01
สังเกตง่าย ๆ มีต้นไม้ใหญ่หน้าบ้าน

สิ้นเสียงปลายสายไม่นาน ผมก็เห็นต้นไม้ใหญ่ที่ว่า เป็นต้นจามจุรีใหญ่เบิ้ม 3 ต้น เรียงตัวตามแนวรั้วบ้าน เจ้าของบ้านบอกว่า ท่านมาอยู่ที่นี่เมื่อ พ.ศ. 2514 ก่อนหน้านั้นเนิ่นนานถนนเศรษฐศิริมีเลนเดียว รถสวนกันพอดี มีคลองสองข้างทาง ทุกบ้านพร้อมใจกันปลูกจามจุรีให้ร่มเงาไว้ที่แนวรั้ว ซึ่งยุคนั้นเป็นรั้วลวดหนามบังตาด้วยพุ่มพู่ระหง ไม่ก็เอาไม้ไผ่มาตีเป็นระแนง พอถึงยุคที่ทุกบ้านเปลี่ยนรั้วเป็นกำแพงทึบเจ้าของบ้านก็โค่นจามจุรีทิ้ง เพราะขวางแนวกำแพง

เหลือแค่บ้านหลังนี้ ที่ใช้วิธีทำกำแพงให้เว้าหลบคุณปู่จามจุรีที่ปัจจุบันอายุร่วมร้อยปี

เจ้าของบ้านและผู้ออกแบบบ้านหลังนี้คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ผู้บุกเบิกและเสาหลักของวงการภูมิสถาปนิกไทย พ่วงด้วยตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ราชบัณฑิต และผู้ขับเคลื่อนงานรุุกขกร (ท่านเป็นคนบัญญัติคำนี้เอง) เพื่อดูแลงานตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ให้ถูกวิธี

ศ.ดร.เดชา บุญค้ำ นักออกแบบสวนสาธารณะมือหนึ่งกับสิ่งที่เกือบได้สร้างในสวนสำคัญ ๆ

เมื่อประตูบ้านเปิดออก อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ วัย 83 ปี ก็ออกมาต้อนรับอย่างกระฉับกระเฉง ท่านพาพวกเราเดินใต้ร่มไม้ครึ้มเข้าสู่ตัวบ้าน ท่านบอกว่า ต้นไม้ใหญ่ในบ้านทั้งหมดปลูกพร้อมตัวบ้านเมื่อ พ.ศ. 2537 ต้นไทรขี้นกฟอร์มสวยกลางบ้านขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนต้นไทรย้อยใบแหลมที่ปลูกอยู่ใกล้ ๆ ชั้นวางรองเท้าหน้าบ้าน นับเป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญ

“อาจารย์ที่คณะให้มา ตอนนั้นผมยังมีความรู้เรื่องต้นไม้ไม่มากนัก เห็นต้นเล็ก ๆ น่ารักดี หารู้ไม้ว่ามันคือลูกช้าง เราก็ปลูกซะใกล้บ้านเลย พอโตมาต้นเบ้อเริ่มรากก็เบียดบ้าน แต่ไม่ต้องโค่นทิ้ง หาทางจัดการได้ เหมือนต้นจามจุรีที่รั้ว นี่คืองานของรุกขกร” อาจารย์เดินนำเข้าสู่ตัวบ้าน

งานของอาจารย์เดชาเกือบทั้งหมดคืองานวางผังหลัก (Master Plan) และออกแบบภูมิทัศน์ ถ้าเป็นสวนสาธารณะก็อย่างเช่น สวนหลวง ร.๙, อุทยานเบญจสิริ, สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนเบญจกิติ ถ้าเป็นงานภูมิทัศน์โรงแรมก็เช่น โรงแรมฮิลตันอินเตอร์เนชั่นแนล บางกอก ณ ปาร์คนายเลิศ, โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ และ โรงแรมแชงกรี-ลา

ถ้าเป็นงานภูมิทัศน์บ้านก็เช่น พระตำหนักสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา, พระตำหนักสิริยาลัย และ ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา แล้วก็ยังมีงานวางผังหลักเบื้องต้นโรงพยาบาลศิริราช งานภูมิทัศน์ของคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ สถาบันการศึกษา โรงงานอุตสาหกรรม สนามบิน วัด สวนสัตว์ และอีกมากมาย นับรวม ๆ ได้ราว 125 งาน

วันนี้ผมแวะมาพูดคุยกับอาจารย์ในฐานะภูมิสถาปนิกนักออกแบบสวนสาธารณะระดับตำนานของเมืองไทย ถึงเรื่องราวที่ไปที่มาของสวนมากมายที่อาจารย์เคยออกแบบ รวมถึงสิ่งที่เกือบจะได้เห็นในสวนเหล่านี้

ศ.ดร.เดชา บุญค้ำ นักออกแบบสวนสาธารณะมือหนึ่งกับสิ่งที่เกือบได้สร้างในสวนสำคัญ ๆ

02
ถ้าไม่เรียนสถาปัตย์ ผมจะเข้าวนศาสตร์

อาจารย์เดชาพาเราเดินลงชั้นใต้ดินไปยังห้องทำงานและห้องสมุดของท่าน อาจารย์ออกแบบบ้านหลังนี้เองด้วยแนวคิดที่เรียบง่ายที่สุด ตั้งใจทำบันไดให้กว้างและเตี้ยเผื่อตอนมีอายุจะได้เดินเหินสบาย ถ้าทำได้วันนี้อาจารย์คงอยากกลับไปตบบ่าขอบใจตัวเองในวัยหนุ่ม

อาจารย์เดชาเกษียณแล้ว 2 ทศวรรษ แต่ตอนนี้ยังทำงานหนักกว่าหนุ่มสาวหลายคน งานหลักคือเป็นกรรมการประเมินตำแหน่งทางวิชาการให้ 9 มหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการหลายแห่ง ตามด้วยงานวิชาการอีกมากมาย “ช่วงหลังมานี้สุขภาพไม่ค่อยดี เพลียง่าย ลืมง่าย สงสัยจะแก่จริง” อาจารย์สรุปด้วยเสียงหัวเราะ

ถึงจะลืมง่าย แต่อาจารย์ก็เล่าชีวิตตัวเองในวัยเยาว์ได้ทุกรายละเอียด

อาจารย์เดชาเกิด พ.ศ. 2482 ที่เชียงราย คุณพ่อเป็นศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย คุณแม่เป็นครูซึ่งอาศัยอยู่กับคุณลุงที่เป็นคุณหลวงป่าไม้เขตจังหวัดลำปาง อาจารย์เกิดมาได้ไม่กี่ปี ก็มีสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามอินโดจีน ญี่ปุ่นรบชนะฝรั่งเศส ไทยจึงได้ครอบครองจังหวัดล้านช้าง (ส่วนหนึ่งของหลวงพระบาง) คุณพ่อเลยต้องเดินทางไปรับตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดล้านช้าง ทำงานแปลหนังสือใกล้ชิดกับเจ้าหลวง เป็นชีวิตที่รู้สึกเหมือนอยู่ในฉากเรื่อง บ่วงบรรจถรณ์ พอสงครามสงบ ต้องส่งมอบดินแดนคืน คุณพ่อก็กลับมาเชียงราย เด็กชายเดชาจึงได้เรียนชั้นประถมที่นี่ โดยมีเพื่อนรักชื่อ ถวัลย์ ดัชนี

“ผมชอบธรรมชาติตั้งแต่ตอนนั้น ชอบหนีโรงเรียนไปเที่ยวแม่น้ำกก โตมาตั้งใจว่าถ้าไม่เรียนสถาปัตย์ ผมจะเข้าวนศาสตร์ ชอบแค่สองอย่างนี้” จากนั้นอาจารย์เดชาก็เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วสอบเข้าคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้อย่างใจอยากใน พ.ศ. 2501 ก่อนจะเรียนจบด้วยคะแนนอันดับหนึ่งของรุ่น

ยุคนั้นเมืองไทยยังไม่มีภูมิสถาปนิกจริง ๆ โครงการออกแบบขนาดใหญ่เหล่าสถาปนิกที่มีโอกาสได้เรียนวิชาภูมิสถาปัตย์มาบ้างจะเป็นคนวางผังเอง ยุคนั้นงานออกแบบให้ความสำคัญกับอาคารเป็นหลัก ไม่ได้ลงรายละเอียดเรื่องการเชื่อมต่อของพื้นที่หรือทิศทางการระบายน้ำ เหมือนงานของภูมิสถาปนิกในปัจจุบัน

อาจารย์เดชาเริ่มงานในตำแหน่งสถาปนิกโท กรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย เริ่มงานไม่กี่วันก็ได้วางผังศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ หัวหมาก ในยุคที่ย่านนั้นมีแต่ทุ่งนา จากนั้นก็ได้เริ่มออกแบบสวนสาธารณะในหลายจังหวัด

ศ.ดร.เดชา บุญค้ำ นักออกแบบสวนสาธารณะมือหนึ่งกับสิ่งที่เกือบได้สร้างในสวนสำคัญ ๆ

03
เขาทำถึงว่ะ

อาจารย์เดชาสมัครเรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัยดัง ๆ ของอเมริการาว 5 แห่ง ทั้งหมดเป็นสาขาภูมิสถาปัตย์ เพราะรู้แล้วว่าตัวเองต้องการอะไร พ.ศ. 2511 สถาปนิกหนุ่มไฟแรงจากประเทศไทยก็ได้เรียนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

อาจารย์เดชาเดินทางไปเตรียมตัวก่อนเรียนราวครึ่งปี วันแรกที่ไปถึงเขาลองโทรไปสมัครงานกับ บริษัทภูมิสถาปนิกชื่อ Zion & Breen Associates ซึ่งช่วงนั้นกำลังออกแบบ Pocket Park หรือสวนขนาดเล็กครั้งแรกในโลกพอดี ผลคือสถาปนิกชาวไทยได้รับการตอบรับให้มาทำงานในวันรุ่งขึ้นทันที

พอเปิดเรียน มหาวิทยาลัยก็พานักศึกษาใหม่ไปเดินป่าใน Harvard Forest และค้างคืนในนั้น เพื่อเรียนรู้ว่า ป่าเกิดมาได้อย่างไร พื้นที่ป่าขนาด 12 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยไม่ถึงชั่วโมง เคยเป็นป่าเสื่อมโทรมที่ถูกตัดไม้ไปทำฟืนจนเหี้ยน ฮาร์วาร์ดเข้าไปซื้อที่ดินผืนนี้แล้วเปลี่ยนให้คืนมาเป็นป่าอีกครั้ง ร้อยกว่าปีผ่านไป ที่นี่กลายเป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์ที่มีระบบนิเวศหลายแบบ นี่คือประสบการณ์ใหม่ในชีวิตของอาจารย์เดชา ที่สัมผัสเห็นถึงพลังของการพาธรรมชาติมาหามนุษย์

“เขาทำถึงว่ะ” อาจารย์เดชารู้สึกแบบนั้น

นั่นเป็นช่วงเดียวกับที่เขาได้อ่านหนังสือเรื่อง Silent Spring ของ Rachel Carson ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อความสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และการทำงานของอาจารย์เดชาในเวลาต่อมา

“เมื่อก่อนเวลาพูดถึงระบบนิเวศ ผมมองว่าเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ซึ่งไม่น่าสนใจเท่าไหร่ จนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คนเขียนเป็นนักเคมี เขียนเมื่อ ค.ศ. 1950 กว่า ๆ เกี่ยวกับเมืองที่วันหนึ่งต้นไม้เขียวขจี แต่ไม่มีนก น้ำใส่แจ๋ว แต่ไม่มีปลาสักตัว ถ้าเป็นฤดูใบไม้ผลิปกติจะมีแมลงบินว่อน มีนก มีปลา มีเด็กวิ่งเล่นในสนาม ผู้คนรื่นเริง แต่ตอนนี้คนในหมู่บ้านหายไปหมดแล้ว ค่อย ๆ ตายทีละคนสองคน เพราะผลของสารเคมีที่ปล่อยจากโรงงานต่าง ๆ”

04
สวนสาธารณะไม่ได้มีไว้แค่ดู

พ.ศ. 2514 อาจารย์เดชาเรียนจบกลับมารับราชการเป็นสถาปนิกสังกัดกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย และร่วมร่างหลักสูตรและก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2520 โดยย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำตั้งแต่ พ.ศ.2517 จากนั้นก็ได้ออกแบบสวนสาธารณะสำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่อง

“เมื่อก่อนคนไม่ค่อยไปสวนสาธารณะกันหรอก เพราะบ้านมีที่เยอะแยะ คนที่ไปคือคนที่อยู่ในที่แออัดกับคนต่างชาติ แต่หลัง ๆ คนไทยเริ่มใช้มากขึ้น เอาจักรยานไปขี่ ไปวิ่งกันเป็นเรื่องปกติแล้ว”

อาจารย์เดชาเชื่อว่า แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแต่หลักการออกแบบสวนสาธารณะยังเหมือนเดิม เริ่มจากการนิยามคำว่า ‘สาธารณะ’ ถ้าเป็นสวนขนาดย่อม ผู้ใช้คือคนละแวกนั้น ต้องดูว่าเขาเป็นใคร อายุเท่าไหร่ ฐานะเป็นอย่างไร พฤติกรรมเป็นอย่างไร ต้องการอะไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาผ่อนคลาย เมื่อได้คำตอบก็นำมาวางผังการใช้สอยพื้นที่

“สวนสาธารณะไม่ได้มีไว้แค่ดู แต่ต้องรองรับการใช้งานอันหลากหลายของกลุ่มคนที่หลากหลาย นี่คือสิ่งที่ผมพยายามทำมาตลอด สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง” อาจารย์เดชายกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่าง การทำลานที่ชื่อ ‘สนามราษฎร์’ ให้คนทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ในสวนหลวง ร.๙ หรือการต่อสู้เพื่อให้ได้ทางเดินกว้าง 7 เมตรในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ แทนที่จะเป็นถนน 2 เมตรอย่างที่นักการเมืองในยุคนั้นต้องการ

เสาหลักของวงการภูมิสถาปนิกไทยวัย 83 ปี ผู้ออกแบบสวนสาธารณะและงานภูมิทัศน์สำคัญ ๆ มากที่สุดในประเทศ

05
ผู้หญิงไม่ได้ติดล็อกเก็ตทั้งตัวนะ ติดอันเดียวก็สวยแล้ว

อาจารย์เดชาทำท่าจะลุกไปหาผังสวนเบญจสิริมาให้ดูหลายรอบ เผื่อจะทำให้ผมเห็นภาพมากขึ้น แต่ผมยกมือห้ามไว้ เพราะดูท่าจะต้องรื้อหาทั้งห้องทำงาน

สวนเบญจสิริคือสวนสาธารณะกลางเมืองที่เปิดเมื่อ พ.ศ. 2535 ถือเป็นหนึ่งในงานออกแบบสวนที่ลงตัวที่สุดของอาจารย์เดชา โจทย์สำหรับงานนี้คือสวนสาธารณะย่านกลางเมือง ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่มาใช้สวนสาธารณะมี 2 กลุ่ม คือ Passive กับ Active

“กลุ่ม Passive คือ คนไปนั่งคุยกัน ไปเดินเล่น ให้อาหารนก หรือตั้งชมรมทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนกลุ่ม Active คือคนที่มาออกกำลังกาย ทำงานมาเหนื่อย ๆ ก็อยากมีที่วิ่ง ถ้าเป็นเด็กก็ต้องมีสนามเด็กเล่น เด็กมักจะไปกับคนแก่เพราะพ่อแม่ทำงาน ก็ต้องมีที่นั่งข้างสนามเด็กเล่นให้คนแก่ พอเด็กโตหน่อยก็มี Adventure Playground มีเชือกให้ปีน แล้วผมก็แอบใส่สระว่ายน้ำไปด้วย เพราะเด็กเมืองไม่รู้ว่าจะไปหัดว่ายน้ำที่ไหน”

อาจารย์เดชาบอกว่าลานสเก็ตที่เขาทำนั้นได้รับความนิยมถึงขนาดสวนยังสร้างไม่เสร็จ คนก็มาเล่นกันแล้ว เช่นเดียวกับสนามบาสและตะกร้อแบบล้อมตาข่าย ก็มีทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ คนรวย คนจน มาเล่นด้วยกัน แน่นทุกวัน

อาจารย์เดชาแอบบ่นว่าเสียดายที่สวนในยุคหลังปลูกไม้หย่อมและพุ่มไม้ดอกมากเกินไป ผิดจากแนวทางยุคแรก

“ที่นี่ไม่ได้ออกแบบให้เป็นที่ชมไม้ดอก คนมาสวนสาธารณะเขาต้องการพื้นที่นั่งเล่น วิ่งเล่น เหมือนอาคารที่ต้องมีห้องเล็กห้องน้อยให้คนได้รวมกลุ่มเล็ก ๆ แต่ไม้พุ่มพวกนี้ทำให้คนใช้พื้นที่ได้น้อยลง แล้วก็ต้องการการดูแลรักษาเยอะ เลยต้องลดการดูแลต้นไม้ใหญ่ลง” อาจารย์นึกหาวิธีที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น

“เหมือนกับผู้หญิง เขาไม่ได้ติดล็อกเก็ตทั้งตัวนะ ติดแค่อันเดียวก็สวยแล้ว ติดในตำแหน่งที่สำคัญ เพราะมันแพง ต้องขัด ต้องดูแล เดี๋ยวหายอีก เหมือนดอกไม้ที่มีเยอะก็ต้องระวังคนมาเหยียบ”

อาจารย์เดชาเล่าว่า แบบแรกของสวนซึ่งสร้างในยุคที่ยังไม่มีรถไฟฟ้า มีการทำสะพานลอยพร้อมทางลาดให้คนเข็นจักรยานข้ามถนนสุขุมวิทมาใช้บริการได้ด้วย แต่ไอเดียการเชื่อมต่อนั้นยังไม่เด็ดเท่าอันนี้

“ผมพยายามหาทางเชื่อมให้คนในซอยสุขุมวิท 22 มาใช้สวนได้โดยไม่ต้องเดินอ้อมไปเข้าจากถนนใหญ่ ผมเสนอให้ กทม. ซื้อตึกแถวเก่า ๆ ที่เขาประกาศขาย สักสามคูหา แล้วเจาะทะลุพื้นข้างล่างเป็นอุโมงค์มาโผล่ที่สวนเลย ตัวตึกก็ใช้เป็นที่ทำการของการสวน แต่เขาไม่ทำ เพราะงานนี้มันรีบมาก”

เสาหลักของวงการภูมิสถาปนิกไทยวัย 83 ปี ผู้ออกแบบสวนสาธารณะและงานภูมิทัศน์สำคัญ ๆ มากที่สุดในประเทศ

06
แนวคิดของเขาก็ดีนะ

สวนเบญจกิติเป็นผลงานอีกชิ้นของอาจารย์เดชาที่มีเรื่องเล่ามากมายเหลือเกิน

อาจารย์เดชาเป็นผู้วางผังหลักของสวนที่มีพื้นที่กว่า 400 ไร่ ผืนนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 แบ่งการทำงานออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกคือสวนที่มีทางวิ่งรอบสระน้ำริมถนนรัชดาภิเษก เขาเป็นผู้ออกแบบ แต่ก็ถูกปรับแบบเล็กน้อยโดยผู้ที่เข้ามาดูแลต่อ ส่วนนี้เปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2547

สวนในเฟสที่สอง ประกอบด้วยสวนประติมากรรม ที่จะเอางานประติมากรรมชิ้นดังที่ได้รางวัลมาจัดแสดงในสวน มีโซนที่เป็นป่าดงดิบให้คนเข้าไปเดินเล่นได้ เกิดเหตุอะไรก็ยังมองเห็นได้ เพราะพื้นที่ไม่ได้ใหญ่ ส่วนของอาคารโรงมวนบุหรี่สูง 15 เมตร ก็ทุบด้านในออก แล้วเปลี่ยนเป็นสนามกีฬาในร่ม กับอาคารที่ทำการ แล้วก็ยังมีลานโล่งสำหรับใช้จัดงาน ทำตลาดหรือจอดรถได้

“มีพื้นที่จุดหนึ่งยาว ๆ เหมือนสนามกอล์ฟพาร์ 5 ตรงปลายสนามผมออกแบบให้เอาเศษซากตึกที่ทุบ ขยะแข็งทั้งหลาย รื้อถอนแล้วไม่รู้จะทิ้งที่ไหน ก็มาทิ้งตรงนี้ แล้วถมดินให้เป็นภูเขาลาดลง ให้คนขึ้นไปวิ่งเล่นได้ เวลามีชุมนุมคนก็นั่งฟังปราศรัยได้” อาจารย์เล่าวิธีจัดการการรื้อถอนตึกที่น่าสนใจมาก

“มาสเตอร์แปลนอันนี้ดีมากนะ แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนคนดูแล เขาก็เอาไปเปลี่ยน ยุคหนึ่งนายกฯ อยากสร้างหอคอยสูงลิบ แล้วข้างบนใช้กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่โดนกระแสคัดค้าน อีกยุคหนึ่งมองว่าพื้นที่สีเขียวเยอะไป อยากเอาไปทำศูนย์การค้า ก็มีคนด่า พอเปลี่ยนรัฐบาลก็ล้มไป สุดท้ายเขาเอาแบบไปให้ใครไม่รู้ทำต่อ” อาจารย์เดชาเล่าต่อว่า หลังจากนั้นพื้นที่นี้ก็ถูกปรับเปลี่ยนรายละเอียดอีกหลายรอบ

แล้วก็มาจบลงตรงที่สวนในเฟสสอง ถูกแบ่งก้อนแรกออกมาทำก่อน เป็นสวนที่วางถนนเป็นตาราง ซึ่งต่างจากมาสเตอร์แปลน

นั่นจึงนำมาสู่การประกวดแบบเพื่อหาผู้ที่จะมาออกแบบส่วนที่เหลือ ผู้ที่ชนะคือ สถาบันอาศรมศิลป์ ด้วยแนวคิดทำสวนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่บางส่วนของสวนป่าเบญจกิติก็เปิดให้คนเข้าไปใช้งานได้แล้วตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา

“แนวคิดพื้นที่ชุ่มน้ำของอาศรมศิลป์เขาทำได้ดีนะ ไปได้ไกลกว่าที่ผมคิดไว้เยอะเลย คนก็ดูจะชอบกันเยอะนะ เห็นแชร์กันเยอะเลย” นักออกแบบสวนในตำนานพูดถึงสวนที่ดังที่สุดในตอนนี้

เสาหลักของวงการภูมิสถาปนิกไทยวัย 83 ปี ผู้ออกแบบสวนสาธารณะและงานภูมิทัศน์สำคัญ ๆ มากที่สุดในประเทศ

07
ไปซื้อฟืนในอนาคตมาทำไม

นอกจากงานออกแบบสวนสาธารณะ อีกบทบาทของอาจารย์เดชาที่ชัดเจนมากก็คือ การส่งเสริมงานรุกขกรรมในทุกมิติร่วมกับกลุ่ม Big Tree

“ผมรู้จักงานรุขกรรม หรือการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ครั้งแรกตอนไปเรียนเมืองนอก พอต้นไม้ผุเขาก็หาอะไรมาอุด ทำแผลให้สวย ต้นไม้ป่วยก็รักษา ผมก็เลยเอาการศัลยกรรมต้นไม้มาใช้ในเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เริ่มจากงานปรับปรุงสวนลุมพินี และดูแลต้นมะขามรอบสนามหลวง”

ผู้บัญญัติศัพท์คำว่ารุกขกรรมเล่าต่อว่า ในรอบเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เขาทั้งเขียนบทความ บรรยาย จัดอบรมการดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างถูกต้องให้กับภาครัฐ ไปจนถึงช่วยร่างหลักสูตรรุกขกรรมให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้

“ช่วง พ.ศ. 2515 กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยต้นกระถินณรงค์” อาจารย์เดชาเล่าถึงต้นไม้ยอดฮิตที่นิยมปลูกข้างทางในแต่ละยุคสมัย “ก่อนหน้านั้นขุนณรงค์ชวนกิจเอาต้นกระถินณรงค์จากออสเตรเลียมาปลูกทั่วกรุงเทพฯ เพราะมันโตเร็ว ในสวนจิตรลดาก็ปลูกเต็มเหมือนกัน พอออกดอกแล้วข่าวว่าพระราชินีท่านแพ้ เลยตัดออกหมดเลย เป็นต้นที่โตมาแล้วเก้งก้าง ตัดแต่งแล้วไม่ค่อยสวย เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว”

จากนั้นก็มาถึงยุคของต้นหลิว ซึ่งตอนนี้เหลือน้อยมาก ตามมาด้วยต้นชมพูพันทิพย์ที่ เชาวน์วัศ สุดลาภา ผู้ว่าฯ กทม. ระดมปลูกเพื่อฉลอง 200 ปี กรุงเทพฯ ใน พ.. 2525 ถัดจากนั้นก็เป็นยุคของพญาสัตบรรณ ซึ่งกลิ่นหอมฉุนของดอกทำให้ถูกตัดทิ้งไปเยอะมาก แล้วก็เป็นยุคของไม้โตเร็วฟอร์มแปลกอย่างหูกระจง จนถึงต้นมะฮอกกานี ประดู่ นนทรี ที่นิยมปลูกในปัจจุบัน

นอกจากเลือกต้นไม้มาปลูกแล้ว เราต้องตัดแต่งให้เขาอยู่ได้ เวลานี้งานรุกขกรรมคือสิ่งที่กำหนดการดำรงชีวิตของต้นไม้ในเมือง ถูกรถชนบ้าง ถูกตัดผิด ๆ บ้าง ระบบรากมีปัญหาบ้าง ถ้าไม่เข้าไปช่วย ต้นไม้มีโอกาสตายสูง”

ถึงแม้ว่าอาจารย์เดชาจะสนับสนุนการรักษาชีวิตต้นไม้ใหญ่อายุยืน แต่เขาไม่สนับสนุนการจัดสวนด้วยการ ‘ล้อมต้นไม้’ อายุมากมาจากที่อื่น

ถ้าคุณออกแบบโครงการที่ต้องการเห็นต้นไม้ใหญ่ทันทีที่เปิด ก็คงต้องล้อมมา แต่ถ้าคุณไม่รีบมาก ผมอยากให้คุณเอาต้นไม้เล็กมาปลูก เผลอแป๊บเดียวก็โตกว่าต้นใหญ่ที่คุณล้อมมาแล้ว ต้นไม้อายุมาก ๆ มันมีชีวิตอยู่ตรงเปลือกแค่หน่อยเดียวเองนะ รากก็แตกไปทางแนวนอน ไม่ลงลึก เซลล์ก็ไม่ไหวแล้ว คุณจะไปซื้อฟืนในอนาคตมาทำไม แต่ต้นไม้ใหม่ ๆ มีชีวิตเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โตเร็วมาก

เหมือนผมกับเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งยืนคู่กัน ถ้าเปรียบเป็นต้นไม้ คุณควรเอาเด็กไปปลูกนะ ไม่ใช่ผม”

เสาหลักของวงการภูมิสถาปนิกไทยวัย 83 ปี ผู้ออกแบบสวนสาธารณะและงานภูมิทัศน์สำคัญ ๆ มากที่สุดในประเทศ

08
ทักษะมนุษย์ คือทักษะวิชาชีพของสถาปนิก

อาจารย์เดชาขอตัวรับสายโทรศัพท์สักครู่ พอวางสายไป เจ้าของรางวัลสถาปนิกดีเด่นด้านอนุรักษ์พลังงานจากหลายสถาบันบอกว่า ช่างโซลาร์เซลล์โทรมานัดว่าพรุ่งนี้จะเข้ามาซ่อม ซึ่งมันก็สมควรแก่เวลา เพราะบ้านหลังนี้ติดแผงพลังงานแสงอาทิตย์มาเกือบ 20 ปีแล้ว

เมื่อถามถึงคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดที่ภูมิสถาปนิกที่ดีควรมี คำตอบก็มาทันที

หนึ่ง ฝีมือ แต่นั่นไม่สำคัญเท่าข้อสอง” อาจารย์เว้นจังหวะให้เดา “คุณต้องมีทักษะมนุษย์ คุณจะสัมพันธ์กับคนอย่างไร นี่ถือเป็นทักษะวิชาชีพนะ งานหนึ่งชิ้นเราต้องทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก ทำยังไงถึงจะทำงานกับทุกคนได้ ไม่ใช่เจ้าของงานให้แก้ก็ไม่แก้ แล้วไปหาว่าเขาโง่ หรือทำงานไปแล้วคนอื่นหาว่าเราหยิ่ง ชิ้นต่อไป เขาก็ไม่ให้เราทำแล้ว คุณต้องมีทั้งฝีมือและมนุษยสัมพันธ์”

แล้วถ้าเป็นคนที่ตัดสินใจในการอนุมัติแบบล่ะ เขาควรจะมีหลักคิดในการพิจารณาอย่างไร ถึงจะได้งานที่ดี

“ขอให้เชื่อนักออกแบบที่เป็นภูมิสถาปนิก” อดีตนายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทยตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้พิจารณาแบบจำนวนมากไม่ค่อยเชื่อ เพราะคิดว่าการวางผังจัดสวนใคร ๆ ก็ทำได้ สวนที่บ้านเขายังออกแบบเองได้เลย

“ถ้าเป็นสวนที่บ้านของเขา จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ อย่างบ้านผม หลานจะขุดบ่อปลา ก็ปล่อยเขาขุดไป แต่สวนสาธารณะต้องตีโจทย์ให้แตก ใครคือคนใช้ คนกลุ่มไหน ฝรั่ง จีน ไทย แขก มอญ ก็พฤติกรรมต่างกัน รวยจนก็ใช้ไม่เหมือนกัน คำสำคัญคือ ต้องหลากหลาย ต้องใช้งานได้จริง ต้องดูแลรักษาง่าย และต้องปลอดภัย”

อาจารย์เดชาเล่าเรื่องการเปลี่ยนแบบมากมายที่เขาเคยโดน เช่น อยู่ดี ๆ ก็สั่งให้ทำบ่อรูปดาวในพื้นที่ โดยไม่รู้ว่าจะขวางทางระบายน้ำจนน้ำท่วม หรือการลดขนาดทางเดินในสวนจาก 7 เมตรเหลือ 2 เมตร ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้งานอย่างมหาศาล รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม แต่มันอาจจะกระทบต่อชีวิตของสวนเลยด้วยซ้ำ

“ถ้าคุณอยากได้อะไร คุณก็บอกภูมิสถาปนิก แล้วคุณก็เชื่อเขาเถอะ” อาจารย์เดชาทิ้งท้ายถึงผู้ที่กำลังทำงานร่วมกับภูมิสถาปนิกทุกคนในสิ่งที่เขาเชื่อมาตลอด

เสาหลักของวงการภูมิสถาปนิกไทยวัย 83 ปี ผู้ออกแบบสวนสาธารณะและงานภูมิทัศน์สำคัญ ๆ มากที่สุดในประเทศ

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)