เพียงแค่เห็นชามไก่สีส้มตัวอ้วนคุ้นตา เราก็ได้กลิ่นข้าวสวยร้อนๆ ลอยมา

ก่อนจะเลือกหยิบใบหนึ่งใส่ตระกร้า ไว้ใส่ข้าวสวยหุงสุกร้อนกินคู่กับสารพัดแกงร้อนในชามไก่อีกใบขนาดที่ใหญ่กว่าเท่าตัว

เรากำลังอยู่ใน Dhanabadee Outlet ร้านเซรามิกของใช้และของแต่งบ้านคุณภาพส่งออก ราคาโรงงาน ระหว่างรอนัดพบกับ คุณพนาสิน ธนบดีสกุล ทายาทรุ่นสองของผู้ก่อตั้งโรงงานชามตราไก่แห่งแรกในลำปาง

จากลูกชายคนสุดท้องในพี่น้อง 5 คนของครอบครัวธนบดีสกุล ผู้ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ขอเกี่ยวข้องกับงานเซรามิก แล้วเลือกเดินบนเส้นทางออกแบบที่คู่ขนาน

ก่อนจะพบจุดเปลี่ยนสำคัญหลายๆ ครั้งในชีวิต ตั้งแต่เป็นเจ้าของแบรนด์ ‘ธนบดี’ แบรนด์เซรามิกของแต่งบ้านระดับโลก ที่ส่งออกไปยังกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดยุโรป อเมริกา และจีน การันตีด้วยรางวัลด้านการออกแบบและรางวัลนวัตกรรมจากองค์กรระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง

เป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชามตราไก่ที่สนุกมาก จนที่นี่กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวห้ามพลาดในลำปาง

เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่ทำให้ชามตราไก่กลับมาดังทั่วเอเชียอีกครั้ง และทำให้ลำปางกลายเป็นเมืองเซรามิกของประเทศ

รับรองว่าไม่ไก่กา เพราะนี่คือชามตราไก่

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

ธุรกิจ : โรงงานธนบดีสกุล (พ.ศ. 2508)

ประเภทธุรกิจ : โรงงานเซรามิก

อายุ : 53 ปี

ผู้ก่อตั้ง : อาปาอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน)

ทายาทรุ่นที่สอง : ยุพิน ธนบดีสกุล และ พนาสิน ธนบดีสกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท ธนบดีอาร์ตเซรามิค จำกัด (พ.ศ. 2533) และ บริษัท ธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด (พ.ศ. 2546)

เซรามิกโยนาระ

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

“ตอนเด็กๆ เราเคยจับถ้วยขนมสองถ้วยมาประกบกันให้กลายเป็นชิ้นเดียว เจาะรูทำเป็นกระปุกออมสิน แล้วเขียนลายตามจินตนาการที่ชอบ” แม้เด็กชายพนาสินในวัย 10 ขวบเคยคิดว่าจะไม่ขอทำงานที่เกี่ยวกับเซรามิกอย่างแน่นอน แต่เมื่อเราถามถึงงานสร้างสรรค์หรือพรสวรรค์ทางศิลปะที่เห็นชัดในวัยเด็ก เขาก็เล่าอย่างสนุก

นักเรียนศิลปะ เอกนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มงานแรกของเขาที่บริษัทออกแบบลายผ้า ก่อนจับพลัดจับผลูไปทำงานออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในบริษัทไทยเยอรมันเซรามิค ผู้ผลิตกระเบื้องคัมพานา เริ่มสนุกกับกระบวนการงานออกแบบกระเบื้อง มีโอกาสเดินทางเรียนรู้งานที่อิตาลีและสเปนทุก 6 เดือน

พนาสินเล่าว่า แผนการชีวิตของเขาในเวลานั้นคือการย้ายไปทำงานออกแบบที่อิตาลีเมื่อทำงานครบ 2 ปี แต่เมื่อจดหมายจากบ้านที่เล่าถึงปัญหาการเงินเดินทางมาถึง เขาก็อดเป็นห่วงไม่ได้ จึงตัดสินใจบอกเพื่อนสนิทที่จะไปอิตาลีด้วยกันว่า จะขอตามไปเมื่อทำธุระครอบครัวเสร็จ

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

“เมื่อกลับมาถึงลำปาง ที่บ้านบอกว่า ‘ห้ามเข้าบ้าน’ เพราะเห็นว่าเราเป็นเด็กหัวนอกทำงานออกแบบ ไม่อยากให้เสียเวลาทำงานบ้านๆ แบบนี้ แต่เราก็ยืนยันว่าอยากจะทำ พ่อก็เลยตกลงให้เงิน 40,000 บาทเพื่อสร้างโรงงานของตัวเองและพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้”

ไม่เสียดายอิตาลี? – ไม่เลย พนาสินรีบตอบกลับมาทันที

อาร์ตตัวพ่อ

“พอเริ่มลงมือทำถึงได้รู้ว่าเงิน 40,000 กับการทำโรงงานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่พอแม้แต่จะซื้อปูนมาฉาบเป็นโรงงาน” พนาสินใช้เงิน 40,000 แรกไปกับโรงงานงานเล็กๆ ที่มีเตาเล็กๆ เตรียมวัตถุดิบ ขึ้นรูป เผาเตา ขายของ ทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด ภายใต้ชื่อ ‘ธนบดีอาร์ตเซรามิค’

ความรู้เรื่องเซรามิกที่มีมากจากการทำงานส่วนหนึ่งและศึกษาด้วยตัวเองอีกส่วนหนึ่ง ลองผิดลองถูกจนออกมาเป็นสินค้าของแต่งบ้าน

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง
Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

“เราก็คิดว่าของที่ทำสวยนะ แปลกใหม่ ถูกกว่าเมื่อเทียบกับเจ้าอื่นในตลาด” พนาสินแต่งตัวหล่อถือกระเป๋าเจมส์บอนด์ไปเดินแถวรัชดา เพื่อเอาของไปเสนอขายตามร้านขายของแต่งบ้าน

ผลก็คือ พนาสินขายสินค้าของเขาไม่ได้เลยสักชิ้น

เมื่อคิดให้ดีจึงรู้ว่า ที่ผ่านมาตนเป็นนักออกแบบที่ไม่มีความรู้เรื่องการตลาดมาก่อน รู้ดังนั้น พนาสินก็ปรับวิธีคิดและการทำงานใหม่ทั้งหมด

แทนที่จะเสนอขายปลีกตามร้านเช่นเดิม พนาสินเริ่มแบรนด์ธนบดีด้วยการออกร้านตามงานแสดงสินค้าของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งออก จากเป็นบูทเล็กๆ ค่อยๆ เติบใหญ่

เมื่อเดินถูกทาง ก็ทำให้ประสบความสำเร็จตั้งแต่งานแสดงสินค้าระดับประเทศครั้งแรก และใช้เวลา 3 ปีในการหาแนวทางและตลาดของตัวเอง จนเข้าสู่ปีที่ 5 แบรนด์ก็เติบโตก้าวกระโดดสมใจ

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง
Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

“ขายดีจนไม่สามารถผลิตเองให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ต่อมาสร้างโรงงานธนบดีเดคอร์เซรามิค”

เขามองว่าตัวเองเป็นดีไซเนอร์ อยากสร้างสรรค์งานใหม่ๆ มากกว่าจะลอกเลียนแบบใคร ประกอบกับประสบการณ์ทำงานและการได้รู้ได้เห็นงานทั้งไทยและเทศอยู่เสมอ รู้ว่าคนอื่นเขาทำอะไร ก็ยิ่งอยากสร้างสิ่งที่แตกต่าง เมื่อรู้แน่ชัดว่าเขาจะไม่ทำจานชาม ไม่ทำงานที่ต้องผลิตจำนวนมากๆ ก็ยิ่งทำให้แนวทางการสร้างสรรค์งานของพนาสินและแบรนด์ธนบดีชัดเจน เหมือนศิลปินที่ตั้งใจสร้างงานในรูปแบบของตัวเอง

“แม้จะเป็นงานเซรามิกเหมือนกันแต่ก็คนละรูปแบบกัน งานที่บ้านจะเป็นเซรามิกงานภาชนะซึ่งไม่ต้องการความเนี๊ยบเท่าของตกแต่งบ้าน ดังนั้น สิ่งที่ได้จากครอบครัวก็คือความอดทน ซึ่งเราเรียนรู้จากพ่อ พี่สาว และการช่วยงานในโรงงานเมื่อสมัยที่เป็นเด็ก”

ที่ผ่านมาเป็นการทำงานที่แยกส่วนกันอย่างชัดเจน ก่อนกลับมาเชื่อมกันในช่วงที่พนาสินเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ชามตราไก่ของครอบครัว

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

The return of chicken bowl

ในช่วงแรกของการทำแบรนด์ธนบดี เขาไม่เคยบอกใครว่าครอบครัวทำโรงงานเซรามิกชามตราไก่เจ้าใหญ่ในลำปาง เพราะตระหนักเสมอว่าโรงงานของครอบครัวเป็นเพียงโรงงานเล็กๆ เช่นเดียวกับแบรนด์ของเขา และคิดอยากจะทำสินค้าออกมาให้ดีด้วยตัวเอง

จนเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ในวันที่ธนบดีเติบโตขึ้น คุณพนาสินจึงคิดเริ่มนำประวัติศาสตร์เบื้องหลังของแบรนด์เล่าสู่ลูกค้าต่างประเทศผ่านงานแสดงสินค้า

“เรื่องตลกก็คือ งานหลักของเราคือของตกแต่งบ้าน แต่ปีนั้นเราจัดพื้นที่เล็กๆ เอาชามตราไก่ เอาเตามังกรโบราณ ไปวางโชว์ว่านี่คือเบื้องหลังแบรนด์ของเรา กลายเป็นว่าปีนั้นมีแต่ยอดสั่งซื้อชามตราไก่ทั้งจากฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทุกคนมีความทรงจำ ความผูกพัน ถวิลหาอดีต ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าเรากำลังขุดอารมณ์ลูกค้ารุ่น Baby Boomer รุ่นเกิดหลังสงครามโลก ซึ่งล้วนเคยผ่านชีวิตยากลำบากด้วยกันทั้งนั้น เต็มไปด้วยความทรงจำ ความสุขของครอบครัว จนวันนี้ทุกคนเติบใหญ่มีฐานะและชีวิตที่ดี

“ถามว่าชามตราไก่จากจีนมีมั้ย ก็ยังมีอยู่ แต่ผลิตง่ายๆ ต้นทุนต่ำ ไม่ได้คิดถึงคุณภาพและลวดลายที่สวยงามตามแบบต้นตำรับโบราณ” พนาสินเล่าจุดเปลี่ยนสำคัญของโรงงานเซรามิกที่บ้าน

รายการสั่งซื้อจากทั่วเอเชียทำให้ชามตราไก่กลับมาอีกครั้งหลังจากที่หายไปกว่า 30 ปี

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง
Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

เรื่อยมาถึงปี 2540 แม้ประเทศไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แต่กลับกลายเป็นว่าธนบดีรับออร์เดอร์ไม่หวาดไม่ไหว ผลิตชามตราไก่ขายไม่ทัน จุดประกายในโรงงานเซรามิกหลายสิบโรงงานในลำปางให้กลับมาผลิตชามตราไก่อีกครั้ง โดยเฉพาะหลายๆ โรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจก็กลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง

“มีคนถามเหมือนกันว่าโกรธมั้ยที่ทุกคนกลับมาผลิตชามตราไก่แข่งกับเรา เราก็บอกว่าไม่เลย เพราะสินค้าหลักของเราคือของแต่งบ้าน เราภูมิใจมากกว่าที่มีส่วนเล็กๆ ช่วยคืนชีวิตชีวาให้จังหวัดเรา ทำให้ลำปางเป็นเมืองเซรามิกของประเทศไทย”

ชื่อเสียงเรียงชาม

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

ยอดสั่งซื้อชามตราไก่และสินค้าของแต่งบ้านดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ แต่ความสุขของพนาสินกลับหายไป เขาบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงงานขยายใหญ่ขึ้น

“เราไม่ได้ตั้งใจรวยจากสิ่งที่ทำตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะถ้าคิดแบบนั้นเราจะต้องทำจานชาม กระเบื้อง หรือของที่ผลิตในจำนวนมากๆ ความสุขของเราคือการได้ออกแบบสร้างสรรค์งานใหม่ๆ”

เมื่อพบคำตอบของความสุข อย่างการทำงานโรงงานขนาดเล็กๆ พนาสินจึงเปลี่ยนความคิด ตั้งใจทำสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้นและงานออกแบบที่สวยเป็นเอกลักษณ์ เพื่อตอบสนองกลุ่มตลาดใหม่ๆ

จนเมื่อเจอกับวิกฤตค่าแรงขั้นต่ำในปี 2555 ที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกทาง

“ยอดรายการสั่งซื้อลดลงจนแทบไปต่อไม่ไหว ตอนนั้นคิดว่าจะต้องปิดโรงงานแล้วแน่ๆ แต่อยากขอสร้างอนุสรณ์ให้พ่อ ให้บ้านเมืองของเรา เพราะตัวเราจะไปเริ่มทำธุรกิจใหม่อะไรก็ได้อยู่แล้ว จึงเป็นที่มาของพิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี แต่จะสร้างอาคารหลังใหม่ก็ไม่มีงบประมาณมากพอ จึงขอปรับปรุงพื้นที่บ้านเก่าของครอบครัว ทำพิพิธภัณฑ์แบบบ้านๆ เล่าเรื่องราวความเป็นมาของชามตราไก่และโรงงานธนบดีสกุลของครอบครัว”

และจากคลุกคลีทำพิพิธภัณฑ์ช่วงหนึ่ง พนาสินก็พบว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ นั่นคือ จานชาม งานกระเบื้อง และงานกึ่งอุตสาหกรรมผลิตจำนวนมาก Mass Production เป็นที่มาของงาน Tableware

“โจทย์คือ ทำยังไงก็ได้ให้ขายได้น้อย” ได้ยินอย่างนี้แล้วคุณอาจจะอยากเข้าไปในความคิดของพนาสินเหมือนกันกับเรา

ขณะที่ทุกคนอยากขายของให้ได้มากๆ เขากลับอยากขายของให้ได้น้อยๆ

“วิธีที่จะขายหรือผลิตออกมาในจำนวนน้อยแต่ได้รายได้เท่าเดิมก็คือ สร้างนวัตกรรม และออกแบบให้พิเศษกว่าที่เคย จึงออกมาเป็น Tableware เนื้อพอร์ซเลน* (Porcelain) แฮนด์เมดซึ่งไม่มีใครทำเพราะทำยากมาก ผลปรากฏคือขายดีมาก เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีน” (*เนื้อพอร์ซเลน คือเซรามิกเนื้อที่มีค่าความขาวสูง มีความแกร่งสูงมาก เวลาเคาะจะให้เสียงดังกังวาน เพราะเผาในอุณหภูมิที่สูงมาก)

จากที่เคยคิดจะปิดโรงงาน ก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง
Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

“ลูกค้าที่เคยหนีไปเพราะของเราแพงก็กลับมา เพราะคุณภาพของเรา ประกอบกับเราพัฒนาตัวเองในการลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพของสินค้า จนทุกอย่างส่งเสริมกัน สถานการณ์ก็กลับมาดีอย่างก้าวกระโดด เมื่อสถานการณ์กลับมาดีดังเดิม เราก็หยุดทำ Tableware ทันที พอแล้ว กลัวจะเลยเถิด”

“ทำไม” เราถาม ทั้งเรื่องที่คิดจะหยุดทำ และทำไมเรื่องที่เขาเป็นคนที่ทำให้เราแปลกใจได้ตลอด

“เราไม่มีความสุขกับการผลิตสิ่งใดก็ตามเยอะๆ เพื่อให้ได้เงินมากๆ เรามีความสุขกับการออกแบบ กับการสอนหนังสือ กับการได้ทำงานเพื่อสังคม

“ผมสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ออกไปดูโลกกว้าง ไปให้รู้ดูให้เห็นว่าบ้านเมืองอื่นเขาเป็นยังไง เอาสิ่งดีๆ กลับมาต่อยอด อย่าคิดว่าเรารู้ดีแล้ว เพราะอีกไม่ถึง 10 ปีลูกหลานเราอาจจะต้องไปทำงานเป็นลูกจ้างประเทศเพื่อนบ้านเพราะพื้นฐานเขาเปลี่ยนไปหมดแล้ว เงินเดือนครูที่นั่นสูงมาก การสอนหนังสือทำให้เราเห็นปัญหาของระบบการศึกษาบ้านเรา เรียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำกิจกรรม พาตัวเองออกไปรู้จักสังคม ช่วยเหลือสังคม” พนาสินยิ้ม

ไม่ใช่ไก่กา แต่คือชามตราไก่

พนาสินเล่าความสนุกของการทำชามตราไก่ในยุคของเขาให้ฟังว่า

ด้วยความเป็นชามตราไก่ จึงเปลี่ยนแปลงอะไรมากไม่ค่อยได้ เพราะเป็นสินค้าที่ขายความรู้สึก ไม่ใช่สินค้าที่มีผลจากการออกแบบ เขาจึงตั้งใจเก็บรักษาในรูปแบบเดิม แต่เพื่อไม่ให้ชามตราไก่ตายไป เขาจึงต้องปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จากที่ยุคก่อนมีแค่ชาม 2 – 3 ขนาด พนาสินก็ทำจาน ช้อน เครื่องประดับ ของที่ระลึกเล็กๆ เกี่ยวกับชามไก่เพื่อให้แฟนคลับได้ใช้ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างรูปแบบใหม่ๆ ออกมา

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

ชามตราไก่ของธนบดีอาจจะดูแพงกว่าชามตราไก่ที่อื่น แต่รู้ไหมว่าเท่านี้ก็ผลิตขายแทบไม่ทันแล้ว และตอนนี้ชามตราไก่มีคอลเลกชันใหม่แล้ว ‘Hand Painted by Khun Yupin’ ตามชื่อคุณยุพิน พี่สาวคนโตและช่างวาดชามตราไก่คนแรกของครอบครัว

“ด้วยความพิเศษชามของเราจึงมีราคาสูง แต่เราก็พบว่ายอดขายดีขึ้น แสดงว่าคนไม่ได้สนใจเรื่องราคาเท่าคุณค่า ที่สำคัญ เราไม่ได้คิดราคาตามความรู้สึก แต่เป็นราคาที่เกิดขึ้นตามคุณภาพจริง”

ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร แต่พนาสินมองว่าชามตราไก่คือสินค้ามีชีวิต ที่พูดได้ เล่าเรื่องต่อได้

เร็วๆ นี้จะมีคอลเลกชันใหม่ที่ทำมาเพื่อแฟนคลับโดยเฉพาะ ได้แก่ ‘blue & white’ คอลเลกชันชามตราไก่สีน้ำเงิน-ขาว โดยทุกใบจะมีลายเซ็นของช่างวาด คอลเลกชัน ‘ไก่ครอบครัว’ มีไก่หลายๆ ตัว และสุดท้ายคอลเลกชัน ‘ไก่เป็นแพทเทิร์น’

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง
Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

ไม่ต่างจากแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวการฝ่าฟันอุปสรรค การหยิบตำนานมาสานต่อไม่ได้ทำเพื่อให้ขายดีที่สุด แต่เพื่อต่ออายุของแบรนด์ คืนชีวิตชีวา

“ทั้งหมดนี้เอื้อต่อกันนะ เมื่อเรากตัญญู เราไม่ลืมบุญคุณ ไม่ลืมรากเหง้า เชิดชูทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา ก็ยิ่งส่งเสริมตัวตนและความเป็นธนบดีให้เด่นชัดและเติบโตต่อไป เมื่อก่อนเราออกงานแฟร์เยอะมาก ไปทุกที่เลย แต่ทุกวันนี้เราหยุดทั้งหมด แล้วนำเงินที่อาจจะต้องใช้กับการออกงานมาทำโชว์รูมแสดงสินค้า มาเชิญลูกค้าเข้าเยี่ยมชมโดยตรง ชวนให้ชมพิพิธภัณฑ์ความเป็นมาของเราทั้งหมด การต่อยอด มันลงตัวไปหมด เพราะลูกค้าเราเองเขาก็ไม่ได้ขายสินค้าแต่เขาขายความรู้ ขายประสบการณ์ร่วม เขาสามารถบอกต่อได้อย่างเข้าใจลึกซึ้งว่า สินค้านี้มาจากที่ไหน ผู้ผลิตเป็นใครมีที่มาที่ไปและความตั้งใจอย่างไร”

Live and learn

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนเราว่าไม่มีอะไรแน่นอน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่แน่ ไม่ได้ดั่งใจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมันย่อมเป็นเช่นนั้นแล

“ทำทุกวันให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปคาดหวังว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่วางแผนอะไรในชีวิตเลยนะเพราะเป็นนักธุรกิจ ต่อให้ไม่ได้ดั่งใจเราก็ต้องทำใจให้สบาย ณ วันนี้นี่ก็คือชีวิตตอนหนึ่งของธนบดี ถ้าวันหนึ่งลูกหลานจะไม่ทำต่อแล้ว ขายธนบดีให้คนอื่นไปก็ไม่มีใครอาจรู้ได้ วันนี้ไม่เสียดายแล้วเพราะเราเองก็เริ่มต้นมาจากเกือบศูนย์” พนาสินเล่าถึงสิ่งที่เรียนรู้ ก่อนจะทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับทายาทรุ่นสองที่กำลังรับช่วงต่อกิจการของครอบครัว

Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง
Dhanabadee, เซรามิก, ชามตราไก่, ลำปาง

“ลำดับแรกคือ อย่าลืมกำพืด เรามีตัวตนมาได้แปลว่าต้องมีบางสิ่งและบางอย่างส่งเสริมเรามาถึงวันนี้ ไม่ว่าคุณจะเริ่มกลับมาทำหรือทำงานไปแล้วระยะหนึ่ง จงกลับหันมาดูสิ่งที่ครอบครัวเคยทำมา มองหาสิ่งดีงามที่ทำให้กิจการยั่งยืนมาถึงรุ่นเราได้ ถึงแม้จะไม่ใช้สิ่งที่ยิ่งใหญ่แต่มันคือกุญแจความยั่งยืนที่ส่งต่อมาถึงเรา หน้าที่ของเราก็คือต่อยอดความดีงามนั้น

“สองคือ จงเชื่อมโยงเข้าหาสิ่งที่คุณรัก แน่นอนว่าความฝันคุณอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่คุณสามารถดึงความฝันของคุณมาเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกัน โลกทุกวันนี้คือโลกที่เชื่อมโยงหลอมรวมกัน สิ่งเดิมๆ ไม่อาจอยู่ได้จนถึงอนาคต โลกเรากำลังต้องการสิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์

“จงอย่าลืมสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้น และโปรดต่อยอดสิ่งนั้น แม้บ้านจะทำงานเหล็ก แต่คุณชอบงานผ้า คุณก็สามารถทำสิ่งใหม่ ผสมผสานต่อยอด มีอะไรสนุกๆ รอให้คุณคิดค้นมากมาย งานเดิมก็ยังคงสานต่อ งานใหม่ก็คิดโอกาสใหม่ในชีวิตของคุณ”

แค่ได้ยินและคิดตาม เราก็ตื่นเต้นกับโอกาสใหม่ๆ ในชีวิตที่รออยู่แล้ว

โรงงานธนบดีสกุล (พ.ศ. 2508)

ชามไก่ มีต้นกำเนิดการผลิตในประเทศจีนมากว่าร้อยปี

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คนจีนโพ้นทะเลที่อพยพไปยังประเทศต่างๆ นำชามตราไก่ไปด้วยจนเป็นที่นิยมไปทั่ว ก่อนจะค่อยๆ ลดความนิยม จนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่นค่อยๆ ฟื้นตัวจากสงครามและส่งออกเซรามิกทั่วเอเชีย ทำให้ชามไก่ค่อยๆ หายไปจากเอเชียและประเทศไทย ราวๆ 30 ปี ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในปี 2540 โดยคุณพนาสินและคุณยุพิน ทายาทรุ่นที่สองของโรงงานธนบดีสกุล โรงงานที่บุกเบิกทำชามตราไก่แห่งแรกในลำปาง

ย้อนกลับไปถึงก่อตั้งโรงงานในประเทศไทยในปี 2498 อาปาอี้ ช่างผู้เชี่ยวชาญการปั้นและทำเตาเผาจากเมืองจีน ระหว่างที่อพยพมาอยู่เชียงใหม่ วันหนึ่งบังเอิญพบคนขายหินลับมีดซึ่งทำจากแร่ดินขาว (Kaolin) สอบถามจึงรู้แหล่งที่มาในบ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นแหล่งดินขาวขนาดใหญ่ อาปาอี้และเพื่อนๆ ที่มีความรู้เรื่องชามไก่จากเมืองจีนจึงร่วมกันตั้งโรงงาน โดยก่อนหน้านี้คนไทยใช้ชามไก่จากการนำเข้ามาจากจีน

ต่อมาเกิดวิกฤตปี 2500 เป็นยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศยอดขายจึงลดลงเรื่อยมา จนเวลาผ่านไป 5 ปีเป็นยุคที่คนจีนหลั่งไหลเข้าประเทศไทยและเปิดโรงงานผลิตชามไก่แข่งขันด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ในที่สุดอาปาอี้และเพื่อนๆ จำต้องขายโรงงานและแยกย้ายไปเปิดโรงงานเซรามิกของตัวเอง

อาปาอี้ เปิดโรงงานธนบดีสกุล ในปี 2508 ผลิตถ้วยขนมหรือถ้วยตะไลแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งที่เมืองจีนใช้เป็นถ้วยน้ำจิ้มไม่มีลวดลาย อาปาอี้จึงออกแบบใหม่ให้มีลายที่หลังถ้วย จนคนเรียกว่าถ้วยตราลาย ก่อนเพี้ยนเสียงเป็นถ้วยตะไล ส่วนชามไก่ เป็นชามที่เหมาะสมกับการใช้ตะเกียบพุ้ยข้าว โดยมีรูปทรงแปดเหลี่ยมเกือบกลม ปากบาน ข้างชามด้านนอกมีรอยบุบเล็กน้อยให้รับกับมือขณะถือชามข้าว

ความพิเศษของชามไก่จากโรงงานธนบดีสกุล คือการคงลักษณะพิเศษชามไก่แบบต้นตำราโบราณ คุณภาพการผลิตทั้งการเผาสองรอบที่อุณหภูมิ 750 องศาเซลเซียสเพื่อความแข็งแรงสวยงาม ลวดลายไก่ขนคอลำตัวส้ม หางและขาสีดำ เดินบนหญ้าสีเขียว ประกอบดอกเบญจมาศสีชมพูอมม่วง มีดอกไม้และใบไม้เล็กๆ แต้มที่ก้นชาม ซึ่งวาดมือทุกใบ ด้วยสีสันสดใสจากผงสีคุณภาพสูง นอกจากนี้ที่นี่ยังมีเตาเผาเก่าแก่ที่สุดในเมืองลำปางถึง 2 ตัว และปัจจุบันโรงงานที่นี่ยังคงทำงานเหมือนเดิมทุกอย่าง บริหารจัดการโดยคุณยุพิน ธนบดีสกุลลูกสาวคนโตของครอบครัว

dhanabadee.com

dhanabadeeshop.com

Facebook | ธนบดีเดคอร์เซรามิค

 

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล