The Cloud X  Designer of the Year

 

ถ้าไล่ตามประวัติการศึกษา ณัฐวิทย์ ทองประเสริฐ น่าจะเป็นนักภาษาศาสตร์ (linguist)

ถ้าไล่ดูตามลำดับของเนื้อหาในหนังสือของเขา ณัฐวิทย์ ทองประเสริฐ น่าจะเป็นผู้ที่ใช้ตรรกศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

ถ้าไล่ตามความสนใจ ณัฐวิทย์ ทองประเสริฐ ก็มีแนวโน้มไปทางผู้ชำนาญการด้านสัญศาสตร์ (semiotician) ได้เช่นกัน

แต่ปัจจุบัน ณัฐวิทย์ ทองประเสริฐ แห่ง To Be Designed เป็นนักออกแบบ (designer)

“การรู้เท่าทันความหมายย่อมส่งผลถึงความละเอียด รอบคอบของการออกแบบต่างๆ ของนักออกแบบ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสารอันเป็นจุดประสงค์ของการออกแบบลงได้” บางส่วนจากคำนำของหนังสือ (DE / SIGN / ED) ออกแบบ I ความหมาย เขียนโดย ณัฐวิทย์ ทองประเสริฐ

การหา ‘ความหมาย’ ใน ‘คำ’ เป็นหนึ่งในกระบวนการออกแบบที่สำคัญของณัฐวิทย์

ถ้าลองเปิดสมุดจดงานหรือสมุดสเกตซ์ของนักออกแบบส่วนใหญ่ เราอาจพบภาพร่างเลย์เอาต์ของหนังสือ ดราฟต์แรกของโลโก้ หรือดรอว์อิ้งของโปรดักต์ชิ้นล่าสุด แต่ในสมุดของณัฐวิทย์เราจะได้เห็นชุดคำที่เกิดจากปากกาต่างน้ำหนัก พร้อมเส้นสายที่ลากวนไปมา

เขาบอกกับเราว่าขั้นตอนของการสเกตซ์งานของเขานั้นมักเกิดขึ้นหลังจากที่เขาเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างของชุดคำต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วนั่นเอง

งานออกแบบของณัฐวิทย์มีให้เห็นอย่างต่อเนื่องในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่สิ่งพิมพ์อย่างโบรชัวร์ Annual Report หรือหนังสือ งานออกแบบอัตลักษณ์ งานออกแบบโลโก้ หรืองานแบรนดิ้ง เรื่อยไปจนถึงการออกแบบประสบการณ์อย่างนิทรรศการ ศูนย์การเรียนรู้ หรือพิพิธภัณฑ์

ณัฐวิทย์ ทองประเสริฐ เป็นศิษย์เก่าคณะโบราณคดี เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาเป็นนักภาษาศาสตร์เต็มตัวจากสาขาที่เรียน แต่เลือกเดินเข้าไปสมัครงานในตำแหน่ง Computer Artist (คนทำอาร์ตเวิร์กสิ่งพิมพ์ก่อนกระบวนการผลิต ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ในการออกแบบ) เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน โดยมีพอร์ตฟอลิโอเป็นงานออกแบบหนังสือรุ่นสมัยมัธยม จากวันนั้นจนวันนี้ที่เขาเพิ่งได้รับรางวัล Designer of the Year Award ปีล่าสุดในสาขา Graphic Design ณัฐวิทย์ก็ไม่เคยหยุดการทำงานออกแบบเลย

นักออกแบบชายขอบ

ผมเป็นคนนอกมาก่อน คือตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ศิลปากรผมเรียนโบราณคดีไง ไม่ได้เรียนจิตรกรรม ไม่ได้เรียนมัณฑนศิลป์ ไม่ได้เรียนสถาปัตย์ฯ ผมเลยเหมือนเป็นคนนอกที่อยู่ใกล้ๆ อยู่ชายขอบ คือไม่ได้เรียนอาร์ตหรือออกแบบมาโดยตรง พอวันหนึ่งที่ได้เข้ามาอยู่ในวงการออกแบบ ผมก็เข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีจากพื้นที่ตัวเองหอบติดตัวมาด้วยตามประสาคนชายขอบ และสำหรับผมเทคโนโลยีที่ว่าก็คือ ‘ภาษาศาสตร์’ เมื่อก่อนไม่ได้รู้สึกว่าการเรียนภาษาจะเป็นข้อดีหรือข้อแตกต่างเมื่อมาทำงานออกแบบ แต่ตอนนี้เริ่มรู้สึกว่ามันใช้ได้เหมือนกัน และเริ่มรู้สึกขอบคุณพ่อที่เป็นส่วนหนึ่งให้ตัดสินใจเรียนด้านภาษา” ณัฐวิทย์เล่าถึงคำจำกัดความที่เขามองตัวเอง

แม้จะรู้ตัวว่าชอบกราฟิกดีไซน์มาตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย แต่คณะทั้งหกอันดับที่เขาตัดสินใจเลือกในระบบเอนทรานซ์กลับไม่มีสักคณะที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบโดยตรง อาจเพราะมีคุณพ่อเป็นราชบัณฑิตสาขาตรรกศาสตร์ ที่สอนตรรกศาสตร์ เชี่ยวชาญเรื่องภาษา โดยเฉพาะภาษาไทย ทำให้ส่งอิทธิพลถึงการตัดสินเลือกเรียนในครั้งนั้น

ช่วงที่เขาเรียนจบซึ่งเป็นช่วงรอยต่อทางเทคโนโลยีท่ีสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของวงการกราฟิกดีไซน์ เป็นช่วงที่คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะงานในส่วนของการทำอาร์ตเวิร์ก จากเดิมที่การทำอาร์ตเวิร์กเพื่อส่งต่อไปสู่ขั้นตอนการพิมพ์ต้องอาศัยทักษะงานช่างทางศิลปะ (artisan) ที่หลากหลาย ตั้งแต่ความเที่ยงตรงในการตัด การแปะ การคร็อปภาพ การจัดหน้ากระดาษ ไปจนถึงความแม่นยำในส่วนของระยะบรรทัด (leading) ระยะห่างระหว่างตัวอักษร (kerning) การกำหนดสีในระบบ CMYK และความรู้เบื้องต้นของการพิมพ์ ซึ่งทักษะเหล่านี้ณัฐวิทย์ก็พอมีอยู่บ้างจากครั้งที่ทำหนังสือรุ่นตอนเรียนมัธยม 

เมื่อพอเล็งเห็นว่าคอมพิวเตอร์เริ่มมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทมากขึ้นในช่วงนั้น ณัฐวิทย์จึงไม่มีรีรอที่จะไปลงเรียนการใช้โปรแกรมต่างๆ ที่เรียกว่า desktop publishing programs ประกอบด้วย page maker, illustrator และ photoshop ซึ่งพอจบคอร์สเขาก็ไปสมัครงานที่บริษัทแปลน โมทิฟ ทันที และด้วยเหตุที่ในช่วงนั้นคนที่ใช้โปรแกรมที่ว่าเป็นนั้นยังมีน้อย ณัฐวิทย์จึงได้งานที่นั่นแทบจะทันทีโดยปราศจากขั้นตอนของการสัมภาษณ์หรือทดลองงาน

เขาเริ่มต้นอาชีพในตำแหน่ง Computer Artist ทำงานสนับสนุนนักออกแบบอีกทีหนึ่ง ทำอยู่ไม่กี่เดือนก็ถูกเลื่อนให้เป็นนักออกแบบเต็มตัวอย่างที่เขาตั้งใจ

ณัฐวิทย์เล่าให้ฟังว่าเขาค่อยๆ เรียนรู้แทบจะทุกสิ่งจากเพื่อนๆ ร่วมงานรุ่นเดียวกันที่เป็นนักออกแบบ โดยที่ไม่ว่าใครจะให้ช่วยอะไรก็จะช่วยหมด เพื่อที่จะได้เร่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้ตามเพื่อนๆ ทันเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระให้กับทีม

ระยะเวลาประมาณ 4 ปีที่ แปลน โมทิฟ เขาต้องทำงานกับหัวหน้างานถึง 4 คนก่อนที่จะตัดสินใจลาออกมาเปิดบริษัทออกแบบกับเพื่อนในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งจนปัจจุบัน

DESIGN แปลว่า MARK OUT

เมื่อเข้ามาเป็นนักออกแบบเต็มตัว เทคโนโลยีด้านภาษาศาสตร์ ถูกประยุกต์ใช้กับงานออกแบบอย่างไรบ้าง เราสงสัย

“สเกตซ์ก็มีนะ แต่มักจะเริ่มจากคำก่อน คำจะช่วยทำให้เห็น abstract ทั้งหมดในหัว ภาพจะมาทีหลัง เพราะถ้าภาพมาก่อน เราจะไปติดอยู่กับมัน จนบางทีเราแก้ไขลำบาก ถ้าเราใช้คำ จะเป็นประโยคหรืออะไรก็แล้วแต่ พอสลับที่ไปมา ความหมายมันเปลี่ยน เพราะฉะนั้น การที่เอาคำนึงมาเป็นคอนเซปต์ แล้วใช้อีกคำลงมาเป็นตัวขยาย แค่สองอย่างนี้สลับกันไปมาภาพสุดท้ายมันก็เปลี่ยนแล้ว” ณัฐวิทย์เริ่มต้นเล่าถึงเทคโนโลยีที่เขานำมาประยุกต์

เขายกตัวอย่างให้เราฟัง “สมมติว่าลูกค้าชื่อซี (See) คำนี้ให้ความหมายยังไงบ้าง อาจจะบอกว่า See คือ ‘เห็น’ ซึ่งไม่เหมือน Look ที่เป็นการมอง ไม่เหมือน Watch ที่เป็นการเฝ้าดู แล้วการเห็น เราเห็นอะไร มันก็ต้องมีภาพที่เห็น แล้วคำว่าเห็นมันโยงไปกับความหมายแฝงอะไรได้อีก เช่น ‘เห็น’ อาจเชื่อมโยงกับคำว่า ‘โอกาส’ ภาพของแสงสว่างก็เกิดขึ้นมาในหัวทันที วิธีการนี้ทำให้เราเห็นเรื่องราวที่ต่อกัน มีเหตุมีผลและมีความเป็นไปได้ที่กว้างขึ้น มีทางเลือกที่เพิ่มขึ้นในการออกแบบ

“องค์ประกอบหลักทางกราฟิกของโจทย์นี้อาจมีทางเลือกออกมาเป็นรูปร่างของตา ตาม ‘คำหลัก’ แล้วมีองค์ประกอบรองเป็นแสงสว่างที่แสดงถึงโอกาสก็ได้ โดยแตกความเชื่อมโยงของชุดคำนี้ออกมาเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้อีก

“ผมชอบทำงานโครงสร้างที่ต้องคิดว่าจะทำยังไง สื่อสารกับใคร ชอบหาเหตุผลเชื่อมโยง มันสนุกกว่าตอนออกแบบอีกนะ ถ้าลูกค้าให้ทำโลโก้ตัวหนึ่ง แต่สำหรับผม โลโก้ตัวนี้ซัพพอร์ตใครบ้าง ซัพพอร์ตลูกค้า ฝ่าย องค์กร หรือเป็นแบรนด์ ต่างหาก มันมีจุดประสงค์ของมัน การคิดจากคำจะทำให้เห็นจุดเริ่มต้น ซึ่งจะค่อยๆ เชื่อมโยงความคิดต่ออีกได้” ณัฐวิทย์เล่าถึงการทำงานในรูปแบบของเขา

ถ้าเราลองย้อนมองลักษณะงาน งานของณัฐวิทย์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การออกแบบสิ่งพิมพ์ แต่รวมไปถึงการออกแบบประสบการณ์ให้กับผู้ชมนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ด้วย

“สนุกคนละแบบ การออกแบบหนังสือ สิ่งพิมพ์ สวยงามในพื้นที่หนึ่ง เป็นอาณาจักรหนึ่งที่เราควบคุมได้พอสมควร แต่งานอย่างหลังจะทำให้เราได้ความรู้ใหม่ๆ ได้เห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ได้แชร์ความรู้ของแต่ละสายงานมากขึ้น”

เทคโนโลยีของณัฐวิทย์ไม่ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบเท่านั้น เขาใช้มันเป็นเครื่องมือในการเข้าใจเพื่อนร่วมงานด้วย ถ้า Graphic Design คือการออกแบบ Graph ที่แปลว่า สิ่งที่วาดหรือเขียน ซึ่งก็คืองานสิ่งพิมพ์ การทำงานพิพิธภัณฑ์ที่ต้องทำงานร่วมกับหลากหลายสาขาอาชีพทั้งสถาปนิก มัณฑนากร lighting designer ภัณฑารักษ์ หรือแม้แต่คนจากสาขานิเทศศาสตร์

“ผมไม่กล้าบอกว่าผมเข้าใจทั้งหมด แต่ผมมักจะเข้าใจจากคำอย่างสถาปนิกไม่ได้แปลว่า สร้าง ในแบบ build คำนี้มีรากศัพท์มาจากคำว่า สถ- (sta-) แปลว่า ตั้งอยู่ ยืนอยู่ (stand) รากเดียวกันกับคำว่า สถาปนา สถานสถิต หรือ stand establish stable status สถาปนิกจึงเป็นผู้สร้างพื้นที่ให้เอื้อต่อสถานะรวมถึงสร้างสภาวะของคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น มันจึงมีหลายประเด็นที่ต้องคำนึง”

ณัฐวิทย์ยกตัวอย่างโดยเขาเล่าต่อถึงความสนุกของการทำนิทรรศการหรือพิพิธภัณฑ์ว่า “มันมีมิติของการคิดที่หลายชั้นขึ้น อย่างผมคนเดียวรับงานมาหนึ่งงาน ทำคนเดียวไม่ได้แน่นอน ต้องคำนึงถึงวิธีการเดินชม ระยะเวลาที่ใช้ ความกว้างของพื้นที่ ทุกอย่างมีผลหมดเลย ถ้าพื้นที่แคบๆ เนื้อที่ต้องการสื่อสารเยอะ เราจะเอาทุกอย่างใส่ลงไปก็จะทำให้อึดอัดเกินไป อาจจะทำได้แค่กระตุ้นอะไรบางอย่าง หรืออย่างเรื่องกราฟิกที่ต้องคำนึงถึงระยะในการอ่าน ที่จะกำหนดขนาดและความยาวของเนื้อหาได้ ซึ่งต้องปรึกษาคนเขียนเนื้อหา ถ้าใส่เนื้อหาตรงนี้ไม่ได้ เราจะเอาเนื้อหาตรงนี้ไปไว้ที่ไหน

หน้าที่ของนักออกแบบก็คือการออกแบบ เพราะ ‘แบบ’ แปลว่า ‘หมาย’ หรือก็คือ ‘จุดมุ่งหมาย’ คำว่า ‘design’ ก็มาจาก sign ที่แปลว่า mark บวกกับ de- ที่แปลว่า out คำว่า ‘design’ จึงแปลว่า mark out ซึ่งก็คือการมองไปที่จุดมุ่งหมายแล้วเห็นว่ามันคือเรื่องอะไร กำลังจะทำอะไร จะตอบหรือแก้ปัญหาอะไร ฉะนั้น ถ้าจะมองจริงๆ เราทุกคนก็เป็นดีไซเนอร์หมด เพราะตั้งแต่เราออกจากบ้าน เราก็ต้องดีไซน์ว่าจะไปไหนอย่างไร คำว่า ‘design’ จึงเกี่ยวกับการวางแผน เกี่ยวกับคิดเป็นหลัก”

 

หนังสือคงไม่หายไป แต่จะอยู่อย่างไรมากกว่า

“หนังสือ 1 เล่มคงไม่เหมือนเดิม มันต้องมีค่าพอที่จะซื้อเป็นเล่ม ทำไมเขาต้องแบกของหนักๆ มาอ่าน ไม่ได้มองแค่ในแง่ความสวยงามนะ แต่มันต้องคุ้มกับการสัมผัส คุ้มกับการค่อยๆ อ่าน” ณัฐวิทย์ให้ความเห็นเมื่อเราชวนเขาคุยเรื่องสภาวะความผกผันของสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน

“ในฐานะนักออกแบบ เราต้องปรับตัวตามกระแสโลก ดิจิทัลก็เป็นสื่อหนึ่ง ที่มีวิธีการแบบหนึ่ง หนังสือมีทางทำให้น่าเก็บ น่าสัมผัสมากกว่าอ่านแบบดิจิทัลแน่ๆ เหมือนสินทรัพย์ส่วนตัว ที่มีความผูกพันผสมอยู่ สัมผัสได้จริง เมื่อก่อนรู้สึกว่าสิ่งพิมพ์ใกล้จะหายไปแล้ว แต่ตอนนี้กังวลน้อยลง ยิ่งเห็นหนังสือในช่วงปีสองปีนี้ที่ทุกคนออกแบบ เนื้อหาเหมือนเดิมแต่นำมาออกแบบใหม่ผมก็ซื้อเก็บนะ เหมือนหนังสือจะถูกเก็บในฐานะของ Art Object อย่างหนึ่งที่อาจจะมีราคามากกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

พยายามหา passion ให้เจอ

ในฐานะนักออกแบบที่ทำงานมาหลากหลายแขนง และยืนระยะการทำงานเป็นหลักสิบปีได้ เขาใช้อะไรนอกจากเทคโนโลยีภาษาศาสตร์ที่หอบเข้ามาในวงการออกแบบบ้าง

“อ่านหนังสือ แล้วก็สังเกต น่าจะใช้ได้กับนักเรียนทุกศาสตร์ ถ้าเราสังเกตอะไรเรื่อยๆ สังเกตสิ่งที่เหมือนให้มันต่างกันได้อย่างไร และสังเกตสิ่งที่ต่างให้เหมือนกันได้อย่างไร แล้วเชื่อมเข้าด้วยกันได้อย่างไร

ผมเป็นชาวพุทธก็มักจะใช้ปฏิจจสมุปบาท” ณัฐวิทย์เอ่ยถึงหลักธรรมที่ว่าด้วยเรื่องเหตุผล มีอันนี้ จึงเกิดอันนั้น แต่เขาบอกว่าสิ่งนี้ใช้ไม่ได้กับงานใหญ่ๆ

“มันต้องใช้อีกตัวหนึ่ง ที่เป็นเหมือนพี่น้องกัน คือ อิทัปปัจจยตา หรือภาษาอังกฤษใช้ว่า Conditionality คือทุกอย่างมีเงื่อนไขหมด (condition) อะไรที่ไม่ครบองค์ประกอบมันก็จะไม่ effective ถ้าองค์ประกอบครบถึงจะ effective พออะไรที่มัน effective มันถึงจะส่งผลได้ เหมือนเวลาที่เราทำงานใหญ่ ที่ประกอบไปด้วยคนในหลากหลายสาขา แต่ละคนก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ถ้าเราเอาเงื่อนไขของแต่ละคนมาวางแล้วคุยกัน ผลที่ออกมาถึงจะมีประสิทธิภาพในแบบที่มันควรจะเป็น” ณัฐวิทย์เอ่ยถึงประสบการณ์ในการทำงาน โดยเราเล่าเพิ่มเติมถึงการเป็นนักออกแบบของเขาที่มี passion เป็นกำลังหลักในการทำงานตลอดมาว่า

“ผมไม่เคยมี inspiration ในการทำงาน แม้แต่งานส่วนตัว มีแต่ passion เพราะ inspiration คือการอยู่กับลมหายใจ (in เอาเข้าไป spiral คือ breathe หรือลมหายใจ) นั่นหมายความว่าจะ inspire ได้ต้องอยู่กับลมหายใจ มันเป็นคำใหญ่ ผมไม่กล้าใช้ แต่ passion มันคือความหลงใหลที่ผมมีต่อความสนใจในเรื่องนั้นๆ ด้วยการคิด หรือมองอะไรด้วยเรื่องนั้นๆ เสมอ”

เราใช้ passion ในการทำสิ่งต่างๆ ตั้งแต่แรก หรือเป็น passion ที่เราทำสิ่งต่างๆ แล้วมันเกิดขึ้นระหว่างทางก็ได้ แต่ยังไงก็ควรจะมี ต่อให้เราทำงาน routine หรือทำอะไรก็แล้วแต่ พยายามหา passion ให้เจอในงาน ก็จะทำให้ทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ”

 

งานที่บอกเล่าวิธีคิด วิธีทำ งานออกแบบของณัฐวิทย์

01 Let’s Sea

“ปีหน้าเป็นวาระครบรอบ 10 ปีของแบรนด์ ลูกค้าแจ้งว่าจะ renovate แบรนด์ใหม่ทั้งหมด ตั้งใจจะเปลี่ยนโลโก้ด้วย แต่งานที่มอบหมายให้ทำกลับเป็นงานของปีนี้ ดังนั้นงานนี้จึงต้องนำมาทบทวนใหม่ ว่าจะสื่อสารอะไรออกไปอย่างไรดี ‘transition’ เป็นคำแรกที่ผุดขึ้นมา เมื่อนึกถึงคำนี้ นั่นย่อมต้องรู้จากลูกค้าให้ได้ก่อนว่า position ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้กับ position ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านคืออะไร อย่างไร งานนี้จะกลายเป็นงาน conceptual & essential / communication design ซึ่งทำให้ต้องคิดเผื่อไว้ล่วงหน้าว่าปีหน้า mood & tone ของ visual identity ของแบรนด์จะเป็นอย่างไร”

 

02 Loligo

“ที่นี่คือรีสอร์ตที่หัวหินในเครือของ Let’s Sea ลูกค้ามีแบบของสถานที่เรียบร้อย รวมถึงชื่อและโลโก้ หน้าที่ของผมคือการสร้าง visual identity ให้แบรนด์ ผมเริ่มต้นจากการเข้าไปสำรวจความหมาย ชื่อ ‘Loligo’ ที่หมายถึง ‘ปลาหมึก’ มันจะนำมาซึ่งกระบวนทัศน์อะไรได้บ้าง คำว่า ‘ทะเล’ ต้องผุดขึ้นมา แต่ทะเลก็มีอะไรมากมายกว่าที่ปลาหมึกจะถูกนำมาใช้เป็นตัวแทน พอนึกถึงคำว่า ‘ปลาหมึก’ บวกกับ ‘หัวหิน’ ก็นึกถึงการไดหมึก แล้วก็พาไปสู่การนึกถึง ‘ชาวประมง’ ‘หมู่บ้านชาวประมง’ ไปจนถึงเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ภาพของแห อวน ก็ผุดตามขึ้นมา สีของทะเล ทราย โคลน ชายหาดที่ต้องแสงอาทิตย์สีทอง ไม้ เชือก แห อวน ฯลฯ ก็พรั่งพรูออกมา จนเป็นที่มาของโครงสีหลักและโครงสีรอง รวมถึงการหยิบจับเอาแพตเทิร์น (pattern) ของแหมาใช้เป็น graphic element หลัก”

 

03 ออกแบบ I ความหมาย

“หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ ‘sign’ ในแง่ของ ‘สัญศาสตร์’ ที่ใช้ในการออกแบบสื่อสาร การนำเอา sign ประเภท symbol มารื้อและสร้างใหม่จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ‘ลูกศร’ เป็นสัญลักษณ์ที่คนเรารู้จักกันดีในฐานะของเครื่องบ่งชี้หรือนำทาง พอเราเอาลูกศรมาวางเรียงกันเป็นแพตเทิร์น โดยที่หัวลูกศรชี้สะเปะสะปะคนละทิศคนละทาง ลูกศรกลับไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ แต่ผมแอบเข้าไปเล่นกับลูกศรตัวหนึ่ง โดยเล่นกับขนาดทำให้มันเล็กลง และชี้ไปที่คำว่า sign ขนาดของลูกศรที่ต่างไปจากลูกศรตัวอื่นกลับทำหน้าที่ชี้นำได้ดีกว่า และนั่นก็เป็นการซ่อนเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มเอาไว้ที่หน้าปก”

 

04 งานออกแบบโบรชัวร์ให้กับคอนโดหลากหลายแบรนด์

“เราต้องหาประเด็นที่มันต่างกัน บางแห่งอยู่ใกล้ๆ กัน เราต้องหาแก่นของเขา อันนี้มีดีตรงไหนบ้าง เชื่อมโยงให้มันเกิดเป็นสตอรี่ให้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นงานที่สนุกมาก

“THE VOLUME ช่วงนั้นมีคอนโดที่เพดานสูงน้อยมาก ผมจึงเลือกใช้ลักษณะของ ตัว V มาสร้างให้เห็นภาพ ทำให้เห็นเขตแดน ลักษณะของพื้นที่อันเป็นเอกลักษณ์ของคอนโดแบรนด์นี้”

“ผมหยิบเอาเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอาคารที่มีการบิดองศา รวมไปถึงการใช้เส้นแบบกราฟิก มาช่วยทำให้ถ้ามองอาคารแล้วจะไม่เป็นแท่งคอนโดสูงขึ้นไป ผมจึงออกแบบโลโก้ของแบรนด์ UP ให้บิดดูด้านไหนก็ได้ เหมือนเป็นอาคารหรือห้องที่จะดูด้านไหนเป็นพื้นหรือเป็นเพดานก็ได้ รวมถึงการเอาเส้นสายที่เกิดในงานสถาปัตยกรรมมาเป็น graphic element ของโบรชัวร์”

 

05 ความสนใจในแพตเทิร์นจนแตกแขนงเป็นงานหลากหลายชิ้น

“งานแพตเทิร์นเป็นงานที่แปลก ตัวมันแทบไม่มีความหมาย แต่มันสามารถทำให้เกิดเอกลักษณ์บางอย่างได้ ในงานกราฟิกดีไซน์แพตเทิร์นถูกเอาไปใช้ประโยชน์ในบางเวลาที่เราทำ Cooperate Identity แทนที่เราจะออกแบบแต่โลโก้ เราสามารถสร้างแพตเทิร์นที่เกิดจากบางส่วนของโลโก้ แล้วนำไปใช้ประโยชน์ทำให้คนที่เห็นนึกถึงแบรนด์ได้ โดยไม่ต้องเห็นโลโก้ แพตเทิร์นจึงเป็นตัวเสริมที่ดีของกราฟิกดีไซน์”

“ปฏิทิน ของขวัญวันปีใหม่ที่ส่งให้ลูกค้า ผมเล่นกับความเป็น routine ของชีวิต ซึ่งเหมือนกับงานแพตเทิร์นที่มีลวดลายซ้ำ ผมออกแบบแพตเทิร์นไว้ 3 – 4 แบบ เป็นสติกเกอร์แจกไปพร้อมกับปฏิทิน เพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของปฏิทินและเป็นตัวช่วยเช็กความรู้สึกในแต่ละวัน จะมีทั้งแบบยิ้มกว้าง ยิ้มอ่อน หรือเศร้าเหลือเกิน คนใช้ก็จะเห็นภาพรวมองแต่ละเดือนแต่ละปีว่าตัวเขามีความรู้สึกอย่างไร แล้วถ้าเหลือใช้ทำเป็นกรอบรูปได้ด้วย”

“งานออกแบบสำหรับพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผมผสมผสานลักษณะของรังไหมและลายไทย ออกมาเป็นแพตเทิร์น แพตเทิร์นนี้ทำหน้าที่คล้ายๆ Cooperate Identity นอกจากจะใช้กับงานสิ่งพิมพ์แล้วยังประยุกต์ไปใช้กับงานกราฟิกดีไซน์ของพิพิธภัณฑ์ด้วย”

 

5 ตัวช่วยในการตามหาความหมายของงานออกแบบ

01 กล้องถ่ายรูป

ถ้าลองไล่ไฟล์ภาพในกล้องของณัฐวิทย์จะเห็นว่าภาพถ่ายส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายแบบโบเก้ หรือภาพถ่ายที่เบลอ หลุดโฟกัส “รูปถ่ายจะเห็นบางอย่างที่สายตาเรามองไม่เห็น เราถ่ายสภาวะ ณ ขณะนั้นที่มีความเป็นรูปธรรม แต่อยากบันทึกไว้เป็นนามธรรม เราเองจะจำได้ว่าตอนที่ถ่ายคิดอะไรอยู่ซึ่งสำคัญกว่า มันเหมือนการทำงานแพตเทิร์นเวลาทำงานกราฟิกดีไซน์ที่ความหมายอาจจะไม่ค่อยชัดเจน”

 

02 กระดาษโน้ต

ณัฐวิทย์จะตัดกระดาษที่พรินต์ออกมาแล้วใช้แค่หน้าเดียว เพื่อใช้เป็นกระดาษโน้ต “ผมจะใช้จดไอเดียที่คิดขึ้นมาได้แบบปัจจุบันทันด่วน หรืออะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างการค้นรากศัพท์ เพื่อเอาไปรวมใช้งานกับไอเดียอื่นๆ ในสมุด”

 

03 สมุดเล่มเล็ก ขนาด A6

ณัฐวิทย์มีฟลิปชาร์ตไซส์ A1 และสมุดขนาด A2 เอาไว้ใช้กับโปรเจกต์ใหญ่ๆ อย่างพิพิธภัณฑ์ที่ในช่วงกระบวนการคิดฟลิปชาร์ตขนาดใหญ่จะทำให้เห็นภาพรวมของการเห็นการเชื่อมโยงของประเด็นต่างๆ ที่เขาลากเส้นเชื่อมต่อกันได้ หรือถ้าคิดว่ามีไอเดียหรือประเด็นไหนไม่ใช่ ก็จะขีดฆ่าทิ้งไป โดยมีสมุดเล่มเล็กที่สะดวกที่สะดวกในการพกพาเอาไว้ติดตัว

 

04 ชุดปากกา (2 เช็ต)

ณัฐวิทย์บันทึกความคิดเหมือนจัดเลย์เอาต์หนังสือ คือ มีตัวอักษรตัวหนาและตัวปกติ “จะได้รู้ว่าเราให้น้ำหนักกับอะไร ถ้าไปประชุมก็จะพกปากกาหัวตัดไว้เขียนประเด็นหลัก ถ้าหัวไม่ตัดจะไว้เขียนเสริม ถ้าต้องเขียนสมุดเล่มใหญ่ก็จะมีปากกาหัวใหญ่อีก มันช่วยให้เวลาย้อนกลับมาดูว่าเราคิดอะไรได้ง่ายมาก เพราะมีลำดับความคิดที่เห็นได้ชัดจากลานเส้นปากกาอยู่ วันก่อนผมก็เพิ่งย้อนกลับไปดูว่างานเมื่อ 2 ปีก่อนคิดเอาไว้อย่างไร ก็ดูได้ง่ายเลย”

 

05 แอพพลิเคชัน Note ใน iPhone

แม้จะมีสมุดหลากหลายขนาดเวลาทำงานแต่เมื่อถึงเวลาต้อง ‘เขียน’ หนังสือ ณัฐวิทย์กลับเลือกที่จะเขียนผ่านแอพพลิเคชัน อย่างเมื่อต้องเขียน copy ให้ลูกค้าหรือหนังสือเล่มแรกของเขาก็เขียนผ่านแอพพลิเคชัน Note ทั้งหมด“ พิมพ์ง่าย ลบได้ อาจจะเพราะว่าธรรมชาติผมไม่ใช่นักเขียน ไม่ต้องจริงจังกับการเขียนตลอดเวลา ถ้าอยากเขียนก็เลยใช้การพิมพ์ด้วย iPhone ต่างกับตอนคิดงานที่ต้องเขียนลงกระดาษจริงเพราะต้องการเห็นความเชื่อมโยง”

 

Writers

Avatar

วิชุดา เครือหิรัญ

เคยเล่าเรื่องสั้นบ้างยาวบ้าง ในต่างเเเพลตฟอร์ม เล็กบ้างใหญ่บ้างออกมาในรูปแบบบทสัมภาษณ์ นิตยสาร เว็บไซต์ นิทรรศการไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้กำลังเป็นส่วนเล็กๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย เเละยังคงเล่าเรื่องต่อไป

Avatar

วรรณภณ หอมจันทร์

รักการเดินทาง และพยายามลัดเลาะหาของอร่อยตามตรอกซอยในกรุงเทพฯ โดยไม่หน่ายเหนื่อย ติดตรงที่ไม่มีเงิน เลยภาวนาของานอยู่บ่อยๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล