The Cloud X  Designer of the Year

 

ผศ. ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล

กล่าวอย่างรวบรัด งานศิลปะสิ่งทอ (Textile Art) หมายถึง งานศิลปะที่ใช้วัสดุหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเส้นใยพืช สัตว์ หรือเส้นใยสังเคราะห์ โดยใช้เทคนิคอย่างการถัก การทอ หรือแม้แต่การสาน

นักออกแบบสิ่งทอ (Textile Designer) จะสร้างงานเพื่อให้เห็นลักษณะของพื้นผิวสัมผัส ลวดลาย และสีสันของผืนผ้า

นักออกแบบเครื่องแต่งกาย (Fashion Designer) จะทำงานออกแบบโครงสร้าง รายละเอียดของเสื้อผ้า โดยจะคำนึงถึงองค์ประกอบอย่างแพตเทิร์น เนื้อผ้า ลายผ้า และรายละเอียดอื่นๆ บนผิวผ้า

ครั้งนี้เรามีนัดพูดคุยกับศิลปิน นักวิจัย อาจารย์ และนักออกแบบ ที่ทำงานศิลปะ ออกแบบสิ่งทอ และแฟชั่น

อย่าเพิ่งคิดว่าเรามีนัดกับกลุ่มนักออกแบบมากหน้าหลายตาที่ทำงานหลากหลายแขนงด้านบน เรามีนัดกับ ผศ. ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นักออกแบบที่ทำงานผสมผสานทั้งศิลปะ สิ่งทอ และแฟชั่น ด้วยกันตั้งแต่กระบวนการคิด ทดลองจนออกมาเป็นผลงานแบบรูปธรรม และเธอเพิ่งได้รับรางวัล Designer of the Year Award ปีล่าสุดในสาขา Textile Design ไปด้วย

ว่ากันในด้านวิชาการ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีที่คณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาประยุกต์ศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร และเรียนต่อปริญญาโทในสาขาทัศนศิลป์ที่ University of South Australia เมืองอะดิเลค ประเทศออสเตรเลีย น้ำฝนยังได้รับประกาศนียบัตรจากวิทยาลัยศิลปะและอุตสาหกรรมสิ่งทอขั้นสูงแห่งชาติ Ecole National Superiere Industria กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และปริญญาเอกด้านสิ่งทอ จากสถาบันศิลปะและการออกแบบเบอร์มิงแฮม เมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร ก่อนที่จะกลับมาเป็นหนึ่งในผู้เริ่มต้นบุกเบิกสาขาการออกแบบเครื่องแต่งกาย ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ส่วนด้านวิชาชีพนอกจากการทำงานศิลปะ งานเชิงพาณิชย์อย่างการออกแบบยูนิฟอร์ม หรือการเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ น้ำฝนยังทำงานร่วมกับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งทอ

“ตอนนี้กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ ในโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่หมู่บ้านหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี และพัฒนาลายทอของผ้าย้อมครามที่สกลนคร”

เธอเล่าขณะตรวจงานต้นแบบลายทอผ้าย้อมคราม “การทำงานกับชุมชนก็เหมือนกับการทำงานกับลูกค้า เวลาที่ต้องลงพื้นที่ เราต้องเอาตัวเองไปคลุกคลีกับพื้นที่นั้นๆ แล้วต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกันอย่างชัดเจน จะมีบ้างที่เวลาเราอยากทดลองเทคนิคหรือวิธีใหม่ๆ เขาอาจจะยังไม่เห็นภาพ จนต้องทำงานออกมาเป็นชิ้นจริงๆ แบบนี้” เธอเล่าพร้อมๆ กับให้เราดูลายทอผ้าครามหลากหลายลายที่เธอร่วมพัฒนากับชุมชน ก่อนเสริมต่อ “แต่พอเราลงพื้นที่ เราก็จะพบว่าแต่ละคนมีความถนัดและเฉพาะทางของตัวเอง อย่างการทอต้องไปหาคนนี้ การย้อมต้องไปพบคนนั้น”

การทำงานร่วมกับชุมชนของน้ำฝน เริ่มต้นจากธีสิสปริญญาเอกของเธอที่เลือกพัฒนาลวดลายผ้ามัดหมี่ของอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยหยิบเอารูปทรงเรขาคณิตมาช่วยทำให้ลวดลายมีความร่วมสมัยมากขึ้น

“การทอผ้ามัดหมี่สร้างความเซอร์ไพรส์ได้ตลอดเวลา การมัดย้อมด้ายหรือเส้นไหมให้เกิดสีหรือลวดลาย ก่อนที่จะนำไปทอเป็นผืนผ้า ซึ่งเส้นพุ่งอาจจะเป็นสีหนึ่ง เส้นยืนจะเป็นสีหนึ่ง พอทอเสร็จมันจะเหลื่อมล้ำกันของลวดลายกลายเป็นอีกสีหนึ่ง ถ้าเราผสมหรือใช้คู่สีผิด งานออกแบบก็จะผิดไปด้วย” น้ำฝนเล่าถึงเทคนิคในการทอผ้ามัดหมี่ ซึ่งนั่นเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นในการใช้สีสันจากเส้นใยมาสร้างงานศิลปะ

ผ้ามัดหมี่ thesis

งานธีสิสปริญญาเอกของน้ำฝนที่เป็นเหมือนการแสดงความสนใจเรื่องสีออกมาอย่างเป็นรูปธรรม น้ำฝนเลือกที่จะย้อมสีเส้นไหมใหม่และทำให้เกิดการผสมสีสันใหม่ผ่านการทอของเส้นพุ่งและเส้นยืน งานนี้เคยจัดแสดงถาวรอยู่ในพิพิธภัณฑ์ The Society of Dyers and Colourist ออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

 

มิติสีของงานสิ่งทอ

“การเลือกใช้สีสำคัญมากกับการออกแบบลายผ้า การที่เราออกแบบผ้าลายเดียวกันแต่คนละสี มันเหมือนผ้าคนละลาย สีจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการออกแบบและยังเป็นปัจจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะสีเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้า” น้ำฝนบอกพร้อมยกตัวอย่างสีของรองเท้า ที่เมื่อกวาดตาไปที่ชั้นวาง เรามักจะเลือกรองเท้าจากสีก่อน แล้วค่อยเดินไปสัมผัสกับวัสดุหรือลองสวมใส่ หรือเรื่องของเทรนด์การออกแบบที่ ‘สี’ มักจะสิ่งที่ถูกทำนายออกมาก่อนเสมอ

ซึ่งความสนใจในเรื่องสีของน้ำฝนได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจาก Mark Rothko ศิลปิน Abstract Expressionism ที่ให้ความสำคัญเรื่องการใช้สี “จะเห็นว่าเขาเพนต์รูปหนึ่งเป็นสีแดง โดยที่ไม่มีองค์ประกอบอื่นๆ ในภาพเลย แล้วคนไปดูงานก็ต่อแถวยาวเหยียด เราไปยืนดูจะเห็นว่าสีแดงของ Mark Rothko มันไม่ใช่สีแดง แต่ในแดงมีส้ม ในแดงมีเหลือง มีหลายๆ สีอยู่รวมกันในนั้น เราก็เลยได้แรงบันดาลใจตรงนั้นมาประยุกต์กับงานผ้าของเราเอา

ผ้า

ผศ. ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล

การทับซ้อนของเส้นใย

น้ำฝนประยุกต์งานศิลปะสิ่งทอของตัวเองไปพร้อมๆ กับการค้นหาและวิจัย กระบวนการทำงานของศิลปินและนักออกแบบของโลก “เรามองตัวเองแล้วเราต้องมองรอบๆ มองโลกด้วย เราดูว่าในโลกเขาใช้วัสดุอะไรกันบ้างหรือมีเทคนิคอะไรที่น่าสนใจที่จะมาประยุกต์กับงานเราได้” น้ำฝนเล่าถึงขั้นตอนการทำงานของเธอที่เริ่มต้นจากการวิจัยข้อมูลจากทั่วโลก โดยนอกจากเรื่องสีแล้ว ความโปร่งแสง และเลเยอร์ก็เป็นอีกเรื่องที่เธอให้ความสำคัญ “ผ้าชนิดเดียวกันแต่ก้มีเนื้อสัมผัสหลากหลายที่ต่างกัน ผ้าแก้ว ผ้าออกแกนซ่า เป็นผ้าที่เราสนใจ” น้ำฝนเสริมถึงเครื่องมือสำคัญที่เธอนำมาใช้สร้างสรรค์งาน ก่อนจะหยิบเอาผ้าตัวอย่างมาให้เราสัมผัส “ผ้ามีลักษณะโปร่งแสง แต่มันก็มีหลายเนื้อ อย่างออกแกนซ่าที่มีกลิตเตอร์ มันก็จะมีความมัน ออแกนซ่าที่มีเนื้อด้าน หรือออแกนซ่าที่เป็นผ้าไหม เราต้องค่อยๆ เรียนรู้แต่ละเส้นใย”

ความโปร่งแสงของผ้าแก้ว ที่เมื่อวางซ้อนกับสีหนึ่ง มันจะกลายเป็นอีกสี กลายเป็น multiple colour ก็เหมาะเจาะพอดีกับความสนใจเรื่องสีของน้ำฝน

“งานของเรา มันเป็นเรื่องของสี การผสมผสานของสีทำให้เกิดสีใหม่ เป็นมิติของผ้าที่ขยายต่อสู่งานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าแบบไหน มันก็มักจะสื่อถึงมิติของการซ้อนทับที่สร้างให้เกิดพื้นผิวใหม่ๆ ไปพร้อมกัน”

 

ผ้าออแกนซ่า

การผสานกันของ 3 ศาสตร์

ด้วยพื้นฐานการเรียนทัศนศิลป์ แฟชั่นและสิ่งทอ การทำงานของน้ำฝนจึงเป็นการผสมผสานทั้งสามศาสตร์ไว้ด้วยกัน“เราไม่ได้ทำศิลปะซะทีเดียว ไม่ได้ทำผ้าซะทีเดียว ไม่ได้ทำแฟชั่นซะทีเดียว แต่เราใช้ทั้งสามสิ่งให้อยู่รวมกัน ทำไปพร้อมกัน แล้วเราคิดว่ามันเป็นวิธีที่สนุกสำหรับเรา เราทดลองทำผ้าก่อน แล้วมีแนวคิดต่อยอดว่า ผ้าชิ้นนี้มันน่าจะเอาไปทดลองทำแฟชั่น ทำศิลปะ ทำงานเทกซ์ไทล์ได้ ดั้งนั้นกระบวนการทำงานและปลายทางของเรามันจะตอบทั้งสามวัตถุประสงค์ ใช้เพื่อแฟชั่น ใช้เพื่อศิลปะ ใช้เพื่อเทกซ์ไทล์”

เอกลักษณ์หรือลายเซ็นจำเป็นกับการเป็นสร้างสรรค์งานไหม เราสงสัยเพราะเป็นลองไล่ดูชิ้นงานบนสตูดิโอชั้นสองของน้ำฝน เราก็พบว่าถ้าเห็นงานลักษณะนี้ในที่อื่นๆ ก็คงรู้ตัวคนสร้างงานได้แบบไม่ต้องไล่ดูชื่อ “ถ้าเป็นศิลปินเราคิดว่าจำเป็น เพราะมันจะได้มีจุดยืนของตัวเอง ลองคิดว่าเราถ้ามีแบรนด์สักแบรนด์หนึ่งมันต้องมีคาแรกเตอร์ของแบรนด์ว่าแบรนด์นั้นๆ มีจุดเด่นเรื่องอะไร เพื่อให้คนจดจำได้ว่าเป็นงานของเรา เหมือนงานศิลปะที่ลายเส้นสโตรกแบบนี้เป็นของศิลปินท่านนี้ เพราะฉะนั้น งานไม่ควรจะเป็นงานใหม่อยู่ตลอด มันควรจะพัฒนาจากงานเดิมให้มันมีลำดับที่ดีขึ้น แต่ถ้าศิลปินไปทำงานออกแบบแฟชั่น ก็น่าจะดึงคาแรกเตอร์จากลายเซ็นนั้น โดยดูเทรนด์ในภาพรวม”

รองเท้า

หัวใจของการพัฒนาแฟชั่น คือ Raw Material

งานสิ่งทอมีหลายประเภทมาก ถ้าใครสนใจงานด้านนี้อยากให้ลองกลับไปสำรวจว่าตัวเองสนใจเรื่องไหน โครงสร้างของสิ่งทอ การทอ บางคนอาจจะอยากเรียนการถัก การถักก็มีให้เลือกอีกว่า ถักมือหรือเป็นเครื่องจักร หรือชอบเรื่องการพิมพ์การย้อม วิศวะสิ่งทอก็เป็นทางเลือกได้” น้ำฝนเอ่ยถึงทางเลือกสำหรับคนที่กำลังสนใจงานด้านสิ่งทอ  

“นักออกแบบต้องเป็นนักทดลองไปในตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัตถุดิบ เรื่องของผ้า เรื่องของอะไหล่ Accessory ที่จะใช้ในคอลเลกชัน คอนเซปต์ที่แข็งแรงเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไทย โดยที่ไม่ละเลยสภาพแวดล้อมของโลก” น้ำฝนบอกถึงคุณสมบัติที่นักออกแบบควรจะมีติดตัว เพราะตอนนี้ผู้บริโภคเปิดใจรับกับสินค้าใหม่ๆ ซึ่งเป็นโอกาสดีของนักออกแบบไทยได้แสดงศักยภาพ บนพื้นฐานของสินค้าที่มีคุณภาพ “คอนเซปต์การออกแบบที่แข็งแรง เราควรจะต้องมีความต่างกันในเรื่องของวัสดุ” น้ำฝนตอบคำถามเรื่องหัวใจของการพัฒนางานออกแบบพร้อมยกตัวอย่างถึง เทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าที่จะไม่หนีไปไหน และมีกรอบที่หมุนวนกลับมามีความนิยมใหม่ในระยะเวลาหนึ่ง อย่างโจงกระเบน ที่เมื่อระยะเวลาผ่านไปก็จะหันมานิยมอีกครั้ง

“สิ่งที่จะทำให้ต่าง คือเทกซ์ไทล์และวัสดุของชุดนั้นๆ ซึ่งเทกซ์เจอร์หรือวัสดุของชุด ก็เกิดจากการสร้างผ้า เพราะฉะนั้น Raw Material จึงสำคัญ เราจะต้องทำให้วัสดุมีความพิเศษและใหม่ การพัฒนาเส้นใยในหลากหลายประเภท หรือสิ่งทอจึงเป็นเรื่องจำเป็นในวงการออกแบบของบ้านเรา”

 

5 งานที่บอกเล่าความสัมพันธ์ของเส้นด้ายในแบบ ผศ. ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล

01 เมื่อศิลปะ สิ่งทอ และแฟชั่น รวมเป็นเรื่องเดียวกัน

“เราทำงานศิลปะ แฟชั่น เทกซ์ไทล์ 3 อย่างรวมกัน ไม่ได้คิดว่าต้องทำชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เวลาทำงานชิ้นหนึ่งก็จะคิดว่าสามารถพัฒนาเป็นงานอีกชิ้นได้ด้วย อย่างงานรูปวงกลมที่เห็น มันจะเป็นงานศิลปะติดผนังก็ได้ แต่ก็คิดว่ามันสามารถขยับมาเป็นกระโปรงไว้สวมใส่ได้เหมือนกัน เลยสร้างแพตเทิร์นกระดาษ แล้วทำงานศิลปะชิ้นเดียวกันนี้แหละให้เป็นกระโปรงด้วย”

ผ้า นางแบบ

02 มิติ สะท้อน ซ่อน สัมผัส

“Deconstruct for Reconstruct เป็นการสร้างงานจากการทำลายโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผ้าที่ทำจากการทอ หรือทำจากการถัก โดยการกรีด การตัด การเลาะ เส้นด้ายเดิมที่มีอยู่ หลังการทำลายโครงสร้างของผ้าเดิมแล้วก็จะ reconstruct ด้วยการจัดวางองค์ประกอบของผ้า รวมถึงองค์ประกอบของสีเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างโครงสร้างใหม่ โดยเสริมด้วยการทำภาพพิมพ์ การเพนต์ การตัดต่อผ้า”

ผ้า ออกแบบ

03 การออกแบบชุดเฉดสีเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านมุมมองการสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นและสิ่งทอ

“เฉดสีสามารถนำมาเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงเอกลักษณ์ของพื้นที่ได้ งานนี้เราวิจัยชุดสีของจังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม  คือ สถาปัตย์ฯ เครื่องแต่งกายและสิ่งทอ พื้นผิว หัตถกรรมและความเชื่อ วิถีชีวิตและสังคมเมือง เริ่มจากการสำรวจพื้นที่ รวบรวมภาพถ่ายซึ่งก็เป็น 1,000 รูป แล้วก็เอามาวิเคราะห์กับทางวิศวกรสิ่งทอเพื่อเทียบสีกับ pantone โดยนอกจากการเทียบสีทางสถิติแล้วกลุ่มสีที่ได้ก็มาจากแรงบันดาลใจของเราตอนที่เก็บข้อมูล อย่างการที่เราเห็นวัดเป็นสีน้ำตาล มีฉากหลังเป็นต้นไม้สีเขียว โดยที่ข้างหน้ามีธงสีเหลือง เมื่อมันรวมกันก็เป็นสีใหม่ จากนั้นก็จะเอาชุดสีที่ได้มาย้อม แล้วก็ทอเป็นผ้า หรือใช้กระบวนการ Deconstruct for Reconstruct เป็นงานศิลปะอีกครั้งหนึ่ง”

 

ผ้างานศิลปะสิ่งทอแรงบันดาลใจจากหัตถกรรมและความเชื่อ
ผ้า
งานศิลปะสิ่งทอแรงบันดาลใจจากพื้นผิว

04 See in Sew

น้ำฝนได้รับทุนในการสร้างสรรค์ผลงานจากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไต้หวัน ในปี 2016 “การพัฒนางานออกแบบจากงาน 2 มิติแบบเทกซ์ไทล์ให้อยู่ในโครงสร้างงานแบบสามมิติ อย่างแฟชั่นในอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือการทำรองเท้า อย่างคู่ที่เป็นรองเท้าส้นสูง คือการเอางานศิลปะผ้าออกแกนซ่าที่สร้างเป็นเลเยอร์ไว้มาถ่ายเป็นลายพิมพ์ แล้วสกรีนลงบนผ้าฝ้ายและกำมะหยี่”

รองเท้า รองเท้า

05 งานสร้างแบรนด์รองเท้า

ความชอบและสนใจรองเท้าตั้งแต่เด็ก (เธอบอกว่าจริงๆ แล้วชอบมากกว่าเสื้อผ้าซะอีก) และมีโอกาสทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทผลิตรองเท้าส่งออก ปัจจุบันน้ำฝนจึงพัฒนางานออกแบบของตัวเองสู่การสร้างแบรนด์รองเท้า ถึง 2 แบรนด์

ORAON แบรนด์รองเท้าแสนหวานที่แปลว่า ผู้ญิ้งผู้หญิง พัฒนามาจากงานออกแบบสิ่งทอของน้ำฝน ที่เป็นการทำลายโครงสร้างผ้าเดิมโดยลองดึงเส้นใยออกจากผ้าไหม แล้วนำไปปักใหม่อีกครั้ง  เป็นการแสดงทักษะของช่างที่ทำด้วยมือทุกคู่

 

รองเท้า

DEVANT เกิดจากความชอบรองเท้าส้นแฟลต DEVANT รองเท้าที่ไม่ได้ตามเทรนด์แฟชั่น หากแต่ใส่ได้หลากหลายโอกาส ไม่ตกยุค ดังคอนเซปต์ที่ว่า Not a WOW shoes but forever your favorite  ที่ใส่ได้ในหลากหลายโอกาส โดยล่าสุดน้ำฝนพัฒนางานออกแบบรองเท้า dress shoes ให้เข้ากับนวัตกรรมของรองเท้าผ้าใบ รวมถึงงานร่วมกับศิลปินชื่อดังอย่างชลิต นาคพะวันในการสร้างลวดลายบนรองเท้าด้วย

devant

 

 

เหล่าข้าวของขาประจำที่ถูกวางไว้บนโต๊ะทำงาน

01 หนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง ‘สี’

หนังสือ

 

เพราะความชอบเรื่องสีเป็นทุนเดิมทำให้น้ำฝนสะสมหนังสือเกี่ยวกับสีเอาไว้หลายต่อหลายเล่ม นอกจากหนังสือความหมายของสี ทฤษฎีสี หรือการจับคู่สีแล้ว สีระหว่างการเดินทางก็เป็นอีกสิ่งที่น้ำฝนสนใจ “แต่ละที่ที่เราไป เรามักจะได้เห็นชุดสีของเมืองหรือจังหวัดนั้นๆ ด้วย”

 

02 หนังสือรวบรวมงานของศิลปินและนักออกแบบ

Issey Miyake

ภายในชั้นเก็บหนังสือที่กว้างเต็มผนัง และสูงเกือบถึงเพดาน หนังสือรวมงานของศิลปินหรือนักออกแบบ จะเป็นหนังสืออีกหนึ่งหมวดที่น้ำฝนมักจะหยิบมาอ่านและดู “งานของศิลปินที่ชื่นชอบจะเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของเรา ซึ่งงานที่ชื่นชอบส่วนใหญ่จะไม่ใช้งานภาพพิมพ์หรือภาพเหมือนแต่จะเป็นงาน Abstract ที่เป็นแรงบันดาลใจในการใช้สีด้วย”

 

03 ผ้า

ผ้า

วัสดุหลักที่น้ำฝนใช้เป็นเหมือนเครื่องมือในการสร้างสรรค์ผลงานก็คือ ผ้า ตัวอย่างผ้าหลากสีหลายเนื้อจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะทำงาน “ผ้าแก้ว ผ้าโปร่ง ผ้าออแกนซ่า เป็นชนิดผ้าที่เราชอบอยู่แล้ว เพราะเนื้อผ้าที่โปร่งเมื่อมาซ้อนกันก็จะทำให้สีต่างไปจากเดิมกลายเป็นสีใหม่”

 

04 Pantone หนัง

palette

อีกหนึ่งวัสดุที่ถูกหยิบจับมาใช้งานบ่อยๆ ในช่วงนี้ก็คือ ‘หนัง’ ตัวอย่างหนังที่น้ำฝนมีจึงไม่ใช่แค่ตัวอย่างสี แต่เป็นลักษณะและเทคนิคในการทำหนังแต่ละชนิดด้วย “หนังเป็นวัสดุที่ดีที่สุดในการทำรองเท้า หนังแต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติต่างกันออกไป รวมไปถึงผิวสัมผัสที่เกิดจากเทคนิคในการทำหนังด้วย ซึ่งเราต้องศึกษาเพื่อใช้ให้เหมาะกับจุดประสงค์ที่เราต้องการ”

 

05 หุ่นรองเท้า

หุ่นรองเท้า

เมื่อเริ่มสร้างสรรค์แบรนด์รองเท้าของตัวเอง หุ่นรองเท้าจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะทำงาน “รองเท้าที่ดีก็ต้องมาจากหุ่นที่ดี หุ่นที่ดีที่ว่า คือหุ่นที่เหมาะกับแบบของรองเท้า เราต้องเลือกหุ่นก่อนที่จะสร้างแพตเทิร์นในการตัดหนังหรือผ้าในการทำรองเท้าต่อไป ก่อนหน้านี้เราจะเห็นหุ่นรองเท้าเป็นไม้ แต่ตอนนี้ก็จะเป็นพลาสติก เพื่อให้ง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงรูปทรง”

 

รองเท้าผ้า

ออกแบบ

 

Writer

Avatar

วิชุดา เครือหิรัญ

เคยเล่าเรื่องสั้นบ้างยาวบ้าง ในต่างเเเพลตฟอร์ม เล็กบ้างใหญ่บ้างออกมาในรูปแบบบทสัมภาษณ์ นิตยสาร เว็บไซต์ นิทรรศการไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้กำลังเป็นส่วนเล็กๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย เเละยังคงเล่าเรื่องต่อไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล