การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายพื้นที่ประกาศล็อกดาวน์ จึงถึงคราวที่หลายครอบครัวต้องย้ายถิ่นฐานกลับบ้านเกิดทั้งชั่วคราวหรือถาวร และเมื่อการเรียนการสอนก็ปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ เราจึงเป็นอีกคนที่ย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดภูเก็ต

ระหว่างที่หลายคนต้องนั่งเรียนจากที่บ้าน ตั้งใจทำงานจากต่างจังหวัด นับเป็นจังหวะเวลาที่ดีในการนัดพูดคุยกับเพจหนึ่ง ซึ่งมีความหลงใหลในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมจากทุกภาคทั่วไทย

The Cloud ติดต่อไปหา ‘เด็กต่างจังหวัด’ เพจอารมณ์ดีที่ตั้งใจจะเป็นพื้นที่บนโลกออนไลน์ ช่วยให้เด็กต่างจังหวัดทุกคนหายคิดถึงบ้าน ดั่งสโลแกนที่แปะไว้ในเฟซบุ๊กอย่าง ‘ใครคิดถึงบ้านนอกมารวมกันตรงนี้’

เบียร์-ไพพล ลิ้มเจริญ ริเริ่มทำเพจเพื่อบอกเล่าเรื่องราวสนุก ๆ ของภาษาถิ่นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนชักชวน แคท-กิตติธัช สุดประเสริฐ ผู้ที่เกิดและโตในกรุงเทพฯ มาเติมแต่งเพจร่วมกัน จากที่นำเสนอแค่เรื่องราวของภาษา ก็พัฒนาต่อถึงวันที่เพจเล่าเรื่องอาหาร การใช้ชีวิต ภูมิศาสตร์ของชุมชน ตลอดจนวัฒนธรรมอันหลากหลายจากทั่วประเทศ จนผู้ติดตามได้รู้จักกับความพิเศษของต่างจังหวัดอย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนในชีวิต

และคงขอบคุณอะไรไปไม่ได้นอกจากความโชคดี เพราะในสัปดาห์ที่นัดพูดคุย สองคู่หูเจ้าของเพจมีแผนจะมาทำเนื้อหาเกี่ยวกับร้านอาหารบนเกาะภูเก็ต เราได้แต่คิดในใจว่า ‘เสร็จฉันล่ะ โชคดีจริง ๆ ที่เขามาให้สัมภาษณ์ถึงจังหวัดบ้านเกิด’

แคทกับเบียร์เสนอให้เรานัดคุยกันที่ร้านกาแฟ MATASECONDFLOOR ที่ซึ่งเจ้าของร้านเป็นเพื่อนที่แคทรู้จักผ่านการทำงานที่จังหวัดระนอง ทั้งคู่ดูจะมีเพื่อนพ้องอยู่ทุกที่ สมกับดีกรีเจ้าของเพจเด็กต่างจังหวัดเสียจริง ๆ

ทำความรู้จักท้องถิ่นทั่วไทยไปกับ 'เด็กต่างจังหวัด' เพจคลายเหงาของเหล่าคนคิดถึงบ้าน

เราเปิดประตูสู่ร้านกาแฟตามเวลาที่นัดหมาย ที่นั่งอยู่กลางร้าน ท่าทางผ่อนคลายคือเจ้าของเพจเด็กต่างจังหวัด แคทอยู่ในเสื้อคอปกลายทาง เบียร์ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ สวมเสื้อยืดสีเขียวทับด้วยเชิ้ตสีครีม ทั้งคู่ดูจริงจังกับงานที่อยู่ตรงหน้า

พี่เบียร์ พี่แคท สวัสดีครับ – เราทัก

ท่ามกลางคาเฟ่บรรยากาศเก๋ ๆ ใจกลางย่านเมืองเก่า บทสนทนาและเรื่องเล่าของเด็กกรุงเทพฯ เด็กประจวบฯ และเด็กภูเก็ตก็เริ่มต้นขึ้น

รถเครื่องกับเรื่องเล่า

จากที่เกิดในอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ย้ายไปเรียนมัธยมปลายที่เพชรบุรี ก่อนจะมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบียร์ไม่เคยคิดเลยว่าสำเนียงและภาษาที่ตัวเองใช้จะมีเอกลักษณ์จนได้รับความสนใจจากกลุ่มเพื่อน

“เพจเกิดขึ้นตอนเราทำงานเอเจนซี่โฆษณา ด้วยความที่เราพูดเหน่อ เพื่อนที่บริษัทก็เลยแซวกัน ทุกคนสนใจวิธีการพูดของเราเพราะเขาไม่เคยเห็น”

คำศัพท์ภาษาถิ่นของเบียร์ช่วยสร้างหัวข้อสนทนาให้เพื่อนร่วมงาน สิ่งที่ออกจากปากเขากลายเป็นคำถามสนุก ๆ ทุกมื้ออาหารที่ออฟฟิศ บ้างถามว่าคนประจวบฯ เรียกสิ่งนี้ว่าอย่างไร บ้างถึงขั้นขอให้เบียร์สอนพูด

“อย่างคำว่ารถเครื่อง ความจริงหลายที่ก็เรียกรถมอเตอร์ไซค์ว่ารถเครื่อง แต่คนกรุงเทพฯ เมื่อห้าหกปีที่แล้วไม่รู้จริง ๆ ว่ารถเครื่องหรือเมล์เครื่องคืออะไร” 

หลังจากที่เห็นเพื่อนร่วมงานชื่นชอบคำว่ารถเครื่องเป็นพิเศษ หนุ่มแว่นในตำแหน่งก๊อปปี้ไรเตอร์ของบริษัทก็นึกสนุก อยากนำเรื่องราวคำว่ารถเครื่องมาเขียนเป็นสเตตัสเฟซบุ๊กเพื่อสร้างรอยยิ้มให้คนอ่าน แต่ระหว่างที่เขียนอธิบาย เบียร์ก็เปลี่ยนใจ นำเรื่องราวรถมอเตอร์ไซค์ไปไว้ในเฟซบุ๊กแฟนเพจแทน

“ตอนแรกจะใช้ชื่อเพจเด็กบ้านนอก แต่ดันมีคนใช้ไปแล้ว โอเค งั้นลองเป็นเด็กต่างจังหวัดซิ เฮ้ย ยังไม่มีใครใช้แฮะ” เบียร์เล่าไปยิ้มไป

เมื่อสร้างเพจเและสาธยายเรื่องราวรถเครื่องเสร็จเรียบร้อย เบียร์ก็รีบแชร์โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมส่งต่อให้กลุ่มแก๊งได้ลองอ่าน ผ่านไป 10 นาที ปรากฏว่ายอดแชร์พุ่งไปที่หลักร้อย 

“ผ่านไปหนึ่งคืน ยอดแชร์ทะลุหมื่น คนไลก์เพจประมาณสองหมื่น เป็นกระแสมาก ๆ ทุกคนเข้ามาคอมเมนต์ว่า จริง ใช่เลย เพราะเด็กต่างจังหวัดหลายคนก็คงเคยมีประสบการณ์ที่เรียกรถเครื่องแล้วคนกรุงเทพฯ ไม่เข้าใจ หรือบางทีคนกรุงเทพฯ แท็กเพื่อนต่างจังหวัดให้เข้ามาดูก็มี”

แม้จะแทบตั้งตัวไม่ทันเพราะไม่ได้หมายมั่นปั้นมือจะทำเพจอย่างจริงจังตั้งแต่แรก แต่เมื่อเห็นแนวโน้มว่าเพจนี้ไปต่อได้ หนุ่มประจวบฯ จึงจัดการนำคำศัพท์พื้นถิ่นอื่น ๆ อีกมากมายมาบรรยายในเด็กต่างจังหวัด พูดง่าย ๆ ว่า ‘ลองทำไปก่อน สนุกดี แถมดูมีอนาคต’

“หลังจากนั้นเราก็เริ่มเอาคำอื่นมาทำด้วย อย่างคำว่า ‘รุน’ ที่แปลว่าเข็น ตอนนั้นไปซูเปอร์มาร์เก็ตกับเจ้านาย เราบอกเขาว่า เดี๋ยวไปเอารถรุนมาให้ พอเรารุนรถมา เขาก็ถามเราว่า นี่คือรถรุนเหรอ ไม่ใช่มั้ง เขาเรียกรถเข็นไม่ใช่เหรอ” เบียร์หัวเราะอย่างสนุกสนาน แคทที่นั่งอยู่ข้าง ๆ เริ่มหัวเราะตาม 

ใคร ๆ ก็ไปดรีมเวิลด์

ในช่วงที่เพจกำลังตั้งไข่ เบียร์ก็ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ จากทั่วทุกภาค เขาศึกษาคำว่ารุนเพิ่มเติมจนได้รู้ว่า คำนี้เป็นภาษาใต้ ในขณะที่คนเหนือจะเรียกรถเข็นว่ารถยู้ ส่วนทางภาคอีสานจะเรียกรถไส กลายเป็นว่าแค่คำง่าย ๆ อย่างการเข็นก็มีคำเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

“เราได้เรียนรู้หลายอย่างจากคอมเมนต์ และอีกส่วนหนึ่งก็ถามจากเพื่อนมหาลัย พอเจอคำแปลก ๆ น่าสนใจ เราก็จะทักไปถามเพื่อนที่มาจากอีสานกับภาคเหนือ ว่าคำนี้ที่บ้านเขาเรียกอะไร ส่วนเราเองพอจะรู้ภาษาใต้อยู่บ้าง เพราะพ่อเป็นคนใต้”

เบียร์เล่าประวัติของเพจเด็กต่างจังหวัดโดยไม่มีติดขัดแม้แต่น้อย แคทที่นั่งอยู่ติดกันคอยพยักหน้าเห็นด้วยเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าจะเริ่มพูด หนุ่มเสื้อเชิ้ตสีครีมจึงร่ายต่อ เขาเล่าว่าหลังจากทำเพจมาได้ระยะหนึ่ง ก็ถึงจุดที่เด็กต่างจังหวัดควรเพิ่มเนื้อหารูปแบบใหม่เพื่อให้คนไม่เบื่อ ซึ่งเบียร์ก็ตั้งใจไว้แต่แรกอยู่แล้วว่า ไม่ได้อยากนำเสนอเฉพาะเรื่องราวของภาษา เพราะต่างจังหวัดยังมีแง่มุมน่าสนใจอีกมากมายที่คนกรุงเทพฯ ไม่รู้ ทั้งวิถีชีวิต สังคม ตลอดจนวัฒนธรรม

“เรานั่งคิดว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เด็กต่างจังหวัดน่าจะเป็นเหมือน ๆ กัน เรื่องแรกที่คิดออกก็คือการไปดรีมเวิลด์ ไม่รู้ทำไม เวลาไปทัศนศึกษา โรงเรียนถึงต้องพาเด็กต่างจังหวัดไปดรีมเวิลด์ จำได้ดีเลย เพราะตอนประถมที่เราไปก็ได้เจอกับเด็กจากโรงเรียนทางภาคอีสาน ซึ่งทุกคนก็คงนั่งรถทัวร์มาเหมือนกัน บนรถทัวร์ก็มีคอนเทนต์อีก เพราะเด็ก ๆ จะเปิดเพลง เต้นกัน สุดท้ายคอนเทนต์นี้ก็ไปไกลมาก” แคทอมยิ้มกับสิ่งที่เบียร์เล่า

 เมื่อเรื่องราวการทัศนศึกษาของเด็กต่างจังหวัดประสบความสำเร็จ เบียร์ก็รู้แล้วว่าเพจไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคำศัพท์หรือภาษาเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำประสบการณ์ที่คนไทยมีร่วมกันมาใช้ได้ เจ้าของเพจผู้กำลังเครื่องติดจึงหยิบเอาวิถีชีวิตที่เด็กต่างจังหวัดคิดถึงมาเล่าบ้าง เริ่มจาก ‘การกวาดยา’ ซึ่งเป็นความทรงจำเลวร้ายในวัยเด็กของใครหลายคน ก่อนจะต่อด้วย ‘สิ่งของอะไรบ้างที่แม่ไม่ยอมทิ้ง’ ที่เบียร์เลือกโพสต์ในช่วงเทศกาลวันแม่

“เราทำชิ้นนี้เพราะเด็กต่างจังหวัดที่จากบ้านมาไกลก็คงจะคิดถึงแม่ แต่กลายเป็นว่าอินไซด์เรื่องสิ่งที่แม่ไม่ยอมทิ้ง คนกรุงเทพฯ ก็เป็นเหมือนกัน หลายบ้านแม่ก็ชอบเก็บพวกช้อนพลาสติกเอาไว้ เราเลยได้ทั้งแฟนคลับที่เป็นเด็กต่างจังหวัดและเด็กกรุงเทพฯ ด้วย เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เราก็ผูกพันกับมนุษย์แม่ไม่ต่างกัน”

ทำความรู้จักท้องถิ่นทั่วไทยไปกับ 'เด็กต่างจังหวัด' เพจคลายเหงาของเหล่าคนคิดถึงบ้าน

นอกจากสาลี่ ก็ฉันนี่แหละ ของดีสุพรรณ

แม้จะประสบความสำเร็จจากการเล่นกับคำศัพท์และเรื่องราวอินไซด์ในแต่ละจังหวัด แต่การจะจัดการให้เนื้อหาของเพจได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอไม่ใช่เรื่องง่าย คู่แข่งจากหลายเพจก็เริ่มนำเสนอเนื้อหาในลักษณะใกล้เคียงกัน โชคดีที่เบียร์มีอาวุธเด็ดอย่างความคิดสร้างสรรค์และทักษะที่ได้จากสายงานเอเจนซี่ เด็กต่างจังหวัดจึงส่งคอนเทนต์ที่ถูกคิดมาเป็นอย่างดีได้ต่อเนื่อง

“เราอยากนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับของดีประจำจังหวัด เราว่ามุมนี้น่าสนใจ แต่จะทำยังไงให้คนอยากแชร์ ก็เลยเอาไปผูกกับการที่คนที่เล่นเฟซบุ๊กน่าจะอยากบอกว่า ตัวเองก็เป็นของดีประจำจังหวัดเหมือนกันนะ เป็นมู้ดแอนด์โทนที่มีความอ่อยนิด ๆ น่ารักหน่อย ๆ บวกกับตอนนั้นคำว่า ‘ทานโทษนะ’ กำลังฮิตในโซเชียล”

ขณะที่เบียร์เล่าให้ฟัง แคทก็เลื่อนโน้ตบุ๊กมาเปิดโพสต์เหล่านั้นให้เราเห็นภาพ เด็กภูเก็ตได้รู้แล้วว่า กว่าจะเป็นหนึ่งโพสต์ไม่ใช่เรื่องง่าย และการที่แต่ละโพสต์เป็นที่นิยมได้ก็ไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่เด็กประจวบฯ ต้องคิดแล้วคิดอีก นำวัตถุดิบ 3 ส่วนมาประกอบเข้าด้วยกันจนได้ผลงานที่โดนใจ ทั้งของดีที่เป็นความภูมิใจในแต่ละจังหวัด คำฮิตติดปากเด็กรุ่นใหม่ ไปจนถึงพฤติกรรมการขายตัวเองของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย

ทำความรู้จักท้องถิ่นทั่วไทยไปกับ 'เด็กต่างจังหวัด' เพจคลายเหงาของเหล่าคนคิดถึงบ้าน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งแนวทางการทำเนื้อหาที่ดูจะไปได้ดี คือเรื่องราวว่าด้วยความเข้าใจผิด

“อีกเรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกว่าสนุก คือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับจังหวัดต่าง ๆ อย่างเรามาจากประจวบฯ ก็จะมีแต่คนถามว่า มาจากหัวหินเหรอ ทั้งที่จริง ๆ ประจวบฯ มีตั้งหลายอำเภอ เราก็เลยลองโพสต์ถามลูกเพจว่ามีเรื่องอะไรที่คนเคยเข้าใจผิดเกี่ยวกับจังหวัดตัวเองบ้าง ทุกคนเข้ามาแชร์เรื่องราวกันเยอะมาก อย่างเกาะภูเก็ต ถ้าจะมาก็ไม่ได้ต้องนั่งเรือถูกมั้ย” 

เราพยักหน้า พร้อมกับคิดในใจว่า ‘เออ พี่เบียร์รู้จริงแฮะ’

เมื่อได้เรื่องราวความเข้าใจผิดมากพอ เบียร์ก็ขอกดสูตรเดิม คือยกข้อมูลเด็กต่างจังหวัดมาบวกกับคำศัพท์ที่กำลังเป็นกระแส ซึ่งสิ่งที่มาแรงมาก ๆ ในช่วงนั้นก็ได้แก่คำคล้องจองสองประโยคไม่เกี่ยวข้องกัน เจ้าของเพจคนเก่งจึงนำความเข้าใจผิดเหล่านั้นมาแต่งเป็นกลอนตลก ๆ จนได้เป็นคอนเทนต์ที่ไวรัลในที่สุด

ทำความรู้จักท้องถิ่นทั่วไทยไปกับ 'เด็กต่างจังหวัด' เพจคลายเหงาของเหล่าคนคิดถึงบ้าน

ขณะที่เราชื่นชมผลงานของเด็กต่างจังหวัดไปเรื่อย ๆ เบียร์ก็เอ่ยขึ้นว่า “ตอนนั้นกราฟิกอาจจะไม่ได้ดีมาก เพราะเราทำทุกอย่างในมือถือ”

เมื่อได้ยินดังนั้น ความประทับใจที่เรามีต่อเพจเด็กต่างจังหวัดก็เพิ่มขึ้นอีกระดับ

กราฟิกแบบใหม่ ความตั้งใจแบบเดิม

แม้จะใช้ภาพที่เรียบง่าย ทุกชิ้นก็ถ่ายทอดความเป็นเด็กต่างจังหวัดได้ถูกใจคนหมู่มาก แต่เมื่ออยากให้เพจไปได้ไกลกว่าเดิม ความสำคัญของกราฟิกก็เพิ่มขึ้นตาม จึงได้เวลาของแคทที่นั่งอยู่ข้าง ๆ จะออกโรง

ด้วยยุคสมัยและพฤติกรรมของผู้ใช้โซเชียลที่เปลี่ยนไป เด็กต่างจังหวัดคงหวังพึ่งพาแค่ความสนุกและมุกตลกไม่ได้อีกต่อไปแล้ว การสอดแทรกเนื้อหาสาระกลายเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น และการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เพจก็กลายเป็นเรื่องสำคัญ เบียร์จึงชักชวนแคทที่ทำงานด้านกราฟิกในเอเจนซี่เดียวกัน ให้มาช่วยปลุกปั้นเพจด้วยอีกแรง

“เราทำเอเจนซี่มาเลยรู้ว่า แต่ละเพจจะมีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง ดังนั้น นอกจากกิมมิกเรื่องความความตลกแล้ว ก็น่าจะใช้การออกแบบช่วยสร้างเป็นภาพจำให้เพจด้วย เราเปลี่ยนโลโก้ให้ดูดีขึ้น เพิ่มมูลค่านิดหน่อย แต่ก็ไม่ทิ้งคอนเทนต์และความตั้งใจเดิม” แคทเริ่มเล่าอย่างกระฉับกระเฉง

ความตั้งใจเดิมคืออะไร – เราถาม 

“พอปรับการออกแบบ เพจอาจจะดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น แต่ก็ยังไม่สูญเสียตัวตนไป เราคิดว่าเด็กต่างจังหวัดเป็นเพจที่บอกเล่า Local Insight ของวิถีชีวิตความเป็นต่างจังหวัด และที่สำคัญเราอยากให้มันเป็นพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่ช่วยให้เด็กต่างจังหวัดทุกคนหายคิดถึงบ้าน ทุกคนอยากมาแชร์ของดีที่บ้านตัวเอง ถ้าใครคิดถึงบ้านก็อยากให้คิดถึงเพจเรา”

เบียร์ตอบคำถามนี้ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นที่สุดตั้งแต่พูดคุยกันมา เราจึงเชื่อจริง ๆ ว่า เขาอยากให้เพจเป็นพื้นที่คลายเหงาของเหล่าเด็กต่างจังหวัดที่ต้องไปทำงานไกลบ้านอย่างแท้จริง

“เอาจริง ๆ เพจไม่ใช่แค่พื้นที่ของเด็กหรือวัยรุ่นนะ หลายโพสต์ก็มีพ่อแม่เห็นแล้วแท็กลูกตัวเองไปเหมือนกัน ช่วงวัยของคนที่ติดตามเพจกว้างมาก ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ความตั้งใจของเพจก็ยังเหมือนเดิม คืออยากให้เป็นคอมมูนิตี้ที่ทำให้ทุกคนได้เห็นว่า ในแต่ละจังหวัดก็มีเรื่องราว มีของดีซ่อนอยู่” แคทพูดเสริม

แม้จะปรับเปลี่ยนการออกแบบให้เป็นทางการมากขึ้นจนเริ่มมีลูกค้าติดต่อขอโฆษณา แต่ด้วยหัวใจในการเล่าเรื่องแบบเดิมก็ช่วยให้ผู้ติดตามยังคงสนับสนุนเพจเด็กต่างจังหวัดอย่างเหนียวแน่น ยิ่งไปกว่านั้น เพจก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ของเด็กต่างจังหวัดเพียงอย่างเดียว เพราะกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดตามก็เป็นคนกรุงเทพฯ การแนะนำสถานที่ อาหาร หรือกระทั่งวิถีชีวิตของผู้คนในต่างจังหวัด นอกจากจะทำให้คนต่างจังหวัดมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีแล้ว ยังทำให้คนที่เกิดและโตในเมืองได้เห็นว่า จังหวัดอื่น ๆ ยังมีสิ่งที่น่าค้นหาอยู่อีกมาก

“เรามีโอกาสได้ทำเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดเมืองรอง เมืองหลักอย่างเชียงใหม่ กระบี่ หรือภูเก็ต เราได้เห็นกันตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว แต่พอได้ไปจังหวัดอย่างพิจิตร เราได้เจออาหารที่หากินไม่ได้จากที่อื่น สุดท้ายทุกจังหวัดก็มีเสน่ห์เป็นของตัวเอง แค่มันยังไม่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึง พอคนกรุงเทพฯ ที่ติดตามเพจได้เห็น เขาก็จะแท็กเพื่อนจังหวัดนั้น ๆ ไป แล้วบอกว่า ‘เออ มึงพากูไปกินนี่หน่อยดิ’

“แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะทิ้งจังหวัดที่คนรู้จักอยู่แล้วนะ อย่างภูเก็ตเราก็มาครั้งที่สองแล้ว เพียงแต่เราตั้งใจไว้แต่แรกว่า ถ้ามาภูเก็ตก็จะไม่ทำเนื้อหาเกี่ยวกับทะเล เพราะทุกคนรู้กันอยู่แล้ว คนทำเยอะแล้ว จังหวัดนี้มีมุมอื่นที่คนไม่รู้อีกตั้งเยอะ เช่น จริง ๆ แล้ว ภูเก็ตมีของกินเยอะมาก คนภูเก็ตสมัยก่อนกินอาหารกันวันละหกถึงเจ็ดมื้อ เราก็เลยลองบุกตะลุยกินเฉพาะในเมืองอย่างเดียว ไม่ไปทะเลเลย ซึ่งกระแสตอบรับก็ดีมาก ๆ” ทั้งคู่เล่าไปยิ้มไป

เด็กต่างจังหวัดต้องดิ้นรน

การทำเพจที่เล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวต่างจังหวัด สะท้อนว่าบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นในประเทศไทยนั้นแตกต่าง เมืองหลวงเป็นอย่าง จังหวัดอื่นก็เป็นอีกแบบ เราจึงอยากรู้ว่า ในมุมมองของทั้งคู่ เด็กที่โตมาในต่างจังหวัดแตกต่างจากเด็กที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ อย่างไร

“สำหรับเรา เด็กต่างจังหวัดเป็นเด็กที่โตมากับการปรับตัว ย้ายมาเรียนหรือทำงานในกรุงเทพฯ ก็ต้องปรับตัว ต้องอยู่หอ ไม่ได้กลับบ้านนาน ๆ มีขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงเยอะมากตั้งแต่เกิด ในขณะที่เด็กกรุงเทพฯ อาจจะปรับตัวแค่จากวัยมัธยมเข้าสู่วัยมหาลัย แต่ก็ยังอาศัยอยู่ที่เดิม ไม่ได้มีอะไรหวือหวาขนาดนั้น

“คือเราไม่ได้บอกว่า ปรับตัวหรือไม่ต้องปรับตัวดีกว่า แต่เหล่านี้คือความแตกต่างของวิถีชีวิต” เบียร์สรุป

แคทพยักหน้าเห็นด้วยกับสิ่งที่คู่หูอธิบาย พร้อมเสริมต่อว่า

“เราเรียนในคณะที่เด็กต่างจังหวัดเยอะมาก ถึงเราจะเป็นเด็กกรุงเทพฯ แต่กลายเป็นว่าเราต้องปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนคนอื่น สิ่งที่เราเห็นคือเด็กต่างจังหวัดต้อนดิ้นรนหลายอย่าง เราเห็นเลยว่าเขาต้องพยายามมากแค่ไหนกว่าจะได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ คนกรุงมีพร้อมแทบจะทุกอย่าง การเรียนพิเศษก็มีครบหมด สุดท้ายก็จะกลับไปที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ทำให้คนต่างจังหวัดต้องดิ้นรนหลายด้านกว่าจะมาถึงจุดที่คนกรุงเทพฯ อยู่”

แคทเล่าต่อว่า สิ่งที่เด็กในกรุงเทพฯ ส่วนมากโชคดีกว่าเด็กต่างจังหวัดคือโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนที่แคทจบมามีความพร้อมมากกว่าโรงเรียนในต่างจังหวัดอย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่าง ถ้าเด็กสนใจจะศึกษาต่อทางด้านสถาปัตยกรรม โรงเรียนก็จะหาครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาแนะแนวให้ ในขณะที่เด็กในพื้นที่ห่างไกลอาจจะไม่มีโอกาสได้รับคำแนะนำเหล่านี้

“หรือเรื่องง่าย ๆ อย่างการตีแบด เราเรียนที่บางสะพาน การตีแบดของเราคือต้องตีที่สนามตะกร้อ ลมแรงมาก แต่ก็ต้องฝึกเอง แต่ของแคทคือมีครูสอนที่โรงเรียน จะเห็นเลยว่าแม้กระทั่งเรื่องที่ไม่ใช่วิชาการก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ ทั้งในแง่ของการใช้ชีวิต การเข้าถึงสาธารณูปโภค และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน” เบียร์พูดเสริม

ท่องทั่วไทยไปกับ เบียร์ ไพพล และ แคท กิตติธัช เจ้าของเพจ 'เด็กต่างจังหวัด' ผู้สร้างพื้นที่ออนไลน์ให้คนหายคิดถึงบ้าน

‘ฮาโรย’ กลายเป็นคำฮิต

แน่นอนว่าเราเห็นด้วยกับสิ่งที่เจ้าของเพจทั้งสองอธิบาย แต่สิ่งที่เราอดสงสัยไม่ได้คือ เพราะเหตุใด คอมเมนต์ส่วนใหญ่ในเพจเด็กต่างจังหวัดจึงเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจในบ้านเกิด ในเมื่อต่างจังหวัดเหลื่อมล้ำจากเมืองหลวงขนาดนั้น แล้วทำไมผู้คนยังเชื่อมั่นในท้องถิ่นที่ตัวเองเติบโตมา

“เด็กต่างจังหวัดจะเลือกมุมมองที่ตัวเองภูมิใจนำเสนอ อย่างช่วงหลัง เราทำบทความสัมภาษณ์ผู้คนจากแต่ละจังหวัด เขาก็จะเล่าทั้งเรื่องที่แย่ที่สุดและดีที่สุดของบ้านตัวเอง ทุกคนมีสำนึกรักบ้านเกิดอยู่แล้ว ศรีสะเกษดีอย่างนั้น อุบลฯ ดีอย่างนี้ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็บอกได้ว่ามีอะไรบ้างที่ยังไม่ดีและควรแก้ไข ก็เหมือนกรุงเทพฯ ที่อาจจะเป็นศูนย์รวม ทุกอย่างเปิดยี่สิบสี่ชั่วโมง แต่ก็มีสิ่งที่เแย่ ๆ หลายอย่างเหมือนกัน”

จริงอย่างที่แคทพูด ทุกจังหวัดมีข้อดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำในหลายภาคส่วน กรุงเทพฯ เอง แม้จะเป็นศูนย์รวมความเจริญ แต่ก็ยังมีข้อเสียเช่นเดียวกัน

ท่องทั่วไทยไปกับ เบียร์ ไพพล และ แคท กิตติธัช เจ้าของเพจ 'เด็กต่างจังหวัด' ผู้สร้างพื้นที่ออนไลน์ให้คนหายคิดถึงบ้าน

“แล้วส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะทิศทางการทำเพจของเราด้วย เราอยากให้เพจเป็นพื้นที่ของความคิดเห็นในแง่บวก ครั้งหนึ่งเราเคยทำคอนเทนต์ ‘ไม่พูดเยอะ เดี๋ยวเหน่อ’ หลายคนอาจจะถามว่า โพสต์นี้เป็นการบูลลี่คนที่พูดเหน่อรึเปล่า เราไม่คิดแบบนั้น เพราะเพจเราบอกกับทุกคนอยู่เสมอว่า ไม่เป็นไรเลยที่จะพูดเหน่อ คนพูดเหน่อมีตั้งเยอะ คนพูดทองแดง พูดเหนือก็มี ทุกวันนี้อินฟลูเอนเซอร์หลายคนก็หันมาพูดภาษาถิ่นของตัวเองแล้ว เจนนี่ ปาหนัน ที่พูดคำว่า ‘ฮาโรย’ ยังกลายเป็นคำฮิตได้เลย” เบียร์เสริมต่อจากแคท

แล้วพวกพี่คิดยังไงกับเด็กยุคใหม่ที่อยากเป็นคนเมือง แถมยังพูดภาษาถิ่นไม่ค่อยเป็นกันแล้ว – เราถาม

“เอาจริง ๆ เด็กยุคใหม่ เรียกว่าเจน TikTok ก็แล้วกัน เขาดูภูมิใจกับการพูดภาษาถิ่นของตัวเองนะ เพื่อนเราหลายคน ถ้าย้อนกลับไปได้ เขาก็อยากพูดภาษาถิ่นเป็นเหมือนกัน ยุคนี้การพูดภาษาถิ่นได้เหมือนกับการพูดภาษาอังกฤษได้เลย” 

แคทตอบก่อนที่เบียร์จะเสริมว่า การพูดภาษาถิ่นเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่มาแรงในยุคหลัง และการที่เด็กรุ่นใหม่พูดภาษาถิ่นไม่ได้ อาจไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากพูด แต่เป็นผลจากคนรุ่นพ่อแม่ที่อยากให้ลูกหลานพูดภาษากลางให้ชัดมากกว่า ค่านิยมของไทยในสมัยก่อนอาจส่งต่อมาว่า คนที่พูดภาษาถิ่นคือคนที่ไม่มีการศึกษา เวลาเข้ามาทำงานในเมืองอาจจะโดนดูถูกได้ การสอนให้ลูกพูดกลางคงเป็นความหวังดีที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น

“เพราะฉะนั้น อาจจะต้องย้อนไปถามรุ่นพ่อแม่มากกว่าว่าทำไมถึงไม่สอน ทั้งที่เขาพูดภาษาถิ่นได้ แต่กลับเลือกที่จะพูดภาษากลางกับลูก ก็ต้องเข้าใจว่าเขาคงมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ได้รับชุดข้อมูลคนละแบบกับเรา แต่เราว่าคนยุคนี้ทุกคนอยากพูดภาษาถิ่นได้นะ” ทั้งคู่ยืนกรานร่วมกัน

Unseen อีสาน

จากวันแรกที่เริ่มทำเพราะนึกสนุก ถึงวันนี้ที่เพจเด็กต่างจังหวัดย่างเข้าสู่ขวบปีที่ 5 สองแอดมินพัฒนาคุณภาพเนื้อหาในเพจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจที่มีต่อจังหวัดในประเทศไทยของทั้งคู่ก็เพิ่มขึ้นผ่านการเดินทางสำรวจแต่ละท้องถิ่น

นับถึงวันนี้ เบียร์และแคทไปมาแล้วทั้งสิ้น 26 จังหวัด หลายจังหวัดก็แวะเวียนมากกว่าหนึ่งรอบ การเดินทางทำให้ทั้งคู่ได้พบคำตอบและข้อมูลมากมายที่อยากแบ่งปัน และหนึ่งในนั้นคือการอยากให้คนไทยได้ลองไปสัมผัสกับจังหวัดทางภาคอีสาน ชุมชนที่ยังผูกติดกับภาพจำความแห้งแล้ง ไม่น่าท่องเที่ยว

“คนไม่ค่อยรู้จักอีสาน ที่จริง ๆ ก็มีความคราฟต์ไม่ต่างจากเชียงใหม่ มีอาหารท้องถิ่นดี ๆ สถานที่ท่องเที่ยวและธรรมชาติก็เยอะ เพียงแต่ยังไม่ค่อยมีการโปรโมตให้ชาวต่างชาติไปเที่ยว เรามีภาพจำว่า ถ้าอยากดูศิลปวัฒนธรรมให้ไปภาคเหนือ อยากเที่ยวทะเลให้มาภาคใต้ แล้วอีสานอยู่ตรงไหน ทั้งที่อาหารไทยที่ส่งออกต่างประเทศหลายอย่างก็มาจากอีสานทั้งนั้น” เบียร์อธิบายจากประสบการณ์ของคนที่ไปสัมผัสความงดงามของต่างจังหวัดมาด้วยตนเอง ก่อนทิ้งท้ายว่า

“ถ้าคุณชอบเกียวโตของญี่ปุ่นก็ไปเดินเล่นที่นครพนมได้เลย ทางเดินริมแม่น้ำโขง มีประเทศลาวอยู่ฝั่งตรงข้าม บรรยากาศดีไม่ต่างกัน”

ทางฝั่งของคนกรุงเทพฯ อย่างแคท ก็ได้เรียนรู้หลายอย่างจากการเดินทางทั่วไทย เขาสังเกตว่าจังหวัดต่าง ๆ เริ่มก่อร่างสร้างชุมชนของตัวเองให้แข็งแรงและทันโลก กลุ่มคนอายุย่างเข้าเลข 4 ที่เคยเข้าไปเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ เริ่มแยกย้ายกลับไปอยู่บ้านและพัฒนาจังหวัดของตัวเอง เกิดเป็นคอมมูนิตี้ของผู้ที่สนใจในสิ่งเดียวกัน

“อุบล อุดร เชียงใหม่ สกลนคร หรือภูเก็ตก็มีเหมือนกัน อย่างน้ำฝน เพื่อนเราที่เป็นเจ้าของร้านนี้ก็เป็นคอมมูนิตี้ร้านกาแฟ ทุกจังหวัดใส่การดีไซน์ลงไป แล้วก็เพิ่มการประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลมากขึ้น เราว่านี่แหละคือเสน่ห์ของต่างจังหวัด

“อย่างเราที่เป็นคนกรุงเทพฯ จ๋าๆ เลย ก็แอบอิจฉาเด็กต่างจังหวัดเหมือนกันนะ เพราะเพื่อนทุกคนจะกลับบ้านกันหมดช่วงปีใหม่ แต่เราไม่มีบ้านที่อื่นให้กลับแล้ว” แคทและเบียร์หัวเราะ

ก้าวต่อไปของ (เด็ก) ต่างจังหวัด

รอยยิ้มของทั้งสองเริ่มมัวหมองและถูกแทนที่ด้วยเสียงหัวเราะแห้ง ๆ เมื่อเราถามว่า เป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยในอนาคตจะไม่มีคำว่าต่างจังหวัดแล้ว เพราะความเจริญกระจายไปทั่วทุกพื้นที่

“ยากมาก เพราะตอนนี้ประเทศไทยก็ยังไม่ได้เจริญขนาดนั้น อย่างอุบลฯ ที่เราไป ตอนนี้เจริญขึ้นเยอะก็จริง แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้มีครบครันเหมือนกรุงเทพฯ ดังนั้นก็คงจะอีกนานมากๆ” แคทตอบเศร้า ๆ แต่เขาก็คิดอย่างนั้นจริง ๆ

“ที่สำคัญ ความเจริญอาจไม่ใช่แค่เจริญทางวัตถุ แต่ควรจะเจริญทั้งวิถีชีวิต อาชีพ และทุกอย่างต้องรองรับเด็กต่างจังหวัดได้จริง อย่างเราทำงานสายนิเทศ ก็ไม่มีทางทำงานที่บ้านเกิดได้เลย หรืออย่างมาก ถ้าจะทำงานที่บ้านได้ก็ต้องรับงานจากกรุงเทพฯ อยู่ดี โปรดักชันและทุกอย่างยังอยู่ที่เมืองหลวง เพราะงั้น เราก็ได้แต่หวังว่า ในอนาคตทุกที่จะเจริญทั้งทางด้านวัตถุ วิถีชีวิต รวมถึงค่าครองชีพด้วย” หนุ่มประจวบฯ แสดงทรรศนะ

จากการเล่าเรื่องรถเครื่องในวันที่หนึ่ง ถึงวันนี้ที่เด็กต่างจังหวัดมียอดไลก์ทะลุ 500,000 เบียร์และแคทได้บทเรียนหลากหลาย ตั้งแต่ทักษะการทำเพจที่มีประโยชน์และสร้างรายได้ ข้อคิดมากมายจากการเดินทางไปแต่ละจังหวัด ตลอดจนประสบการณ์ชีวิตและมิตรภาพที่ไม่อาจประเมินเป็นราคา คงกล่าวได้ว่า เพจของทั้งคู่คือความสำเร็จอันน่าภูมิใจที่เหล่านักทำเพจทั่วไทยใ่ฝ่ฝัน กระนั้นเบียร์และแคทก็ยืนยันว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรยิ่งใหญ่ต่อจากนี้

“ก่อนหน้านี้เป้าหมายของเราก็คือห้าแสนนั่นแหละ แต่หลังจากนี้เราไม่ได้คิดแล้ว ไม่ได้ตั้งความหวังว่าจะต้องถึงล้านรึเปล่า” เบียร์พูดยิ้ม ๆ

“เราว่าความสม่ำเสมอสำคัญกว่ายอดผู้ติดตาม สุดท้ายเราแค่อยากให้เพจนี้มีประโยชน์ ทั้งในแง่สาระและการเป็นพื้นที่ให้คนต่างจังหวัดทุกคนได้แชร์ความรู้สึก” แคทพูด พร้อมฉีกยิ้มกว้างกว่าเบียร์ก่อนหน้านี้

เมื่อได้คำตอบครบถ้วนตามที่ตั้งใจ เด็กภูเก็ตจึงบอกลาเจ้าของเพจทั้งสอง ก่อนเดินออกจากห้องสี่เหลี่ยมของร้านกาแฟ เราหันกลับไปมองแคทและเบียร์เป็นครั้งสุดท้ายผ่านกระจกหน้าร้าน ทั้งคู่กลับไปตั้งใจทำงานของตัวเองที่หน้าจออีกครั้ง พวกเขาคงกำลังสร้างสรรค์เรื่องราวดี ๆ ของต่างจังหวัดที่หลายคนไม่รู้จักอีกแน่เลย

ท่องทั่วไทยไปกับ เบียร์ ไพพล และ แคท กิตติธัช เจ้าของเพจ 'เด็กต่างจังหวัด' ผู้สร้างพื้นที่ออนไลน์ให้คนหายคิดถึงบ้าน

Writer

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

มนุษย์ภูเก็ต เด็กนิเทศที่ทำงานพิเศษเป็นนักเล่าเรื่อง โกโก้ หนัง และฟุตบอล ช่วยให้เข้านอนอย่างมีคุณภาพ

Photographer

Avatar

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

ช่างภาพอิสระ | ภูเก็ต ชอบหาของอร่อยกิน รักการใช้เวลากับคนรัก ig : Kenhitive