The Cloud X  Designer of the Year

สุรชัย พุฒิกุลางกูร เป็นคนไทยอีกคนที่เป็นอันดับหนึ่งของโลก

เขาเป็น illustrator หรือผู้สร้างภาพประกอบงานโฆษณา ผู้เป็นอันดับหนึ่งของโลกจากการจัดอันดับของนิตยสาร ARCHIVE 4 ปีติด

ถ้ามองในแง่การประกวด การได้รางวัลระดับ Gold เปรียบคล้ายๆ การสอบได้เกรด A ส่วนรางวัลกรังด์ปรีซ์คือการได้คะแนนท็อปในวิชานั้นๆ เขากวาดรางวัลกรังด์ปรีซ์ในเวทีใหญ่ของโลกมาแล้วเกือบครบ ขาดไปแค่เวทีเดียว เพราะเขาทำงานให้กับเอเจนซี่จากทุกทวีปทั่วโลก บนโลกใบนี้ไม่น่ามีใครได้รางวัลกรังด์ปรีซ์มากเท่านี้อีกแล้ว

สุรชัย พุฒิกุลางกูร
สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก

คำว่า illustrator ในวงการโฆษณาส่วนใหญ่หมายถึง นักวาดภาพ หรือนักรีทัช แต่สุรชัยเป็น illustrator ในความหมายล่าสุด คือผู้สร้างภาพทั้งหมดขึ้นจากคอมพิวเตอร์ หรือ Computer-generated imagery (CGI) ซึ่งเป็นการทำลายทุกข้อจำกัดในการรีทัชภาพ เพราะเขาสามารถสร้างภาพอะไรขึ้นก็ได้ และมันเหมือนจริงเสียจนเราคิดว่า มันคือภาพถ่าย

ล่าสุด สุรชัยเป็นเจ้าของรางวัล Honor Awards 2017 สาขา Illustration Design จากงาน Designer of the Year นั่นทำให้เรานัดพบเขาในวันนี้ที่สำนักงานของเขาซึ่งอยู่บนชั้นเพนต์เฮาส์ของตึกสูงกลางเมือง

ออฟฟิศที่น่าจะมีถ้วยรางวัลกรังด์ปรีซ์มากที่สุดในโลก

สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก
สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก
สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก

สุรชัยเรียนจบจากสาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาชอบและถนัดการวาดภาพแบบ Superrealistic หรือภาพที่เหมือนจริงจนดูไม่รู้ว่าเป็นภาพวาด เขาทำสิ่งนี้ได้ดีมาก แต่เขาไม่อยากเป็นศิลปิน

“ผมถามตัวเองตอนเรียนว่า เราชอบวาดรูป แต่ถ้าไม่อยากเป็นศิลปิน เราจะมีชีวิตอยู่ยังไง เราก็ต้องไปหาร่างทรงซึ่งมีสิ่งที่เราต้องการครบ ก็คืองานโฆษณา ผมชอบความคิดสร้างสรรค์ ชอบการแข่งขัน การทำงานในวงการโฆษณาทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ด้วยความกดดันจากลูกค้า ผมว่ามันสนุกกว่าการกดดันจากตัวเอง ผมอาจจะไม่ใช่ศิลปิน คุณจะเรียกผมว่าอะไรผมไม่สน แต่ผมมีความสุข ผมรักในสิ่งที่ผมทำอยู่ตอนนี้ แค่นี้ก็พอแล้ว” สุรชัยย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วงการโฆษณา

งานโฆษณาของเขาอาจไม่ได้รับการยอมรับเท่างานไฟน์อาร์ต แต่ก็มีบางสิ่งที่สำคัญกว่านั้น

“คนส่วนใหญ่มักมองงานต่างๆ ว่ามีลำดับชั้น ผมเชื่อว่าทุกพีระมิดมียอดของมัน ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็แล้วแต่ คุณต้องไปอยู่บนยอดพีระมิดของคุณให้ได้ ถึงแม้ว่าพีระมิดของผมอาจจะเล็กกว่าคนอื่น ต่ำชั้นกว่าคนอื่น ผมก็ไม่สนใจ” ชายผู้ยืนอยู่บนยอดพีระมิดกล่าว

บางคนอาจคิดว่าเขาโชคดีที่วางมือจากการสร้างภาพแบบ Superrealistic ด้วยพู่กัน มาใช้เมาส์ก่อนคนอื่น แต่นั่นอาจจะไม่ใช่โชค

สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก
สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก

“ผมสนใจวิวัฒนาการของเครื่องมือที่ศิลปินใช้ มันเริ่มจากฝุ่น สีน้ำมัน สีอะคริลิก พู่กันลม จนมาถึงเครื่องมือใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ ถ้าเครื่องมือเปลี่ยน เราก็ต้องตามโลกให้ทัน ผมยังสนใจสิ่งเดิมนะ คือ Superrealistic เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องมือเท่านั้นเอง ถ้าใช้เครื่องมือถูกต้อง ย่อมทำให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” สุรชัยเล่าถึงช่วงเวลาที่เขาหัดใช้คอมพิวเตอร์เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนตอนเรียนที่ญี่ปุ่น

สุรชัยเปิดบริษัท Illusion เมื่อปี 2001 ด้วยความตั้งใจจะทำงาน CGI แต่ช่วงแรกต้องเริ่มจากงานรีทัชก่อน กว่าทุกอย่างจะเป็นใจให้เขาได้ทำงาน CGI เต็มตัวก็ปี 2011 กับงาน Heaven and Hell ของกระเป๋า Samsonite ถือเป็นการแจ้งเกิดการเป็นคนทำ CGI ได้งดงาม เพราะเป็นงานนี้ได้รับรางวัลมากที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์โฆษณาโลก

“งานโฆษณาเป็นงานประกวดไอเดีย ภาพที่ใช้เล่าไอเดียมักเป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ถ้าเราทำภาพที่ไม่เคยมีอยู่จริงมาก่อนให้เหมือนจริงได้ งานจะมีพลังมาก” ผู้ก่อตั้งบริษัท Illusion เล่าความพิเศษของงาน CGI สำหรับโฆษณา

“ถ้าคุณเป็นศิลปิน คุณวาดภาพสิ่งที่อยู่ในหัวคุณออกมา แต่งานของผมคือการวาดภาพที่อยู่ในหัวของครีเอทีฟ คนที่มาจ้างเราเขามีภาพอยู่ในหัวของเขาอยู่แล้ว เราต้องมองเข้าไปในหัวเขาว่า ภาพนั้นคืออะไร แล้วทำออกมาให้ตรง เหมือนซื้อหวย แต่ต้องถูกทุกงวด” สุรชัยหัวเราะเสียงดัง

“แล้วก็ต้องทำให้เกินกว่าสิ่งที่เขาคาดหวัง นี่คือความสนุกของงานของผม”

เขาเล่าต่อว่า งานสร้างภาพของเขาไม่ใช่แค่ทำให้เหมือน แต่ต้องออกแบบทุกอย่าง ต้องลดทอนความเหมือนจริงบางอย่างลง ต้องเพิ่มความเหมือนจริงบางอย่างขึ้น เพื่อทำให้ไอเดียโดดเด่น และยังมีความงาม

จุดเด่นข้อหนึ่งที่ครีเอทีฟชั้นยอดของโลกชื่นชมงานของสุรชัยมากก็คือ งานของเขาละเอียดมาก อย่างที่ไม่มีใครเขาทำขนาดนี้

สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก

“ผมเรียกว่า ทฤษฎีความสุขระดับตารางนิ้ว เป็นการทำงานในระดับ super close-up ที่ซูมเข้าไป 4 เท่า ก็ยังเห็นรายละเอียด ผมเชื่อว่าถ้าซูมเข้าไปขนาดนั้นแล้วยังเหมือนจริง เวลาที่เราถอยออกมามองมันก็จะยิ่งเหมือนจริง ถ้าอยากให้งานมีพลัง ก็ต้องใส่ความสุขในการทำงานลงไป สิ่งที่คนเห็นจะไม่ใช่แค่ความเหมือนจริง แต่เป็นความตะลึงในรายละเอียด” สุรชัยเว้นจังหวะลับมีดโกน

“สิ่งที่เราใส่ลงไปในงานไม่ใช่รายละเอียด แต่มันคือความรักในสิ่งที่ทำ นี่แหละ คุณค่าของงานออกแบบ”

ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนตลอดเวลา ผู้ชายวัย 50 คนนี้ต้องตามเทคโนโลยีตลอดเวลาเช่นนั้น

“มันเป็นลักษณะเฉพาะของผมอยู่แล้ว ผมชอบการแข่งขัน ชอบการค้นคว้า คนอาจจะมองว่าคนอายุห้าสิบกว่าคงเรียนรู้อะไรใหม่ยาก แต่ผมไม่ได้มองว่ายาก ผมแค่เรียนรู้เครื่องมือใหม่เท่านั้นเอง เรื่องที่ผมทำเป็นเรื่องเดิม ถ้าเราสนุกกับมัน มันจะไม่ยากเลย”

สิ่งที่สุรชัยกำลังสนุกในตอนนี้ไม่ได้มีแค่การทำภาพนิ่งให้เหมือนจริงเท่านั้น แต่เขากำลังสนใจการออกแบบโลกเสมือนจริง หรือ Virtual Reality (VR)

“สิ่งที่ผมสนใจคือ Superrealistic ผมเชื่อว่าศิลปินทุกยุคทุกสมัยพยายามถ่ายทอดสิ่งที่เหมือนจริงมากๆ เพื่อทำให้คนเชื่อว่าเป็นของจริง เพียงแต่จะเกิดกับคอนเทนต์แบบไหนเท่านั้นเอง ต่อไป VR จะเป็นศูนย์รวมความรู้ด้านเหมือนจริงทั้งหมด จะทำให้คนเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราไม่รู้ว่ามันคือความจริงหรือความฝัน สภาวะแบบนี้แหละที่ผมสนใจ”

สุรชัยยอมรับว่าเขาคงไม่ได้เริ่มทำงาน VR ในเร็วๆ นี้ แต่เขาจะไปถึงสิ่งนั้นแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว

สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก
สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก

Rules of Design

1. Study

เมื่อได้โจทย์มาเราต้องทำความเข้าใจโจทย์ ทำความเข้าใจรายละเอียดทั้งหมดที่เราจะสร้าง เราต้องศึกษาทำความรู้จัก ทำความเข้าใจให้เยอะ

2. Beauty

ภาพประกอบงานโฆษณาต้องมีความงาม มันคือเสน่ห์ที่จะดึงดูดคน เราไม่ได้ทำสารคดี เราต้องใช้ความรู้ทางศิลปะมาทำให้ภาพงาม ไม่ใช่มีแต่ความถูกต้อง ถึงจะเป็น Superrealistic ก็มีความงามแบบของมัน

3. Idea

หน้าที่หลักของเราคือ ทำไอเดียหลักให้โดดเด่น เข้าใจได้ชัดเจน ภาพต้องไม่สวยเกินไอเดีย เราต้องรักษาสมดุลระหว่างความถูกต้อง ความงาม และไอเดีย

4. Masterpiece

งานชิ้นนั้นต้องมีชีวิตอยู่ยาวนาน ถึงพรินต์แอดจะมีอายุใช้งานอยู่แค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่สำหรับผมมันต้องคงอยู่ เป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจ ให้คนรุ่นต่อไปที่อยากทำงานแนวนี้ สิ่งที่จะต่อชีวิตมันได้ก็คือ เราต้องใส่ใจลงไปในงาน

My Favorite Works

สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก
งาน: Heaven and Hell
สินค้า / บริการ: Samsonite
เอเจนซี่: JWT China
ปี: 2011

“ผมไม่ได้เลือกงานชิ้นนี้เพราะแค่ประสบความสำเร็จ แต่มันยังบอกว่าเราเป็น CGI 100 เปอร์เซนต์ ตอนแรกครีเอทีฟบรีฟว่าอยากให้ผู้ชายในรูปเป็นคนจริง แต่ผมบอกว่าถ้ามีคนผมไม่ทำ ผมจะทำ CGI ทั้งหมด นี่เป็นงานที่ผมมั่นใจว่าจะทำให้เห็นว่าเราสามารถมาทางนี้ได้”

สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก
งาน: Pig  and Lamb
สินค้า / บริการ: Sunlight
เอเจนซี่: Lowe Thailand
ปี: 2013

“งานชิ้นนี้ทำให้เรามั่นใจในทางที่เราเดินมากขึ้น การทำ CGI ยากที่สุดตรงการทำสิ่งมีชีวิต โจทย์นี้มันท้าทายเรา มันเป็นโอกาสที่ทำให้เราพัฒนาขึ้นกว่าเดิม และพาเราไปไกลกว่าเดิม งานนี้ประสบความสำเร็จมากในแง่รางวัล”

สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก
งาน: Tiger / Shark / Rhino
สินค้า / บริการ: WWF
เอเจนซี่: Leo Burnett, Australia
ปี: 2014

“สิ่งที่อยู่ในใจผมก็คือ กลัวว่าวันหนึ่งจะมีคนจ้างให้เราทำสิ่งที่เราทำไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมพยายามศึกษาและพัฒนาทีมให้ทำได้มากกว่าสิ่งที่เราทำได้ พอเราทำสัตว์ได้ ก็มีคนจ้างให้เราทำภาพคน ครีเอทีฟจากออสเตรเลียบอกว่ามีไอเดียแบบนี้ ให้ผมทำคนเป็นเหมือนซอมบี้ก็ได้จะได้ง่ายหน่อย พอทำไปเร่ิมเหมือนคน เขาก็พยายามผลักเราให้งานไปไกลกว่านั้น นี่คือข้อดีของวงการโฆษณา ถ้าเราชอบแล้วแต่เขายังไม่ชอบ แปลว่าเขาเห็นในสิ่งที่เราไม่เห็น เราต้องเรียนรู้มากขึ้น งานนี้คือมาสเตอร์พีซในมุมของผม เพราะเราได้พัฒนาทักษะไปถึงจุดที่เราไม่เคยไปถึง แล้วก็เติมเต็มความคาดหวังของลูกค้าด้วย”

สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก
งาน: UK / Germany / Holland / Italy / Scotland / Sweden
สินค้า / บริการ: 28 Too Many
เอเจนซี่: Ogilvy & Mather UK
ปี: 2015

“โอกิลวี่บรีฟว่า เขาต้องการให้เราทำงานระดับโกลด์คานส์ เขาคาดหวังงานขนาดนั้น เขาส่งเลย์เอาต์มาให้ดู เป็นภาพที่เขาถ่ายธงที่เย็บมาแล้วรีทัช เลย์เอาต์ใกล้เคียงกันกับตอนเสร็จแล้วมาก สิ่งที่ต่างไปคือ เขาไม่สามารถทำภาพให้ดูแล้วรู้สึกได้ พอโคลสอัพเข้าไปดูธง จะเห็นว่ารีทัชแล้วลายผ้าไม่ไปด้วยกัน รอยยับย่นก็ควบคุมไม่ได้ แต่พอเราปั้นขึ้นมาจะให้ย่นตรงไหนก็ได้ รอยขาด รอยเก่า คราบเลือด ใส่ในจุดที่ต้องการได้หมด โจทย์นี้ไม่ยากในแง่ทักษะ แต่ยากตรงการตีความว่า ทำยังไงถึงน่ากลัว แต่ไม่มากไป และมีความงามน่าดึงดูด”

สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก
งาน: Into HBO
สินค้า / บริการ: HBO
เอเจนซี่: Droga5, New York, USA
ปี: 2016

“งานนี้ไม่มีอะไรมาก แต่บอกถึงความสุขระดับตารางนิ้วได้ชัดเจนที่สุด โจทย์คือทำบิลบอร์ดที่มองไกลๆ เหมือนภาพซ่าๆ ในช่วงอินโทรของ HBO แต่ซูมเข้าไปดูจะเห็นรายละเอียดที่เป็นตัว White Walker จากเรื่อง Game of Thrones เราแบ่งภาพออกเป็น 49 ช่อง แล้วทำทีละช่อง แต่ละช่องแตกต่างกันหมด ตัวละครในภาพมีไม่กี่ตัว แต่เราก็ทำให้มันมีท่าและมุมที่ต่างกันเล็กน้อย ค่อยๆ วางใส่เข้าไป เป็นงานที่ละเอียดมาก”

Save

Save

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan