The Cloud X  Designer of the Year

หากเอ่ยชื่อ Pomme Chan (ปอม ชาน) ไม่น่ามีคนในแวดวงศิลปะร่วมสมัยที่ไม่รู้จักศิลปินสาวคนนี้

ถึงคุณไม่ใช่คอศิลปะ ลายเส้นพลิ้วไหวของเธอก็น่าจะเคยผ่านตาคุณมาบ้าง เพราะเธอคือนักวาดภาพประกอบชาวไทยที่ฝากผลงานออกแบบร่วมกับแบรนด์ดังระดับโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน เช่น Marc Jacobs, Kiehl’s, Topshop, Nike, Adidas, Sony, BMW, Baby-G, MTV, The New York Times, Selfridges ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังเป็น 1 ใน 15 นักออกแบบที่ได้รับเลือกให้ออกแบบโปสเตอร์งานประกาศรางวัลออสการ์ประจำปี 2015 และล่าสุดยังได้รับรางวัลนักออกแบบไทย (Designer of the Year Award) ปี 2017 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สาขา Illustration Design ด้วยประสบการณ์และผลงานออกแบบที่โดดเด่นและต่อเนื่อง

นอกเหนือจากงานแบรนด์แล้ว ศิลปินสาวผู้ไม่ยอมหยุดนิ่งก็มีงานปล่อยของสไตล์ตัวเองออกมาเป็นครั้งคราว อย่างนิทรรศการเดี่ยวชื่อ ‘สิริมงคล’ ที่ The Jam Factory เมื่อต้นปี 2017

บทสนทนาของเรากับ ปอม-ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง ในครั้งนี้เป็นเหมือนการอัพเดตชีวิต หลังลองผิดลองถูกบนเส้นทางสายศิลปะนานถึง 10 ปีจนเป็นที่รู้จักในระดับโลก ก่อนที่เจ้าตัวจะย้ายจากอังกฤษกลับมาอยู่เมืองไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราชวนเธอย้อนเวลากลับไปค้นหาว่า อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังตัวตนและการทำงานของ Pomme Chan นักออกแบบที่มีเส้นสายลายมือเปี่ยมเอกลักษณ์คนนี้

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์ Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

เปิดบ้านศิลปิน

เราบุกมาคุยกับเธอที่สตูดิโอในซอยสุขุมวิท 26 เธอเล่าให้เราฟังว่า ตอนนี้มีงานเข้ามาเยอะมาก เธอดูแลงาน 2 ส่วนหลักคือ ‘Happy Pomme Studio’ บริษัทเปิดใหม่ของเธอเอง และ ‘Stories Ceramics’ ธุรกิจแบรนด์เซรามิกที่ทำร่วมกับพาร์ตเนอร์

ด้านงานออกแบบ เธอเริ่มดีลกับแกลเลอรี่ในต่างประเทศมากขึ้น โดยแสดงผลงานในงาน Asia Contemporary Art Show ช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ที่ฮ่องกง และตั้งใจว่าอยากจะจัดนิทรรศการของตัวเองในปีหน้า

“เส้นทางอาชีพที่เราวางไว้ในอีก 3 ปีคือ อยากไปแสดงงานที่ Art Basel ในฐานะไฟน์อาร์ติสท์ (Fine Artist) ระดับโลก ตอนนี้เหมือนเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ผ่านมา เรารับงานคอมเมอร์เชียลประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เราเลยวางแผนว่าต้องลดงานคอมเมอร์เชียลลง เพื่อขยับไปวาดรูปสายไฟน์อาร์ตมากขึ้น แต่ก็เสี่ยงเหมือนกันนะ” เธอบอกพร้อมกับหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

“ปอมเป็นคนชอบมองอะไรยาวๆ เรารู้ตัวตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วว่าตอนอายุ 40 เราอยากเป็นเจ้าของแกลเลอรี่ อยากเป็นไฟน์อาร์ติสท์ที่วาดรูปแล้วมีคนมาซื้อ เราทำงานมา 12 ปีแล้ว เหลืออีกไม่กี่ปีก่อนจะถึง 40 เลยหันมาทบทวนว่า เป้าหมายในชีวิตยังเหมือนเดิมไหม ซึ่งยังเหมือนเดิม แต่เส้นทางที่เราเดินอยู่ไม่ได้พาเราไปจุดนั้น เราเลี้ยวผิดซอยไปนิดหนึ่ง เลยต้องเดินออกจากซอยก่อนเพื่อเลี้ยวไปให้ถูกทาง”

สำหรับคนที่มีความฝันว่าอยากเป็นไฟน์อาร์ติสท์ เธอรู้สึกอย่างไรกับการทำงานคอมเมอร์เชียลที่ต้องรับบรีฟจากลูกค้าสาย ‘ธุรกิจ’ ซึ่งน่าจะเป็นขั้วตรงข้ามของสาย ‘ศิลปะ’

“ปอมยังชอบงานคอมเมอร์เชียลอยู่มากๆ เพราะสนุก เราชอบเวลาเห็นลูกค้าเอางานเราไปทำโปรดักต์เป็นชิ้นเป็นอัน แล้วก็ตื่นเต้นที่ได้รับบรีฟซึ่งเปลี่ยนไปจากแบรนด์ต่างๆ ปอมไม่เคยแคร์ว่าคนเห็นงานเราแล้วต้องรู้ว่านี่คืองานปอม เราไม่เคยคิดเรื่องสไตล์ เราแค่อยากเป็นส่วนที่เข้าไปเติมเต็มให้แบรนด์นั้น เสริมทำให้มันดีขึ้นแบบที่แบรนด์เขาเป็น มากกว่าเอาสไตล์ของตัวเองไปโชว์” นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีผลงานของ Pomme Chan ปรากฏอยู่กับแบรนด์ดังมากมาย

“การทำงานคอมเมอร์เชียลกับไฟน์อาร์ตต่างกันมากนะ ปกติปอมวาดรูปลงกระดาษ ถ้าเป็นงานคอมเมอร์เชียลเราเลือกเทคนิคได้เยอะมาก เช่น วาดก่อนแล้วสแกนรูปไปใส่สี จัดคอมโพสิชันในคอมพิวเตอร์ หรือลงสีก่อนแล้วเอาไปสแกน แล้วค่อยม็อกอัพในคอมพิวเตอร์ต่อก็ได้ คืออีดิตได้หลายครั้ง แต่งานไฟน์อาร์ตเป็นออริจินัลอาร์ตเวิร์ก ซึ่งท้าทายไปอีกแบบ อีกอย่างคือคนที่จะซื้องานเก็บ เขาชอบภาพที่วาดบนแคนวาส ปอมว่าการวาดรูปบนกระดาษง่ายกว่า ปอมเพิ่งเริ่มวาดรูปบนแคนวาสเมื่อปีที่แล้วในนิทรรศการ ‘สิริมงคล’ ตอนนี้เลยเป็นช่วงที่ยังเรียนรู้ไปเรื่อยๆ”

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์ Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

เด็กสาวผู้ฝันอยากเป็นนก

เราชวนเธอให้พาเรากลับไปดูช่วงชีวิตที่ผ่านมา เพื่อค้นหาว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังตัวตนของเธอในวันนี้

“ตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กเนิร์ดที่ไม่เคยยิ้ม พ่อแม่เข้มงวดมาก เราเลยอยากหนีออกจากบ้านตลอดเวลา พอดีว่าที่บ้านค่อนข้างมีเงิน เขาจะพาไปเมืองนอกบ่อยๆ ก็กลายเป็นความฝันว่าวันหนึ่งฉันจะหนีไปเมืองนอก ไปเรียนต่อ หรือทำอะไรก็ไม่รู้แหละ เด็กๆ จะชอบบอกกับแม่ว่าอยากเป็นนก”

หลังเรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาการออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอพบว่างานออกแบบตกแต่งภายในไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับตัวเอง จึงแก้ปัญหาด้วยการเรียนคอร์สสั้นๆ ทั้งกราฟิกดีไซน์ แฟลช แอนิเมชัน เขียนเว็บไซต์ เขียนโค้ด 3D เมื่อรู้สึกว่าชอบงานสายกราฟิก จึงไปฝึกงานในเอเจนซี่โฆษณาอยู่ถึง 9 เดือน และได้ทำงานประจำในเอเจนซี่อีกแห่ง

“มีอยู่วันหนึ่ง พี่อาร์ตไดเรกเตอร์บอกให้ปอมขยับเคิร์นนิ่ง (Kerning: การจัดวางระยะห่างระหว่างตัวอักษร) แล้วปอมขยับไม่ได้ เราไม่เข้าใจว่าอะไรคือเคิร์นนิ่ง ด้วยความเนิร์ด รู้อะไรก็อยากรู้ให้จริง พอเจอว่าตัวเองรู้ไม่จริง เลยตัดสินใจไปเรียนต่อด้านกราฟิกดีไซน์ที่อังกฤษ”

แรกกางปีกบิน

เมื่อโอกาสมาถึง เธอใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ในช่วงเวลา 2 ปีที่เรียน เธอฝึกงานกับ 5 บริษัท พร้อมกับทำงานพาร์ตไทม์ แถมด้วยเที่ยวกลางคืนต่อ “ใช้ชีวิตแบบนกโบยบินมาก เราเตลิดไปมากจนวันนึงแฟลตเมทกับเพื่อนคนไทยเลิกคบเราหมดเลย ตอนนั้นกำลังจะเรียนจบ เราก็ย้ายออกไปอยู่คนเดียว เริ่มมีเพื่อนฝรั่งมากขึ้น จากที่เคยอยู่แต่กับคนไทย พออยู่กับเพื่อนฝรั่งภาษาอังกฤษเราก็ดีขึ้น เพื่อนเราเป็นสายอาร์ติสท์กันหมด เลยกลายเป็นว่าเราเป็นกลุ่มเพื่อนที่ค่อยๆ เติบโตไปด้วยกัน

“ช่วงนั้นเราต้องทำงานพาร์ตไทม์เยอะมาก แต่ไม่ได้รู้สึกห่วยนะ เพราะเพื่อนฝรั่งทุกคนก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครดูถูกใคร มันก็เหนื่อยเท่ากัน ชีวิตเราไม่ได้เหนื่อยกว่าชีวิตเขา มันไม่ใช่ความลำบาก มันคือชีวิต

“เราเคยเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์นิตยสาร ทำงานไปได้สามสี่เดือนเจ้านายบอกให้เก็บของเพราะบริษัทจะปิดแล้ว เงินเดือนเดือนนี้ก็ไม่ได้ เราเดินออกมางงๆ เล่าให้เพื่อนฝรั่งฟัง เพื่อนบอกว่า ‘เอ้า รออะไรอยู่ล่ะ ยูมีเวลาเป็นผ้าขี้ริ้วได้ 5 นาทีนะ แล้วก็เก็บตัวเองขึ้นจากพื้นซะ เดินไปหาโอกาสใหม่ๆ สิ’ นี่คือวิธีดีลของฝรั่ง วันนั้นเราก็เดินเข้าห้างไปสมัครงานเป็นพนักงานแต่งหน้าเลย ทั้งๆ ที่แต่งหน้ายังไม่เป็นด้วยซ้ำ

“ช่วงนั้นเราทำงานของตัวเองช่วง 4 ทุ่มถึงตี 2 เช้ามาไปทำงานพาร์ตไทม์ 11 โมงถึง 3 ทุ่ม พนักงานที่อยู่เคาน์เตอร์เป็นฝรั่งหมดเลย พอเราอยู่กับฝรั่ง ความคิดเราก็เป็นแบบเขา ไม่มีใครอยากทำงานนี้นะ มันไม่ใช่ฝันของเขา ทุกคนจะเล่าความฝันของเขาให้เราฟังว่า ‘ปอม ชั้นอยากเป็นนักเต้น ชั้นมาทำงานที่นี่เพื่อหาไว้เป็นค่าใช้จ่าย ทำงานตรงนี้เสร็จแล้วชั้นจะไปเรียนเต้นต่อตอน 4 ทุ่ม’ มันทำให้เราเห็นชีวิตหลายแบบ แล้วสร้างกำลังใจให้ตัวเองแบบอัตโนมัติ”

ถ้าจะบอกว่า เส้นทางการทำงานในฐานะนักวาดภาพประกอบของเธอเกิดจากความขยันอย่างไร้ขีดจำกัด ก็คงไม่ผิดนัก เธอยอมรับงานฟรี เพื่อให้มีคนได้เห็นผลงานมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

“งานชิ้นแรกที่ทำเป็นงานออกแบบโปสเตอร์ที่รับทำฟรี ให้บริษัทออร์แกไนเซอร์ที่รวมโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตดนตรีชื่อ Don’t Panic ซึ่งออกโปสเตอร์ใหม่ทุกอาทิตย์ วันนึงอาร์ตไดเรกเตอร์ที่เข้ามาซื้อไวนิลที่ร้านขายเครื่องเสียงเห็นงานเราแขวนอยู่ เขาติดต่อมา เราก็เลยได้งานแรก แล้วงานที่สองที่สามก็ค่อยๆ ตามมา”

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์ Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

หัดบินอีกครั้ง

นอกจากการใช้ชีวิตในต่างแดนจะเปลี่ยนหญิงสาวลุคคุณหนูให้กลายเป็นสาวไฟแรงสู้ไม่ถอยแล้ว บทเรียนที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ต้องสู้แบบมีแผน

“เคยเปิดดูเงินในธนาคารแล้วพบว่าไม่มีเงินจ่ายค่าบ้าน เลยเอาเสื้อผ้ากับมือถือที่มีอยู่เครื่องเดียวมาขาย จำได้ว่าไปซื้อขนมปังแถวมาแล้วนับว่ามีกี่แผ่น วันหนึ่งกิน 6 แผ่น เช้า กลางวัน เย็น มื้อละ 2 แผ่น แพ็กหนึ่งก็กินได้ประมาณ 2 วันครึ่ง เรานั่งมองชีวิตตัวเองว่าลูปนี้จะไปถึงเมื่อไหร่ เงินที่หาได้ทุกวันจากการทำงานพิเศษจนตัวตายก็แค่พอสำหรับค่าใช้จ่าย ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาใหม่เลย กว่าเราจะมีพอร์ตฟอลิโอได้สักเล่มก็ต้องใช้เงินประมาณ 500 ปอนด์ แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนมาทำ

“ปอมตัดสินใจเดินเข้าธนาคารไปอธิบายให้เขาฟังว่า ฉันมาจากเมืองไทย ตอนนี้ฉันมีดีลงานออกแบบกับ The Telegraph และ Mercedes Benz นะ จะมีค่าตอบแทนเท่านี้ แต่เงินยังไม่เข้า เรามีอีเมลเป็นหลักฐานอยู่ ขอฉันกู้เงินเถอะ ฉันมีความฝัน ถ้าได้เงินมาฉันจะไปทำนู่นทำนี่ เขาก็ให้มา แวบนั้นคือน้ำตาไหล ดีใจมากที่จะได้เลิกทำงานพิเศษแล้ว

ปอมเชื่อหลักการทดลองวิทยาศาสตร์ อะไรก็ตามที่เราทำซ้ำๆ โดยไม่เปลี่ยนตัวแปร มันก็จะได้ผลเดิมๆ ไม่ว่าจะทำกี่ครั้ง แต่ถ้าคุณเปลี่ยนตัวแปร ผลลัพธ์มันก็จะเปลี่ยนไป ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ เราก็เป็นได้เท่านั้น”

หลังจากวันนั้น เธอเริ่มวางแผนการเงินใหม่เพื่อไม่ให้พลาดซ้ำสอง

“เราเอาเงินที่ได้ไปทำพอร์ต ทำเว็บไซต์ เก็บเป็นค่าใช้จ่าย ที่สำคัญที่สุดคือ แยกเป็นเงินเก็บด้วย ก่อนหน้านี้ไม่เคยเก็บแบบนี้เลย ใช้หมดเกลี้ยงเละเทะ หลังจากนั้นพอเราไม่กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย โฟกัสกับงานได้มากขึ้น ก็เริ่มหาตัวแทนในต่างประเทศเพื่อขยายงานออกไป”

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์ Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

Work Like the Artist

กลับมาที่เรื่องวิธีการทำงานของเธอกันบ้าง จากที่เคยทำงานแบบโซโล่มาตลอดชีวิต ศิลปินสาวบอกว่า เธอมีทีมผู้ช่วยในสตูดิโอมาได้ 2 ปีแล้ว ซึ่งสนุกยิ่งกว่าการทำงานคนเดียว และเมื่อบวกกับสไตล์การทำงานที่ ‘เอาอยู่’ ของเธอ ทุกอย่างก็ดูจะไปได้สวย

“ปอมชอบทำเป็นทีมนะ พอมาทำเป็นทีมแล้วเรารู้สึกว่าต่างคนต่างให้อะไรบางอย่างกับทีม ถ้าเจอคนที่เราทำงานด้วยแล้วไปด้วยกัน ทุกอย่างจะไหลลื่นมาก สเปซตรงกลางที่เราอยู่ด้วยกันแล้วทำสิ่งนี้มันจะสนุก

“เราเป็นคนทำงานแบบมีการจัดการค่อนข้างสูง เราให้เวลาน้องทำงานเป็นนาที ปอมสามารถจับได้ว่าใครทำงานอะไรอยู่ หรือใครอู้ แรกๆ เขาก็เครียด แต่หลังๆ เขารู้ว่ามันเป็นระบบ เราทำงานจันทร์ถึงศุกร์ไม่มีหยุดนักขัตฤกษ์ เริ่มงานสิบโมงครึ่งกลับบ้านหนึ่งทุ่ม เสาร์อาทิตย์ไม่ทำถ้าไม่จำเป็น ทุกคนแฮปปี้ ปอมให้น้องๆ เลือกว่าชอบแบบไหน ระหว่างชิลล์ๆ ทั้งวันแล้วจบสี่ทุ่ม กับจบทุ่มหนึ่งแต่ไม่มีพักกินข้าวเที่ยง 1 ชั่วโมง บีบงานให้เสร็จในช่วงเวลานี้ เวลาทำงานพวกปอมเป็นพวกวิ่งขึ้นบันไดกันเลย คือปอมเชื่อว่าเราต้อง Work Smart ไม่ใช่ Work Hard กันอีกแล้ว

“อาทิตย์ที่แล้วเราพูดกับน้องๆ ว่าจะมีอีกหลายจ๊อบเข้ามา ต่อให้ราคาสูง แต่น้องรู้สึกว่างานโหลดเกินไปแล้ว พี่จะไม่รับ เราจะไม่เสพติดการมีมากเกินไป เราต้องเข้าใจว่าเท่าไหร่ที่เราพอ เราก็พอ ที่นี่ปอมเทรนให้ทุกคนเข้าใจระบบบัญชี เข้าใจรายได้ของบริษัทด้วย เพราะทุกคนต้องรู้ว่าตัวเองทำงานเท่าไหร่ บางทีฟรีแลนซ์ลืมพูดเรื่องนี้นะ ไม่อย่างนั้นเวลาไปคุยกับคนข้างนอกนี่หัวแตกเลย”

ส่วนการบริหารงาน Stories Ceramics เธอใช้เวลาหลังเลิกงานจากสตูดิโอ

“เซรามิกเป็นส่วนที่เราทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ ปอมดูเรื่องครีเอทีฟ พีอาร์ แล้วก็ธุรกิจใหม่ๆ ตอนนี้เพิ่งจะครบปี ก็ไปได้ดีมาก มีลูกค้าหลายเจ้าติดต่อเข้ามาสั่งทำพิเศษ ส่วนที่ขายปกติเราก็เริ่มเชิญศิลปินคนอื่นๆ มาออกแบบด้วย เพราะสุดท้ายแล้วมันต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยปอม ก็ลองเทสต์ตลาดไปเรื่อยๆ ตอนนี้เราเริ่มส่งออกไปจีนแล้ว ปอมวางไว้แต่แรกว่าเซรามิกจะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนสำหรับเรา เพราะงานออกแบบหรือศิลปินไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน วันหนึ่งถ้าเราเป็นไฟน์อาร์ติสท์ เราก็ยังมีฝั่งงานเซรามิกที่มั่นคง”

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์ Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

Steal Like an Artist

ใครที่ได้เห็นผลงานของ Pomme Chan มักพูดว่าดูปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าเป็นงานของเธอ แต่ศิลปินสาวบอกกับเราว่า เธอไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย เพราะไม่อยากให้มาจำกัดกรอบในการทำงาน แต่อาจด้วยการวาดมือที่ผ่านการทำซ้ำมานับสิบปี เส้นสายลายมือจึงมั่นคงและเป็นเอกลักษณ์ เราถามเธอถึงวิธีหาแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานแต่ละชิ้น เพราะรู้มาว่าสิ่งที่เธอพยายามหนีให้ไกลห่างคือ ‘การก๊อปปี้’ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

“ปอมเชื่อในระบบ input-output มาก ปอมไม่ค่อยดูงานจากอินเทอร์เน็ต เพราะไม่อยากให้ติดตา แล้วไม่อยากได้ความง่ายของตรงนั้น ในสตูดิโอปอมไม่มีคำว่า ‘เดี๋ยวเราไปดูงานสไตล์ของคนนี้ แล้วเราลองหยิบมาใช้กับงานนั้นดูนะ’

“เราจะชอบเปิดหนังสือดูมากกว่า เป็นความรู้สึกที่ต่างกันนะ ถ้าเปิดหนังสือเราจะเริ่มจำได้ว่าเขาใช้สีแบบนี้ เวลาดูหนังสือกับน้องๆ ที่สตูดิโอจะมีเทคนิคว่า เราจะนั่งดูรูปจนเห็นเป็นเลเยอร์เลยว่าเขาทำอันไหนก่อน มาซ้อนกันยังไง คู่สีใช้ยังไง แล้วค่อยเปิดไปหน้าถัดไป คือดูให้เข้าใจทั้งหมด วันหนึ่งมันจะตกผลึกออกมาเป็นงานของเราเอง เราจะไม่เคยหยิบสิ่งที่เห็นมาใช้เลย ทุกอย่างที่เราทำจะต้องเอามาทวิสต์ทั้งหมด

“บางทีแรงบันดาลใจก็มาจากการไปเที่ยว ไปดูงานในแกลเลอรี่ ดูศิลปินเทพๆ การไปเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตมากเลยนะ ปอมเคยไปพิพิธภัณฑ์ของปิกัสโซที่สเปน ก่อนหน้านี้ไม่ชอบปิกัสโซเลย ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเขากรี๊ดกัน มันมีอะไรเหรอ มีเส้นๆ มีนก แล้วก็มีเพนกวิน วาดง่ายจะตาย พอได้เห็นงานที่เขาวาดตั้งแต่อายุสิบกว่า คือเหมือนเทพมาจุติเลย เขาวาดรูปเหมือนจริงได้สะท้านมาก แล้วเราก็ดูชีวิตเขาไปเรื่อยๆ มันเป็นอย่างที่เขาพูดเลยว่าเขาใช้เวลา 10 ปีในการวาดรูปให้เหมือนจริง แต่ใช้เวลาทั้งชีวิตในการวาดให้เหมือนเด็กวาด พอเห็นเส้นทางชีวิตของเขา ทำให้เราเข้าใจว่าเขาต้องตัดทอนมากขนาดไหน ถึงจะเป็นเส้นแบบนี้ เราดูแล้วฮึกเหิมมากๆ ว่า เราวาดให้เหมือนจริงยังวาดไม่เหมือนเลย เราจะไปตัดทอนอะไรถ้าพื้นฐานเรายังไม่แน่น มันทำให้เราเข้าใจคำว่า ‘originality’ มากขึ้นว่ามันต้องไปสุดแค่ไหนในการเป็นออริจินัล ทำให้เรากลับมาดูพื้นฐานของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้ตรรกะ ได้แรงบันดาลใจบางอย่างกลับมา” เธอตบท้ายบทสนทนาพร้อมแววตาเป็นประกาย

My Favorite Works

01 Wonder Wonka Wall Art, Samyan Mitrtown

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

ใครที่ผ่านไปผ่านมาแถวสามย่านช่วงนี้ คงได้เห็นผลงานวอลล์อาร์ตขนาดใหญ่จากหลากหลายศิลปินที่ปรากฏอยู่บนรั้วก่อสร้างของโครงการสามย่านมิตรทาวน์ หนึ่งในนั้นคือผลงาน abstract วาดมือสีสันสดใสของปอม ชาน ที่สะท้อนแนวคิด Smart Living ด้วยรูปทรงกลมแทนโมเลกุลที่เชื่อมโยงซับซ้อนในระบบ นำไปสู่การใช้ชีวิตที่สะดวกสบายเพียงปลายนิ้วคลิก “นี่เป็นครั้งที่สองที่ปอมได้ทำงานกับ DUCTSTORE พอพี่หมู (นนทวัฒน์ เจริญชาศรี ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ DUCTSTORE) ติดต่อมาก็ตกลงรับงานเลย เราว่ามันเป็นโอกาสที่ศิลปะจะได้ใกล้ชิดกับคนมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแกลเลอรี่อย่างเดียว”

02 Oscar 2015 Poster

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

งานออกแบบโปสเตอร์งานประกาศรางวัลออสการ์กับลายเส้นดอกกุหลาบที่สื่อถึงความงามเฉิดฉายของหญิงสาวชิ้นนี้ปอมอธิบายว่า “ชิ้นนี้ภูมิใจมาก เป็นงานที่ทำให้ลูกค้าที่มีชื่อเสียงที่สุด แต่ใช้เวลาน้อยสุดแค่ 3 วัน วาดรูปบนกระดาษก่อน แล้วไปจัดคอมโพสิชันบนเครื่องบิน พอส่งงานไปปุ๊บ เขาก็ให้ผ่านเลย ไม่แก้อะไรเลย”

03 Urban Outfitters Collection

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

“ปอมใส่ชุดของ Urban Outfitters อยู่แล้ว เพราะชอบสไตล์เสื้อผ้าของเขา ก็เลยประทับใจงานนี้เป็นพิเศษ อีกอย่างคือคอลเลกชันที่ได้มาร่วมออกแบบครั้งนี้เป็นคอลเลกชันที่ออกวางจำหน่ายทั่วโลกด้วย”

04 Stories Ceramics

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

“ความท้าทายของการออกแบบข้าวของเครื่องใช้คือ งานอาจจะดูดีเมื่ออยู่บนกระดาษ แต่พอไปประกอบกับของใช้แล้วเป็นอีกเรื่องเลย ปอมเป็นคนคลั่งเครื่องเซรามิกมานานแล้ว เคยไปตามซื้อจากหลายร้านดังที่อเมริกา พอมีโอกาสได้ทำแบรนด์ของตัวเอง ก็อยากทำให้ได้มาตรฐานและคุณภาพแบบเขาบ้าง” นี่คือเหตุผลที่งานแต่ละชิ้นของ Stories Ceramics ผ่านการออกแบบอย่างตั้งใจเพื่อให้เป็นเหมือนของขวัญที่ใครๆ ก็อยากส่งต่อให้คนที่รัก

05 SIRIMONGKOL Solo Exhibition

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

ในนิทรรศการเดี่ยวในชื่อไทยๆ ว่า ‘สิริมงคล’ นอกจากเราได้เห็นลายเส้นที่แปลกตาของปอม ชาน เมื่อมาอยู่บนผืนผ้าแคนวาส ซึ่งจัดแสดงคู่กับผลงานลายเส้นบนกระดาษที่เจ้าตัวคุ้นเคยแล้ว ผลงานคอลเลกชันนี้ยังมีความพิเศษตรงที่เธอเลือกตั้งโจทย์ท้าทายตัวเองว่า อยากจะหยิบเรื่องของ ‘ความเชื่อ’ มาเป็นแกนหลักในการสร้างงาน “บางครั้งความเชื่อมันก็เป็นเรื่องต้องห้าม (taboo) ตอนที่เราหาข้อมูลเพื่อทำงานชุดนี้ ก็ได้เห็นว่าเรื่องของความเชื่อ ประเพณี หรือฮวงจุ้ยอะไรต่างๆ มักถูกนำเสนอตามขนบแบบดั้งเดิม (tradition) เลยอยากปรับให้เข้ายุคสมัยมากขึ้น”

5 ไอเทมเสริมพลังประจำโต๊ะ

โปสการ์ด Happy

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

จากน้องนัน หนึ่งในสองผู้ช่วยประจำของเธอซึ่งมาฝึกงานที่สตูดิโอเมื่อปีที่แล้ว

“ชิ้นนี้ปอมชอบเพราะว่าดูแล้วแฮปปี้ มันพิเศษเพราะเป็นอาร์ตเวิร์กด้วย อีกชิ้นที่น้องเซียร์ (ผู้ช่วยอีกคน) ให้มา เราตั้งไว้หน้าทีวีที่บ้าน” เธอหันไปบอกผู้ช่วยทั้งสองเพื่อยืนยันว่ารักเท่ากัน

โปสการ์ดของ Yayoi Kusama

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

ฌอน ฟรีแมน เพื่อนสนิทที่อังกฤษของเธอส่งมาให้

“ชอบที่เขาส่งมาเป็นโปสการ์ด เราไม่ได้โปสการ์ดที่แปะแสตมป์แบบนี้มานานแค่ไหนแล้วก็ไม่รู้”

ตุ๊กตาล้มลุก

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

“ชิ้นนี้มีคนให้มาตั้งแต่ประมาณปี 2002 ก่อนไปเรียนที่อังกฤษ คนให้บอกว่า เวลาปอมล้ม ก็จะลุกขึ้นมาเองได้”

ปากกาด้ามโปรด

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

“ปอมเป็นคนคลั่งอุปกรณ์มาก แต่สองชิ้นนี้จะใช้บ่อยเป็นพิเศษ”

คลังอุปกรณ์หลากสี

Pomme Chan นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบโปสเตอร์งานออสการ์

“ปอมไปเจอสีพวกนี้ที่ญี่ปุ่น หลังจากนั้นก็รักมันมาก พอลองเอามาใช้แล้วคู่สีมันสวย ก็เลยซื้อมาเรื่อยๆ เป็นสีที่ตอนนี้ขาดไม่ได้”

www.pommechan.com
www.storiesceramics.com

Save

Save

Writer

Avatar

ณัฏฐนิช ตัณมานะศิริ

กองบรรณาธิการและอดีตนักเรียนสายภาษาที่สนุกกับการคุยกับคนข้ามสาขา อยากรู้ทุกอย่างที่ขวางหน้า รักการร้องคอรัสพอๆ กับอ่านหนังสือ สนใจประเด็นการศึกษา สิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพราะคิดว่าถ้าโลกไม่สวย ชีวิตเราก็คงไม่สวย เชื่อในการทำทุกอย่างแบบพอดี ไม่มาก ไม่น้อย แต่ยั่งยืน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล