จำได้ไหมว่าคุณไปวัดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้คนรุ่นใหม่อย่างเราๆ ใช้ชีวิตห่างไกลจากวัดไปทุกที ด้วยวิถีชีวิตที่โหนอยู่บนความรีบเร่ง เทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารมากมายบนหน้าจอสมาร์ทโฟนทำให้เรามีสิ่งที่ต้องโฟกัสมากมายในชีวิตประจำวัน

แต่ไม่ว่าจะห่างไกลแค่ไหน ทุกครั้งที่เราอกหัก สอบตก ผิดหวัง ท้อแท้ในชีวิต เราต่างวิ่งเข้าวัด เพื่อขอความช่วยเหลือจากพุทธศาสนาแทบทุกครั้งไป

เมื่อตกอยู่ในสภาวะแห่งความทุกข์ การได้เข้าวัด ฟังพระธรรมเทศนาเพื่อพิจารณาถึงเหตุแห่งทุกข์คือส่วนสำคัญในการช่วยดึงสติและทำให้ความว้าวุ่นใจนั้นคลายลงไปได้ หลายครั้งที่เราทึ่งความเก่งกาจในการเทศนาของพระหลายๆ รูป และแอบสงสัยว่าพระนั้นเทศนาและพูดเก่งเหมือนกันทุกรูปหรือเปล่า

จนกระทั่งมีโอกาสได้รู้จักกับ ‘Dhamma on Lens’ แพลตฟอร์มออนไลน์ทางพุทธศาสนา ที่ไม่ได้สื่อสารธรรมะผ่านการเทศนาหรือตัวอักษร แต่สื่อสารผ่านเลนส์กล้อง ออกมาเป็นภาพถ่ายที่ทำหน้าที่เสมือนการเทศนาของพระ

Dhamma on Lens

ภาพถ่ายใน ‘Dhamma on Lens’ ทุกภาพเป็นฝีมือของพระ ด้วยความสวยงามเชิงเทคนิคและมุมมองอันลุ่มลึก ทำให้เราสัมผัสได้ถึงพลังและสารบางอย่างที่บอกเล่าออกมา

“เพราะภาพถ่ายหนึ่งภาพบอกเล่าเรื่องราวได้นับพัน” พระเอกชัย อรินทโม วัดนาคปรก พระผู้ก่อตั้ง Dhamma on Lens กล่าว

01

พุทธ-ศิลปะ

“คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการเทศนาคือการขึ้นธรรมมาสน์เพื่อพูดและบรรยายให้คนฟังเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่พระทุกรูปจะพูดเก่งเหมือนกันหมด พระบางรูปถนัดพูด บางรูปถนัดเขียน ดังนั้น มันก็ต้องใช้ความถนัดของใครของมันในการสอน” พระเอกชัยเริ่มอธิบาย

“การเทศน์ก็คือการสอน ดังนั้น มันจึงมีวิธีการมากมายในการเข้าถึงคำสอน สำหรับอาตมา ภาพถ่ายก็ถือเป็นการเทศน์อย่างหนึ่ง เพียงแต่มันไม่ได้สื่อสารออกมาทางคำพูดเท่านั้นเอง ญาติโยมบางคนอาจจะไม่เข้าใจด้วยการฟังเพียงอย่างเดียว เพราะเขานึกภาพไม่ออก ดังนั้น การเห็นภาพที่มีความหมายอาจจะทำให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราอยากสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

Dhamma on Lens

Dhamma on Lens

พระเอกชัยเล่าต่อว่า “ในความรู้สึกของอาตมา เพื่อถ่ายทอดหลักทางพระพุทธศาสนาออกมา ภาพควรประกอบไปด้วยเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก เห็นความทุกข์ สุข รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ร้องไห้ ดีใจ เสียใจ และที่สำคัญที่สุดคือ แรงบันดาลใจ

“คนที่ตกอยู่ในสภาวะทุกข์ มีความเศร้าหมอง ภาพถ่ายควรเป็นยังไง จึงจะมอบแรงบันดาลใจให้เขาอยากหลุดออกจากจุดที่เขาจมอยู่ เพื่อก้าวออกไปทำสิ่งใหม่ๆ

“หรือจากชีวิตที่เคยใช้จ่ายอยู่บนความฟุ่มเฟือย การได้เห็นภาพของเด็กที่ร้องขอเงิน ให้มีแค่ข้าวเข้าปาก ผ่านท้องเลี้ยงชีวิตไปวันๆ จะกระตุกให้คนเห็นภาพมีจิตสำนึกในการใช้จ่าย ให้อยู่ในความพอดี ความพอเพียง”

Dhamma on Lens

พระเอกชัยบอกว่า การถ่ายภาพลักษณะนี้ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนักในทางพุทธศาสนา เพราะที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงการถ่ายภาพของงานวัดงานวา ส่วนมากจะเน้นไปที่งานพิธีการเสียมากกว่า

“เรามีมุมมองเรื่องศาสตร์ แต่ความงดงามในเชิงศิลปะของการถ่ายภาพพุทธศาสนา หรือแม้กระทั่งองค์ประกอบอื่นๆ ของงานวัดงานวายังไม่ค่อยมีมากนัก”

02

ใหญ่-เล็ก

“อาตมาเป็นเด็กบ้านนอก บวชเณรตั้งแต่อายุ 12 ปี พออายุ 15 ปี ก็เริ่มช่วยงานเขียนป้ายต่างๆ ให้วัดที่มหาสารคาม สมัยนั้นเขียนด้วยพู่กันสง่า มยุระ ฝึกฝนจนจำและเขียนได้แทบทุกฟอนต์ Angsana เอย Cordia เอย

“จนย้ายมาที่วัดนาคปรก พระอาจารย์มองว่าอาตมาเป็นคนที่มีหัวด้านงานศิลปะ ท่านเลยมอบหมายให้รับผิดชอบในส่วนของป้ายประกาศต่างๆ ของวัด ทำอยู่สักพักก็เข้าสู่ยุคที่ป้ายประกาศเริ่มเปลี่ยนจากการเขียนมือ มาเป็นพรินต์ลงบนไวนิล”

พระเอกชัยเล่าว่า ท่านเรียนรู้โปรแกรม Photoshop ผ่าน YouTube และศึกษาเรื่องการออกแบบกราฟิกจากอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเองทั้งหมด แต่แค่นั้นมันก็ไม่เพียงพอ ท่านจึงไปลงเรียนคอร์สระยะสั้น เกี่ยวกับการออกแบบและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการออกแบบ ทั้ง Photoshop, Illustration, 3D Sketch Up ไปจนถึงการทำเว็บไซต์

Dhamma on Lens

Dhamma on Lens

“ยิ่งศึกษาเยอะขึ้น อาตมาก็ได้เรียนรู้ว่าในการออกแบบใดๆ ก็ตาม เราควรเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจในภาพกว้างก่อน แล้วจึงค่อยเจาะลงมาสู่รายละเอียดปลีกย่อย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อาตมาสนใจเรื่องสถาปัตยกรรมด้วย

“ดังนั้น ความงดงามในเชิงศิลปะขององค์ประกอบต่างๆ ของงานวัดวาในมุมมองของอาตมาจึงต้องเริ่มจากโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดอย่างสถาปัตยกรรม ซึ่งว่าด้วยเรื่องการออกแบบพื้นที่ก่อนเป็นอย่างแรก ก่อนจะขยับลงมาสู่การออกแบบกราฟิกอย่างป้ายประกาศต่างๆ ในวัด เพื่อสื่อสารข้อมูลกับผู้คน และเล็กที่สุดคือภาพถ่าย ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องราวที่นำไปสู่แรงบันดาลใจ

“อาตมาใช้เวลาเรียนรู้มาเรื่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยมาจนถึงวันนี้ก็ประมาณ 7 ปี”

03

พุทธ-สถาปัตยกรรม

อะไรคือศิลปะของพุทธที่แท้จริง

“เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว อาตมาไปสมัครเข้าเรียนปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่สถาบันอาศรมศิลป์ เพราะคิดว่าสไตล์การออกแบบแนววิถีธรรมชาติของที่นี่มันเหมาะกับวัด จริงๆ แล้ว ธรรมะก็คือธรรมชาติ การออกแบบที่เน้นความเรียบง่าย ฟังก์ชันการใช้งาน และความงามจากวัสดุธรรมชาติ จึงเหมาะสมที่สุด

“ถ้าพื้นที่ในวัดได้รับการออกแบบที่เหมาะสม ญาติโยมเข้ามาเห็น เข้ามาใช้พื้นที่ จะสามารถรู้สึกสุขสงบตั้งแต่ยังไม่ทันต้องนั่งสมาธิด้วยซ้ำ เพราะพื้นที่มันเอื้อต่อความรู้สึกของผู้ใช้งาน และยังเป็นการจัดระเบียบพฤติกรรมของผู้ใช้งานวัดออกด้วย

Dhamma on Lens

“เมื่อพื้นที่เอื้อและทำให้เกิดความรู้สึกสงบ คนจะไม่กล้าส่งเสียงดังโวยวาย จอดรถสะเปะสะปะ และทำให้เกิดการสำรวจกาย วาจา ใจ มากขึ้น เวลามาใช้งานพื้นที่ในวัด”

แต่สุดท้ายแล้ว พระเอกชัยก็ไม่ได้เข้าเรียนที่สถาบันอาศรมศิลป์อย่างที่ตั้งใจไว้ “เรียนสถาปัตย์ต้องลงพื้นที่บ่อย แถมยังเป็นการเรียนที่ค่อนข้างสมบุกสมบันพอตัว อาตมาเป็นพระจึงไม่ค่อยเหมาะสม หากต้องการที่จะเรียนจริงๆ จำเป็นต้องสึกออกมาเรียน อาตมาจึงเลือกเส้นทางการเป็นพระต่อ”

Dhamma on Lens

แม้จะไม่ได้เข้าเรียน แต่พระเอกชัยก็ไม่ได้หยุดการเรียนรู้ไว้เพียงแค่นั้น ท่านยังคงศึกษางานด้านสถาปัตยกรรมด้วยตัวเองมาอย่างสม่ำเสมอ “อาศัยการดูกรณีศึกษา เก็บเล็กผสมน้อย ทั้งผลงานของสถาบันอาศรมศิลป์และพวกงานออกแบบเชิงธรรมชาติที่สอดคล้องกับหลักพุทธ”

04

พุทธ-ดีไซน์

จากภาพใหญ่ที่สุดอย่างสถาปัตยกรรม ลงมาสู่การออกแบบกราฟิก ที่ใช้ในการสื่อสารกับผู้คนโดยตรง

นอกจาก ‘Dhamma on Lens’ แล้ว พระเอกชัยยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม ‘Graphic งานวัด’ กลุ่มพระนักออกแบบผู้ทำงานออกแบบนิเทศศิลป์ให้กับงานพุทธศาสนามาแล้วนับไม่ถ้วน

เคยสงสัยไหมว่าทำไมกราฟิกใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาต้องเป็นลายไทย

Dhamma on Lens

“ถ้าจะมองเรื่องของหลักธรรมกับการออกแบบกราฟิกบนป้ายโฆษณาก็ตาม บนโบรชัวร์ก็ตาม ในสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ก็ตาม อะไรคือศิลปะของพุทธที่แท้จริง ในเมื่อที่ผ่านมาเราใช้ลวดลายไทย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มาเป็นองค์ประกอบทางกราฟิกเสมอ แล้วถ้าหากประเทศไทยไม่มีลวดลายไทยล่ะ กราฟิกของพุทธศาสนาจะออกมาเป็นยังไง

“สุดท้ายก็เหลือแค่ใบไม้ ดิน หิน น้ำ และองค์ประกอบทางธรรมชาติที่ยึดโยงเข้ากับแก่นของธรรมะที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งดูแล้วเกิดความเรียบง่าย สบายตา สงบเย็น รู้สึกปลดปล่อย ในการออกแบบกราฟิกให้กับงานต่างๆ ของวัด อาตมาเลยเลือกที่จะลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็น ไม่มีผลต่อการรับรู้และความรู้สึกออก ความเรียบง่ายนี้สอดคล้องกับความพอดี ความพอเพียง”

พระเอกชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า ในฝั่งเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีนำองค์ประกอบทางธรรมชาติเข้าไปช่วยในการออกแบบทางศาสนาเยอะมาก จนกลายเป็นศิลปะบำบัดที่ดี

นึกให้เห็นภาพง่ายๆ อย่างเช่นสวนเซนหรือวัดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวัดไม้และให้ความงดงามตามธรรมชาติของวัสดุ ไม่มีการปรุงแต่งเพิ่มเติม ถ้าต้องทาสี โทนที่เขาเลือกใช้จะผสมทางสีเทาเสียเยอะ ไม่ฉูดฉาด ให้ความรู้สึกสุขุม แค่คนเดินเข้าไปก็รู้สึกสงบเย็นแล้ว

Dhamma on Lens

Dhamma on Lens

“ในฐานะที่อาตมาไม่ใช่นักพูด ไม่ใช่นักเทศน์ แต่ถนัดด้านงานศิลปะ โจทย์คือเราจะสามารถสื่อสารกับญาติโยมและคนสมัยใหม่ได้ยังไง งานออกแบบที่พวกอาตมากำลังทำอยู่ ถ้าให้เปรียบเทียบก็คงเป็นเหมือนประตูโขง

“ประตูโขงคือซุ้มประตูวัด เป็นสิ่งแรกๆ ที่คนจะมองเห็น ถ้าประตูโขงไม่ดีพอ ไม่สามารถแสดงหรือสื่อสารความดีงามของพุทธศาสนาออกไปได้ คนก็ไม่อยากเข้ามาที่วัด ในการออกแบบนิเทศศิลป์ทั้งหมด พวกอาตมาออกแบบโดยอาศัยหลักการเพียง 3 ข้อเท่านั้นคือ เรียบง่าย สะอาด และสมสมัย”

ความเรียบง่ายคือความพอเพียง

ความสะอาดคือศีล ซึ่งหมายถึงการชำระกายใจให้สะอาด จะออกแบบ จัดระเบียบงานกราฟิก ออกมายังไงให้ดูสะอาดตา สว่างข้างในจิตใจ

สมสมัย ไม่ได้หมายความว่าให้ทันสมัย เพราะความเป็นวัดเป็นวาไม่ต้องทันสมัยมากก็ได้ แต่ต้องคุยรู้เรื่องกับคนทุกกลุ่ม เด็กน้อยไปจนถึงคนแก่อ่านแล้วเข้าใจ เพราะสุดท้ายมันไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม แต่มันเป็นเรื่องการสื่อสาร

05

ภาพถ่าย-ธรรมะ

จากการออกแบบนิเทศศิลป์มาสู่ส่วนที่เล็กและมีอิมแพ็กต์มากที่สุดนั่นคือ ภาพถ่าย

“หนึ่งในหลักมงคล 38 ประการกล่าวไว้ว่า การมีศิลปะนั้นเป็นมงคล คำว่าศิลปะแท้จริงแล้วมีความหมายครอบคลุมศาสตร์หลากหลายแขนง ทั้งแต่ศิลปะการพูดไปจนถึงศิลปะการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ถ้าให้ถอดศิลปะการมองธรรมผ่านเลนส์ออกมา หลักธรรมที่ได้เรียนรู้มีอะไรบ้าง” พระเอกชัยเอ่ยก่อนตอบว่า

Dhamma on Lens

Dhamma on Lens

อย่างแรกคือ ทำให้เรารู้จักการรอคอย บางทีเรามีมุมไว้ในใจ เห็นภาพฝันแล้ว อย่าเพิ่งบุ่มบ่าม รีบไขว่คว้า บางสิ่งบางอย่าง มันจะมาตามกาลเวลา จะถ่ายจังหวะคนที่เดินมา ให้สวมรอยกับอาคารสถานที่พอดี ต้องมีการรอคอย ไม่ใจร้อนเกินไป หายใจเข้าออกช้าๆ รอจังหวะที่เหมาะสมแล้วค่อยกดชัตเตอร์

อย่างที่สองคือ สอนให้เรามีสติ มีความรวดเร็ว มีความตื่นตัว มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ความพร้อมต้องมีเสมอ เมื่อจังหวะมีก็ต้องรีบกดชัตเตอร์ เพราะบางจังหวะมันเกิดขึ้นเพียงหนเดียวเท่านั้น

อย่างที่สามคือ สอนให้เราเป็นคนรอบคอบ ในแง่การจัดองค์ประกอบภาพ ก่อนจะกดชัตเตอร์เราต้องเช็กทุกองค์ประกอบ รวมถึงเส้นเอียง เส้นตรง ของภาพ ต้องถ้วนถี่

อย่างที่สี่คือ ต้องรู้จักปล่อยวาง บางทีความคาดหวังมีไว้สูง แต่พอดีว่ามีอุปสรรคมาขัดขวาง บางคนถอดใจ โมโห การโมโหคือการไม่มีสติ คือการไม่รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ต้องหัดปล่อยวางและเริ่มต้นใหม่

อย่างที่ห้าคือ ความเพียรพยายาม แม้จะผิดพลาด ไม่สมหวัง ต้องไม่หยุดเพียรพยายามที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้ดีขึ้น เก่งขึ้น

Dhamma on Lens Dhamma on Lens

“เหตุผลที่อาตมาตัดสินใจทำเฟจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของ ‘Dhamma on Lens’ และ ‘Graphic งานวัด’ จริงๆ คือเพื่อเสริมสร้างกำลังใจและแสดงให้เหล่าพระ-เณรรูปอื่นๆ ที่ไม่ถนัดการเทศน์รู้สึกมีบทบาทขึ้นมาในการช่วยกันการเผยแผ่พุทธศาสนา ไม่ใช่ว่าเขาอยู่แต่เบื้องหลัง ทำแต่สิ่งเดิมๆ ไม่มีการพัฒนา ท้อแท้ ท้อถอย

“เราสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมาเพื่อเป็นฐานการเรียนรู้ ให้พระ-เณรรุ่นใหม่ๆ มาดูเป็นกรณีศึกษา เพื่อปรับมุมมองใหม่ๆ และนำไปปรับใช้กับการสื่อสารงานด้านพุทธศาสนาในอนาคต จากเดิมที่เราทำป้าย โบรชัวร์ สิ่งพิมพ์งานวัดงานวาต่างๆ แน่นอนว่ามันสื่อสาร แต่ก็สื่อสารได้กับคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

“ถ้าอยากสื่อสารกับคนจำนวนมากขึ้น ข้อมูลเหล่านั้นจะต้องมาอยู่บนแพลตฟอร์มที่ไม่มีเรื่องสถานที่มาเป็นตัวจำกัดอย่างโลกออนไลน์ ที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระ เพื่อขยายขอบเขตพรมแดนการสื่อสารงานพุทธศาสนาออกไปให้กว้างไกลขึ้น”

Dhamma on Lens

06

พุทธ-สังคม

จนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่พระเอกชัยเริ่มทำมาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนปรากฏผลสัมฤทธิ์ให้เห็นเป็นรูปร่าง เราสนทนากับท่านที่วัดนาคปรก และสัมผัสได้ถึงความสงบร่มเย็นของบรรยากาศภายในวัด โดยเฉพาะเส้นสายกราฟิกในงานป้ายต่างๆ รอบวัด

“อาตมาเป็นคนชอบงานศิลปะมากกว่าการพูด เป็นคนพูดติดๆ ขัดๆ พูดสำนวนอะไรก็ไม่ได้ ส่วนมากพระเขาจะเก่งการพูด เก่งเทศนา แต่อาตมารู้ตัวมาตั้งแต่แรกแล้วว่ายังไงก็ไม่ใช่ เมื่อเรารู้ว่าเราถนัดด้านไหน เราจะนำความรู้ ความสามารถ ความเพียรพยายาม ของเราไปช่วยพัฒนาวัด เผยแผ่ศาสนาได้ยังไงต่างหาก คือสิ่งสำคัญ

Dhamma on Lens

“ดังนั้น มันจึงไม่สำคัญเลยว่าเราจะเก่งด้านอะไร แต่แค่ให้ความเก่งของเราอยู่ในกรอบของพระวินัย และมันมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนหรือพัฒนาสังคมได้ เป็นสามเหลี่ยมที่ลากโยงเข้าหากันระหว่าง 3 สิ่งคือ ความสามารถ หลักธรรมวินัย และสังคม

“เพราะถึงจะเก่งกาจแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่ได้ช่วยเหลือสังคม มันก็ไม่ใช่ความยั่งยืน”

Dhamma on Lens

ภาพ : พระเอกชัย อรินทโม
Facebook : Dhamma on Lens
Website : www.dhammaonlens.com

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน