ขณะที่เขียนเรื่องนี้อยู่ ไวรัสโคโรน่ากำลังระบาดอยู่ทั่วไปในโลก และอิตาลีก็โดนหนักเอาเรื่องอยู่ ยืนหนึ่งในยุโรป

ครั้นจะเอาหูเอานาไปตาไปไร่ เขียนเล่าเรื่องอิตาลีโดยทำประหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ทำไม่ลง วันนี้เลยมาแนวโรคภัยนิดหน่อย ขอแตะนิดหนึ่ง สัญญาว่าจะไม่ทำให้หดหู่

วันนี้จะมาเล่าให้ฟังถึงวรรณคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งดูเหมาะเหม็งที่จะกล่าวถึงในช่วงเวลานี้ยิ่งนัก

นั่นคือ เรื่อง เดกาเมรอน (Decameron) ของ โจวันนี บอกคัชโช (Giovanni Boccaccio) นักประพันธ์ชาวอิตาลีในสมัยศตวรรษที่ 14 ใส่ชื่อฝรั่งกำกับไว้ด้วย เผื่อใครเคยรู้จักแล้วแต่ด้วยชื่ออื่น จะได้เข้าใจตรงกันว่าคนเดียวกัน เรื่องเดียวกัน

ใครเคยดูหรืออ่าน สะใภ้จ้าว ไหม มันคือหนังสือที่สาลินพยายามขโมยจากห้องสมุดของเสด็จพระองค์หญิงไปอ่านนั่นเอง ภาษาไทยก็มีแปล แต่ไม่ครบ 100 เรื่อง ใช้ชื่อเรื่องว่า บันเทิงทศวาร จากนั้นยาขอบก็เอาไปแปลงเป็นเรื่องไทยๆ ใช้ชื่อเรื่องว่า กามเทวะนิยาย 

แค่ชื่อและกิริยาการลักลอบเอาไปอ่านก็คงจะพอเดาได้ใช่ไหมว่า น่าจะเผ็ดแค่ไหน

เอาล่ะ คราวนี้จะเล่าประหนึ่งว่าไม่มีใครเคยรู้เรื่องนี้นะ

วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรรมร้อยแก้ว (ก็คือความเรียงธรรมดาไม่มีสัมผัสนี่ล่ะ) เขียนในราวช่วง ค.ศ. 1350 – 1353 วงการวรรณกรรมนับเรื่องนี้เป็นนวนิยายเรื่องแรกของโลก เป็นต้นแบบของนิยายสมัยใหม่ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Novel เพราะในภาษาอิตาลีลักษณะการเขียนเช่นนี้เรียกว่า Novella แปลว่า ความใหม่ ซึ่งนั่นก็คือลักษณะการเขียนแบบใหม่ ที่ว่าใหม่เพราะแต่เดิมนิยมเขียนกันด้วยร้อยกรองทั้งสิ้น อาจฟังดูแปลก แต่คนสมัยนั้นคงคิดว่าเขียนด้วยภาษาที่พูดๆ กันอยู่มันจะไปเด็ดอะไร จะเขียนทำไมให้เปลืองหมึกกระดาษ จะเขียนทั้งทีต้องกรองออกมาเป็นฉันทลักษณ์สิถึงจะแน่

เดกาเมรอน ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นย่อยๆ 100 เรื่อง ผู้ประพันธ์ตั้งใจเขียนไว้ให้ผู้หญิงอ่าน ด้วยว่าผู้หญิงสมัยนั้นไม่มีความบันเทิงเริงใจอะไรเลย พวกผู้ชายยังมียิงนก ตกปลา ขี่ม้า ล่าเหยี่ยว และอะไรต่อมิอะไรให้ทำยามต้องการพักผ่อนหย่อนใจ

ชื่อนี้ไม่ได้เป็นชื่อภาษาอิตาลี หากแต่เป็นภาษากรีก เดกา แปลว่า 10 เมรอน แปลว่า วัน อันหมายถึงจำนวนวันที่ใช้เล่าเรื่องนั่นเอง

เกริ่นมาขนาดนี้ยังไม่เห็นเกี่ยวกับโรคภัยแต่อย่างใด

เกี่ยวสิ

บอกคัชโชเขียนเรื่องนี้โดยให้ตัวละคร 10 คน เป็นเด็กหนุ่มสาวตระกูลสูงของเมืองฟลอเรนซ์ หนีภัยกาฬโรคซึ่งกำลังระบาดอยู่ในฟลอเรนซ์อยู่ใน ค.ศ. 1348

กาฬโรคในยุโรปยุคกลางนั้นร้ายนัก เฉพาะเมืองฟลอเรนซ์ซึ่งมีประชากรขณะนั้นแสนกว่าคน ลดลงไปกว่าครึ่งเลยทีเดียว

ส่วนสภาพของเมืองฟลอเรนซ์ในขณะนั้นจะเป็นอย่างไรนั้น บอกคัชโชเขียนไว้ในตอนต้น แปลได้ว่า

สลดแสน บรรดาเวียงวังอันโอฬาร เหย้าเรือนอันวิจิตร เคหาสน์อันโอ่อ่า แต่ก่อนเคยคลาคล่ำด้วยหมู่ญาติ ทั้งบุรุษนารีในกุลชาติ มาบัดนี้กลับวังเวงร้างไร้จนแม้บ่าวไพร่แลข้าทาส”

(คำแปลอันไพเราะนี้เป็นของ ผศ. ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง เผยแผ่ในเฟซบุ๊กของท่านเอง และได้รับอนุญาตให้เผยแผ่แล้ว)

Decameron นวนิยายแรกของโลกที่พูดถึงการหนีภัยกาฬโรคที่ระบาดในฟลอเรนซ์เมื่อ 672 ปีก่อน
กาฬโรคในฟลอเรนซ์ ค.ศ.1348
ภาพ : commons.wikimedia.org

ตามเรื่อง เด็กหนุ่มสาวทั้งสิบพบกันที่โบสถ์ซันตามาเรียโนเวลลา (Santa Maria Novella) (ใครเคยนั่งรถไฟไปฟลอเรนซ์จำได้ไหมว่าสถานีใจกลางเมืองนั้นชื่อ Stazione di Firenze S.M.N. เจ้าตัวย่อนั่นก็คือชื่อวิหารนี้นี่เอง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ)

เมื่อเจอกันแล้ว ทั้งหมดก็นัดหมายกันหนีโรคภัยและความหดหู่ของเมืองฟลอเรนซ์ออกไปนอกเมือง จุดหมายปลายทางคือคฤหาสน์ของหนึ่งในบรรดาเด็ก 10 คนนี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองฟลอเรนซ์ แถบเขต Fiesole อันเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ห่างจากฟลอเรนซ์ไปไม่ไกล ทั้งทำเลที่ตั้งก็อยู่บนเนินเขา มองเห็นเมืองฟลอเรนซ์อยู่ลิบๆ เชื่อกันหนักแน่นว่าคือ วิลลา ปัลมิแยรี (Villa Palmieri)

Decameron นวนิยายแรกของโลกที่พูดถึงการหนีภัยกาฬโรคที่ระบาดในฟลอเรนซ์เมื่อ 672 ปีก่อน
วิลลา ปัลมิแยรี เมืองฟีแยโซเล
ภาพ : laurettadimmick.com

เมื่อสักครู่ ได้ลองเดินจากโบสถ์ซานตามาเรียฯ ไปยังคฤหาสน์แห่งนี้ด้วยกูเกิลแมปส์ก็พบว่าห่างออกไป 3.5 กิโลเมตรเท่านั้น ใช้เวลาเดินราว 46 นาที (ขากลับ 44 นาที เนื่องจากขาไปต้องขึ้นเนิน) ระยะทางแค่นี้ไม่ครณาอิตาเลียนผู้ชอบเดินหรอก ประมาณจากพารากอนไปแยกอโศก หรือจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปสะพานควายเท่านั้นเอง

แล้วไปทำอะไรกัน

เมื่อทั้งสิบไปถึงยังคฤหาสถ์แล้ว ก็ได้คิดขึ้นว่า พวกเรานี้หนอต้องอยู่ที่นี่กันถึง 2 สัปดาห์ จะทำอะไรกันดีเพื่อแก้เหงา อย่ากระนั้นเลย นอกจากร้องเพลง เต้นรำ ฯลฯ แล้ว พวกเราจงมาผลัดกันเล่านิทานดีกว่า เล่าคนละเรื่อง 10 วันก็ 10 เรื่อง

10 คน ก็ได้ 100 เรื่อง…ฉะนี้

สำหรับคนขี้สงสัย 2 สัปดาห์ก็ 14 วันไหม แล้วนับยังไงให้เป็น 10 x 10

คำตอบคือ เขางดกิจกรรมในวันศุกร์และวันเสาร์ วันศุกร์เพราะเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ (เป็นวันสิ้นพระชนม์ของพระเยซู) ส่วนวันเสาร์นั้น เดอะแก๊งกำหนดให้เป็นวันดูแลรักษาสุขอนามัยของตนเอง…รอบคอบสุด ๆ

Decameron นวนิยายแรกของโลกที่พูดถึงการหนีภัยกาฬโรคที่ระบาดในฟลอเรนซ์เมื่อ 672 ปีก่อน
รายละเอียดด้านใน
ภาพ : laurettadimmick.com

กติกาอื่นๆ ที่สำคัญ จะต้องมีพระราชาหรือพระราชินีประจำวัน ซึ่งเลือกกันตอนสิ้นวัน พระราชาหรือพระราชินีผู้นี้ เป็นผู้กำหนดแนวของเรื่องในวันรุ่งขึ้นและควบคุมการเล่าเรื่องทั้งหมด โดยมีหนุ่มน้อยคนหนึ่งขอตัวเป็นผู้เล่าคนสุดท้ายของทุกวัน โดยให้เหตุผลว่า หากบรรยากาศของการเล่าเรื่องดูตุ่นๆ แป้กๆ เขารับรองว่าจะทำให้วันจบลงอย่างสวยงามด้วยเรื่องของเขาเอง

เรื่องที่เล่านั้นหลายเรื่องเป็นเรื่องสนุก โลดโผน สองแง่สองง่าม จนถึงกับมีคำคุณศัพท์ในภาษาอิตาลีคำหนึ่งคือ boccaccesco แปลตรงตัวว่า แบบบอกคัชโช ซึ่งในความหมายก็คือ ทะลึ่ง สัปดน ผิดทำนองคลองธรรม อะไรทำนองนั้น

Decameron นวนิยายแรกของโลกที่พูดถึงการหนีภัยกาฬโรคที่ระบาดในฟลอเรนซ์เมื่อ 672 ปีก่อน
ภาพ : www.college.columbia.edu

ยกตัวอย่างเรื่องที่สัปดนสักหน่อยก็คือ

พระเอกหนุ่มรูปงามของเรื่องเป็นชาวไร่ชาวนาธรรมดาๆ คนหนึ่ง วันหนึ่งคนสวนของอารามนางชีบนเนินเขาขอลาออกจากงานเพื่อกลับมาอยู่อย่างแร้นแค้นที่บ้าน โดยบอกว่าพวกนางชีเหล่านั้นมีความร้ายกาจอยู่ในตัว

หนุ่มเจ้าได้ยินดังนั้นจึงไปสมัครงานเป็นคนสวนโดยแกล้งเป็นคนใบ้ คุณแม่อธิการก็รับไว้ทันที

ตอนแรกๆ พวกนางชีก็แกล้งคนสวนใบ้เอาสนุก แต่แล้วนางชี 2 คนก็เริ่มมองเห็นว่าควรสนุกกับหนุ่มเจ้าด้วยเรื่องอื่นแทน จะไปเล่าต่อก็ไม่ได้ คิดได้ดังนั้น พวกนางจึงช่วยกันจัดแจงหาวันเวลาที่ปลอดคน พาหนุ่มเจ้าไปปฏิบัติการอันสุนทรในกระท่อมปลายสวน ไม่นานเรื่องก็ถึงหูแม่ชีคนอื่น ซึ่งก็เข้ามาแวะเวียนใช้บริการเด็กหนุ่มใบ้ปลอมคนนั้น 

ในที่สุด เรื่องก็ถึงหูคุณแม่อธิการซึ่งมาใช้บริการเป็นคนสุดท้าย ไม่แค่นั้น ยังกักตัวชายหนุ่มไว้เสพสมคนเดียวเป็นเวลาหลายวัน จนเด็กหนุ่มนั้นหมดความอดทนและหลุดปากออกมาว่าไม่ไหวแล้ว และจะขอลาออก 

คุณแม่อธิการตกใจที่ชายหนุ่มพูดได้ เขาจึงแก้ตัวโดยบอกว่า นี่คือ ‘ปาฏิหาริย์’ ไง คุณแม่อธิการจะเชื่อจริงหรือไม่เชื่อจริงก็ตาม แต่ก็ไหลตามนั้นไป และนอกจากไม่ให้ลาออกแล้ว ยังยกตำแหน่งผู้ดูแลอารามให้ด้วย เพื่อที่เขาจะได้ไม่เอาเรื่องออกไปแพร่งพรายข้างนอก เรื่องเล่าต่อไปว่า ชายหนุ่มก็อยู่อย่างสุขสม จนกระทั่งแก่ตัว ก็เกษียณตัวเองออกไปอยู่ตามไร่นาตามเดิม

ต้องบอกปฏิกิริยาของศาสนจักรไหม…

แต่ก็ใช่ว่าจะสัปดี้สัปดนทุกเรื่องไป แก่นเรื่องที่ว่าด้วยความรักและศักดิ์ศรีก็มีอยู่ไม่น้อย เช่นเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

Decameron นวนิยายแรกของโลกที่พูดถึงการหนีภัยกาฬโรคที่ระบาดในฟลอเรนซ์เมื่อ 672 ปีก่อน
ภาพ : en.wikipedia.org

เรื่องนี้ทั้งพระเอกนางเอกเป็นขุนน้ำขุนนาง มียศมีศักดิ์กันทั้งสิ้น แต่พระเอกรูปงามนั้นค่อนข้างจะเสเพลสักนิด จึงอกหักปล่อยให้หญิงที่ตนเองหลงรักไปแต่งงานกับคนอื่นเสียได้ คืนวันผ่านไป พระเอกยากจนลง จนต้องออกไปอยู่นอกเมืองพร้อมด้วยเหยี่ยวที่ ‘ลักษณะดีที่สุดในโลก’ (ในยุคกลาง การเลี้ยงเหยี่ยวเป็นกิจกรรมหนึ่งของผู้มีศักดิ์)

ฝ่ายนางเอกซึ่งมีลูกชายแล้วก็ดำเนินชีวิตไปตามฐานานุรูปของหญิงภริยาขุนนาง จนวันหนึ่งสามีของนางตาย นางจึงกลายเป็นหญิงม่ายผู้ร่ำรวย เฉกเช่นผู้ดีมีตระกูลในยุคนั้น 

ในช่วงฤดูร้อน นางก็พาลูกไปพักผ่อนยังคฤหาสน์ฤดูร้อนของตน ซึ่งบังเอิญอยู่ห่างจากที่พำนักของพระเอกไม่ไกลนัก เด็กชายและพระเอกทำความรู้จักสนิทสนมกันดี ส่วนนางเอกก็ต้องไว้ตัวอยู่ห่างๆ เด็กชายชอบเหยี่ยวของพระเอกมาก ถึงขนาดที่วันหนึ่งล้มป่วยหนักยังบอกผู้เป็นแม่ว่า “หากลูกได้เหยี่ยวตัวนั้น ลูกคิดว่าลูกต้องหายดีแน่” นางเอกถึงกับต้องบากหน้าขอพบพระเอกด้วยตั้งใจจะไปขอเหยี่ยวทั้งที่ไม่อยากขอ 

พระเอกซึ่งยากจนข้นแค้นขนาดนั้น เมื่อรู้ว่านางที่ตนรักจะมาเยือนถึงที่บ้าน จึงต้องพยายามอย่างเต็มที่ที่จะต้อนรับนาง เมื่อสิ้นไร้ทุกสิ่ง หนุ่มเจ้าจึงตัดสินใจฆ่าเหยี่ยวตัวนั้นเพื่อปรุงเป็นอาหารต้อนรับนาง เมื่อนางมาถึงและเอ่ยปากขอเหยี่ยวบนโต๊ะอาหาร พระเอกของเราจึงกับหลั่งน้ำตา ด้วยว่านี่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่นางผู้เป็นที่รักขอความช่วยเหลือจากเขา แต่เขากลับให้ไม่ได้

นางเอกของเราก็เสียใจเช่นกันแต่ก็ได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ในจิตใจของพระเอก ในที่สุดไม่นานนัก ลูกชายที่ป่วยหนักก็ตาย เหลือเพียงตัวคนเดียว หญิงคนเดียวจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ผู้ชายที่ร่ำรวยและมียศถาบรรดาศักดิ์ต่างมารุมล้อม แต่แล้วนางก็เลือกพระเอก ด้วยประจักษ์แล้วว่า เขามีจิตใจที่สูงส่งอย่างแท้จริง

Decameron นวนิยายแรกของโลกที่พูดถึงการหนีภัยกาฬโรคที่ระบาดในฟลอเรนซ์เมื่อ 672 ปีก่อน
ภาพ : www.45spaces.com

เมื่ออยู่ครบ 2 สัปดาห์ หนุ่มสาวทั้งสิบก็กลับสู่เมืองฟลอเรนซ์และไม่มีใครทราบชะตากรรมต่อไป…เนื่องจากผู้เขียนจบเรื่องไว้อย่างนั้น

2 สัปดาห์…14 วัน

อืมม…มันบังเอิญหรือเปล่าหนอที่เป็นจำนวนวันที่ในปัจจุบันใช้กักตัวเพื่อดูอาการของโรคในสมัยนี้พอดิบพอดี

สุดท้ายนี้ขอจบบทความด้วยการส่งกำลังใจไปให้ทุกคน ไม่ใช่แค่อิตาลี

ท่ามกลางความหดหู่นี้ ขอให้ทุกท่านพบกับความสุขสนุกสนาน อันจะหล่อเลี้ยงชีวิตให้สู้ต่อไปเหมือนเด็กหนุ่มสาวทั้งสิบในเรื่องนี้เช่นกันด้วยเทอญ

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า