The Cloud X  Designer of the Year

“ตอนนี้กำลังออกเเบบฟอนต์อะไรอยู่”

“การเดินทางไปบรรยายของกลุ่มเซียมไล้ครั้งล่าสุดเป็นอย่างไรบ้าง”

“การออกแบบแบบไทยประยุกต์ในกราฟิกดีไซน์หน้าตาเป็นอย่างไร”

คือบางส่วนของคำถามหลากประเด็นที่เราเตรียมไปสนทนากับ ไพโรจน์ ธีระประภา หรือ โรจ สยามรวย นักออกแบบที่เพิ่งได้รับรางวัลนักออกแบบไทย (Designer of the Year Award) ปี 2017 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หมวด Honor Award สาขา Graphic Design เพื่อให้ครอบคลุมถึงสิ่งที่เขาทำ ตามผลลัพธ์แบบที่ตาเห็นได้มากที่สุด

แต่เราก็ตัดสินใจพับกระดาษคำถามเก็บ เราอยากรู้ถึงสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตามากกว่า

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

เหตุที่เริ่มสนใจตัวอักษรในยุคที่คนไทยน้อยคนนักจะสนใจ ต้องกล้าแค่ไหนถึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่มั่นคงในสมัยที่ผู้คนยึดมั่นกับการทำงานประจำรายได้สูงมาทำกิจการของตัวเองเมื่อสิบกว่าปีก่อน หรือการเป็นนักออกแบบที่ให้ความสำคัญกับเสน่ห์แบบไทยๆ ทั้งในงานออกแบบจนปัจจุบันต่อยอดมาเป็นกิจกรรม เป็นเรื่องที่เราอยากชวนเขาคุย

หากลองเล่าตามลำดับเวลา ไพโรจน์เริ่มต้นทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในกราฟิกสตูดิโอยุคบุกเบิกของไทยที่ชื่อ ‘สามหน่อ’ ก่อนจะย้ายไปสั่งสมประสบการณ์กว่า 15 ปีในตำแหน่งอาร์ตไดเรกเตอร์ของเอเจนซี่โฆษณา

หลังจากนั้นเขาก็ผันตัวเองมาเป็นฟรีแลนซ์พร้อมๆ กับเปิดร้านขายของที่ระลึกและเสื้อยืดในนาม ‘สยามรวย’ (อันเป็นที่มาของชื่อ โรจ สยามรวย) สั่งสมความชอบตัวอักษรอย่างต่อเนื่อง ก่อนเริ่มต้นทำ lettering ให้ภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องอย่าง ฟ้าทะลายโจร, 15 ค่ำเดือน 11, หมานคร, เปนชู้กับผี ผลผลิตจากการทำ lettering สไตล์ไทยๆ ต่อยอดกลายเป็นฟอนต์พร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ อย่างฟอนต์ FahtalaiJone ฟอนต์ Mahnakorn หรือฟอนต์ Jone GlubJai

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์ โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์ โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

ปัจจุบัน ไพโรจน์ร่วมขับเคลื่อนกระแสไทยด้วยงานออกแบบกราฟิกผ่านการบรรยาย สัมมนาเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมในนามกลุ่ม ‘เซียมไล้’ (Siam Life) พร้อมกับการเป็นนักออกแบบอิสระ ที่สอนการออกแบบนิเทศศิลป์ให้มีลักษณะไทยประยุกต์ในระดับมหาวิทยาลัย เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มแรงบันดาลไทย กลุ่มไม่แสวงหากำไรที่ยกย่องภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมให้คนไทยเห็นคุณค่าในความเป็นตัวเอง นำเสนอเสน่ห์แบบไทยและอัตลักษณ์แบบไทย โดยใช้กราฟิกดีไซน์เป็นองค์ความรู้หลัก รวมไปถึงเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘เซียมไท้’ (Siam Type Foundry) สำนักออกแบบตัวพิมพ์ที่จำหน่ายฟอนต์ในราคาย่อมเยา โดยคำนึงถึงนักศึกษาและฟรีแลนซ์ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานให้มีโอกาสใช้ฟอนต์ที่ถูกลิขสิทธิ์ได้ตามครรลอง นอกจากนี้ ไพโรจน์ยังเป็นศิลปินศิลปาธร สาขาเรขศิลป์ ประจำปี 2557 อีกด้วย

ถ้าใครเป็นเพื่อนกับเขาในเฟซบุ๊กส่วนตัว จะได้เห็นว่ามีอัลบั้มชื่อ ‘ผู้คน-หลายชีวิต-เดอะชนบท’ ที่บันทึกผู้คนหลากหลายวงการซึ่งแวะเวียนกันเข้ามาพบปะพูดคุยกับโรจ สยามรวย ที่ร้าน ‘เดอะชนบท’ ร้านขายของที่ระลึกแบบไทยๆ อย่างไม่ขาดสาย เหมือนที่นี่เป็นจุดศูนย์รวม จุดรวมพล ในการเริ่มต้นงาน เหมือนที่เขาเปรยๆ ว่าลูกค้าของร้านเริ่มลดลงเรื่อยๆ เพราะกลายเป็นเพื่อนหมด

ครั้งนี้ก็เช่นกัน โรจนัดเราที่ร้านเดอะชนบท ทันทีที่เปิดประตูเราพบว่ามีแขกมาพบและพูดคุยกับเขาอยู่ก่อนแล้ว “มีแต่คนอยากคุยกับพี่โรจ คุยก่อนเลยครับ เรื่องผมน่าจะยาว” แขกผู้มาก่อนเราเอ่ยปาก

เรากล่าวขอบคุณและนั่งลงเริ่มประเด็นการสนทนาแรก ว่าด้วยการเริ่มต้นเป็นนักออกแบบฟรีแลนซ์เมื่อกว่า 10 ปีก่อน เผื่อเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังจะจบการศึกษาแล้วกำลังตัดสินใจจะเป็นฟรีแลนซ์ ก่อนจะถูกเบรกตัวโก่ง…

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์ โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์ โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์ โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

เรื่องจริงที่ 1

เราต้องเรียนรู้ สังเกตเยอะๆ หาข้อดีข้อเสีย ว่ามันใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า

“เราก็เหมือนคนอื่น คือต้องตั้งใจเรียน ต้องขยันหาความรู้ ต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ถูกเซ็ตเอาไว้ตามกรอบของสังคม คนส่วนมากที่มองเข้ามาอาจจะอยากจะทำเเบบนี้ เราไม่อยากสนับสนุนให้ทุกคนออกจากงานประจำมาเริ่มต้นทำอะไรของตัวเองเลยนะ อยากให้ทุกคนเข้าทำงานตามระบบก่อน จะได้เข้าใจโลก เข้าใจสังคมของเราเอง เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราต้องรู้จักคน การปฏิสัมพันธ์มีหลากหลายวิธี คุณอาจจะไม่ได้สิ่งนี้จากการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย การทำงานในระบบเป็นโรงเรียนจริงที่คุณต้องรีบเจอ เพื่อให้ตัวเองเรียนรู้งานอย่างมีคุณภาพตามหน้าที่ความรับผิดชอบ มันเหนื่อยกว่าการเเบกรับภาระเนื้อหางานเฉยๆ อีกนะ เพราะต้องเเบ่งส่วนหนึ่งมาเรียนรู้การใช้ชีวิต การเป็นผู้เป็นคน การเป็นบุคคลในสถานะนั้นเเละประคับประคองมันด้วย ถ้าคุณอยากเป็นครีเอทีฟที่ดี คุณต้องประคับประคองตัวคุณเองให้ดำรงอยู่ในคุณสมบัตินั้น”

โรจยกตัวอย่างกรณีของตัวเอง ในช่วงที่เขาผันตัวเองจากการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์มาเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ในเอเจนซี่โฆษณา ว่าเขาต้องประคับประคองอะไรบ้าง

“ต้องรอบรู้ อย่างงานศิลปะ เเฟชั่น เทรนด์ หนังที่ออกใหม่ กี่เเผ่นก็ซื้อ เเล้วก็ forward ดู เพื่อที่จะหาซีนดีๆ เเมกกาซีนเมืองนอกหัวเเปลกๆ ไม่เห็นไม่ได้ คุณต้องฉวยเอามาก่อนใคร”

ไพโรจน์เล่าให้เห็นบรรยากาศแสนตื่นเต้นและสภาวะ ‘ดูเเหลก ช้อปแหลก’

“สมัยก่อนอาร์ตไดเรกเตอร์คนหนึ่งทำทุกอย่าง ถึงโปรดักชันเฮาส์ เเต่ลูกค้าก็ถามเรา ถ้าเขาถามเรา เราจะเอาอะไรไปตอบถ้าเราไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องไปซื้อเพลงจากนักดนตรีที่เพิ่งออกอัลบั้มใหม่ เดี๋ยวลูกค้าถามว่าจะใส่เพลงอะไรดี ตอบไม่ได้ ก็ไม่ได้นะ หนังสือเเฟชั่นกี่หัวก็ซื้อหมด ซื้อแบบเเย่งกันซื้อด้วยนะ อย่าง Harper’s BAZAAR หรือ VOGUE ซื้อมันทุกชาติ อ่านไม่ออกก็ดูเฉยๆ ดูเลย์เอาต์ typography ทุกอย่างเป็นความรู้หมดเลย”

สมัยนั้นมีเกมที่โรจมักเล่นกับเพื่อนๆ คือการสุ่มเปิดหนังสือแล้วทายว่า headline ของหน้านี้มาจากหนังสืออะไร หรือการที่ทุกคนมาล้อมวงนั่งวิเคราะห์กันว่า เลย์เอาต์เล่มนั้นดีกว่า group head ของนิตยสารเล่มนี้เก่งกว่า บรรณาธิการเล่มนี้เริ่มจะเชยแล้ว

“ผ่านมาเเล้วก็รู้สึกดีนะ คาแรกเตอร์แบบนั้นเหมือนคนบ้า ต้องหูตาเหลือก ต้องบ้าข่าวสาร บวกกับเราไม่ได้ไต่เต้ามาจากสายโฆษณา ดังนั้น เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา พิสูจน์ว่ากูทำได้ ลูกค้าต้องใช้เรา พอตั้งใจเเบบนั้นมันก็ทำได้นั่นเเหละ เเต่ว่าเหนื่อย เครียด” โรจเล่าต่อว่าเขาใช้ชีวิตด้วยความสนุกแบบนั้นอยู่หลายปี ก่อนจะตั้งใจจัดสรรระบบชีวิตแบบใหม่ เพราะอยากมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น พอดิบพอดีกับที่ได้อ่านหนังสือของ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เรื่อง ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว

โรจเล่าติดตลกว่า “เป็นเรื่องเกษตรกรรม แต่แทรกเรื่องชีวิตเต็มไปหมด พออ่านแล้วก็อยากออกไปปฏิวัติยุคสมัยกับเขาบ้าง”

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์ โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์ โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์ โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

เรื่องจริงที่ 2

อะไรที่คนไม่เลือก ลองกระโจนเข้าไป

โรจเริ่มต้นหาพื้นที่เปิดร้านที่ตลาดนัดจตุจักร พร้อมกับทำงานในเอเจนซี่ เพื่อเก็บสถิติดูความเป็นไปได้ พร้อมๆ กับใช้ประสบการณ์จากการทำโฆษณา สำรวจว่าพอจะมีช่องว่างทางการตลาดตรงไหนบ้าง แล้วก็พบว่าลวดลายของเสื้อยืดในตลาดตอนนั้นไม่มีภาษาไทยเลย

“ยอมรับว่าภาษาอังกฤษสวยเเละลงตัวกว่าภาษาไทย ทุกคนพยายามจะเอาชนะปัญหาข้อนี้ มันเป็นความท้าทายอันหนึ่ง ถามตัวเองว่ามึงเป็นนักออกแบบไทยหรือเปล่า เรามีโอกาสเเล้ว เราได้ทำร้านของเราเเล้ว ก็เลยพยายามใช้ตัวอักษรไทยเป็นองค์ประกอบหลักในการทำงานกราฟิกทั้งหมด เพราะภาษาไทยจัดวางดีๆ น่าจะสวยได้ ต้องคิดเเบบนี้ ต้องเชื่อเเบบนี้ก่อน พอเชื่อปุ๊บก็จะทำได้เเละก็ทดลองทำไปเรื่อยๆ” โรจย้อนเล่าถึงการตัดสินใจครั้งนั้น

การเลือกระดับความเป็นไทยจึงเป็นเหมือนหัวใจของ ‘สยามรวย’

“เราเลือกระดับที่ ‘ไทย’ ไม่สูงมาก ไม่ใช่ไทยเเบบวิจิตรบรรจง ในรั้วในวัง ลดลงให้เป็นกันเอง เอื้อมง่าย ใกล้ชิดกว่า” พอทิศทางการออกแบบคงที่ ที่เหลือก็คือการจัดการกับองค์ประกอบต่างๆ ของข้าวของที่อยู่ในร้านให้เป็นไปในแบบที่เขาวางเอาไว้

“ข้อความที่อยู่บนเสื้อยืด เราก็เซ็ตกลุ่มคำ กำหนดเป็นคีย์เวิร์ดไว้ เป็นไทยย้อนยุค เป็นไทยสมัยเก่า เป็นไทยอารมณ์ดี แล้วก็จัดการกับมัน ถ้าไปเจอภาพที่ชัดเหลือเกินเราก็จะทำให้มันไม่ชัด อันไหนตัวพิมพ์เเข็งกระด้าง เราก็วาดใหม่ เราชอบฉลากยาซิกาเเรตเก่า ก็ลองออกเเบบใหม่ให้ดูเก่า” โรจย้อนเล่าถึง ‘สยามรวยสไตล์’ ที่เขาเลือกทำตามความชอบและสุขที่ได้ทำมากกว่า

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

งานออกแบบโปสการ์ดสไตล์ไทยของ สยามรวย ในยุคเริ่มต้นร้านที่ตลาดนัดจตุจักร แต่ตอนนี้ไม่ได้ผลิตแล้ว

เมื่อร้านไปได้ดีเขาก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำร้านเต็มตัว พร้อมกับการเป็นนักออกแบบอิสระที่มีงานเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย เขาจึงผ่านพ้นวิกฤตต้มยำกุ้งมาได้สบาย “ตอนนั้นมีเราเจ้าเดียวมั้งที่ทำของไทยๆ ขาย ก็เลยอยู่มาได้เรื่อยๆ บวกกับเริ่มสอนหนังสือแล้วด้วย” โรจวิเคราะห์สถานการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

แล้ว สยามรวยสไตล์ ก็ไปถึงรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรที่ชื่อ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง การเริ่มต้นออกแบบ lettering ให้ภาพยนตร์ที่วิศิษฏ์กำกับก็เริ่มขึ้นตั้งแต่เรื่อง ฟ้าทะลายโจร “ยุคนั้นเหนื่อยมาก เรียงตัวอักษรทีละตัว ตอนนั้นยังทำฟอนต์ไม่เป็นเลย เหนื่อยฉิบหาย พี่เขามีลูกบ้าสูงมาก เราก็บ้าไปด้วย ลงโฆษณาหนังสือพิมพ์ทุกวัน ต้องทำใหม่ทุกวัน เปลี่ยน copy ไป พี่วิศิษฏ์มาที่บ้าน นอน ตื่นขึ้นมาก็เขียน headline เราก็เรียง คอมก็ความเร็วต่ำๆ”

หลายคนที่มีฟอนต์ใช้ในการพิมพ์งานอาจจินตนาการความลำบากไม่ออก ขอให้นึกถึงการที่เราอยากพิมพ์ข้อความด้วยฟอนต์ที่ไม่มีในคอมพิวเตอร์ จึงต้องค่อยๆ เรียงตัวอักษรแต่ละตัวให้สวยงามเหมาะสมลงในโปรแกรม Illustrator จากความยากลำบากหนนั้นทำให้เกิดฟอนต์ SR FahtalaiJone โดยโรจเลือกใช้ฟอนต์นี้เป็น individual project ในการเรียนปริญญาโท

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

บางส่วนของงานออกแบบตัวอักษรใช้วิธีเรียงมือในโปรแกรม Illustrator หลังจากที่โรจออกแบบ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ก็นำไปเพิ่มเอฟเฟกต์ก่อนจะปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าทะลายโจร

หลังการผจญภัยกับฟอนต์ SR FahtalaiJone ทำให้เขาสนใจตัวอักษรเป็นพิเศษเลยหรือเปล่า เราสงสัย

“ไม่ใช่หรอก เราชอบตัวอักษรโดยนิสัย ตั้งเเต่เรียนที่ศิลปากรแล้ว เราไม่ใช่เด็กช่างศิลป์ พวกเด็กช่างศิลป์ที่เรียนร่วมรุ่นเก่งๆ ทั้งนั้น เเต่ว่าทุกคนไม่ชอบตัวหนังสือ เราก็เลย เอาล่ะ ถ้าไม่มีใครชอบ ฉันจะเป็นคนหนึ่งที่ชอบ” หลังจากเห็นช่องว่างของความชอบ โรจก็เริ่มต้นประณีตกับตัวอักษรนับแต่นั้น

“มันเหมือนเราตั้งใจทำ มันก็ดีให้เห็นตรงหน้าเลย เหมือนเป็นรางวัล เลยกลายเป็นความชอบ งั้นงานหน้ากูเอาตัวหนังสือเนี้ยบกว่านี้อีก เเล้วก็ เฮ้ย มันดีกว่า มันลงตัวง่าย

“ฝึกหนักนะ หาจุดอ่อนตัวเอง เเล้วหาวิธีแก้ไข เหมือนวิ่งเเข่ง เขาเเซงเราเเล้ว เราเดินอยู่ข้างหลังตลอดจะทำยังไงให้เสมอ ก็ต้องหาทาง ถ้าเจอทางเเล้วใช่ก็ bingo”

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

เรื่องจริงที่ 3

ในฐานะของการเป็นนักออกแบบไทย

“ประเทศเรามีเสน่ห์มาก ไม่ไฮเทค ไม่ได้ทันสมัยอะไร เเต่มีความสวยงามอยู่เต็มไปหมด ถึงได้ตั้งชื่อร้านเชยๆ อย่าง สยามรวย หรือ ชนบท” โรจตอบคำถามเมื่อเราถามถึงความชอบในความเป็นไทย จนทำให้เกิดกลุ่มแรงบันดาลไทย

“ของบ้านนอกบางอย่างเราลองปรับปรุงให้มีเสน่ห์ได้” โรจขยายความ ก่อนเล่าต่อถึงสิ่งที่เขาได้รับจากการเดินทางไปหาข้าวของในหลากหลายภูมิภาคของประเทศเพื่อมาขายในร้านเดอะชนบท สิ่งที่ได้รับกลับมาเป็นมากกว่าข้าวของเป็นชิ้นเป็นอันที่จับต้องได้ “เราไปตามตลาด ตามหมู่บ้าน ก็ไปเห็นวิถีชีวิต ไปเห็นวัด ไปเห็นงานศิลปะไทยตามวัด มันคือเเหล่งข้อมูลที่ดี เป็นตัวตนของพวกเรา เป็นสิ่งที่กำลังถามกันอยู่หรือเปล่าว่า ไทยคืออะไร”

การรวมกลุ่มเพื่อไปวัดต่างๆ ในประเทศจึงเกิดขึ้น

“ลายไทย คือการคลี่คลายจาก realistic แล้วมา simplify เรียบร้อยแล้ว ถ้าคุณมีลายไทย คุณพัฒนาเป็นงานลายเส้น งานปูนปั้น งานภาพเขียนสี หรือเอาไปทอเป็นผ้า เอาไปทำได้หมดเลย เเสดงว่ามัน simplify มาดีเเล้ว นี่คือกราฟิกเเล้ว ดังนั้น ทุกอย่างที่ช่างไทยทำ ดูดีๆ มันคือกราฟิกไทยนะ ลายไทยคือกราฟิกไทย”

จากวันนั้นเราจึงได้เห็นการตีความใหม่ของงานกราฟิกไทย และไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือบังเอิญ ทุกคนในกลุ่มเป็นนักออกแบบ เป็นอาจารย์ จากกิจกรรมในกลุ่มก็ขยับขยายกลายเป็นชุดความรู้ กิจกรรม การบรรยาย และเป็นศูนย์บันดาลไทยขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ

“ทุกอย่างเกิดจากความชอบ การที่ทำเล่นๆ ก็กลายเป็นเรื่องจริงจัง เราเป็นพวกที่เห็นต้นทุนจากวัด เห็นต้นทุนจากศิลปะไทย เห็นประโยชน์จากวิถีชีวิตไทย มันดีตรงที่เราทุกคนสอนเด็ก ทุกคนจบไปก็เป็นนักออกแบบไทย ถ้าเกิดเรียนรู้วิธีการตรงนี้ไว้ อย่างน้อยก็ตอบเพื่อนชาวต่างประเทศได้ว่าถ้าอยากรู้เรื่องกราฟิกไทยมันก็จะเป็นเเบบนี้ๆ” โรจสรุปให้เราฟังแบบรวบรัด ก่อนเสริมถึงสิ่งที่เขาพบหลังจากทำไประยะหนึ่ง

“พอทำบ่อยๆ ความเข้าใจเชิงลึกมันมาของมันเอง มันเริ่มตกใจมากขึ้น ในงานช่างไทย มันเป็นงานครีเอทีฟทั้งนั้นเลย พอมาดูปุ๊บ นี่มันเเอนิเมชัน นี่มันคาเเรกเตอร์ดีไซน์ นี่มันเท็กซ์ไทล์ นี่มันจิวเวลรี่นะ มันมีทุกศาสตร์ในนั้น ถ้าคุณขยันไปโฟกัสมันเเล้วเอาไปใช้ ดังนั้น ถ้าคุณอยากได้เเรงบันดาลใจเกี่ยวกับไทย คุณไปวัด”

หลังการเกิดขึ้นของศูนย์บันดาลไทย วัตถุดิบต่างๆ ที่โรจและเพื่อนๆ เก็บข้อมูลเอาไว้นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลจากกราฟิกไทยในวัด พวกเขาก็เลือกจะสื่อสารและเผยออกมาในกิจกรรมของเซียมไล้ และเฉพาะเจาะจงที่ตัวอักษรไทยในนามของเซียมไทป์

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์ โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์ โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์ โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

เรื่องจริงที่ 4

คนช่างสังเกตไม่มีขาดทุน

หลังการพูดคุยกันได้ระยะหนึ่ง ประตูร้านเดอะชนบทก็ต้อนรับแขกรายที่ 3 เราจึงขอให้เขารวบรัดสิ่งที่อยู่เบื้องหลังและการทำงานออกแบบกว่า 30 ปีในแบบของโรจให้เห็นภาพเป็นการปิดท้าย

“พอทำงานเเล้วความสามารถมันพอๆ กันหมดแหละ มันอยู่ที่ประณีตเเค่ไหน ขี้เกียจหรือเปล่า ซึ่งจะขี้เกียจไม่ได้เลย ถ้าจะทำเลย์เอาต์ให้ดูสวยงามต้องควบคุมการใช้พื้นที่ ควบคุมทุกอย่าง อย่าให้ค่าสำเร็จของโปรแกรมควบคุมเรา อย่างคำบรรยายหรือเครดิตปิดท้ายหนังโฆษณา คนอื่นเขาอาจจะเคาะเสร็จเเล้วส่ง post production แต่เราจะมาดูอีกครั้งว่าเเสงออกจากจอมันจะทำให้เส้นตัวอักษรตรงนี้บวม ต้องมาลด ต้องมายืด นั่งเสียเวลาทำ เเต่พอส่งไปปุ๊บ คำบรรยายหรือเครดิตนั้นออกมาคมเลย

“เราชอบบอกนักเรียนว่าไปฟังเพลง ไปเลือกเพลงที่ใช่กับงาน จะมีการฝึก เปิดเพลงให้ฟัง 5 สไตล์ที่ไม่เหมือนกันเลย ให้คำไป 5 คำ เปิดเพลงไปก็สเกตซ์ไป เพลงจบก็เก็บงาน เด็กทุกคนบอกว่ามันช่วยได้เยอะ ในทางกลับกัน ถ้าคุณคิดงานไม่ออกก็ไปหาเพลงที่เข้ากับงานมาฟัง ทั้งนี้ทั้งนั้นเพลงจะช่วยได้เมื่อคุณสะสมข้อมูลเพลงมาเยอะแล้ว

“ที่เราใช้มาตลอดคือ การเป็นคนช่างสังเกต มีเเต่กำไร เพราะการสังเกตคือการเก็บเข้ามา ยิ่งมีเยอะ ยิ่งเร็ว ถึงได้บอกว่าต้องเป็นคนหูตาเหลือกไปซะทุกอย่าง แล้วเราเป็นแบบนี้ตั้งเเต่เด็ก เรียกว่าเป็นสันดาน ด้วยคุณสมบัติตรงนี้ล่ะมั้ง มันก็เลยเหมาะที่จะทำงานออกเเบบสื่อสาร เพราะคุณต้องรู้ปลายทางว่าคุณจะสื่อสารให้ใคร อะไร อย่างไร เขาเป็นคนอะไร อย่างไร ต้องเก็บข้อมูลไว้ทุกเมื่อ”

facebook: Roj Siam Ruay
www.siamtype.com

บทเรียนจากนักออกแบบตัวอักษรฟรีแลนซ์

01 งานออกแบบเป็นงานที่ไม่สนองตัวเองเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นการออกแบบเพื่อคนอื่น

“การออกแบบเพื่อคนอื่น คุณต้องดูว่าคนอื่นเขาเป็นอย่างไรบ้าง มีบุคลิก ลักษณะ ความต้องการ สถานะ ความรู้สึก อย่างไร ถ้าจะออกแบบตัวอักษรให้รู้สึกไทย ไทยเเบบไหน เอาไปใช้อย่างไรบ้าง งานพิธีการเหรอ พิธีการเเบบไหน หรูไหม อันนี้เป็นนามธรรมก่อน เเล้วก็สร้างให้เป็นรูปธรรมด้วยเหตุผลที่หนึ่ง เหตุผลที่สอง ถ้าคิดไม่ออกให้ไปหาตัวอย่าง เพื่อเอาไปเช็กกับลูกค้าว่างานเราควรจะอยู่ตรงไหน”

02 สร้างความสบายใจให้อีกฝ่าย เเล้วเราจะสบายใจ

“ทุกอย่างเป็นเรื่องของการสื่อสาร ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหาก็ต้องสื่อสาร การนัดหมายสำคัญ เรื่องเวลาสำคัญ คิดง่ายๆ เวลาคนเขารองาน เขาอยากรู้คำตอบอะไรก็ทำตามนั้นเเหละ ถ้าเกิดรับงานมาเเล้วคิดไม่ออกเเล้วไม่กล้าบอก ความฉิบหายก็จะรออยู่ ถ้าคิดไม่ออกจริงๆ ก็ต้องบอกเขา ขอเวลา ขอต่อรอง”

03 ถ้าเป็นไปได้ ต้องมีทางเลือกให้ลูกค้า

“นึกถึงหัวอกเขา ทุกคนอยากเลือก การทำให้เขาเลือกในครั้งเเรกมันเสียเวลาก็จริง เเต่มันจะทุ่นเวลาครั้งที่สอง ครั้งที่สาม อย่างชื่อหนัง เปนชู้กับผี เราออกแบบไปเป็นปึกเลย หรืออย่างชื่อ มหา’ลัยเหมืองเเร่ ต้องการแค่คำว่า มหา’ลัย แต่เราเขียนคำว่า มหา’ลัย เยอะมาก เปลี่ยนปากกา เปลี่ยนหมึก นั่งตรงนี้เขียน นั่งตรงนู้นเขียน เพื่อให้งานมันออกมาหลากหลาย การรับงานสายครีเอทีฟ ทำงานจบ ครั้งเดียวอยู่ แทบไม่มี มันมี revise กันตลอดเวลา”

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

ภาพยนตร์ มหา’ลัยเหมืองแร่ โดย จิระ มะลิกุล ที่โรจออกแบบ lettering คำว่า ‘มหา’ลัย’ โดยมีโจทย์การออกแบบให้เข้ากับคำว่า ‘เหมืองแร่’ ซึ่งเป็นของเดิม

04 เราต้องเเนะนำลูกค้าได้

“มีตัวเลือกให้เขาแล้วเราก็ต้องเลือกเองด้วย ต้องบอกลูกค้าได้ว่าอันนี้คืออะไรอย่างไร ไม่ใช่มีตัวเลือกมาก แต่เเนะนำไม่ได้ การเเนะนำไม่ได้มันคือการที่งานไม่ได้รับการอธิบาย อย่าทำงานเเล้วไม่ได้อธิบาย มันจะเสียเวลาทั้งสองฝ่าย ถ้าโดนลูกค้ายิงกลับมา ก็ลองสู้กันด้วยเหตุผล”

05 ทำตัวดีๆ ก็เป็นมงคล

“บางทีลูกค้าเลือกที่ความสบายใจ คุณภาพก็พอๆ กัน เเต่อีกคนเเม่งดื้อ เขาก็เลือกอีกคน แถมคนนี้อาจจะราคาแพงกว่าด้วยซ้ำ เเพงกว่าเเต่สบายใจ ดังนั้น เรื่องการรักษาวินัยสำคัญมาก”


5 งานออกแบบไทยๆ ในเเบบของ โรจ สยามรวย

01 ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทยในรัชกาลที่ ๙

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

โรจเลือกจะออกแบบตัวอักษรเหล่านี้ด้วยมือทั้งหมด ทั้งที่ปกติเขามักจะตบแต่งงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลังจากเขียนมือแล้ว โดยหลังจากที่กราฟิกดีไซเนอร์หลายคนเห็นงานชิ้นนี้ ก็ขอให้เขาพิมงานนี้ลงบนเสื้อยืด

02 8 ฟอนต์ในตำนาน

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

ฟอนต์ในตระกูล SR ที่ตอนนี้โรจตัด SR ออกไป เหลือเอาไว้แค่ชื่อฟอนต์ โดยฟอนต์หลากหน้าตาหลายคาแรกเตอร์นี้ถูกสร้างไว้ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2543 – 2548

03 เมนูทำมือ

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

เมนูในสมัยที่ร้านเดอะชนบทยังขายกาแฟแบบไทยๆ ที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ “เรากำลังมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ก็เลยอยากใช้งานดีไซน์แบบไทยๆ ซึ่งเป็นงานทำมือหมดเลย อะไรที่มันเคยเชยก็จะปรับให้มันดูเก๋ขึ้น” โรจเล่าที่มา พร้อมบอกว่านอกจากชาวต่างชาติจะมาดื่มกาแฟแล้วก็มักถ่ายรูปเมนูไปด้วย

04 กระดาษห่อครอบจักรวาล

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

ในระยะหลังโรจทำงานออกแบบให้ชุมชนซะเป็นส่วนใหญ่ เขาจึงเลือกที่จะสร้างแนวคิดใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเรื่อง ‘กล่อง’ ให้กับคนในชุมชนที่เป็นพ่อค้าแม่ขาย เพราะข้าวของที่ขายมีมากมายหลายขนาด ถ้าต้องสั่งกล่องสำเร็จรูปมาสต็อกไว้ก็จะเป็นการลงทุนที่เยอะพอควร เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการออกแบบลายพิมพ์ตรายางให้ชาวบ้านพิมพ์เองบนกระดาษ ได้ออกมาเป็นกระดาษห่อครอบจักรวาล โดยลวดลายโรจอาศัยหลัก ‘แวดล้อมคือตัวตน’ ลงพื้นที่ ถ่ายรูปและคัดเลือกอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน มาสร้างตรายาง โดยออกแบบให้มีขนาดที่ต่างกัน เพื่อให้คนที่นำไปใช้สามารถสร้างลวดลายบนกระดาษห่อได้อย่างง่ายๆ โดยมีทริกให้ชาวบ้านปั๊มตรายางนี้ตอนที่อารมณ์ดีๆ แล้วก็อย่าใช้สีเยอะ

05 ถุงกระดาษข้าวมันไก่

โรจ สยามรวย ผู้รักษาภูมิปัญญาไทยด้วยกราฟิกดีไซน์

หลังจากออกแบบกระดาษห่อครอบจักรวาลแล้วโรจก็แนะนำ ‘วิธีการใหม่’ เพื่อทำหีบห่อให้กับคนในชุมชนด้วยการหยิบจับเอาวัสดุใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามอย่างกระดาษห่อข้าวมันไก่ ที่ราคาไม่แพงแถมยังกันน้ำ มาเป็นถุงใส่ของ โดยสร้างรูปทรงหีบห่อได้จากเครื่องซีลกระดาษที่ชาวบ้านมีติดบ้าน ปั๊มตรายางลวดลาย

Save

Save

Save

Save

Save

Writer

Avatar

วิชุดา เครือหิรัญ

เคยเล่าเรื่องสั้นบ้างยาวบ้าง ในต่างเเเพลตฟอร์ม เล็กบ้างใหญ่บ้างออกมาในรูปแบบบทสัมภาษณ์ นิตยสาร เว็บไซต์ นิทรรศการไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้กำลังเป็นส่วนเล็กๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย เเละยังคงเล่าเรื่องต่อไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan