The Cloud X  Designer of the Year

ถ้าเพื่อนไปที่บ้าน ต้องทักเก้าอี้นะ”

อมรเทพ คัชชานนท์ เอ่ยถึงความตั้งใจในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ระหว่างพาเราเดินดูเฟอร์นิเจอร์ตัวอย่างหลายสิบชิ้น จากหลากคอลเลกชันที่เขาออกแบบ

หลายคนคงเคยเห็น คุ้นตา ไปจนถึงเคยใช้เฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ เพราะพวกมันถูกเลือกไปใช้ในบ้าน ร้านอาหาร และโรงแรมหลายต่อหลายแห่ง ล่าสุดร้าน Starbucks เลือกเฟอร์นิเจอร์ของอมรเทพไปใช้ในพื้นที่ด้านนอกของร้าน ทั่วภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก

และพิเศษขึ้นไปอีกเมื่อเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นผลิตด้วย ‘ไม้ไผ่’

นอกเหนือจากการใช้งานตามหน้าที่ของเฟอร์นิเจอร์แต่ละชนิด อมรเทพตั้งใจให้งานออกแบบของเขามี ‘ความงาม’ ผสมผสานไปกับการใช้งานด้วย “ความงามต้องใช้อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปสัมผัส นอกจากนั่งสบายแล้ว การที่คนนั่งเก้าอี้แล้วทักว่าเก้าอี้สวยจัง หรือเก้าอี้แปลกจัง ทำให้เจ้าของเก้าอี้ได้เล่าเรื่องราวของมันต่อว่า การนำไม้ไผ่มาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์ไปได้ไกลขนาดไหน” อมรเทพขยายความถึงเรื่องราวเบื้องหลังที่เขาอยากส่งต่อไปพร้อมๆ กับเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น

หลังจากที่เราลองนั่ง สัมผัสผิวสัมผัส เทียบสีสันของเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นทั่วทั้งโชว์รูม ได้ฟังกระบวนการบีบ อัด ดัด ยืด ก่อนไผ่ลำเขียวจะกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นงามจากอมรเทพ เจ้าของรางวัล Designer of the Year Award ปีล่าสุดในสาขา Furniture Design เราอยากนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าต่อ

Starbucks, Banana Walk ภูเก็ต ประเทศไทย
ทีมออกแบบของ Starbucks เลือกใช้คอลเลกชัน Garden Line สำหรับสาขาในเอเชียแปซิฟิก ในประเทศไทยเริ่มที่สาขาภูเก็ตเป็นสาขาแรก

อมรเทพชอบเดินดูงานแสดงสินค้าตั้งแต่สมัยเรียนที่สาขาประยุกต์ศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเริ่มต้นทำงานได้สักพักเขาก็ได้รับทุนไปเรียนด้าน Innovation Management in Product Development by InWent ที่ประเทศเยอรมนี มุมมองต่องานศิลปะประยุกต์ของเขาจึงไม่ได้จำกัดความงามไว้แค่บนผ้าใบอีกต่อไป แต่เริ่มขยับขยายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

ไม่ตั้งใจให้งานออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์เลย แค่อยากทำผลิตภัณฑ์หรือเเบรนด์ของตัวเอง เราพยายามดึงตัวเองออกมาในโลกความเป็นจริง เราสอดแทรกงานศิลปะไปกับไลฟ์สไตล์ของคนได้ ถ้าเราทำให้งานศิลปะจับต้องได้ จะสร้างเสน่ห์เเละมุมมองใหม่ๆ ให้ผลิตภัณฑ์ได้ดีกว่าการออกแบบเพื่อใช้งานเพียงอย่างเดียว” อมรเทพเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการนำความงามแบบศิลปะมาปะทะกับการใช้งาน

ราว 10 ปีก่อน ระหว่างที่เขาเรียนอยู่ที่ประเทศเยอรมนี กระแสของ ‘กรีนดีไซน์’ หรืองานออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่วงการออกแบบที่นั่นกำลังให้ความสำคัญ รวมไปถึงนักเรียนออกแบบอย่างอมรเทพด้วย เขาเริ่มสำรวจตัวเองแล้วพบว่า วัสดุที่เขาสนใจมักเป็นวัสดุธรรมชาติ ไม่ใช่วัสดุสังเคราะห์

เมื่อกลับเมืองไทยอมรเทพจึงเดินหน้าวิจัยวัสดุในตลาด “มีคนทำงานหวายเยอะมาก ช่วงนั้นเมืองไทยหาหวายยาก ผักตบชวาก็เป็นวัสดุที่มีคนทำชัดเจนดีอยู่เเล้ว เราหาข้อมูลว่าวัสดุแต่ละชนิดมีข้อดีอย่างไร ทำอะไรต่อได้บ้าง แล้วก็มาจบที่ไม้ไผ่ ซึ่งโตเร็วเมื่อเทียบกับไม้เนื้อเเข็ง สามถึงสี่ปีก็นำมาเเปรรูปได้แล้ว เมื่อตัดไม้ไผ่มาทำงาน ไผ่ก็ยังแตกหน่อได้ตามธรรมชาติ จะปลูกเพิ่มก็ไม่ยาก ตอบโจทย์กรีนดีไซน์ที่เราสนใจ

ไม้ไผ่เป็นวัสดุปราบเซียนในการทำธุรกิจ ถ้าใช้ไม้อย่างอื่นอาจจะได้กำไรเยอะไปแล้ว” คือสิ่งที่หลายๆ คนเตือนอมรเทพ ไม่มีหลักสูตรให้เราเรียนรู้โดยตรง เราต้องค้นหาความรู้ต่างๆ ด้วยตัวเอง ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็ซ้ำๆ เรายังมี know-how เรื่องการผลิตน้อย เเม้กระทั่งเครื่องมือเครื่องจักรก็ต้องปรับกันเอง ช่วยกันคิด ช่วยกันดู บางที ทำเเค่ตัว 2 ตัวก็ดี เเต่ถ้าทำเยอะๆ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร” อมรเทพย้อนเล่าถึงช่วง 2 ปีแรกที่เขาหมดเวลาไปกับการทำความเข้าใจไม้ไผ่ และหาทางจัดการไม้ไผ่เพื่อกำจัดมอด

อดทน กัดฟันทำไป ช่วงแรกๆ ที่ออกงานแฟร์ คิดว่าต้องตอบคำถามเยอะมากแน่ๆ แต่ผิดคาด ลูกค้ามองว่าเราทำงานออกแบบไม้ไผ่ที่เขาไม่เคยเห็น ไม้ไผ่ทำได้ขนาดนี้เลยหรอ ชาวต่างชาติบอกว่า ไผ่ของคุณเป็นเอกลักษณ์มากเลยนะ ซึ่งตอบโจทย์เราเรื่องเเบรนด์ เราต้องการทำงานไม้ไผ่ที่เเตกต่าง มันทำให้เรามั่นใจมากว่าเรามาถูกทางแล้ว” Design Director ของ BAMBUNIQUE เล่าถึงวันแรกๆ ของแบรนด์ที่เขาตั้งใจพัฒนาให้งานไม้ไผ่ออกมาต่างกับที่เคยเป็นตามส่วนผสมของชื่อ BAMBOO กับ UNIQUE

Starbucks Reserve Bar, United Square สิงคโปร์
นอกจากงานเฟอร์นิเจอร์แล้ว BAMBUNIQUE ยังได้ร่วมงานกับทีมออกแบบของ Starbucks เอเชียแปซิฟิก ในการออกแบบงานตกแต่งภายใน สาขาแรกที่ทำคือที่ United Square ประเทศสิงคโปร์

โบ.ลาน, กรุงเทพฯ ประเทศไทย
ส่วนล็อบบี้เลานจ์ของร้านอาหารโบ.ลาน ตกแต่งด้วยงานไม้ไผ่ร่วมสมัยจาก BAMBUNIQUE

“เอกลักษณ์เฉพาะตัวได้มาจากฝีมือของคน” เขาขยายความถึงการเลือกใช้วิธีผลิตแบบหัตถอุตสาหกรรมผสมผสานระหว่างเครื่องมือกับมือคนจริงๆ “งานออกแบบวัสดุธรรมชาติ เราต้องแสดงความเป็นวัสดุนั้นให้ชัดเจน มันอาจไม่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เส้นบางเส้นไม่ได้เท่ากันเป๊ะ แต่นั่นคือเส่นห์ของมัน” การดึงคุณสมบัติของไม้ไผ่มาใช้อย่างเต็มสมรรถภาพจึงเหมือนเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์

“เราจะทำงานไม้ไผ่อย่างไรให้เเตกต่างจากคนอื่น ถ้าเราทำเเล้วเหมือนที่เจอใน YouTube ใน Google ก็จะไม่เกิดความเเตกต่าง เราเล่นไม้ไผ่ให้เป็นอีกระดับหนึ่งได้ ไม่ต้องเล่นให้ดูเป็นธรรมชาติ สีธรรมชาติล้วนๆ เสมอไป เรายกระดับไม้ไผ่ให้เป็นวัสดุร่วมสมัยใช้กับงานในปัจจุบันได้จริง เราเลยเล่นกับผิวสัมผัสไม้ไผ่เพิ่ม ทำสีไม้ไผ่เพิ่ม

“ตอนเเรกเราเริ่มจากการเเปรรูปวัสดุ พอมั่นใจว่าวิธีการเเปรรูปของเราต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้ ก็เริ่มทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ทำเป็นของตกเเต่ง เเล้วก็ใช้คุณสมบัติไม้ไผ่มาตอบโจทย์งานดีไซน์

“ไม้ไผ่มีความเหนียว เเข็ง ยืดหยุ่นได้ดี เราเริ่มจากการทดลองเทคนิคที่จะต่อยอดในงานออกแบบว่าไม้ไผ่ทำอะไรได้บ้าง เฮ้ย มันบีบได้ มันดัดโค้งได้ เอามารัดเอามาสานได้ เราเอาคุณสมบัติเหล่านั้นมาสร้างเป็นคาแรกเตอร์ของงาน เพราะเป็นไผ่ถึงทำงานแบบนี้ได้

เก้าอี้ตัวนี้ก็เอาไม้ไผ่มาบีบ” อมรเทพชวนให้เราดูเก้าอี้ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ Design Excellence Award (DEmark) จากสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นสินค้าขายดีของแบรนด์

“อยากจะให้เก้าอี้ของเรา เฟอร์นิเจอร์ของเรา ไปวางที่ไหน คนจำได้ว่าเป็นดีไซน์ของเรา เเม้จะไม่ได้ติดเเบรนด์”

รางวัลเป็นเหมือนบทพิสูจน์ด้านการออกแบบ การที่ผลิตภัณฑ์ขายได้ซ้ำๆ ก็เหมือนงานออกแบบได้รับการยอมรับ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคน ตอบโจทย์ของอมรเทพที่ความงามแบบศิลปะเข้ามาอยู่ในไลฟ์สไตล์ได้

อมรเทพทดลองความยืดหยุ่นของไม้ไผ่ด้วยการลองม้วนเพื่อดูว่าจะแตกหักไหม เพื่อต่อยอดเทคนิคนี้ไปใช้สร้างผลิตภัณฑ์ เขาบอกว่า การทดลองแบบนี้เหมือนเวลาเรียนศิลปะ พอเขียนจุดหนึ่งจุดได้แล้ว ก็อยู่ที่คนเขียนรูปแล้วว่าจะลากเส้นต่อไปทางไหน

นับเป็นเวลา 7 ปี ที่อมรเทพแสวงหาความเป็นไปได้ให้กับวัสดุที่เขาเลือกแล้วอย่างไม้ไผ่

เราผูกพันกับไผ่ ยังมีอะไรอีกเยอะที่อยากนำเสนอ ตอนเเรกคิดว่าจะเสี่ยงไปไหมที่จะเล่นแค่ไม้ไผ่อย่างเดียว ถ้าคนไม่ยอมรับจะทำอย่างไร แต่เราอยากไปให้สุดทาง ทำให้เป็นจุดเเข็งของเรา เราอาจจะดื้อมั้ง เราเบื่อที่ต้องทำตามสิ่งที่ตลาดมี อยากจะฉีกสิ่งที่มีอยู่แล้วบ้าง” อมรเทพพูดถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญก่อนพูดถึงสิ่งที่เขาทำทุกครั้งเวลาต้องเริ่มต้นออกแบบ

ผมใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวดำเนินงานออกเเบบ จะพยายามไม่เคยชินกับอะไร ความเคยชินคือยาพิษที่ทำให้เราตายไปจากความคิดสร้างสรรค์เรื่อยๆ ถ้าเราเคยชินกับบางสิ่ง ยอมรับบางสิ่งที่มีอยู่เเล้ว มันจะไม่เกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเลย เราอยากทำแบรนด์ของเราเพื่อบอกว่าไม้ไผ่ไปได้ไกลจริงๆ เป็นการออกแบบที่ข้ามพ้นเรื่องวัสดุไปแล้ว”

www.bambunique.com

5 เฟอร์นิเจอร์ที่ดึงคุณสมบัติของไม้ไผ่มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

01 Ra Dee Bench

“เราเอาคุณสมบัติที่ยืดหยุ่นของไม้ไผ่มาแสดงออกด้วยเทคนิค ‘คว้านรัด’ เพื่อสร้างคาแรกเตอร์ให้คอลเลกชันนี้ ก่อนจะต่อยอดเทคนิคนี้กับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นๆ ชื่อ ‘ระดี’ แปลงมาจากคำว่า รัดดี เก้าอี้ตัวนี้คว้ารางวัลชนะเลิศ Design Excellence Award (DEmark) จากสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกและ G-Mark Award จากสมาคมส่งเสริมการออกแบบของอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่นในปี 2014

02 Garden line Lounge chair

“คอลเลกชันนี้แสดงให้เห็นว่าไม้ไผ่มีความยืดหยุ่นจนดัดโค้งได้ แต่ก็มีความแข็งแรงเท่าไม้เนื้อแข็ง เราใช้จุดเด่นนี้มาสร้างเฟอร์นิเจอร์ โดยแต่ละชิ้นจะแตกต่างกันด้วยลวดลายของไม้ไผ่”

03 Hug Easy Chair

การบีบและอัดโค้งของไม้ไผ่ที่เป็นลำปล้อง ป็นงานที่ยากและท้าทายมาก แต่ผลลัพธ์ของการทดลองออกมาดีจนพวกเราประหลาดใจ จึงลองใช้เทคนิคนี้มาทำให้เกิดเป็นฟังก์ชันของพนักพิงที่ต้องการให้รองรับหลัง เป็นงานที่แสดงความแข็งแรงในการทนต่อการบีบอัด แต่ยังคงความเป็นปล้องไว้ได้ จนหลายคนไม่เชื่อว่านี่คือไม้ไผ่จริงๆ”

04 LINIER Dining Chair

“ไม้ไผ่ที่แปรรูปเป็นเส้นแล้วแต่ยังคงความเหนียวและทนทานต่อการดัด ทำให้เราสนใจนำคุณสมบัตินี้มาสร้างแพตเทิร์นของการเป็นพนักพิงในรูปแบบที่แปลกตาออกไป สร้างมิติใหม่ให้งานไม้ไผ่ไม่จำเป็นต้องดูหนักแน่นหรือแข็งแกร่งเท่านั้น”

05 CREEP Dining Chair

“คอลเลกชันล่าสุดที่เราต่อยอดคุณสมบัติของไม้ไผ่ที่มีแนวเส้นใยแนวยาวต่อเนื่องกันมากกว่างานไม้ชนิดอื่นๆ สร้างความประหลาดใจได้มากขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงการอัดการดัดโค้งจากลำไม้ไผ่ไปสู่ไม้ไผ่อัดแผ่น เป็นการเชื่อมโยงความเป็นธรรมชาติสู่การแปลงรูปร่างในมุมมองใหม่”


5 ตัวช่วยในการแตกหน่อไอเดีย

1. สมุดสเกตซ์กันลืม

สิ่งที่อมรเทพมักจะทำเวลามีไอเดียใหม่ๆ หรือคิดถึงเทคนิคที่อยากลองใช้ คือการบันทึกลงในสมุด จึงไม่แปลกใจที่คอลเลกชันเฟอร์นิเจอร์ที่จะออกมาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งของแบรนด์ BAMBUNIQUE ก็มักจะเริ่มต้นจากการสเกตซ์ในสมุด

2. ดินสอ

อาจเพราะเขาใช้ดินสอดรอว์อิ้งมาตั้งแต่สมัยเรียน จึงชอบการใช้ดินสอมากกว่าปากกา โดยเฉพาะดินสอไม้ที่มักจะให้น้ำหนักเส้นที่สวยกว่าเวลาสเกตซ์งาน แต่ถ้าพกดินสอไม้ออกไปข้างนอกก็ต้องพกกบเหลาดินสอไปด้วย ดินสอกดจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะเจาะพอดี

3. กล้องถ่ายรูป

อมรเทพมักจะพกกล้องถ่ายรูประหว่างเดินทางทั้งในและต่างประเทศ เผื่อเจอแรงบันดาลใจดีๆ ก็จะถ่ายเก็บไว้ เขาชอบถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมที่เน้นรูปทรงและรายละเอียด กล้องมือถือจึงไม่ตอบโจทย์นี้นัก

4. หนังสือ

หนังสือเกี่ยวกับการออกแบบเป็นสิ่งที่อมรเทพต้องอ่านเป็นประจำ แต่เขาชอบอ่านหนังสือที่ไม่เกี่ยวกับการออกแบบไปพร้อมๆ กันด้วย “เราอยู่กับมือถือจะเห็นฟีดข่าวเดิมๆ เราไม่ต้องอ่านเองก็ได้ สักพักเพื่อนก็จะมาเล่าให้ฟัง หนังสือเลยเป็นสิ่งที่เราอยากอ่านจริงๆ จังๆ ให้ได้เดือนละเล่ม” อมรเทพเล่าเหตุผลพร้อมยกตัวอย่างว่าหนังสือเรื่องการเดินทางก็เป็นสิ่งที่เขาชอบอ่าน เพราะเขาจะได้เรียนรู้วัฒนธรรม ได้รู้ข้อมูลของประเทศอื่นๆ ที่บางครั้งเมื่อเขาได้เจอลูกค้าที่มาจากประเทศนั้นๆ สิ่งที่เขาเรียนรู้จากการอ่านก็จะเป็นเรื่องที่เขาใช้ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกค้าได้อย่างไม่เคอะเขิน

5. ไม้ไผ่

ความเข้าใจในวัสดุเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก พันธุ์ของไม้ไผ่ส่งผลถึงรูปทรง สีสัน และคุณสมบัติ อมรเทพจึงต้องศึกษา ทำความรู้จักกับต้นทางการออกแบบเหล่านี้ รวมไปถึงเทคนิคที่สามารถใช้กับไม้ไผ่ อย่างไม้ไผ่ธรรมชาติที่จะมีผิวสัมผัสและลักษณะข้อปล้องชัดเจน เมื่อใช้กับงานที่ต้องการความ smooth อาจต้องขัด ผลลัพธ์ที่ออกมาก็แทบจะต่างกันอย่างสิ้นเชิงเพียงแค่ผ่านกระบวนการผลิต

Save

Writer

Avatar

วิชุดา เครือหิรัญ

เคยเล่าเรื่องสั้นบ้างยาวบ้าง ในต่างเเเพลตฟอร์ม เล็กบ้างใหญ่บ้างออกมาในรูปแบบบทสัมภาษณ์ นิตยสาร เว็บไซต์ นิทรรศการไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้กำลังเป็นส่วนเล็กๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย เเละยังคงเล่าเรื่องต่อไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล