The Cloud X  Designer of the Year

“อาจารย์ ผมว่าสวย ถ้างานนี้เสร็จ ผมว่ามันน่าจะสวย” ช่างทำกรงนกเอ่ยกับ ศุภชัย แกล้วทนงค์ ขณะที่เขากำลังขึ้นแบบตัวอย่างงานโคมไฟ

ใช่แล้ว ช่างทำกรงนกกำลังสร้างสรรค์งานโคมไฟ จากการออกแบบของศุภชัย

นั่นคือเหตุการณ์หลายเดือนก่อนหน้าที่จะเกิดโคมไฟ ‘จาก’

โคมไฟที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรง ‘ทะลายจาก’ และผลิตด้วยเทคนิคการสร้างสรรค์เดียวกับกรงนก จนคว้ารางวัลชนะเลิศ Innovative Craft Award โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) และรางวัล DEmark ในปี 2015 และได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการส่งออกให้ไปแสดงผลงานที่ Milan Design Week เมื่อปีก่อน

ปีนี้ศุภชัยเพิ่งได้รับรางวัล Designer of the Year สาขา Product Design จากมหาวิทยาลัยศิลปากรและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

นี่คือเรื่องราวหลายปีก่อนหน้า ครั้งที่ศุภชัยตัดสินใจ ‘กลับบ้าน’ ที่นครศรีธรรมราช หลังการออกจากบ้านกว่า 15 ปีเพื่อร่ำเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และทำงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับ Banyan Tree Gallery ในเครือโรงแรม Banyan Tree

งานตามหน้าที่ของเขาคือ การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อขายในร้านค้าของโรงแรม รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ใช้ในโรงแรมซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก ทำให้เขาได้ทำงานร่วมกับชุมชนและท้องถิ่นในต่างประเทศอย่างเวียดนาม พม่า และอีกหลากหลายชุมชนในประเทศไทย ได้เรียนรู้งานผ้าทอ งานไม้ งานเซรามิกแบบท้องถิ่น

“ช่วงที่ทำงานก็คิดว่าอยากใช้ความรู้ที่เรามีกลับมาทำงานในท้องถิ่น มันมีวัสดุท้องถิ่นในพื้นที่บ้านเราเยอะแยะที่น่าหยิบจับมาใช้และพัฒนาได้ เราพอจะมีไกด์ไลน์บางอย่างจากการทำงาน เรื่องการยกระดับของท้องถิ่นให้ขึ้นมาในระดับพรีเมียมอยู่บ้าง พอเข้าใจว่ากลุ่มตลาดเขาต้องการอะไร ต้องการคุณภาพแค่ไหน ธีมสีที่อยากได้เป็นอย่างไร แล้วข้าวของที่ออกจากตลาดท้องถิ่นไปสู่ตลาดพรีเมียมน่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร” ศุภชัยย้อนเล่าถึงการตัดสินใจย้ายกลับไปตั้งรกรากที่บ้านที่นครศรีธรมราช โดยมีอีกเหตุผลสำคัญคืออยากให้ลูกโตในสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นมากกว่าเมือง โดยเขาก็ยอมรับว่าตอนที่ตัดสินใจย้ายกลับไปก็ไม่เห็นทิศทางของการทำงานออกแบบที่ชัดเจนนัก

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จากวันที่เขาตัดสินใจกลับบ้าน มีกระบวนการอะไรเกิดขึ้นบ้าง เมื่อนักออกแบบได้ลงไปทำงานร่วมกับชุมชนอย่างเต็มตัว

เรียนรู้อย่างเข้าใจในท้องถิ่น

เรากลับมาดู มาสังเกต วิถีชีวิต พอลงมาที่ท้องถิ่นจริงหลังจากหายไปเป็นสิบปี มันต้องกลับมาเรียนรู้อะไรบางอย่างเหมือนกัน กลับมาเรียนรู้นิสัยใจคอของผู้คน ทำความเข้าใจกัน แต่โชคดีที่เราเป็นคนที่นี่ก็เลยพอจะปรับความเข้าใจได้” ศุภชัยเล่าถึงช่วงปีแรกที่กลับมา โดยระหว่างนั้นเขาได้เข้าร่วมอบรมเรื่องอัตลักษณ์ท้องถิ่นหลายต่อหลายครั้ง โดยมีครั้งหนึ่งในงานอบรมอัตลักษณ์ไทยสร้างสรรค์ที่มีการจับคู่นักออกแบบกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาสินค้าร่วมกัน โดยโจทย์ในครั้งนั้นคือการพัฒนารูปแบบของ ‘กรงนก’ เขาจึงได้คลุกวงในดูการผลิต เห็นโครงสร้าง ภูมิปัญญาในการผลิต ความน่าทึ่งเฉพาะตัวของฝีมือช่างท้องถิ่น

“ทั่วโลกมีงานออกแบบเยอะมาก สิ่งที่จะทำให้เราต่างกับที่อื่นคือ ความเฉพาะตัว ในแต่ละท้องที่มีความเฉพาะอยู่แล้ว ด้วยอัตลัษณ์ของท้องถิ่นที่มีทุนทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ที่ต่างกัน หรือแม้กระทั่งกระบวนการ เทคนิคที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมก็ต่างกัน ของแบบนี้ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ อยู่ที่ว่าเราจะอยากหยิบจับทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ มาทำให้มันน่าสนใจได้อย่างไร”

ศุภชัยเล่าพร้อมยกตัวอย่างโรงแรมที่มีสาขาในหลากหลายประเทศที่ดึงทุนทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ท้องถิ่น มาใช้งานร่วมกับการออกแบบสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน หรือสินค้าในโรงแรม ที่ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจได้มากมาย

“การออกแบบทำให้วัตุดิบแบบท้องถิ่นกลายเป็นงานร่วมสมัยได้ ไม่เชย และที่สำคัญ มีเอกลักษณ์” ศุภชัยสรุปถึงข้อได้เปรียบที่ท้องถิ่นมี ก่อนพูดต่อถึงอีกกระบวนการที่เขาเรียนรู้

พัฒนาไปสู่สากล

เมื่อต้นทุนทางวัฒนธรรมก็มีแล้ว อะไรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนที่มีนั้นเพิ่มทั้งคุณค่าและมูลค่าได้ “ถ้าเราหยิบจับมาแล้วใช้ไม่เป็น มันอาจจะกลายเป็นของที่ดูเชยได้” ศุภชัยเอ่ยถึงข้อควรระวัง ดังนั้นสิ่งที่เขามักจะยึดถือในการออกแบบก็คือการพัฒนาให้สินค้าให้มีความเป็นสากลและร่วมสมัย ซึ่งจะมีข้อดีที่ตามมาอย่างน้อยๆ ก็ทำให้ตลาดในการส่งออกผลิตภัณฑ์ของเรากว้างขึ้น และเมื่อมันร่วมสมัยผลิตภัณฑ์ของเราก็จะไปอยู่ที่ไหนของโลกก็ได้อย่างไม่เคอะเขิน “อย่างเทคนิคกรงนกมีกระบวนการเยอะมาก ทั้งการขึ้นโครงสร้าง แกะไม้ ฉลุลาย การกลึงไม้ แต่งานออกแบบ เราเลือกหยิบเอาหลักๆ มาแค่เรื่องเดียว มาคลี่คลายพลิกแพลงให้เกิดงานใหม่ที่ร่วมสมัย ลูกค้าที่ซื้อก็สามารถเอางานนี้ไปแขวนตามสถานที่ต่างๆ อย่างโรงแรมได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรีสอร์ตที่อยู่ทางใต้”ศุภชัยยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

เราอยากรู้ถึงวิธีการทำให้คนในชุมชนเห็นภาพปลายทางของผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับเขา “เราจะเป็นคนขึ้นโมเดล 1:1 เอาไปคุยกับเขา ค่อยๆ พัฒนาต้นแบบไปพร้อมกัน” ด้วยการทำงานในรูปแบบนี้ศุภชัยจึงจะใช้เวลาในออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ แล้วอีก 2 วันเขาตั้งใจลงไปทำงานคลุกคลีร่วมกับชุมชน

สร้างความยั่งยืนร่วมกัน

แม้จะเรียนจบในด้านการออกแบบอุตสาหกรรม แต่ศุภชัยกลับเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากโรงงานผลิตนั้นดูโล้น เกลี้ยง เกินไป “การผลิตในโรงงานที่ต้องทำในปริมาณเยอะๆ อย่างพลาสติกปั๊มมาเป็นหมื่นชิ้น การออกแบบเลยยิ่งต้องน้อย ง่าย เพื่อให้ผลิตได้ทีละเยอะๆ ส่วนตัวผมรู้สึกว่างานออกแบบพวกนี้เรียบร้อยจนเกินไป ถ้าเป็นงาน craft ผ้าแต่ละผืนมีเนื้อของมัน สีที่ย้อมไม่จำเป็นต้องเสมอกัน ไล่สีได้ หรือสีอาจจะติดบ้างไม่ติดบ้าง อย่างบางวัสดุมีกลิ่นธรรมชาติของมัน มันมีสเน่ห์อะไรบางอย่างแฝงอยู่ที่เราสัมผัสได้

“ช่างทำกรงนกเป็นศิลปินคนหนึ่งนะ ค่อยๆ ทำ บรรจงฉลุมาแล้วมาประกอบกัน มันเหมือนเขาใส่อารมณ์ ใส่จิตวิญญาณเขาเข้าไปในงาน” จากการที่เขาได้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในหลากหลายโครงการ นอกจากเรื่องของผิวสัมผัส สี กลิ่น หรือจิตวิญญาณของคนทำงานแล้ว สิ่งที่ศุภชัยสัมผัสได้ก็คือ วิถีชีวิตที่ไม่เปลี่ยนไป “ความเป็นวิถีของเขา เขาสามารถทำงานใต้ถุนบ้าน ทำงานไปเลี้ยงลูกไป คุยกับเพื่อนไป มันเป็นเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่”

ศุภชัยจึงเสียดายงานออกแบบที่ร่วมพัฒนากับคนในชุมชนถ้าโครงงานจะจบลง งานออกแบบเหล่านั้นก็มักจะจบลงด้วย ถ้าผู้ประกอบการณ์หรือชุมชนไม่ได้นำมันออกสู่ตลาดจริง “เราจะหาวิธีสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนอย่างไร หลังจากที่ทำโครงการมาเยอะๆ ก็เลยต่อยอดงานจากโครงการ มาพัฒนาต่อในแบรนด์ของตัวเองที่ชื่อ TIMA” ศุภชัยรับหน้าที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้วต่อยอดการผลิตร่วมกับชุมชน ก่อนจะหาลู่ทางให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ออกสู่ตลาดและวางขายได้จริง เพื่อให้รายได้กระจายสู่ชุมชน และเพื่อให้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นได้ดำรงอยู่โดยที่ยังมีรายได้เลี้ยงปากท้อง

ความสนุกในการทำงานร่วมกับชุมชนอยู่ตรงไหน เราถามเพราะอยากรู้ว่าเขาติดใจอะไรกับการทำงานแบบนี้ที่น่าจะกินเวลาในการทำงานมากกว่า การจ้างโรงงานผลิต และได้ยินว่าคนในท้องถิ่นมักจะเรียกศุภชัยว่าอาจารย์  

“เวลาทำงานกับเทคนิคภูมิปัญญาดั้งเดิมมันจะมีเทคนิคเก่า ความเคยชินเก่า ของช่างชุมชน ถ้าเคยลงพื้นที่เราจะสัมผัสได้ ทีนี้เวลาเราออกแบบอะไรใหม่ๆ มันจะมีขั้นตอนต้องลุ้นไปด้วยกันว่าผลลัพธ์มันจะหน้าตาเป็นอย่างไร” เขาเล่าเสียงสนุกก่อนเอ่ยถึงตอนที่กำลังขึ้นแบบโคมไฟ ‘จาก’ เป็นตัวอย่างประกอบ  

“ในขณะที่ทำ ค่อยๆ ขึ้นเป็นรูปทีละนิด ช่างก็ทำไป จินตนาการไปว่ามันจะออกมาเป็นยังไง บรรยากาศรอบข้างจะมีชาวบ้านที่เขามาคอยลุ้นกันว่าเราทำอะไรอยู่ เพราะช่างคนนี้เคยทำแต่กรงนก ก็ถามว่ากรงนี้จะเอาไว้ใส่นกอะไร แล้วนกมันจะอยู่อย่างไร จนกระทั่งประกอบเสร็จเรียบร้อย เราใส่หลอดไฟเข้าไป เขาก็จะตื่นเต้นไปกับเราว่ามันทำแบบนี้ได้ด้วย และสวยได้ขนาดนี้เลยหรอ”

“แบรนด์ TIMA จะเป็นเหมือน hub ที่เอาวัสดุต่างๆ มา finishing หรือเป็นสื่อกลางในการจับคู่วัสดุ หรือทำงานที่เน้นไปในทางหัตถกรรมสร้างสรรค์ โดยมี ‘นักคิด’ หน่วยงานที่ศุภชัยตั้งใจเปิดเป็นคลินิกให้คำปรึกษาการออกแบบท้องถิ่นให้กับชุมชนหรือผู้ประกอบการ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงในการขับเคลื่อนงานออกแบบให้กับท้องถิ่น

“เราจะอยากเป็นไกด์ให้น้องๆ ในพื้นที่ที่กำลังเรียนออกแบบว่าเวลาเราอยู่ท้องถิ่น เราก็ทำงานออกแบบได้เหมือนกัน คุณเอาวัสดุหรือภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาทำงานออกแบบ แล้วคุณก็ส่งออกสู่ตลาดในส่วนกลางหรือต่างประเทศได้ เราอยากทำให้น้องๆ เด็กๆ เห็นตัวอย่างว่ามันทำได้จริงๆ” ศุภชัยสรุปถึงอนาคตต่อจากนี้ของเขาให้เราฟัง

www.timacraft.com


My Favorite Works

01 จาก JAAK

การหยิบเอาเทคนิคภูมิปัญญางานหัตถกรรมในการขึ้นโครงสร้าง เสาและซี่ การต่อไม้ เข้าเดือยแบบกรงนกโดยเปลี่ยนมาใช้รูปทรงของทะลายจาก พืชท้องถิ่นทางภาคใต้ของไทย แล้วเพิ่มเติมฟังก์ชันเข้าไป ก็กลายเป็นโคมไฟมือรางวัล ที่ตอนนี้แตกไลน์สินค้าออกมาหลากขนาดหลายฟังก์ชัน

02 พันธุ์จาก PUN JAAK

การแตกหน่อ ขยายพันธุ์ของลูกจาก คือรูปทรงที่ทำให้เกิดแรงบันดาจใจของโคมไฟนี้ โดยศุภชัยยังเลือกใช้ภูมิปัญญาการผลิตกรงนกมาเป็นเทคนิคในการสร้างสรรค์

03 Tote Bag หางอวน

การทอเส้นใยหางอวนหรือยอดใบลานยาวเป็นผืน ก่อนจะเย็บต่อกันจนเป็นกระสอบ แล้วก็นำไปติดที่ปลายอวนต่อเพื่อจับกุ้ง เริ่มจะเลือนหายเมื่อมีอวนไนลอน แต่ทักษะการทอเส้นใยหางอวนยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนในชุมชนมีติดตัว จนเมื่อศุภชัยได้เป็นนักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการ Sustainable Craft ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ทำให้มีโอกาสได้เข้าไปดูว่าเสน่ห์การทอหางอวนอยุ่ตรงไหน ก่อนที่จะจับคู่สี สร้างลวดลาย ให้เหมาะกับที่ตลาดต้องการ โดยโครงการนี้เปิดโอกาสให้นักออกแบบได้พัฒนาภูมิปัญญาออกเป็นผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ กระเป๋าหางอวนจึงเป็นการทำงานร่วมกันกับกลุ่มชุมชนที่ทอหางอวน โดยการสร้างกิมมิกของสีเพื่อส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น และศุภชัยก็ยังนำกระเป๋าหางอวนนี้ออกไปสู่ตลาดอื่นๆ จนมีออร์เดอร์ส่งออกไปแล้ว

04 ที่แขวนผ้าเช็ดมือ ใบกะพ้อ

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์จากโครงการ Sustainable Craft ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ในการพัฒนาพัดใบกะพ้อที่บ้านอายเลา จังหวัดนครศรีธรรมราช กรรมวิธีในการทำพัดก็คือการเอายอดใบกะพ้อมาฉีก ลวก ตากแห้ง โดย 1 ใบจะได้พัด 1 อัน ศุภชัยในฐานะนักออกแบบที่ไม่อยากเปลี่ยนวิถีของชาวบ้านนัก แต่อยากทดลองว่าถ้าเราไม่ใช้ 1 ใบล่ะหน้าตาพัดจะเป็นอย่างไร การสานด้วยใบกะพ้อ 2 ใบจึงเริ่มต้นขึ้น แล้วก็เพิ่มเติมหูจับเพื่อให้ส่วนของด้ามพัดมาประกบกันได้ แล้วการทดลองนี้ก็ไปสอดรับกับความต้องการของประเทศญี่ปุ่นที่มีปริมาณพื้นที่ใช้สอยในการใช้ชีวิตค่อนข้างเล็ก ที่แขวนผ้าเช็ดมือใบกะพ้อจึงตอบโจทย์นี้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

05 ถาดรองของ ก้านจาก

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพัฒนาต่อยอดจากโครงการ OTOP GO INTER ปี 3 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่นำก้านจากมาขดและสานเพื่อรองของร้อน หม้อร้อน เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่อยู่กันมาดั้งเดิม โดยศุภชัยได้เข้าไปเห็นงานที่ยังสานไม่เสร็จแล้วสนใจจึงลองเติมสีสันเข้าไป แล้วเลือกที่จะสานโดยไม่ต้องดึงเข้าหากันจนแน่น ก็ทำให้เกิดเป็นรูปทรงของผลิตภัณฑ์ใหม่

ข้าวของพื้นถิ่นอันเป็นวัตถุดิบชั้นยอดในการสร้างสรรค์งาน

01 ติหมา หรือหมาตักน้ำ

ชื่อเรียกภาษาท้องถิ่นที่มีรากศัพท์มาจากภาษามลายูของอุปกรณ์ตักน้ำ ที่ใช้ยอดใบจากมาประกอบขัด มัดรวมกัน ซึ่งศุภชัยเลือกใช้มาเป็นชื่อแบรนด์ TIMA ที่นอกจากเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มาจากวัสดุท้องถิ่น แถมยังมีฟังก์ชันใช้งาน การออกเสียงเรียกชื่อยังพ้องกับคำว่า ที่มา ซึ่งเป็นจุดยืนของแบรนด์ที่สินค้าทุกตัวจะมีที่มาที่ไป

02 กรงนก

การเลี้ยงนกเป็นวิถีชีวิตของคนทางภาคใต้ เมื่อเลี้ยงนกกันเยอะ กรงนกจึงมีจำนวนเยอะไปด้วย นำมาซึ่งพัฒนาการของการสร้างสรรค์กรงนกอันเป็นภูมิปัญญาที่แฝงด้วยรายละเอียดอย่างไม่รู้จบ ทั้งการขึ้นโครงสร้าง การแกะไม้ การฉลุลาย ศุภชัยเล่าว่า เทคนิควิธีการที่เขาหยิบมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในการสร้างสรรค์กรงนกยังมีเหลือให้เขาได้ค้นหาอีกมาก

03 ป่าจาก

“การกลับมาอยู่ท้องถิ่น สิ่งต่างๆ รอบตัวมันเป็นแรงบันดาลใจได้หมดเลย เราชอบถ่ายรูปเก็บไว้ ศึกษามัน แล้วค่อยๆ เอาออกมาใช้ เราออกไปตลาดเราก็ได้ผักผลไม้มาเป็นแรงบันดาลกำลังใจ” ศุภชัยเล่าพร้อมยกตัวอย่าง พืชริมคลองในนครศรีธรรมราชที่ศุภชัยศึกษาเรื่องราววิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นได้จากทุกส่วนประกอบของต้นจาก เริ่มต้นที่ ใบ ที่คนนิยมนำมาเป็นหลังคา แบบที่เคยได้ยินกันว่าหลังคามุงจาก หรือจะเอามาทำเป็นใบยาสูบก็ได้ ก้าน ที่ชาวบ้านเอามาทำถาดรองของร้อน ลูกจาก ที่กินได้คล้ายลูกชิด หรือจะหยิบผลอ่อนเอาไปแกงส้ม งวงจาก ที่สามารถทำน้ำส้มจาก น้ำตาลจาก หรือกาบ ที่ทำเป็นฟืนหุงต้ม “วิถีชีวิตธรรมดาๆ เหล่านี้ ถ้าเราสังเกตดีๆ มันจะเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่เรานำมันไปเป็นแรงบันดาลใจในการต่อยอดผลิตภัณฑ์”

04 ลูกจาก

การเก็บสะสมและศึกษาความเป็นท้องถิ่นถูกทยอยนำออกมาใช้ต่อยอดเป็นสินค้าที่นำออกสู่ตลาดสากลได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากรูปทรงของทะลายจากกลายเป็นโคมไฟชิ้นรางวัลแล้วภาพการแตกหน่อใหม่ของลูกจากก็พัฒนากลายเป็นโคมไฟในรูปทรงใหม่ของ TIMA เป็นที่เรียบร้อย

ขอขอบคุณ: จักรพันธ์ สุวรรณพาณิชย์ และ ศุภชัย แกล้วทนงค์

Writer

Avatar

วิชุดา เครือหิรัญ

เคยเล่าเรื่องสั้นบ้างยาวบ้าง ในต่างเเเพลตฟอร์ม เล็กบ้างใหญ่บ้างออกมาในรูปแบบบทสัมภาษณ์ นิตยสาร เว็บไซต์ นิทรรศการไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้กำลังเป็นส่วนเล็กๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย เเละยังคงเล่าเรื่องต่อไป