เสียงเพลงฟังสบายจากวง Carpenter ดังขึ้นภายใต้บรรยากาศชวนฝันด้วยแสงสลัวในร้านกาแฟในย่านพระนครที่เป็นส่วนผสมอันลงตัวระหว่างกลิ่นโอเรียนทัลกับความเป็นตะวันตก มันคือสถานที่นัดหมายระหว่างเรากับเจ้าของผลงานภาพเคลื่อนไหวสุดเท่แห่งยุค ผู้ฝากผลงานที่แฝงไปด้วยกลิ่นไอของความวินเทจและงดงามในทุกจังหวะ ไว้ในวงการภาพเคลื่อนไหวของประเทศไทยไว้มากมาย และนับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับ สายเลือดใหม่ที่มาแรงและน่าติดตามมากที่สุด
เธอชื่อว่า จีน-คำขวัญ ดวงมณี
ย้อนกลับไปหลายปีที่แล้ว จีนคือเด็กสาวขี้อายในคณะศิลปกรรมศาสตร์ ผู้ไม่ได้เรียนด้านการทำภาพยนตร์มาโดยตรง และในวันนี้จีนในวัย 25 ปี ก็ได้ฝากผลงานไว้เกินกว่า 60 ชิ้น ตลอดการเดินทางภายใต้นามผู้กำกับสาวเพียงแค่ 2 ปีเศษๆ เท่านั้น
“ตั้งแต่ต้นปีผ่านมาจนถึงตอนนี้ จีนมีงานเอ็มวีที่เลื่อนถ่ายมา 2 ตัวค่ะ แล้วก็มีแฟชั่นฟิล์มของ Pomelo และได้รับการติดต่อให้กำกับงานของ Calvin Klein ในแคมเปญ International Women’s Day for Asia”
ผู้หญิงตรงหน้าเราผู้อยู่ภายใต้หมวกเบเรต์ทรงเก๋กับเรือนผมหน้าม้าสีเบอร์กันดี้อ่อนๆ ในแบบฉบับของเด็กหญิงชาวฝรั่งเศส ซึ่งรับกันกับรองเท้าบู้ทเก๋ บอกเล่าเรื่องราวผลงานให้เราได้ฟัง
อันที่จริงแล้ว เมื่อเราเอ่ยถึงชื่อ คำขวัญ ดวงมณี — ภาพที่ชัดเจนที่สุดที่ปรากฏขึ้นคงหนีไม่พ้นภาพเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นมิวสิกวิดีโอ แฟชั่นฟิล์ม และโฆษณา ในมิวสิกวิดิโอเพลง Lover Boy ของ Phum Viphurit , Don’t You Go ของ STAMP ดำสนิท ของ ฮิวโก้–จุลจักร จักรพงษ์ , คิดถึง ของ Palmy, Hurts ของ Tahiti80, คิดถึงขนาด ของ Somkiat, ยังอยู่ ของ SCRUBB ไปจนถึงเพลงที่ฮิปฮอปอย่าง เหอะ ของ The RedTape แม้ผลงานของเธอจะมีหลากหลาย แต่สิ่งที่เหมือนกันคือกลิ่นของความวินเทจผสานกันกับความเท่ที่สะท้อนออกมาผ่านภาพ
ทั้งหมดนี้จุดประกายความสงสัยให้แก่เรา ว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้งานของผู้หญิงขี้อายคนนี้มีความเท่อย่างน่าเหลือเชื่อ วันนี้เราจึงชวนเธอมาย้อนเวลาแห่งชีวิตของเธอให้เราได้ฟัง
Scene 1
Little Jean
เด็กหญิงจีน
ก่อนจะมาเป็นผู้กำกับสาวมือทองที่ฝากผลงานกับแบรนด์ระดับโลกไว้บนบิลบอร์ดใจกลางฮ่องกง จีนเล่าให้เราฟังว่า เธอในวัยเด็กเป็นเด็กเงียบๆ ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยกล้าแสดงออก เวลาพูดหน้าชั้นเรียนเธอจะนิ่งและเงียบ
จีนไม่ใช่เด็กหน้าห้อง — เธอไม่ใช่เด็กนั่งแถวแรกที่คอยยกมือขึ้นถามครู หากมีอะไรสงสัย เธอมักจะไม่ค่อยเอ่ยปากถาม ด้วยความที่เป็นคนไม่กล้าแสดงออก และอาจเรียกได้ว่าเป็นเด็กที่นั่งหลังห้องอยู่กับเด็กผู้ชายเกเร และหลายครั้งนักที่เธอนั่งหลับในห้องเรียนเพราะมัวแต่ทำการบ้านเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
“เราเอาการบ้านที่ต้องใช้สอบตรงสำหรับเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ขึ้นมาทำในห้องเรียนเลย ถามว่าตั้งใจเรียนมั้ย… เราเป็นคนเรียนปานกลางค่อนไปทางดี ไม่ได้โดดเด่นว่าเก่งวิทย์หรือคณิต เพราะเราจะเก่งไปในพวกศิลปะและดนตรี”
จีนรู้ตัวว่าตัวเองมาทางสายศิลปะตั้งแต่ตอนเด็กๆ เธอบอกเราว่า เธอไม่สามารถเลือกได้ว่าชอบวิชาศิลปะหรือดนตรีมากกว่ากัน นั่นเพราะว่าคุณแม่พาเธอไปเล่นเปียโนตั้งแต่เด็ก หลังจากนั้นจีนก็เริ่มต้นลองหัดกีตาร์เอง และเริ่มเล่นปิคโคโลเมื่อสมัครเข้าวงโยธวาทิต อีกทั้งยังสามารถเล่นวิโอลาได้นิดหน่อย เมื่อครั้งอยู่ในวงออร์เคสตร้าโรงเรียน
เมื่อเราถามเธอว่าเธอพอจะมีความทรงจำเกี่ยวกับการวาดภาพแรกได้บ้างไหม จีนตอบว่า ภาพแรกของเธอเกิดขึ้นในสมัยอนุบาล เมื่อติดตามคุณแม่ไปทำกิจกรรมเวิร์กช็อปให้นักเรียน “ตอนนั้นเหมือนเขาจะเตรียมสีปั๊มนิ้วไป ให้เราปั๊มนิ้วลงกระดาษ จากนั้นก็วาดต่อเป็นหนอน เป็นไก่ค่ะ ส่วนวาดอีกทีก็เป็นภาพคลาสสิกเลย ที่วาดภูเขาต่อเป็นเต้น แล้วมีพระอาทิตย์ มีนกเป็นรูปตัวเอ็ม”
ไม่ใช่แค่เรื่องของการวาดภาพและเล่นดนตรีเท่านั้น แต่คุณแม่ของจีนผู้เป็นแอร์โฮสเตสยังชื่นชอบในศิลปะและแฟชั่น และเป็นหนึ่งในแบบอย่างในการใช้ชีวิตให้กับจีนในวันนี้ อาจเรียกได้ว่าครอบครัวของจีนเป็นส่วนอันยิ่งใหญ่ที่หล่อหลอมให้เธอกลายเป็น คำขวัญ ดวงมณี ในวันนี้ เพราะไลฟ์สไตล์ของทั้งคุณพ่อและคุณแม่ยังทำให้เธอหลงใหลในความสวยงามในแบบย้อนยุคอีกด้วย
“พ่อกับแม่ของจีนชอบฟังเพลงสากลย้อนยุค แล้วเขาชอบแต่งบ้าน อย่างคุณพ่อจีนที่เป็นสจวร์ตจะชอบบินไปต่างประเทศแล้วซื้อของเก่ามาแต่งบ้าน ในบ้านก็จะรกมากนิดหนึ่งค่ะ” เธอหัวเราะเสียงใส เป็นจังหวะเดียวกันกับเสียงเพลง Close to You ดังขึ้นพอดี
Film and Jean
ภาพยนตร์กับจีน
นอกจากการวาดรูปและฟังเพลงแล้ว เราชวนจีนคุยกันถึงเรื่องภาพยนตร์ที่ชอบ — เธอนิ่งไปสักพักด้วยความที่ชอบดูหนังตามความสนใจ แต่สุดท้ายเธอก็เอ่ยตอบเราด้วยคำตอบที่ชวนให้แปลกใจจนได้
“ตอนเด็กๆ จีนชอบเพลงการ์ตูนของ Fox จากเรื่อง Anastasia ค่ะ”
คำตอบของจีนดังขึ้นพร้อมดวงตาเป็นประกาย ก่อนเล่าเรื่องราวที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้ยินให้ฟัง
“จีนชอบเพลงซาวนด์แทร็กมาตลอด จีนโหลดเพลงสกอร์เปียโนของหนังเรื่องนี้มาแล้วก็เล่น จริงๆ ตั้งแต่ชอบมาจนถึงตอนนี้ก็ยังเล่นไม่จบ คือจีนเล่นจบเพลงแล้วแต่ยังไม่คล่องจนร้อยเปอร์เซ็นต์”
ผู้กำกับสาวคนนี้มีงานอดิเรกคือการเล่นเปียโน และเพลงโปรดที่เธอชอบก็คือเพลง Once Upon A December
นอกจากนี้ จีนยังชอบหนังเพลงเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Grease และ La La Land รวมถึงชอบผลงานของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส เจ้าของบทตำนานในวงการภาพยนตร์ และเป็นเจ้าของแรงบันดาลใจให้กับผู้กำกับทั่วโลกอีกมากมายอย่าง Jacques Demy อีกด้วย
จีนในตอนนั้นยังไม่เคยรู้เลยว่าวันหนึ่งเธอเองนั่นแหละที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมายเช่นเดียวกัน
เมื่อเติบโตขึ้น เธอได้ลองใช้กล้องถ่ายรูปครั้งแรกขณะไปทัศนศึกษากับที่โรงเรียน และเริ่มได้ลงมือตัดต่อวิดีโอและลงมือถ่ายเป็นครั้งแรกกับกลุ่มเพื่อนสมัยมัธยม
“การทำวิดีโอครั้งแรกที่มีการตัดต่อ ตอนนั้นจีนใช้ BlackBerry ถ่าย ซึ่งมันเป็นคลิปแก๊งเพื่อนตอนโรงเรียนพากันโดดเรียนแล้วขึ้นไปบนดาดฟ้า ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นเขาไม่ให้ขึ้น แล้วตอนนั้น Prison Break กำลังดังพอดี จีนเลยทำเป็น Prison Break เวอร์ชันโดดเรียนแล้วขึ้นดาดฟ้า”
จีนโพสต์คลิปนั้นลงบนเฟซบุ๊ก — แน่นอนล่ะว่ามีคุณครูมาคอมเมนต์ว่าให้ลบ แต่จีนในวันนั้นก็ไม่ได้ลบออกไปแต่อย่างใด
“ผลตอบรับตอนนั้นดีเลย เพื่อนบางคนก็ขึ้นบ้าง” เธอตอบพร้อมเสียงหัวเราะ
นั่นอาจจะเป็นสัญญาณแรกของความสำเร็จของเธอก็เป็นได้
Scene 2
Fashion and Jean
แฟชั่นและจีน
“คำว่าแฟชั่นสำหรับจีน คือการเป็นตัวของตัวเอง”
แม้จะชอบจับกล้องเล่นๆ กับเพื่อนสมัยมัธยม แต่จีนก็ตัดสินใจเรียนด้านแฟชั่น ทว่าก่อนตัดสินใจเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์นั้น ครั้งหนึ่งจีนเคยเกือบจะเรียนด้านดนตรีโดยเฉพาะ แต่สุดท้ายเธอก็เปลี่ยนให้ดนตรีกลายเป็นงานอดิเรก และเริ่มต้นติววาดภาพตั้งแต่ ม.2
“ตอนนั้นอยู่ดีๆ มีเพื่อนมาชวนว่าไปเรียนแฟชั่นมั้ย… ถามว่าเราอินแฟชั่นมั้ย ก็ไม่… เราชอบดูคนแต่งตัว แต่ตัวเราเป็นคนเรียบมากๆ แต่ก็ไปตามเพื่อน”
สุดท้ายเธอก็สอบติดแขนงวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จีนตอนปี 1 ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับแฟชั่นมากนัก ด้วยความที่คลาสเรียนเป็นการเรียนรวม และเธอต้องเรียนวิชาอื่นไปด้วย รวมถึงทฤษฎีศิลป์และกราฟิก
“พอได้เรียนตามเมเจอร์ แรกๆ ยังตื่นเต้นอยู่เพราะไม่เคยทำ แต่พอทำไปสักพัก เราคิดแบบเสื้อผ้าที่ตัดเย็บได้ใกล้เคียงของจริงไม่ค่อยได้ เราก็เลยรู้สึกเริ่มท้อแล้วก็ไม่ค่อยอินการทำแพตเทิร์น แต่ว่าถามว่าเราชอบแฟชั่นมั้ย เราชอบในแง่กระบวนการกว่าจะมาเป็นเสื้อผ้า ดีไซเนอร์ต้องคิดมาจากอะไรและดึงแรงบันดาลใจมาจากอะไรบ้าง เพื่อที่จะแปลงออกมาเป็นเสื้อผ้า”
ในตอนนั้นจีนชอบออกแบบเสื้อผ้าที่ค่อนข้างเรียบ ใส่ลูกเล่นลงบนลายของผ้า โดยครั้งหนึ่งเธอเคยออกแบบเสื้อผ้าที่ดึงมาจากบทเพลงของ Kraftwerk ลงมาสรรค์สร้างลายบนเสื้อผ้า ให้เป็นลายที่ชวนให้นึกถึงคอมพิวเตอร์รุ่นแอนะล็อกกับแผ่นซีดี เข้ากันกับบทเพลงที่เธอฟัง
ทว่าเมื่อเริ่มต้นลงทำเสื้อผ้าจริงๆ จีนกลับรู้สึกว่าเธอไม่สามารถจะเป็นดีไซเนอร์ได้ และนั่นพาเรามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของจีน
Turning Point
จุดเปลี่ยน
“ตอนทำทีสิส จีนชอบหนังเรื่องหนึ่งของ Jean Cocteau มันเป็นหนังที่มีความกรีก-โรมัน จีนเลยใช้ลายเส้นแฮนด์ดรอว์อิ้ง มาพัฒนาเป็นรายละเอียดของเสื้อผ้า” จีนเล่าพร้อมเปิดสมุดเล่มใหญ่ตรงหน้าไปด้วย — ในตอนนั้นเราได้เห็นรูปภาพมากมายถูกตัดแปะไว้บนหน้ากระดาษ หนึ่งในนั้นคือภาพผ้าที่จีนกลัดไว้บนตัวหุ่น “ตอนนั้นจีนไม่ค่อยอินกับเสื้อผ้าแล้ว จีนแปะคอลลาจลงบนสมุดใหญ่เลยนะ แต่พอเอาแบบไปส่งให้ช่าง ตอนนั้นเหมือนเราแทบจะบอกให้ช่างเอาไปทำให้จบๆ แล้วไปรอวันเดินแบบอย่างเดียว จีนรู้เลยว่าจีนไม่ได้ให้ใจกับมันอีกแล้ว
“สมัยอยู่โรงเรียนจีนหลับในห้องตลอดเลย ทุกคนจะจำว่าจดๆ อยู่ก็จะเนียนเอามือเท้าคาง แล้วก็หลับไปเลย เพราะบางทีเหมือนเราติวเข้าแฟชั่นแล้วงานมันเยอะเราก็จะนอนดึก จีนเป็นคนที่ถ้านอนไม่พอจีนจะนั่งฟังอะไร ฟังใคร พูดโมโนโทนไม่ได้ จีนจะหลับ” จีนเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การออกไปฝึกงานของเธอที่แบรนด์เสื้อผ้าแบรนด์หนึ่ง ที่เธอยืนยันว่าเธอเคยนั่งทำงานแล้วหลับไปด้วยจริงๆ “นั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกว่าจีนต้องทำงานอะไรที่ไม่ต้องอยู่กับที่แล้วล่ะ”
On Set
ออกกอง
เมื่อรู้ตัวว่าต้องทำงานที่ไม่อยู่กับที่ เธอจึงตัดสินใจกระโดดเข้ามาในวงการภาพเคลื่อนไหว ด้วยความหลงใหลในโจทย์ที่มีความท้าทาย และคนหลากหลายที่ได้เจอ จีนจึงรู้สึกว่าการถ่ายภาพนั้นเหมือนกับการจำลองจินตนาการในหัวของเธอ ให้ออกมาเป็นภาพจริงอย่างใกล้เคียงที่สุด
“จีนเย็บผ้าไม่เก่ง แต่กับฟิล์มจีนรู้สึกดีกับมัน เพราะเราได้ถ่ายทอดภาพออกมา ด้วยความที่เราเป็นคนฟังเพลงแล้วชอบนึกภาพตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นฟังเสียงนี้หรือดนตรีแบบนี้ จีนจะนึกถึงภาพคนคนนึงกำลังทำอะไรอยู่”
กองถ่ายแรกที่จีนออก — แบบไม่นับภาพยนตร์สั้นๆ เลียนแบบ Prison Break สมัยมัธยม — คือกองถ่ายที่เธอทำกับเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย มันเป็นการร่วมมือกันของนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่ต้องการสะสมผลงานไว้ในพอร์ตฟอลิโอ จากนั้นเธอก็เริ่มไปช่วยงานเพื่อนๆ และรุ่นพี่ทั้งงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ที่เธอใช้มือตัวเองแทนขาตั้งกล้อง
“แรกๆ จีนไม่ได้รู้จักภาพเคลื่อนไหวมากขนาดนั้น มันเหมือนมุมมองในภาพเคลื่อนไหวของเราไม่ได้เป็นไปตามหลักการเท่าไหร่ เหมือนเป็นเด็กแฟชั่นที่คิดภาพนิ่งเป็นมู้ดๆ มาต่อกัน คาแรกเตอร์งานเลยค่อนข้างต่างจากตอนนี้”
การไม่ได้จบมาจากคณะที่สอนเรื่องการทำภาพยนต์มาโดยตรง บางครั้งก็ทำให้จีนเกิดความกดดันกับตัวเองเมื่อต้องก้าวเข้าสู่สนามการแข่งขันในวงการภาพเคลื่อนไหว แต่เธอก็ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ตามที่เรียนรู้มาจากการ ‘ออกกอง’ ในแต่ละกอง ที่เธอบอกว่าเธอลองมาแล้วทุกสเกล ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ก็ตาม
“บางงานจีนทำเองหมดก็เคย ตั้งแต่ถ่าย อัดเสียง ตัดต่อ ไปจนถึงทำจนจบงาน ถามว่าตอนนั้นดีมั้ย ก็ไม่ดี แต่เราแค่รู้ขั้นตอนคร่าวๆ”
Scene 3
Professional
มืออาชีพ
งานจริงจังแรกของจีนเริ่มต้นในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับ หลังจากที่เธอตัดสินใจสมัครเข้าเป็นเด็กฝึกงานที่โปรดักชันเฮาส์ถึง 2 ที่ และถูกทาบชวนจากคนในบริษัทให้ลองทำงานจริง นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจีนก็ค่อยๆ สะสมผลงานของตัวเอง และไม่กลัวที่จะลงมือทำงานในฐานะผู้กำกับ จนกระทั่งถึงวันนี้ และไม่ลืมที่จะหยิบยื่นโอกาสให้คนอื่น ในวันที่เธอสามารถยื่นให้ได้
ด้วยความที่ความชอบแฟชั่นของเธอแบ่งออกเป็น 2 ทาง ทั้งทางมินิมอล และทาง Wearable Art หรือการเอาศิลปะมาประดับอยู่บนชุดที่มีโครงสร้างค่อนข้างเรียบ งานของจีนจึงมีความเรียบที่แฝงอยู่บนความเรโทร
“ตอนนี้จีนกำลังหาสิ่งใหม่ในการทำงาน หลายๆ คนบอกว่า ดูแต่ละอันมันยังสะท้อนบุคลิกของเราอยู่ เพียงแต่ว่ารูปแบบของงานมันกำลังเปลี่ยนไปมากขึ้น”
ปัจจุบัน จีนทำงานทั้งแฟชั่นฟิล์ม มิวสิกวิดีโอ และโฆษณา เธอเล่าให้เราฟังถึงวิธีการทำงานว่าเธอกำลังทำงานที่เล่าเรื่องมากขึ้น ด้วยการเอาเส้นเรื่องมาผสมกับภาพ ให้ออกมาเป็นภาพที่เล่นกับความรู้สึกของคนดู ให้ออกมาเป็นมิวสิกวิดีโอ ซึ่งแตกต่างจากแฟชั่นฟิล์มที่เธอมักพูดถึงการตีความจากคอลเลกชันนั้นๆ และโฆษณาที่เริ่มต้นจากสคริปต์ของเอเจนซี่
Behind the Jean
เบื้องหลังของภาพจีน
จีนค่อยๆ สะสมประสบการณ์ในวงการภาพเคลื่อนไหวมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นมิวสิกวิดีโอ โฆษณา หรือแฟชั่นฟิล์มก็ตาม — จากชื่อจีนที่แพร่สะพัดในวงการของคนแฟชั่น ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นผ่านโอกาสที่เธอได้รับ และความสามารถที่สะท้อนชัดในงานของเธอ บนมิวสิกวิดีโอของนักร้องดังจากหลากหลายค่าย แบรนด์แฟชั่น ไปจนถึงแบรนด์ขนม
ในที่สุด — วันหนึ่งในเดือนมกราคม จีนก็ได้รับการติดต่อจากแบรนด์ในฝันอย่าง Calvin Kilen กับแคมเปญ International Women’s Day แคมเปญที่ในปีนี้ต้องการแสดงพลังของผู้หญิงเอเชีย ด้วยการเชิญอินฟลูเอนเซอร์ทั่วเอเชียเข้ามาร่วมค้นหาและเข้าใจตัวตน เพื่อเอาชนะขีดจำกัดและความท้าทายทางเพศ
“ไม่ว่าจะเป็นยังไง จีนต้องทำงานนี้ให้ได้” เธอพูด ขณะเปิดตารางงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาให้เราดู และมันเป็นจริงอย่างที่เธอว่า เพราะตารางการทำงานของ Calvin Klein นั้นซ้อนทับกับงานอื่นๆ อย่างที่เธอพูดจริงๆ แต่สุดท้ายจีนก็สามารถผ่านไปได้ จนผลงานของเธอนั้นได้ฉายอยู่ที่ประเทศฮ่องกง
“มันเป็นตัวชี้วัดเลยกับตลอด 2 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมาของเรา”
แม้ความรู้สึกแรกหลังจากได้รับงานนี้ จะเป็นความเหงา เพราะรุ่นพี่ในวงการเคยบอกไว้ว่าโดยปกติแล้ว ถ้ารับงานนอกจะต้องมีโปรดิวเซอร์ไทยมาช่วย และมีโปรดักชันเฮาส์ที่ไทยมาซัพพอร์ต แต่ในครั้งนี้จีนกำลังเอาตัวเองเข้าไปลุยงานนี้ด้วยคนเดียว โดยที่เธอไม่มาก่อนว่าบริษัทที่ทำงานด้วยเป็นใคร และใครเป็นผู้ร่วมงานบ้าง “ทีมที่ออกกองที่เป็นคนไทยมีแค่ตากล้อง พี่ช่างไฟ และทีมเสียง ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติหมดเลยค่ะ”
สำหรับจีนแล้ว นี่คือตัวชี้วัดว่างานกำลังเริ่มต้นไปในระดับอินเตอร์มากขึ้น และเธอเองก็ต้องท้าทายตัวเอง ว่าจะสามารถเปลี่ยนคำศัพท์ในการกำกับได้ชัดเจนแค่ไหน
จีนบอกว่า กองถ่ายในครั้งนี้แตกต่างไปจากที่เธอเคยเห็นในประเทศไทย — เพราะมันคือการถ่ายทำที่เธอได้ใกล้ชิดกับลูกค้ามาก แม้ในวันแรกเธอจะสัมผัสได้ว่าทั้งเธอและลูกค้ายังไม่ได้ไว้ใจกันขนาดนั้น แต่พอรู้จักกันและกัน และรู้ว่าต่างคนต่างต้องการอะไร กลายเป็นว่าเธอสนุกกับกองถ่ายในครั้งนี้มาก
นั่นคือครั้งแรกที่เธอต้องนั่งทำงานด้วยการที่ฟังบทสัมภาษณ์จากคน 10 คน ในครั้งนั้นจีนได้ทำทั้งวิ่งสาดน้ำกับพื้นเพื่อให้ได้แสงสะท้อน วิ่งไปหยิบของ และฟังเรื่องราวของผู้หญิงทั้งสิบคนไปด้วย
“มันมีตอนหนึ่งเหมือนกันที่จะต้องเลิกถ่ายแล้ว ที่หมดคิวแล้ว แต่ไอเดียที่จีนคิดมามันยังไม่ได้ถ่าย แล้วจีนคิดว่ายังไงมันต้องถ่ายซีนนี้
มันเป็นซีนกระจกของเรื่องคนสุดท้ายที่เขาเป็น LGBT แล้วจีนแค่คิดว่าความท้าทายมันคือผู้หญิง 10 คนในบ้านหลังเดียว มุมที่ให้เล่นมันก็น้อยแล้ว เรารู้สึกว่าเราต้องได้ภาพที่แตกต่างกัน เรานึกขึ้นได้ว่าเรายังไม่ได้เล่นกับกระจกเลย แล้วด้วยนักแสดงคนสุดท้ายเขาผ่านจุดที่ต้องยอมรับตัวเองก่อน จึงค่อยกล้าแสดงออกหรือว่าแสดงจุดยืนทางเพศสภาพได้ขนาดนี้ จีนก็เลยคุยกับผู้ช่วยว่า อยากให้เขาเข้าไปในกระจก แล้วลองมองตัวเอง มองตาตัวเอง
ไอเดียนี้จีนได้จากที่เข้าไปในบ้านวันแรกแล้วเห็นว่ากระจกเยอะมาก มีกระจกบานหนึ่งที่จีนเข้าไปส่อง กลายเป็นว่าวันนั้นเป็นวันแรกที่เรามองตาตัวเองครั้งแรก เราก็แปลกใจว่าปกติเราไม่เคยมองตาตัวเองเลย แต่พอเราได้มองตาตัวเองมันกลายเป็นว่าเราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จีนก็เลยบอกผู้ช่วยว่าอยากให้เขาค่อยๆ เดินเข้าไปในกระจก มองเข้าไปในตาตัวเอง แล้วค่อยๆ ปรับอารมณ์ จากสับสนอยู่ก็เรียนรู้ที่จะรักตัวเอง และได้ยิ้มออกมาด้วยความมั่นใจ โดยที่มีภาพน้ำไหลออกมาเรื่อยๆ ตอนแรกมันอาจจะเป็นความไม่เคลียร์ มีหยดน้ำเต็มไปหมดเลย แต่พอเขาเรียนรู้ที่จะรักตัวเองแล้ว เอามือปาดน้ำที่ไหลไม่หยุด แล้วเห็นตัวตนของตัวเอง”
สุดท้าย เราก็ได้เห็นฉากสวยๆ ฉากนั้นในแคมเปญของ Calvin Klein ในที่สุด
“เราไม่เคยทำงานที่ใกล้กับคนเท่านี้มาก่อน มันมีหลายเรื่องราวที่เราฟังแล้วทำให้เราได้รับแรงซัพพอร์ตจากเรื่องเล่าของเขา จากที่เราเคยไปอย่างไม่มั่นใจ มันมีหลายอารมณ์ในงานนี้มาก ทั้งกดดันและท้าทาย แต่จีนก็ผ่านไปได้ด้วยตัวเองในที่สุด โดยมีทีมงานคอยซัพพอร์ต สุดท้ายลูกค้าก็ประทับใจเรา และเราก็ทำได้จริงๆ”
Dream Comes True
ฝันที่เป็นจริง
ผลงาน International Women’s Day for Asia ที่ร่วมเดินทางกับจีนมาเป็นเวลา 3 เดือนเต็มๆ ในครั้งนี้ ได้ถูกฉายบนจอใหญ่ในเมืองฮ่องกง ที่เธอเล่าให้เราฟังว่าเธออยากจะหาเวลาไปเดินเล่นและดูด้วยตาตัวเองสักครั้ง
“งานนี้ทำให้จีนเห็นผลของความพยายามที่มีมาตลอด 2 ปี และการมาถึงจุดนี้ได้เกิดจากตัวของเราเอง ก็ยิ่งทำให้รู้สึกตื้นตันมาก เอนทรานซ์ติดจีนยังไม่มีความสุขเท่านี้เลย” จีนกล่าว
ตลอดเวลา 2 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา จีนได้ฝากผลงานภาพเคลื่อนไหวรวมทั้งหมดราวหกสิบชิ้นงาน และหนึ่งในงานที่ทำให้เรารู้จักเธอมากที่สุด ก็คืองานที่เธอได้ทำกับศิลปินอินดี้ ที่เธอเอ่ยปากบอกด้วยความตื่นเต้นว่า เธอเป็นแฟนมาตั้งแต่สมัยมัธยมอย่าง Tahiti 80
การโคจรมาพบกันของจีนและ Tahiti 80 ในฐานะเพื่อนร่วมงานนั้น เริ่มต้นจากการที่ Tahiti 80 มาเล่นคอนเสิร์ตในเมืองไทย และต้องการจะถ่ายมิวสิกวิดีโอ ทางค่าย SpicyDisc ที่เคยร่วมงานกับจีนจึงเสนอชื่อของเธอให้กับทางศิลปิน — ในที่สุดผลงานของเธอก็เข้าตาศิลปินในดวงใจ
“ตอนแรกจีนวางพล็อตให้พระเอกเป็นชาวฝรั่งเศส เจอสาวไทย และตกหลุมรักกัน มันเป็นการเดินทางครั้งใหม่ของทั้งคู่ แล้วพอถึงวันคอนเสิร์ตจีนก็ไปแชร์ไอเดียให้กับวง”
ด้วยความที่ชื่นชอบศิลปินวงนี้ จีนจึงอยากเห็นพวกเขาอยู่ในมิวสิกวิดีโอของเธอ — เธอเล่าให้เราฟังอย่างอารมณ์ดีว่าเธอตื๊ออยู่หลายรอบ แต่เขาไม่อยากมีตัวเองในเอ็มวีนี้จริงๆ เพราะเขาอยากได้อะไรที่ ‘ไทย’ มากๆ
“เขาชอบเอ็มวีไทย เพราะบอกว่ามันเป็นเหมือนเรื่องสั้น เกิดหลายๆ อย่างขึ้นในเพลงเดียว”
พล็อตที่ 2 ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องราวของผู้ชายที่อยู่ต่างจังหวัดและเข้ากรุงเทพฯ มาเริ่มชีวิตใหม่ แต่สุดท้ายก็อกหัก
แต่ซาเวียร์ (นักร้องนำ) ที่ร่วมแชร์ไอเดียกับจีนนั้นเล็งเห็นว่าตัวเขามีเสียงที่สูง ประกอบกันกับช่วงนั้นมีการใช้แฮชแท็ก #MeToo อย่างแพร่หลาย ซาเวียร์จึงอยากเปลี่ยนตัวละครจากผู้ชายให้เป็นผู้หญิง เพื่อเล่าเรื่องว่าถึงอดีตจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้ผู้หญิงคนนั้นได้เริ่มชีวิตใหม่แล้ว
จึงเกิดเป็นมิวสิกวิดีโอภาพฟุ้งๆ ประกอบจังหวะของเพลงฟังสบาย บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวกับเรื่องราวความรักในเมืองใหญ่ ถ่ายทำในสถานที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ทั้งสวนลุมฯ สะพานลอยบริเวณถนนวิทยุ ไปจนถึงรถไฟไทย และเรือด่วนเจ้าพระยา
นับว่าเป็นการดึงเสน่ห์ของเมืองไทยให้ออกมาผสานกับเรื่องราวความรักและความเจ็บปวด ด้วยภาพที่ให้กลิ่นของความเป็นตะวันตกอ่อนๆ ตามแบบฉบับของ จีน คำขวัญ อดีตแฟนคลับที่กลายมาเป็นผู้กำกับของศิลปินในดวงใจ
นอกจากนี้ เธอยังเล่าอีกหนึ่งเหตุการณ์ประทับใจ ในการทำงานกับอีกคนหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นศิลปินในดวงใจอย่าง ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ ผู้ให้อิสระในการทำงานกับเธอจนเกิดเป็นผลงานมิวสิกวิดีโอเพลง ดำสนิท
นี่คืออีกครั้งที่จีนเปิดสมุดสเกตช์ผลงานให้เราได้ดู หลังจากที่เธอเปิดโชว์ผลงานการออกแบบเสื้อผ้าเมื่อชั่วโมงก่อน
ภาพตรงหน้าคือแผนภูมิที่เธอแตกคำว่า ดำสนิท ออกมาเป็นคำต่างๆ ประกอบกับคำบอกเล่าในวันแรกที่เธอได้เข้าไปพบเจอกับศิลปินที่เธอชอบมาตลอดคนนี้
“มันเหมือนในหนังเลย เพราะภาพแรกที่เห็นคือตู้ปลายาวๆ มองออกไปเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา จีนเกร็งมาก เพราะพี่เล็กคือศิลปินที่จีนอยากทำเอ็มวีให้มากที่สุด”
จากคำว่า ดำ ขาว ดี เลว เกิด เด็ก ไข่ไก่ ถูกร้อยเรียงให้ออกมาเป็นมิวสิกวิดีโอ บอกเล่าเรื่องราวการอยู่ในสังคมที่ผู้คนถูกบีบบังคับและตัดสินว่าขาวคือดี ดำคือไม่ดี ประกอบกับภาพแอนิเมชัน แม้จีนจะไม่ได้เป็นคนวาดแอนิเมชันเอง แต่ลายเส้นชวนให้เรานึกถึงผลงานการออกแบบเสื้อผ้าเมื่อครั้งที่จีนยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย นั่นทำให้เราพบว่าลายเส้นยังคงถูกสรรค์สร้างและแต่งแต้มอยู่ในผลงานของจีนเสมอมา
จีนทิ้งท้ายให้เราว่า หากเธอได้ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน เด็กหญิงจีนคนนั้นคงกำลังยืนมองเธออยู่ด้วยรอยยิ้ม “จีนในตอนนั้นคงจะพูดว่า โห… ตัวโตจัง แล้วงานก็โตขึ้นด้วย”
ในอนาคตข้างหน้า จีนวาดฝันว่าจะไปหาแรงบันดาลใจที่ประเทศสเปน สำหรับสักวันหนึ่งที่เธอจะได้สร้างหนังขึ้นมาเองสักชิ้น
“ถ้าจีนได้ทำหนังชีวประวัติตัวเอง มันคงเป็นเรื่องราวของเด็กเงียบๆ ขี้อาย ไม่มีความมั่นใจและไม่ได้พอใจในตัวเอง” เธอว่าพร้อมรอยยิ้ม “แต่เด็กคนนี้อาจจะต้องการออกไปจากสิ่งที่สังคมคาดไว้ และเป็นเด็กที่ออกมาจากความเรียบง่าย ได้ลองหนีออกจากบ้าน และลองอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่…
“มันคงจะเป็นหนังสีฟ้า ที่เมื่อดำเนินมาถึงช่วงเติบโตแล้วจะมีสีสันมากขึ้น เพราะจีนเองก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะอยู่ตรงนี้ได้เหมือนกัน”
ติดตามชมผลงานภาพถ่ายของจีนได้ใน @afilmbykhamkwan
และผลงานภาพเคลื่อนไหวใน Vimeo