“DESIGNENTIST ไม่ใช่แบรนด์หมอฟันนะคะ”

ฝน-ไพลิน ศิริพานิช เจ้าของแบรนด์ DESIGNENTIST เล่าพลางหัวเราะว่า แบรนด์ของเธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Dentist สักนิด แต่เกิดจากการผสมคำว่า Design + Scientist แบรนด์กระเป๋าและเครื่องประดับของอาจารย์สอนการออกแบบ ใส่ใจการดีไซน์และการค้นคว้าวิจัยลึกซึ้ง ไม่ต่างจากนักวิทยาศาสตร์ที่ทดลองคิด ทดลองทำ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เปี่ยมเอกลักษณ์และคุณค่าที่แตกต่าง

DESIGNENTIST แบรนด์กระเป๋าผ้าไหมที่ผสานผ้าทอไทยกับเทคนิคพับกระดาษจากญี่ปุ่น

อาจารย์สอนการออกแบบเครื่องประดับผ่านการเรียนรู้และทดลองมามากมาย ด้วยความเชื่อมั่นว่าของใช้ตกแต่งไม่ได้มีหน้าที่แค่ความสวยงาม แต่ต้องทำให้ผู้ใส่รู้สึกดีและมั่นใจ จากแบรนด์ทำเครื่องประดับจากลายไทย สู่การเป็นแบรนด์กระเป๋าผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยเทคนิคการพับแบบญี่ปุ่นได้อย่างไร อาจารย์สาวเริ่มต้นเรื่องนี้ด้วยรอยยิ้มหวาน

“ฝนไม่ได้เก่งเรื่องธุรกิจเลย แต่หลายคนก็บอกว่าถ้าไอเดียหรือสิ่งที่เราออกแบบจะตกไปอยู่ในมือคนอื่น เราจะเสียใจและเสียดายมาก เราเลยลองทำดู”

DESIGNENTIST แบรนด์กระเป๋าผ้าไหมที่ผสานผ้าทอไทยกับเทคนิคพับกระดาษจากญี่ปุ่น

Made in Italy

เมื่อฝนเรียนจบปริญญาตรีจากภาควิชาการออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอศึกษาปริญญาโทด้าน Accessories Design ที่สถาบันโดมุส อะคาเดมี เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เพื่อสานฝันการเป็นอาจารย์ เธอได้เรียนทำทั้งกระเป๋า รองเท้า และจิวเวลรี่กับเพื่อนๆ ทั่วโลก หนึ่งในสิ่งที่เธอค้นพบคือ คนเอเชียเก่งทำมากกว่าพูด แต่เพื่อน ๆ ชาวตะวันตกกลับอธิบายแนวคิดเบื้องหลังงานได้ชัดเจนเป็นฉาก ๆ แถมยังภูมิใจในรากเหง้าตัวเองมาก ๆ 

“คนอิตาเลียนภูมิใจในความ Made in Italy มากค่ะ เวลาเรียนเลกเชอร์ก็จะเล่าว่าของดีเมืองนั้นเมืองนี้คืออะไร เขาหวงแหนความรู้ว่าเมืองนี้ทำไม้ เมืองนี้ทำโลหะ เมืองนี้ทำอัญมณี เมืองนี้ทำเครื่องหนัง เขาภูมิใจในภูมิปัญญาและหัตถกรรมมาก ๆ ตอนฝนอยู่ที่นั่น งานเกือบทุกโปรเจกต์ที่ทำ เลยหยิบเอาอะไรไทย ๆ อย่างลายผ้ามาใช้ เพราะเรารู้สึกว่า คนอิตาเลียนภูมิใจในความเป็น Made in Italy ของเขา แล้วเราก็อยากภูมิใจในของ Made in Thailand”

DESIGNENTIST แบรนด์กระเป๋าผ้าไหมที่ผสานผ้าทอไทยกับเทคนิคพับกระดาษจากญี่ปุ่น
DESIGNENTIST แบรนด์กระเป๋าผ้าไหมที่ผสานผ้าทอไทยกับเทคนิคพับกระดาษจากญี่ปุ่น

เสน่ห์ผ้าไทย

หลังจบปริญญาโทและกลับมาเมืองไทย งานแรกที่เธอเริ่มทำคือเจ้าหน้าที่ออกแบบกราฟิก พ่วงหน้าที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 

“ฝนบอกหัวหน้าตั้งแต่วันสมัครงานว่า ตอนอยู่อิตาลีรู้สึกว่าทำไมของที่ไทยดี ๆ ทั้งนั้นเลย คนไม่เห็นสนใจ เลยอยากทำงานที่นี่ ซึ่งบุญคุณทั้งหมด ความดีความชอบทั้งหมดของฝน มาจากพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ แล้วก็มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ทั้งความรู้เรื่องผ้า หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้ผ้าไทย ฝนได้จากการเป็นนักออกแบบประจำที่นี่เลยค่ะ”

การทำงานในพิพิธภัณฑ์ผ้าทำให้นักออกแบบเครื่องประดับได้รู้จักผ้าทอมือจากทั่วประเทศ และทำให้เธอหลงรักผ้าไหมอย่างจริงจัง

“สมัยนั้นสนุกมากเลยเวลาไปโกดังซึ่งเป็นคลังกลาง มีผ้าจากทุกภาคอยู่ในกล่อง ไล่ตามปีไปว่า ปี 54 ปี 55 ปี 56 อะไรแบบนี้ เราต้องปีนขึ้นไปเลือกเอาผ้าจากจังหวัดนั้น สีจากภาคนี้ แล้วก็มีอิสระ ออกแบบได้หมด”

ฝนเล่าเสริมว่านอกจากเธอจะออกแบบของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์ผ้าแล้ว เธอยังได้มีโอกาสร่วมออกแบบของที่ระลึกในงานโขนพระราชทาน ที่อยู่ภายใต้มูลนิธิศูนย์ศิลปาชีพฯ อีกด้วย 

“การได้ทำคอลเลกชันโขนสนุกมาก เพราะว่าเราได้เจอลูกค้าจริง ๆ ตอนขายของว่าคนชอบดีไซน์เรามั้ยหรือยังไง อย่างตอนพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เราก็อยู่ในออฟฟิศ แต่โขนทำให้ได้รู้ว่ากลุ่มลูกค้าคนไทยที่ชอบงานไทย ๆ ไม่ได้มีแต่คนสูงวัยเท่านั้น คนรุ่นเราหรือเด็กกว่านั้นก็ชอบของไทย ๆ เหมือนกัน”

DESIGNENTIST แบรนด์กระเป๋าผ้าไหมที่ผสานผ้าทอไทยกับเทคนิคพับกระดาษจากญี่ปุ่น
DESIGNENTIST แบรนด์กระเป๋าผ้าไหมที่ผสานผ้าทอไทยกับเทคนิคพับกระดาษจากญี่ปุ่น

กระเป๋าเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง

หลังจากทำงานที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ อย่างสนุกสนานเป็นเวลา 2 – 3 ปี ความฝันของฝนก็เป็นจริง คือได้เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ความฝันใหม่ก็เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือการเปิดแบรนด์ DESIGNENTIST เต็มตัว

“ในการออกแบบหรือดีไซน์ ฝนก็จะใช้วิธีการที่สอนเด็กนั่นแหละ มาทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของเรา เหมือนมันเป็นการรีเช็กสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราสอนไปด้วย บางครั้งเราก็ได้ไอเดียหรือแรงบันดาลใจจากนักศึกษา และการที่เราได้ทำแบรนด์ ก็เหมือนเราได้ฝึกปรือฝีมือและวิธีคิดของเราอยู่เสมอ ขณะที่เวลาสอนนักศึกษา เราก็จะเรียนรู้ว่าเด็กมีวิธีคิดยังไงบ้าง เราต้องเสริมเขาตรงจุดไหนบ้าง แล้วเราจะเอาประสบการณ์ในชีวิตจริงไปสอนเขายังไงได้บ้าง”

จุดเปิดตัวกระเป๋าผ้าไหมพับแสนเก๋ เริ่มต้นใน พ.ศ. 2562 เมื่อทางมหาวิทยาลัยศิลปากรได้พาคณาจารย์ไปแสดงงานที่ Cho Hyung Gallery มหาวิทยาลัยกุกมิน ประเทศเกาหลีใต้ ในนิทรรรศการ The Art and Design Exhibition by members of The Faculty of Decorative Arts, Silpakorn University, Thailand ของโครงการความร่วมมือข้อตกลง (MOU) ทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากรกับมหาวิทยาลัยกุกมิน ซึ่งงานนี้กระตุ้นฝนว่า เธอจะไปแบบธรรมดาไม่ได้ แต่ต้องไปประกาศให้โลกรู้ 

“เฮ้ย มันต้องยิ่งใหญ่ ส่วนมากงานจิวเวลรี่เป็นชิ้นจิ๋ว ในหอศิลป์ไม่ค่อยมีใครสนใจเราอยู่แล้ว คนอื่นก็จะไปสนใจงานโปรดักต์ งานประยุกต์ศิลป์ งานแฟชั่น โอ้โห อาจารย์แฟชั่นเอามาทั้งหุ่น แล้วเราจะไปแค่ชิ้นเล็ก ๆ ได้เหรอ พอจะไปเกาหลีเท่านั้นแหละ มีไฟขึ้นมาเลย”

DESIGNENTIST แบรนด์กระเป๋าผ้าไหมที่ผสานผ้าทอไทยกับเทคนิคพับกระดาษจากญี่ปุ่น
DESIGNENTIST แบรนด์กระเป๋าผ้าไหมที่ผสานผ้าทอไทยกับเทคนิคพับกระดาษจากญี่ปุ่น

ความฮึดสู้ของเธอเลยเกิดเป็นผลงานชิ้นแรกคือ Bangkok-Soul จิตวิญญาณของการเป็นกรุงเทพฯ มาจากการเล่นคำว่า Soul (จิตวิญญาณ) กับ Seoul (กรุงโซลของประเทศเกาหลีใต้) ซึ่งกระเป๋าเซ็ตนี้ได้แรงบันดาลใจจากเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง 3 รัชกาลของวัดโพธิ์ และพร้อมกันนั้นฝนก็ได้ค้นพบเทคนิคการพับแบบย่อมุมที่จะนำมาต่อยอดผลงานชิ้นถัดไป และเก็บเทคนิคนั้นไว้รอวันได้แสดงฝีมืออีกครั้ง

ต่อมาฝนก็ได้ประกวดโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ประจำ พ.ศ. 2562 ในหัวข้อ ‘Asean Metropolis : เมืองหลักของกลุ่มอาเซียน’ ซึ่งเมืองหลักที่ฝนเลือกคือกรุงเทพมหานคร เธอจึงเลือกพระปรางค์วัดอรุณมาเป็นแรงบันดาลใจในการดีไซน์กระเป๋า The reflection of Wat Arun ในครั้งนี้ เทคนิคการพับที่เธอค้นพบจาก Bagkok-Soul ฝนก็นำมาต่อยอดในกระเป๋า The reflection of Wat Arun ก็พาเธอคว้ารางวัลชนะเลิศรุ่นบุคคลทั่วไปได้สำเร็จ และในปีเดียวกันนี้ก็ทำให้ฝนคว้ารางวัล Emerging Designer Awards 2019 มาครองด้วย

แม้กระเป๋า Bagkok-Soul และ The reflection of Wat Arun จะมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่เห็นเธอลงรูป แล้วทักมาถามฝนว่าขายมั้ยเสมอ ๆ แต่ในใจฝนก็ยังรู้สึกว่ากระเป๋า 2 รุ่นนี้ยังไม่ลงตัว 

“รู้สึกว่าคุณภาพมันยังไม่ได้ค่ะ เพราะเราทำมือเองทุกชิ้น รู้ว่ามันไม่แข็งแรง รู้สึกว่าใช้จริงอาจจะหล่นโพละ ก็เลยเก็บเทคนิคนี้ไว้ในใจก่อน”

กระติ๊บลงตัว

เบื้องหลังแบรนด์กระเป๋าผ้าไหมทำมือที่ใช้ผ้าไหมอย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่เหลือเศษผ้า ด้วยการพับแบบมิอุระโอริ
เบื้องหลังแบรนด์กระเป๋าผ้าไหมทำมือที่ใช้ผ้าไหมอย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่เหลือเศษผ้า ด้วยการพับแบบมิอุระโอริ

ต่อมาปี 2019 ฝนได้ทำวิจัยเรื่องของที่ระลึกสำหรับ ‘พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้’ ชุมชนบ้านหนองแข้ จังหวัดสกลนคร เพื่อพัฒนาสินค้าต้นแบบเป็นทางเลือกให้ชุมชนได้มีผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นนอกจากผ้าไหม เรื่องราวของชุมชนนี้พิเศษมาก เพราะสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงโปรดผลงานทอผ้าของชุมชนจนเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ถึง 3 ครั้ง และยังพระราชทานฉลองพระองค์ฝีมือดีไซเนอร์ ปิแอร์ บัลแมง ให้เป็นต้นแบบการทอลายผ้าโบราณไม่ให้สูญหายไป แถมหมู่บ้านนี้ยังพัฒนาผ้าไหมย้อมครามจนเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นเทคนิคที่ทำได้ยากมาก ผ้าย้อมครามส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้ายทั้งนั้น

ในระหว่างขั้นตอนการวิจัยและออกแบบผลิตภัณฑ์ ฝนลงพื้นที่เก็บข้อมูลของผ้าไหมย้อมคราม ทั้งกรรมวิธีการผลิตและลวดลายที่ชาวบ้านรังสรรค์ขึ้น ซึ่งส่วนมากมีลักษณะเป็นเรขาคณิต รูปแบบสมมาตร ใกล้เคียงกันกับรูปแบบการพับกระดาษ น่าจะนำมาประยุกต์เป็นเทคนิคขึ้นรูปได้ ประกอบกับมูลค่าของผ้าไหมย้อมครามค่อนข้างสูงมาก มูลค่าเมตรละ 6,000 บาทต่อผืน เพราะมีกรรมวิธีหลายขั้นตอนซับซ้อนกว่าการทำผ้าชนิดอื่น ๆ

เธอต้องหาวิธีดัดแปลงผ้าไหมย้อมครามชุมชนบ้านหนองแข้ให้คุ้มค่าที่สุด ชนิดไม่ให้เหลือเศษทิ้งเลย จึงเลือกใช้วิธีการพับแบบญี่ปุ่นชื่อมิอุระโอริ จากหนังสือแพตเทิร์นที่เคยซื้อมา ทำให้กระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ถูกพับกางออกได้ เพียงดึงปลายทั้งสองด้านที่ตรงข้ามกันเพียงครั้งเดียว โดยไม่ทำให้รอยพับฉีกขาด ลักษณะเหมือนแผนที่ ผลลัพธ์ของของงานวิจัยคือต้นแบบกระเป๋าทรง KRATIP ของ DESIGNENTIST

เบื้องหลังแบรนด์กระเป๋าผ้าไหมทำมือที่ใช้ผ้าไหมอย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่เหลือเศษผ้า ด้วยการพับแบบมิอุระโอริ

“เพื่อน ๆ หรือคนรู้จักทักมาตลอดว่าเมื่อไหร่จะขาย ซึ่งประมาณปี 2020 มีเพื่อนที่ต้องไปงานใส่ชุดผ้าไหม มีพี่ที่อยากให้ของขวัญคุณแม่ เราก็เลยทำขายให้ แต่ฝนไม่ใช่คนขายของเก่ง เวลาชอบใคร อย่าง ป้าแต๋ว 70YoungTeaw ฝนชอบเขามาก ก็เลยขอส่งกระเป๋าให้ เพราะว่าที่บ้านฝนมีแต่ผู้สูงอายุไง เพื่อนชอบบ่น ขายของไม่เอากำไรหรอ ก็ไม่นะ (หัวเราะ) แต่ก็มีคนฝรั่งเศสมาฟอลโลว์และซื้อเพราะเห็นจากป้าแต๋วนะ”

DESIGNENTIST เต็มตัว

DESIGNENTIST ใช้ผ้าไหมจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ฝนซื้อสะสมไว้มาผลิต คอลเลกชันแรก KRATIP ได้แรงบันดาลใจมาจากกระติ๊บข้าวเหนียวคนอีสาน และผ้าไหมที่นำมาใช้ก็มาจากอีสาน ทั้งร้อยเอ็ด สกลนคร และสุรินทร์ มีหลายสีให้เลือกสรรตั้งแต่สี Cloud, Leaf, Coral, Kapi, Orchid, Carnation มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ซึ่งฝนออกตัวว่ากว่าจะได้มาแต่ละใบไม่ใช่เรื่องง่าย

“ฝนไม่ใช่คนสเก็ตช์สวย ชอบขึ้นชิ้นงานด้วยมือมากกว่า มันเป็นคณิตศาสตร์ที่คนสายศิลป์อย่างเราคำนวณไม่ได้ เราก็เลยนั่งทดลองพับไปเรื่อย ๆ ตามแพตเทิร์นจนกว่ามันจะพอดี เมื่อพับด้านหนึ่งมันจะโค้งขึ้นมาชนกันได้เอง มันคือการที่แปลงรูปจากของที่เป็น 2 มิติ ให้กลายเป็น 3 มิติ ได้ด้วยตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องสร้างโครงสร้างอะไร ไม่ต้องเติมวัสดุอะไรเพิ่ม” 

ถัดจากนั้น เมื่อฝนพับโมเดลจนได้รูปร่างอย่างลงตัว เธอจึงค่อยนำไปโรงงานทำกระเป๋าตัดเย็บให้เนี้ยบตามมาตรฐาน ส่วนหูจับกระเป๋าที่ถักเป็นมาลัย ก่อนหน้านี้ใช้ไหมพรมสีขาวธรรมดา ต่อมาก็เริ่มมีสีสัน และล่าสุดใช้เป็นเส้นใยกัญชงย้อมสีธรรมชาติ

เบื้องหลังแบรนด์กระเป๋าผ้าไหมทำมือที่ใช้ผ้าไหมอย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่เหลือเศษผ้า ด้วยการพับแบบมิอุระโอริ

มาที่คอลเลกชันใหม่ล่าสุดของ DESIGNENTIST ก็ยังไม่ทิ้งกลิ่นอายอีสาน อย่าง KATAR (กะต่า) ที่เกิดจากภาษาถิ่นของชาวอีสานคำว่า กะต่า หมายถึงตะกร้ามีหูหิ้ว โดยคอลเลกชันนี้เปลี่ยนรูปลักษณ์จากทรงกระบอกมาเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ต้องพับแพตเทิร์นด้านในและด้านนอกของกระเป๋าใหม่ แต่ยังคงใช้วิธีพับแบบมิอุระโอริเหมือนเดิม ซึ่งเฉดสีคอลเลกชันนี้ประกอบไปด้วย Coral, Lilac, Navy, Cloud, Frost ผลิตได้จำนวนจำกัด เพราะมาจากผ้าไหมสะสมของฝนเอง เรียกได้ว่าหมดแล้วหมดเลย แทบทุกใบขายทางออนไลน์ แต่ถ้าไปที่ Woot Woot Store เจริญกรุง 30 จะมีรุ่นสีพิเศษวางขาย 

Thai Haute Couture 

“คนชอบพูดว่าผ้าไหมใช้ยาก แต่เรารู้สึกว่าผ้าไหมสวย พอพับขึ้นมุมจะเห็นเหลือบไหมชัดมาก เสื้อผ้าที่ฝนใส่ก็คือซื้อผ้าไหมมาแล้วหาช่างตัด ฝนรู้สึกว่าผ้าไหมมันเป็นสิ่ง Luxury นะ พอได้เป็นเห็นกระบวนการที่เขาทำ นี่มันคือโอต์กูตูร์ คราฟต์จากธรรมชาติทั้งผืน มันดี๊ดี เราก็เลยอยากทดลองทำงานที่ดี ให้คนรู้สึกว่าผ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากผ้ามันมีมูลค่าของมัน”

“ที่ฝนทำแบรนด์ เพราะส่วนหนึ่งอยากภูมิใจในความเป็น Made in Thailand อย่างที่บอกไป ไม่งั้นก็อาจจะทำงานเป็นแค่อาจารย์เฉย ๆ ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างแบรนด์หรือมีชื่อเสียงอะไร แต่เราอยากเห็นงานแบบนี้ ใช้ผ้าไทยแบบนี้ ผลิตออกมาแล้วเราภูมิใจกับมัน คนไทยคนอื่นก็ภูมิใจกับของภูมิปัญญาไทยด้วย อย่างภาคอีสาน ฝนรู้สึกสนุกจะตาย คือขุมทรัพย์ของประเทศไทยชัด ๆ เลย อาหารก็อร่อย ผ้าก็สวย คนก็สนุก ภาษาก็มัน เวลาฟังคนอีสานพูด รู้สึกว่าอยากให้เป็นที่รู้จักในแง่มุมใหม่ ๆ มากกว่านี้

เมื่อถามถึงการแข่งขันกับกระเป๋าผ้าไหมไทยเจ้าอื่น ๆ ฝนตอบด้วยรอยยิ้มกว้างว่าเธอไม่คิดต่อสู้กับใคร

“เราชอบมากเลยด้วยซ้ำที่มีคนทำหลายแบรนด์ เพราะเราก็ไม่ใช่เจ้าแรก ตั้งแต่ตอนอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ แล้ว เราเห็นว่าคนที่ทำกระเป๋าผ้าไหมคนอื่น ๆ เขามักใช้หนังเป็นวัสดุผสม เป็นตัวสร้างโครงให้กระเป๋า แต่พอเราเจอการพับแบบนี้แล้ว ก็ใช้ผ้าทั้งใบได้ กลายเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์เราที่แตกต่าง ให้รู้เลยว่าแนวทางเราเป็นแบบนี้ ถ้าจะมีคนได้แรงบันดาลใจ หรือใช้ผ้าไหมแบบเราไปทำผลิตภัณฑ์อย่างอื่นก็จะยิ่งดีใหญ่เลย ดีค่ะที่ทุกคนใช้ผ้าไหมกัน” 

ในอนาคต ฝนยืนยันว่า DESIGNENTIST จะทดลองหาวิธีการใหม่ ๆ ให้การพับและผ้าไหมสนุกลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาสินค้าอื่น ๆ ให้ผ้าไหมกลายเป็นงานดีไซน์ที่ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตร่วมสมัยของคนอย่างกลมกลืน

เบื้องหลังแบรนด์กระเป๋าผ้าไหมทำมือที่ใช้ผ้าไหมอย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่เหลือเศษผ้า ด้วยการพับแบบมิอุระโอริ

DESIGNENTIST 

designentist.com/ 

www.facebook.com/designentist/

www.instagram.com/designentist.shop/ 

ขอบคุณสถานที่ : Woot Woot Store

Writer

Avatar

รักดาว ราชภักดี

สุข สงบ สไตล์ 3 ส สำคัญที่ไม่อยากให้จากไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ