“แม่จ๋า…แม่จ๋า…”
นกกระตั้วสีขาวหงอนเหลืองแผดเสียงดังทักทายจากบนคอนขณะที่ผู้เขียนเดินผ่าน บนหน้าอกของมันมีขนอ่อนขึ้นเป็นหย่อม ๆ ทำให้รู้ว่าก่อนหน้านี้คงมีบางสิ่งเกิดขึ้น
“สัตว์ตระกูลนกแก้วเป็นสัตว์สังคม ถ้าเขาไม่มีเพื่อน เจ้าของไม่มีเวลาอยู่กับเขา เขาจะเครียดแล้วทำร้ายร่างกายด้วยการถอนขนตัวเอง บางทีก็ส่งเสียงดังเรียกร้องความสนใจ พอเจ้าของรำคาญก็มาดุให้เงียบ นกก็คิดว่าดีที่มีคนสนใจคุยด้วย จึงยิ่งส่งเสียงดังมากขึ้นและกลายเป็นปัญหาถาวร”
พิสิษฐ์ ณ พัทลุง ผู้ก่อตั้ง ‘สวนสัตว์เพื่อนเดรัจฉาน’ เล่าถึงที่มาของนกกระตั้ว เจ้านกย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ 3 ปีแล้ว ท่ามกลางผู้เข้าชมที่เดินผ่านไปมาและเพื่อนนกแก้วตัวอื่น การทำร้ายตัวเองจากความโดดเดี่ยวของเขาก็ลดลง ขนที่หน้าอกก็ค่อย ๆ ขึ้นกลับมา
และเช่นเดียวกับนกแก้วปีกหักซึ่งหมดโอกาสบินตลอดชีวิตที่อยู่ใกล้ ๆ กัน รวมทั้งเต่า งู จระเข้ กิ้งก่า ลิง หนู กบ นก กระต่าย แมว และสัตว์อีกหลายตัวที่อยู่ที่นี่ ทุกตัวต่างเคยเป็นที่ต้องการของใครบางคน แต่ในวันหนึ่งเมื่อเจ้าของไม่อาจดูแลต่อได้ไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม สวนสัตว์เพื่อนเดรัจฉานก็กลายเป็นทั้งบ้านพักพิงชั่วคราวและบ้านถาวรของพวกเขา
คนรักสัตว์
ลูกเต่าตัวหนึ่งนอนหงายท้องอยู่ใต้ถุนบ้านเด็กชายพิสิษฐ์ในวัย 3 ขวบ ไม่เคยเห็นสัตว์มาก่อน ยังไม่รู้ว่าสิ่งตรงหน้านั้นคืออะไร ก็โวยวายเรียกคนมาดู คนก็มาช่วยกันจับเต่าคว่ำแล้วเอาเขาไปปล่อยน้ำ
“ตั้งแต่วันนั้นมา เราเห็นสัตว์ไม่ได้เลย รังนกกระจาบที่ห้อยตามต้นไม้ คนเขาบอกว่าข้างในมีนก ผมเลยไปหารังมาแขวนที่บ้านแล้วก็ดูทุกวัน แขวนไว้เป็นปีไม่เห็นมีนกออกมาสักตัว ก็คิดว่าทําไมผู้ใหญ่โกหก”
ความหลงใหลในสัตว์ทำให้พิสิษฐ์ซึ่งเรียนอยู่โรงเรียนประจำใกล้สวนสัตว์เขาดินในสมัยนั้น แอบหนีเรียนแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมเพื่อนเดรัจฉานอยู่บ่อย ๆ จนเจ้าหน้าที่ยอมให้เขาเข้าฟรี ในตู้เสื้อผ้าในโรงเรียนก็มักมีกระรอก นก ปลากัด ไปยันงู ผลัดเปลี่ยนกันอยู่ในนั้น ทั้งที่โรงเรียนมีกฎห้ามเลี้ยงสัตว์ เขายังเอาค่าขนมมาซื้อหนังสือ นิยมไพรสมาคม นิตยสารยุคบุกเบิกว่าด้วยธรรมชาติของสัตว์ป่า ตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ และยังคงเก็บรักษามาจนปัจจุบัน
เมื่อไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา คุณพิสิษฐ์ลงเรียนคอร์สเสริมหลักสูตรเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ และไปเยือนทุกสถานที่ที่มีสัตว์ให้ดู โดยเฉพาะสวนสัตว์ ตลาดขายสัตว์ แหล่งชุมนุมคนรักสัตว์ ในหลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา
“สวนสัตว์ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้วถือว่าดีเลย เพราะเขาใช้เทคโนโลยีซึ่งบ้านเราไม่ได้ลงทุน สัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์เขามีมูลค่าสูงมาก เพราะต้องนำเข้าจากที่ห่างไกลทั่วโลก เพราะฉะนั้น เขาต้องดูแลสุดชีวิต เขาทําอะไรก็ทําใหญ่โตเพราะมีเงิน มีความรู้ มีความพร้อม เราเป็นคนต่างชาติ พอไปถามเขาก็กุลีกุจอรีบตอบ สิ่งที่เราเห็นเลยเป็นประโยชน์มาก”
จากความชื่นชอบนิตยสาร นิยมไพรสมาคม และคุ้นชินกับชื่อบรรณาธิการบนปกหนังสืออย่าง นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล แม้จะกลับเมืองไทยมาทำงานในบริษัทเอกชนแล้ว แต่พิสิษฐ์ก็ยังรู้สึกโหยหาการได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับสัตว์ จึงตัดสินใจว่า หากอยากทำก็ต้องไปทำความรู้จักนายแพทย์ผู้นี้ โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าท่านคือผู้ผลักดันให้เกิดอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของไทย
เขาหาข้อมูลแล้วเข้าไปพบคุณหมอที่บ้านแถวตรอกโรงภาษีเก่า เมื่อ พ.ศ. 2517 เพื่อขอเป็นอาสาสมัคร ทำงานแปลเอกสารบ้าง เดินทางเข้าป่าไปด้วยกันบ้าง ต่อสู้คัดค้านโครงการรัฐที่ส่งผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติบ้าง หลังจากนั้น นพ.บุญส่ง คุณพิสิษฐ์ และคณะกรรมการอีกจำนวนหนึ่ง จึงร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยขึ้นใน พ.ศ. 2526 โดยมี นพ.บุญส่ง เลขะกุล เป็นประธานกรรมการ ดำเนินงานอนุรักษ์ธรรมชาติป่าไม้ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม จนถึงวันที่คุณหมอทำงานต่อไม่ได้ คุณพิสิษฐ์และคณะกรรมการก็ได้สานต่องานของมูลนิธิฯ มาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับการทำงานในฐานะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และต่อมาเมื่อคุณพิสิษฐ์ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ฯ เขาก็มาทําเรื่องสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตสัตว์เป็นหลัก
“เราต้องดูว่าเป็นสัตว์ชนิดไหน น้ำหนักเท่าไร เป็นสัตว์กลางวันหรือสัตว์กลางคืน กินอะไร นอนในรูหรือนอนบนต้นไม้ ธรรมชาติต้องอยู่เป็นคู่มั้ย หรือบางตัวอยู่ใกล้กันไม่ได้ ถ้าจะเลี้ยงสัตว์แอฟริกาต้องรู้ว่าแอฟริกาเป็นยังไง จะเลี้ยงสัตว์ออสเตรเลียก็ต้องเข้าใจระบบนิเวศของทวีปออสเตรเลีย
“ต้องเลิกความคิดที่ว่าสวนสัตว์ แท้จริงแล้วสวนสัตว์คือโชว์รูมธรรมชาติ ต้องเคารพสัตว์ว่าพวกมันสําคัญต่อโลกอย่างไร เจ้าหน้าที่ในสวนสัตว์ไม่ได้มีหน้าที่เพียงเก็บกวาดหรือดูแล แต่ต้องศึกษาว่าพวกมันใช้ชีวิตในธรรมชาติจริง ๆ อย่างไร” พิสิษฐ์เล่าแนวคิดที่นำมาใช้ออกแบบสวนสัตว์เพื่อนเดรัจฉานให้ฟัง
วิมานเดรัจฉาน
“กู้ภัยจับงูมาได้ก็เอามาให้ คนขับรถชนสัตว์ก็อุ้มมาที่นี่ คนไปเจอสัตว์กําลังจะโดนกินแล้วสงสาร เลยซื้อต่อมาแต่ไม่รู้จะไปไหนก็เอามาที่นี่ เพราะสวนสัตว์อื่นไม่รับ บางคนเอาสัตว์ใส่กล่องมาวางไว้หน้าสวนสัตว์แล้วไปเลย บางทีสัตว์ก็พังกล่องก่อนเราไปเจอ ออกไปที่ถนนแล้วโดนรถทับก็มี และช่วงนี้เริ่มมีงูบอลไพธอนมามากขึ้น เพราะคนเลี้ยงบางส่วนเริ่มหมดความต้องการหรือเลี้ยงต่อไปไม่ได้แล้ว”
พิสิษฐ์เล่าถึงที่มาของสัตว์กว่า 90% ในสวนสัตว์เพื่อนเดรัจฉานว่าเข้ามาด้วยการบริจาค หากสัตว์เจ็บป่วย ที่นี่ให้การรักษาในขั้นต้นได้ หากพร้อมกลับสู่ธรรมชาติก็จะปล่อยไป แต่ถ้ามีหน่วยงานที่รับช่วงต่อได้ เช่น สถานเสาวภาหรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ สัตว์ก็จะถูกส่งต่อไปยังสถานที่ที่เหมาะสมและน่าเชื่อถือ
“บางทีมีคนที่อยากได้สัตว์มาขอ ที่ผ่านมาผมไม่เคยให้ใคร แต่เพิ่งจะมีคนแรกและคนเดียวที่เราให้เซ็นสัญญาว่าจะรับสัตว์ไปดูแล แต่สัตว์ยังคงเป็นทรัพย์สินของเรา เขาขายไม่ได้ จะได้ไม่มีใครกล่าวหาว่าเราขายสัตว์”
แม้ว่าในการจดทะเบียนบริษัทของสวนสัตว์เพื่อนเดรัจฉานจะมีหนึ่งในข้ออนุญาตให้ค้าขายสัตว์ได้ แต่ที่นี่ก็ไม่เคยมีการค้าขายสัตว์เกิดขึ้นจริง นับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการในเดือนมกราคม พ.ศ. 2546 จวบจนปัจจุบัน มีเพียงการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์สัตว์เพื่อป้องกันสายเลือดชิดของสัตว์ที่ขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ
“นอกจากจดทะเบียนบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว เราต้องจดทะเบียนสวนสัตว์กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อีกด้วย เพราะถ้าไม่จดทะเบียนก็จะไม่มีสิทธิ์แลกเปลี่ยนสายเลือดตัวผู้ ตัวเมีย หรือลูกสัตว์ สายเลือดชิดก็ชิดไป เมื่อมีทะเบียนสวนสัตว์แล้ว เราจึงแลกเปลี่ยนสายพันธุ์สัตว์กับสวนสัตว์ด้วยกันได้
“ตอนไปจดทะเบียนกระทรวงพาณิชย์ในชื่อบริษัท ‘เดรัจฉาน’ เขาบอกว่าเป็นคําหยาบคาย ไม่อนุญาตให้ใช้ ต้องอธิบายกันยาวมาก ในที่สุดก็ตกลงกันว่าชื่อ บริษัท เพื่อนเดรัจฉาน จำกัด แล้วกัน”
คำว่า ‘เดรัจฉาน’ มีความหมายถึงสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังขนานกับพื้นโลก หากพูดง่าย ๆ ก็คือสัตว์ทุกชนิดยกเว้นมนุษย์ ไม่ว่าจะหมาแมวอันเป็นที่รัก ช้างม้าที่กู้ชาติเคียงบ่าเคียงไหล่บรรพชน วัวควายที่ช่วยคนทำมาหากิน หากปราศจากเดรัจฉาน มนุษย์ก็คงสูญพันธุ์เช่นเดียวกัน นี่คือสิ่งที่พิสิษฐ์อธิบายถึงที่มาของชื่อองค์กร เพราะต้องการแก้ไขอคติที่คนมีต่อคำ และมายาคติที่แบ่งชั้นสัตว์ประเสริฐออกจากเดรัจฉาน
เพราะความเป็นคนรักสัตว์และบทบาทในฐานะอดีตผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ฯ ของพิสิษฐ์ ทำให้สัตว์หลายตัวถูกเจ้าของเดิมส่งต่อมาให้ดูแลตั้งแต่ก่อนเปิดสวนสัตว์เพื่อนเดรัจฉาน สัตว์บางตัวที่ได้รับการดูแลระยะหนึ่งจนส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นได้ แต่บางตัวมีข้อจำกัดที่ส่งต่อไม่ได้เพราะไม่มีผู้ใดยอมรับ จึงจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของสวนสัตว์เพื่อนเดรัจฉานต่อไป
คนหากิน สัตว์มีกิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน
“ที่นี่เราเลี้ยงสัตว์เสียงดังมากไม่ได้ เพราะเพื่อนบ้านจะอยู่ไม่ได้ เลี้ยงสัตว์ที่มีกลิ่นแรงก็ไม่ได้ เพราะเพื่อนบ้านอาจจะรําคาญ สัตว์ที่มีอันตรายต่อคนอย่างเสือก็ไม่มี นกยูงก็ไม่เลี้ยง เพราะกลางคืนมันร้องเสียงดังมาก”
โดยรอบพื้นที่ของสวนสัตว์ขนาดย่อมแห่งนี้คือชุมชนที่มีผู้คนอยู่อาศัย ความใส่ใจและเกรงใจคนรอบข้างจึงต้องมาก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในการอยู่ร่วมกัน
สวนสัตว์ขนาด 200 ตารางวาใจกลางชุมชนแห่งนี้ แรกเริ่มเดิมทีคือทุ่งนา ซึ่งเป็นที่ดินส่วนบุคคลของพิสิษฐ์ พอจะทำสวนสัตว์ก็ถมที่และดัดแปลงพื้นที่ซึ่งมีขนาดไม่มากไปกว่าอาณาบริเวณบ้านเดี่ยวให้เหมาะกับสัตว์กว่าร้อยตัวในช่วงแรกก่อตั้ง
เมื่อมองที่กรงลิง จะมีพื้นที่กรงจากแนวราบสู่แนวดิ่งสูงเรื่อยไปตามยอดไม้ใหญ่ ให้พวกมันได้ปีนขึ้นปีนลง และมีมุมปลีกวิเวกเมื่ออยากอยู่ห่างจากลิงตัวอื่น
เมื่อมองที่กรงกิ้งก่าอีกัวนา จะมีส่วนต่อขยายให้เขาเดินต่อไปเรื่อย ไม่แออัดอยู่แค่ในกรงสี่เหลี่ยม และมีเต่าดาวอยู่ที่พื้นกรง ซึ่งอีกัวนาไม่ลงมาครอบครอง
เมื่อมองที่กรงกระรอก จะมีกรงแนวยาวต่อไปรอบอาคารให้เขาวิ่งเล่นไปเรื่อย ๆ
“ผมสร้างสวนสัตว์ให้สัตว์มีความสุข”
นี่คือความตั้งใจที่พิสิษฐ์ให้ไว้ ด้วยความรู้และความรักสัตว์ พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดนี้จึงออกแบบจัดวางให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิดให้มากที่สุด แม้ว่าอาจไม่ได้ดีที่สุดหากเทียบกับอิสรภาพในป่า
“อย่าพูดว่าสัตว์ป่าต้องอยู่ในป่า มันเกิดในกรงมาเป็นพันปีแล้ว จะให้ไปอยู่ป่าไหน คนก็มาจากป่า ทําไมไม่กลับไปอยู่ในป่า ควายก็ควายป่า วัวก็วัวป่า หมาก็หมาป่า ทําไมไม่ไล่กลับไปให้หมด เพราะมันไม่ใช่ยังไงล่ะ
“การคืนสัตว์สู่ธรรมชาติเป็นเรื่องดี แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าปล่อยไปแล้วเขาไม่พร้อม เขาหากินเองไม่ได้ เข้ากับฝูงไม่ได้ ปรับตัวไม่ได้ เท่ากับส่งเขาไปตาย”
ความเชื่อที่ว่าสัตว์ป่าต้องอยู่ในป่าเป็นปัญหาที่ทำให้หลายคนไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของสวนสัตว์ ทั้งที่จริงการอนุรักษ์สัตว์ป่ามี 2 แนวทาง คือการอนุรักษ์ในถิ่นกำเนิด ซึ่งเป็นการอนุรักษ์สัตว์ป่าในธรรมชาติ และการอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด คือการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่อยู่นอกพื้นที่ธรรมชาติ เช่น สวนสัตว์
“พวกอนุรักษ์เคยมาเดินขบวนขับไล่ผม ถือป้ายด่าว่าผมเป็นคนเลว ไปฟ้องศาลว่าผมเป็นพ่อค้าสัตว์ ทั้งที่ผมไม่เคยค้าสัตว์เลย ศาลถามเขาว่าผมค้าสัตว์อะไร เขาก็ตอบไม่รู้ ขึ้นศาลอยู่ 9 ปี ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา สุดท้ายเราชนะและผมฟ้องกลับด้วย เขาก็ถูกศาลอุทธรณ์สั่งจําคุก แต่ศาลฎีกายกฟ้อง
“คงมีคนไปปล่อยข่าวและมีคนเชื่อ ยุคนี้จะไปเอาอะไร คนเชื่อกันง่ายจะตาย แค่โพสต์เดียวก็เชื่อแล้ว”
ธุรกิจไม่ทำเงิน
เข้าชมฟรี..
คงเป็นประโยคที่ดึงดูดใจใครหลายคนให้เข้ามาเยี่ยมชมสวนสัตว์ขนาดกะทัดรัดแห่งนี้
“ถ้าเราเก็บตังค์ แล้วคนบอกว่ามีแค่นี้ จะเอาตังค์ฉันไปทําไม อีกคนก็บอกว่าทําไมไม่มีช้าง ไม่มียีราฟ จะมีคําถามอย่างนี้แหละ และอีกอย่างคือมันไม่คุ้มที่จะจ้างคนมาขายตั๋ว เลยให้เข้าฟรี อยากช่วยก็ช่วย ไม่อยากช่วยก็ไม่เป็นไร”
ด้วยเหตุนี้ ค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมดในการดำเนินกิจการสวนสัตว์ ทั้งค่าจ้างคนงาน ค่าอาหาร ค่าหมอ ค่ายา คือภาระที่พิสิษฐ์รับผิดชอบด้วยเงินส่วนตัวและความจุนเจือของครอบครัว โดยมีอีกส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของบุคคลทั่วไป
“มีคนมาบริจาคใส่ตู้บ้าง แต่เงินบริจาคทั้งหมดเพียงพอแค่ค่าไฟเท่านั้น”
ปัจจุบันสวนสัตว์แห่งนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งหากเป็นไปได้ พิสิษฐ์ก็อยากขอคนรักสัตว์เข้ามาช่วยรับอุปการะค่าใช้จ่ายรายเดือนของสัตว์เป็นรายตัวไป เพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่จำเป็นต้องใช้เงินเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และบางเดือนก็ลำบาก
ในเมื่อไม่ทำเงิน แถมยังมีแต่ภาระ ก็จะมีคำถามต่อไปว่าจะทำไปทำไม
“มันคือสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข เป็นการเกษียณที่ดีมากสําหรับผม”
ในวัย 82 ปี พิสิษฐ์ยังคงเดินทางจากบ้านที่ห่างออกไป 30 กิโลเมตร เข้ามาสวนสัตว์ 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อดูแลสัตว์ อนุบาลสัตว์ รับเคสสัตว์ คุยกับคนที่เข้ามาขอความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ โดยมีเจ้าหน้าที่อีก 3 คน คอยผลัดเปลี่ยนกันช่วยเหลือ ควบคู่กับอาสาสมัครคนรักสัตว์ที่ติดต่อขอเข้ามาช่วยทำงานจิตอาสาภายในสวนสัตว์เป็นครั้งคราว
“เลี้ยงสัตว์นี่ คุณจําไว้นะว่าคือ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด วันพัก วันลา ไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่คุณตาย เขาก็ตายไปข้างหนึ่ง”
ไม่มีใครห้ามการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในวันนี้พิสิษฐ์ที่ยังมีกำลังและเรี่ยวแรง จะยังคงอยู่ข้างหลังคอยผลักดันสวนสัตว์เพื่อนเดรัจฉานให้อยู่ตรงนี้เคียงข้างคนรักสัตว์ และเป็นเพื่อนแท้ของเพื่อนเดรัจฉานที่ปราศจากที่พึ่งพิง
“ผมอยากให้ทุกคนที่เดินเข้ามาที่นี่ออกไปแล้วรักสัตว์มากขึ้นอีกนิดหนึ่ง เข้าใจสัตว์มากขึ้นอีกนิดหนึ่งเท่านั้นเอง”
ความหวังเล็ก ๆ ของพิสิษฐ์คงไม่สูงจนเกินไป
ผู้สนใจทำกิจกรรม สนับสนุนสวนสัตว์ หรือรับอุปการะค่าใช้จ่ายของสัตว์ ติดต่อได้ทาง Facebook : สวนสัตว์ เพื่อน เดรัจฉาน หรือโทรศัพท์ 02 900 4431