30 ธันวาคม 2019
10 K

คืนหนึ่งในปี 1994 ณ เมืองลอสแองเจลิส เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.7 แมกนิจูด ความรุนแรงนี้ส่งผลให้ไฟฟ้าดับสนิททั้งเมือง มีเพียงแสงสว่างที่ส่องลงมาจากท้องฟ้า ชาวเมืองที่ตกอยู่ในความมืดเป็นเวลานานจึงเงยหน้าขึ้นไปเพื่อมองหาที่มาของแสงเรืองๆ นั้น พวกเขาเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตลอดช่วงชีวิต นั่นคือกลุ่มเมฆสีเงินส่องแสงระยิบระยับขนาดยักษ์ที่พาดผ่านท้องฟ้า

ปรากฏการณ์งดงามในคืนนั้นสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ชาวเมืองลอสแองเจลิสเป็นอย่างมาก แต่ก็มีผู้คนบางกลุ่มตื่นตระหนกกับภาพที่พวกเขาเห็น บางคนถึงขั้นต่อสายด่วน 911 เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “มีเมฆสีเงินประหลาดขนาดยักษ์ลอยเหนือท้องฟ้า มันน่ากลัวมาก”

คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก
ทางช้างเผือก ภาพ : Free Nature Stock www.pexels.com

จากเหตุการณ์นี้ทำให้รู้ว่าชาวเมืองลอสแองเจลิสส่วนใหญ่ในปี 1994 ก็ไม่ต่างจากผู้คนอีกหลายล้านคนในตอนนี้ ที่ไม่เคยพบเห็นปรากฏการณ์อันสวยงามของท้องฟ้ายามราตรีมาก่อน จึงไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นนั้นคือทางช้างเผือก

แล้วทำไมเราถึงไม่เคยสัมผัสปรากฏการณ์อันงดงามบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน

01

จากแสงสว่างที่ขับไล่ความมืด สู่มลภาวะทางแสง

คำตอบของคำถามนี้อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา อยู่ร่วมกันมาร้อยกว่าปีแล้วก็ว่าได้ นับตั้งแต่หลอดไฟดวงแรกประดิษฐ์ขึ้น 

คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก
ภาพ : Helena Lopes www.pexels.com

‘มลภาวะทางแสง (Light Pollution)’ เกิดจากการทำกิจกรรมของผู้คนในช่วงเวลากลางคืนโดยใช้แสงประดิษฐ์ ซึ่งไม่ได้ออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เช่น หลอดไฟตามท้องถนนและตัวอาคารที่ไม่มีโคมไฟครอบไว้ หรือแสงไฟที่สว่างจ้าเกินความจำเป็นจากป้ายโฆษณาตามห้างสรรพสินค้า ร้านรวง และบนตึกสูงระฟ้า การฟุ้งกระจายของแสงสว่างที่ส่องออกไปทั่วทุกทิศทางส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่เพียงแค่บดบังทัศนียภาพและโอกาสเห็นความสวยงามของท้องฟ้ายามราตรี แต่ยังรบกวนสุขภาพการนอนของผู้คน การดำรงชีวิตของสัตว์ และสิ้นเปลืองพลังงาน 

02

นาฬิกาชีวภาพที่ขาดสมดุลระหว่างแสงและความมืด

ว่ากันว่าการพักผ่อนที่ดีที่สุด คือการนอนหลับ

แต่จะทำอย่างไร ถ้าการมาของแขกที่ไม่ได้รับเชิญอย่างแสงไฟตามท้องถนนสาดส่องเข้ามาในบ้านทุกค่ำคืน ทำให้การนอนหลับเพื่อฟื้นฟูนาฬิกาชีวภาพในร่างกายไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป 

หมอปุ้ม-ศ.พญ.สิริมนต์ ริ้วตระกูล ประเทืองธรรม นักวิชาการอาคันตุกะ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานของต่อมไร้ท่อ อธิบายถึงกลไกการทำงานของนาฬิกาชีวภาพในร่างกายของมนุษย์ไว้ในงานเสวนา ‘ทำไม (ร่างกาย) เราต้องการดาว : Why do our bodies need stars?’ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมระหว่างสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) กับมูลนิธิโลกสีเขียวว่า ภายในหนึ่งวัน เราอาจคิดว่าร่างกายของเราทำงานวันละ 24 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงเรามักต่อระยะเวลาการทำงานนั้นออกไปอีกเล็กน้อยโดยที่เราไม่รู้ตัว 

ส่วนต่างของช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก นั่นคือ ‘แสงและความมืด’ หากร่างกายของเราได้รับ 2 สิ่งนี้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม การกินอาหารก็จะเลื่อนออกไป การประสานงานของนาฬิกาอวัยวะในร่างกายก็จะทำงานได้ไม่ดี ส่งผลให้ระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติ หิวและอิ่มไม่เป็นเวลา เกิดการอักเสบภายในร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งเต้านม ซึ่งมีสาเหตุมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินที่มีส่วนช่วยในการนอนหลับน้อยเกินไป ฮอร์โมนชนิดนี้จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อดวงตาทั้ง 2 ข้างปิดการรับแสง และเปิดรับความมืดมาแทนที่ 

03

ชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นทางของแสงดาวและความมืด 

เพราะเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้ กิจกรรมที่ใช้แสงสว่างยามค่ำคืนจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศเช่นกัน

ดร.อ้อย-ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียวให้ข้อมูลกับเราว่า แต่ละปีมีนกในประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 100 – 1,000 ล้านตัวตายระหว่างบินอพยพ เพราะบินชนเข้ากับตึกสูงระฟ้าที่ประดับประดาด้วยแสงไฟ หรือติดป้ายโฆษณาที่สว่างเกินความจำเป็น

เช่นเดียวกับลูกเต่าทะเลที่ฟักตัวออกมาจากไข่บนชายหาด แล้วพยายามคลานลงสู่ทะเล แต่กลับหลงทิศคลานตามแสงไฟขึ้นไปบนชายฝั่ง เพราะคิดว่าแสงเรืองๆ นั้นคือแสงที่ส่องมาจากท้องทะเล

รวมถึงหิ่งห้อยในหลายพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรลดลงเรื่อยๆ เพราะแสงสว่างจากในเมืองที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นธรรมชาตินั้นรบกวนการผสมพันธุ์ของเหล่าแมลงตัวน้อยที่หาคู่ชีวิตด้วยการใช้แสงไฟในตัวเอง 

04

ไลท์ รู รั่ว

ดร.อ้อยบอกกับเราว่าแสงไฟที่ไม่ได้ออกแบบหรือจัดการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็ไม่ต่างจากถังน้ำที่มีรูรั่ว

“ถังน้ำที่มีรูรั่ว ไม่ได้รับการซ่อมแซมหรืออุดรูรั่วนั้น ต่อให้มีปริมาณน้ำมากสักแค่ไหน ก็มีวันที่น้ำจะหมดไป เช่นเดียวกับแสงจากหลอดไฟที่ส่องสว่างออกไปทุกทิศทาง หากไม่มีการควบคุมหรือจำกัดพื้นที่การกระจายของแสง แสงสว่างเหล่านั้นก็จะรั่วไหลออกไปโดยไร้ประโยชน์” 

คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก
คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก

อีกด้านหนึ่งในสหรัฐอเมริกา นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์หลายท่านคำนวณไว้ว่า การเปิดหลอดไฟสีขาวจำนวน 100 ดวงทิ้งไว้ทุกคืนเป็นเวลา 1 ปี จะทำให้เราสูญเสียพลังงานจากเชื้อเพลิงถ่านหินไปถึงครึ่งตัน

แต่อย่าลืมนะ ว่าบนโลกใบนี้มีหลอดไฟหลายพันล้านดวงที่เปิดทิ้งไว้ทั้งคืนโดยไม่จำเป็น เมื่อนำมาคูณด้วยจำนวนหลอดไฟเหล่านี้ จะเห็นเป็นตัวเงินและพลังงานมหาศาลที่เราต้องสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

05

มากกว่าความโรแมนติก คือ การเยียวยาปัญหามลภาวะทางแสง

ตัวอย่างเหตุการณ์และผลกระทบของมลภาวะทางแสงที่เราหยิบยกขึ้นมาเล่าต่อ บ่งบอกว่ามนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศต่างจมอยู่ในปัญหามลภาวะทางแสงมาเป็นเวลานานแล้ว การผลักดันให้มีพื้นที่สำหรับความมืดและแสงดาวจึงไม่ใช่แค่การสนองความ (เพ้อ) ฝันของคนที่นิยมชมชอบความโรแมนติกอีกต่อไป

หากมองทะลุผ่านความมืดไป คุณจะพบว่าเมืองที่ปราศจากแสงรบกวนในเวลากลางคืนสามารถมอบประสบการณ์การชมความงดงามของทัศนียภาพบนฟากฟ้ายามราตรี ช่วยรักษาสมดุลของนาฬิกาชีวภาพในร่างกายของมนุษย์ให้เดินวนไปตามปกติและมีประสิทธิภาพ เพิ่มความแม่นยำให้แสงดาวที่ทำหน้าที่เป็นเข็มทิศนำทางให้กับเพื่อนร่วมโลกในการอพยพถิ่นฐานและป้องกันการสูญพันธุ์ รวมถึงช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน

06

เมืองฟ้ามืด

‘เมืองฟ้ามืด’ คือ พื้นที่อนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้ายามราตรี หมายรวมถึงเมือง ชุมชน อุทยานแห่งชาติและสถานที่ต่างๆ ที่มีการนำนโยบายการจัดการไฟอย่างมีประสิทธิภาพมาปรับใช้ ผ่านความร่วมมือจากผู้คนในท้องที่ องค์กรขนาดเล็ก ไปจนถึงระดับนานาประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะทางแสง

คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก
เส้นแสงดาวเหนือซากปรักหักพังของ Llanthony Priory ในสวนสาธารณะบรีคอน บีคอนส์ ประเทศเวลส์ ภาพ : www.darksky.org

ดร.อ้อยเล่าว่าแนวคิดเรื่องเมืองฟ้ามืดถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากกลุ่มนักดูดาวที่ออกแสวงหาพื้นที่ที่มีความมืดเพียงพอสำหรับการดูดาว ซึ่งนับเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเจอสถานที่เหล่านั้นในยุคที่ท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยแสงไฟมากกว่าแสงดาว

ต่อมาก็เริ่มมีผลการวิจัยออกมาว่า มลภาวะทางแสงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพบนท้องฟ้าในเวลากลางคืนเพียงด้านเดียว แต่ยังมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์และสุขภาพของมนุษย์ โดยเริ่มจากการสังเกตปรากฏการณ์การตายของนกและเต่าในฤดูอพยพ รวมถึงจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี

07

การออกแบบไฟไม่ใช่แค่ให้เห็นพื้น แต่ต้องเห็นดาว

 “มาสร้างเมืองฟ้ามืดกันเถอะ” 

เชื่อว่าคงมีหลายคนที่ส่ายหน้าให้กับคำเชิญชวนนี้ เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัว และดูยากเกินกว่าจะเห็นผลสำเร็จได้ในเร็ววัน

จากมุมมองของดร.อ้อย การคืนความมืดและแสงสว่างจากดวงดาวให้เมืองที่จมอยู่กับมลภาวะทางแสงไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเกินกว่าความสามารถของเราทุกคน เพราะมีหลักการง่ายๆ เพียงเรื่องเดียวคือ ‘การออกแบบแสงไฟ’

เริ่มต้นจากการกำหนดระดับความสูง ออกแบบโคมไฟสำหรับไฟที่ใช้ในบ้าน หรือกระบังสำหรับไฟที่ใช้ตามท้องถนน ให้เหมาะสมกับจุดที่ต้องการติดตั้ง

คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก
การออกแบบและตั้งไฟที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นมิตรต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมในเมืองฮาร์โมนี่ รัฐฟลอริดา ภาพ : www.darksky.org
คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก

การออกแบบไฟให้สอดคล้องกันตามลักษณะดังกล่าว ช่วยบังคับทิศทางของแสงไม่ให้ฟุ้งกระจายขึ้นไปบดบังทัศนียภาพบนท้องฟ้า และสาดส่องเข้าไปรบกวนการนอนของผู้คนตามบ้านเรือนต่างๆ หรือรุกล้ำเข้าไปรบกวนเส้นทางการอพยพและการขยายพันธุ์สัตว์ในพื้นที่ธรรมชาติ

ในด้านผังเมือง อาจารย์ยุ้ย-ผศ.ดร.จรรยาพร จุลตามระ ผู้อำนวยการศูนย์ Lighting Research and Innovation Centre (LRIC) และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เสนอทางออกสำหรับปัญหานี้ไว้ในงานเสวนาว่า ‘Lighting Master Plan’ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยคงความสว่างไสวให้ชาวเมืองได้ดำเนินกิจกรรมในเวลากลางคืนตามปกติ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นมิตรต่อความมืดและดวงดาวบนท้องฟ้า

สิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เลือกแก้ปัญหามลภาวะทางเเสงด้วยการออกแบบ Lighting Master Plan ที่เหมาะสมให้กับหลายพื้นที่ในประเทศ เช่น ย่านการค้าของประเทศ แสงไฟที่ติดตั้งพื้นที่นั้นก็จะมีค่าความสว่างสูง โทนสีที่ใช้ก็จะอยู่ในโทนเดียวกันหมดเนื่องจากเป็นย่านพาณิชย์ ส่วนย่านที่เป็นบ้านพักอาศัย แสงไฟที่ใช้ก็จะถูกออกแบบให้มีค่าความสว่างที่ลดหลั่นลงมา

08

Dark Sky Tourism : เทรนด์ท่องเที่ยวเมืองฟ้ามืดที่สร้างความยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาคือยุคทองของ ‘Dark Sky Tourism’

ความนิยมนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อนิตยสารและบริษัทสื่อท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง Lonely Planet ปักหมุดให้ Dark Skies เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่มาแรงในปี 2019

คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก
คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก
ทางช้างเผือกบนท้องฟ้าใน Elqui Valley ประเทศชิลี ภาพ : www.lonelyplanet.com

การค้นพบรายได้จากการดูดาว และจำนวนผู้คนที่หันมาเที่ยวตามรอยดาวที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ผนวกกับการสนับสนุนในแง่ของข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหามลภาวะทางแสง และให้การรับรองว่าพื้นที่นั้นเหมาะสมแก่การเป็นเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า (Dark Sky Reserves) จากสมาคมพิทักษ์ความมืดแห่งท้องฟ้าสากล (International Dark-Sky Association) ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการไฟ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่หรือเมืองที่อาศัยอยู่ให้กลายเป็นเมืองฟ้ามืด 

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ถือเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของเมืองฟ้ามืด ทั้งในด้านของการแก้ปัญหามลภาวะทางแสงและการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

จากการนำนโยบายการจัดการไฟอย่างมีประสิทธิภาพมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางแสงเรื่อยมา เมืองเล็กๆ ชุมชนน้อยๆ ที่ไม่ได้มีจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวอะไรมากมาย ก็เริ่มเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ของตนเองด้วยการให้ข้อมูลของดวงดาว จัดเทศกาลดูดาวและทริปถ่ายภาพดาวให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมา

พื้นที่บริเวณทะเลสาบเทคาโพ (Lek Tekapo) ซึ่งอยู่ในเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าอาโอรากิ แมคเกนซี (Aoraki Mackenzie International Dark Sky Reserve) คือ โมเดลเมืองฟ้ามืดที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และยังประสบผลสำเร็จทั้งในด้านเศรษฐกิจท่องเที่ยวและการเป็นพื้นที่ปลอดจากมลภาวะทางแสง 

คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก
กลุ่มดาวและทางช้างเผือกบนท้องฟ้าเหนือโบสถ์เชิร์ช ออฟ เดอะ กู๊ดเชฟเฟิร์ด ตั้งอยู่บนชายฝั่งของทะเลสาบทาคาโป เขตอนุรักษ์ฟ้ามืดโออากิแมคเกนซี ประเทศนิวซีแลนด์ ภาพ : www.darksky.org

09

การขับเคลื่อนเพื่อเมืองฟ้ามืดแห่งแรกในประเทศไทย

เป็นเวลาร่วม 20 ปีแล้ว ที่แนวคิดเรื่องเมืองฟ้ามืดค่อยๆ ก่อตัวเป็นรูปธรรมและกระจายตัวอยู่ทั่วโลก

อีกด้านหนึ่งของน่านฟ้ายามราตรีในประเทศไทย การขับเคลื่อนเพราะหวังให้เกิดเมืองฟ้ามืดแห่งแรกในประเทศก็ยังคงดำเนินไปอย่างไม่ย่อท้อ

เป็นระยะเวลา 2 – 3 ปีมาแล้ว ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ผลักดันการลดมลภาวะทางแสงในเขตชุมชนและอุทยานแห่งชาติ (Dark Sky Campaign) และมีโครงการนำร่องอยู่ในหลายพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ ‘อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่’ โดยทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไปพูดคุยกับชาวบ้านเกี่ยวกับมลภาวะทางแสงที่อาจเกิดจากการใช้หลอดไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน ในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพรรณไม้และเสนอตัวเป็นคู่ค้าอุดหนุนสินค้าจำพวกพรรณไม้ต่างๆ เพื่อให้ผู้คนในชุมชนเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟเป็นแบบ LED แทนการใช้หลอดไฟแบบเดิม เพื่อลดองศาของแสงที่มันฟุ้งขึ้นไปเป็นมลพิษทางแสงต่อท้องฟ้า และช่วยในการประหยัดพลังงานไฟฟ้า

คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก
คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก
การเปลี่ยนหลอดไฟในแปลงเบญจมาศในเขตอุทยานดอยอินทนนท์ให้เป็นหลอด LED เพื่อลดการฟุ้งกระจายของแสงขึ้นไปบนท้องฟ้า และช่วยประหยัดพลังงาน ภาพ : www.egat.co.th

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติยังวางแผนที่ขยับขยาย Dark Sky Campaign ไปยังชุมชนในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพราะพื้นที่บริเวณนั้นห่างไกลจากมลภาวะทางแสง และยังมีความลงตัวในแง่ของชื่อ ‘เชียงดาว’ ที่เพี้ยนมาจากคำว่า ‘เพียงดาว’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘ห่างจากดวงดาวเพียงแค่เอื้อมมือ’

คำตอบของคำถามว่าทำไมร่างกายเราต้องการดาว และการกำเนิดของเมืองฟ้ามืดทั่วโลก
ภาพ : นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ในงานเสวนาทำไม (ร่างกาย) เราต้องการดาว : Why do our bodies need stars?

Writer

Avatar

อมราวดี วงศ์สุวรรณ

นักหัดเขียนสายใต้ที่ไม่รังเกียจรอยหมึกที่เปื้อนมือ พึงใจกับการสดับจังหวะการลงน้ำหนักนิ้วมือบนแป้นพิมพ์ และกลิ่นกระดาษบนหน้าหนังสือ