โรงเรียนพื้นที่กว่า 77 ไร่บนถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ คือโรงเรียนสหศึกษาขนาดใหญ่ที่เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 

คล้ายจะเป็นโรงเรียนเอกชนทั่วไป แต่โรงเรียนนี้อยู่คู่นครพิงค์เชียงใหม่กว่า 141 ปี

‘โรงเรียนดาราวิทยาลัย’ คือโรงเรียนหญิงล้วนแห่งแรกที่ให้การศึกษาแก่เด็กหญิงในพื้นที่ล้านนา ภาพของนักเรียนหญิงใส่ชุดแบบล้านนา เรียนงานเย็บปักถักร้อย ศิลปะการร่ายรำแบบล้านนาแท้ๆ ที่สะท้อนผ่านละครโทรทัศน์ กลิ่นกาสะลอง ทำให้เราเห็นสภาพสังคมของมณฑลพายัพในพุทธศักราช 2467 ในการให้ความสำคัญทางการศึกษาของผู้หญิงในยุคนั้นผ่านตัวละครเอกของเรื่องคือ กาสะลอง ซ้องปีบ และบัวเกี๋ยง

หลังจากฉากที่กาสะลองและบัวเกี๋ยงในโรงเรียนออกอากาศ นอกจากแฟนละครจำนวนมากที่เข้าไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนแล้ว การค้นหาข้อมูลของโรงเรียนยังมีผลตอบรับที่ดี นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันอยู่ที่โรงเรียนดาราวิทยาลัยในวันนี้

โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนดารารัศมี

เหตุผลที่ฉันอยากรู้ประวัติศาสตร์การสร้างโรงเรียนแห่งหนึ่ง 

ที่ก่อกำเนิดความเชื่อว่า ทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่ดี

01

ในความคิดของผู้แต่ง

เราทราบอยู่แล้วว่าผู้แต่งนวนิยาย กลิ่นกาสะลอง คือ อาจารย์พิสิทธิ์ ศรีประเสริฐ

กลิ่นกาสะลอง คือนวนิยายที่เขียนตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษาที่แขนงวิชาการสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​ (ปัจจุบันแยกตัวเป็นคณะการสื่อสารมวลชน) ใช้เวลาแต่งนานหลายปี เพราะครั้งแรกหยุดเขียนไปประมาณ 5 – 6 ปี ก่อนจะกลับมาเขียนต่ออีกครั้ง ระยะเวลาส่วนหนึ่งในการเขียนครั้งที่ 2 อาจารย์พิสิทธ์ใช้ไปกับการหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของหญิงล้านนาในสมัยนั้น เมื่ออ้างอิงจากช่วงเวลาตามท้องเรื่อง มณฑลพายัพหรือจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบเทศาภิบาล มีการส่งข้าหลวงจากศูนย์กลางขึ้นมาปกครองร่วมกับผู้ปกครองมณฑลพายัพ มีการเก็บภาษี และมีชาวต่างชาติหลายชนชาติเข้ามามีบทบาทในสังคมมณฑลพายัพ

ประกอบกับค่านิยมเดิมทีที่ผู้หญิงในสมัยนั้นจะมีบทบาทเป็นเพียงแม่ศรีเรือนในครัว คอยทำหน้าที่หุงหาอาหาร ดูแลปากท้องและทุกข์สุขของคนในบ้านเป็นหลักและไม่ได้รับการศึกษาที่ดีเท่าผู้ชาย อาจารย์พิสิทธ์กลับเปลี่ยนขนบของผู้หญิงในยุคนั้นผ่านตัวละครฝาแฝดที่เป็นตัวเดินเรื่องหลักทั้งกาสะลอง ซ้องปีบ ให้รู้หนังสือและได้รับการศึกษาที่ดี

“กาสะลองกับซ้องปีบเป็นตัวเอกของเรื่องที่เป็นลูกนายแคว้น หรือนายแคว่นตามการออกเสียงแบบล้านนา ซึ่งเป็นลูกกำนัน จึงเป็นครอบครัวที่มีฐานะดีและสถานะทางสังคมที่ดีพอสมควร ซึ่งมีหลายๆ ส่วนที่แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนมีความรู้ เช่นกาสะลองอ่านหนังสือ อ่านจดหมายที่หมอทรัพย์เขียนส่งมาให้ได้ หรือซ้องปีบที่อ่านภาษาอังกฤษได้ สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงสองคนนี้เป็นคนมีความรู้ มีการศึกษา” อาจารย์พิสิทธ์เล่าถึงการพัฒนาตัวละคร

ที่จริงแล้วในนวนิยายไม่ได้กล่าวถึงว่ากาสะลองและซ้องปีบเรียนหนังสืออยู่ที่ใด หากแต่เป็นการขยายความของผู้เขียนบทละครโทรทัศน์อย่างที่เราได้ชมกันผ่านจอแก้ว แต่ตัวละครที่ถูกกล่าวถึงชัดเจนว่าเธอเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนดาราวิทยาลัยคือบัวเกี๋ยง และในนิยาย เธอเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนอีกด้วย

“จากค่านิยมในสังคมตอนนั้น จึงสร้างตัวละครบัวเกี๋ยงที่มีความซุกซน อยากรู้อยากเห็น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อบัวเกี๋ยงต้องเข้าเรียนในโรงเรียนหญิงล้วน เธอจะเริ่มแสดงความรู้สึก แสดงความคิดเห็นของเธอออกมา แม้ว่าจะเป็นผู้หญิง แต่เธอไม่ได้อยากเรียนงานฝีมือ งานบ้านงานเรือน เธออยากเรียนวิชาความรู้ที่ผู้ชายได้เรียน เพราะบัวเกี๋ยงอยากเป็นหมอ แต่ในสมัยนั้นผู้หญิงจะเป็นได้เพียงนางพยาบาลเท่านั้น และด้วยความที่เราตั้งเป้าว่าบัวเกี๋ยงจะประสบความสำเร็จได้ จึงทำให้บัวเกี๋ยงต้องได้รับการศึกษาที่ดี” อาจารย์พิสิทธ์กล่าว

02

โรงเรียนสตรีสันป่าข่อย

ฉันอยู่ในอาคารพิพิธภัณฑ์โรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

เบื้องหน้าฉันคือ ผป.ดร. ชวนพิศ เลี้ยงประไพพันธ์ ผู้อำนวยการ-ผู้จัดการโรงเรียนดาราวิทยาลัย เมื่อเราทักทายกันเล็กน้อย ฉันจึงเริ่มสนทนากับท่านถึงประวัติการก่อตั้งและวัตถุประสงค์ที่มีอิทธิพลต่อการให้การศึกษาในผู้หญิงล้านนา

ผป.ดร. ชวนพิศ เลี้ยงประไพพันธ์ ผู้อำนวยการ-ผู้จัดการโรงเรียนดาราวิทยาลัย

เมื่อย้อนกลับไปในครั้งอดีต มณฑลพายัพหรือจังหวัดเชียงใหม่ในอดีตมีค่านิยมประการหนึ่งคือ ผู้ที่ได้โอกาสดีๆ ในชีวิตทั้งการเล่าเรียนหนังสือผ่านการบวชเรียน การอยู่ในตระกูลขุนนางที่มีการว่าจ้างครูมาสอนพิเศษในบ้าน แม้กระทั่งการรับราชการ มักเป็นผู้ชายเท่านั้น

ในยุคที่มิชชันนารีอเมริกันมีบทบาทในมณฑลพายัพอย่างมาก ตั้งแต่ พ.ศ. 2410 ทั้งการก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งแรก หรือการเผยแพร่ศาสนาคริสต์แก่ชาวบ้าน กลับมีผู้หญิงเพียง 2 คนเท่านั้นที่อ่านออกเขียนได้ แหม่มโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี หนึ่งในมิชชันนารีอเมริกันผู้เป็นลูกสาวของหมอบรัดเลย์ เล็งเห็นถึงความเสมอภาคของทั้งชายและหญิงในการได้รับโอกาสเท่าๆ กัน รวมถึงให้รู้จักการใช้ชีวิตในมิติอื่นๆ จึงต้องมีการฝึกผู้หญิงให้มีความรู้ 

โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนดารารัศมี

จึงนำไปสู่การเดินทางสำรวจโดยมี ดร.แดเนียล แมคกิลวารี สามีของแม่ครู ได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่มณฑลพายัพ จนแม่ครูกลับมาก่อตั้งโรงเรียนใน พ.ศ. 2413 ซึ่งมีนักเรียนรุ่นแรกจำนวน 8 คน ได้รับพระราชทานที่ดินผืนแรกจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 คือพื้นที่ย่านเชิงสะพานแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นพื้นที่ของคริสตจักรที่หนึ่งเชียงใหม่ในปัจจุบัน โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนสตรี หรือ Chiang Mai Girls’ School

“แม่ครูโซเฟียเริ่มจัดการสอนในวิชาเย็บปักถักร้อย ดนตรี คณิตศาสตร์ ภาษาทั้งไทยและตัวล้านนา และศึกษาพระคัมภีร์ด้วยการเสริมภาษาอังกฤษที่เป็นส่วนเริ่มต้น ทำให้เด็กหญิงเข้าใจเรื่องภาษา อ่านออกเขียนได้ ผ่านการอ่านพระคัมภีร์หรือการร้องเพลง จนทำให้ชาวบ้านในแถบนั้นเริ่มส่งบุตรหญิงเข้ามาศึกษาในสถานที่ที่แม่ครูเปิดโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียนเลย หรือบางบ้านที่ไม่ส่งนักเรียนเพราะต้องทำไร่ ทำสวน หรือทำงานที่บ้าน แม่ครูก็จะจ้างพ่อแม่ให้ส่งนักเรียนมาเรียน เพราะแม่ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับความรู้ ความสามารถโดยผ่านการประกาศพระกิตติคุณของพระเจ้า” ดร.ชวนพิศ เล่าถึงประวัติของโรงเรียน

โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนดารารัศมี
โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนดารารัศมี

หนังสือเรียนยุคแรกของโรงเรียนคือ ใบบอก ของ สีโหม้ วิชัย (ชาวเชียงใหม่คนแรกที่ไปสหรัฐอเมริกา) คําถาม-คําแก้ สวัสดี และคัมภีร์ไบเบิล 

03

Chieng Mai Girls’ School และโรงเรียนพระราชชายา

สำหรับเด็กผู้หญิงในยุคนั้น การได้รับการศึกษาเป็นการเปิดโลกทัศน์ที่ยิ่งใหญ่มาก

แต่ในยุคนั้นมีการต่อต้านมิชชันนารีอยู่บ้าง เนื่องจากการเข้ามาของกลุ่มบาทหลวงฝรั่งส่วนหนึ่งเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในมณฑลฯ หากแต่บทบาทของมิชชันนารีนั้นคือความตั้งใจดีที่อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเมืองล้านนาให้ดีขึ้น ทั้งพัฒนาการรักษาพยาบาลหรือการศึกษา การต่อต้านจึงน้อยลงและหายไปในที่สุด

จำนวนของนักเรียนในโรงเรียนค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จากหลักหน่วยกลายเป็น 200 คน จนมีครูแหม่มเดินทางมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา 2 คน คือ มิสเอ็ดน่า โคลด์ และ มิสแมรี่ แคมป์แบล เพื่อร่วมจัดตั้งโรงเรียนให้เป็นระบบ ในขณะนั้นใช้ชื่อโรงเรียนว่า Chieng Mai Girls’ School และเก็บค่าเล่าเรียนน้อยมากเพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงการศึกษาได้

โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนดารารัศมี

วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จฯ เยือนเโรงเรียนเป็นครั้งแรก คณะมิชชันนารีจึงขอพระราชทานนามโรงเรียนจากพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระองค์จึงทรงโทรเลขกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามโรงเรียนจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชโทรเลขตอบกลับพระราชทานนามโรงเรียนว่า โรงเรียนพระราชชายา ตามพระราชอิสริยยศของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โรงเรียนพระราชชายายังดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความเปลี่ยนแปลงหลังสงครามทำให้โรงเรียนดาราวิทยาลัยต้องปิดทำการและปรับปรุงหลายปีก่อนเปิดทำการอีกครั้ง จนมาถึง พ.ศ. 2535 ที่โรงเรียนดาราวิทยาลัยเปลี่ยนจากโรงเรียนสตรีล้วนเป็นโรงเรียนสหศึกษา

ปัจจุบันโรงเรียนดาราวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนสอดรับกับนโยบายการจัดศึกษาของหน่วยงานรัฐ แต่ยังคงเจตนารมณ์การจัดการศึกษาตามแนวทางของแม่ครูโซเฟียทุกประการ

โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนดารารัศมี

“รากฐานหลักสูตรนับแต่การจัดการศึกษาวันแรกคือ หลักสูตรท้องถิ่นที่บูรณาการให้นักเรียนหญิงเก่งและฉลาด แม่ครูโซเฟียเคยกล่าวไว้ว่า ‘หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแก่การให้โอกาส โดยเฉพาะโอกาสของผู้หญิงที่ทัดเทียมผู้ชาย’ จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงหลายช่วง พ.ศ. 2467 ช่วงเวลาเดียวกับในละครที่บัวเกี๋ยงเข้ามาเรียนโรงเรียนต้องรับหลักสูตรจากส่วนกลางเข้ามา แต่เราไม่เคยลืมหลักสูตรท้องถิ่นที่ผสมความเป็นสตรี การบ้านการเรือน จนกระทั่งปัจจุบันที่เรายังใช้แก่นเดิมคือ นักเรียนเรายังต้องมีความรู้ในโลกดิจิทัลและองค์ความรู้ท้องถิ่นเสมอ” ดร.ชวนพิศ กล่าวถึงพันธกิจการจัดการศึกษาของโรงเรียน

หนึ่งในเครื่องพิสูจน์การจัดการศึกษาที่ตอกย้ำพันธกิจนั้นแต่แรกของแม่ครูโซเฟียคือ รางวัล Best Practice สำหรับการจัดการศึกษาพิเศษในโรงเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโรงเรียนดาราวิทยาลัยดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษกว่า 51 คน โดยการฝึกครูและจัดหลักสูตรให้รองรับกับเด็กเหล่านี้ 

04

ประวัติศาสตร์ 141 ปี

สถาปัตยกรรมของโรงเรียนดาราวิทยาลัยเป็นการออกแบบตามแนวทางสถาปัตยกรรมตะวันตก ปัจจุบันโรงเรียนดาราวิทยาลัยมีอาคารอนุรักษ์ 2 อาคาร คืออาคารห้องสมุดที่ปรับปรุงจากอาคารหอพักเดิม และพิพิธภัณฑ์โรงเรียน โรงเรียนดาราวิทยาลัยรักษาโครงสร้างอาคารเดิมที่มีไว้ ไม่มีการปรับเปลี่ยนตัวอาคาร และบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาคารพิพิธภัณฑ์ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2550 ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา จากกรรมธิการสถาปนิกล้านนา

อาคารเก่า 2 ชั้นในพื้นที่สีเขียวหลังนี้เคยเป็นบ้านพักของมิชชันนารีผู้หญิงที่มาทำงานในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนกลายเป็นที่พักของผู้บริหารโรงเรียน จนแปรเปลี่ยนเป็นสถานที่รวบรวมประวัติศาสตร์อันยาวนานของอดีตโรงเรียนหญิงล้วนแห่งนี้

โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนดารารัศมี

ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์มีนิทรรศการภาพถ่ายอาคารต่างๆ ของโรงเรียน จัดแสดงควบคู่ไปกับเอกสารเก่าสมัยโรงเรียนก่อตั้งเป็นครั้งแรก ทั้งใบคะแนนในหลายสมัย เอกสารมอบตัว เข็มกลัดและหัวเข็มขัดตราโรงเรียนในยุคต่างๆ ควบคู่ไปกับชุดนักเรียนในแต่ละสมัย ทั้งชุดแบบแรกที่เราได้เห็นในกลิ่นกาสะลองเวอร์ชันละครโทรทัศน์ จนถึงชุดนักเรียนกระโปรงสีแดงในแบบปัจจุบัน

โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนดารารัศมี
โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนดารารัศมี

ชั้นสองเป็นส่วนจัดแสดงต่างๆ ทั้งห้องนอนจำลองของมิชชันนารีที่พักอาศัยในอาคารหลังดังกล่าว ที่มีทั้งเตียงนอน พิมพ์ดีด โต๊ะเครื่องแป้ง เฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณ หรืออีกห้องหนึ่งที่เป็นส่วนแสดงอุปกรณ์อรรถประโยชน์โบราณ ทั้งโทรทัศน์จอนูน กล้องถ่ายภาพยนตร์ที่ต้องใช้ฟิล์ม เครื่องฉายฟิล์มสไลด์ โทรศัพท์บ้านแบบจานหมุน เครื่องดนตรีเก่า ที่ไสน้ำแข็ง หรือเครื่องฉายทึบแสง ก็มีจัดแสดง

ของบางส่วนได้รับบริจาคจากศิษย์เก่าหรือผู้สนับสนุน เราจึงได้เห็นเสื้อกีฬาของโรงเรียนดาราวิทยาลัยตั้งแต่ยุค 80 มาจนถึงยุคปัจจุบัน เสื้อม่อฮ่อมสำหรับใส่ในวันศุกร์หลายรูปแบบ แก้วน้ำที่ระลึก หรือของที่ระลึกอื่นๆ ที่โรงเรียนผลิตขึ้น ส่วนจัดแสดงเหรียญกษาปณ์จากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค 

โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนดารารัศมี

ส่วนที่น่าสนใจมากที่สุดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือส่วนจัดแสดงเอกสารสาคัญ นั่นคือพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเขียนถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าให้ฟังถึงการขอพระราชทานนามโรงเรียนผู้หญิงของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และพระองค์ได้ทรงตอบว่าให้ชื่อ โรงเรียนพระราชชายา ถึงแม้ว่าตอนนี้ทางพิพิธภัณฑ์จะยังไม่ได้โทรเลขฉบับจริงมาจัดแสดง แต่เราก็ยังได้ชมพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และยังมีการจัดแสดงพระรูปพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนดารารัศมี

การตามรอยบัวเกี๋ยง กาสะลอง และซ้องปีบ ในวันนี้อาจไม่ได้ภาพตามแบบฉบับนิยายหรือละครร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันได้รับจากการเดินทางมาที่โรงเรียนดาราวิทยาลัยในวันนี้ คือการเข้าใจถึงจุดประสงค์การจัดการศึกษา ที่ถึงแม้เหตุผลในการจัดการศึกษาจะทำเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ แต่ระยะเวลากว่าร้อยปีนี้ได้พิสูจน์ในพันธกิจตั้งต้นของทางโรงเรียนแล้ว

ว่าทุกคนควรได้รับโอกาส

พิพิธภัณฑ์โรงเรียนดาราวิทยาลัย
เปิดให้บริการ : วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 – 15.00 น.
ที่อยู่ : 196 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ 50000
โทร : 053-244654 ต่อ 224, 081-9936046 (โปรดโทรนัดหมายก่อนเข้าเยี่ยมชม)

Writer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co

Photographer

Avatar

บีซัน ตัน

ช่างภาพหุ่นหมี อารมณ์ดี มุกแป้ก เพิ่งจบใหม่จากรั้ววิจิตรศิลป์ มช. ปัจจุบันเป็นวิดีโอครีเอเตอร์อิสระอยู่ที่เชียงใหม่