ดีไซเนอรไผ่-ปัญจพล กุลปภังกร เป็นนักออกแบบเครื่องประดับ

แต่เครื่องประดับของปัญจพลแตกต่างจากเครื่องประดับที่เราคุ้นเคยกันอย่างมาก

เพราะเครื่องประดับของไผ่ไม่ได้ทำมาจากอัญมณีหรือแก้วแหวนเงินทอง แต่ก็มีมูลค่าที่สูงไม่แพ้กัน เพราะมันทำจาก ‘ความทรงจำ’ ยิ่งในตอนนี้ที่เราอยู่ในยุคสมัยที่มีข้อมูลมากมายให้เราได้รับรู้กันในแต่ละวันไม่หวาดไม่ไหว เรารับรู้กันเร็วขึ้นเพื่อจะลืมกันเร็วยิ่งขึ้นไปอีก การเก็บความทรงจำบางอย่างไว้ในรูปแบบของเครื่องประดับก็อาจจะเป็นอีกทางหนึ่งที่เราจะจดจำมันได้นานขึ้น-และจับต้องได้มากขึ้น

ไผ่-ปัญจพล กุลปภังกร มักจะถูกสับสนกับบทบาทนอกเวลางาน ที่เจ้าตัวได้รวมตัวกับ นก-ธันย์ชนก ยาวิลาศ เปิดสตูดิโอ this.mean.that studio ออกแบบของแต่งบ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อแบบไทยๆ อย่างเช่น นางกวัก แต่ตัวไผ่เองนั้นเป็นนักออกแบบเครื่องประดับที่เป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง ที่เรียกกันว่า Contemporary Jewelry ซึ่งงานแขนงนี้ถือว่าไม่ค่อยมีคนรู้จักในวงกว้างเท่าไหร่ แต่ไผ่ยังคงทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี มีการเดินทางไปแสดงงานในต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ แนวความคิดในการเปลี่ยนความหมายของเครื่องประดับนั้นมาจากไหน แล้วอะไรทำให้งานเครื่องประดับของไผ่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ การถอดเครื่องประดับเดิมๆ ที่ใส่อยู่ก่อนจะอ่านต่ออาจจะช่วยให้เรื่องราวของนักออกแบบท่านนี้มีอรรถรสเพิ่มขึ้นได้

ไผ่-ปัญจพล กุลปภังกร

จากงานออกแบบสู่งานศิลปะ

ตอนสมัยปริญญาตรี ไผ่เรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งทีแรกสุดไผ่ไมไ่ด้ชอบการออกแบบเครื่องประดับเลย จนกระทั่งได้มาเรียนวิชาออกแบบเครื่องประดับ ซึ่งเป็นวิชาย่อยตัวหนึ่งกับอาจารย์ทิม-ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ ซึ่งสอนโดยไม่ได้เน้นให้นักศึกษาคิดถึงเรื่องของกลุ่มเป้าหมายหรือการตลาดตามขนบของการเรียนออกแบบ แต่สามารถออกแบบโดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนได้  เหมือนเป็นการเปิดกว้างทางมุมมองให้กับไผ่ว่า มันมีการออกแบบในแขนงนี้ด้วยเหมือนกัน

“ผมเคยถามอาจารย์ว่าทำไมถึงสอนแบบนี้ แกตอบมาประโยคหนึ่งว่า ถ้าคุณอยากเป็นนักออกแบบคุณก็ทำในสิ่งที่สังคมต้องการ แต่ถ้าคุณเป็นศิลปินหรือกึ่งศิลปินกึ่งนักออกแบบ คุณทำในสิ่งที่คุณต้องการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เราได้ยินประโยคนี้ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจมากๆ หลังจากนั้นวิชานี้ก็เป็นวิชาเดียวที่ทำให้ผมสนุกกับการมาเรียน วันธรรมดาช่วงเช้าหรือเย็นที่ผมไม่มีเรียนก็มักจะหิ้วกล่องอุปกรณ์เข้า workshop ไปเพื่อทำงานของวิชานี้อยู่เสมอๆ”

พอเรียนจบไผ่ก็ไปสมัครงานเป็นนักออกแบบเครื่องประดับ แต่แทนที่จะได้ออกแบบสิ่งที่ชอบก็กลับกลายเป็นว่าแต่ละวันได้ทำแค่ลอกแบบจากรูปที่ฝ่ายการตลาดส่งมาให้ ไผ่เลยลาออกในเวลาต่อมา หลังจากที่ลาออกมาทางครอบครัวที่วางแผนอยากให้ไผ่ได้มีโอกาสเรียนต่อต่างประเทศอยู่แล้ว ก็เสนอให้ไผ่ไปเรียนต่อ ด้วยความที่ชอบฟุตบอลไผ่ก็เลยเลือกไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงเวลาที่ว่างจากการเรียนภาษา (และแมนยูไม่ได้เตะ) ไผ่ก็มักจะใช้เวลาไปดูมหาวิทยาลัย วางแผนเตรียมตัวในการสมัครเข้าเรียน ด้วยความช่วยเหลือของนก (รุ่นพี่ที่ลาดกระบังซึ่งได้ไปเรียนต่อปริญญาโทอยู่ที่อังกฤษในเวลานั้นพอดี และตอนนี้ก็ร่วมกันทำ THIS.MEAN.THAT อยู่ด้วย)

ในช่วงเวลานั้นไผ่ได้ไปดูงานศิลปินจากหลากหลายเชื้อชาติที่ทำงานด้านเครื่องประดับทั้งในแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แทบทุกที่ ไผ่ก็ได้มาเจอกับงานศิลปะที่สวมใส่ได้ หรือ Contemporary Jewelry ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่อาจารย์ทิมสอนตอนอยู่ลาดกระบัง แล้วเกิดสนใจอยากจะเรียนสิ่งนี้ เลยมีการหาข้อมูลมหาวิทยาลัยแล้วก็เข้าไปดูสถานที่จริงด้วยตัวเอง ก็มีหลายมหาลัยทั้งในลอนดอน สกอตแลนด์ และเบอร์มิงแฮม จนมาเจอรายละเอียดว่าที่เบอร์มิงแฮมนั้นเป็นมหาวิทยาลัยด้านเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป แล้วเบอร์มิงแฮมยังเป็นเมืองแห่งโลหะวิทยาอีกด้วย หลังจากนั้นก็เลยเป็นช่วงเวลาของการตั้งใจอ่านหนังสือในการเรียนเรียนภาษา หลังจากสอบผ่านก็เลยตัดสินใจเลือกจะเรียนที่เบอร์มิงแฮม”

เครื่องประดับ

นักออกแบบที่เปลี่ยนความหมายและหน้าที่ของเครื่องประดับไปสู่การเก็บความทรงจำ

Jewelry Is at My Feet
2012-ปัจจุบัน

วันแรกของการเรียนปริญญาโทก็คือ อาจารย์เดินเข้ามาสั่งว่า ให้ไปทำอะไรมาก็ได้ 10 ชิ้นในหนึ่งอาทิตย์

“ตอนนั้นผมเริ่มชินกับการอยู่อังกฤษแล้ว ชอบหยิบกล้องไปเดินเที่ยวที่ต่างๆ มีอยู่วันหนึ่งมันแว้บขึ้นมาว่า เราน่าจะทำเครื่องประดับที่บอกเล่าการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันดู ผมก็หยิบรองเท้าขึ้นมาพลิกดู ใต้พื้นมันมักจะมีเศษอะไรติดอยู่ ก็เลยคิดเป็นคอนเซปต์ขึ้นมา แล้วไปซื้อรองเท้าแตะมา 10 คู่ใส่ 10 วันโดยไปที่ต่างๆ ไม่ซ้ำกัน แล้วเราก็ตัดรองเท้าแตะแต่ละคู่ตามรูปทรงของเมืองที่ไปมา พร้อมกับวิดีโอสั้นๆ ที่ถ่ายตอนเราไปที่นั้นๆ แล้วเอาไปวางที่คลาสในอาทิตย์ถัดมา ที่ตลกคืองานที่เราทำไปวันแรกเนี่ยจะต้องถูกนำไปต่อยอดเป็นโปรเจกต์ที่ต้องทำไปตลอดทั้งปีจนเรียนจบ อาทิตย์ต่อๆ มาผมก็ยังทำตัวรองเท้าแตะต่อไปจนอาจารย์คนที่สั่งงานก็ถามว่าทำไมเราทำแต่รองเท้า ผมเลยเกิดไอเดียขึ้นว่าจริงๆ เวลาเราไปเที่ยว เราถ่ายรูปมาเพื่อระลึกถึงเวลาในตอนนั้น ก็เลยคิดต่อว่าถ้าเราทำเครื่องประดับจากสิ่งของที่เราเจอระหว่างการเดินทางมาล่ะจะเป็นยังไง”

หลังจากที่เริ่มมีไอเดียในสิ่งนี้แล้ว แต่ละวันที่ไผ่เดินไปเจออะไรก็จะหยิบเอาของเล็กๆ ตามพื้นมาใส่ถุงซิปล็อกไว้ แล้วก็เขียนวันที่กับสถานที่ที่เก็บมา จนรวมแล้วมีกว่าร้อยถุง พอเอาไปให้อาจารย์ดู แกก็เชียร์ให้ทำต่อไป พอดีว่าที่ประเทศเยอรมนีจะมีจัดงานแฟร์รวมเครื่องประดับโลกในช่วงนั้น งานนี้ถือเป็นงานที่รวมเหล่าศิลปินที่ทำงานด้านเครื่องประดับมาแทบจะทั้งหมดในโลกมาอยู่ด้วยกัน อาจารย์ก็เลยให้ไผ่เอาตัวงานที่ทำไปในงานนี้แล้วรวบรวมฟีดแบกกลับมา

“ผมก็มานั่งคิดว่าแล้วเราจะเอาถุงพวกนั้นไปให้คนอื่นดูยังไงดี ก็คิดว่างั้นทำตัวเราเป็นถุงดีกว่าก็เลยไปซื้อเสื้อยืดมาสกรีนคำว่า jewelry is at my feet (เป็นคำที่ได้จากการปรึกษากับอาจารย์คนอังกฤษความหมายจะประมาณว่า อยู่ใกล้มากจนงูจะฉกอยู่แล้ว) แล้วเอามาใส่จากนั้นพอเราเดินทางจากเบอร์มิงแฮมไปมิวนิก เราเจออะไรก็หยิบเอามาแปะไปบนเสื้อเลย แล้วก็เดินใส่เสื้อตัวนี้เดินไปทั้งงานในห้าวัน ฟีดแบกก็ดีมาก มีคนสนใจตัวผมและของที่ติดกับเสื้อเยอะมาก มีศิลปินเดินมาคุยกับผมเต็มไปหมดเลย ซึ่งก็คงยืนยันได้ว่าไอเดียนี้มันคงน่าสนใจจริงๆ”

jewelry is at my feet jewelry is at my feet

พอกลับมาจากงาน ไผ่ก็คิดถึงการขยายผลให้ไอเดียนี้มันเป็นชุมชนได้ไหม ก็เลยคิดแคมเปญขึ้นมาว่า jewelry is at my feet โดยเปิดเป็นเว็บไซต์และเฟซบุ๊กเพจ และไผ่ก็เตรียมกล่องกับซองพลาสติกให้ทุกคนที่สนใจ โดยให้แต่ละคนที่สนใจไปเก็บของที่เป็นความทรงจำส่งมาพร้อมวิดีโอสั้นๆ ไม่เกิน 1 นาที แล้วไผ่จะตีความเองว่ามันควรจะเป็นเครื่องประดับแบบไหน ยังไง ปรากฏว่าภายในเวลา 3 วันมีคนเข้าร่วมถึง 50 คน จาก 12 ประเทศ ไผ่ก็เลยหยิบเอาของที่หลายๆ คนส่งมา พร้อมดูวิดีโอของพวกเขาแล้วก็เริ่มหยิบของในถุงทำเป็นเครื่องประดับขึ้นมา โดยถ้าเป็นของที่เกี่ยวข้องกับส่วนไหนก็จะทำเครื่องประดับที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะนั้นๆ ออกมา ถ้าเป็นเพลงก็จะทำเป็นต่างหู ถ้าเป็นเรื่องของอารมณ์จะทำเป็นเข็มกลัดให้ติดที่หน้าอก ตอนนั้นทำขึ้นมา 5 ชิ้นพร้อมกับของตัวเองที่เก็บมา แล้วก็เอาวิดีโอที่ทุกคนส่งมาตัดต่อรวมเข้าด้วยกันเพื่อเอามาทำเป็นโปรเจกต์จบของการเรียนปริญญาโท ซึ่งเป็นธรรมเนียมของการเรียนว่าในตอนสุดท้ายจะมีการจัดนิทรรศการขึ้น ซึ่งไผ่ได้พื้นที่ตรงกลางฮอลล์ที่เป็นเหมือนจุดเปิดงานเลย แล้วบรรดาภัณฑารักษ์และศิลปินที่มหาวิทยาลัยเชิญมาต่างก็สนใจในตัวงานนี้ของไผ่อย่างมาก

jewelry is at my feet

หลังจากเรียนจบช่วงปี 2013 ไผ่ก็ยังคงทำแคมเปญนี้ต่อ แล้วก็พยายามหาแกลเลอรี่ที่จะจัดแสดงงานเหล่านี้ไปด้วย แต่ก็ติดปัญหาว่าแกลเลอรี่ในอังกฤษหลายแห่งก็ไม่ได้จัดแสดงงานจากไอเดียหรือคอนเซปต์ แต่ดูว่ามันจะขายได้รึเปล่า ซึ่งทำให้หาแกลเลอรี่แสดงงานเหล่านี้ไม่ได้ไผ่จึงตัดสินใจที่จะกลับมาไทย แล้วก็ได้งานที่อัตตา แกลเลอรี่ เป็นผู้ช่วย curator จากที่เคยเป็นศิลปินก็ได้มาเข้าใจระบบการทำงานของแกลเลอรี่แทน แล้วก็เริ่มได้รู้จักศิลปินหลายๆ คนที่มาแสดงงานที่อัตตา แกลเลอรี่ จากการทำงานร่วมกัน

jewelry is at my feet jewelry is at my feet jewelry is at my feet jewelry is at my feet jewelry is at my feet jewelry is at my feet

“หลังจากทำงานมาไม่กี่เดือน ผมก็นึกถึงงานแฟร์รวมเครื่องประดับโลกที่เคยไปใส่เสื้อยืดติดซองๆ เดินตอนที่ยังเรียนอยู่ที่อังกฤษ ก็ลองส่งผลงาน jewelry is at my feet ตอนที่เรียนนั่นแหละไปเข้าประกวดดู ปรากฏว่าเข้ารอบ 1 ใน 50 คน แล้วผมก็ไม่ได้คิดว่าโปรเจกต์นั้นจะได้รางวัลอะไร ก็เลยไม่ได้ไปร่วมงาน แต่เจ้านายผมที่อัตตาเขาไปงานนี้พอดี แล้วได้ยินประกาศชื่อว่าผมชนะการประกวดได้ที่ 1 ของหมวด talented หรือศิลปินรุ่นใหม่ เขาประกาศชื่อตามหากันทั้งงานเลย จากนั้นก็เลยเอางานตัวนี้ไปส่งประกวดอีกงานด้วยในฟลอเรนซ์ อิตาลี ชื่องานว่า preciosa young ก็ได้รางวัลเป็น 1 ใน 8 คนที่ชนะเลิศอีก ก่อนที่จะได้รางวัล Designer of the Year มาในปีนั้นด้วย”

เครื่องประดับ

เครื่องประดับที่ช่วยเยียวยาความรู้สึก

Lost or Forgotten
2013
7 Days A Week with Assoc Prof. Wipha
2014

จากการได้รับรางวัลใหญ่มา 2 รางวัลในปีเดียวก็ดูเหมือนจะเป็นปีที่เหมือนจะประสบความสำเร็จสำหรับไผ่ แต่ในปลายปีก็เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นมา นั่นคือแม่ของไผ่มีอาการป่วยทางสมอง

“แม่ผมเกิดอาการป่วยทางสมองขึ้นมา คือมีทั้งเริ่มขโมยของจากร้านค้า เวลาอยู่บ้านก็จุดธูปไหว้อะไรก็ไม่รู้ทั้งที่เมื่อก่อนก็ไม่เป็น ผมก็เลยมาคอยดูแลแม่ แล้วมันมีพฤติกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นก็คือ แม่จะแต่งตัวตามสี วันจันทร์สีเหลืองแกก็จะใส่ชุดสีเหลือง ทั้งเสื้อ กะโปรง แว่นตา นาฬิกา เครื่องประดับ เป็นสีเหลืองทั้งตัว อังคารก็เป็นสีชมพู ตอนนั้นผมก็เครียดมากและไม่รู้จะทำยังไงดี ก็เลยหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับความเครียดนี้โดยการทำงานเครื่องประดับ

เครื่องประดับ

การทำงาน Contemporary Jewelry เหมือนเป็นการบำบัดเราอย่างหนึ่ง เหมือนเราเจออะไรที่เครียด สิ่งที่มากระทบจิตใจ เรื่องที่เราอยากจะพูดแต่ไม่รู้จะพูดกับใคร เราก็เอามันออกมาในงาน พอมาเจอเรื่องนี้ผมก็ใช้การทำเครื่องประดับเป็นการเยียวยาตัวเอง โดยผมก็ใช้ชีวิตประจำวันดูแลแม่ตามปกติ แค่ถ่ายวิดีโอไปด้วยว่าแม่ทำอะไรบ้างในแต่ละวัน บางวันก็สัมภาษณ์แม่ไปด้วย แล้วก็มาสะดุดตากับการนั่งเก็บเครื่องประดับของแม่ที่แบ่งเครื่องประดับตามสีออกเป็น 7 ถุงตามวันในสัปดาห์ ถึงวันไหนก็เทถุงวันนั้นออกมาแล้วก็ใส่ แม้แต่เล็บก็ทาสีเป็นสีของวันนั้นด้วย พอดีตอนนั้นอาจารย์ที่สอนเราตอนเรียนปริญญาโทชื่อ David Clark (เดวิด คลาร์ก) กำลังจะมี exhibition ของตัวเองชื่อ suspened in green แล้วอยากจะชวนเราไปร่วมด้วย ผมก็สนใจอยากไปร่วมแต่ตอนนั้นก็ไม่ได้มีงานอะไรจนมานึกขึ้นได้ว่าวันพุธสีเขียวพอดี ก็เลยหยิบเอากิจกรรมวันพุธของแม่นี่แหละส่งไป ก็ได้รับเลือกเป็น exhibition จัดแสดงที่มิวนิก ซึ่งเป็นครั้งแรกของผมที่จัดแสดงงานนอกรั้วมหาลัย”

เครื่องประดับ lost of forgotten

งานที่ไผ่ส่งไปนั้นมีชื่อว่า lost of forgotten เป็นวิดีโอที่ไผ่ถ่ายและสัมภาษณ์แม่ในวันพุธ ซึ่งเป็นวันที่แม่ของไผ่จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่เป็นสีเขียวทั้งหมด หัวข้อที่สัมภาษณ์นั้นจะเกี่ยวกับความหมายของสีเขียว ซึ่งไผ่ก็ได้มีการทำเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ โดยสร้างรูปทรงมาจากการเอาเครื่องประดับประจำวันพุธของแม่มาวางติดเข้าด้วยกัน แล้วมากดกับดินน้ำมันเพื่อหล่อเรซิ่นออกมาเป็นเข็มกลัดชิ้นเล็กๆ ส่งไปด้วย เหมือนเป็นของที่ระลึกหลังจากที่ดูตัววิดีโอจบ ปรากฏว่าขายหมดทุกชิ้นที่เตรียมไป

lost of forgotten lost of forgotten

เครื่องประดับที่เชื่อมต่อความทรงจำร่วมกันกับแม่

Love is A New Form of Rose
2015

หลังจากกลับจากแสดงงานชุดนั้นก็มีศิลปินที่เคยทำงานด้วยกันที่อัตตา แกลเลอรี่ ชื่อ เดบราห์ รูดอล์ฟ อีเมลมาชวนไปแสดงงานด้วยกันที่มิวนิก เยอรมนี ซึ่งไผ่ก็สนใจ แต่เงื่อนไขของงานนี้มันต่างจากงานอื่นๆ ตรงที่สถานที่จัดงาน ปกติการแสดงงานทั่วไปมักจะจัดในอีเวนต์ฮอลล์หรือแกลเลอรี่ แต่งานนี้ตัวศิลปินเลือกที่จะจัดเช่าพื้นที่เปล่าๆมาเพื่อจัดและเตรียมงานเอง โดยที่มอบหมายให้ไผ่ไปชวนเพื่อนที่ทำงานน่าสนใจมาเพิ่มอีกฝั่งละ 2 คนเพื่อมาช่วยหารค่าที่กันด้วย ซึ่งโดยปกติหน้าที่นี้จะเป็นหน้าที่ของทางแกลเลอรี่ แต่การได้มาทำเองทุกอย่างก็กลับเป็นเรื่องสนุกมากขึ้นด้วยซ้ำ

“ผมก็เลยเริ่มทำงานใหม่ ซึ่งเป็นงานสุดท้ายที่เกี่ยวกับแม่ คือที่ผ่านๆ มาเป็นช่วงเวลาที่เราอยู่ดูแลแม่ แต่ตอนนั้นเป็นช่วงที่แม่เริ่มป่วยหนัก เริ่มมีอาการเป็นลมไม่ได้สติอยู่บ่อยๆ ผมก็เลยพาแม่ไปแอดมิตโรงพยาบาล แต่ด้วยการที่เราต้องทำงานประจำไม่สามารถมาอยู่เฝ้าไข้ได้ก็เลยไม่สามารถให้แม่พักรักษาตัวในห้องพักเดี่ยวได้ ต้องมาอยู่ห้องรวมซึ่งบรรยากาศก็แย่มากๆ ผมก็เลยตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาอยู่ดูแลแม่ในโรงพยาบาล ระหว่างที่เฝ้าแม่ก็คิดถึงงานที่จะทำ บังเอิญว่าตอนที่กลับบ้านมาเปลี่ยนเสื้อผ้าก็เจอไม้แกะสลักเป็นรูปดอกไม้ที่แม่ชอบมาก ชอบขนาดที่ซื้อมาปักไว้ทุกที่ในบ้านเลย ผมก็เลยเกิดความคิดว่าเจ้าสิ่งนี้เนี่ยจะยังสื่อสารกับแม่เราได้อยู่มั้ย ก็เลยลองหยิบดอกไม้ชิ้นนี้แล้วเอาไปให้แม่ ปรากฏว่าแม่จำได้ เหมือนสิ่งนี้เป็นความทรงจำของแม่ที่ยังคงสื่อสารกับเราได้อยู่ ผมก็เลยเอาดอกไม้ชิ้นนี้มาทำเป็นเครื่องประดับแล้วก็เอาไปแสดงงานที่มิวนิกด้วย ทีนี้สถานที่มันเป็นที่ที่เช่าจัดงานกันเอง ก็เลยทำให้ไผ่ต้องไปล่วงหน้าเพื่อเตรียมพื้นที่จัดแสดงงาน ทั้งทาสี เตรียมของ หาเฟอร์นิเจอร์ ซื้อแผ่นไม้มาทำเป็นชั้นวางกันเองทั้งหมด ซึ่งพอถึงวันเปิดงานก็มีคนมางานกันเยอะ ฟีดแบ็กก็ดี

“ตอนหลังมีเพื่อนที่เรียนคลาสเดียวกันตอนปริญญาโทมาชวนเราไปแสดงงานที่โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ผมก็เลยต่อยอดจากเดิมที่มีแค่วันพุธสีเขียวอันเดียวมาเป็น 7 days a week คือทำขั้นตอนเดียวกันแต่ขยายออกมาเป็น 7 สี 7 วันเลย ก็ยังได้รับฟีดแบ็กที่ดีจากผู้ที่มาร่วมงานครับ พอจัดแสดงที่เดนมาร์กเสร็จ ก็มีโอกาสได้แสดงงานต่ออีกเกือบ 10 ประเทศต่อเนื่องกันไป”

Sexy Tongue

 

เครื่องประดับที่หยิบอวัยวะมามองในมุมใหม่

Sexy Tongue
2017

โปรเจกต์หน้าตาแปลกๆ ที่เห็นแล้วชวนให้รู้สึกหวิวๆนี้นั้นมีที่มาจาก โปรเจกต์การทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และศิลปิน เพื่อให้ช่วยสื่อสารเรื่องของระบบย่อยอาหารในร่างกายของคน ตอนแรกสุดของการทำงานก็ได้มีการให้ศิลปินจับสลากว่าได้อวัยวะชิ้นไหนในการย่อยมาใช้ทำงานต่อ ในสลากก็มีทั้งกระเพาะอาหาร ฟัน ลำไส้ แต่ไผ่เลือกจับได้ลิ้นมา

“ผมเลยไปหาข้อมูลจากหลายๆ ที่มาประกอบกันครับ ความสนใจที่ผมมีต่อลิ้นก็คือเรื่องของปุ่มขรุขระบนลิ้นที่เป็นปุ่มรับรส เเละจุดเริ่มต้นของงานคือการได้ดูหนังชื่อว่า Hysteria ซึ่งเป็นหนังที่เกี่ยวกับประวัติของ sex toy (ไม่ใช่หนังโป๊นะครับ) ทีนี้ลิ้นเองก็ถือเป็น 1 ในไอคอนที่กลายมาเป็น sex toy ด้วยลักษณะเท็กซ์เจอร์ของปุ่มรับรสอันเดียวกันนี่แหละ ผมก็เลยนำไอ้ปุ่มๆ รับรสของลิ้นเนี่ยมาตีความเกี่ยวกับระบบย่อยใหม่ เลยหยิบเอา Tongue Vibrator มาขึ้นรูปใหม่ให้กลายเป็นเครื่องประดับเพื่อสะท้อนเรื่องราวของการกินอาหารครับ”

ไผ่-ปัญจพล กุลปภังกร

อนาคตของนักออกแบบเครื่องประดับแบบ Contemporary Jewelry

“คือเนื่องจากในบ้านเรามันไม่ค่อยมีการสนใจเรื่องของ Contemporary Jewelry เท่าที่ควร ศิลปินทุกคนก็เลยต้องไปแสดงงานในยุโรปที่มีตลาดรองรับมากว่า พอเราได้เริ่มไปแสดงงานที่หนึ่งแล้ว พอกลับมาก็ได้รับเชิญไปแสดงงานที่อื่นๆต่อไปอีกเหมือนเป็นการต่อยอด เพราะการไปแสดงงานหนึ่งที มันจะมีคิวเรเตอร์ ศิลปิน แกลเลอรี่จากหลากหลายที่มากๆ ช่วงที่กลับมาจากแสดงงานจะเป็นช่วงตอบอีเมล คนที่สนใจจะอีเมลมาชวนเราไป ปีๆ หนึ่งไผ่จะแสดงงานประมาณ 6 – 10 ที่ ถ้าพูดกันในแง่การยอมรับนับถือแล้วก็ถือว่าชาวต่างชาติก็ค่อนข้างยอมรับการเป็นศิลปินด้าน Contempolary Jewelry ของผมพอสมควร เพราะในปีหน้าก็มีการติดต่อมาให้ผมไปแสดงงานและไปเป็นคิวเรเตอร์คัดเลือกศิลปินหลากหลายชาติมาร่วมจัดแสดงด้วยกันอีก จากที่เป็นศิลปินเราก็เหมือนค่อยๆ ขยับมาดูภาพรวมๆ ของงานด้วย แม้จะเป็นเพียงงานเล็กๆ แต่ก็ถือว่าเป็นหมุดหมายที่ดีสำหรับผมต่อไปในอนาคตจริงๆ ครับ”

ไผ่ ปัญจพล เป็นนักออกแบบเครื่องประดับที่เริ่มหยิบจับเอาความทรงจำจากการเดินทางท่องเที่ยวมาทำเป็นเครื่องประดับจนพาสิ่งนี้ให้เค้าได้เริ่มออกเดินทางไปในหลายๆ ประเทศ ผมขอเอาใจช่วยและรอดูการเดินทางก้าวต่อไปของไผ่ในอนาคตอย่างตื่นเต้น

ไผ่-ปัญจพล กุลปภังกร ไผ่-ปัญจพล กุลปภังกร


จากความทรงจำสู่เครื่องประดับ
วิธีการทำงานของ ไผ่-ปัญจพล กุลปภังกร  

  1. เชื่อในสิ่งที่เราทำ เพราะงานที่ดีมันจะมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา
  2. อย่าคิดเรื่องเงินก่อนงาน คืออย่าเอาเงินเป็นตัวตั้งต้น เพราะถ้าเราทำงานออกมาแล้วเรามีความสุขกับมัน ที่เหลือจากนั้นก็ถือเป็นผลพลอยได้ทั้งหมด
  3. อย่าไปสนใจฟีดแบ็กจากคนอื่นมากนัก เพราะในการทำงานแบบนี้เราต้องการนำเสนอมุมมองเราต่อสังคมมากกว่าการทำงานสนองความต้องการของสังคม
  4. ทำไปเรื่อยๆ อย่าท้อ

 

เข้าไปดูผลงานใหม่ๆของไผ่กันได้ที่นี่

Jewellery Is At My Feet

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan