31 ธันวาคม 2542 เป็นคืนที่ผู้คนทั่วโลกต่างลุ้นระทึกว่า เหตุการณ์ Y2K จะส่งผลกระทบกับระบบคอมพิวเตอร์อย่างไร แต่กลุ่มคนที่ดูจะลุ้นหนักเป็นพิเศษ คงหนีไม่พ้นเด็กหนุ่ม 4 คน จากรั้วสวนกุหลาบวิทยาลัย เพราะนั่นคือคืนแรกที่เว็บไซต์ของพวกเขาปรากฏตัวบนโลกอินเทอร์เน็ต

เกือบ 2 ทศวรรษแล้วที่เด็กไทยทั่วประเทศเติบโตมาพร้อมกับเว็บไซต์ Dek-D.com หลายคนใช้ที่นี่ตรวจผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย บางคนเริ่มต้นเขียนไดอารี เขียนนิยายของตัวเองที่นี่ และอีกไม่น้อยใช้เด็กดีเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างวัย ต่างโรงเรียน บางคนพบรักถึงขั้นแต่งงานกันก็มี

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของผู้คน เว็บไซต์มากมายที่เริ่มต้นพร้อมกันต่างล้มหายตายจากไปเกือบหมด แต่เด็กดีกลับยังคงเดินหน้าและเป็นศูนย์กลางของวัยรุ่นไทยไม่เปลี่ยนแปลง

โน้ต-วโรรส โรจนะ และ ปอล-ณปสก สันติสุนทรกุล

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ถือโอกาสชักชวน 2 ผู้ก่อตั้ง โน้ต-วโรรส โรจนะ และ ปอล-ณปสก สันติสุนทรกุล มาร่วมพูดคุยถึงจุดเริ่มต้น พัฒนาการ ตลอดจนก้าวต่อไปของชุมชนออนไลน์แห่งนี้ ในวันที่ Dek-D อายุใกล้ครบรอบ 20 ปี และกำลังเติบโตไปไกลกว่าเพียงเว็บไซต์แห่งหนึ่งเท่านั้น

01

การทดลองของเด็กสวนกุหลาบทั้ง 4

ใครจะเชื่อว่ากระดาษแผ่นเล็กๆ แผ่นเดียวที่เขียนขึ้นด้วยความอยากสนุก จะพลิกชีวิตเด็กนักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 119 กลุ่มหนึ่งไปตลอดกาล ย้อนกลับเมื่อเดือนกรกฎาคม 2542 โน้ต ซึ่งเวลานั้นเรียนอยู่ชั้น ม.5 ห้อง 514 สนใจอยากทำเว็บไซต์ของตัวเอง เพราะตั้งใจจะศึกษาต่อด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เขาเลยทดลองเขียนคอนเซปต์คร่าวๆ บนกระดาษ คิดไปไกลถึงวิธีโปรโมตและกลุ่มเป้าหมาย แต่เนื่องจากแทบไม่มีความรู้เรื่องโปรแกรม จึงตัดสินใจหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์เพิ่มเติม

“ผมเป็นเด็กใหม่ เพิ่งมาเรียนห้องคิงไม่ถึง 2 เดือนเลย เลยยังไม่ได้สนิทกับใคร แต่ด้วยความอยากทำเว็บไซต์ของตัวเอง พอถึงคาบวิชาฟิสิกส์ ระหว่างที่อาจารย์กำลังเผลอ ผมเลยส่งกระดาษแผ่นนั้นที่เขียนเวียนกันในห้อง บอกว่าช่วยส่งต่อหน่อย ใครสนใจอยากทำให้มาลงชื่อ” 

ปรากฏว่ามีสมาชิกร่วมลงชื่อ 3 คน ประกอบด้วย ปอล และเพื่อนอีก 2 คน คือ เต้-สรวงศ์ ดาราราช และ แชร์-สุปิติ บูรณวัฒนาโชค เมื่อฟอร์มทีมได้แล้ว ทั้ง 4 คนก็เริ่มพูดคุยถึงความฝันร่วมกัน

ทีมก่อตั้ง Dek-D.com ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ที่รวมทั้งการศึกษา นิยาย และชุมชนออนไลน์ของวัยรุ่นไทย

“เราคิดแค่ว่าอยากหาที่ให้วัยรุ่นคุยกัน ตอนนั้นมีเว็บ Pantip เพิ่งเกิดเหมือนกัน แต่ว่าพอเข้าไปแล้วมันเป็นอารมณ์แบบผู้ใหญ่ เช่น เรียนกวดวิชาที่ไหนดี ซึ่งคำตอบที่ได้คือ ทำไมต้องเรียนกวดวิชาด้วย ทำไมไม่ตั้งใจเรียนในห้องเรียน เปลืองเงินพ่อแม่นะ เราก็เลยคิดว่าน่าจะทำเว็บไซต์ให้วัยรุ่นได้เข้ามาคุยกันโดยเฉพาะ” ปอลเท้าความ

สมัยนั้นการทำเว็บไซต์เป็นเรื่องใหม่มาก ห้องสมุดมีหนังสืออยู่เล่มเดียว และทั้งทีมมีเพียงปอลเท่านั้นที่มีประสบการณ์ออกแบบหน้าเว็บมาบ้าง ทำให้ตลอดภาคเรียนที่ 1 พวกเขาต้องขวนขวายหาตำรามาอ่าน ลงเรียนคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม พอถึงปิดเทอมก็นัดเจอกันที่บ้านโน้ต เพื่อมาทำเว็บไซต์

ทั้ง 4 แบ่งหน้าที่กัน ปอลดูเรื่องดีไซน์ เต้และแชร์ดูแลการเขียนโปรแกรม ส่วนโน้ตที่ยังเขียนโปรแกรมไม่ได้ ดีไซน์ไม่เป็น จึงอาสารับดูแลเนื้อหาในเว็บทั้งหมด

ทีมก่อตั้ง Dek-D.com ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ที่รวมทั้งการศึกษา นิยาย และชุมชนออนไลน์ของวัยรุ่นไทย

เดิมทีตั้งเป้าอยากให้เว็บเปิดตัววันแรกของภาคเรียนที่ 2 แต่เอาเข้าจริงกว่าเว็บจะเสร็จสมบูรณ์ก็ล่วงเลยถึงสิ้นปีพอดี ซึ่งเป็นวันที่ทั่วโลกหวาดหวั่นกับปัญหา Y2K

“คืนนั้นพวกเราก็นั่งลุ้นกันนะ แต่คิดว่ามันรอมานาน ไม่อยากรออีกแล้ว ก็เลยเปิดเลย สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งโลก” โน้ตเล่าแล้วหัวเราะ 

เว็บไซต์น้องใหม่มีชื่อง่ายๆ ว่า ‘เด็กดี’ มีความหมายตรงตัวถึงเว็บไซต์เพื่อเด็ก ที่นำเสนอเรื่องดีๆ

“สิ่งที่อยากจะทำตั้งแต่แรกไม่ได้เกี่ยวกับเด็กดีหรอก เราอยากทำเว็บเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นมากกว่า แต่ว่าชื่อเด็กดีเพราะมีเพื่อนคนหนึ่งเสนอขึ้นมา แล้วเรารู้สึกโอ้โห! มันตรงมาก เพื่อนทุกคนตกลง ไม่ต้องโหวตอะไรเลย” โน้ตเล่าถึงชื่อไทยง่ายๆ ที่เอาชนะชื่อเท่ๆ อย่าง Generation X, Millennium, Thaichildren, Thaiteen หรือ Teenager มาได้ ตอนแรกทีมอยากใช้ชื่อโดเมนว่า Dekdee.com แต่วันนั้นมีคนจองไปแล้ว เลยบิดไปใช้ Dek-D.com แทน และใช้ชื่อนี้จนมาถึงปัจจุบัน

02

เมื่อ Dek-D เริ่มโต

ในขวบปีแรกมีคนเข้าเว็บ Dek-D ไม่มากนัก ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในกลุ่มเพื่อนสวนกุหลาบนั่นเอง เนื้อหาในเว็บ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เว็บบอร์ด คุยสารพัดเรื่องของเด็กวัยรุ่น ทั้งการเรียน เที่ยว หรือแม้แต่เรื่องความรัก กับบทความซึ่งเน้นหนักด้านการศึกษาตามสไตล์เด็กเรียน เช่น เทคนิคการทำโจทย์ฟิสิกส์ วิธีพิชิตสมการภาคตัดกรวย Word 2000 หรืออะไรใหม่ๆ ที่คุณอยากรู้

แต่เพื่อสร้างความหลากหลาย เลยมีการระดมเพื่อนมาช่วยเขียนเพิ่มเติม จนเกิดเรื่องสนุกๆ อย่างประสบการณ์อกหัก รักครั้งแรกขึ้นมา กลายเป็นกระแสปากต่อปากไปยังเด็กโรงเรียนอื่นด้วย นอกจากนี้ครูฝ่ายประชาสัมพันธ์ อาจารย์พรศิริ ทองพันธุ์ ยังสนับสนุนเต็มที่ด้วยการสัมภาษณ์ทั้ง 4 หนุ่มลงสารสวนกุหลาบ ฉบับวันสถาปนาโรงเรียน 8 มีนาคม 2543 รวมทั้งแนะนำเว็บให้รายการโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ ทำให้เว็บเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น

ทีมก่อตั้ง Dek-D.com ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ที่รวมทั้งการศึกษา นิยาย และชุมชนออนไลน์ของวัยรุ่นไทย

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ ที่ทำให้เว็บเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงแรก เกิดจากไอเดียของปอลที่อยากรวมลิงก์เว็บบอร์ดของโรงเรียนต่างๆ ไว้ด้วยกัน เพราะยุคนั้น URL ของแต่ละบอร์ดนั้นยาวมากจนไม่มีใครอยากจำ แม้ตอนแรกกังวลกันว่าจะเป็นแค่ทางผ่าน ไม่มีใครมาใช้เว็บบอร์ดของ Dek-D แต่สุดท้ายแล้วก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะทุกคนต้องแวะมาที่นี่ก่อนเสมอ  

“สมัยก่อนพวกเว็บท่า อย่าง Sanook หรือ Hunsa ดังมาก เราก็เลยคิดว่าทำไมไม่มีที่รวมบอร์ดโรงเรียนบ้าง ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แค่เอามารวมกันเท่านั้นเอง เริ่มแรกก็เป็นโรงเรียนในเครือจตุมิตร จากนั้นก็เริ่มมีคนส่งมาเพิ่มเป็นพันเลย บางทีก็มีบอร์ดรุ่น บอร์ดห้อง ซึ่งพอมารวมกันเยอะ ก็จะมีบางคนก็แวะไปดูบอร์ดของโรงเรียนอื่นด้วย แล้วหลายๆ ครั้ง มีคนเข้าใจผิดว่า เราเป็นคนสร้างให้ เช่นเวลามีกระทู้ทะเลาะกันภายในโรงเรียน เขาก็จะมาแบบ Dek-D จัดการให้หน่อย” ปอลอธิบาย

นับตั้งแต่นั้น Dek-D จึงกลายสะพานเชื่อมโยงเด็กนักเรียนทั่วประเทศ พอเข้ามาแล้วก็ได้อ่านเนื้อหา บทความ หรือกระทู้ต่างๆ ไปในตัว ทำให้ยอดผู้ใช้งานขยายจากหลักร้อยเป็นหลักพันหลักหมื่นอย่างรวดเร็ว แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น ช่วงที่เริ่มมีชื่อเสียง คุณครูหลายคนสงสัยว่าเป็นเว็บอะไร ไม่น่าเกี่ยวกับการศึกษาเลยถูกบล็อก แต่พอนานๆ เข้าเหมือนได้พิสูจน์ตัวเอง ผู้คนจึงเริ่มยอมรับ

“ชื่อเด็กดีมีอิทธิพลทางจิตวิทยาสูงมาก ทุกคนที่เข้ามาโดยเฉพาะผู้ใหญ่ก็จะคาดหวังว่าต้องดีตามชื่อ และถ้ามีอะไรผิดจากคำว่าเด็กดี เราจะโดนตำหนิทันทีว่าไม่เห็นดีสมชื่อเลย หรือให้เปลี่ยนชื่อเว็บเป็นเด็กเลวแทนก็มี ถือเป็นความท้าทายของผมและทีมงานจนถึงทุกวันนี้” ปอลย้อนเหตุการณ์  

อีกเรื่องหนึ่งที่หนักหน่วงไม่แพ้กันคือ ทำเว็บมา 1 ปีเต็มๆ ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าโดเมนปีละ 3,000 บาท ค่าโฮสติงเดือนละ 600 บาท รวมแล้วเฉลี่ยปีละ 10,000 บาท

แต่ด้วยความเสียดาย เพราะอุตส่าห์ลงแรงมาตั้งแต่ศูนย์ บวกกับได้เห็นเด็กๆ เข้ามาใช้งานอย่างต่อเนื่อง มาพูดคุยเรื่องการบ้าน การเรียน บางคนมีปัญหาชีวิตก็เข้ามาปรึกษา ทำให้รู้สึกเสียดาย สุดท้ายเลยยอมเข้าเนื้อ ขอเพียงทุกคนรักเว็บนี้ก็พอใจแล้ว

กระทั่งเวลาผ่านไปปีกว่าถึงเริ่มมีโฆษณาติดต่อเข้ามา แม้ตัวเงินไม่มากแต่เป็นเครื่องยืนยันว่า Dek-D ก็มีโอกาสเติบโตเช่นกัน

“โฆษณาชิ้นแรกเลยคือ Applied Physics ให้เดือนละ 2,500 บาท เพราะเหมือนเจ้าของเขาเปิดเว็บไซต์เหมือนกัน ก็เลยอยากหาช่องทางโปรโมต แล้วคงมีโอกาสคุยกับนักเรียนว่าส่วนใหญ่เข้าเว็บอะไร เด็กๆ ก็เลยแนะนำเว็บนี้ หลังจากนั้นก็เริ่มมีสถาบันอื่นติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ”

หลังฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาได้ ก็ถึงช่วงเวลาที่ 4 หนุ่มต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย แม้มีภาระต้องรับผิดชอบหนักขึ้น แต่พวกเขาก็พยายามแบ่งเวลาเต็มที่ อย่างโน้ตอ่านหนังสือตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม และทำเว็บ 4 ทุ่มถึงเที่ยงคืน บางคืนยาวเลยไปถึงตี 2

เมษายน 2544 โน้ตกับเต้ สอบติดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ปอลเลือกเรียนด้านออกแบบที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ส่วนแชร์เบนเข็มไปเรียนต่อ Carnegie Mellon University สหรัฐอเมริกา แต่ทั้งหมดยังคงเดินหน้าทำเว็บร่วมกันต่อไป

โน้ต-วโรรส โรจนะ และ ปอล-ณปสก สันติสุนทรกุล เต้-สรวงศ์ ดาราราช และ แชร์-สุปิติ บูรณวัฒนาโชค

“ถึงจะแยกกันก็ทำงานด้วยกันได้ เพราะมีระบบออนไลน์ แชตหากันได้ แล้วพอคนใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เราก็เสียดาย ไม่อยากหยุด เพราะไม่ได้เป็นภาระอะไรมากมาย พอเรียนเสร็จก็กลับบ้านไปทำเว็บต่อ

“ส่วนสิ่งที่ยากคงเป็นเรื่องเทคนิค เพราะสมัยนั้นข้อมูลน้อย ไม่มีหนังสือที่บอกว่าทำยังไงให้เว็บสามารถรับคนเข้าวันละหมื่นได้ ถ้าคนใช้เยอะก็ต้องรีบูตเครื่อง เราสแตนบายตลอด แต่ถ้าล่มช่วงที่เรียนอยู่ ก็ต้องใช้ Microsoft Pocket PC เข้ามารีบูต หรือบางทีก็ส่งอีเมลแจ้ง Data Center ให้ช่วยรีบูตให้ ช่วงแรกๆ เว็บก็จะล่มบ่อยหน่อย” โน้ตฉายภาพอดีต

หลังเรียนจบ ปอลซึ่งมองเห็นช่องทางการตลาด โดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เติบโตขึ้นทุกปี ก็เลยมานั่งจับเข่าคุยกับเพื่อนๆ ว่าอาจถึงเวลาแล้วที่ต้องจริงจังกับเว็บ เต้กับโน้ตซึ่งเรียนจบก่อนปีหนึ่งและเริ่มทำงานประจำแล้ว ตัดสินใจลาออกเพื่อมาทำออฟฟิศร่วมกัน ส่วนแชร์ถึงไม่ได้มาทำงานด้วย เพราะเลือกต่อปริญญาโทที่เดิม แต่ยังคงเป็นหุ้นส่วนไม่เปลี่ยนแปลง

“ผมคิดว่าเราอยู่ในช่วงที่ทดลองได้ เพราะยังเป็นเด็กอยู่ แล้วตอนที่ปอลชวน เราเห็นถึงศักยภาพของเว็บจริงๆ ซึ่งถ้าลองแล้วเกิดไม่เวิร์กก็แค่เลิก กลับไปสมัครงานใหม่” โน้ตกล่าว

โน้ต-วโรรส โรจนะ และ ปอล-ณปสก สันติสุนทรกุล เต้-สรวงศ์ ดาราราช และ แชร์-สุปิติ บูรณวัฒนาโชค

Dek-D Interactive จดทะเบียนเป็นทางการเมื่อปี 2549 โดยเช่าออฟฟิศในห้างเก่าแห่งหนึ่งเดือนละ 8,000 บาท ทีมงานไปซื้อโต๊ะซื้อเสื่อน้ำมันมาปูกันเอง คิดง่ายๆ ว่าเป็นที่มาทำงานร่วมกัน

“เราตั้งใจว่าจะรับพนักงานเพิ่มอีก 4 – 5 คน เพราะถ้าทำกันเองเว็บคงไม่โตแน่ เราควรต้องทำแบบบริหาร การขายหารายได้เพิ่ม จำได้ว่าปีแรกเราออกไปหาลูกค้าทุกวัน ทำยังไงให้เว็บเราดูน่าเชื่อถือ ทำโปรไฟล์บริษัท ทำพรีเซนเทชัน ให้เขารู้จักเรา แล้วถ้าลงโฆษณาจะเหมาะกับสินค้าอะไร” ปอลอธิบายถึงการขาย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ 

ปี 2549 ทุกคนทุ่มเต็มตัว จึงเป็นปีที่ Dek-D เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งระบบการทำงานที่ชัดเจนขึ้น ความเสถียรของเว็บ ปริมาณบทความที่ขยับขึ้นจาก 4,000 ชิ้น เป็น 40,000 ชิ้น นอกจากนี้ยังมีการสร้างระบบ My.iD ขึ้นมา เป็นเสมือนบ้านของสมาชิก เพื่อให้วัยรุ่นมีพื้นที่แสดงความเป็นตัวเองได้มากขึ้น ทั้งเขียนบล็อก เขียนนิยาย ออกแบบตกแต่งหน้าตาบล็อกเอง ส่งผลให้มียอดสมาชิกสูงถึง 200,000 คน ทะยานขึ้นเป็นเว็บไซต์ที่มียอดผู้ใช้งานอันดับ 4 ของประเทศ

โน้ต-วโรรส โรจนะ และ ปอล-ณปสก สันติสุนทรกุล เต้-สรวงศ์ ดาราราช และ แชร์-สุปิติ บูรณวัฒนาโชค

แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือมุมมองต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ครั้งหนึ่งปอลเคยให้สัมภาษณ์ว่า จากเดิมที่อยู่โรงเรียนชายล้วนมาตลอด เพื่อนส่วนใหญ่ก็มุ่งแต่สายวิทยาศาสตร์ แต่เพราะคนเข้าเว็บที่หลากหลาย ทั้งเพศ วัย ประสบการณ์ และเป้าหมายในชีวิต จึงกลายเป็นบทเรียนให้พวกเขาเข้าใจสังคมภายนอกยิ่งขึ้น

และมุมมองที่กว้างขว้างนี้เองช่วยให้ Dek-D เติบโตและก้าวขึ้นเป็นเว็บไซต์ของวัยรุ่นอันดับ 1 ต่อเนื่องนับสิบปี

03

ไม่มีใครเข้าใจวัยรุ่น.. เท่าวัยรุ่น

เวลาพูดถึงเว็บ Dek-D คุณนึกถึงอะไร?

หลายคนอาจตอบว่าการศึกษา เพราะเคยเข้ามาเช็กผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย บางคนอาจนึกถึงภาพของไอดอลดังๆ สมัยก่อนเข้าวงการ และอีกไม่น้อยอาจนึกถึงเกมคำถามที่เคยโด่งดังเมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้ว

รู้หรือไม่ว่า ทั้งหมดคือผลพวงจากการสร้างสรรค์ ที่เริ่มจากความต้องการของวัยรุ่นจริงๆ

“สมัยที่เริ่มใช้อินเทอร์เน็ต พอเข้าเว็บต่างๆ มันชัดมากว่าผู้ใหญ่ทำให้เด็ก แล้วบางอย่างที่ผู้ใหญ่คิดว่าเด็กชอบ ความจริงอาจไม่ใช่ เหมือนสื่อยุคหนึ่งชอบใช้คำว่า ‘วัยโจ๋’ หรือ ‘วัยจ๊าบ’ แต่เด็กไม่มีใครเรียกตัวเองแบบนี้ เพราะฉะนั้นตอนที่เราเป็นเด็ก ถึงไม่ได้เป็นตัวแทนของเด็กทุกคน แต่อย่างน้อยก็ยังพอเข้าใจว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร” โน้ตอธิบาย

ขณะที่ปอลเสริมว่า สิ่งที่เด็กทุกยุคทุกสมัยสนใจนั้นใกล้เคียงกัน คือเรื่องการศึกษา บันเทิง งานอดิเรก การใช้ชีวิต และการดูแลตัวเอง เพียงแต่รายละเอียดอาจกันตามสภาพสังคม และเทคโนโลยี ดังนั้นโจทย์ท้าทายสุด คือจะไล่ตามสิ่งเหล่านี้ทันได้อย่างไร

หากย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน Dek-D คือศูนย์รวมของการหาเพื่อนใหม่ ที่นี่มีพื้นที่อย่าง MSG Zone รวบรวบข้อมูลหมายเลข ICQ หรืออีเมลสำหรับเล่น MSN ไว้ให้สมาชิกกดเข้าไปทักทายกัน หรือเด็กมหาวิทยาลัยที่อยากมีอาชีพเสริมเป็นติวเตอร์สอนน้องก็มาลงชื่อได้ที่ Tutor Center

นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นเว็บแรกๆ ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกส่งรูปตัวเองหรือเพื่อนๆ มาลงบอร์ดคนน่ารัก ในยุคที่ยังไม่มีสื่อออนไลน์มากนัก ซึ่งเวลานี้หลายคนก้าวขึ้นจากเน็ตไอดอลมาเป็นคนมีชื่อเสียงในวงการบันเทิง อาทิ บอลลูน พินทุ์สุดา โฟร์ ศกลรัตน์ ทับทิม มัลลิกา เบเบ้ ธันย์ชนก หรือเต้ย จรินทร์พร

และเมื่อโลกเปลี่ยนแปลง พวกเขาก็พร้อมปรับตัว หลายอย่างๆ แม้เคยได้รับความนิยมสูงมาก แต่เวลานี้ล้าสมัย เช่นรวมบอร์ดโรงเรียน หรือ MSG Zone ก็ต้องถูกยกเลิกไป หรือบางอย่างก็ปรับให้เข้ายุคเข้าสมัยมากขึ้น เช่นเรื่องควิซ หรือเกมทายใจ ถึงยังมีอยู่แต่ก็ค่อยๆ ลดบทบาทไป

“ตลอด 20 ปี เราผ่านการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราพัฒนาและกำจัดไปเยอะมาก บางอย่างก็ต้องลองผิดลองถูก ค่อยๆ ปรับตัวกันไป แต่สิ่งสำคัญคือ เรารู้ตัวเองว่ากำลังทำเนื้อหาให้เด็ก ไม่ได้ทำใช้เอง เราจึงต้องพยายามเปิดรับความเห็น พยายามส่องดูว่าน้องเขาทำอะไรกัน พูดคุยกันอะไรกันโซลเซียล  เวลาผลิตอะไรก็ต้องถามเด็กก่อนว่ามีความเห็นอย่างไร” โน้ตฉายภาพ

เพราะฉะนั้นทุกผลิตภัณฑ์จึงตรงกับความต้องการ และเป็นประโยชน์กับชีวิตของวัยรุ่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของ Dek-D 

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าปัญหาหนึ่งของวงการการศึกษาบ้านเรา คือความซับซ้อน และยุ่งยาก

ทีมก่อตั้ง Dek-D.com ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ที่รวมทั้งการศึกษา นิยาย และชุมชนออนไลน์ของวัยรุ่นไทย

อย่างหลักเกณฑ์การรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนแปลงตลอด บางปีสอบเสร็จต้องมาบวกคะแนนเพิ่ม บางปีเปิดให้ยื่นคะแนนกัน 4 – 5 รอบ และหลายครั้งพอถึงช่วงประกาศผล ปรากฏว่าเว็บล่ม เพราะรองรับปริมาณคนเข้าเว็บมหาศาลไม่ไหว

Dek-D จึงใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งองค์ความรู้ด้านการศึกษา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตลอดจนเครือข่ายต่างๆ มาร่วมออกแบบแพลตฟอร์มที่เด็กๆ สามารถใช้ได้สะดวกที่สุด ตั้งแต่ บทความแนะแนวอาชีพ โปรแกรมตรวจผลสอบ รวมทั้งแอปพลิเคชัน ‘เด็กดี TCAS’ รวบรวมข่าวสาร กระทู้ ปฏิทินการสอบ แนะนำการเลือกคณะ ซึ่งมียอดผู้ใช้รายเดือนสูงกว่า 100,000 คน

นอกจากนี้แล้ว ทีมงานยังพยายามสร้างสรรค์กิจกรรมการศึกษาที่น่าสนใจ อย่าง Dek-D’s Admission Fair ที่ล่าสุดเปลี่ยนมาเป็น Dek-D’s TCAS Fair กิจกรรมแนะแนวการศึกษาที่ใหญ่สุดของประเทศ หรือ Dek-D’s Pre-Entrance ซึ่งเป็นการจำลองการสอบก่อนลงสนามจริง

ทีมก่อตั้ง Dek-D.com ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ที่รวมทั้งการศึกษา นิยาย และชุมชนออนไลน์ของวัยรุ่นไทย

“โปรดักใหม่ๆ เราเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน เช่น เริ่มจัดสอบเฉพาะในกรุงเทพฯ ก่อน ดูว่าความต้องการของตลาดเป็นยังไง ไปๆ มาๆ ตอนนี้ก็จัดทั่วประเทศ 50 กว่าจังหวัดแล้ว หรืองานแฟร์ก็เหมือนกัน ตอนแรกก็กลัวขายไม่ได้ จัดเล็กๆ 5 – 10 บูท ตอนนี้ก็ใหญ่โต เราได้พัฒนาโปรแกรมใหม่ๆ ที่ช่วยให้เด็กตัดสินใจง่ายขึ้นด้วย เช่นน้องอยากเข้าคณะอะไร เกรดเท่าไหร่ ก็มากดเครื่อง แล้วจะมีใบสำเร็จรูปออกมาว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหน” ปอลอธิบาย

“นอกจากนี้เรายังมีรุ่นพี่แต่ละคณะมานั่งประจำบูท คอยให้คำแนะนำว่าถ้าอยากเรียนที่นี่ต้องทำยังไง เรียนอะไรบ้าง มีรุ่นพี่ที่ได้ทุนต่างประเทศมาแนะแนวว่า ประเทศนี้ดีอย่างไร เกาหลี อินเดีย สิงคโปร์ ต่างกันยังไง มีจิตแพทย์มาให้คำแนะนำนสำหรับน้องที่เครียด” โน้ตช่วยเสริม

เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว การช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยก็เป็นอีกหน้าที่ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทีมงานจึงเดินสายให้ความรู้แก่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ แม้บางครั้งเป็นโรงเรียนเล็กๆ หรือไม่มีสปอนเซอร์ก็ตาม

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เว็บ Dek-D กลายเป็นเพื่อน เป็นรุ่นพี่ที่ดีของเด็กทุกคนตลอดไป

04

ศูนย์กลางนิยายล้านเรื่อง

นอกจากการศึกษาแล้ว หลายคนอาจไม่ทราบว่า Dek-D ยังเป็นชุมชนนักเขียนนักอ่านที่ใหญ่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย
นิยาย 960,000 เรื่อง นักเขียน 150,000 คน ยอดติดตามสูงถึง 60,000,000 ครั้ง คือสถิติที่บันทึกไว้เมื่อสิ้นปี 2561

นักเขียนดังมือรางวัลหลายคน เช่น ปราปต์ โกลาบ จัน หรือรอมแพง ต่างเริ่มเวทีแรกที่นี่

เช่นเดียวละครโทรทัศน์ดังกว่าร้อยเรื่อง ทั้ง บุพเพสันนิวาส กาหลมหรทึก เกมร้ายเกมรัก 7 วันจองเวร The Sixth Sense สื่อรักสัมผัส เวียงร้อยดาว หรือ หัวใจ Ugly Duckling รักนะเป็ดโง่ ครั้งหนึ่งก็เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์นี้มาแล้ว

ความจริง Dek-D เริ่มมีนิยายตั้งแต่ก่อตั้ง โดยเรื่องแรกเป็นผลงานของสาวน้อยจากโรงเรียนราชินี ที่ใช้นามปากกาว่า ‘อติน’

อตินุช อสีปัญญา เคยเล่าว่านิยายเรื่อง ‘สิ่งที่ไร้เหตุผล 4 เรื่อง’ เดิมเธอเขียนสนุกๆ ลงในสมุดของโรงเรียน เวียนกันอ่านในกลุ่มเพื่อนราวสิบคน บังเอิญแฟนนิยายคนหนึ่งเป็นเพื่อนกับโน้ต เมื่อโน้ตอยากได้เนื้อหาใหม่ๆ มาลงเว็บ จึงแนะนำว่ามีนิยายที่ตามอ่านอยู่ ถ้ามาลงเว็บก็คงดี ทุกคนจะได้อ่านพร้อมๆ กัน โน้ตจึงติดต่ออตินทาง ICQ กระทั่งได้นิยายเรื่องนี้มาประเดิมในหมวดนิยาย

จากนั้นก็เริ่มมีผู้ส่งนิยายเข้ามาเป็นร้อยเรื่อง แต่เรื่องที่ถือเป็นจุดพลิกสำคัญ คือ The White Road ของ Dr.Pop

 “สมัยก่อน ถ้าจะพิมพ์หนังสือสักเล่มต้องมั่นใจว่าขายได้ หนังสือแนวเด็กๆ เลยไม่มีใครกล้าพิมพ์ให้ แต่พอเป็น The White Road ทุกคนเห็นว่ามีแฟนคลับ มีคนตามอ่านอยู่ เขาก็เลยกล้าพิมพ์ และเมื่อมีคนซื้อ เลยกล้านำเรื่องอื่นมาตีพิมพ์ เหมือนเป็นช่องทางให้แนวนิยายในประเทศหลากหลายขึ้น จากแต่ก่อนที่ห้ามมีประโยคพูดเยอะๆ ก็เริ่มกล้าเขียนบทพูดทั้งหน้า หรือใช้ Emoticon” โน้ตอธิบาย

นิยายใน Dek-D มีหลากหลายแนว บางแนวกลายเป็นกระแสโด่งดัง หลังจากตีพิมพ์ที่นี่ เช่น นิยายแฟนตาซี นิยายวาย หรือนิยายจีนที่คนไทยเขียน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความนิยมของวัยรุ่นเวลานั้น อย่างตอนที่ The White Road เป็นกระแส ก็เป็นจังหวะเดียวกับช่วงที่ทั่วโลกกำลังคลั่งไคล้พ่อมดน้อย Harry Potter หรือช่วงที่เกมออนไลน์ดัง นิยายหลายๆ เรื่องก็มีฉากหลังเป็นเกม

แต่สิ่งที่ต่างจากนิยายยุคที่ตีพิมพ์ในนิตยสารอย่างสกุลไทย หรือสตรีสาร คือที่นี่ไม่มีระบบบรรณาธิการมาทำหน้าที่กลั่นกรอง ทุกคนมีอิสระ สามารถเขียน ปรับปรุง แก้ไข หรือลบได้ตามต้องการ ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมาย หรือผิดศีลธรรม

“หากไม่หยาบคาย ไม่โป๊ เราลงให้หมด เพราะผมคิดว่าเรื่องที่ดีอาจไม่ใช่เรื่องที่เราชอบ ไม่จำเป็นที่เราต้องไปตัดสิน คนอ่านเป็นคนตัดสิน เพราะหากเรื่องไหนที่เขาสนใจก็จะติดตามไว้ก่อน แต่ถ้าวันหนึ่งรู้สึกไม่ใช่ก็กดหยุดติดตาม หรือบางทีก็ช่วยคอมเมนต์ แก้คำผิด การมีฟีดแบ็กทันที ทำให้นักเขียนมีกำลังใจเขียนต่อ และรู้ว่าควรปรับอย่างไร ซึ่งช่วยให้นักเขียนพัฒนาตัวเองมากยิ่งขึ้น”

นอกจากการทำระบบกลางที่ใช้ง่ายแล้ว Dek-D ยังพัฒนาส่งเสริมด้วยการจัดทำแอปพลิเคชัน ‘นิยาย Dek-D’ เพื่อตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งทุกวันนี้มียอดดาวน์โหลดสูงถึง 1,000,000 ครั้ง รวมทั้งยังมีการจัดอันดับนิยายที่ผู้อ่านสนใจมากที่สุด แนะนำนิยายเรื่องที่สมาชิกแต่ละคนอาจสนใจ สแกนนิยายที่ไม่เหมาะสมหรือสุ่มเสี่ยงต่อศีลธรรม และถ้านักเขียนคนใดต้องการสร้างรายได้ก็มีระบบซื้อขายออนไลน์ โดยที่ลิขสิทธิ์ยังเป็นของนักเขียนอย่างสมบูรณ์

“เราอยากเห็นนักเขียนเก่งขึ้น ทำงานดีขึ้น เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เช่นเดียวกันนักอ่านที่เจอนิยายที่เหมาะกับตัวเองมากขึ้น เราจึงพยายามทำระบบของเราออกมาให้ดีที่สุด เช่นมีระบบแจ้งเตือนระหว่างนักเขียนกับนักอ่าน หรือนักเขียนหน้าใหม่ที่ดูแล้วน่าจะลงต่อเนื่อง เราก็จะยิงสัญญาณไปยังผู้อ่านว่า นี่คือนักเขียนมาแรง เพื่อให้เขามีโอกาสแจ้งเกิดได้ ไม่เช่นนั้นนักเขียนหน้าเก่าก็จะครองชาร์ตตลอด

“ทั้งหมดนี้ก็เพราะเราตั้งใจทำที่นี่ให้เป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาวรรณกรรมไทย จึงไม่ได้สนใจเรื่องรายได้มากนัก อย่างวันหนึ่งใครจะคิดว่านิยายที่ดังบนออนไลน์ จะโด่งดังในโลกออฟไลน์ เวลามีงานหนังสือคนมาต่อแถวขอลายเซ็นกันยาวเหยียด เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่แค่แฟชันแล้ว แต่ถือเป็นทิศทางใหม่ของวงการวรรณกรรม” โน้ตสรุป 

05

มากกว่าเว็บไซต์

หากเทียบกับอายุคน วันนี้ Dek-D ก็คงเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว

แต่สำหรับผู้ก่อตั้งที่คลุกคลีกับแบรนด์นี้มาตลอด ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเรียนรู้และพัฒนา เพื่อให้สิ่งที่ช่วยกันสร้างขึ้น ตอบสนองและมีประโยชน์ต่อชีวิตของคนรุ่นใหม่มากที่สุด ดังแนวคิดขององค์กรว่า Develop the New Generation หรือสร้างรากฐานความสำเร็จในชีวิตให้คนรุ่นใหม่ 

“ช่วงแรกที่คนเข้าเว็บเยอะๆ เราก็คิดว่าจะอยู่ได้ตลอดไป แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ทุกอย่างเปลี่ยนตลอด วันนี้เว็บอาจไม่ได้เป็นส่วนสำคัญแล้ว แต่จุดยืนที่เรายังยึดมั่นเสมอคือ การเข้าถึงวัยรุ่น ถึงวันนี้ผู้คนอาจหันมาใช้โซเซียล แต่เรายังเชื่อว่าทุกคนมีสิ่งที่สนใจส่วนตัวอยู่ และเราก็อยากเป็นสิ่งนั้น เป็นเว็บที่ 2 ที่่น้องๆ เข้าหลังเช็กโซเซียล” โน้ตในฐานะซีอีโอของบริษัทอธิบาย

เพราะฉะนั้น ในทศวรรษที่ 3 พวกเขาก็ตั้งใจว่า อยากพา Dek-D ไปให้ไกลกว่าการเป็นเพียงบริษัทเว็บ แต่เป็นแบรนด์คุณภาพที่ไว้ใจได้ และพร้อมสนับสนุนความฝันของเด็กทุกช่องทางโครงการหนึ่งที่เริ่มแล้ว คือ ‘Dek-D’s School คอร์สออนไลน์คุณภาพที่เรียนได้ทุกคน’ หลังพบว่ากระแสการเรียนนอกห้อง หรือการเรียนที่บ้านกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

“เราไม่ได้วางตัวเองเป็นกวดวิชา 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่ได้ย้ายติวเตอร์มาอยู่บนออนไลน์ แต่เราต้องการพัฒนาเนื้อหาใหม่ ที่คิดว่าน้องเรียนแล้วจะได้ประโยชน์ รวมทั้งหาอาจารย์เก่งๆ มาช่วยสอน เช่นอาจารย์สอนเลขเคยสอนที่อเมริกาและสิงคโปร์มาก่อน หรืออาจารย์ฟิสิกส์ก็มีงานวิจัยเยอะแยะ

“เพราะเราเชื่อว่าการที่เด็กเกลียดบางวิชา จริงๆ อาจไม่ได้เกลียดก็ได้ แต่ดันโชคร้ายไปเจอคนสอนที่ไม่ตรงจริต หรือเรียนแล้วไม่เข้าใจ ดังนั้นเราจึงอยากหาวิธีให้เด็กรู้สึกรักวิชาที่เรียน มีโอกาสเข้าถึงเนื้อหาวิชาที่ดีจริงๆ เพื่อจะได้หลุดจากคำว่าท่องจำไปสอบ” โน้ตย้ำ

นอกจากนี้ พวกเขายังมีฝันที่อยากทำอีกมากมาย ทั้งจำลองสนามสอบ ก.พ. เพื่อให้คนที่อยากทำงานราชการได้ทดลองสอบก่อนลงสังเวียนจริง รวมถึงต่อยอดโปรแกรมการศึกษาที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น

แม้ทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ได้หมายว่าจะเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีความมุ่งมั่นและความตั้งใจ เหมือนตลอด 20 ปีที่เด็กสวนกุหลาบกลุ่มนี้รวมพลัง เพื่อสร้างชุมชนเล็กๆ ที่ไม่ธรรมดา ชื่อ ‘Dek-D’

โน้ต-วโรรส โรจนะ และ ปอล-ณปสก สันติสุนทรกุล ทีมก่อตั้ง Dek-D.com ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ที่รวมทั้งการศึกษา นิยาย และชุมชนออนไลน์ของวัยรุ่นไทย

ข้อมูลประกอบการเขียน

• สัมภาษณ์คุณวโรรส โรจนะ และคุณณปสก สันติสุนทรกูล วันที่ 5 กรกฎาคม 2562

• วิทยานิพนธ์ชุมชนออนไลน์ของเยาวชน : กรณีศึกษา WWW.DEK-D.COM โดย นฤมล อนุศาสนนันทน์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

• วิทยานิพนธ์ รูปแบบและกลยุทธ์การทำการตลาดออนไลน์ เว็บไซต์ เด็กดีดอทคอม โดย เพ็ญทิพ อุนากรสวัสดิ์สาขาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยศิลปากร

• หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม 2550 เซ็กชันจุดประกายวรรณกรรม – Dek-D.com ลานฝันนักเขียนใหม่

• นิตยสาร Way – 18 ปี Dek-D วัยรุ่นไม่เคยเปลี่ยน

• เว็บไซต์โรงเรียนจิตรลดา(สายวิชาชีพ) งานแนะแนว (สายวิชาชีพ) 26 / 07 / 54

• เว็บไซต์ Cat Radio – แมวค้นคน สัมภาษณ์หัวหน้าเด็กดี [dek-d.com]

• คุณอตินุช อสีปัญญา บรรยายในงาน Editor’s Talk on Stage ครั้งที่ 2 วันที่ 1 เมษายน 2560

Writer & Photographer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว