“ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสความตาย” (อัลกุรอาน 21:35) เป็นข้อความที่มุสลิมจำไว้เตือนใจตนเองเพื่อให้พร้อมรับวินาทีที่ลมหายใจสุดท้ายของตนมาถึงในสักวัน ศาสนาอิสลามเชื่อว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นโดยกำหนดเวลาเกิดและเวลาสิ้นลมไว้ให้แล้ว มนุษย์มีเพียงชีวิตเดียว ตายแล้วไม่กลับมาเกิดอีก แต่ในศาสนาอิสลามความตายไม่ใช่การสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่งซึ่งมนุษย์จะได้พบเจอถึง 3 โลกคือ ดุนยา อาลัมบัรซัค และอาคิเราะฮ์

‘ดุนยา’ คือโลกที่เราใช้ชีวิตกันอยู่นี่เอง สิ่งที่เห็นที่เป็นในโลกนี้เป็นเพียงของชั่วคราว ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตคือบททดสอบความเชื่อและความยำเกรงในพระเจ้า เมื่อตายลงจะย้ายไปยังโลกที่สองคือ ‘อาลัมบัรซัค’ ซึ่งเป็นโลกของชีวิตในหลุมฝังศพ มนุษย์จะถูกส่งมายังอาลัมบัรซัคโดยนำสิ่งใดจากดุนยาติดตัวมาไม่ได้เลย ยกเว้นความดีที่เคยทำไว้ และความดี 3 ประการที่จะมีผลต่อไปถึงชีวิตในโลกหน้า อันได้แก่การให้ทานที่เขายังมีคุณูปการอยู่ (เช่น เคยบริจาคเงินสร้างสิ่งสาธารณะประโยชน์ และยังมีคนใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นอยู่หลังจากที่ผู้บริจาคได้ตายไปแล้ว) ความรู้ที่เขาได้เผยแผ่ และลูกที่ดีคอยขอพรให้

พิธีศพ โลกหลังความตาย และสิ่งเร้นลับคล้ายผีใน ศาสนาอิสลาม
การละหมาดและขอพรอุทิศให้ผู้ตายในวัฒนธรรมมุสลิม
ภาพ : นเรนทร์ อหะหมัดจุฬา
พิธีศพ โลกหลังความตาย และสิ่งเร้นลับคล้ายผีในศาสนาอิสลาม
การฝังศพของมุสลิม
ภาพ : นเรนทร์ อหะหมัดจุฬา
พิธีศพ โลกหลังความตาย และสิ่งเร้นลับคล้ายผีในศาสนาอิสลาม
ภาพการฝังศพของมุสลิมในจิตรกรรมอาหรับ ค.ศ. 1237
ภาพ : Bibliothèque nationale de France

เล่ามาถึงตรงนี้แล้วก็ขอแทรกเรื่องเกี่ยวกับพิธีฝังศพของศาสนาอิสลามสักนิดก่อนจะพูดถึงชีวิตในโลกสุดท้าย การทำศพของศาสนาอิสลามคือการฝัง เป็นการกลับคืนสู่ดินที่เป็นต้นกำเนิดของตนเอง เพราะในคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า “จากแผ่นดินเราได้บังเกิดพวกเจ้า และ ณ แผ่นดินนั้นเราจะให้พวกเจ้ากลับคืนไป…” (อัลกุรอาน 20:55) 

เมื่อพี่น้องมุสลิมคนใดสิ้นชีพลง มุสลิมจะกล่าวเป็นภาษาอาหรับว่า “อินนาลิลลาฮี วาอินนาอีลัยฮีรอญีอูน” แปลว่า “แท้จริงเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และยังพระองค์ที่เราต้องกลับไป” ครอบครัวและญาติมิตรจะมาช่วยกันทำพิธีศพ ศาสนาอิสลามไม่เน้นสิ่งใดที่เกินความจำเป็น พิธีศพของมุสลิมจึงเรียบง่ายและรวดเร็ว ส่วนใหญ่ใช้เวลาแค่วันเดียว ในงานเต็มไปด้วยความสำรวม เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจและน้ำใจไมตรีของญาติมิตรที่มาร่วมกันส่งศพ 

การจัดการศพของมุสลิมมี 4 ขั้นตอน เริ่มจากให้คนในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดมาอาบน้ำศพ ซึ่งอาจประพรมเครื่องหอมลงไปด้วย ถ้าผู้ตายเป็นชายผู้อาบก็ต้องเป็นผู้ชาย ถ้าผู้ตายเป็นหญิงผู้อาบก็ต้องเป็นผู้หญิง แล้วห่อศพด้วยผ้าขาวสะอาดเรียกว่า ‘ผ้ากะฝั่น’ บางแห่งอาจให้ผู้ตายสวมชุดละหมาดสีขาวแล้วห่อด้วยผ้ากะฝั่นทับอีกชั้น จากนั้นเคลื่อนศพไปที่มัสยิด ครอบครัวและญาติมิตรจะมาร่วมกันขอพรและละหมาดอุทิศให้ผู้ล่วงลับ ผู้ละหมาดจะต้องรู้ว่าผู้ตายเป็นชาย เป็นหญิง หรือเป็นเด็ก เพราะใช้บทขอพรต่างกัน 

การขอพรในที่นี้ คือการวอนขอพระเจ้าให้ทรงเมตตา และยกโทษให้ผู้ตายในความผิดที่เขาอาจเคยได้ทำไว้ ในบางชุมชนผู้ร่วมงานจะกล่าวยืนยันว่าผู้ตายเป็นคนดี เพื่อขอให้พระเจ้าทรงกรุณาพาเขาสู่สวรรค์ด้วย ขั้นตอนสุดท้ายคือเคลื่อนศพไปที่กุโบร์ (สุสาน) แล้วนำศพลงฝังในหลุมที่ขุดไว้ โดยให้ศพนอนตะแคงหันหน้าไปยังทิศของกะบะฮ์ที่กรุงเมกกะฮ์ในประเทศซาอุดิอาระเบีย (ในประเทศไทยคือทิศตะวันตก) แล้วปักเครื่องหมายไว้บนหลุมเพื่อไม่ให้ใครเผลอมาเหยียบ และเพื่อให้ญาติมิตรจำได้เวลามาเยี่ยมผู้ตาย ด้วยการพูนดิน ปลูกต้นไม้ หรือใช้หินหรือไม้ปักหลุมศพ แต่ต้องเรียบง่ายไม่ตกแต่งมากเกินไป

พิธีศพ โลกหลังความตาย และสิ่งเร้นลับคล้ายผีในศาสนาอิสลาม
ตัวอย่างกุโบร์หรือสุสานของมุสลิม
พิธีศพ โลกหลังความตาย และสิ่งเร้นลับคล้ายผีในศาสนาอิสลาม
ตัวอย่างกุโบร์หรือสุสานของมุสลิม ภาพกุโบร์หาดทรายข้างมัสยิดดารุลอามาน อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

กุโบร์ส่วนใหญ่จะอยู่ภายในเขตมัสยิดหรืออยู่ท่ามกลางย่านอยู่อาศัย ไม่ตั้งอยู่ในที่ที่ห่างไกลผู้คนเหมือนสุสานของศาสนาอื่นๆ เพราะศาสนาอิสลามสนับสนุนให้มุสลิมไปเยี่ยมสุสานเพื่อขอพรให้ผู้ล่วงลับ และเพื่อเตือนใจว่าความตายเป็นสิ่งใกล้ตัวที่จะมาถึงตนเองสักวัน

ชีวิตในโลกที่สองในหลุมฝังศพหรืออาลัมบัรซัคคือช่วงที่ดวงวิญญาณรอการมาถึงของวันพิพากษาที่เรียกว่า ‘วันกิยามะฮ์’ ในวันนั้นพระเจ้าจะบันดาลให้ผู้ตายทุกคนคืนชีพขึ้นมา เพื่อรับผลตอบแทนจากสิ่งที่เคยทำไว้ในโลกดุนยา เมื่อผ่านการตัดสินแล้ว มนุษย์จะถูกส่งไปยังโลกที่สามซึ่งเป็นโลกสุดท้ายที่มนุษย์จะได้พำนักอยู่ที่นั่นตลอดไปเรียกว่า ‘อาคิเราะฮ์’ โลกอาคิเราะฮ์มี 2 ส่วน สวรรค์กับนรก สวรรค์คืออาคิเราะฮ์ของคนดี นรกคืออาคิเราะฮ์ของคนชั่ว

พิธีศพ โลกหลังความตาย และสิ่งเร้นลับคล้ายผีในศาสนาอิสลาม
ภาพสวรรค์ในฉากการเดินทางของศาสดามุฮัมมัดในค่ำคืนอิสรออ์-เมี๊ยะรอจ จิตรกรรม ค.ศ. 1436
ภาพ : Bibliothèque nationale de France
พิธีศพ โลกหลังความตาย และสิ่งเร้นลับคล้ายผีในศาสนาอิสลาม
พรมจากอิหร่าน คริสต์ศตวรรษที่ 17 ทำเป็นลายสวนและแม่น้ำสี่สายในสวรรค์
ภาพ : Wikipedia
ภาพนรกในฉากการเดินทางของศาสดามุฮัมมัดในค่ำคืนอิสรออ์-เมี๊ยะรอจ จิตรกรรม ค.ศ. 1436
ภาพ : Bibliothèque nationale de France

สวรรค์ในศาสนาอิสลามเรียกว่า ‘ญันนะฮ์’ เป็นที่อยู่ของคนดีและผู้ที่เชื่อในพระเจ้า ในญันนะฮ์มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข อุดมด้วยพืชพรรณและผลไม้นานาชนิด ทั้งยังมีธารน้ำนม น้ำผึ้ง และน้ำจัณฑ์ให้ดื่มกิน ในสถาปัตยกรรมอิสลามจึงมักมีสวน ลำธาร และตกแต่งอาคารด้วยลายพรรณพฤกษา หรือลดทอนภาพของสวรรค์เป็นลวดลายบนผืนพรม เพื่อจำลองภาพของสวรรค์ที่ตนหวังจะได้เข้าไปพักพิงในโลกหน้า 

ส่วนนรกหรือ ‘ญะฮันนัม’ เป็นที่อยู่ของคนบาปและผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า เป็นสถานที่อันน่าสะพรึงกลัวที่เต็มไปด้วยไฟร้อนระอุ ในนรกไม่มีอะไรให้ทานนอกจากน้ำหนองเดือดจัด กับผลของต้นซักกูมที่มีพิษและมีหนามเต็ม แต่พระเจ้านั้นทรงเมตตา ใครที่ไม่ได้ทำบาปหนัก เมื่อถูกลงทัณฑ์จนสมกับบาปที่เคยทำไว้แล้ว พระเจ้าจะตัดสินให้เขาได้เข้าสวรรค์ (เป็นแนวคิดเดียวกับ ‘ไฟชำระ’ ของศาสนาคริสต์) แต่ใครที่ทำบาปใหญ่จนเกินให้อภัย จะต้องจมอยู่ในไฟนรกไปตลอดกาล

อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้คนมักจะสงสัยกัน ก็คือมุสลิมมีความเชื่อเรื่องผีหรือไม่ ถ้าเรานิยามผีว่าเป็นวิญญาณของผู้ตายที่มาหลอกหลอนผู้คนแบบในหนังสยองขวัญ ก็ตอบได้ทันทีว่าศาสนาอิสลามไม่มีความเชื่อเช่นนั้น วิญญาณของผู้ตายที่เรียกว่า ‘รูห์’ ก็ไม่ใช่ผี และไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ 

พิธีศพ โลกหลังความตาย และสิ่งเร้นลับคล้ายผีในศาสนาอิสลาม
ภาพญินในจินตนาการของศิลปิน จิตรกรรมคริสต์ศตวรรษที่ 15
ภาพ : Wikipedia

แต่ศาสนาอิสลามมีความเชื่อเรื่อง ‘ญิน’ ญินเป็นสิ่งมีชีวิตลึกลับที่พระเจ้าสร้างขึ้นจากไฟ มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นญิน (ยกเว้นบางคนที่พระเจ้าทรงบันดาลให้รับรู้ถึงการมีอยู่ของญินด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง) แต่ญินมองเห็นมนุษย์ อาศัยอยู่ท่ามกลางมนุษย์ แถมยังช่วยเหลือหรือก่อกวนมนุษย์ได้ด้วย แต่มักจะมาแบบข้อหลังมากกว่า ญินจะล่อลวงผู้คนไปในทางที่ผิด มุสลิมจะอ่านคัมภีร์อัลกุรอานบทที่ 114 (ซูเราะฮ์อันนาส) เพื่อขอความคุ้มครองจากพระเจ้าไม่ให้ญินมาป่วน ญินนิสัยไม่ดีเหล่านี้จะถูกโยนลงในนรก ส่วนญินที่ดีจะนับถือพระเจ้า ไม่ทำร้ายใคร และมีสิทธิ์ที่จะได้เข้าสู่สวรรค์ ตัวอย่างญินที่ทำประโยชน์เช่นญินที่เป็นแรงงานของศาสดาสุไลมาน (ศาสดาโซโลมอนตามการเรียกของชาวคริสต์) ซึ่ง ‘จินนี่’ ในนิทานเรื่อง อะลาดินกับตะเกียงวิเศษ ก็คงมีต้นแบบมาจากญินนิสัยดีเหล่านี้นั่นเอง

เรื่องของญินยังคงเป็นปริศนาสำหรับใครหลายคน แต่ศาสนาอิสลามไม่ได้ให้มนุษย์ใส่ใจกับเรื่องนี้ แต่ให้มุ่งเชื่อฟังพระเจ้าด้วยการทำความดีและดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของท่านศาสดา เพราะทุกชีวิตย่อมลิ้มรสความตาย ดังนั้นอย่ารอช้า รีบทำความดีสะสมเป็นเสบียงไว้เลี้ยงตัวในโลกหน้าก่อนจะสิ้นลมกันเถอะ


ข้อมูลอ้างอิง

  • บรรจง บินกาซัน, สารานุกรมอิสลาม ฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ, กรุงเทพฯ: อัลอะมีน, 2542.
  • สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย, ผู้แปล, พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมความหมายภาษาไทย, มะดีนะฮ์: ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน, 2553.
  • สุนิติ จุฑามาศ, การศึกษาหินปักหลุมศพแบบบาตูอาเจะห์ในบริเวณเมืองโบราณริมอ่าวปัตตานี, เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.
  • สัมภาษณ์อาจารย์และมิตรสหายมุสลิม- Richard C. Martin; Ed., Encyclopedia of Islam and the Muslim World, USA: Macmillan Reference, 2003.

Writer

วสมน สาณะเสน

วสมน สาณะเสน

บัณฑิตตุรกี นักวิชาการด้านศิลปะอิสลาม อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง