก็ตอบกลับไปว่า “รอดูเลยนะคะ เดี๋ยวเกลียดยิ่งกว่าเดิมอีก รับรองเลย ร้ายกว่าเดิม” คนดูก็จะสนุกและยิ่งอิน หรือคนที่ไม่เก็ตเขาก็บอกว่า “กูเกลียดอีนี่มากเลย” เราก็ยิ่งสนุก พี่ หนูอยากให้คนเขาเกลียดหนูมากกว่านี้อีก

ชีวิตทุ่มเกินร้อยของ ไดอาน่า จงจินตนาการ ผู้ที่เกิดชาติหน้าขอมีไมโครโฟนออกมาจากมือ

อยู่ในวงการมานานขนาดนี้เคยคิดจะเลิกทำบ้างไหม

เคยค่ะ แล้วก็คิดว่าน่าจะไม่รอด สุดท้ายคงต้องสร้างเวทีเล็กๆ อยู่บ้านเอาไว้ขึ้นเอง ก็อย่างที่บอกว่า ถ้าชาติหน้ามีจริงคงต้องกดปุ่มแล้วมีไมโครโฟนออกจากมือได้ คือก่อนหน้านี้ แม่อยากให้หยุด เพราะเราทำงานตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิง จนตอนนี้อีกนิดหนึ่งจะวัยทองแล้ว เขาเลยอยากให้เพลาๆ ลงบ้าง แต่ด้วยความที่เราทำจนชิน เหมือนมันไม่ใช่อาชีพ แต่เป็นนิสัยพิธีกร บางทีนั่งคุยกันอย่างนี้ “แกสัมภาษณ์ฉันออกรายการอยู่เหรอ” คือมันเป็นธรรมชาติของตัวเองไปแล้ว

ที่ผ่านมาเคยพยายามหยุดบ้างไหม

มีช่วงก่อนไปเรียนต่อเมืองนอก รับละครติดๆ กันสามเรื่อง แล้วก็เป็นพิธีกรรายการทีวีห้ารายการ บวกกับอีเวนต์ ซึ่งหมายความว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ไม่มีคำว่าพัก แล้วเรายังเป็นนักศึกษาอยู่ด้วย มันก็เลยยิ่งเหนื่อย เหนื่อยจนพูดเป็นคำพูดไม่ได้ เหมือนกับเราเป็น Autopilot พอตื่นมาไม่รู้หรอกว่าทำอะไร รู้แค่ว่าแม่ ซึ่งเป็นผู้จัดการส่วนตัวจะบอกคนขับรถให้พาเราไป พอไปถึงก็เอาสคริปต์มาอ่านๆ พูดๆ ถ่ายเสร็จ เปลี่ยนชุด ทำงานต่อ ขึ้นเวที กลับบ้านทำรายงานส่งอาจารย์ เป็นแบบนี้อยู่ประมาณปีครึ่งสองปี ก็เลยถอดปลั๊ก ไปเรียนต่อปริญญาโท

ช่วงนั้นมีความสุขมาก เราไม่ต้องสวยตลอดเวลา ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา ได้มีชีวิตแบบว่า ใส่ชุดนอนไปเรียนก็ไม่มีใครสนใจ เพราะไม่มีคนรู้จักเรา ใช้ชีวิตอยู่แบบนั้นประมาณสองปีกว่า แต่สุดท้ายพอเรียนจบก็ยังกลับมาเป็นพิธีกรเหมือนเดิม สรุปมันเป็นอาชีพบวกนิสัยนี่หว่า หยุดไม่ได้หรอก

สุดท้ายว่าคุณแม่เข้าใจไหมว่าเราหยุดทำงานไม่ได้

แม่ไม่เข้าใจ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็ยังเป็น Conflict ระหว่างชีวิตอยู่ ทุกเช้า ถ้าเผลอๆ แม่ก็จะบอกว่ามีลูกได้แล้วนะ คือถามอะไรตอบได้หมด แต่ถามเรื่องนี้ไม่รู้จะตอบยังไง 

ถึงวันนี้คุณตั้งความหวังกับอาชีพพิธีกรอย่างไรบ้าง

สมัยก่อนอยากทำรายการของตัวเอง อยากนู่นนี่นั่น แต่ทุกวันนี้เหมือนว่า เราเจออะไรมาเยอะ ก็รู้สึกว่า แค่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดกับสิ่งที่ได้รับมอบหมายมา คือบางคนอาจมองว่า อายุเท่านี้ เธอจะต้องออกจากวงการแล้ว สำหรับเราถ้าเป็นดารา มันมีวันหมดอายุ แต่พิธีกรยิ่งอยู่นาน ค่าประสบการณ์ของเรายิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

คนชอบถามว่า มีรุ่นใหม่มาแล้วเป็นยังไง รุ่นใหม่มาก็ดี มาช่วยเป็นทางเลือกให้กับวงการ แต่ขณะเดียวกัน คนที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดก็ต้องมีตลาดของตัวเองไปเรื่อยๆ เช่น วันนี้เราเป็นพิธีกรแนวนี้ วันหน้าก็อาจเป็นพิธีกรแนวแม่และเด็ก ต่อไปเราอาจเป็นพิธีกรแนวไขข้อเสื่อม มันจะต้องมีทางของตัวเอง และถ้าวันหนึ่งไม่ได้ออกทีวี ก็ยังมีสื่อออนไลน์ เลี้ยงลูกอยู่บ้านก็คงต้องไลฟ์สด แก่ไปแล้วอยู่บ้านพักคนชรา ก็คงเปิดไลฟ์ อ้าวเพื่อนๆ เป็นยังไงบ้าง 

ดังนั้น ถ้าถามว่าทุกวันนี้มีความใฝ่ฝันอะไรก็ว่าไปตามสถานการณ์ ไม่คาดหวังอะไรเยอะ เพราถ้าเราสเปกอะไรมากๆ แล้วไม่เป็นไปตามที่คิด ก็จะเกิดความผิดหวังขึ้นมา

ถ้าวันนี้ไม่ได้เป็นพิธีกร คุณคิดว่าชีวิตตัวเองจะเป็นอย่างไร

ถ้าตอนอายุสิบสอง ไม่ได้มีคนมาเจออยู่ที่โรงเรียน แล้วมาเป็นพิธีกร ทุกวันนี้ต้องอุ้มลูกหลายคน พูดเลยจริงๆ ต้องเป็นซิ้ม เป็นเจ๊ เป็นซ้อ แล้วก็มีลูกเยอะมาก เพราะวันๆ ไม่ทำอะไร เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอยู่บ้าน (หัวเราะ)

ชีวิตทุ่มเกินร้อยของ ไดอาน่า จงจินตนาการ ผู้ที่เกิดชาติหน้าขอมีไมโครโฟนออกมาจากมือ

Writers

Avatar

สุทธิโชค จรรยาอังกูร

นักค้นคว้า ผู้มีบ้านหลังที่สองอยู่ในห้องสมุด เจ้าของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

Avatar

ปณัสย์ พุ่มริ้ว

นักสำรวจซอกซอย ย่านเก่า ป่าเขา และห้องสมุด เจ้าของเพจ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ