00 ประชาธิปไตยในการศึกษาเติบโตเพื่อให้รักและเคารพ

เมื่อเราคิดถึงประชาธิปไตย เราพูดถึงประชาธิปไตย เราอาจคิดถึงสองขั้วตรงข้ามกันทางความคิด 

แต่สำหรับโรงเรียนที่ให้ประชาธิปไตยเป็นหัวใจในการเรียนรู้ เชื่อว่าประชาธิปไตยทำให้เติบโตขึ้นด้วยรักและเคารพ ด้วยการตัดสินใจด้วยตัวเอง โรงเรียน Democratic School of Hadera ในอิสราเอล เป็นโรงเรียนประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สิ่งที่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้ให้คำมั่นสัญญาในการสร้างโรงเรียนขึ้นมา คือ บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง และความรักจากการรู้จักตัวเองดีขึ้น จากเคารพตัวเองและเคารพซึ่งกันและกัน 

Democratic School of Hadera โรงเรียนอิสราเอลที่มีประชาธิปไตยเป็นหัวใจการเรียนรู้
Democratic School of Hadera โรงเรียนอิสราเอลที่มีประชาธิปไตยเป็นหัวใจการเรียนรู้

01 คนเราเรียนรู้ด้วยสิ่งที่รู้สึก

ยาคอบ เฮนซ์ (Yaacov Hecht) คือผู้นำในการจัดการศึกษาแนวทางประชาธิปไตยในการศึกษาในอิสราเอลและขยายไปหลายพันโรงเรียนทั่วโลก เราได้พบกับเขาครั้งแรกที่การประชุมการศึกษาทางเลือกที่ชื่อว่า IDEC (International Democratic Education Conference) นิวยอร์ก เมื่อตอนศึกษาวิชาครูโรงเรียนทางเลือกที่โรงเรียน Upattinas School 

Democratic School of Hadera โรงเรียนอิสราเอลที่มีประชาธิปไตยเป็นหัวใจการเรียนรู้

กลาง พ.ศ. 2562 เมื่อเราได้เริ่มทำข้อมูลรายการ บินสิ! สารคดีเดินทางเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาทางเลือก ทางสถานีไทยพีบีเอส เรานึกถึงยาคอบเป็นคนแรก เขาเป็นเพื่อนกับเราทางเฟซบุ๊ก เราเขียนข้อความไปหาเขาขอสัมภาษณ์ ยาขอบวิดีโอคอลกลับมาหาเราทันที และเหมือนเขาจะจำเราได้แม่นมาก 

เราถามยาคอบไปว่าจำเราได้ตรงไหน เขาบอกว่าในการประชุม IDEC นั้นเขาไม่สบาย เราเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่าเขาไม่สบาย แล้วเดินเอายาหม่องยาดมยาอม สารพัดยาสมุนไพรไปให้เขา นั่นทำให้เขาจำเราได้ไม่เคยลืม เราเองกลับจำเหตุการณ์นั้นไม่ได้ด้วยซ้ำ 

บทเรียนแรกยาคอบบอกเราว่า “คนเราไม่ได้จำกันได้ในสิ่งที่เราสอนหรือเราพูด แต่จำสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าใส่ใจ” 

“เช่นเดียวกับการจัดการศึกษา ครูที่สักแต่สอน แต่ไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกในสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้และรู้สึกจริงๆ เขาจะไม่เคยจำ แล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลง”

02 Democratic Education

Democratic School of Hadera โรงเรียนอิสราเอลที่มีประชาธิปไตยเป็นหัวใจการเรียนรู้

ทำไมยาคอบถึงลุกขึ้นมาทำการศึกษาที่เขาเรียกว่า การศึกษาแบบประชาธิปไตย (Democratic Education) เรื่องเล่าของยาขอบมีอยู่ว่า ตอนเป็นเด็กเขาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เก่ง จนกระทั่งอายุ 10 กว่าๆ ครูในโรงเรียนต่างบอกว่า เขาเป็นเด็กมีปัญหา จนเขารู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่โตจริงๆ 

แต่แล้วก็มีครูคนหนึ่งบอกเขาว่าเขาไม่ใช่เด็กมีปัญหา เขาเป็นเด็กที่เรียนรู้ต่างจากคนอื่น เขาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เพราะยังไม่พร้อม เมื่อวันหนึ่งที่พร้อม เขาจะพัฒนาด้านเขียนอ่านเอง ยังมีด้านอื่นๆ ของเขาที่ระบบโรงเรียนทั่วไปไม่เอามาวัดผล เขาเป็นอัจฉริยะด้านการมีมนุษยสัมพันธ์ เชื่อมโยง และคิดแก้ปัญหารอบตัวได้อย่างเป็นผู้นำ 

“โรงเรียนแบบนี้ไม่เหมาะกับเธอ” เมื่อครูคนหนึ่งพูดอย่างนั้น ยาคอบตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน และบอกกับครอบครัวว่าเขาจะสร้างโรงเรียนที่เหมาะกับเด็กอย่างเขา และเมื่อเขาอายุ 20 ต้นๆ เขาเป็นผู้สร้างโรงเรียนประชาธิปไตย Democratic School ในเมือง Hadera เป็นแห่งแรกในอิสราเอล ใน ค.ศ. 1987 และตอนนี้มีโรงแรียนแบบนี้ในอิสราเอลนับพัน และขยายไปนานาชาติ ใน ค.ศ. 1993 เขาได้จัดการประชุมการศึกษาประชาธิปไตยนานาชาติขึ้นครั้งแรก (IDEC) และจัดต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ทุกปี และวนไปจัดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

“โรงเรียนที่เชื่อในความแตกต่างหลากหลายตัวเด็กแต่ละคน และเชื่อว่าความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้นอยู่ร่วมกันได้ในสังคม” 

03 โรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบประชาธิปไตย 

Democratic School of Hadera โรงเรียนอิสราเอลที่มีประชาธิปไตยเป็นหัวใจการเรียนรู้
Democratic School of Hadera โรงเรียนอิสราเอลที่มีประชาธิปไตยเป็นหัวใจการเรียนรู้

ยาคอบบอกว่า เขาไม่มีคำจำกัดความที่กว้างพอและแคบพอ แต่เขาพอจะบอกสิ่งที่เป็นสังเขปและคุณลักษณะของโรงเรียนประชาธิปไตยในแบบของเขาได้ว่า 

หนึ่ง เป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองปัญหาของชุมชนเฉพาะนั้นๆ “ฉันรู้ว่าฉันต้องการอะไรในชีวิต” 

สอง เป็นโรงเรียนที่ออกแบบการเรียนการสอนโดยผู้เรียนและผู้สอน “ฉันรู้ว่าฉันจะเรียนรู้อย่างไรเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ฉันต้องการ” 

สาม เป็นโรงเรียนที่รู้จักตัวเอง เป็นแบบฉบับของตัวเอง “ฉันรู้ว่าฉันเป็นใคร” 

04 กระบวนการในโรงเรียน Democratic School 

โรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบประชาธิปไตยต้องกำจัด ‘เผด็จการทางความคิด’ และ ‘ปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด’ ของเด็กๆ โรงเรียนมีหน้าที่รักษาเปลวไฟในความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ ด้วยการให้พื้นที่พวกเขาสำรวจความอยากเรียนรู้ของพวกเขาให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ 

นักเรียนสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่เขาสนใจ หรือเปิดห้องเรียนใหม่ที่เขาสนใจขึ้นมาได้ แต่เมื่อเขาเลือกที่จะเปิดห้องเรียนใหม่ขึ้นมา ต้องปฏิบัติตามกฎที่พวกเขาตั้งขึ้นมาในการเข้าชั้นเรียนนั้นๆ ด้วย 

ครูแต่ละคนกำหนดชั้นเรียนของตนเพื่อเป็นตัวเลือกแรกให้เด็กๆ เลือกวิธีการเรียนการสอนที่ครูคิดว่าน่าสนใจ 

แต่หากเด็กไม่รู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วมเพียงพอ ก็สามารถมองหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะกับตัวเองได้ตลอดเวลา เช่น เรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนออนไลน์นอกชั้นเรียน

‘รัฐสภา’ เป็นหัวใจสำคัญของโรงเรียนในการตัดสินใจทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวันในโรงเรียน ทุกคนสามารถนำหัวข้อมาอภิปราย เช่น เรื่องการเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียน นักเรียน ครู ผู้ปกครอง มีคะแนนเสียงนับเป็นหนึ่งเท่ากัน 

‘พี่เลี้ยง’ เปรียบเสมือนครูที่ปรึกษาในทุกเรื่อง นักเรียนมีสิทธิเลือกพี่เลี้ยงของเขาเอง และมีเวลาให้คำปรึกษาอย่างชัดเจนในทุกสัปดาห์ 

‘เพิ่มพลังให้ครู’ ครูจะรวมตัวกันเสริมพลังบวกให้กันในทุกสัปดาห์ และอภิปรายสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน แต่ละปีพวกเขาได้ออกไปชาร์จพลังร่วมกันในพื้นที่ธรรมชาติ 

‘คัดเลือกครูของพวกเขา’ นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการครู เลือกครูของพวกเขาเอง คุณลักษณะที่สำคัญในการเลือกครูของพวกเขา คือมองเด็กอย่างเคารพและเท่าเทียมและไร้ซึ่งระบบอุปถัมภ์ 

‘คุยกันได้ทุกความขัดแย้ง’ ทุกวันจะมีเวลาจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน การพูดคุยกันในที่สว่าง และเรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างเคารพกันโดยไม่ใช่ความรุนแรง (Non-violence Language)

05 I See YOU ฉันเห็นคุณ 

Democratic School of Hadera โรงเรียนอิสราเอลที่มีประชาธิปไตยเป็นหัวใจการเรียนรู้
Democratic School of Hadera โรงเรียนอิสราเอลที่มีประชาธิปไตยเป็นหัวใจการเรียนรู้

รูปร่างสูงใหญ่ อ้วนกลม คล้ายกับโตโตโร่ของยาคอบทำให้เรารู้สึกอบอุ่น เวลาที่ได้พูดคุยกับเขาจากวิดีโอคอลเมืองไทย-ลำพูน กับอิสราเอล กลาง พ.ศ. 2562 ถึงกรุงโซลเกาหลีใต้ ปลาย พ.ศ. 2562 

เราได้พบยาขอบกลางสวนสาธารณะนัมซาน ช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ยาขอบเลี้ยงกาแฟอุ่นๆ ให้ทีมงานของเราในช่วงที่แดดกำลังจะหมดวัน สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากยาคอบไม่ใช่หลักการของโรงเรียนแบบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าหลักการศึกษาแบบนั้นคือคน 

ครูต่างหาก พ่อแม่ต่างหาก ที่ต้องเห็นตัวตนเด็ก เชื่อในตัวเด็ก เพราะความรู้สึกว่าการที่ใครสักคนเชื่อในเรา เห็นบางสิ่งบางอย่างที่มีเฉพาะในตัวเรา พิเศษแบบเรา ไม่เหมือนใคร ทำให้เรากล้าก้าวเดินและบินได้สูงในวันข้างหน้า ความเชื่อนั้นเป็นเหมือนลมใต้ปีก ทำให้เราบินได้สูงแบบไม่ต้องกระพือปีก

เรารู้สึกว่านิยามการศึกษาแบบประชาธิปไตยของเขาช่างยิ่งใหญ่และแผ่ขยายไปทั่วโลก ยาคอบบอกว่าครูที่ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงไม่มีความต้องการเปลี่ยนโลกนี้เลย เขาเป็นครูประเภทที่อยากจะแบ่งปันส่งต่อความรู้สึกข้างในที่เขามีออกไปสู่โลก 

ถ้าครูรู้สึกว่ารักที่จะให้ รักที่จะเรียนรู้ และอยากให้นักเรียนของเขาเรียนรู้ แล้วก็ส่งต่อความรู้สึกนั้นออกไปมันจะทำให้คนรับรู้สึกเบา ไม่มีความคาดหวัง ไม่มีถูกผิด เต็มไปด้วยอิสระภาพและเสรีที่จะเติบโตแบบที่ตัวเองอยากจะเป็น

06 ช่องว่างระหว่างความฝันกับความจริง 

Democratic School of Hadera โรงเรียนอิสราเอลที่มีประชาธิปไตยเป็นหัวใจการเรียนรู้
Democratic School of Hadera โรงเรียนอิสราเอลที่มีประชาธิปไตยเป็นหัวใจการเรียนรู้

เราเล่าเรื่องห้องเรียนศิลปะ ป.5 ให้ยาขอบฟัง ตอนที่เราวาดภาพใบไม้สีม่วงไปส่งครู แล้วครูบอกว่า “วาดอย่างนี้จะไม่ได้รางวัล ใบไม้สีม่วงไม่มีจริง” ฆ่าจินตนาการของเราไปเด็กอย่างเราไปนานเท่าไหร่ สิ่งที่เด็กคนนั้นรู้สึกคือความไม่มั่นใจที่จะคิดแปลกแตกต่างอย่างเป็นตัวเอง 

ถ้าย้อนกลับไปวันนั้นแล้วครูบอกว่า “ต้องอย่างนี้สิ วาดอย่างที่เธอจินตนาการไปเลย” 

เราถามยาคอบว่า “เด็กคนนั้นจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบที่แตกต่างไปจากวันนี้อย่างไร” 

ยาคอบบอกกับเราว่า “ช่องว่างระหว่างความฝันกับความจริง คือการลงมือทำในสิ่งที่เชื่อ” 

“เราย้อนกลับไปตำหนิอดีตไม่ได้ สุดท้ายแล้วถ้าไม่มีใครเห็นเรา เราก็ต้องไม่สูญเสียตัวเอง”

Writer & Photographer

Avatar

เสาวนีย์ สังขาระ

Film Maker, Farmer, Facilitator ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีอิสระ บินสิ! โปรดักส์ชั่นเฮาส์ และรายการบินสิ! ผู้ก่อตั้งและอำนวยการเรียนการสอน ที่สวนศิลป์บินสิ Films Farm School