ค่ำคืนของวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2533 ถนนทุกสายในกรุงเทพฯ ล้วนเงียบสงัด เพราะเกือบทุกคนต่างรีบกลับบ้าน เพื่อรอชมฉากสุดท้ายของโศกนาฏกรรมความรักระหว่างทหารญี่ปุ่นกับสาวไทย ในละคร ‘คู่กรรม’

แม้ผู้ชมส่วนใหญ่จะทราบดีว่า สุดท้ายเรื่องราวจะเป็นอย่างไร หากแต่เสียงร่ำไห้และคำสัญญาที่อังศุมาลินมอบให้โกโบริว่าจะรักตลอดไป ขณะโอบกอดร่างไร้วิญญาณ ก็ทำเอาหลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

ด้วยความสมจริงและเข้าถึงบทบาทของตัวละครนี่เอง ส่งผลให้ คู่กรรม ฝังแน่นในความทรงจำของใครหลายคน ไม่ต่างจากละครอีกหลายเรื่องที่ ‘ดาราวิดีโอ’ ค่ายละครสุดคลาสสิกแห่งช่อง 7 สี รังสรรค์ขึ้น ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ทั้ง ดาวพระศุกร์, บ้านทรายทอง, สายโลหิต, มนต์รักลูกทุ่ง, ทัดดาวบุษยา, ทวิภพ, นางทาส, น้ำใสใจจริง, คือหัตถาครองพิภพ หรือ เบญจา คีตา ความรัก รวมไปถึงละครจักรๆ วงศ์ๆ อย่าง สี่ยอดกุมาร, พิกุลทอง, ปลาบู่ทอง สิงหไกรภพ ขวานฟ้าหน้าดำ และ สังข์ทอง ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนกวาดเรตติ้งถล่มทลาย จนหลายคนยกให้เป็นเบอร์ 1 ของวงการ

เพื่อไขเคล็ดลับว่าอะไรที่ทำให้้ค่ายละครแห่งนี้สามารถกุมหัวใจของแฟนละครมาได้ถึงปัจจุบัน ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวนผู้ก่อตั้ง อาหรั่ง-ไพรัช สังวริบุตร และทายาททั้งสองคน หลุยส์-สยาม และ ลอร์ด-สยม มาร่วมพูดคุยถึงจุดเริ่มต้น เบื้องหลังการทำงาน รวมถึงก้าวต่อไปของอาณาจักรละครของครอบครัวสังวริบุตร ทั้ง ดาราวิดีโอ, ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น และสามเศียร ในวันที่วงการโทรทัศน์ไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ดาราวิดีโอ และสามพ่อลูกสังวริบุตร ผู้กุมหัวใจผู้ชมละครไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ
01

จากจอเงินสู่จอแก้ว

เส้นทางชีวิตของอาหรั่ง ต้องเรียกว่าเติบโตมาพร้อมโลกมายาอย่างแท้จริง

เพราะตั้งแต่จำความได้ก็คลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้มาตลอด จำรัส สังวริบุตร คุณแม่ของเขาก็เป็นนักร้องส่งในวงเครื่องสายของสถานีวิทยุศาลาแดง กรมไปรษณีย์โทรเลข ส่วนคุณพ่อ คุ้ม สังวริบุตร แม้จะเป็นทนายความ แต่ก็ชอบเล่นเครื่องดนตรี ต่อมาพอย้ายไปอยู่อ่างทอง ก็ไปเปิดโรงหนังชื่อเฉลิมถิ่น ก่อนจะร่วมกับ สด ศรีบูรพารมย์ อาของ ฉลอง ภักดีวิจิตร เปิดกรุงเทพภาพยนตร์ ทำหนังเรื่อง พระร่วง

“ก่อนหน้านี้หนังไทยทำง่ายนะ จำได้ว่ากองถ่ายของคุณพ่อใหญ่มาก เกณฑ์คนมาเยอะ ชงกาแฟทีหลายๆ โอ่ง ตอนนั้นก็มีคนทักว่า อย่าทำเลยเรื่องพระร่วง พระลอ อะไรเหล่านี้คนเขาห้าม แต่คุณพ่อก็บอกว่าจะทำพระร่วงก่อน แล้วจะทำพระลอตาม แต่ก็ไม่ได้ทำหรอก เจ๊งเสียก่อน ช่วงนั้นผมเด็กมาก ก็ได้แต่ดูเขาทำ ไม่ได้ไปช่วยอะไรหรอกนะ”

พอถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณพ่อของเขาก็หันมาทำกองหนังเร่ ยกทีมไปฉายหนังตามเมืองต่างๆ เมืองละ 3 – 5 วัน อาหรั่งเองก็ติดสอยห้อยตาม ไปช่วยทำนู่นทำนี่ ไปพากย์หนังบ้าง ส่วนใหญ่เป็นบทตัวตลก แม้จะเป็นหน้าที่เล็กๆ แต่ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า เรื่องราวหรือมุกแบบไหนถึงจะได้ใจผู้ชม และค่อยๆ รู้สึกหลงรักวงการภาพยนตร์โดยไม่รู้ตัว

กระทั่ง พ.ศ. 2493 เขาก็เข้ามาพัวพันในโลกจอเงินเต็มตัว ด้วยการเป็นตากล้องจำเป็น หลังคุณพ่อกลับมาทำหนังเรื่อง รอยไถ ซึ่งมี คำรณ สัมบุญณานนท์ ศิลปินลูกทุ่งคนดังแสดงนำ 

ดาราวิดีโอ และสามพ่อลูกสังวริบุตร ผู้กุมหัวใจผู้ชมละครไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ

“ตอนแรกใครไม่รู้เป็นตากล้อง แต่ถ่ายแล้วมันเสีย ถ่ายไปสักสิบกว่าม้วน ผมสงสารคุณพ่อ เลยถามท่านว่าให้ผมทำไหม คุณพ่อก็ถามว่าทำได้หรือ สุดท้ายก็ให้ผมลองดู สมัยนั้นมันมีกล้องที่พวกนักหนังสือพิมพ์ใช้กันเยอะ ชื่อว่ากล้องมามียา ซึ่งญี่ปุ่นส่งเข้ามา ผมถ่ายรูปไปสามม้วนทั้งที่ไม่เคยแตะมาก่อน แล้วเอาไปนอนวิจัยสามสี่คืนว่า อันนี้มันเป็นอย่างนี้ พอทำได้ผมถึงได้ลงมือถ่ายทำ ถ่ายออกมาแล้ว ปรากฏว่ามันดี ผมก็เลยถ่ายเอง เป็นคนจัดแสง เปิดหน้ากล้อง ซึ่งสมัยนั้นลำบาก เครื่องมือเครื่องไม้ไม่ทันสมัย เปิดแสงผิดนิดหน่อยก็ไม่ได้ พัง ต้องใช้ความละเอียดอ่อนมาก”

รอยไถ ประสบความสำเร็จอย่างสูง เข้าโรงที่ไหนคนก็แห่ไปชมกันเต็มไปหมด แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ หนังเรื่องนี้ยังให้วิชากับเขามากมาย ครั้งหนึ่งอาหรั่งเคยเล่าว่า วันหนึ่งคำรณจะเอาหนังไปฉาย จึงขับเรือนำม้วนฟิล์มไปส่งมอบให้โรงภาพยนตร์ แต่คงเพราะรีบไปหน่อย เรือจึงคว่ำ ฟิล์มตกน้ำ งมหาอย่างไรก็ไม่เจอ สุดท้ายเขาต้องรีบกลับมาถ่ายทำใหม่ พร้อมรับบทเป็นผู้กำกับเองด้วย ใช้เวลา 20 กว่าวันจึงเสร็จเรียบร้อย และรีบเอาไปฉายต่อทันทีเลย

นับแต่นั้นมา เขาก็กลายเป็นตากล้องมือดีที่ใครหลายคนต้องการร่วมงาน โดยระหว่างนั้นก็พยายามศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ จากต่างประเทศ ทั้งจีน ฝรั่งเศส อิตาลี และสหรัฐอเมริกา จนกลายเป็นเบอร์ต้นๆ ของวงการ ยืนยันจากการคว้ารางวัลตุ๊กตาทอง จากภาพยนตร์เรื่อง แสงสูรย์ มาครอบครองได้ เมื่อ พ.ศ. 2505 

ต่อมาอาหรั่งรวมตัวกับเพื่อนสนิท ทั้งนักแสดงและผู้กำกับ อย่าง มิตร ชัยบัญชา, วิน วันชัย, อนุชา รัตนมาลย์ และ ทานทัต วิภาตะโยธิน เปิดบริษัททำหนังชื่อ วชิรนทร์ภาพยนตร์ ส่วนใหญ่ทำหนังบู๊เป็นหลัก โดยเขารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง มีผลงานสำคัญอย่าง อินทรีแดง ซึ่งได้คู่ขวัญ มิตร-เพชรา มาแสดงนำ

ทว่าท่ามกลางเส้นทางที่ดูสดใส แต่เขากลับรู้สึกเบื่อหน่ายวงการหนังไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาทางธุรกิจ หนังดังแต่ไม่ค่อยได้เงิน อีกส่วนเป็นเพราะดารามีจำกัด หนังจะขายได้ก็ต้องอาศัยนักแสดงดังๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น การทำงานจึงต้องหมุนไปตามคิวของนักแสดง โอกาสที่จะสร้างผลงานได้ตามใจจึงมีน้อยมาก

“บางครั้งเราต้องมีการขอคิวเขา ได้สักสิบนาทีผมก็เอา จัดทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว เขาแค่วิ่งลงจากรถมาถ่าย เสร็จแล้วก็กลับได้ ซึ่งผมเห็นว่า ถ้าเราทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คนสร้างจะไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถเลย”

จังหวะนั้นเองที่มีข้อเสนอซึ่งเปลี่ยนชีวิตของชายผู้นี้ตลอดกาล เมื่อบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ของเรวดี เทียนประภาส เจ้าของนิตยสาร สตรีสาร ได้รับสัมปทานสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่จากกองทัพบก แล้วเผอิญว่าหนึ่งในผู้บุกเบิกสถานี คือ ถาวร สุวรรณ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนดังซึ่งคุ้นเคยกับอาหรั่งมานาน จึงชักชวนให้เขามาร่วมงานที่ช่อง 7 สีด้วยกัน ไพรัชเห็นว่าเป็นโอกาสดีจึงตอบตกลง

และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของค่ายละครสำคัญที่อยู่คู่วงการโทรทัศน์มานาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 จนถึงปัจจุบัน

02

เปิดโลกหนังจักรวงศ์

เส้นทางบนโลกจอแก้วของอาหรั่งเริ่มต้นด้วย ‘ปลาบู่ทอง’ ตามคำแนะนำของถาวร 

ครั้งนั้นเขาเปิดบริษัทใหม่ชื่อ สยามฟิล์ม เนื่องจากแต่เดิมยังไม่มีวิดีโอ ต้องถ่ายทำด้วยฟิล์มขนาด 16 มม. และใช้วิธีพากย์เสียงนักแสดงทับลงไป คนยุคก่อนจึงเรียกรายการประเภทนี้ว่า หนังทีวี

อาหรั่งเล่าถึงสาเหตุที่หยิบเรื่องพื้นบ้านมานำเสนอ เพราะชอบอ่านพวกโคลงกลอนตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาจเป็นอิทธิพลมาจากคุณแม่ที่เคยเป็นนักร้องมาก่อน และส่วนตัวแล้วก็ชอบดูลิเกลำตัดมาก บางเรื่องดูติดต่อกัน 20 – 30 วัน ไม่มีเบื่อเลย แถมยุคนั้นยังไม่มีใครทำสักเท่าไหร่ ไม่ต้องลงทุนสูง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังบู๊ที่เคยทำ

เขาตัดสินใจวางเดิมพันด้วยการนำบ้านไปจำนอง ได้เงินมาหมุน 70,000 บาท โดยไม่มีผู้สนับสนุนสักราย อาหรั่งเคยอธิบายเรื่องนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อนพร้อมเสียงหัวเราะว่า เป็นเพราะตัวนางร้ายใส่เสื้อสีแดง ส่วนนางเอกสวมชุดสีฟ้า พอไปขอสปอนเซอร์แบรนด์หนึ่งที่ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ ก็เลยไม่ได้รับอนุมัติ

แถมการทำงานก็ทุลักทุเลมาก อย่างวันแรกที่ไปบวงสรวงแถวมีนบุรี ปรากฏว่ามีลูกวัววิ่งเข้ามาแล้วถูกรถชน จนกำนันจะเอาเรื่อง หรือพอถ่ายเสร็จ ล้างฟิล์มออกมาแล้วเสีย บางทีก็ฝนตกถ่ายทำไม่ได้ ต้องค่อยๆ แก้สถานการณ์กันไป

ตอนนั้นเขาต้องถ่ายเอง กำกับเอง ทำงานสารพัดอย่าง โดยวางงบประมาณไว้ตอนละหมื่นกว่าบาท ตั้งใจว่าจะทำสัก 5 ตอน หากสปอนเซอร์ยังไม่เข้าก็คงต้องเลิก แต่ด้วยประสบการณ์สมัยเดินสายหนังเร่ จึงเข้าใจว่าผู้ชมต้องการอะไร ปลาบู่ทอง จึงฮิตติดลมบน มีผู้สนับสนุนหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานหนังพื้นบ้านเรื่องถัดๆ มา ทั้ง ยอพระกลิ่น, ลักษณวงศ์, พิกุลทอง, นางสิบสอง, พระทิณวงศ์ และ อุทัยเทวี รวมทั้งมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทจากสยามฟิล์ม เป็นดาราฟิล์ม เมื่อ พ.ศ. 2513

หากแต่เรื่องที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญคือ ขุนแผนผจญภัย ซึ่งได้รับประทานบทจาก เสด็จพระองค์ชายเล็ก-พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ เจ้าของละโว้ฟิล์ม เนื่องจากตอนแรกทรงตั้งใจให้ ท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล พระโอรสนำไปสร้าง แต่ท่านมุ้ยไม่ยอมทำ

“ท่านบอกว่านายหรั่งเรื่องนี้สนุก คือตอนนั้นท่านกำลังโกรธท่านมุ้ย เพราะพูดอะไรก็ไม่ค่อยเชื่อ คนละหัว ท่านก็บอกว่า งั้นก็เอาเรื่องของฉันนี่แหละไปทำ ตอนที่ผมตกลงจะทำ หม่อม (หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา) บอกผมว่า อย่าไปเชื่อเสด็จนะ แค่แปดตอนก็เลิกทำแล้ว ผมก็ถามว่าจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ หม่อมก็บอกคอยดูสิ ปรากฏว่าแปดตอนเลิกจริงๆ จากนั้นเราก็มาเขียนต่อเอง แต่ใช้เค้าโครงเรื่องเดิม”

ขุนแผนผจญภัย ออกอากาศตอนหัวค่ำ เล่าเรื่องของรักสามเส้าของขุนช้าง ขุนแผน และนางพิม โดยมีโหงพราย ผีสาวซึ่งตามหึงหวงพระเอก กับกุมารทอง คอยสร้างสีสัน หนังทีวีชุดนี้โด่งดังมาก โดยเฉพาะเพลงประกอบ “..เรื่องเก่านมนานปี เราท่านรู้ดี เรื่องขุนช้างขุนแผน..” ก็ติดหูและร้องกันได้เกือบทุกบ้าน แถมยังฉายต่อเนื่องกัน 5 – 6 ปี ออกอากาศมากกว่า 500 ตอน จนกุมารทองโตแล้ว และต้องเปลี่ยนโหงพรายไปหลายหน เนื่องจากกุมารทองตัวโตกว่านางพราย

นอกจากนี้ เสด็จพระองค์ชายเล็กยังประทานหนังสือนิทานจากโรงพิมพ์วัดเกาะ ซึ่งทรงรวบรวมเก็บไว้ในห้องโหร กว่า 300 เรื่อง อาทิ มาลัยทอง, โกมินทร์, แก้วหน้าม้า, โสนน้อยเรือนงาม, พระสุธน-มโนห์รา, อุทัยเทวี และ พิกุลทอง ตลอดจนอนุญาตให้เขากับ ผุสดี ยมาภัย ภรรยาผู้ล่วงลับ ขึ้นไปคัดบทประพันธ์ในห้องบรรทมได้ ด้วยเห็นว่าทั้งคู่มีเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมของไทยไปสู่วงกว้าง

อาหรั่งบอกเสมอว่า เขาอยากจะผลักดันหนังทีวีฝีมือไทยให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้ชม เนื่องจากสมัยก่อนมีหนังต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยเยอะมาก ทั้งหนังญี่ปุ่น หนังจีน หนังอินเดีย บางทีก็นำเสนอเรื่องอภินิหารหรืออิทธิฤทธิ์ต่างๆ เขาจึงเชื่อสุดใจว่า เทพนิยายแบบไทยๆ ก็น่าจะครองใจผู้ชมได้ ซึ่งสุดท้ายอาหรั่งก็พิสูจน์ให้เห็นได้หลายต่อหลายครั้งว่า การนำเสนอเรื่องพื้นบ้านหรือของโบราณก็ไม่ใช่สิ่งล้าสมัยเสมอไป

หากใครจำได้ในยุคที่การ์ตูนญี่ปุ่นครองเมือง อาหรั่งเชื่อว่า เด็กไทยก็ต้องดูหน้าเด็กไทยด้วยกันเอง จึงเข็นละครที่มีตัวเอกเป็นเด็กอย่าง ขวานฟ้าหน้าดำ, สิงหไกรภพ และ สี่ยอดกุมาร ออกฉาย ซึ่งในที่สุดฮีโร่เด็กก็ไม่ให้ทำผิดหวัง กลายเป็นหนังสุดฮิตขวัญใจผู้ชมทุกเพศทุกวัย และถูกสร้างใหม่อย่างสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบัน

“เราพยายามทำให้ทันยุคทันสมัย และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับผู้ชม เพราะเราเป็นเนื้อเรื่องสมัยเก่า จึงต้องทำให้ดูสมจริง เป็นธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสอดแทรกอะไรที่เป็นไทยๆ ลงไปด้วย”

ละครพื้นบ้านของดาราฟิล์มจึงผสมผสานทั้งคติความเชื่อในการดำเนินชีวิต บทกลอน คำพากย์ การขับเสภา ซึ่งเป็นศิลปะดั้งเดิมของเมืองไทย และลูกเล่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ฉากเหาะเหินเดินอากาศ ฉากแสดงอิทธิฤทธิ์ หรือแม้แต่ตัวละครที่ดึงดูดใจผู้ชม อาทิ น้าผี ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ดาราฟิล์มสร้างขึ้นมาเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน

อาหรั่งเคยเล่าว่า ตัวละครนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในเรื่องสี่ยอดกุมาร เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยมีปัญหากับกรรมการเซนเซอร์ ซึ่งมองว่าสร้างผีไร้สาระมาหลอกเด็ก แต่เขาก็ยืนยันว่า ตัวละครผีนั้นมีประโยชน์ เพราะสอนให้ตระหนักถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ หากแต่ผีของอาหรั่งก็ไม่เหมือนใคร เพราะเขาทำเป็นโครงกระดูก แล้ววางคาแรกเตอร์ให้ถือร่มใบบัว พูดเสียงบู้บี้ แถมบางครั้งยังถูกตัวเอกแกล้งหรือหยอกล้ออีกด้วย เพราะฉะนั้น แทนที่คนจะกลัว ก็เลยเป็นตัวตลก สร้างสีสันแทน และถูกนำมาอยู่ในหนังจักรๆ วงศ์ๆ อีกหลายเรื่อง

ที่สำคัญ หนังเหล่านี้ยังเป็นเวทีในการสร้างนักแสดงหน้าใหม่ๆ แก่วงการบันเทิงไทย ทั้ง จตุพล ภูอภิรมย์, รัชนี บุญชูดวง, ปริศนา วงศ์ศิริ, พัลลภ พรพิษณุ, เยาวเรศ นิศากร, ไพโรจน์ สังวริบุตร และ มนฤดี ยมาภัย

ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของหนังจักรๆ วงศ์ๆ ทำให้ชื่อของดาราฟิล์มกลายเป็นกระบี่มือหนึ่งของหนังแนวนี้ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ผลงานของพวกเขายังสร้างค่านิยมดีๆ ให้แก่เด็กและเยาวชน ทั้งเรื่องความกตัญญู รักความเป็นธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย

03

ละครแห่งความทรงจำ

คู่กรรม (พ.ศ. 2533), ดาวพระศุกร์ (พ.ศ. 2537), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. 2538), สายโลหิต (พ.ศ. 2538) และ ทัดดาวบุษยา (พ.ศ. 2540) คือ ละคร 5 อันดับแรกครองเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลของเมืองไทย และทั้งหมดล้วนแต่เป็นผลงานจากค่ายละครที่ชื่อว่า ดาราวิดีโอ

หลังหยัดยืนคู่วงการเทพนิยายไทยมาพักใหญ่ ช่อง 7 ก็เปิดโอกาสให้ดาราฟิล์ม ผลิตหนังทีวีแนวร่วมสมัย ซึ่งข้อแตกต่างคือ หนังจักรๆ วงศ์ๆ เป็นการเช่าเวลาจากสถานี แต่หนังทีวีหลังข่าวนั้น ช่อง 7 สี ใช้วิธีจ้างผลิต

โดยบุคคลที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางภาพยนตร์โทรทัศน์หลังข่าว คือ คุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์ บุตรสาวคนเล็กของเรวดี ซึ่งรั้งเก้าอี้ผู้จัดการฝ่ายรายการตั้งแต่ พ.ศ. 2524 โดยระยะแรกมีผู้ผลิตแค่ 2 รายที่ได้รับความไว้วางใจ คือ กันตนาและดาราฟิล์ม โดยดาราฟิล์ม ทางช่อง 7 จ้างผลิตถึง 2 เรื่องต่อสัปดาห์

ผลงานหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้อาหรั่งคือ ดาวพระศุกร์ นำแสดงโดย พล พลากร และ ตุ๋ย-มนฤดี ยมาภัย ซึ่งเป็นหลานสาวของผุสดี ภรรยาของอาหรั่งนั่นเอง เริ่มออกอากาศตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2523 เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงที่ถูกแม่ทิ้งตั้งแต่เกิด แล้วก็ต้องเผชิญความทุกข์ยากมากมาย ทั้งถูกแม่เลี้ยงรังแก จนต้องหนีออกจากบ้าน ต้องอดมื้อกินมื้อ ก่อนชีวิตจะพลิกผัน หลังได้พบกับชายหนุ่มที่ชื่อว่า ภาคย์ กับแม่บังเกิดเกล้าอย่าง ศศิประภา 

ว่ากันว่าความโด่งดังของ ดาวพระศุกร์ ถึงขั้นเคยมีข่าวว่าหมู่บ้านแห่งหนึ่งไฟดับ จึงเหมารถไปยังอีกหมู่บ้าน เพื่อรอดูหนังทีวีเรื่องนี้ แถมเพลงประกอบก็ฮิตติดลมบน ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทั้งที่ยุคนั้นไม่มีใครคิดว่าเพลงละครจะขายได้ ต่อมาอาหรั่งนำเวอร์ชันโทรทัศน์ไปตัดต่อส่งเข้าโรงภาพยนตร์ ก็มีคนตีตั๋วเข้าชมเต็มเกือบทุกรอบ และนี่เองคงเป็นเหตุผลว่าทำไม ดาวพระศุกร์ จึงครองแชมป์เรตติ้งอันดับ 1 ของประเทศอยู่นานหลายปี

อาหรั่งสรุปความโด่งดังนี้ว่าเป็นเหมือนแจ็กพอต ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะตัวเรื่องที่มีความดราม่ามาก จึงเข้าถึงจิตใจของผู้ชมได้ไม่ยาก อีกส่วนมาจากคู่พระนางที่ลงตัวพอดี และที่สำคัญคือ ช่อง 7 ยุคนั้นกำลังเดินหน้าขยายสัญญาณออกอากาศไปทั่วประเทศ ทำให้ทุกบ้านต่างเข้าถึงหนังเรื่องนี้

หลังจากนั้น อาหรั่งก็ยังเดินหน้าสร้างผลงานต่อเนื่อง เช่น ดอกโศก, อุบัติเหตุ, เงา, กระสือ, ปอบผีฟ้า ฯลฯ โดยรูปแบบการทำงาน คือ ทางช่อง 7 จะเป็นฝ่ายกำหนดเรื่องและวางตัวนักแสดง ขณะที่ผู้ผลิตก็สามารถนำเสนอบทประพันธ์ที่น่าสนใจได้ ซึ่งเหตุผลหนึ่งมาจากคุณแดงเป็นผู้อำนวยการนิตยสาร สตรีสาร จึงเข้าถึงนักเขียนและนวนิยายดีๆ มากมาย ซึ่งหลายเรื่องก็ถูกส่งต่อมาให้อาหรั่งสร้างเป็นละคร

ส่วนดาราฟิล์มเอง ก็พัฒนาศักยภาพในการผลิตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากฟิล์มมาเป็นวิดีโอ และหันมาใช้เสียงของนักแสดงจริงแทนเสียงพากย์ จนนำมาสู่การเปลี่ยนชื่อเป็น ดาราวิดีโอ เมื่อ พ.ศ. 2526

นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงถ่ายลาดหลุมแก้ว พร้อมจำลองฉากต่างๆ ทั้งท่าน้ำ ภูเขา กระท่อม เรือนไทย กำแพงเมือง วังเจ้า เพราะอาหรั่งมองว่าละครแต่ก่อนมักสร้างขึ้นในโรงถ่ายที่มีหลังคาปกคลุม เหมือนเอาธรรมชาติเข้ามาใส่ไว้ในห้องสี่เหลี่ยม ทำให้ละครดูไม่สมจริง โดยเริ่มแรกใช้เนื้อที่ 56 ไร่ ก่อนขยายจนกลายเป็นร้อยกว่าไร่ดังปัจจุบัน

เช่นเดียวกับเรื่องบทโทรทัศน์ อาหรั่งก็พิถีพิถันเป็นอย่างมาก โดยเนื้อหาจะต้องเข้าถึงจิตใจของผู้ชม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเคารพบทประพันธ์ ไม่ทำให้เนื้อหาหรือแก่นเรื่องดั้งเดิมเสียหาย 

แดง-ศัลยา สุขะนิวัตติ์ หลานสาวอีกคนของผุสดี ซึ่งมาช่วยเขียนบทให้ดาราวิดีโอตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร สารคดี ว่า หลังละครออกอากาศไปได้เบรกเดียวเท่านั้น อาหรั่งก็จะโทรศัพท์มาเลย แล้วถามว่า ทำไมฉากนี้ถึงเขียนแบบนี้ หรือเวลาตรวจบท จากที่เขียนมา 20 – 30 หน้า ก็ขีดทิ้งหมดเหลือแค่ 5 หน้า แน่นอนบางคนอาจจะรู้สึกว่าโหด แต่ถ้ามองอีกมุม นี่ถือเป็นการเรียนรู้อย่างดี เพราะเป็นการชี้ให้เห็นว่ามีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง ที่สำคัญ เวลาเขียนต้องนึกถึงสิ่งที่คนอยากดู เขียนแต่สิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่เขียนไปเรื่อยๆ 

จากปัจจัยทั้งหมด จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมทุกครั้งที่ช่อง 7 สี ยุคคุณแดงจะทำละครฟอร์มยักษ์ หรือละครที่ต้องยกทีมไปถ่ายทำที่ต่างประเทศ ก็มักมอบหมายให้ดาราวิดีโอเป็นผู้ดูแลเสมอ 

ดาราวิดีโอ และสามพ่อลูกสังวริบุตร ผู้กุมหัวใจผู้ชมละครไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ
ดาราวิดีโอ และสามพ่อลูกสังวริบุตร ผู้กุมหัวใจผู้ชมละครไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ

อย่างเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นปรากฏการณ์ คือ คู่กรรม ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ของทมยันตี ว่าด้วยเรื่องของโกโบริ ทหารญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มาหลงรักสาวไทยอังศุมาลิน โดยครั้งนั้น ช่อง 7 คว้าตัว เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินคนดังมาร่วมงานได้ โดยให้ประกบกับนางเอกน้องใหม่ อย่าง กวาง-กมลชนก โกมลฐิติ ซึ่งกว่าที่ละครเรื่องนี้จะออกมาสู่หน้าจอและผู้ชมทั่วประเทศ ก็ต้องใช้เวลานาน 9 เดือนทีเดียว

“ความยากคือ เราต้องปรับเปลี่ยนตัวละครของเราทั้งหมด อย่างเบิร์ดไม่เคยเป็นทหารมาก่อน ดังนั้นท่าทางหรือท่าเดินต่างๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยน เวลาถ่ายก็ใช้มุมมากหน่อย จำได้ว่าเฉพาะตอนแรกเราถ่ายใหม่ถึงห้าครั้ง ทำไปแล้วไม่พอใจก็เริ่มใหม่ จนกระทั่งดี แล้วค่อยเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ตัวละครเขาชินก่อน”

ครั้งนั้นอาหรั่งต้องแบ่งกองถ่ายออกเป็นกองย่อยถึง 8 ทีม โดยให้ผู้กำกับในสังกัด อาทิ มานพ สัมมาบัติ, จรูญ ธรรมศิลป์, สมชาย สังข์สวัสดิ์ คอยควบคุม และพอถึงฉากใหญ่ๆ อย่างฉากระเบิด ทุกคนก็จะมารวมตัว ส่วนการตัดต่อ เขาก็เป็นผู้ควบคุมเอง โดยอาศัยประสบการณ์สมัยเป็นตากล้อง คัดเลือกว่าฉากไหนควรนำมาใช้ ฉากไหนควรตัดออก

คู่กรรม จึงเป็นละครที่สมบูรณ์แบบ อย่างฉากโจมตีจากเครื่องบินก็สมจริงจนแยกไม่ออกว่า ตรงไหนเป็นการตัดต่อด้วยเทคนิค ตรงไหนเป็นการถ่ายจริง นักแสดงก็ดูกลมกลืน ไม่รู้ว่าคนไหนเป็นญี่ปุ่นแท้หรือญี่ปุ่นเทียม 

เมื่อนานมาแล้ว เบิร์ด ธงไชย เคยเล่าถึงความพิถีพิถันของอาหรั่งว่า ฉากก่อนโกโบริตาย มีการระเบิดสถานีรถไฟบางกอกน้อย ตอนนั้นเขาต้องวิ่งฝ่าระเบิดเอฟเฟกต์กว่า 20 ลูก โดยอาหรั่งให้ถ่ายทำแบบต่อเนื่องไม่มีหยุดพัก พอตกกลางคืน ก่อนจะได้อยู่ในอ้อมกอดของอังศุมาลิน เขายังต้องฝ่าระเบิดอีก 6 ลูก โกโบริถึงจบชีวิตลงได้

ผลจากความทุ่มเทส่งผลให้คู่กรรมดังเป็นพลุแตก ทำเรตติ้งถล่มทลายถึง 40 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ละครไทย ซึ่งแม้จะล่วงเลยมานานกว่า 3 ทศวรรษก็ยังไม่มีใครลบล้างได้สำเร็จ

หลัง คู่กรรม อวสาน อาหรั่งตัดสินใจวางมือจากงานกำกับละครร่วมสมัย หันไปมุ่งมั่นกับละครจักรๆ วงศ์ๆ เต็มตัว พร้อมตั้งบริษัทสามเศียรขึ้นมา เมื่อ พ.ศ. 2534 เพื่อดูแลละครพื้นบ้านโดยเฉพาะ เขาให้เหตุผลว่าละครสมัยเก่านั้นซับซ้อน จึงต้องอาศัยความทุ่มเทและพิถีพิถันเพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด ส่วนภารกิจในดาราวิดีโอก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทายาททั้งสอง โดยตัวเขาเองจะคอยช่วยสนับสนุนในฐานะที่ปรึกษา

สำหรับ หลุยส์ สยาม บุตรชายคนโต เดิมทีไม่ได้มีแผนจะมาทำละครโทรทัศน์ หลังเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จาก North Texus State University เขาก็ตั้งใจจะตั้งรกรากทำร้านอาหารอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นอาหรั่งนั่นเองที่เรียกตัวกลับมา และเริ่มต้นช่วยงานครอบครัวในฐานะตากล้องและผู้กำกับรายการ

“สิ่งแรกที่ท้าทายคือ ผมต้องมาเป็นลูกน้องคุณสยม (หัวเราะ) เขาก็มาต่อว่าผมทุกวัน เพราะทำอะไรไม่เป็นเลย ก็มาดูสวิทชิ่ง ต้องมาแบกกล้อง ตอนนั้นด้วยความที่ผมดูหนังเยอะ เป็นช่วงที่ MTV กำลังเริ่ม ก็จะมีวัฒนธรรมการถ่ายทำใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ผมก็เอามาประยุกต์ เพราะละครตอนนั้นค่อนข้างจะคอนเซอร์เวทีฟ ภาพจะนิ่งๆ ผมก็พยายามเอาความเป็นคอเมดี้เข้ามาผสม อย่างการถ่าย Handheld ซึ่งสมัยนั้นเป็นของใหม่มาก ซึ่งก็โดนว่าบ้าง แต่เราอยากทดลอง แล้วก็ถามพ่อว่า ถ้าเราเคลื่อนกล้องแบบนี้คิดว่ายังไง แกก็จะบอกว่าทุกอย่างทำได้ แต่ก็ต้องเหมาะสม เช่นฉากกำลังจะร้องไห้ แล้วเราดันไปถ่ายแบบเขย่า คนเขาก็ด่าเอาสิ คือพ่อจะไม่ค่อยสอน แต่จะชอบให้เข้ามาถาม แล้วเขาก็จะตอบ”

หลุยส์รับหน้าที่ผู้กำกับการแสดงครั้งแรก ในละครสั้นเรื่อง 10 บาท ด้วยความบังเอิญ เพราะผู้กำกับอาวุโส จรูญ ธรรมศิลป์ เกิดป่วยกะทันหันมากองถ่ายไม่ได้ ก่อนขยับมารับงานดูแลละครหลังข่าวเต็มตัว

งานของหลุยส์ถือว่าเข้ามาช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของดาราวิดีโอพอดี ทั้งเรื่องความทันสมัยและยังตอบโจทย์ผู้ชมที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น โดยผลงานที่เขาอยู่เบื้องหลังก็อย่างเช่น ปัญญาชนก้นครัว, ความรักของคุณฉุย ตลอดจน ดาวพระศุกร์ เวอร์ชัน ศรราม เทพพิทักษ์ และ สุวนันท์ คงยิ่ง

ดาราวิดีโอ และสามพ่อลูกสังวริบุตร ผู้กุมหัวใจผู้ชมละครไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ

หากแต่ผลงานที่หลายคนจดจำได้ไม่ลืม คือ ละครอิงประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ สายโลหิต, รัตนโกสินทร์ หรือ คือหัตถาครองพิภพ ซึ่งล้วนแต่ได้รับความนิยม โดยแต่ละเรื่อง อาหรั่งในฐานะที่ปรึกษาจะให้ความสำคัญกับความสมจริงและความถูกต้องมากที่สุด ถึงขั้นตั้งฝ่ายข้อมูลทางวิชาการขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อวิเคราะห์ วิจัย และป้อนข้อมูลให้ทีมผลิต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับวงการโทรทัศน์บ้านเรา

หลุยส์จำได้ว่าช่วงที่ถ่ายทำเรื่อง สายโลหิต เกิดเหตุขลุกขลักขึ้นพอสมควร เพราะนอกจากจะต้องระดมพลทีมงานมาช่วยเต็มไปหมดแล้ว ยังเป็นปีที่น้ำท่วมใหญ่พอดี จึงต้องปรับบทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จากเดิมที่สู้รบกันบนพื้นหญ้า ก็เปลี่ยนมานั่งเรือสู้กัน แล้วก็มีเผาเรือ ซึ่งถือเป็นฉากที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชมได้ไม่น้อย

นอกจากนี้ เขายังอยู่เบื้องหลังพวกละครเพลงอย่าง มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งก่อกระแสพี่คล้าวและน้องทองกวาวโด่งดังไปทั่วประเทศ และกลายเป็นต้นกำเนิดละครสไตล์นี้อีกหลายเรื่อง เช่น เงิน เงิน เงิน และ เกาะสวาท หาดสวรรค์

ดาราวิดีโอ และสามพ่อลูกสังวริบุตร ผู้กุมหัวใจผู้ชมละครไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ

“เราพยายามทำละครให้แหกหน่อย เลยคิดถึงละครเพลงขึ้นมา ตอนนั้นไม่มีใครทำเลย จำได้ว่าเราสามคนมานั่งคุยกันว่าจะทำยังไงดี พ่อก็บอกว่า เอาเหมือนมิตร-เพชรา ตีโป่งแบบนั้นเลย ก็ปรากฏว่ากลายเป็นแฟชั่นขึ้นมา คนทั้งประเทศก็แต่งตัวแบบ มนต์รักลูกทุ่ง เรื่องนี้เราถ่ายพร้อม สายโลหิต ที่ลาดหลุมแก้ว จำได้ว่ามีฉากร้านตัดผม วันดีคืนดีเข้ามาไม่ได้ เพราะน้ำท่วมไปครึ่งห้องแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนบท เปลี่ยนเพลงเป็นน้ำขึ้นแล้ว คือโคตรมั่วเลย แต่คนดูเขาชอบ ก็ให้อภัย คือ พ.ศ. 2538 เป็นปีที่วุ่นวายสุดๆ แต่ก็เป็นปีที่ละครประสบความสำเร็จมาก”

ส่วนบุตรชายคนรอง ลอร์ด สยม นั้น นอกจากจะกำกับการแสดงละคร อย่างเรื่อง น้ำใสใจจริง, แม่นาคพระนคร เขายังเชี่ยวชาญเรื่องการตัดต่อเป็นพิเศษ เนื่องจากช่วยงานอาหรั่งมาตั้งแต่ยุคดาราวิดีโอยังใช้ฟิล์มถ่าย จนกลายเป็นมือขวาของผู้เป็นพ่อ

“ผมมาจากการตัดต่อ คุณพ่อเป็นคนสอน แล้วไม่รู้ว่าเป็นจิตวิทยาของท่านหรือเปล่า คือถ้าผมอยากจะทำอะไร คุณพ่อจะให้ทำเลย เช่น ตอนที่ผมเพิ่งเริ่มใช้เครื่องมือวิดีโอใหม่ๆ คุณพ่อพูดมาคำหนึ่งว่า ทำให้เต็มที่เลย ผิดไม่เป็นไร เดี๋ยวบอกเองว่าผิดตรงไหน เหมือนเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผมว่าคิดอะไรก็ทำออกไปเลย”

อย่างเรื่องเทคนิคการทำภาพ ลอร์ดเล่าว่า สมัยก่อนที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์กราฟิก การทำฉากหรือเอฟเฟกต์ใดๆ ก็ต้องทำแบบสดๆ เช่น ละครจักรๆ วงศ์ๆ เวลาขี่ม้าจะมีฉากหลังเป็นเมืองอยู่ไกลๆ เทคนิคที่ทำก็คือ การใช้กล้องถ่ายกับกระจก โดยจะต้องวาดภาพเมืองต่อเนื่องเป็นภาพเดียวกัน จากนั้นก็ถ่ายภาพผ่านกระจก ซึ่งกว่าจะได้ภาพเมืองภาพหนึ่ง ต้องใช้เวลาวันหนึ่ง พอเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น เขาก็ไม่ลังเลที่จะมาใช้ทดลองกับการถ่ายทำละคร

ตัวอย่างเช่น ศีรษะมาร เมื่อ พ.ศ. 2536 ซึ่งลอร์ดทำให้ศีรษะที่ถูกตัดของปิลันธา ตัวเอกของเรื่องเคลื่อนไหว พูดจาและล่องลอยไปหลอกหลอนผู้คนได้ แม้กระทั่งผู้ชมทางบ้านยังอกสั่นขวัญแขวน หรือ ดั่งดวงหฤทัย เวอร์ชัน ศรราม-นัท มีเรีย ซึ่งเขาเนรมิตฉากของเมืองกาสิกได้อย่างงดงามและสมจริง จนใครหลายคนต้องยกนิ้วให้

ด้วยเหตุนี้ อาหรั่งจึงเปิดบริษัท ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น เมื่อ พ.ศ. 2538 ให้ลอร์ดเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อทำหน้าที่ดูแลเรื่องอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ของเครือ โดยคำว่า ‘ดีด้า’ นั้น หลุยส์เป็นคนคิดมาจากคำว่า Digital Dara Video

“เราค่อนข้างจะก้าวหน้ามาก เพราะการตัดต่อด้วยดิจิทัลช่วยได้เยอะ มันดีกว่าแอนะล็อกมาก อย่างละครที่เป็นเทคนิคต่างๆ ตอนนั้นดาราวิดีโอหรือสามเศียร ก็จะโยนให้ดีด้าไปช่วยทำ ทั้งไตเติลหรือฉาก อย่าง สายโลหิต ที่เป็นภาพเมือง ดีด้าเป็นคนทำทั้งหมด” หลุยส์อธิบาย

ต่อมาเมื่อช่อง 7 จะบุกเบิกละครตอนเย็น ดีด้าก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแล โดยเรื่องแรกคือ พันหนึ่งราตรี มีฉากที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษเต็มไปหมด ก่อนจะต่อยอดไปยังละครอีกหลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องก็มีเรตติ้งไม่แพ้ละครค่ำเลย จนกระทั่งช่วงหลังจึงได้ขยายมาผลิตละครหลังข่าวควบคู่กันไปด้วย

“ละครเย็นค่อนข้างใกล้ชิดกับครอบครัว เหมือนเราเป็นไทยมุง ลักษณะมุมกล้องก็ไม่ได้ประดิษฐ์เหมือนละครกลางคืนมาก เหมือนกับเราได้ชมกันสดๆ ซึ่งเท่าที่สังเกต ละครเย็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จก็มักเป็นเรื่องสไตล์แบบนี้ เช่น คุณชายตำระเบิด, ผู้พิทักษ์สี่แยก, สาวน้อยอ้อยควั่น หรือแม้แต่ ธิดาวานร” ลอร์ดฉายภาพ

“อีกอย่างคือกลุ่มคนดูต่างกัน ตอนเย็นต้องเป็นคนที่ตื่นเช้าหน่อย ก็จะมานั่งรวมตัวกันกินข้าวกับลูกหลานแล้วก็ดูละคร ซึ่งเขาก็มักจะไม่ได้ดูอะไรที่ซีเรียสมาก คือจะซีเรียสก็ได้ แต่อย่าลืมว่าเรามีผู้ชมที่เป็นเด็กด้วย” หลุยส์ช่วยเสริม 

ตลอดระยะเวลา 50 กว่าปี ดาราวิดีโอ เป็นค่ายละครเดียวที่อยู่กับช่อง 7 สี นับตั้งแต่วันก่อตั้ง จนมาถึงยุคที่สถานีแห่งนี้กลายเป็นช่อง 7 HD หมายเลข 35 จนอาจเรียกได้ว่า เป็นค่ายละครคู่บุญของวิกหมอชิตเลยคงไม่ผิด อาหรั่งบอกว่า สำหรับเขาแล้ว ความสบายใจสำคัญที่สุด หากอยู่แล้วมีความสุขแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

“ผมเริ่มต้นกับช่อง 7 ตั้งแต่สมัยสถานีอยู่เจริญผล อยู่มาเป็นปู่ ไม่เคยมีสัญญาอะไร เป็นสัญญาใจล้วนๆ ที่ผ่านมาก็มีคนชวนเยอะ แต่เราก็พูดให้เขาเข้าใจว่า เหมือนปลาที่น้ำมันเย็นอยู่แล้ว อยู่ได้สบาย เหลียวไปทางไหนก็มีแต่มิตร ก็เลยรู้สึกสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องอะไร ที่สำคัญคือ ช่อง 7 ให้เกียรติเรา เราก็ให้เกียรติช่อง 7 คือเราไม่ทำตัวเหลวแหลก หรือทำสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งในที่สุดก็ทำให้อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี สนุกสนาน” ผู้นำครอบครัวสังวริบุตรกล่าวเปิดใจ

04

ตำนานที่ไม่เคยเก่า

“การทำงานเป็นความสุขในชีวิต แล้วผมก็รักอาชีพนี้มานมนาน ตั้งแต่ต้นก็ตั้งใจไว้ว่าจะทำงานไปตลอดชีวิต อย่างทุกวันนี้ ผมก็ออกไปได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เราก็ใช้วงจรปิดทำงานต่อไป เทคนิคสมัยใหม่มันก็ดีนะ ช่วยต่ออายุเราได้ เพราะสมองเราก็ยังไม่เสีย” อาหรั่งในวัย 90 เอ่ยขึ้นถึงความมุ่งหมายในชีวิตของตัวเอง

เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมา เขาจึงไม่เคยหยุดคิด ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ แม้ภารกิจหลายอย่างจะถูกผ่อนถ่ายให้ทายาทแล้วก็ตาม อย่างผลงานหนึ่งที่อาหรั่งอยู่เบื้องหลังคือ ตัวการ์ตูนที่ชื่อ พี่จ้าหรือจ๊ะทิงจา 

“ตอนนั้นเราเริ่มใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกมาช่วยทำละครแล้ว ซึ่งปกติเราจะทำตัวการ์ตูนที่เป็นยักษ์ เป็นสัตว์อะไรต่างๆ แล้วคุณพ่อก็บอกว่า สร้างดาราเด็กมาแล้วหลายคน น่าจะลองสร้างดาราเด็กที่เป็นตัวการ์ตูนดูบ้าง” ลอร์ดเท้าความ

“เขาทำการ์ตูนกันเยอะ ผมก็อยากจะทำบ้าง แต่ยังไม่มีแรงบันดาลใจ ผมก็เลยเล่าให้ คุณสมศักดิ์ ใจกว้าง พ่อของ ไชยา มิตรชัย ฟัง แล้ววันหนึ่งแกก็ฝันว่ามีคนมาเต้น แล้วก็ร้อง จ้ามาจ๊ะทิงจา แล้วเขาคงอายผม เลยบอกว่าไม่รู้เพ้อเจ้อไปหรือเปล่า อาหรั่งไม่เอาก็ได้นะ ผมก็บอกเอาซิ อันนี้ได้เงินเยอะ” อาหรั่งเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

พี่จ้ามีต้นแบบมาจากสุดสาคร ตัวละครสุดคลาสสิกในเรื่อง พระอภัยมณี ที่เด็กที่คนคุ้นเคยกันดี ว่ากันว่าอาหรั่งใช้เวลาอยู่เกือบ 2 ปีในการปรับคาแรกเตอร์ให้เหมาะสม ทั้งขนาดตาที่ต้องโตหน่อย ดูแล้วต้องรู้สึกว่ามีเสน่ห์ จากนั้นก็เพิ่มตัวละครอื่นๆ เข้าไป และอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือเพลง เพราะนอกจากเพลง จ๊ะทิงจา แล้ว อาหรั่งยังแต่งเพลงเสริมเข้าไป เช่น เพลงสอนเรื่องพยัญชนะไทย ตัวอักษรภาษาอังกฤษ สุภาษิตไทย สูตรคูณ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่เด็กๆ

หลังออกอากาศครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2545 ปรากฏว่าตัวการ์ตูนพี่จ้าโด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งในหมู่เด็กและผู้ใหญ่ ถึงขั้นที่ดีเจดังคนหนึ่งเคยเล่าว่า มอเตอร์ไซค์วินหน้าปากซอยยังร้องเพลง “จ้ามาจ๊ะทิงจา..มะจ๊ะทิงจา..มะจ๊ะทิงจา” เลย มีการผลิตวีซีดี จัดโรดโชว์ และคอนเสิร์ตต่างจังหวัดเกือบทุกเดือน และเพื่อให้ตัวละครนี้เข้าถึงผู้คนมากที่สุด อาหรั่งจึงริเริ่มสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจ๊ะทิงจา เพื่อนำการ์ตูนและละครที่เป็นลิขสิทธิ์ของดาราวิดีโอกลับมาฉาย

เช่นเดียวกับละคร โดยเฉพาะพวกจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งอาหรั่งพยายามต่อยอดตลอดเวลา มีการวิจัยและหาข้อมูล เพื่อปรับให้ทันสมัยและเหมาะสมกับผู้ชมที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่ตัวนักแสดงเอง อาหรั่งก็พยายามสรรหาคนหน้าใหม่เข้ามาร่วมงานอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกอินกับเรื่องมากขึ้น เสมือนนักแสดงที่เล่นคือตัวละครตัวนั้นจริงๆ

นี่เองคงเป็นเหตุผลว่า ทำไมละครหลายเรื่องที่เคยถูกสร้างซ้ำหลายรอบ ยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย อย่างเรื่อง สังข์ทอง ซึ่งออกอากาศเมื่อ พ.ศ. 2561 จำนวน 110 ตอน สามารถทำเรตติ้งได้สูงถึง 8.472 ซึ่งนับว่าสูงมากท่ามกลางสถานการณ์ที่อิทธิพลของโทรทัศน์ลดลงเช่นนี้

“สาเหตุที่เราทำเรื่องซ้ำ สักเจ็ดแปดปีก็ทำอีกแล้ว ตรงนี้เป็นนโยบายของคุณพ่อ แกบอกว่าเด็กเกิดใหม่ ยังไม่เคยรู้จัก สี่ยอดกุมาร หรือ แก้วหน้าม้า มาก่อน คือเรื่องไทยๆ ที่เป็นเอก มีอยู่ไม่กี่เรื่องหรอก คุณพ่ออยากให้เด็กได้รู้จักนิทานพวกนี้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องทำให้ไม่เหมือนเดิม คือองค์ประกอบเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น สังข์ทอง คุณพ่อก็เอาวัยรุ่นเข้ามา มีเขยฝรั่ง เขยที่ชอบผู้ชาย หรืออย่างคำกลอน ถ้ามันยาวเกินไป ก็จะกลายเป็นว่า เรารอให้กลอนจบก่อน แล้วเรื่องถึงค่อยเดินต่อ เราก็ต้องปรับให้พอดี” ลอร์ดอธิบาย

“แต่ทั้งนี้การทำงานของผมจะเคารพเจ้าของเรื่อง นี่เป็นกฎเลย เพราะเทพนิยายไทยหลายเรื่อง ผู้ประพันธ์เสียชีวิตไปแล้ว บางเรื่องคนเขียนเป็นเชื้อพระวงศ์ เราก็ต้องให้เกียรติ ยกย่อง แต่ขณะเดียวกัน เราก็อยากประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยด้วย ดังนั้น เวลาเขาไปเขียนบท เราต้องคอยตรวจ คอยดูแลเสมอ” อาหรั่งช่วยเสริม

“ทุกวันนี้คุณพ่อจะมีไอแพดอยู่ข้างตัว แล้วก็ค้นข้อมูลเอง คือเขาเรียนรู้ว่าเด็กชอบอะไร แล้วก็เอามาปรับ มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาถามผมว่า หลุยส์ เพลงในละครที่แกทำเขาเรียกว่าอะไร ผมก็บอกไปว่า แร็ป แกก็บอกว่าพ่ออยากเอามาใส่ในละครจักรๆ วงศ์ๆ แล้วไม่นานนัก แกก็เอาเพลงแร็ปมาใส่อยู่ไตเติ้ลท้ายละครเลย ตอนแรกผมบอกพ่อว่ามันจะเข้ากันเหรอ แกก็บอกว่าลองดู ซึ่งตอนหลังเด็กก็เอาไปเต้นกันโครมครามเต็มไปหมดเลย” หลุยส์ช่วยขยายความ

สำหรับละครร่วมสมัยก็เหมือนกัน อาหรั่งบอกว่า ทุกวันนี้เขายังเปิดชมเป็นประจำและดูเกือบทุกช่อง เพื่อเรียนรู้ศึกษา หากเห็นว่าดีก็นำมาปรับใช้ และเวลาที่ละครของดาราวิดีโอและดีด้าเริ่มออกอากาศ อาหรั่งก็มักจะชวนลอร์ดกับหลุยส์มาพูดคุย เพื่อชี้แนะว่าจุดไหนดี จุดไหนควรแก้ไข

แต่แน่นอน การทำงานทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าท้าทายขึ้น เนื่องจากผู้ชมมีทางเลือกค่อนข้างเยอะ เนื้อหาก็มีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ที่ผ่านมาพวกเขาพยายามปรับตัวอยู่เสมอ โดยหลักคิดสำคัญอย่างหนึ่งที่อาหรั่งย้ำเสมอคือ อย่ายอมแพ้ และแม้จะแพ้ก็ต้องพยายามต่อไปเรื่อยๆ

“ความร่วมสมัยสำคัญมาก เราไม่สามารถทำคอนเทนต์เดิมๆ ได้ตลอด ต้องยอมรับว่าตัวผมเองค่อนข้างยึดติดของเก่าพอสมควร แต่คุณพ่อก็จะบอกว่า ไม่ได้ ต้องดูด้วยว่าคนเขาอยากดูอะไร เพราะตลาดเป็นของผู้ชม ถ้าผู้ชมเปลี่ยนไปแล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน และถ้าเกิดทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องกลับมาวิเคราะห์ดูว่า พลาดตรงไหน เพราะฉะนั้น เวลาที่มีคนฟีดแบ็กเข้ามา เราก็ต้องรับฟังอย่างมาก” ลอร์ดขยายความ

อย่างช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เครือดาราวิดีโอก็เริ่มมีทายาทรุ่นใหม่ ทั้ง ฬอน คณวัชร และ ปลื้ม ศิรวิชญ์ บุตรชายสองคนของหลุยส์ กับ ไผ่หลิว อาภานุช บุตรสาวของลอร์ด เข้ามาเสริมทัพช่วยทำงาน ทั้งละครจักรๆ วงศ์ๆ ละครร่วมสมัย รวมถึงละครสั้นอย่าง ฟ้ามีตา ซึ่งดาราวิดีโอทำมาต่อเนื่องถึง 14 ปีแล้ว

โดยแต่ละคนก็จะมีแนวทางและวิธีการนำเสนอในรูปแบบของตัวเอง ไม่เหมือนคนรุ่นปู่หรือรุ่นพ่อ แต่ถึงอย่างนั้นทุกคนก็ไม่เคยละเลยความคิดของคนรุ่นเดิม และพยายามนำประสบการณ์ดังกล่าวมาผสมผสานจนเกิดเป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

“ปกติคุณพ่อจะไม่ใช่นักสอน แต่เป็นนักปฏิบัติ แล้วเราก็ลองทำดูแล้วมาเปรียบเทียบ บางทีเราก็ชวนเขาคุย ชวนเขาเถียงบ้าง เพื่อให้เขาตอบโต้มา ซึ่งพวกรุ่นหลานก็จะทำแบบนี้เหมือนกัน แต่ตอนนี้ความท้าทายคือ เราจะถ่ายทอดต้นตำรับของพ่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างไร ทำยังไงให้ดีเหมือนหรือดีกว่าที่เขาทำมา ซึ่งเราก็ต้องค่อยๆ แกะออกจากท่าน เพราะถึงเราจะดูเหมือนแยกกันทำงาน แต่ความจริงแล้วรากฐานทั้งหมดก็มาจากคุณพ่อนั่นเอง” หลุยส์กล่าวสรุป

และทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของค่ายละครในตำนานที่สร้างปรากฏการณ์นับไม่ถ้วน และยังคงหยัดยืนยึดภารกิจสร้างผลงานที่น่าประทับใจสู่ผู้ชมตลอดไป

ขอบคุณภาพประกอบจาก ช่อง 7 HD, บริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด, บริษัท ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด, บริษัท สามศียร จำกัด, Instagram : Louis_daravo, Samsearn, Lorddida

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

– สัมภาษณ์คุณไพรัช-สยาม-สยม สังวริบุตร วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564

– นิตยสาร แม่และเด็ก ปีที่ 14 ฉบับที่ 229 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2534

– นิตยสาร ผู้หญิง ปักษ์หลัง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2537

– นิตยสาร ผู้จัดการ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2539

– นิตยสาร Trendy man ปีที่ 5 ฉบับที่ 52 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2539

– นิตยสาร ขวัญเรือน ปีที่ 33 ฉบับที่ 702 ปักษ์หลัง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544

– นิตยสาร a day ปีที่ 4 ฉบับที่ 42 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547

– นิตยสาร VOLUME ปีที่ 6 ฉบับที่ 130 เดือนกันยายน 2553

– นิตยสาร สารคดี ปีที่ 34 ฉบับที่ 398 เดือนเมษายน พ.ศ. 2561

– หนังสือพิมพ์ อินไซต์ทีวี ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2533

– หนังสือ ที่ระลึกศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2547

– หนังสือ จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทย วิวัฒนการกิจการโทรทัศน์ไทย 

– เว็บไซต์ Pantip กระทู้ (เกร็ดประวัติศาสตร์) ดาวพระศุกร์ 2524 หนังทีวีเรื่องแรกที่เรทติ้งสูงที่สุดของไทย

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว