The Cloud X  Designer of the Year

 

Hypothesis แปลว่าสมมติฐาน

Hypothesis คือบริษัทออกแบบที่หยิบเหล็กเขรอะสนิมมาใช้เป็นวัสดุหลักในการออกแบบโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์จากอิตาลีอย่าง Villa Vinotto

ใช้เหล็กคล้ายนั่งร้านเป็นองค์ประกอบหลักในการแปลงโฉมโกดังเก็บรถแทร็กเตอร์ให้เป็นร้านอาหารฟิวชั่นที่ชื่อ ‘VIVARIUM by chef ministry’

และใช้เหล็กดัดมาเป็น façade ห่อหุ้มหน้าโรงแรมย่านสุขุมวิทที่ชื่อ IR-ON Hotel

 

ร้าน VAVIRIUM สาขาสยามพารากอนที่ Hypothesis ยังคงหยิบเหล็กนั่งร้านมาเป็นส่วนหนึ่งในงานออกแบบ เหมือนกับร้านแรกที่พวกเขาออกแบบบนถนนพระรามสี่

การเลือกใช้วัสดุของ Hypothesis เป็นส่วนประกอบสำคัญที่สร้างเอกลักษณ์ให้สถานที่ที่เขาออกแบบ การแสดงถึง ‘สัจจะวัสดุ’ คือคำที่หลายคนนิยามการออกแบบของพวกเขา

พวกเขาเคยได้รับรางวัล Winner จากเวที World Festival of Interior 2015 ในหมวด Bars & Restaurants จากงานออกแบบร้าน Vivarium และกำลังมีลุ้นเข้า shortlist บน 2 เวทีระดับโลก World Architecture Festival 2017 และ World Festival of Interior 2017

ล่าสุดสองหัวเรือใหญ่ของ Hypothesis อย่าง เจษฎา เตลัมพุสุทธิ์ และ มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา ก็เพิ่งได้รับรางวัล Designer of the Year Award ประจำปี 2017 ในสาขา Interior Design

งานออกแบบของพวกเขาได้รับการยอมรับบนเวทีทั้งในและต่างประเทศ ทั้งจากคนพื้นเพเดียวกันและต่างวัฒนธรรม การสร้างความงามแบบเป็นสากลของพวกเขามีที่มาที่ไปอย่างไร คือสิ่งที่ผมอยากหาคำตอบ

บนโต๊ะประชุมตัวยาวของพวกเขา มีร่องรอยที่หลงเหลือจากการทดลองระหว่างการทำงานอยู่เต็มไปหมด ทั้งชั้นวางของที่เต็มไปด้วยสนิม ข้าวของต่างๆ บนชั้น รวมไปถึงของที่ดูเหมือนจะห่างไกลกับงานออกแบบตกแต่งภายในอย่างบีกเกอร์ที่วางอยู่มุมขวาสุดของชั้น

ผมอยากรู้เรื่องสมมติฐานของพวกเขา

สมมติฐานที่ 1

การได้ตั้งสมมติฐานแก้ปัญหาด้วยตัวเองสนุกกว่าทำงานประจำ

การรวมตัวของ Hypothesis เริ่มขึ้นราวๆ 6 ปีก่อน หลังจากที่พวกเขาใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกัน ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำงานประจำมาร่วมสิบปี แล้วใช้ช่วงเวลาวันหยุดเสาร์-อาทิตย์มาทำงานร่วมกันเฉพาะกิจในแต่ละโปรเจกต์ เพราะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับข้อจำกัดบางอย่างในงานประจำ

“เรามารวมตัวกันช่วงวันเสาร์-อาทิตย์เพื่อทำโปรเจกต์ร่วมกัน เรากลับรู้สึกว่าการทำงานกับเพื่อนช่วงวันหยุดสนุกกว่าการทำงานประจำ เราต้องตั้งคำถาม ต้องการรีเสิร์ช แต่ในชีวิตการทำงานจริงทำไม่ได้ เพราะงานเร่งมาก พอดีช่วงนั้นมีโจทย์ที่น่าสนใจเข้ามา เราก็เลยตัดสินใจเปิดบริษัทกัน

“บริษัทที่เราตั้งขึ้นเป็น Multi Disciplinary Design Agency เราตั้งขึ้นเพื่อสร้างสมมติฐานใหม่ให้กับสังคม เรานำเสนองานออกแบบหรือวิธีการแก้ปัญหาในหลากหลายสเกล ตั้งแต่ในระดับเมือง สถาปัตยกรรม งานออกแบบภายใน ไปจนถึงงานออกแบบผลิตภัณฑ์ และทำแบรนดิ้ง วิธีการทำงานทุกรูปแบบเหมือนกันหมด คือตั้งคำถามกับโจทย์ สร้างสมมติฐาน เพื่อหาคำตอบเบื้องต้น ศึกษาวิจัย ทดลองจนเกิดเป็นงาน และหาวิธีการวัดค่าความสำเร็จจากสิ่งที่ออกแบบ” มนัสพงษ์เอ่ยถึงหลักการทำงานที่สอดคล้องกับชื่อเอเจนซี่ของพวกเขา

“งานแรกของพวกเราคือทำโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ของ Villa Vinotto ที่ซอยสุขุมวิท 26 ลูกค้าอยากทำอะไรก็ได้ที่เสร็จเร็วๆ เพราะจะย้ายโชว์รูมมาจากทองหล่อ มีเวลาให้เรา 4 เดือนต้องเสร็จ เขาไม่อยากได้โชว์รูมเหมือนคนอื่นที่สวยๆ หรือสวยแล้วเหมือนชาวบ้าน โจทย์คือเป็นอีกโชว์รูมที่เปลี่ยนไปเลย เดินเข้ามาแล้วต้องพูดถึง เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากๆ เราเลยตัดสินใจรับ เราเริ่มตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่าถ้าสิ่งนั้นเสื่อม สัจจะวัสดุมันจะผลักอะไรบางอย่างออกมาไหม เราเริ่มจากการเลือกใช้เหล็ก แต่ไม่อยากทำเหมือนงานทั่วไปที่ทำจากเหล็ก งั้นถ้าเราทำให้เป็นสนิมล่ะ เพราะเหล็กต้องเกิดสนิมอยู่แล้ว และความดิบเถื่อนตรงนี้มันน่าจะตัดกับเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงของเขา 

Villa Vinotto โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์จากอิตาลี ในซอยสุขุมวิท 26 ผลงานออกแบบชิ้นแรกของพวกเขาในนามHypothesis

พอโชวร์รูมเสร็จ พาร์ตเนอร์ของลูกค้าจากเนเธอร์แลนด์มาเห็นโชว์รูมก็เลือกเขาเป็นดีลเลอร์ LOUIS VUITTON มาจัด private fashion show ที่นี่ ลูกค้าบอกว่าเขารักที่นี่มาก พอเขาพูดกับเราว่าเขารักสิ่งที่เราสร้าง เราก็มีความสุข”

มนัสพงษ์เล่าถึงงานออกแบบอันเป็น ‘ผล’ จากสมมติฐานแรกของพวกเขาในนาม Hypothesis ก่อนขยายความถึง ‘เหตุ’ แห่งการเลือกใช้ ‘สัจจะวัสดุ’ ที่เป็นเอกลักษณ์การออกแบบสำคัญของเอเจนซี่ในเวลาต่อมา

 

สมมติฐานที่ 2

เอกลักษณ์แต่ละงานในนาม Hypothesis ได้มาจากผลลัพธ์ของการทดลอง

ช่วงนั้นมีคนพูดถึงสัจจะวัสดุกันเยอะ แต่เขาไม่กล้าก้าวล่วงไปสู่ความจริงของโลก เวลาใช้สอยอาคาร ยังไงตึกมันก็ต้องเก่าลง เหมือนเราที่เคยเป็นวัยรุ่นอีกหน่อยก็ต้องแก่ ผมเริ่มขาวขึ้น เราไม่เคยคิดถึงสิ่งนั้น เช่นเดียวกับสเปซก็มีความเสื่อมของมัน อาคารเก่าอาจจะดูเน่าๆ กากๆ แต่มันคือความจริงที่มันต้องเป็น เหมือนวันหนึ่งเราต้องแก่ งั้นถ้าเราทำให้มันเสื่อมตั้งแต่แรกล่ะ อย่างถ้าคุณเอาดอกกุหลาบมาตั้ง วันหนึ่งมันเหี่ยว คุณเศร้าใจ แต่ถ้าคุณเอาดอกกุหลาบที่แห้งอยู่แล้วมาจัดให้เป็นความสวยงาม มันงามตั้งแต่แรกอยู่แล้วเหมือนหัวกะโหลก ทำไมมันถึงเป็นอนันต์ ไม่มีวันตาย เพราะมันคือความจริงที่ทุกคนต้องตายเหลือแต่กระดูก นี่คือสิ่งที่เราพยายามก้าวล่วงไป กระจกวันหนึ่งต้องแตกใช่ไหม ผมทุบให้มันแตกเลย เมื่อเหล็กต้องเป็นสนิมผมก็ทำให้มันเป็นสนิม คือผมสนใจเรื่องธรรมะ ถ้าพูดแบบพุทธที่เข้าใจยากหน่อยมันคือ อิทัปปัจจยตา เพราะมันเป็นสิ่งนั้น ก็เลยเกิดสิ่งนี้ เมื่อเราเข้าใจแล้วก็ปล่อยให้มันเป็นไป” มนัสพงษ์ ยกตัวอย่างหลักธรรมที่ว่าด้วยเรื่องเหตุและผลของการเกิดดับ

การใช้ของที่ตั้งใจทำให้เสื่อมอาจลดทอนเรื่องความแข็งแรงของวัสดุและอายุการใช้งานลงไหม? นี่เป็นคำถามที่ผมสงสัยมาตลอด

“ตอนแรกเราก็เข้าใจว่าถ้าเหล็กเป็นสนิมมันจะพัง แต่ความเป็นจริงถ้าเหล็กที่เป็นรูปพรรณ คือเหล็กที่หล่อด้วยความร้อน สนิมมันเกิดแค่ผิว เหมือนเราเป็นแผลแล้วมันตกสะเก็ด นั่นแหละ กระดูกข้างในไม่ได้ผุ ไม่มีผลต่อความแข็งแรง โจทย์ข้อสองทำยังไงให้มันไม่มีผลต่อร่างกาย เราก็ต้องหาสารบางอย่างมาเคลือบมัน ฟรีซมัน คือ ทุกอย่างที่เราใช้ต้องกลับมาตอบโจทย์ด้านการใช้งานด้วยว่าใช้ได้จริง ทำได้จริง เราต้องมีทีมงานตรวจสอบ ไม่ใช่กระจกแตก หรือเหล็กเป็นสนิมจะมาส่งผลให้เกิดอันตรายกับร่างกายของคนใช้” เจษฎาตัดสลับเป็นคนตอบก่อนที่เพื่อนของเขาจะเสริมว่า

“การเกิดสนิมของเหล็กมีหลายแบบ ถ้าเหล็กรูปพรรณก็เหมือนที่กอล์ฟพูดว่ามันเหมือนแผลตกสะเก็ด แต่ถ้าเหล็กบางๆ เกิดสนิมก็เหมือนผิวเราบางๆ มีเหงื่อ แล้วไม่ได้อาบน้ำ มันก็จะกัดผิวเราเป็นแผลได้ เราเลยต้องทำความเข้าใจในวัสดุแต่ละชนิดด้วย เราลองกันเยอะมาก กระจกแตก ต้องแตกยังไงถึงใช้งานได้ด้วย ต้องส่งไปอบที่โรงงาน แล้วต้นทุนโอเคไหม ถ้าต้นทุนเพิ่มแต่มีจุดต่างมันก็น่าสนใจที่จะแลกกันเพื่อให้คนหันมามอง” นอกจากการตั้งสมมติฐานจะเป็นขั้นตอนสำคัญในการออกแบบแต่ละงานของพวกเขา การทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าจึงเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อ ‘พิสูจน์’ ว่าสิ่งที่พวกเขาออกแบบนั้น ปลอดภัย อันเป็นข้อคำนึงไม่น้อยไปกว่าความสวยงาม

สมมติฐานที่ 3

นิยามของความสวยงามมีมากกว่า 1 แบบ

“เราพยายามสร้างสมมติฐาน แล้วตอบโจทย์ให้ได้ ไม่ได้บอกว่าเราทำงานสวย เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราทำงานสวยเหรอ? ไม่สวยซะด้วยซ้ำ แต่มันคือความใหม่ เหมือนผู้หญิงที่ไม่สวย แต่มีเสน่ห์ แล้วทำไมเราต้องมองคนสวย คนสวยอาจจะนิสัยไม่ดีก็ได้ คำถามนี้มันไม่เคยอยู่ในวงการดีไซน์ เรายึดคอนเซปต์ว่าต้องคิดงานให้สวย แต่ผมไม่สนใจงานสวย ผมว่างานสวยไม่จีรัง

อะไรคือความสวย ผมเรียนทฤษฎีมา ทุกคนถูกหลอมความคิดแบบเดียวกับเพลโตว่า ‘Beauty is the truth’ แต่ถ้าคุณเป็นศิษย์พระพุทธเจ้าจริง Truth คืออนัตตา คือความว่างเปล่า นั่นคือจริงแท้ยิ่งกว่าเพลโตอีก ฉะนั้น ถ้าคุณเข้าใจความหมายจริงๆ มันจะเข้าใจหมดเลย สิ่งที่สวย อีกสิบปีจะไม่สวย สิ่งที่ไม่สวยมันอาจจะสวยในอีกสิบปีก็ได้ ตึกสวย อินทีเรียสวย เราทำมาเป็นสิบปีแล้ว มันทำให้สวยง่าย แต่ไม่มีใครทำออกมาไม่สวยแต่มีเสน่ห์ ไม่มีใครคิด เราเลยมีช่องทางให้เล่น ไม่ได้บอกว่าเราเดินข้างหน้านะ เราเดินถอยหลัง ท่านอื่นก้าวไปก่อนคนอื่นขั้นหนึ่ง การเดินถอยหลังของเรา คนอื่นอาจจะมองว่าด้อย น่าขยะแขยง แต่เราว่ามันก็เด่นในอีกมุมหนึ่งเหมือนกัน” พวกเขาเล่าถึงการทำงานในรูปแบบของพวกเขาก่อนยกตัวอย่าง

“เราไม่ได้ถอยอย่างเดียว เราพยายามคิดว่าสิ่งที่เราทำมันทิ้งอะไรไว้ด้วย เช่น เราทำนิทรรศการ ‘สถาปนิกของแผ่นดิน’ ในงานสถาปนิก ’60 เราได้ไอเดียว่า ทุกครั้งที่ทำอีเวนต์จบงานของที่นำมาใช้ทั้งหมดจะกลายมาเป็นขยะ เราเลยคิดว่าถ้าเราจะทำอีเวนต์ให้ไม่เกิดขยะ แล้วยังให้อะไรกับสังคมต่อไปได้มันควรจะเป็นอะไร เราเลยเลือกใช้วัสดุที่สามารถบริจาคได้ อีเวนต์นี้ไม่มีอะไรที่เป็นขยะ พอเราหันกลับไปมองว่าเราทิ้งอะไรไว้ ถ้ามีก็คงจะเป็นความสุขมากกว่าความงาม” เจษฎาพูดถึงอีกหนึ่งการทดลองของพวกเขากับทีม Apostrophy’s ที่สร้างอีกหนึ่งภาพจำให้กับงานสถาปนิกประจำปี

สมมติฐานที่ 4

ประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้นส่งผลต่อวิธีการทำงานของ Hypothesis

เมื่อสงสัยก็ตั้งคำถาม ตั้งคำถามก็ทดลองเพื่อหาคำตอบ วิธีคิดและวิธีการทำงานที่ไม่ซับซ้อนเช่นนี้น่าจะถูกเปลี่ยนถ่ายมาจากไลฟ์สไตล์ของพวกเขาที่ค่อนข้างเรียบง่ายเช่นกัน

“ร้านกาแฟดีๆ ร้านขายดอกไม้สวยๆ หรือสถานที่อย่างพระราชวังเก่า เป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจของผมเลย วันว่างๆ ผมจะชอบจัดดอกไม้ แต่ก่อนไม่คิดเลยว่าชอบดอกไม้ แล้ววันหนึ่งเราไปจับมัน ผมจับแรงแล้วมันช้ำเว้ย ถ้าจับเบาไปมันก็ไม่ได้อย่างที่ผมอยากได้ ผมเลยรู้ว่า อ๋อ…มันต้องมีความพอดี ต้องบาลานซ์ เหมือนกับการเอาสัจจะวัสดุมาใช้นั่นแหละ อีกอย่างทำแบบนี้มันได้ฝึกจิต ฝึกสมาธิเราไปในตัวได้ด้วย เราอายุ 37 – 38 ปีแล้ว เราต้องตั้งคำถามกับชีวิตให้มากขึ้น ใช้ชีวิตละเอียดขึ้น ผมพยายามบาลานซ์ทุกอย่างให้พอดีๆ แม้แต่เรื่องกินเมื่อก่อนเรากินเอาคุ้ม เดี๋ยวนี้เรากินเพื่อสุขภาพ มื้อนี้ไม่เฮลตี้ มื้อต่อไปต้องเฮลตี้” นี่คือการบาลานซ์ชีวิตของเจษฎา

เปรียบเทียบเป็นงาน ถ้าความพอดีของเจษฎาถูกนำมาใช้ในการตั้งคำถาม มนัสพงษ์คงเป็นคนลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป

“ผมค่อนข้างง่าย ใช้ชีวิตง่ายมาก เคยเอาของตัวเองออกมาวางเรียงบนเตียงว่ามีกี่ชิ้น มีน้อยมาก เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ กระเป๋าผมใบเล็กใบเดียวก็พอ คือผมเลือกที่จะใช้ของดีแต่ไม่เยอะมากกว่า ราคาสูงก็ไม่เป็นไรถ้าใช้คุ้ม เหมือนงานอดิเรกเมื่อก่อนผมเป็นคนเรียนเยอะ อ่านหนังสือเยอะมาก อ่านหนังสือยากๆ ปรัชญาพระพุทธศาสนา แต่ปัจจุบันไม่อ่านอะไรเลย เพราะมันเป็นความรู้ชั่วขณะเอง”

สมมติฐานที่ 5

คำตอบเดียวของทุกสมมติฐานแก้ปัญหาได้ทุกจุด

การที่ต้องทำงานเป็นทีม ความเข้าใจในเนื้องานแต่ละชิ้นคงต้องมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะสิ่งที่ทุกคนใน Hypothesis กำลังมองหาคือสิ่งเดียวกันคือ หนึ่งคำตอบที่สามารถตอบได้ร้อยคำถาม

“เรามีโจทย์ที่ต้องตอบอยู่แล้ว แต่เราเลือกตั้งคำถามกับโจทย์อีกครั้ง เพื่อทบทวนและหาสมมติฐานอื่นๆ ที่จะตอบคำถามหรือแก้ปัญหาสิ่งนั้นๆ ในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ แล้วเวลาเราทำงานบางครั้งเราหาข้อสรุปไม่ได้ และใช้เวลานานกว่าจะหาทางออกได้ แต่สุดท้ายก็เปิดโอกาสให้ประสบการณ์หรือสิ่งที่แต่ละคนถนัดเป็นตัวตัดสิน แล้วทุกคนก็ช่วยกันแชร์ความคิด คอยเป็นกระจกส่องกันจนหาทางปิดรูรั่วของปัญหาที่เราคิดว่าจะเกิดขึ้นได้” มนัสพงษ์พูดให้เห็นภาพการทำงานระหว่างทีม ก่อนจะปิดบทสนทนา

สิ่งที่เรามองหาคือหนึ่งคำตอบที่ตอบได้ร้อยคำถาม คำตอบที่สมบูรณ์ที่สุดในช่วงเวลานั้นที่แก้ไขได้ทุกจุดของปัญหา เหมือนธรรมะในพระพุทธศาสนาที่จะสามารถตอบหรือแก้ปัญหาในแต่ละคำถามไปได้ แล้วบางทีเราก็ได้คำตอบที่คาดไม่ถึงว่าจะสามารถตอบคำถามหรือแก้ปัญหาสิ่งนั้นได้จริงๆ จากการเริ่มต้นความคิดที่มองมาจากอีกมุม”


4 คำถามจาก Hypothesis
ที่ผ่านการทดลองจนได้คำตอบแล้ว

01 ทำไมร้านอาหารทำให้เลอะไม่ได้

Seven Sins, สยามสแควร์วัน

“ร้านอาหารทำไมต้องทำให้สวยด้วย ยังไงมันก็ต้องเลอะอยู่แล้ว ตอนแรกอยากทำให้เหมือนนรก แต่นรกมันง่ายไป มันไม่รู้สึก บาปของคนแรงกว่านรก เหมือนขับรถชนหมา บาปอยู่ในใจเรา แต่นรกเรายังไม่ถึงจุดนั้นมีจริงไหมไม่รู้เลย ความบาปมันเลยน่ากลัวกว่านรก แล้วบาปในไบเบิล 7 อย่าง เราเลยตั้งชื่อให้ด้วยว่า Seven Sins ตอนแรกผมทำร้านสีขาวมาก่อน เอาสีดำมาสาด แล้วเลอะ จบ ตรงไหนไม่สกปรกเอาสีดำสาดเข้าไป ที่เลือกทำแบบนี้เพราะความคิดคนย้อนแย้ง คิดว่าชอบร้านอาหารสะอาดๆ แต่เปล่า มนุษย์ชอบความเกรอะกรัง ชอบร้านเก่าๆ ในหม้อ 60 ปีแล้วมั้งไม่ล้าง มันคือคราบที่บอกถึงประสบการณ์ แต่พอร้านสะอาดมากๆ เนี้ยบๆ ไม่ค่อยมีคนเข้า ผมเลยบอกลูกค้ากล้าทำไหมแบบนี้ เอาไปตีเป็นเมนูอาหารเลย เราทำเมนู 7 อย่าง เล่าเรื่องทั้งหมด แล้วผมทำร้านให้ดูซกมกสกปรกได้ไหม จะให้ร้านเนี้ยบตลอดเวลาเป็นไปไม่ได้ เลอะก็ปล่อยมันเลอะ เลอะก็เช็ด แต่รอยขีดข่วนมันเลี่ยงไม่ได้” มนัสพงษ์

 

02 ทำไมใช้เหล็กดัดไม่ได้

IR-ON Hotel, สุขุมวิท

“พวกเราชอบมองว่าฝรั่งหรือชาติพัฒนาแล้วดีกว่าเราทุกอย่าง เราพยายามเอาของเขามาใช้ แต่เราลองย้อนไปมองความไทยก็มีดีในแบบของมัน แล้วถ้าเราจะเอามาทำให้อินเตอร์แต่ยังมีความเป็นไทยทำยังไง เราก็เริ่มรีเสิร์ชว่าความเป็นไทยคืออะไร หาไม่เจอ ลายไทยเหรอ สุดท้ายเราพบว่าความเป็นไทยคือ ‘อะไรก็ได้ง่ายๆ’ เราเห็นเหล็กดัด ตึกแถวริมถนน พอไปรีเสิร์ชแล้วหลายที่ไม่มีแบบนี้ เลยคิดว่านี่แหละเป็นหนึ่งอย่างที่แสดงออกความเป็นไทยได้ แต่จะใช้ยังไงดี อยู่ๆ เอาเหล็กดัดมาแปะอย่างเดียว มันก็อาจจะไม่ร่วมสมัยพอ ทีนี้ลองหลายอย่างเอามาซ้อนเลเยอร์ ปลูกต้นไม้ ทำสีกลับข้างให้ปกคลุมอาคารเก่า สรุปว่าทำอะไรไม่ได้ ซื้อมาแพงก็แพงแล้ว

สรุปก็เลยเอาเหล็กดัดในย่านที่ฝรั่งมองไทยมาใช้ผสมกัน จากเยาวราช บางลายจีน บางลายเทพนม คราวนี้ผู้รับเหมาถามจะเอาลายจากไหน ยึดยังไง มีคำถามเยอะไปหมด สุดท้ายมันมีคำตอบมาเป็นแบบนี้ ทำเหล็กให้ซอฟต์ด้วยการใช้แสงช่วย แล้วใช้ผนังเรียบๆ เล่นแสงเงาแทน งานนี้เราส่งเข้าประกวดได้เข้ารอบ World Interior ปีนี้ด้วย อาจเพราะมันมีความเป็นบ้านเรา มีแค่แถวๆ เซาต์อีสต์เอเชียเท่านั้น บ้านเขาไม่มี” เจษฎา

 

03 เป็นศาลเจ้าเหมือนเดิมได้ไหม

ล้ง 1919, คลองสาน

“ตอนนั้นร่วมกับบริษัท PIA เพื่อเสนองานแข่งกัน 3 บริษัท เราคิดว่าอีก 2 บริษัทน่าจะรีโนเวตตรงนี้ไปเป็นโรงแรม ที่นั่นมีศาสเจ้าแม่หม่าโจ้วที่อยู่มาแล้ว 160 ปี เป็นที่พึ่งทางใจให้กับผู้คน เราน่าจะทำให้เจ้าแม่ยิ่งใหญ่ขึ้น ยากดีมีจนก็เข้ามาตรงนี้ได้ เราก็เลยเสนอกันว่าเราจะทำนุบำรุง ซ่อมแซมศาลบางส่วนทำให้สวยงาม ช่วยบูรณะ ไม่ใช่ทำใหม่ เหมือน Live Museum ที่เมืองนอก ตึกเก่าเราเอาเงินบริจาคมาซ่อม ค่อยๆ ทำไป คนเข้ามาก็เห็นว่าเราซ่อมไป ส่วนแวร์เฮาส์ข้างหน้าเราก็ได้รับมอบหมายทำสถาปัตยกรรม ตั้งโปรแกรมร้านอาหาร จัดอีเวนต์ ก็ว่าไป

สำหรับผมเวลาเห็นเขาซ่อมตึกเก่าให้เป็นตึกใหม่เลยมันไม่ใช่ความงาม ความใหม่สำหรับผมมันไม่ได้เป็นความงาม มันลบร่องรอยเรื่องเล่าว่ามันเคยเป็นอะไร เราควรรักษาไว้เพื่อเล่าจากรุ่นต่อรุ่น ความเก่ามันสร้างไม่ได้ แต่ของใหม่มันสร้างได้ง่าย วิธีการอนุรักษ์มีหลายวิธี แบบนี้มันหลวมกว่าบันไดผุเราก็ซ่อมให้แข็งแรง มีคราบเราก็ล้าง มีรูปเขียนเก่า เราก็ค่อยๆ เช็ดไป อะไรแตกอยู่แล้วก็แตกไป” มนัสพงษ์

 

04 อีเวนต์ไม่สร้างขยะได้ไหม

บ้าน บ้าน งานสถาปนิก’60, กรุงเทพ

“ในส่วนของนิทรรศการ Hypothesis และ Apostrophy’s ได้รับมอบหมายจากทางสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้จัดนิทรรศการเพื่อแสดงความระลึกถึงพระองค์ท่านในงานอาษาปี 60 เราจะทำยังไงกับงบประมาณ 3 แสนบาทที่ได้มา เราคุยกันว่าอยากเอาเงินทุกบาทไปใช้ให้คุ้มค่าเหมือนแนวพระราชดำริของในหลวงที่พระองค์ท่านเคยตรัสไว้ว่า ประหยัด ประโยชน์ และความพอเพียง 3 อย่างนี้มาใช้ในการจัดงาน ทุกอย่างที่จะทำต้องก่อเกิดประโยชน์

“เราเลือกนั่งร้าน เลือกตัวผ้าใบคลุมงานก่อสร้าง มาออกแบบ ที่ท้ายสุดจบงานเราคืนหมด เสียงแสงเราก็ได้บริษัทมาช่วย ทุกคนมาช่วยซัพพอร์ตเลย ตอนั้นผมก็โดนตั้งคำถามหนักเลยว่าสิ่งที่เราทำจะสมพระเกียรติท่านเหรอ เรากำลังทำสิ่งที่เป็นที่ระลึก ผมเลยบอกไปว่า ผมเบื่อที่ทำให้อีเวนต์ทุกอย่างเป็นขยะ ผมอยากทำโพสต์อีเวนต์ มันคือหัวใจของงานนี้ แล้วถึงตอนจบสนุกมากต้นไม้ที่ขอมาจากกรมป่าไม้ถูกขนกลับไปปลูก ชาวบ้านหยิบตะกร้าหยิบเป็นของที่ระลึกกลับบ้านได้เลย

“พระองค์ท่านเป็นผู้สร้าง ท่านเริ่มต้นสร้างเอาไว้ แต่ประเทศยังสร้างไม่เสร็จ คุณก็เห็นอยู่ว่ามันสร้างไม่เสร็จ สิ่งที่เหลืออยู่มันคือหน้าที่พวกเรา ใช้แนวทางพระราชดำริ ใช้สมองของเรา ยึดโยงกับสิ่งที่พระองค์พระราชทานมาสร้างต่อ นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการสื่อสารในเชิงระบบสัญลักษณ์ ใช้ทฤษฎีอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งที่สถาปนิกควรจะทำคือใช้สมองของเรา ใช้ปัญญาในการจัดการกับปัญหาในทุกมิติที่เราพอจะทำได้ น่าจะเป็นความสนุกของโปรเจกต์ที่เราได้ลองทำ” มนัสพงษ์

 

Writer

Avatar

ศาสตรา เฟื่องเกษม

คนทำนิตยสารที่ชื่นชอบประสบการณ์หลากหลายที่งานสัมภาษณ์พาไปเจอ และกำลังสนุกกับการลองเปลี่ยนงานเขียนและบทสัมภาษณ์ไปใช้ในสื่อรูปแบบอื่นๆ บ้าง