คุณวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล หรือ พี่เป้า เป็นมัณฑนากรที่โด่งดังระดับแถวหน้าของเอเชีย และเป็นนายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย

เธอเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท P49DEESIGN AND ASSOCIATES โรงแรมที่เธอออกแบบกระจายตัวอยู่ในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่โฮสเทลจนถึงโรงแรมหกดาว และตั้งแต่กลางทะเลทรายไปจนถึงกลางมหานครใหญ่ เธอกวาดรางวัลใหญ่ในระดับโลกมาแล้วมากมาย

ล่าสุดเธอได้รับรางวัลนักออกแบบไทย (Designer of the Year Award) ปี 2017 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หมวด Honor Award สาขา Interior Design

เธอบอกกับเราว่า เธอเรียนไม่เก่ง เขียนตีฟ (perspective หรือการเขียนภาพทัศนียภาพ) ไม่เป็น สเกตช์แบบได้แย่มาก และเปิดคอมพิวเตอร์ไม่ได้

เธอย้ำกับเราหลายรอบว่า ไม่ได้พูดเล่น

แล้วอะไรทำให้เธอกลายมาเป็นนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของเอเชีย

คุณก็อยากรู้เหมือนกันใช่ไหม

วิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล

ออกแบบโรงแรมให้สวยน่ะง่าย แต่…

“ออกแบบโรงแรมให้สวยน่ะง่าย” พี่เป้าเริ่มต้นเล่าถึงความท้าทายของอาชีพมัณฑนากร “แต่ที่ยากคือ เราต้องรู้จักโครงสร้างและฟังก์ชันที่ซ่อนอยู่อย่างถ่องแท้”

เธอเปรียบให้เห็นภาพว่า งานอินทีเรียดีไซน์ไม่ใช่การแต่งหน้าทาปาก หรือเลือกตุ้มหูมาใส่ แต่ต้องเริ่มต้นดูจากโครงหน้าว่ามาดีแล้วหรือยัง จะปรับยังไงได้บ้าง เพื่อให้พื้นที่ภายในอาคารหลังนั้นสอดคล้องกับการใช้งานที่สุด

งานที่ถือว่ายากและซับซ้อนที่สุดของวงการอินทีเรียคือการออกแบบโรงแรม เพราะมันเต็มไปด้วยห้องหลากหลายประเภท แต่ละห้องล้วนต้องการความชำนาญเฉพาะด้าน ทั้งห้องใหญ่ที่ทุกคนนึกถึง และห้องเล็กห้องน้อยที่ใช้เก็บอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งต้องอยู่ให้ถูกที่ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ห้องพัก ซึ่งแขกทุกคนล้วนคาดหวังความสวยและความสบาย

ถ้าใครกำลังคิดว่า การออกแบบโรงแรมแค่ทำให้สวยก็พอ ถือว่าผิดถนัด

“เราต้องตีโจทย์ของลูกค้าให้ครบทุกมิติ ต้องศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อเอามาใช้ออกแบบ ศึกษาตลาดของเขา ศึกษาคู่แข่งของเขา ความสำเร็จของเราคือ ทำให้แขกอยากกลับมาใช้บริการซ้ำเพราะชอบ ถ้าเขาพักแล้วสบายด้วย ว้าวด้วย เขาก็อยากกลับมาอีก”

วิธีที่พี่เป้าใช้เช็กฟีดแบ็กของงานที่ง่ายที่สุดก็คือ ดูว่าเจ้าของโรงแรมกลับมาจ้างเราทำงานอีกไหม ซึ่ง P49 ได้ทำงานออกแบบให้เครือของโรงแรมใหญ่ๆ เกือบทุกแบรนด์ในเอเชีย และอยู่ในลิสต์ของนักออกแบบที่โรงแรมชั้นนำของโลกยอมรับ นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า งานที่ผ่านมาของ P49 คงไม่ค่อยผิด

137 Pillars Chiangmai 137 Pillars Chiangmai 137 Pillars Chiangmai

137 Pillars Chiangmai

คนขี้เบื่อมืออาชีพ

เวลาพี่เป้าออกแบบโรงแรม เธอชอบให้แขกที่มาพักได้สัมผัสถึง Sense of place หรือรู้สึกว่าได้อยู่ในเมืองนั้นจริงๆ จึงพยายามเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ให้ถูกกาลเทศะ การทำงานจึงเริ่มต้นจากการเจาะลึกวัฒนธรรมเพื่อดูว่าหยิบอะไรมาเล่นได้บ้าง เล่นยังไง เอามาใช้เลย หรือเอามาปรับให้เหมาะกับงาน เหมาะกับแบรนด์ของเขาก่อน

ไม่ว่าการสัมภาษณ์ครั้งไหน พี่เป้าก็ยืนยันเหมือนเดิมว่า P49 ไม่มีสไตล์และลายเซ็นเฉพาะตัว ครั้งนี้ก็เช่นกัน

“พี่อยากพูดแบบภาคภูมิใจด้วยว่า เราถนัดหลายสไตล์ด้วย เพราะเราเป็นคนขี้เบื่อ ไม่ชอบอะไรจำเจ เลยหาอะไรใหม่ๆ มาให้ลูกค้า แต่ละงานเราคิดจากคาแรกเตอร์ของแบรนด์ว่า เด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ หรือคนเปรี้ยว สถานที่ตั้งอยู่ตรงไหน กรุงเทพฯ ภูเก็ต บาหลี หรือปักกิ่ง แล้วทิศทางการตลาดจะไปทางไหน พอมีเรื่องหลากหลายให้เล่นแล้ว ชีวิตมันโคตรสนุกเลย” พี่เป้าเล่าอย่างอารมณ์ดี

ถ้าเราไปถามคนในวงการอินทีเรีย ทุกคนพูดตรงกันว่า ลายเซ็นของ P49 ไม่ใช่สไตล์ แต่เป็นเรื่องฟังก์ชันการใช้งาน ซึ่งพี่เป้าก็พยักหน้ารับ

“ไม่ว่าเราจะทำงานที่ใหม่หรือหวือหวาแค่ไหน ความสบายต้องอยู่ครบ และฟังก์ชันต้องได้หมด อย่าให้ดีไซน์กลบประโยชน์ใช้สอย พี่ย้ำกับทีมเสมอว่า ความรู้สึกที่เดินเข้าโรงแรมไปแล้วว้าว นั่นก็เท่ นี่ก็เท่ มันหวือหวาอยู่ได้กี่นาที พอคุณเปิดกระเป๋าเอาของออกมาตั้ง ที่วางแว่นตาก็ไม่มี ที่วางครีมก็ไม่พอ ความรู้สึกหวือหวามันหายไปไหม ความรู้สึกหงุดหงิดอยากเจริญพรคนออกแบบว่าไม่มืออาชีพก็มาแทน ถ้าคุณออกแบบแล้วเขาอยู่ไม่สบาย ใช้งานไม่สะดวก ไม่่ว่าจะเป็นงานใหญ่หรืองานเล็ก อนาคตคุณไม่สดใสแน่นอน”

วิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล

พี่ไม่ได้มาเล่นๆ

“ไม่เคยมีช่วงไหนเลยที่มั่นใจว่า การเลือกเป็นอินทีเรียเนี่ย มาถูกทางแล้ว” พี่เป้าตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

ลูกสาวเจ้าของห้องเสื้อ ‘กรแก้ว’ ถูกส่งไปเรียนประจำที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 14 ปี พี่เป้าสนใจด้านการออกแบบเครื่องประดับและงานปั้น แต่ยุคนั้นน่าจะเอามาต่อยอดที่เมืองไทยยาก เธอก็เลยเลือกเรียน Interior Design ที่ Inchbald School of Design ในประเทศอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นสาขาที่ใหม่มากสำหรับเมืองไทยยุคนั้น

เมื่อเรียนจบกลับมา พี่เป้าเริ่มต้นทำงานในบริษัท Rifenberg and Rirkrit Architects พอปี 2521 พี่เป้าและเพื่อนมัณฑนากรฝีมือดีอย่าง คุณเปี๊ยะ-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ก็ร่วมกันเปิดบริษัท P49DEESIGN AND ASSOCIATES ของตัวเอง เมื่อถึงปี 2542 ทั้งคู่ก็แยกย้าย พี่เป้าย้ายมานั่งเก้าอี้ CEO บริษัท P49DEESIGN AND ASSOCIATES ของตัวเอง จนกระทั่งปัจจุบัน

เจ้าของบริษัทอินทีเรียดีไซน์เล่าว่า เธอเรียนหนังสือไม่เก่ง งานที่ทำตอนเรียนก็ไม่ได้โดดเด่น จุดเปลี่ยนสำคัญคือตอนที่เริ่มทำงานจริง

“พอเริ่มทำงานก็รู้สึกว่า อันนี้มันของจริงเว้ย ไม่ใช่แค่ได้คะแนน แต่เราได้เงินจริงๆ เราเลยกลัวคนตราหน้าว่าไม่มืออาชีพ ทำอะไรเล่นๆ ความกลัวนี้อาจจะเป็นแรงผลักให้เราทำงานแบบตั้งใจสุดขีด” พี่เป้าย้อนหลังถึงตอนทำงานใหม่ๆ เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน

งานแรกๆ ของเธอเป็นงานที่คนใกล้ตัวมาขอให้ช่วยออกแบบเรือนหอ พอจะคลอดก็มาขอให้ทำห้องลูก แล้วค่อยๆ ขยับเป็นทำบ้านทั้งหลัง งานตกแต่งภายในโรงแรมงานแรกที่ได้ทำคือ โรงแรมเพนนินซูล่า (แล้วเปลี่ยนเป็นโรงแรม Regent ต่อมาก็เป็น Four Seasons และปัจจุบัน คือโรงแรมอนันตรา ราชดำริ) ซึ่งเราก็มีส่วนร่วมในการรีโนเวตมาด้วยทุกสมัย แต่ทำแค่ห้องอาหารไทยสไปซ์มาร์เก็ตกับทำห้องรอยัลสวีต งานเราก็ได้ลงนิตยสารเสมอ
ล่าสุดก็ลงนิตยสารท่อเที่ยว Travel + Leisure โรงแรมที่เราทำติด Top List 3 โรงแรม

Anantara Siam Bangkok Hotel

Anantara Siam Bangkok Hotel

พี่เป้าเล่าเคล็ดลับในการทำงานของคนทำงานไม่เก่งให้ฟังว่า “เราก็ต้องทำการบ้านให้มากขึ้น อย่างเรื่อง Space planing ไม่ใช่คิดรอบเดียวแล้วจบเลย เราต้องคิดต่อว่ามันจะเป็นอะไรได้อีกบ้าง เหตุผลคืออะไร ทำไมเราถึงชอบทางนี้ที่สุด ต้องมีที่มาที่ไป ลูกค้าชอบถามว่า แล้วถ้าเป็นอย่างนี้อย่างนั้นล่ะ เราต้องตอบได้หมดว่า ถ้าจะเป็นอย่างนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ดีหรือไม่ดีกว่ากันอย่างไร เพราะเราศึกษามาทุกมุมแล้ว ลูกค้าก็จะอุ่นใจว่าเราคิดเผื่อให้เขาแล้วจริงๆ”

ขายงานได้ตามเป้า

เวลาเปิดพอร์ตฟอลิโอให้ลูกค้าดู แต่ละรูปคุณต้องเล่านิทานประกอบว่ามันเป็นยังไงมายังไง นิทานสำคัญเท่าๆ กับความสวยพี่เป้าอธิบายถึงวิธีขายงาน ซึ่งนิทานที่เธอพูด หมายถึงการเล่าคอนเซปต์ให้ลูกค้าเข้าใจ

บางคนทำงานมาดีเลย แต่ตกม้าตายตอนพรีเซนต์ ถึงคุณจะออกแบบเก่งแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่มีความสามารถในการขายแบบของคุณ ทำให้ลูกค้าเข้าใจไม่ได้ เห็นด้วยกับดีไซน์ของคุณไม่ได้ ก็จบ

ฟังดูคล้ายกับว่า ถ้าอยากเป็นมัณฑนากรที่ดี ต้องมีความสามารถในการเล่านิทาน

แน่นอนพี่เป้าเน้นเสียง ทุกอาชีพด้วย คุณเป็นนักเศรษฐศาสตร์ จะไปขายโปรเจกต์ให้เจ้านาย ไปขอกู้เงินธนาคาร คุณก็ต้องเข้าใจโปรเจกต์ของคุณอย่างถ่องแท้ ต้องโน้มน้าวเขาให้เห็นด้วย เขาถึงจะให้คุณกู้เงิน”

คนรอบตัวพี่เป้าต่างยืนยันว่า พี่เป้ามีวิธีการขายงานที่สนุกและทรงพลังมาก แต่พี่เป้าส่ายหน้าปฏิเสธว่า ก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรขนาดนั้น แต่ก็พอจะมีหลักอยู่บ้าง

“แบบที่คุณเอามาพรีเซนต์ คุณต้องบอกให้ได้ว่า ทำไมคุณถึงเลือกทำสิ่งนี้ อะไรคือสิ่งที่คุณเชื่อ และอยากพาลูกค้าไปให้ถึงด้วยประสบการณ์ทั้งหมดที่คุณมี แล้วคุณก็ต้องแสดงความจริงใจ ทำให้เขาเชื่อใจคุณ อาจจะด้วยผลงานที่ผ่านมา สิ่งสำคัญคือ คุณต้องฟังเขาเพื่อมาย่อย ไม่ใช่ฟังเพื่อจับผิดว่า คุณรสนิยมไม่ดีอีกแล้ว

แล้วถ้าลูกค้าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เสนอ

ก็ไม่ว่ากัน เขาอาจจะยังเห็นมาไม่มากพอ พี่ก็จะทำสิ่งที่เขาอยากได้ไปให้เขาดู แต่ขอเสนอบางอย่างในสิ่งที่ฉันเชื่อว่ามันควรจะไปในทางนั้นให้ดูด้วย มันเป็นสิ่งที่จะทำให้โรงแรมคุณไม่ตกยุคในอีก 10 ปีข้างหน้า ต้นทุนอาจจะเพิ่มนิดหน่อย แต่ในระยะยาวมันจะคุุ้ม สุดท้ายเขาก็ยอมเสียเงินเพิ่มทั้งนั้น

แล้วถ้าลูกค้าไม่เห็นด้วยจริงๆ

สิ่งไหนที่พี่เชื่อมากๆ พี่ต้องหาเหตุผลชักแม่น้ำทั้งห้าโน้มน้าวเขาให้ได้ เหตุผลต้องแม่น ต้องอธิบายให้ชัดเจน และต้องเลือกคำพูดให้ดี แต่ถ้าสุดท้ายเอาไม่อยู่ พี่ก็จะไม่โทษลูกค้า แต่จะโทษว่าเป็นความผิดของฉันเองที่ทำให้เขาเห็นด้วยไม่ได้

วิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล

วิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล

Work & Travel

แม้ว่าพี่เป้าจะเห็นงานดีๆ มาทั้งชีวิต แต่ตอนนี้เธอก็ยังมีงานที่เห็นแล้วรู้สึก ‘อิจฉา’ เป็นประจำ

“พี่จะล้อตัวเองว่า ฉัน turn green with envy คือหน้าเขียวด้วยความอิจฉา หงุดหงิด เพราะเราชื่นชมงานนั้นมากๆ มันมักจะเป็นการผสมกันที่ลงตัวมากของการใช้พื้นที่ การเลือกใช้วัสดุ สีสัน และอะไรทั้งหลาย”

พี่เป้าเล่าต่อว่า เมื่อก่อนเธอก็เหมือนมัณฑนากรทั้งหลายที่ต้องวิ่งดูงานออกแบบใหม่ๆ ตามโรงแรมต่างๆ เพื่ออัพเดตตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้เธอสนใจเรื่องพวกนี้น้อยลง แนวทางในการเที่ยวก็เปลี่ยนไป เธอเริ่มหันหลังให้เมืองแล้วมุ่งหน้าสู่ท้องถิ่น

พี่เป้าชอบพักในโรงแรมที่อยู่ในตึกเก่าซึ่งมีประวัติศาสตร์ หรือที่พักที่ให้ประสบการณ์แปลกๆ เช่น โรงแรมที่ดัดแปลงจากโรงงานทำน้ำมันมะกอก เธอยืนยันว่า การพักในโรงแรมเป็นประสบการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเดินทาง จากความต้องการโดยส่วนตัวอันนี้ก็จะยึดเป็นหลักหนึ่งในการออกแบบโรงแรม ที่ให้ประสบการณ์ที่พิเศษต่อผู้มาพัก บางทีเราจะไปไหนเราอาจจะเลือกโรงแรมที่อยากไปอยู่ก่อนตัวเมืองด้วยซ้ำ แม้จะตื่นตาตื่นใจกับการออกแบบที่ลงตัว เธอก็แค่ชื่นชมความงามตรงหน้า แต่ไม่ได้ถอดรหัสว่านักออกแบบคิดอะไร หรือสเกตช์แบบเก็บไว้ เก็บแต่ความรู้สึก แล้วเอาความรู้สึกนั้นๆ มาใส่ในงานของเธอ

พอเห็นพี่เป้าสนใจท่องเที่ยวแนวนี้ ก็อยากรู้ว่าเธออยากลองออกแบบที่พักแนวโฮมสเตย์ในบ้านเราบ้างไหม

“อยากทำชิบเป๋ง แต่ยังไม่มีใครมาจ้าง” เธอตอบทันทีด้วยแววตาเป็นประกาย “มันน่ารักดีนะ พี่โคตรมีความสุขเลย ได้ไปอยู่ในบ้านคน ยุคนี้คนค่อยๆ ตื่นตัว เริ่มตระหนักแล้วว่าบ้านเรามีทรัพยากรอะไรอยู่บ้าง และสามารถส่งเสริมให้มันเป็นอะไรได้บ้าง มันเป็นวิถีที่น่ารักจะตาย”

ถ้าได้ทำงานนี้จริงๆ พี่เป้ามองว่า ข้อจำกัดคงอยู่ที่เจ้าของบ้านไม่ได้มีทุนเยอะ จะมาขอทุบกำแพง ใส่ห้องน้ำคงไม่ได้ คงต้องเล่นกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว งานแบบนี้ไม่ใช่ Interior Designer ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่ทุกอย่าง แต่เป็น Interior Decorator ที่ทำแค่ขยับตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย ตั้งแจกันตรงนั้น วางกรอบรูปตรงนี้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังน่าทำอยู่ดี

เป้าไม่มีเป้า

เมื่อถามถึงเป้าของเป้า

“เป้าไม่มีเป้า” พี่เป้าตอบพร้อมเสียงหัวเราะ “เป้าอยู่กับปัจจุบัน”

ที่ผ่านมา พี่เป้าไม่เคยวางแผนเลยว่าบริษัทจะเติบโตอย่างไร เมื่อก่อนพอได้ทำบ้าน เธอก็อยากทำโรงแรม พอได้ทำโรงแรมก็อยากทำโรงแรมห้าดาวหกดาว อยากทำโรงแรมที่ต่างประเทศ งานแรกที่ได้ทำคือ การรีโนเวตห้องบอลรูมของโรงแรมอิมพีเรียล โรงแรมเก่าแก่ที่เมืองเดลี ประเทศอินเดีย งานนั้นเธอได้ทำเพราะมีเพื่อนเป็นสถาปนิกอยู่ที่นั่น จากนั้นก็ได้ทำงานโรงแรมที่จีน บาหลี และอีกหลายประเทศ เพราะชื่อเสียงจากการบอกปากต่อปาก จนตอนนี้การออกแบบโรงแรมในต่างประเทศคืองานหลักของ P49

“พี่พยายามอยู่กับปัจจุบัน ทำงานปัจจุบันให้ดีที่สุด งานปัจจุบันไม่ดีเมื่อไหร่ อนาคตไม่ดีเมื่อนั้น เพราะวงการมันแคบ” พี่เป้าเน้นเสียง

Alila Jabal Akhdar, Oman Alila Jabal Akhdar, Oman Alila Jabal Akhdar, Oman

Alila Jabal Akhdar, Oman

งานของนักออกแบบ

ไม่น่าเชื่อว่า นายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย เจ้าของรางวัล Designer of the Year คนนี้ สเกตช์แบบไม่เป็น

“พี่สเกตช์ไม่เป็น เขียนตีฟ (perspective) ก็ไม่เป็น สมัยทำงานใหม่ๆ เวลาขายแบบต้องไปจ้างคนมาสเกตช์ให้ ที่ผ่านมาก็ให้คนอื่นเขียนตลอดนะ คนไหนเขียนเก่งๆ ก็เขียนไปสิ พี่ทำได้แค่สเกตช์ยึกๆ ยักๆ แล้วพากย์ให้เขาฟัง ถ้าให้พี่เขียนเองแล้วเอาไปขายลูกค้านะ เจ๊งไปตั้งนานแล้ว” พี่เป้าหัวเราะ

“คอมพิวเตอร์ดิฉันก็เปิดไม่เป็น เคยมีคนมาสอน ต้องเขียนโพยให้ สักพักก็ลืม เล่นไอแพดเป็นก็เก่งมากแล้วนะ” พี่เป้าหัวเราะอีกรอบ

แล้วพี่เป้าเป็นนักออกแบบแถวหน้าของเอเชียได้ยังไง

คำถามนี้ทุกคนคงอยากรู้

“ก็ออกแบบได้สิ จะอะไรล่ะ” พี่เป้าหัวเราะเสียงดัง น่าจะเป็นการหัวเราะที่ดังที่สุดในการสนทนาวันนี้

“สิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบคือการคิด ถ้าคุณคิดได้ คุณไปหาใครมาเขียนให้ก็ได้” นั่นคือประโยคปิดท้ายของนักออกแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย


หลากงานออกแบบที่บ่งบอก Sense of place จาก P49DEESIGN

01

โรงแรม Mandarin Oriental

ประเทศไทย

Mandarin Oriental

“งานที่สะท้อนถึงช่วงเวลาการเกิดขึ้นของอาคารเดิมในโรงแรมแห่งนี้ที่เก่าแก่ถึง 140 ปี งานออกแบบจึงย้อนกลับไปในยุคสมัยที่งานสถาปัตย์เริ่มได้รับอิทธพลจากงานฝั่งยุโรป”

02

โรงแรม Le Meridien Chiang Rai Resort

ประเทศไทย

 Le Meridien Chiang Rai Resort

“ผนังกระจกโมเสกสะท้อนถึงสถาปัตยกรรมของวัด งานแลกเกอร์ของภาคเหนือที่เอามาใช้เป็นงานศิลปะได้เปลี่ยนวิธีการใช้งาน และเปลี่ยนสีสันให้สมัยใหม่ขึ้น”

03

โรงแรม InterContinental Nha Trang

ประเทศเวียดนาม

InterContinental Nha Trang

“สะท้อนให้เห็นถึงที่ตั้งของโรงแรมที่อยู่บนชายหาด Nha Trang โดยมี Artwork และ Decorative Screen ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแหและอวนซึ่งเป็นเครื่องมือจับปลาของชาวประมงท้องถิ่น”

04

โรงแรม Taj Tashi, Thimpu

ประเทศภูฏาน

Taj Tashi, Thimpu Taj Tashi, Thimpu

“เราเลือกใช้ลวดลายไม้แกะตามลักษณะของงานภูฏานที่เรียกว่า ‘Double Dorji’ มาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการออกแบบ”

05

โรงแรม Hotel Indigo Lijiang Ancient Town

ประเทศจีน

Hotel Indigo Lijiang Ancient Town

“แรงบันดาลใจในการออกแบบงานนี้จาก Tea Horse Trail เพราะเดิมท้องถิ่นนี้เป็นแหล่งปลูกชา ค้าขายชา ค้า ขายผ้าไหม โดยในสมัยโบราณใช้วิธีขนส่งด้วยม้า”

06

โรงแรม Alila Jabal Akhdar

ประเทศโอมาน

Alila Jabal Akhdar

“เลือกใช้หินเป็นวัสดุหลักในการออกแบบ เพราะหินเป็นวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ ลายเหล็กดัดได้แรงบันดาลใจจากดอกกุหลาบ ดอกไม้ที่นิยมปลูกกันในบริเวณนั้นเพื่อไปทำน้ำหอม”


ส่งผ่าน 5 เคล็ดลับกับงานอินทีเรียแบบรุ่นสู่รุ่น

01 โจทย์เป็นเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง

“ต้องตีโจทย์ให้แตก โจทย์เป็นเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง โจทย์จากลูกค้าจะมาเป็นตัวหนังสือ เป็นคำพูด เราต้องตีความว่า มันจะเป็นสีอะไร ใช้วัสดุอะไร รายละเอียดเป็นยังไง”

02 อย่าตีกรอบตัวเองมากนัก

“มีอะไรใหม่ๆ เข้ามา ต้องเปิดรับเยอะๆ การมีสไตล์ทำให้ชัดเจน ถ้าชอบงานแบบนี้ให้มาหาคนนี้ แต่ภาพรวมของเราไม่ใช่อย่างนั้น เราชอบหาอะไรใหม่ๆ มาเล่นอยู่ตลอด งานเราเลยหลากหลาย”

03 ทุกงานเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของลูกค้า

“งานเราทุกชิ้น โดยส่วนตัวแล้ว อาจไม่ใช่สิ่งที่เราชอบที่จะอยู่อาศัยใช้เอง แต่เราต้องรู้ว่างานชิ้นนั้นเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่สุด เขากับเราคือคนละคนกัน เขามาหาเราให้ช่วยคิดว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเขา ถ้าเราเก่งจริง เราต้องทำได้”

04 Designer as a salesman

“เวลาขายแบบ ต้องอธิบายแบบให้เก่ง บางคนทำแบบสวยมากเลย แต่ขายไม่เป็น พูดแล้วเอาลูกค้าไม่อยู่ ของแบบนี้มันต้องซ้อมนะ ต้องตอบเหตุผลลูกค้าให้ได้”

05 ดีไซเนอร์ที่ดีไม่มีจนมุม

“ถ้าลูกค้าไม่ชอบแบบที่เราทำไป แปลว่า เราอาจจะตีโจทย์ผิด ต้องฟังเขาดีๆ ดีไซเนอร์ที่เก่งจริงต้องหาคำตอบให้เขาได้เสมอ ไม่มีทางตัน ลูกค้าไม่ชอบแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีแบบอื่น ถ้าเราว่ามันไม่ดี ก็ต้องเอาของที่ดีกว่าไปเสนอ แต่ต้องตอบโจทย์เขาให้ได้ด้วย”

Save

Writers

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Avatar

ศาสตรา เฟื่องเกษม

คนทำนิตยสารที่ชื่นชอบประสบการณ์หลากหลายที่งานสัมภาษณ์พาไปเจอ และกำลังสนุกกับการลองเปลี่ยนงานเขียนและบทสัมภาษณ์ไปใช้ในสื่อรูปแบบอื่นๆ บ้าง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan