7 พฤศจิกายน 2018
61 K

ไม้ไผ่นั้นอยู่รอบตัวเรา

เรียกว่าถ้าหันไปมองรอบๆ ตัวเราจะเห็นไม้ไผ่อยู่เสมอๆ ทั้งอาหารการกินอย่างข้าวหลามจนถึงหน่อไม้ ถ้าเป็นข้าวของเครื่องใช้ก็มีทั้งกระด้ง กระจาด ตะกร้า กระติ๊บ หรือแม้แต่ของเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านก็ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากไม้ไผ่เช่นกัน อย่างไม้กวาด มู่ลี่ ถาดใส่ของ ด้ามแปรง และอื่นๆ อีกมากมายหลายร้อยสิ่ง

เรานั้นคุ้นเคยกับการเห็นไม้ไผ่เป็นของใช้ใกล้ตัวราคาถูกอยู่ตลอด

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

แต่ถ้าผมบอกว่ามีคนที่หยิบเอาไม้ไผ่และเทคนิคการผูกและมัดมาสร้างสรรค์จนเกิดเป็นผลงานศิลปะออกมาได้ด้วย และไม่ใช่เพียงแค่สร้างขึ้นมาได้เฉยๆ แต่กลับมีคนเห็นและให้คุณค่าในผลงานนั้น ขนาดว่าสถาปนิกชื่อดังระดับโลก โรงแรมรีสอร์ตระดับห้าดาวจากทั่วทุกมุมโลก ไปจนถึงห้างใหญ่แสนหรูหรา ต้องมาจ้างให้ออกแบบและผลิตให้ คุณจะเชื่อกันไหม?

กรกต อารมย์ดี คือชื่อของนักออกแบบคนนั้น ซึ่งเขาคุยสนุกและอารมณ์ดีไม่แพ้นามสกุลของเขาเลยแม้แต่น้อย

กรกตเกิดในครอบครัวชาวประมงที่บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี แต่ชอบจับพู่กันมากกว่าจับปลา เลยหันมาเรียนศิลปะและตัดสินใจจะประกอบอาชีพเป็นนักออกแบบ

กรกตออกแบบไม่เป็น ถึงขนาดที่เกือบจะถูกรีไทร์จากรั้วมหาวิทยาลัย ก่อนชีวิตจะพลิกผันให้หยิบจับเอางานฝีมือสร้างว่าวของก๋งมาประยุกต์ใช้ จนกลายมาเป็นนักออกแบบไทยที่มีคนต่างชาติยอมรับมากที่สุดคนหนึ่ง

กรกตชวนชาวประมงในชุมชนบ้านแหลมกว่า 40 ชีวิตให้มาช่วยทำงานจนมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

ถ้าการออกแบบคือวิชาที่เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุทั้งด้านความงามและการใช้งาน คำถามก็คือไม้ไผ่ธรรมดาๆ ผสมกับเทคนิคการทำว่าวที่เชื่อมไม้ไผ่แต่ละอันเข้าด้วยกันด้วยการผูกและมัดนั้นบินไปอวดความสวยงามให้คนอีกซีกโลกหนึ่งเห็นได้ยังไง นี่คือคำถามที่เราก็สงสัยไม่ต่างกับคุณ เราจึงอาสาไปหาคำตอบมาให้ที่โรงงานของเขา

และนี่คือเรื่องราวของตัวเขา ก๋ง ว่าว และไม้ไผ่ที่เจือด้วยกลิ่นลมทะเลจางๆ ริมทะเลบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

อยากให้ศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวัน

“อยากเห็นศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป” คือความฝันที่กรกตตอบหลังจากที่ผมถามถึงที่มาเรื่องความสนใจด้านศิลปะของเขา

ตั้งแต่เด็ก กรกตชอบศิลปะโดยเฉพาะการวาดภาพ วาดมาเรื่อยๆ เมื่อเขารู้ตัวอีกทีก็ได้มาเป็นตัวแทนระดับโรงเรียนในกิจกรรมด้านการวาดรูป ก่อนจะสอบเข้าเรียนภาควิชาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา สำเร็จ ในระหว่างที่เรียนเจ้าตัวยอมรับว่าชอบเรียนแต่วิชาที่เป็นเรื่องของศิลปะไทยพื้นบ้าน แทนที่จะเป็นวิชาด้านสุนทรียศาสตร์แขนงต่างๆ ยืนยันด้วยวิทยานิพนธ์ของเขาที่เลือกวาดภาพบรรดาคนไร้บ้านที่บางแสน

หลังจากเรียนจบเขาก็มาพบว่าตัวเองอยากจะพัฒนาต่อยอดงานศิลปะให้เป็นสินค้าที่มีฟังก์ชันการใช้งานเพื่อที่จะสามารถอยู่ในชีวิตประจำวันในสังคมได้ ก็เลยมาเรียนต่อปริญญาโทที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเน้นให้นักศึกษาสร้างงานศิลปะเพื่อตกแต่งและสร้างบรรยากาศภายในสถานที่ต่างๆ แม้จะสอบติดแต่ก็อยู่ในฐานะนักศึกษาทดลองเรียน ซึ่งแปลว่าถ้าเทอมแรกคะแนนไม่ถึงตามเกณฑ์ก็จะถูกรีไทร์และไม่ได้เรียนต่อทันที

“ผมยังใช้การวาดรูปทำงานต่อนี่แหละ ตอนนั้นก็เขียนแบบที่เราถนัด นั่นก็คือการวาดรูปคนไร้บ้านต่อ ซึ่งหลังจากเรียนไปได้สักพักอาจารย์ก็พูดว่า ถ้านายยังคงเขียนเรื่องชีวิตรันทดอยู่เนี่ย ใครมันจะเอาไปประดับบ้าน นายน่าจะเปลี่ยนลักษณะการทำงานไปในเชิงศิลปะที่ทำให้เห็นความดีงามของชีวิตบ้าง ผมเลยหันมาเขียนรูปชีวิตชาวประมง ซึ่งเป็นพื้นเพของทางบ้านแทน ผลตอบรับไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ยังพอรอดจากเทอมแรกมาได้”

พอมาถึงเทอมที่ 2 ตามหลักสูตรการเรียนก็มีวิชาออกแบบเพิ่มเข้ามาอีกด้วย กรกตก็รู้แล้วว่าการเขียนรูปไม่น่าจะช่วยให้เขาเรียนจนจบได้แน่ๆ และเขาไม่มีพื้นฐานการออกแบบแม้แต่นิดเดียว ในความกังวลนั้นทำให้เขาคิดถึงก๋ง หรือคุณตา ขึ้นมา คิดถึงสมัยเด็กๆ ที่ก๋งเป็นนักทำว่าวมือหนึ่งของย่านนั้น ตามประสาของชาวประมงที่ถึงเวลาหน้าลมมาก็จะทำว่าวไปแข่งกันทุกปี

การนึกถึงก๋งไม่เพียงทำให้เขารู้สึกสบายใจ แต่นึกไปถึงพื้นฐานการทำว่าวที่ก๋งเป็นคนสอนให้ด้วย ก่อนที่จะเกิดไอเดียและหยิบเอาพื้นฐานนั้นมาสร้างเป็นชิ้นงานไม้ไผ่แล้วเอาเข้ามาคุยกับทางอาจารย์ในคณะ ซึ่งอาจารย์ก็สนใจและบอกให้ลองทำรูปทรงให้หลากหลายมากกว่านี้

“ตอนนั้นนึกอะไรไม่ออก แต่นึกถึงก๋งขึ้นมาแล้วโคตรมีความสุขเลย ก็เลยทำออกมาใหญ่เลย ไปๆ มาๆ ก็ตกวิชาเพนติ้งที่เราเลือกเป็นวิชาหลัก ส่วนออกแบบไม้ไผ่ซึ่งเป็นวิชารองก็กลายมาเป็นวิชาหลักแทน คือภาควิชามัณฑนศิลป์ที่ศิลปากรมีพื้นฐานเริ่มต้นมาจากการสนับสนุนให้นักศึกษานำเอาศิลปะพื้นบ้านมาทำให้กลายเป็นงานศิลปะแบบร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นการปั้น ทอผ้า งานหัตถกรรมต่างๆ

“ซึ่งงานไม้ไผ่เนี่ยแทบไม่มีใครนำมาทำใหม่ให้โมเดิร์นเลย คณะอาจารย์เขาก็เลยสนใจและสนับสนุนให้ผมทำงานไม้ไผ่แทนการเขียนรูป อาจารย์เขาบอกว่าเด็กปีหนึ่ง ปริญญาตรี ที่เพิ่งเข้ามาเรียนที่ศิลปากรยังเขียนได้ดีกว่านายอีก นายไม่ต้องวาดรูปแล้ว วาดห่วยแตก ไปทำไม้ไผ่มาแทน” กรกตเล่าความหลังเจือเสียงหัวเราะ

ด้วยความที่เขาหันมาจับงานไม้ไผ่เอากลางเทอม ต่างกับเพื่อนๆ ในรุ่นที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ปิดเทอมนั้นกรกตจึงไม่ได้กลับบ้าน แต่ต้องขลุกทำงานไม้ไผ่ของเขาอยู่ในเวิร์กช็อปที่ทับแก้วตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงตี 3 ตลอดปิดเทอม เพื่อให้ทำงานตามเพื่อนๆ ทัน

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

เรื่องว่าวเรื่องใหญ่

กรกตเกิดในครอบครัวชาวประมง (บ้านของเขาทำอาชีพขายปลาหมึก) ด้วยความที่พื้นที่อยู่อาศัยอยู่ติดทะเลซึ่งง่ายต่อการเป็นสนิมของโลหะประเภทต่างๆ ทำให้ชาวประมงไม่สามารถใช้ตะปูในการสร้างส่ิงของต่างๆ ได้ ต้องใช้วัสดุธรรมชาติมาผูกและมัด ไม่ว่าจะเป็นอวนหรือที่ตากปลา ในเวลาที่ลมมรสุมเข้าจนไม่สามารถออกเรือไปหาปลาได้ ชาวประมงก็ใช้การผูกและมัดนี่แหละทำว่าวมาแข่งกัน เป็นเหมือนกีฬาและประเพณีของชาวเล

ในฐานะที่ผมไม่มีความรู้ด้านนี้เลย ผมถามกรกตว่า การขึ้นรูปไม้ไผ่ด้วยวิธีการมัดและผูกแบบการทำว่าวนี้มันต่างจากจักสานยังไงบ้าง

“รูปทรงจากการขึ้นรูปแบบว่าวที่ใช้การผูกและมัดทำให้ผมสามารถกำหนดรูปทรงของตัวงานได้อย่างอิสระผ่านจุดที่ใช้ผูก โดยสามารถให้ไม้ไผ่ดัดโค้งหรือเป็นเส้นตรงก็ได้ ต่างจากการสานที่เกิดจากการเอาวัสดุมาเรียงและขัดกันให้เกิดเป็นรูปทรง มันเหมือนเป็นการเชื่อมกันระหว่างเส้นตั้งและเส้นนอนผ่านการสร้างจุดต่างๆ ในชิ้นงาน พอเชื่อมจุดขึ้นมาแล้วมันก็เกิดเป็น Grid และสร้างรูปทรงที่แตกต่างจากการสานปกติ” กรกตอธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างของการทำรูปทรงแบบการทำว่าว

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

แต่ถึงแม้จะมีพื้นฐานการทำว่าวที่ก๋งสอนมา กรกตก็พบว่าตัวเขายังไม่มีความรู้และความเข้าใจเรื่องพื้นฐานของการทำว่าว จึงศึกษาด้วยตัวเองผ่านหนังสือหลายๆ เล่มอย่างตำราและกติกาการแข่งว่าวของพระยาภิรมย์ภักดี กฎกติกาการเล่นว่าวจุฬาปักเป้า ที่นอกจากจะสอนกติกาการเล่นว่าวแล้ว ยังบอกวิธีการและวัสดุการทำว่าวไปพร้อมๆ กับการทดลองทำ ตั้งแต่การเหลาไม้ไผ่เองไปจนถึงการผูกและมัดสร้างรูปทรงขึ้นมา และถ้ามีปัญหาที่ไม่รู้คำตอบจึงค่อยไปถามก๋งดูอีกที ซึ่งว่าวตัวบางๆ ที่ลอยอยู่บนท้องฟ้านั้นแท้จริงแล้วเต็มไปด้วยรายละเอียดและเทคนิคมากมายที่ถ้าไม่ได้ลงมือทำเองก็คงจะไม่มีทางรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็น

ไม้ไผ่

กรกตเล่าให้ฟังว่าไม้ไผ่ที่ดีที่สุดและเหมาะกับการใช้งานก็คือ ไม้ไผ่จากไผ่สีสุกที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป โดยให้ใช้ไม้ไผ่ที่อยู่ตรงกลางของลำปล้อง สูงเหนือจากพื้นขึ้นไป 3 เมตร ใช้เฉพาะผิวไม้ไผ่เท่านั้น เพราะผิวคือส่วนที่มีเส้นใยเยอะที่สุด ต่างกับตัวท้องไม้ไผ่ที่มีแป้งกับน้ำตาลเยอะกว่าจึงดึงดูดแมลงมากิน และช่วงเวลาในการตัดคือช่วงเดือนสองหรือเดือนสาม เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีฝนมาสักพัก ทำให้ไม้ไผ่แห้งและสปริงตัวได้ดี ซึ่งแต่ละท้องถิ่นที่ทำว่าวจะมีวิธีการใช้ไม้ไผ่มาทำว่าวแตกต่างกัน อย่างของก๋งกรกตนั้นผิวไม้ไผ่จะอยู่ด้านบนของตัวว่าว แต่ทางปทุมธานีผิวจะอยู่ทางด้านหน้า ของทางภาคใต้ผิวไผ่จะอยู่ด้านล่างแทน

กรตกยังเล่าให้ฟังต่อว่า ไม้ไผ่ชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไผ่ตง ไผ่นวล ไผ่ป่า ไม้รวกนั้น ต่างก็มีเส้นใยที่แตกต่างกันทั้งหมด การที่เขาเลือกไผ่สีสุกมาใช้ทำงานนั้นไม่ได้แปลว่าไผ่ชนิดอื่นนั้นไม่ดี แต่เพราะมันเหมาะกับการใช้งานแบบอื่นมากกว่า อย่างไม้รวกก็เก่งในการเอามาปักทำรั้วมากกว่า เพราะพอเราใช้ทั้งลำ ลักษณะผิวเรียบมันของไม้รวกจะช่วยปกป้องน้ำจากเนื้อไม้ได้ดี ทำให้ทำรั้วอยู่ได้คงทนกว่า

เชือก

แม้แต่เชือกที่ใช้ผูกและมัดก็ยังสำคัญ กรกตพบว่าเชือกที่ใช้ในการผูกและมัดทำว่าวก็คือ ป่านด้ายดิบ ซึ่งเป็นเส้นใยดั้งเดิมที่ชาวประมงเอาไว้ใช้ในการอุดเรือรั่วด้วย ป่านด้ายดิบนั้นทำมาจากป่านสายพันธุ์รามีที่ซึ่งมีที่มาจากแถวอีสาน ก่อนจะนำมาควั่นเป็นเชือกในหมู่บ้านมุสลิมที่บางขุนไทร ราชบุรี แล้วต้มเชือกป่านด้ายดิบนี้กับรากต้นแสมและโกงกางที่เป็นภูมิปัญญาของชาวประมง เพราะยางของทั้งสองต้นนี้จะช่วยทำให้เชือกมีความเหนียวและทนมากขึ้น ก่อนจะเคลือบผิวด้านนอกของเชือกด้วยกาวหนังควายอีกรอบเพื่อให้แข็งแรงและทนทานมากขึ้น

การผูกและมัด

กรกตบอกว่า ก๋งมักจะสอนเขาเสมอๆ ว่าการทำว่าวมักจะใช้การผูกเงื่อนของตัวเองที่ไม่เหมือนการผูกสิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นเงื่อน กระตุกเบ็ด ผูกแป หักคอไก่ แล้วตำแหน่งในการผูกก็สำคัญเช่นกัน เพื่อที่จะทำให้ชิ้นงานแข็งแรงและคงทน

การดัดโค้งไม้ไผ่

หลังจากทดลองทำงานอยู่เดือนหนึ่ง กรกตก็เจอปัญหาว่าไม่สามารถดัดไม้ไผ่ให้เป็นทรงโค้งตามที่ต้องการได้ เลยลองใช้เทคนิคการอบไอน้ำแบบการดัดหวายมาใช้แต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อมาปรึกษาก๋งเลยถูกสอนว่า การจะดัดไม้ไผ่ต้องใช้น้ำตาลโตนดช่วยดัด เพราะน้ำตาลมีจุดเดือดที่สูงกว่าน้ำและซึมเข้าไปในข้อไม้ไผ่ได้ดี เมื่อเอาไปผ่านความร้อนจะดัดโค้งได้ง่าย ซึ่งก็ต้องเหลาไผ่ให้แบนและบางกว่าปกติหน่อยเพื่อไม่ให้เส้นใยด้านในที่แข็งกว่าดันด้านนอกจนหักหรือแตกได้

จบการศึกษา

หลังจากกรกตใช้เวลา 2 เดือนช่วงปิดเทอมทดลองทำไม้ไผ่เป็นทรงต่างๆ เช่นสัตว์ และสิ่งของรอบๆ ตัวอย่างดอกกุหลาบ กระเทียม มะรุม ถั่วเขียว มะขามเทศ มะกอก ไข่กบ ออกมาจำนวนมาก เพื่อฝึกฝีมือให้ชำนาญ เพราะกรกตเชื่อว่าพื้นฐานของการทำงานศิลปะคือเรียนรู้ด้วยการปฎิบัติ ซึ่งพอทำไปมากๆ ก็เกิดความชำนาญและเกิดความเข้าใจจนมองเห็นรูปทรงทุกอย่างเป็นโครงสร้างของไม้ไผ่ได้เลย หลังจากการส่งงานเหล่าอาจารย์ กรกตจึงผ่านการสอบและได้เรียนต่อจนเข้าสู่การทำวิทยานิพนธ์

“โจทย์การทำวิทยานิพนธ์ของคณะนี้ก็คือ การไปหาไซต์แล้วเอางานศิลปะของเราไปตั้งในพื้นที่นั้นๆ เพื่อส่งเสริมด้านความสวยงามและความรู้สึกที่มีในสถานที่นั้นๆ ผมก็เลือกไซต์โครงการเป็นโรงแรมแห่งหนึ่งในหัวหิน และด้วยความที่หัวหินเป็นเมืองหอย ผมเลยเลือกหยิบเอารูปทรงของหอยต่างๆ ดอกไม้ และผลไม้ มาทำเป็นประติมากรรมไม้ไผ่ ผมอยากให้ประติมากรรมนี้ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย แก่ผู้มาพัก ด้านนอกโครงสร้างจะต้องให้ความรู้สึกมั่นคงแข็งแรงเลยเลือกใช้ไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่กว่าด้านใน เพื่อให้เกิดคอนทราสต์ระหว่างเส้นสาย รวมไปถึงเลือกใช้ผิวไผ่หลายๆ แบบ ทั้งแบบกลมและแบบแบน”

จากการใช้ไม้ไผ่ขนาดแตกต่างกันทำให้กรกตค้นพบเทคนิคใหม่ในการทำงาน ด้วยขนาดของไม้ไผ่ที่ไม่เท่ากันนี้เองทำให้เกิดการบิดของรูปทรงจนกลายมาเป็นเส้นโค้ง เกิดเป็นความพลิ้วและนุ่มนวลขึ้นมา และผลงานนี้ก็ทำให้กรกตจบการศึกษาระดับปริญญาโทในที่สุด

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

ว่าวที่ลอยสู่ยุโรป

หลังจากเรียนจบกรกตก็ส่งผลงานประติมากรรมไม้ไผ่ที่เป็นวิทยานิพนธ์เข้าร่วมการประกวดหลายโครงการทั่วประเทศ อย่างเช่นโครงการ OTOP ซึ่งก็มีที่ชนะรางวัลใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ก่อนโลกความจริงจะพาให้กรกตนำประติมากรรมไม้ไผ่ของเขามาดัดแปลงเป็นโคมไฟและนำไปตั้งวางขายอยู่ที่จตุจักร หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ก็คงคิดว่าผลงานของเขาจะต้องขายดีและสร้างแบรนด์ขึ้นจากที่นี่-แต่ตัดภาพมา โคมไฟของเขาขายไม่ออกเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

“ตอนนั้นไม่รู้จะทำยังไงต่อก็เลยไปวางขายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 800 บาท ซึ่งขายไม่ออกเลย (หัวเราะ) ทีนี้มีรุ่นพี่คนหนึ่งมาชวนว่าจะมีงานสัมมนาเกษตรก้าวหน้า อยากให้เอางานมาตั้งแสดงหน่อย ผมก็เอาไปวางตั้งไว้ ปรากฎว่ามีผู้ใหญ่ที่มาเห็นงานแล้วขอซื้อไปหมดเลยทุกชิ้น โดยซื้อในราคาหลายพันด้วย ตอนนั้นเราก็คิดแล้วว่าจตุจักรเนี่ยไม่ใช่ตลาดของเรา เราก็ต้องเปลี่ยนตลาดของเราแทน”

กรกต อารมย์ดี

หลังจากนั้นไม่นาน กรกตได้ยินเรื่องกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะจัดประกวดผลงานเพื่อหานักออกแบบไปแสดงงานที่ประเทศฝรั่งเศสในงาน MAISON&OBJET ซึ่งถือเป็นงานเทรดโชว์แสดงสินค้าดีไซน์ที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของยุโรปและของโลก ก็เลยเอาประติมากรรมไม้ไผ่และโคมไฟส่งเข้าประกวดอีกครั้ง

“เหมือนส่งวิทยานิพนธ์อีกครั้ง” กรกตบอกความรู้สึกตอนนั้น “กรรมการนั่งเรียงกันเป็นแถวเลยนะ มีทั้ง ผอ. กรม นักออกแบบรุ่นใหญ่ ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน ไปจนถึงผู้จัดงานจากฝรั่งเศสด้วย ซึ่งพอถึงตอนที่ต้องนำเสนองานก็ขึ้นมาอธิบายแนวคิดของชิ้นงานให้คณะกรรมการฟัง และความฝันที่ผมอยากจะช่วยชาวประมงในชุมชนให้มีงานและรายได้ หลังจากเกิดภาวะน้ำมันแพงจนชาวประมงไม่สามารถออกเรือไปจับปลาได้ ซึ่งถ้าได้ไปแสดงงานที่ฝรั่งเศสแล้วมีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามา ก็จะสอนและถ่ายทอดวิธีการสร้างงานให้ชาวประมงพื้นบ้านในละแวกนั้นมีอาชีพใหม่ขึ้นมาได้”

ซึ่งกรกตก็ได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงงานที่ฝรั่งเศสจริงๆ ทำให้เขาทั้งดีใจและกลุ้มใจไปในเวลาเดียวกัน เพราะไม่รู้เลยว่าจะต้องเตรียมงานแบบไหนไปจัดแสดงให้เหมาะสม

“การได้ไปฝรั่งเศสทำให้เราต้องทำการบ้านอย่างหนัก ผมก็เลยเข้าไปหา พี่สุวรรณ คงขุนเทียน (นักออกแบบชั้นนำของไทย ผู้เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินการหานักออกแบบไปฝรั่งเศสในตอนนั้นด้วย) แกก็แนะนำให้ไปเปิดดูหนังสือและแมกกาซีน ให้เห็นว่าเขาอยู่กันยังไง มีชีวิตยังไง ใช้สินค้าอะไรในชีวิตบ้าง เราก็ไปเปิดดูทั้งหมด ศึกษาและทำการบ้านเสร็จก็มาคิดว่าจะทำของแบบไหนไปขาย”

แต่เพราะลงเงินไปกับการทำสินค้าใหม่เพื่อไปแสดงงาน กรกตจึงเหลือเงินติดตัวไปฝรั่งเศสเพียงแค่ 5,000 บาทเท่านั้น เพียงแค่วันแรกที่ไปถึงกรกตก็ใช้เงินทั้งหมดไปแล้ว ผมถามเจ้าตัวว่า แล้วทำไมถึงเอาเงินมาน้อยเหลือเกิน แกก็บอกว่างานที่ทำมามันน่าจะพอขายได้บ้างแหละ

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

“พอถึงวันจัดงานผมก็ลงมากินข้าวเช้าที่โรงแรมซึ่งเป็นแบบบุฟเฟต์ แล้วแอบหยิบขนมปังอะไรติดมือมาด้วยเผื่อว่าขายงานไม่ได้จะได้มีข้าวกิน (ฮา) พอไปถึงที่จัดงานก็ตกใจ เพราะมีคนมาเข้าแถวต่อกันยาวเลย มีทั้งเจ้าของโรงแรม สถาปนิก นักออกแบบภายใน ไปจนถึงมีสื่อมารอสัมภาษณ์ด้วย งานทั้งหมดที่เตรียมไปขายหมดตั้งแต่ครึ่งวันแรก และมีคนมาพูดคุยเพราะสนใจงานที่เราทำ บางคนมาติดต่อขอสั่งซื้อในปริมาณมหาศาลด้วย แต่ผมไม่สามารถรับยอดสั่งซื้อนั้นได้เพราะไม่มีกำลังผลิต สรุปว่าคุยกับคนทั้งวันจนจบงาน ไม่ได้กินครัวซองต์ที่แอบห่อมา (ฮา)”

หลังกลับมาจากฝรั่งเศส กรกตเก็บเงินที่ได้จากการขายของมาจ้างชาวบ้านละแวกนั้นให้มาช่วยทำงานอีก 8 คนแม้จะยังไม่ได้ยอดสั่งซื้อใดๆ จากฝรั่งเศสก็ตาม แล้วจะจ้างคนเยอะขนาดนั้นไปทำไม ผมสงสัย

“มันเป็นทางออกให้กับตัวผมในอนาคต การเก็บเงินที่ขายงานได้มาจ้างคนเพื่อทำงานใหม่ๆ ไว้ออกแสดงงาน BIG+BIH (งานเทรดโชว์ของบ้านเราที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) ที่จะจัดในช่วงปลายปี ทำให้มีผลงานออกมาต่อเนื่อง ลูกค้าจะได้เห็นภาพรวมของแบรนด์ คนที่รู้จักเราแล้วเขาก็จะมาดูความคืบหน้าของเราด้วยว่าไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วเลิก เหมือนเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า”

ซึ่งหลังจากที่ไปออกงาน BIG+BIH แล้ว ลูกค้าจากฝรั่งเศสก็ตามมาหาและเจองานใหม่ๆ ทำให้เกิดการซื้อขายเกิดขึ้น และผลงานของกรกตก็เริ่มได้ออกเดินทางข้ามโลกไปอยู่ตามร้านขายของแต่งบ้าน โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ โรงแรมหรูต่างๆ นับตั้งแต่นั้นมา

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

มัณฑนากรมือใหม่

ผมถามกรกตถึงงานที่ทำให้เขาได้มาทำงานออกแบบในพื้นที่กับเหล่าสถาปนิกอย่างเต็มตัว เพราะจากการไปออกงานแสดงสินค้าก็มักจะทำได้แค่ขายของเพียงอย่างเดียว

“ในช่วงแรกๆ แบรนด์เราทำโปรดักต์ไปขายเพื่อหาเงินมาหมุนเวียน สร้างคน สร้างงานก่อน เราไม่สามารถทำงานโปรเจกต์ศิลปะได้โดยตรง แต่พอเริ่มมีคนชวนไปทำแล้วได้ออกสื่อบ้างก็เริ่มมีคนรู้จักและชวนมาทำงานมัณฑนศิลป์ในพื้นที่อย่างเต็มตัว อย่างตอนนั้นผมมีโอกาสได้รู้จักคุณอังกูร แกเป็นสถาปนิกที่เปิดร้านขายสินค้าดีไซน์อยู่ที่นิวยอร์ก (ในปัจจุบันไม่มีแล้ว) ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงงาน New York Fashion Week ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ร้านค้าต่างๆ จะประดับตกแต่งร้านตัวเองให้โดดเด่นรับงานแฟชั่นวีก แกเลยติดต่อมาให้ผมผลิตชิ้นงานให้ โดยให้ออกแบบเหมือนเป็นงานศิลปะเลย

“ผมทำงานและส่งงานไป สักพักทางนั้นก็ติดต่อมาให้เดินทางไปที่นิวยอร์ก เพราะว่างานมันชิ้นใหญ่เกินไปจนเอาเข้าประตูไม่ได้ ผมก็ตกใจและรีบเดินทางไป พอไปถึงที่ก็เจอแกบอกว่า แกให้คนตัดประตูร้านเอาชิ้นงานไปจัดแสดงแล้ว ที่เรียกมาคืออยากให้เซอร์ไพรส์ และก็เซอร์ไพรส์จริงๆ เพราะงานทุกชิ้นที่จัดแสดงขายได้หมดเลย ทีนี้ก็เลยเริ่มมีโปรเจกต์เกี่ยวกับงานศิลปะเข้ามามากขึ้น โดยเริ่มต้นที่โรงแรมหลายๆ แห่งทั้งในไทยและที่อื่น และก็เริ่มมีงานในห้างสรรพสินค้าด้วย” กรกตเล่าถึงการแสดงงานศิลปะครั้งแรกอย่างสนุก

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

แล้วความต่างจากการทำสินค้ามาสู่การตกแต่งในโรงแรมมันแตกต่างกันยังไงบ้าง ผมสงสัย

“ต่างครับ หลักๆ คือทางสถาปนิกเขาจะกำหนดกรอบการทำงานมาให้เรา อย่างโปรเจกต์โรงแรมเขาจะบอกเรามาว่ามีพื้นที่ว่างขนาดเท่านี้ ขอโคมไฟขนาดเท่านี้ เราก็ทำแบบไปให้ดูก่อนจะเริ่มขึ้นตัวงาน ซึ่งพอตัวชิ้นงานมันจะต้องไปอยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ขนาดของชิ้นงานมันก็ต้องใหญ่ขึ้น อย่างพวกโคมไฟในโรงแรมที่ทำอยู่นี่ก็กว้าง 2 เมตร ลึกครึ่งเมตร ยาว 4 เมตร

พอมันใหญ่ขึ้นโครงสร้างด้านในก็ต้องแข็งแรงขึ้นเช่นกัน แล้วบางครั้งยังต้องติดตั้งด้วยการแขวนลอยๆ ไว้อีก เราก็ต้องมาคิดทำโครงสร้างจากโลหะ และหาจุดแขวนที่แขวนแล้วได้สมดุลมั่นคงด้วย เพื่อให้มันตอบโจทย์ อีกส่วนที่สำคัญคือการขนส่ง เพราะงานที่ทำเป็นเส้นใยธรรมชาติที่ไม่ได้แข็งแรง จึงจำเป็นต้องห่อให้แน่นหนาและแข็งแรง ทนต่อการขนส่งให้ได้ และขนาดที่ใหญ่ที่สุดที่จะเข้าไปอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ได้ บางทีก็พูดกันเล่นๆ ว่าเราต้องวัดตั้งแต่ประตูบ้านเราไปจนถึงประตูบ้านลูกค้าเลย” กรกตอธิบาย

กรกต อารมย์ดี

“แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการวางแผนการทำงาน ว่าออกแบบงานแบบนี้จะเริ่มขึ้นงานยังไง แบ่งคนมาทำมากน้อยแค่ไหน เริ่มมีการวางไทม์ไลน์ในการทำงาน จากที่เราเป็นนักออกแบบก็เริ่มต้องหันมาเรียนรู้การวางแผนงานด้วย เพื่อให้สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการของลูกค้า”

กรกตยังเล่าให้ฟังอีกด้วยว่า ระยะหลังเริ่มรับงานตกแต่งห้างสรรพสินค้าเพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นโจทย์ที่ใหม่และถือว่าทำให้เขาได้เรียนรู้อีกเยอะ เพราะในโรงแรมสเปซมันสามารถรองรับการออกแบบที่หรูหราของชิ้นงานได้หมด แต่พอเป็นห้างสรรพสินค้า การตกแต่งจุดต่างๆ มันควรจะสวยแบบพอดีๆ ไม่โดดเด่นเกินกว่าตัวร้านค้า

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

จากว่าวสู่เครื่องเรือน

นอกจากการทำสินค้าอย่างโคมไฟหรือแอคเซสเซอรี่อย่างพวกถาดใส่ของแล้ว กรกตยังทำเฟอร์นิเจอร์ด้วย ซึ่งมีที่มาเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว

“เริ่มต้นประมาณเมื่อ 6 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นคือตอนนั้นเราทำงานโปรเจกต์เป็นหลัก ซึ่งก็ทำชิ้นงานตกแต่งและโคมไฟ จนคิดว่าอยากขยับขยายออกไปทำอย่างอื่นบ้าง ก็เลยออกมาเป็นชุดโต๊ะและเก้าอี้กินข้าว โดยใช้โครงสร้างโลหะเพื่อให้แข็งแรงมากขึ้นมาผสมกับวิธีการขึ้นรูปด้วยการผูก การมัด เหมือนเดิม”

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ

กรกตเล่าให้ฟังว่า งานอีเวนต์ของศูนย์ศิลปาชีพนี้เป็นงานที่ท้าทายการทำงานของเขามากๆ งานหนึ่งเลย

“ผมอยากจะสร้างพาวิลเลียนอันใหญ่จากไม้ไผ่สำหรับทำเวิร์กช็อปในงานของศูนย์ศิลปาชีพ คือผมเคยไปเดินสะพานข้ามแม่น้ำแซนที่ปารีส แล้วเห็นโครงสร้างสะพานแบบที่ไม่มีเสาตรงกลาง เลยคิดอยากจะใช้โครงสร้างแบบนี้แต่ทำด้วยไม้ไผ่ ซึ่งจำเป็นต้องทำเป็นทรงคันธนู และไม้ไผ่เป็นวัสดุที่มีศักยภาพจะทำได้ แต่ด้วยทุนและระยะเวลาที่จำกัดเลยต้องเปลี่ยนมาใช้เป็นโครงสร้างเหล็กแทน แต่ตัวชิ้นงานไม้ไผ่ที่ประดับในตัวศาลานั้นก็ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่มากๆ ที่เคยทำมา”

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

สถาปัตยกรรมแบบกรกต

“นี่คืองานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมเคยทำมาเลย คือเป็นการทำทั้งโรงแรมเลยจริงๆ และทำกันเองแค่ตัวผมกับเพื่อนอีก 3 คน คอนเซปต์คือการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งแม่กลอง อัมพวา บ้านแหลม มาผสมผสานกันและสร้างโรงแรมทั้งโรงแรมขึ้นมา โดยแสดงออกผ่านทั้งตัวสถาปัตยกรรมอย่างอาคารที่มีรูปทรงมาจากดอกกุหลาบ ไปจนถึงการตกแต่งด้านในอาคารที่มีการหยิบเอาลวดลายคลื่นของแม่น้ำมาทำให้เป็นชิ้นงานไปจนถึงปลาทูที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่กลอง และควายซึ่งเป็นสัตว์ที่ผู้ก่อตั้งหนึ่งคนเลี้ยงไว้และชอบมาก

“ซึ่งการตกแต่งด้านในเนี่ยก็มีตั้งแต่การวางไว้ที่พื้น ตามผนัง ไปจนถึงห้อยลงมาจากตัวโครงสร้าง ซึ่งความยากที่สุดของการทำโรงแรมนี้ก็คืองานชิ้นที่เราเคยทำเป็นโคมไฟๆ เล็กๆ พอมันถูกขยายให้ขึ้นมาเป็นอาคารขนาดใหญ่ ด้านในของตัวโครงสร้างจึงต้องมีการเก็บรายละเอียดที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก”

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

แล้วสิ่งที่ผมกับเพื่อนทำก็ไม่ได้มีแค่ตัวอาคารเท่านั้น คือเราทำกันทั้งโรงแรมตั้งแต่เริ่มต้นเลยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางแปลนของทั้งโครงการ คิดรูปแบบของอาคาร รูปแบบของร้านกาแฟ ร้านอาหาร การตกแต่ง ศึกษาภูมิทัศน์ มีการไปปรึกษาขอความรู้จากทั้งวิศวกร นายช่าง และทางเขต เรียนรู้เรื่องการทำเขื่อนริมแม่น้ำ ฐานราก ระบบน้ำใช้ ระบบสุขาภิบาล จนถึงระบบไฟฟ้าทั้งหมดของทั้งโครงการ” กรกตเล่าถึงอย่างออกรส

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

แสงอาทิตย์เริ่มอ่อนลงใกล้ถึงเวลาที่ต้องเดินทางกลับ หลังจากที่กรกตพาผมเดินดูทั้งโรงงานของเขาแล้ว ผมถามกรกตว่าจากที่ตอนแรกสุดเลือกเรียนศิลปะเพราะอยากให้ศิลปะอยู่ในวิถีชีวิตของคน หลังจากที่ทำงานศิลปะเป็นอาชีพมาร่วมสิบปีแล้วได้ทำให้ศิลปะไปอยู่ในชีวิตคนรึยัง

“ก๋งได้ให้สมบัติอันล้ำค่ากับผมมาแล้วซึ่งคือการผูกมัดไม้ไผ่นี้ ผมก็ดีใจที่ยังรักษาสมบัตินี้ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปโดยที่มันเข้าไปอยู่กับวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันนี้ได้ นอกจากนี้ มันยังช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านในละแวกนี้ให้เขามีชีวิต ไม่ไปติดยาเสพติด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ จนคุณลุงคุณป้าที่เป็นคนเตรียมไม้ไผ่ให้เราเนี่ยมีเงินเหลือจนเอาไปทำบุญได้ด้วยนะ

“ผมเชื่อว่าถ้าบรรดานักออกแบบกลับบ้านกันไปเยอะๆ เนี่ย มันจะช่วยชีวิตคนได้เยอะเลย เพราะจากวัสดุที่ไม่มีคุณค่าอะไรเลยอย่างไม้ไผ่ เมื่อมาเจอกับการออกแบบมันเลยมีมูลค่าขึ้นมาได้ ไม้ท่อนละไม่กี่สิบบาทเมื่อเจอกับการออกแบบมันก็กลายมาเป็น 8,000 บาทได้ และนั่นจะช่วยให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเยอะเลย” กรกตทิ้งท้าย ทำให้ผมรู้ว่านอกจากฝีมือการทำไม้ไผ่ที่เด็ดขาดแล้ว ความคิดความอ่านของเขานั้นก็งดงามและคมคายไม่แพ้กันเลย

กรกต อารมย์ดี
กรกต อารมย์ดี

ขอบคุณ กรกต อารมย์ดี

ห้างหุ้นส่วนจำกัด กรกต อินเตอร์เนชั่นนอล

335 หมู่ 10 ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76110

https://www.facebook.com/Korakot-aromdee-Design-132119313537418/

http://www.korakot.net/

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan