The Cloud x Designer of the Year

หากไม่ลองสัมผัสด้วยมือคงไม่เชื่อว่าสร้อยเส้นใหญ่ ต่างหู่คู่จิ๋ว ทำจากกระดาษ ไม่เพียงเครื่องประดับจากกระดาษ วรชัย ศิริวิภานันท์ เจ้าของแบรนด์ BASIC TEEORY ควบเจ้าของรางวัล Designer of the Year Award 2019 สาขา Jewelry Design ยังทำสร้อยคอจากท่อยางและเศษผ้า กำไลข้อมือจากท่อแก้วบรรจุเศษกรวดจากหน้าบ้าน เก๋กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว! เพราะนักออกแบบมือรางวัลดันออกนอกกรอบของการทำเครื่องประดับที่มักใช้วัสดุเป็นเงินและทอง เขาตีความหมายใหม่และกำหนดทฤษฎี ‘BASIC TEEORY’ (ทฤษฎีพื้นฐานส่วนตัวของตี๋) ขึ้นมาเอง

ทฤษฎีออกแบบของ วรชัย ศิริวิภานันท์ ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว

“วัสดุทุกชนิดมีคุณค่าในตัวมันเอง คุณค่าของจิวเวลรี่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าทำมาจากเพชรมากกะรัต พลอยหายาก มุกจากทะเลน้ำลึก คุณค่าเหล่านั้นมนุษย์ล้วนเป็นคนกำหนดขึ้นทั้งสิ้น” เป็นนิยามของทฤษฎีพื้นฐานส่วนตัวของตี๋

หนุ่มนักออกแบบรวบรวมความหลงใหลในเครื่องประดับหลอมรวมกับแพสชันในการอยากทำเครื่องประดับมานานกว่าค่อนชีวิต กว่าเขาจะกล้าออกมาทำตามความฝัน ทำเครื่องประดับมากคุณค่าจากเศษวัสดุที่คนไม่ค่อยเห็นค่า

ทฤษฎีออกแบบของ วรชัย ศิริวิภานันท์ ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว

1

วรชัยเรียบจบปริญญาตรีจากสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนจบปริญญาโทจากสาขา Textile and Surface Design, Birmingham Institute of Art and Design หลังเรียนจบเขาเป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปะและสิ่งทอก่อนจะผันตัวเป็นนักออกแบบลายและโครงสร้างผ้า

เมื่อความโชคดีเลือกวรชัย เขาได้ทำงานในสตูดิโอของตกแต่งบ้านกับนักออกแบบชาวฝรั่งเศส ที่เปลี่ยนมุมมองของเขาเพียงนั่งทานก๋วยเตี๋ยวด้วยกัน ท่ามกลางบรรยากาศสกปรกของร้าน มองไม่เห็นแม้กระทั่งความสวยงาม แต่นักออกแบบคนนั้นกลับนั่งมองเพดาน แล้วหันหน้ามาบอกวรชัยด้วยความปลามปลื้มว่า “Oh! This is beautiful, it’s perfect.”

ทฤษฎีออกแบบของ วรชัย ศิริวิภานันท์ ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว

วรชัยทราบดีว่าเขาหลงรักวัสดุมาตั้งแต่ตอนฝึกงานด้านตกแต่งและออกแบบภายใน เพราะเขาชอบการหาสารพัดข้าวของ ไม่ว่าจะผ้า วัสดุ เพียงสั่งมา วรชัยจัด (หา) ให้! ยิ่งมีโอกาสทำงานกับนักออกแบบชาวฝรั่งเศส ที่แปลงร่างวัสดุหลากชนิด เช่น เซรามิก โลหะ ก้อนหิน ขนแมวน้ำจากอาร์กติก ของราคาถูกจากสำเพ็ง รากไม้จากน้ำตกแถบจังหวัดกาญจนบุรี ฯลฯ เป็นของตกแต่งบ้าน ยิ่งทำให้โลกวัสดุของเขากว้างกว่าเดิม เหมือนเป็นการเติมไฟแพสชันในใจให้ลุกโชน 

“ตลอดระยะเวลาห้าปีของการทำงานกับนักออกแบบชาวฝรั่งเศส เราสนุกกับการเล่นกับวัสดุ สนุกมากกับแนวคิด มุมมอง และประสบการณ์ ประจวบกับเราอยากทำเครื่องประดับมานานมาก ตอนนั้นเราอยากทำแบรนด์แล้ว

ทฤษฎีออกแบบของ วรชัย ศิริวิภานันท์ ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว

“ด้านศิลปะและการออกแบบเรามีประมาณหนึ่ง ส่วนการเงิน การตลาด และการทำธุรกิจ เป็นสิ่งที่เราขาด เราเลยเปลี่ยนมาทำงานด้านการตลาดและแบรนดิ้งเกือบสิบปี เพื่อเรียนรู้การทำแบรนด์ คุยกับคนในสายการตลาด ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น สำคัญเลยคือ เพื่อเก็บเงิน เพราะเงินจะเป็นสายป่านให้เราทำในสิ่งที่เราฝันเอาไว้” นักออกแบบเล่าการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อเดินทางสู่ความฝัน ฝันว่าสักวันหนึ่งเขาจะเป็นมีแบรนด์เครื่องประดับเป็นของตัวเอง 

2

เมื่อเครื่องประดับจากเงินและทองไม่ตอบโจทย์การออกแบบของวรชัย ระหว่างนั่งทำงานประจำ เขาคิดแล้วคิดอีกว่าจะเอาวัสดุไหนมาทดแทนดี แต่แล้วสายตาพลันเหลือบไปเห็นเครื่องถ่ายเอกสาร เต็มไปด้วยกระดาษรีไซเคิล พอดีกับครอบครัวของเขาทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทำให้มีเศษวัสดุเยอะมาก ทั้งเศษดิน เศษปูน เศษไม้ นักออกแบบหัวใสแอบเก็บทุกอย่างมานั่งทดลองคนเดียวตอนกลางคืนหลังเลิกงาน ใช่! เขานั่งเล่นสนุกกับเศษขยะพวกนั้น แถมสนใจสกรูเป็นพิเศษ

เมื่อต้องเลือกเพียง 1 วัสดุ กระดาษจากเครื่องถ่ายเอกสารดันผ่านเข้ารอบ ชายหนุ่มทดลองม้วนกระดาษเป็นลูกปัดเม็ดยาว ดูเหมือนไม่เป็นดังหวัง เพราะกระดาษแกรมบางถลอกและเปื่อยยุ่ยจนเป็นขุย ถ้าเอามาม้วนเป็นลูกปัด ผิวจะไม่เรียบเนียน เนื้อกลวงไม่แน่น เคลือบด้วยสารเคมีก็ไม่ทนทาน คงไม่เหมาะกับการเอามาทำเป็นเครื่องประดับแน่นอน

ทฤษฎีออกแบบของ BASIC TEEORY ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว
ทฤษฎีออกแบบของ BASIC TEEORY ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว

แต่เขาไม่ยอมแพ้ ยังทดลองทำลูกปัดด้วยกระดาษกว่า 5 ชนิด เพื่อเฟ้นหาสุดยอดกระดาษ จนลงเอยเป็นกระดาษเจียรทิ้งจากโรงพิมพ์ของเพื่อนสนิท เพราะกระดาษเจียทิ้งเหล่านั้นเป็นกระดาษใหม่ เรียบ ไม่ยับเยิน ทำให้ได้ขนาดแกรมและความหนาตามวรชัยต้องการ เพราะขนาดแกรมของกระดาษมีผลกับการม้วนให้เป็นลูกปัด วรชัยเปรียบให้เราฟังว่า

“การม้วนลูกปัดหนึ่งเม็ดจะต้องรู้ว่าใช้กระดาษกี่เส้น แทบจะคล้ายการทำหนังสือหนึ่งเล่ม ถ้าแกรมผิดเพียงนิดเดียว แปลว่าลูกปัดเม็ดนั้นจะไม่เหมือนเดิม มีผลกับการทำงานและการสั่งผลิตเพื่อทำออร์เดอร์ส่งขายยังต่างประเทศ”

ส่วนกระบวนการทำสร้อย 1 เส้น ต่างหู 1 คู่ เขาทำด้วยมือทุกขั้นตอน เพราะนักออกแบบเคยลองใช้เครื่องจักรประกอบเองเพื่อทุ่นแรงสำหรับการม้วนกระดาษ แต่ตัวเครื่องควบคุมแรงดึงไม่ได้ สมมติม้วนกระดาษเปียกกาวด้วยมือ มือต้องผ่อนแรงไม่ให้กระดาษขาด ถ้าลูกปัดหลวม มือต้องออกแรงดึงกระดาษเพื่อม้วนให้ลูกปัดแน่น หรือการต่อกระดาษ เครื่องจักรช่วยต่อกระดาษไม่ได้ สุดท้ายสองมือของวรชัยสะดวกและตอบโจทย์การทำงานของเขามากที่สุด

ทฤษฎีออกแบบของ BASIC TEEORY ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว

3

“เราตั้งใจให้ Paper You Can Wear เป็นคอลเลกชันหลัก”

จากกระดาษเจียทิ้งจากโรงพิมพ์ กลายเป็นสร้อยคอลูกปัดสีสันจัดจ้าน ถูกใจคนรักงานคัลเลอร์ฟูล แต่ยังไม่ทิ้งสาวกมินิมอลด้วยลูกปัดกระดาษสุด Eco-friendly สีขาวสลับดำช่างคลาสสิก ร้อยต่อกันด้วยริบบิ้นเนื้อดีไม่ระคายเคืองผิว

ทฤษฎีออกแบบของ วรชัย ศิริวิภานันท์ ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว

“ปีแรกเราขายนับเส้นได้ เพราะเราพยายามเปลี่ยนหน้าตาของวัสดุ ต่างกับการเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาม้วนแล้วบอกว่าเป็นกระดาษหนังสือพิมพ์ แบบนั้นคงง่ายกว่า และเราไม่อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้า Ecodesign เขาต้องใส่กับเสื้อผ้าฝ้ายหรือเสื้อลินินเพียงอย่างเดียว แต่เขาใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมกับเครื่องประดับ Eco-friendly ของเราได้ด้วย 

“เราอยากให้สินค้าของเราใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เลยเปลี่ยนรูปร่างให้มันไม่ได้มองแล้วรู้ทันทีว่าทำมาจากกระดาษ พอเราเปลี่ยนหน้าตาปั๊บกลายเป็นว่าคนเข้าใจยากทันที แต่เรายังคงเล่าเรื่องตลอด เพราะผลิตภัณฑ์ของเราเป็นการขายเรื่องราวมากกว่า” นักออกแบบเครื่องประดับเจ้าของแบรนด์ BASIC TEEORY อธิบายด้วยรอยยิ้ม

ทฤษฎีออกแบบของ BASIC TEEORY ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว

4

เครื่องประดับสุดแหวกของวรชัยมองบางทีเป็นงานศิลปะ มองอีกทีเป็นงานออกแบบ เพราะเครื่องประดับของเขามักแอบซ่อนความพิเศษบางอย่างเอาไว้ เช่น สร้อยคอที่ใส่ได้แทบจะไม่ซ้ำแบบกันเลย บางเส้นยาวแบบไม่มีจุดบรรจบ ปราศจากตะขอเชื่อมหน้าเชื่อมหลัง เขาสาธิตการพัน การพาด ได้สารพัดสารพันแบบ แถมเมื่อปลดตัวล็อกแล้ว เครื่องประดับเส้นยาวยังเชื่อมกับเครื่องประดับอีกเส้นกลายเป็นเส้นยาวกว่าเดิม จะใส่ทบเดียวหรือ 2 ทบก็สวยสูสี เก๋อย่าบอกใคร

“เราชอบให้เครื่องประดับของเราต่อกันได้ มิกซ์แอนด์แมตช์กันได้ มันเลยค่อนข้างอเนกประสงค์

ทฤษฎีออกแบบของ BASIC TEEORY ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว

“อย่างต่างหูก็มีความไม่ปกติ ไม่เหมือนกันก็ใส่กันได้ เพราะอยากให้ลูกค้าสนุกกับเครื่องประดับ ไม่ใช่ซื้อไปแล้วก็จบ เราเลยนิยามเครื่องประดับว่าเป็นงานไลฟ์สไตล์ เน้นทำเครื่องประดับให้คงทนถาวร สวยงามตามแบบธรรมชาติ”

อย่างคอลเลกชัน The Beauty of Remains เขารวมทุกเศษซากจากหลายวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นเศษผ้า ท่อยาง เศษแก้ว ก้อนกรวดหน้าบ้าน มาแปลงโฉมเป็นเครื่องประดับหลากหลายแบบ แถมยังถูกแบ่งย่อยเป็นซีรีส์ Glass Tube เครื่องประดับจากท่อแก้วใสบรรจุเศษแก้ว เศษกระจก และก้อนกรวด ซีรีส์ Rubber Tube สร้อยคอจากท่อยางและเศษผ้า เป็นการทำงานร่วมกับโรงแรมแห่งหนึ่ง เขานำเศษผ้าจากการตัดชุดยูนิฟอร์มของพนักงานมาถักเป็นเครื่องประดับยาวกว่า 2.4 เมตร สำหรับใส่เดินแฟชั่นโชว์ร่วมกับโรงแรมแห่งนั้น แม้ใครจะมองว่าเครื่องประดับชิ้นนั้นของเขาประหลาดตั้งแต่ต้น

ทฤษฎีออกแบบของ BASIC TEEORY ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว

“ซีรีส์ Rubber Tube เราควรวางขายตั้งนานแล้ว แต่มีบางอย่างที่ทำให้เราต้องเก็บไว้ก่อน เพราะมีบางคนเห็นงานแล้วบอกว่าอย่างเพิ่งขายเลย มันประหลาดไป” นักออกออกแบบหัวเราะก่อนจะเล่าว่า

“ตอนน้ันเราวางงานชิ้นนั้นบนโต๊ะทำงาน นั่งมองทุกวัน ให้เราเห็นจนรู้สึกไม่ประหลาด ถึงยอมขาย พอขายก็มีลูกค้าบอกว่าเหมือนงานทำไม่เสร็จ เราบอกว่าเสร็จแล้ว เขาบอกว่าเหมือนยังไม่จบงาน เรากลับมานอนคิด จนวันหนึ่งมันจบในตัวมันเองแล้ว เราไม่ต้องการเพิ่มอะไรลงไปมากกว่านั้น พอดีเราต้องทำแฟชั่นโชว์กับโรงแรมแล้วงานชิ้นนั้นป็นหนึ่งในงานโชว์ พอลงจากเวทีมีคนมาขอซื้อทันที เรารู้สึกว่าชิ้นนั้นมันจบแล้ว มันได้รับการยอมรับจากคนประมาณหนึ่ง ไม่ได้ประหลาดและอย่างน้อยมีคนเข้าใจมัน”

5

“แน่นอนว่าความสวยงามเป็นฟังก์ชันหลัก แต่ฟังก์ชันสำคัญกว่าความสวยงามคือความพึงพอใจของคนสวมใส่ ลูกค้ายอมจ่ายเงินซื้อเครื่องประดับของเราเป็นเพราะว่าเขาใส่แล้วเขาพอใจ เขามีความสุข เขาแตกต่าง ความพึงพอใจจึงเป็นสิ่งที่ลูกค้าได้รับ ไม่ใช่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว”

เจ้าของรางวัล Designer of the Year Award 2019 สาขา Jewelry Design ยิ้มส่งท้ายก่อนจะจบบทสนทนาว่า

ทฤษฎีออกแบบของ BASIC TEEORY ผู้เปลี่ยนกระดาษ ท่อยาง ไร้ค่าเป็นเครื่องประดับมากเรื่องราว

“วัสดุทุกอย่างมีคุณค่า ธรรมชาติทำให้ตัวมันเป็นแบบนั้น มีค่าหรือไม่มีค่าคนกำหนดขึ้นมาเอง แต่เรากลับรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเรา เราจะเอาของที่คนบอกว่าไม่มีค่ามาทำให้มีคุณค่า

“ถ้าเมื่อไรเราเข้าใจความเปลี่ยนแปลง เราจะมองเห็นความสวยงาม เวลาเปลี่ยน ของเปลี่ยน เวลาเปลี่ยน ของบางอย่างยังคงอยู่ ถ้าอยู่ในขณะเปลี่ยนสภาพ ก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงมัน ให้คงสภาพนั้นไว้ เพียงแต่ดึงคุณค่ามันออกมา

“BASIC TEEORY ทำให้เราเรียนรู้ว่าทุกอย่างมีค่าทั้งนั้น คนทุกคน ชีวิตทุกชีวิต และของทุกอย่าง”

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan